นักวิชาการ TDRI ชี้ รัฐบาล ‘แก้หนี้’ ทำดี แต่ทำไม่ถึง! – ไม่เห็นด้วย แจกเงินหมื่น เฟส 2-3

วิเคราะห์แจกเงินหมื่น เฟส 3 บุคคลทั่วไป อาจไม่คุ้มค่าเม็ดเงิน แนะ อยากเติมเงินเข้าระบบ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจโตตามเป้า 3% ต้องใช้นโยบายให้เกิดประสิทธิภาพ อัดงบฯ แค่ 3 หมื่นล้าน ก็เพียงพอ

ตามที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลงาน และมอบนโยบาย ปี 2568 หลังผ่านการทำงานของรัฐบาลมาครบ 90 วัน หนึ่งในนโยบายสำคัญที่แถลง คือ การประกาศเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เฟสที่ 2 และ เฟสที่ 3 พร้อมมาตรการ แก้หนี้คนไทย “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้คนไทยได้ลืมตาอ้าปาก

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

รัฐบาลมอง ‘ต้องเติมเงิน’ กระตุ้นเศรษฐกิจโต

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าจะต้องเติมเงินเข้าไปในระบบ จากปัญหาเศรษฐกิจที่แย่ติดต่อกันหลายปี เป็นเพราะเงินในระบบไม่เพียงพอ ที่ผ่านมาได้มีการเติมเงินเข้าระบบไปแล้ว 1 ครั้ง ให้กับกลุ่มคน 14 ล้านคน เชื่อว่าทำให้จีดีพีไทยในไตรมาส 4 ของปี 2567 โตเกิน 3% แน่นอน และ เฟสที่ 2 สำหรับผู้สูงอายุ 4 ล้านคน เตรียมดำเนินการภายในตรุษจีน ปี 2568 โดยจะเป็นรูปแบบ เงินสด ขณะที่ เฟส 3 สำหรับบุคคลทั่วไป วางแผนว่าจะเป็นรูปแบบระบบดิจิทัลวอลเล็ต เพราะเป็นไปตามความตั้งใจแรกตั้งแต่เริ่มนโยบายคือให้เงินผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเครื่องมือเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ดิจิทัลวอลเล็ต จะเปิดทางเชื่อมต่อระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐอย่างรวดเร็ว และตรงประเด็นมากยิ่งขึ้น พร้อมย้ำว่า “เฟส 3 จะเกิดขึ้นภายในปี 2568 แน่นอน”

แจกเงินหมื่น เฟส 2-3 เกินความจำเป็น!

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นกับ The Active ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยหลักการเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ แปลว่า ไม่ได้เป็นนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นเวลาเปรียบเทียบกัน จะมีการช่วยเหลือ 2 แบบ คือ การ “ให้ปลา” เพื่อให้กินอิ่มไปเป็นมื้อ กับการปรับโครงสร้าง คือ การ “สอนให้หาปลาได้” เพื่อให้อิ่มได้นาน เพราะฉะนั้นโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต คือ “การให้ปลา”

แต่การให้ปลาลักษณะนี้ เมื่อดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการแจกหรือไม่ ? คำตอบที่จะให้คือก็มีมุมอยู่บ้าง เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น คือ ถ้ามองว่าเศรษฐกิจไทยควรโตอย่างน้อย 3% แต่ในช่วงที่ผ่านมาโตแค่ประมาณ 2.4-2.6% หมายความว่ายังมีช่องว่างอยู่ที่จะต้องเติมเต็ม

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

“การแจกเงินให้กับกลุ่มคนเปราะบางในเฟสแรกผมก็เห็นด้วย เพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดีและเป็นการไปช่วยคนกลุ่มเปราะบาง ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่พอเข้ามาสู่เฟส 2 ที่รัฐบาล วางแผนในปีหน้า ว่าจะให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนเฟส 3 ให้ประชาชนทั่วไป ความเห็นส่วนตัวมองว่าในเรื่องของความจำเป็นมันน้อยลง”

นณริฏ พิศลยบุตร

นณริฏ ยังอธิบายเหตุผลที่รัฐไม่จำเป็นต้องเดินหน้าแจกเงินต่อ ว่า เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ ปีหน้าอาจจะอยู่ประมาณ 2.6% เพราะฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำได้ แต่เม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้น รัฐต้องไปดูว่าส่วนต่างระหว่าง 2.6% กับ 3% ซึ่งห่างกันอยู่ที่ 0.4% โดย 0.4% ของขนาดเศรษฐกิจคือ 17 ล้านล้านบาท ถามว่ามากน้อยแค่ไหน ก็คืออยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และหากมีการใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพด้วย เพื่อให้เงิน 6 หมื่นล้าน เกิดพายุในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการใช้เครื่องมือที่ทำให้ได้ 2 เท่า คืออาจจะอัดฉีดแค่ 3 หมื่นล้าน ก็เพียงพอ 

“จะเห็นว่าขนาดมันเล็กมาก เมื่อเทียบกับนโยบายที่ภาครัฐทำเป็นหลักแสนล้าน ในแง่นี้ผมจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับเฟส 2 เฟส 3 โดยเฟส 2 อาจจะยังมีมุมบ้าง เพราะผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ได้รับความยากลำบากจริง หลายคนไม่มีเงินพอที่จะเกษียณอายุ แต่มันเป็นการช่วยเหลือในมุมทางสังคม แต่ถ้ามองในภาพรวม ถ้าจะให้ดีควรทำให้เกิดการกระตุ้นทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม เฟส 2 อาจจะพอเป็นไปได้ แต่เฟส 3 ไม่ดีเลย”

นณริฏ พิศลยบุตร

นักวิชาการ TDRI ยังย้ำด้วยว่า กลุ่มคนทั่วไปไม่ได้เป็นกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อน หรือมีความเปราะบาง ก็ไม่จำเป็นต้องช่วย เพราะช่วยกลุ่มคนเปราะบางไปแล้วในเฟสแรก นี่คือสิ่งที่รัฐบาลพลาด

“ในมุมมองส่วนตัว นั่นคือการไม่ฟังความเห็นของภาควิชาการ ที่ผ่านมาเฟส 1 พยายามเข็นเราก็พอรับได้ เฟส 2 เริ่มมีเหตุผลน้อยลงเรื่อย ๆ เฟส 3 ยิ่งไม่ควรทำ ดังนั้นผมไม่เห็นด้วยกับแผนในส่วนนี้”

นณริฏ พิศลยบุตร

แก้หนี้คนไทย “คุณสู้ เราช่วย” 

ขณะที่ การแก้หนี้ครัวเรือน นายกรัฐมนตรี แถลงว่า เป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่และเกิดขึ้นกับแทบจะทุกคน ทั้งปัญหาหนี้รถ หนี้บ้าน ซึ่งมักจะถูกยึดบ่อยครั้ง โดยได้ความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ ลดการสมทบเงินเข้ากองทุนฟื้นฟู ลง 0.23% เป็นเงินจำนวน 39,000 ล้านบาท และธนาคารพาณิชย์สมทบ 39,000 ล้านบาท เพื่อนำมาพักดอกเบี้ยให้กับประชาชน 78,000 ล้านบาท นาน 3 ปี โดยเงินที่ประชาชนจ่ายใช้หนี้ จะถูกนำไปลดเงินต้น ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยหลังจากนี้จะลดลง เพื่อให้ประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากได้ รวมทั้งมาตรการ ลดภาระหนี้ที่ยอดต่ำกว่า 5,000 บาท 

นโยบายแก้หนี้ “ทำได้ดี” แต่ “ทำไม่ถึง”

สำหรับนโยบายแก้หนี้ที่นายกฯ แถลงไปนั้น นณริฏ มองว่า ประเทศไทยเป็นสังคมที่ก่อหนี้เก่ง พอมาเผชิญกับปัญหาความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าการก่อหนี้ของคนไทย ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีการรับมือกับความเสี่ยงที่ดีพอ ส่วน มาตรการที่ภาครัฐทำ เป็นนโยบายแก้หนี้ที่ดีต้องชื่นชม แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นของรัฐบาล หรือของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือทำร่วมกัน ซึ่งปัญหาเรื่องหนี้สินเป็นเรื่องใหญ่ หลายรูปแบบมาก ทั้งคอนโด บัตรเครดิต รถยนต์ แย่ไปหมด ต้องเรียกว่าคนชักหน้าไม่ถึงหลัง 

“ต้องยอมรับว่ารัฐบาลมีนโยบายแก้หนี้ออกมา โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีหลายเรือธงออกมาเยอะมาก และพยายามแก้ในหลายจุด ต้องชื่นชมในความพยายาม ซึ่งนโยบายบางส่วนก็ได้เริ่มไปแล้ว”

นณริฏ พิศลยบุตร

นณริฏ ยังย้ำว่า นโยบายของรัฐบาลในเรื่องแก้หนี้ “ยังไปไม่สุด” เพราะจริง ๆ แล้ว ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า การก่อหนี้มันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ เมื่อมีการกู้หนี้ยืมสิน หลายคนอาจจะมองว่าตัวเองสามารถจ่ายได้ แต่ท้ายที่สุดอาจจะไม่เป็นแบบนั้น ตัวอย่างสถานการณ์ โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ขนาดอาชีพที่มั่นคงเป็นเสือนอนกินก็ยังตกงานได้ เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไรแน่นอน ส่วนที่ขาดหายไปเป็นเรื่องการสร้างวินัย การสร้างความเข้าใจถึงความเสี่ยง ในการก่อหนี้รัฐควรจะเสริมเรื่องนี้เข้าไปด้วยแต่กลับไม่ค่อยเห็น

“ถ้าปล่อยไว้ให้พฤติกรรมยังเป็นแบบเดิม ต่อให้รัฐแก้ไขปัญหาหนี้ได้หมด ท้ายที่สุดวันหนึ่งที่เกิดวิกฤตเราก็ต้องกลับมานั่งแก้แบบนี้อีก นี่เป็นส่วนที่ผมมองว่ารัฐยังไปไม่ถึง”

นณริฏ พิศลยบุตร


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active