ข้ามไปเนื้อหา

โจรูริจิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โจรูริจิ (ญี่ปุ่น: 浄瑠璃寺โรมาจิJōruri-ji) เป็นวัดของพุทธศาสนา ตั้งอยู่ระหว่างนครเกียวโตกับนาระ สร้างขึ้นเมื่อปี 1047 โดยพระเอ็นชิน ภิกษุผู้ทรงอิทธิพลในยุคเฮอัง วัดนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสวนญี่ปุ่นแบบโบราณ ที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบพุทธเกษตรแดนสุขาวดี ด้านทิศตะวันตก ของพระอมิตาภะพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน ปัจจุบันโจรูริจิเป็นวัดในนิกายชินงง-ริสึหรือนิกายมนตรยานสายวินัย แต่ด้วยเหตุที่วัดมีชื่อเสียงในด้านอุทยานสุขาวดี ผู้คนจึงเข้าใจว่าเป็นวัดในนิกายโจโด หรือนิกายสุขาวดี

วิหารพุทธเกษตร สร้างขึ้นเมื่อปี 1107

อุทยานพุทธเกษตร

[แก้]

สวนพุทธเกษตรโจรูริจิ (浄瑠璃寺庭園) เป็นสวยแบบพุทธเกษตรที่เลียนแบบพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าในจักรวาลอื่นๆ อารามและสวนในลักษณะนี้นิยมสร้างกันในยุคเฮอัง (平安時代) หรือระหว่างปีคริสตศักราช 794 - 1185 เนื่องจากยุคสมัยนั้นเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อ และความตกต่ำของจิตใจมนุษย์ จนผู้คนในยุคนั้นเชื่อว่า พระพุทธศาสนาของพระศากยมุนีเสื่อมถอยลงแล้ว ทางรอดเพียงประการเดียวคือภาวนาอ้อนวอนเพื่อไปเกิดในพุทธเกษตรสุขาวดีของพระอมิตาภะ ปัจจุบันสวนสุขาวดีเหลืออยู่เพียง 2 แห่งคือที่เบียวโดอิง (平等院) ที่เมืองอูจิ และที่โจรูริจิแห่งนี้

สระน้ำของสวนขุดขึ้นในปีคริสตศักราช 1150 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหารพระอมิตาภพุทธทั้ง 9 พระองค์ (สร้างขึ้นในปี 1107) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตก ด้านหน้าวิหารและอีกฝั่งสระน้ำประดับโคมศิลาสมัยศตวรรษที่ 13 ช่วยเสริมความงามสง่าที่แฝงไว้ในความเรียบง่าย

การจัดวางตำแหน่งของสวนและสระน้ำเป็นไปตามลักษณะอุทยานสวรรค์สุขาวดี และตามหลักการจัดสวนแบบโบราณของญี่ปุ่น กลางสระน้ำก่อเกาะเล็กๆ ไว้หมายถึงโลกมนุษย์ มีหาดหินกรวดขนาดย่อม หินตั้งที่ดูกลมกลืนกับพื้นที่ และมีการจัดวางสะพานหินตามขนบ ในระยะหลังทางวัดปล่อยให้พืชพรรณเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ จึงมีลักษณะคล้ายกับสวนตามวัดนิกายเซน แต่หลังจากมีการบูรณะแล้ว มีการตบแต่งใหม่ตามขนบสวนสมัยเฮอัง ที่ดูเป็นระบบระเบียบมากว่า

อุทยานพุทธเกษตรในช่วงฤดูใบไม้ร่วง เบื้องหน้าเจดีย์ 3 ชั้นที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1178
ลักษมี
ท้าววิรูปักษ์

แนวคิดเบื้องหลังของอุทยานพุทธเกษตร

[แก้]

ทั้งนี้ ใน จุลสุขาวดีวยูหสูตร หรือ อมิตายุสูตร กล่าวถึง สุขาวดีโลกธาตุ หรือ อุทยานในพุทธเกษตรสุขาวดีไว้ว่า

"ดูก่อน สารีบุตร ไฉนพุทธเกษตรแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "สุขาวดี" เล่า? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบรรดาปวงสัตว์ในพุทธเกษตรแห่งนี้ ไม่มีความทุกกายทุกใจใดๆ อยู่เลย มีแต่ความสุขอย่างเหลือประมาณ เหตุนี้แลพุทธเกษตรแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "สุขาวดีพุทธเกษตร" อนึ่งสารีบุตร ในสุขาวดีพุทธเกษตรนี้ ประดับประดาแวดล้อมไปด้วยภูเขาแก้ว 7 ลูก อันเป็นประดุจกำแพงแก้ว 7 ชั้น มีต้นตาลขึ้นเป็นแนวอยู่อีก 7 แถว มีตาข่ายกระดึงทองโยงใยให้ถึงกัน และ อาณาบริเวณโดยทั่วไปนั้นล้วนรายรอบเกลื่อน กลาดไปด้วยแก้วมณีอันมีค่า 7 ประการ ด้วยเหตุนี้เองจึงได้ชื่อว่า สุขาวดีพุทธเกษตร"

อนึ่ง ในสุขาวดีพุทธเกษตรนี้ ยังมีสระโบกขรดี ซึ่งประดับประดาด้วยรัตนอันมีค่ายิ่งอยู่จำนวน 7 สระ สระน้ำทั้ง 7 แห่ง เป็นสระที่ประดับรัตนชาติอันมีค่ายิ่งทั้ง 7 อย่างคือ ทอง เงิน ไพฑูรย์ ผลึก ทับทิม บุศราคัม และมรกต สระโบกหรดีทั้ง 7 เปี่ยมไปด้วย อัษฎางคิกวรีคือมีองค์คุณ 8 ประการ ครบถ้วนคือ

1.มีท่าสำหรับการขึ้น-ลงสระที่ราบเรียบ

2.ระดับน้ำลึกพอที่กาจะก้มลงกินน้ำได้

3.ท่าขึ้น-ลงนับรายระยับด้วยทรายทอง

4.แต่ละสระมีบันได 4 บันไดโดยรอบทั้ง 4 ทิศ

5.ท่าขึ้น-ลงล้วนประดับประดาด้วยแก้วมณีอันมีค่าทั้ง 7 อย่าง

6.บริเวณรอบๆสระน้ำทั้ง 7 มีต้นไม้แก้ว 7 ประการ ออกดอกออกผลอย่างงดงามน่าดูเป็นที่ชื่นตาชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง

7.ในสระทั้ง 7 แห่งมีดอกบัวต่างพันธุ์ต่างสีสันขึ้นอยู่เต็มทุกสระมีทั้งดอกสีเขียว เหลืองแดง ขาว และดอกบัวต่างพันธุ์ต่างวรรณะนี้เมื่อได้เบ่งบานเต็มที่จะมีสัณฐานใหญ่เท่ากงเกวียนที่เดียว"

ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวคิดของสวน

[แก้]

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งของวิหารพระอมิตาภพุทธ และสระน้ำ ดูผิดแผกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน แสงที่สาดส่องลงมาอยู่ตรงกันข้ามกับด้านหน้าของวิหารและสวน แต่ส่องเข้าอย่างเต็มที่ไปยังเจดีย์ 3 ชั้น ที่ประดิษฐานรูปพระอักโษภยะพุทธเจ้า ในจุดนี้ ทำให้สันนิษฐานกันว่า สวนแห่งนี้อาจมิได้สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนอุทยานพุทธเกษตรสุขาวดี แต่อาจสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนอุทยานของพุทธเกษตรอภิระติ ของพระอักโษภยะพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก แต่ทฤษฎีนี้ไม่ค่อยแพร่หลายนัก