แฟแลงซ์
แฟแลงซ์ หรือ ฟาลังซ์ (อังกฤษ: phalanx; กรีกโบราณ: φάλαγξ, พหูพจน์ อังกฤษ: phalanxes หรือ phalanges, กรีกโบราณ: φάλαγγες) เป็นรูปขบวนทหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยทั่วไปประกอบด้วยทหารราบหนักทั้งหมดที่ถือหอก ไพค์ (pike) ซาริสซา (sarissa) หรืออาวุธที่คล้ายกัน คำนี้เจาะจง (และแต่แรก) ใช้อธิบายการใช้รูปขบวนนี้ในการสงครามกรีกโบราณ แม้นักเขียนกรีกโบราณใช้คำนี้อธิบายรูปขบวนทหารราบใดก็ตามที่เป็นกลุ่ม (massed) ไม่ว่าจะถือยุทธภัณฑ์ใด ในเอกสารกรีกโบราณพูดถึงแฟแลงซ์ว่า อาจเป็นการวางกำลังสำหรับการยุทธ์ การเดิน หรือแม้แต่การตั้งค่าย ฉะนั้นจึงอธิบายกลุ่มทหารราบหรือทหารม้าที่จะจัดวางกำลังเป็นเส้นตรงระหว่างการยุทธ์ ทหารเหล่านี้เดินหน้าเป็นหน่วยเดียวและบดขยี้ข้าศึก คำว่า แฟแลงซ์ มาจากภาษากรีก หมายถึง นิ้ว
ในปัจจุบัน คำนี้ไม่ได้ใช้เรียกหน่วยทหารหรือกองพล (เช่น ลีเจียนของโรมันหรือกองพันแบบตะวันตกร่วมสมัย) แต่ใช้เรียกรูปขบวนทั่วไปของทหาร ฉะนั้น แฟแลงซ์จึงไม่มีกำลังรบหรือการประกอบกำลังมาตรฐาน ทว่ารวมเรียกทหารราบทั้งหมดซึ่งวางหรือจะวางกำลังในหน้าที่ในรูปขบวนแฟแลงซ์เดี่ยว ทหารถือหอกจำนวนมากในอดีตสู้รบกันในรูปขบวนที่อาจเรียกได้ว่าคล้ายแฟแลงซ์ คำนี้จึงมีใช้ในภาษาอังกฤษทั่วไปเพื่ออธิบาย "กลุ่มคนที่กำลังยืนหรือกำลังเคลื่อนไปด้านหน้าใกล้กัน"[1]
ประวัติศาสตร์
[แก้]การพรรณนารูปขบวนคล้ายแฟแลงซ์เก่าแก่ที่สุดเกิดขึ้นในจารึกซูเมเรียนจากศตวรรษที่ 25 ก่อน ค.ศ. ซึ่งทหารดูเหมือนถือหอก หมวกเกราะและโล่ขนาดใหญ่ซึ่งปกปิดทั้งร่างกาย ทหารราบอียิปต์โบราณเหมือนจะจัดวางกำลังรูปขบวนคล้ายกัน การใช้คำแฟแลงซ์ "φαλαγξ" ครั้งแรกมาจากการใช้ของโฮเมอร์เพื่ออธิบายฮอปไลต์ที่กำลังสู้ในแนวรบจัดระเบียบ โฮเมอร์ใช้คำนี้แยกแยะการสู้รบที่ยึดรูปขบวนจากการดวลเดี่ยวซึ่งพบบ่อยในกวีของเขา[2]
นักประวัติศาสตร์ยังไม่มีความเห็นพ้องกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรูปขบวนกรีกและรูปขบวนของชาติอื่นก่อนหน้านั้น หลักการกำแพงโล่ (shield wall) และเม่นหอก (spear hedge) แทบรู้จักกันในแทบทุกกองทัพของอารยธรรมหลักตลอดประวัติศาสตร์ ฉะนั้นความคล้ายคลึงอาจสัมพันธ์กับวิวัฒนาการเบนเข้ามากกว่าการกระจาย[2]
เดิมนักประวัติศาสตร์ระบุวันที่กำเนิดแฟแลงซ์ฮอปไลต์ของกรีกโบราณไว้ที่ศตวรรษที่ 8 ก่อน ค.ศ. ในสปาร์ตา แต่ปัจจุบันกำลังมีการทบทวน บางทีอาจมีแนวโน้มว่ารูปขบวนแฟแลงซ์อาจถูกประดิษฐ์ขึ้นในศตวรรษที่ 7 ก่อน ค.ศ. หลังนครอาร์กอสเริ่มใช้โล่แอปซิส (หรือฮอปลอน) ซึ่งอาจทำให้รูปขบวนนี้เป็นไปได้ แจกันกีจีซึ่งสืบย้อนไปได้ถึง 650 ปีก่อน ค.ศ. เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงภาพฮอปไลต์ถือแอปซิส หอกและชุดเสื้อเกราะ
ทฤษฎีกำเนิดการสงครามแฟแลงซ์ของกรีกอีกทฤษฎีหนึ่งมาจากมโนทัศน์ว่าบางแง่มุมพื้นฐานของแฟแลงซ์ปรากฏก่อนหน้านั้น ทว่ายังไม่ได้พัฒนาเต็มที่เพราะขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม สองยุทธศาสตร์พื้นฐานที่พบในการสงครามก่อนหน้านั้นรวมถึงหลักการเชื่อมติด (cohesion) และการใช้กลุ่มทหารขนาดใหญ่ ซึ่งอาจแนะว่าแฟแลงซ์ของกรีกเป็นขั้นสุดท้ายและความสมบูรณ์ของมโนทัศน์ที่พัฒนาขึ้นอย่างช้า ๆ ที่กำเนิดขึ้นมานานแล้ว เมื่ออาวุธและเกราะพัฒนาขึ้นตามกาลในนครรัฐต่าง ๆ แฟแลงซ์จึงกลายมาซับซ้อนและทรงประสิทธิภาพ[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Oxford English Dictionary, "a group of people standing, or moving forward closely together"
- ↑ 2.0 2.1 Phalanx and hoplites เก็บถาวร 2011-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. livius.org. 20 November 2008
- ↑ Hanson, Victor Davis (1991) Hoplites: The Classical Greek Battle Experience ISBN 0-415-09816-5. pp. 66–67