เต่ามาตามาตา
เต่ามาตามาตา ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไพลโอซีน-ปัจจุบัน | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Testudines |
อันดับย่อย: | Pleurodira |
วงศ์: | Chelidae |
สกุล: | Chelus Duméril, 1806 |
สปีชีส์: | C. fimbriata |
ชื่อทวินาม | |
Chelus fimbriata (Schneider, 1783) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
เต่ามาตามาตา (สเปน: tortuga matamata; ชื่อวิทยาศาสตร์: Chelus fimbriata) เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่าชนิดหนึ่ง ในวงศ์เต่าคองู (Chelidae) จัดเป็นเต่าเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Chelus [2]
โดยคำว่า "Mata mata" ที่เป็นชื่อสามัญนั้น มาจากภาษาสเปนแปลว่า "ฆ่ามัน ฆ่ามัน" จัดว่าเป็นเต่าชนิดหนึ่งที่หากินและอาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา มีรูปร่างแปลกตา นับว่าเป็นนักพรางตัวเข้ากับได้ดีเยี่ยมชนิดหนึ่ง เพราะมีรูปร่างและสีสันกลมกลืนกับธรรมชาติมาก เต่ามาตามาตามีส่วนหัวที่แบนแผ่เป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ และผิวหนังขรุขระและมีติ่งเนื้อล้อมรอบทำหน้าที่รับความรู้สึกและตรวจสอบการกระเพื่อมของน้ำ กระดองกว้างและแบนราบมีสันขนาดใหญ่ 3 สัน เรียงตามความยาวของกระดอง ที่เมื่ออยู่ในน้ำแล้วมองดูเหมือนก้อนหิน หรือเปลือกไม้ หรือใบไม้มากกว่า และมีจมูกที่มีความยาวคล้ายหลอด คอยาวเหมือนงู ซึ่งทั้งหมดใช้สำหรับการพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใต้พื้นน้ำ เพื่อรอดักซุ่มเหยื่อ ซึ่งได้แก่ ปลา โดยเต่ามาตามาตาจะอยู่นิ่ง ๆ อ้าปากรอปลาที่ผ่านเข้ามาในระยะของปาก จะกินปลาด้วยการดูดเข้าไป[3] รวมถึงกินสัตว์อย่างอื่นได้ด้วย เช่น ครัสเตเชียน, สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ตลอดจนสัตว์ปีกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก[4]
เต่ามาตามาตา โตเต็มที่ได้ถึง 50 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัม นับเป็นเต่าน้ำที่มีขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่ง กระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำจืดของทวีปอเมริกาใต้ เช่น แม่น้ำโอริโนโก และแม่น้ำแอมะซอน ตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศโบลิเวีย, ทางตะวันออกของประเทศเปรู, ประเทศเอกวาดอร์, ทางตะวันออกของประเทศโคลอมเบีย, ประเทศเวเนซุเอลา, ประเทศกายอานา, ประเทศซูรินาม และเฟรนช์เกียนา รวมถึงตอนเหนือและตอนกลางของประเทศบราซิล มักอาศัยอยู่ในน้ำที่มีสภาพเป็นกรดสูงซึ่งเกิดจากการทับถมของเศษซากพืชต่าง ๆ จนน้ำมีสีคล้ายสีน้ำตาลหรือสีชา มีสารแทนนินสูง มีพฤติกรรมเชื่องช้าเป็น อาศัยอยู่โดดเดียว โดยหากินและอาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา ยกเว้นเมื่อตัวเมียขึ้นมาวางไข่บนบกเท่านั้น โดยวางไข่บนดินเลนประมาณ 12-28 ฟอง อายุที่พร้อมขยายพันธุ์อยู่ที่ 5 ปี ฤดูการวางไข่อยู่ที่ปลายปีราวเดือนตุลาคม-ธันวาคม ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 208 วัน [4]
นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง[4]
รูปภาพ
[แก้]-
ส่วนหัว
-
ส่วนหน้าและจมูกที่ยาวเหมือนหลอด
-
เต่ามาตามาตาที่สวนสัตว์พาต้า
-
บนบก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Rhodin, Anders G.J.; van Dijk, Peter Paul; Iverson, John B.; Shaffer, H. Bradley; Roger, Bour (2011-12-31). "Turtles of the world, 2011 update: Annotated checklist of taxonomy, synonymy, distribution and conservation status". Chelonian Research Monographs 5:000.165-000.242. Archived from the original on 2012-01-22.
- ↑ "Chelus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
- ↑ หน้า 355, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Forrest, Ben. "Chelus fimbriatus – The Mata Mata" (PDF). chelonia.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ เต่ามาตามาตา ที่วิกิสปีชีส์