เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟ
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟ | |
---|---|
ประเภท | เครื่องราชอิสริยาภรณ์หกชั้น |
วันสถาปนา | พ.ศ. 2390 |
ประเทศ | ประเทศนอร์เวย์ |
ผู้สมควรได้รับ | พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์นอร์เวย์ และชาวนอร์เวย์ที่กระทำคุณความดี |
สถานะ | ยังมีการมอบ |
ผู้สถาปนา | พระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน |
ประธาน | สมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์ |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | ไม่มี |
รองมา | เครื่องราชอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งนอร์เวย์ |
หมายเหตุ | แพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ |
เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟ (นอร์เวย์: Den Kongelige Norske Sankt Olavs Orden) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศนอร์เวย์ ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2390 เพื่อถวายเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์[1]
ก่อนที่สหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์จะล่มสลายใน พ.ศ. 2448 ได้มีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตแห่งนอร์เวย์โดยสมเด็จพระเจ้าออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดน แต่เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟกลายเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเดียวของนอร์เวย์ ซึ่งมอบให้กับผู้ที่กระทำคุณประโยชน์ต่อราชการและประเทศนอร์เวย์รวมถึงผู้มีเกียรติจากต่างประเทศ แต่ใน พ.ศ. 2528 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เปลี่ยนมามอบให้แก่ชาวนอร์เวย์ พระราชวงศ์นอร์เวย์ ประมุขแห่งรัฐ และราชวงศ์ต่างประเทศเท่านั้น และได้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งนอร์เวย์สำหรับมอบให้ชาวต่างชาติทั่วไปแทน
ลักษณะ
[แก้]- สายสร้อย : ทำด้วยทองคำ มีอักษรย่อ "O" ที่สวมรูปมงกุฎ 5 อัน สลับกับตราแผ่นดินของนอร์เวย์ 5 อัน และไม้กางเขนอีก 10 อันซึ่งขนาบด้วยขวานสีเงิน
- ดวงตรา : เป็นไม้กางเขนมอลตาเคลือบด้วยสีขาว ชั้นเบญจมาภรณ์จะเป็นสีเงินและชั้นจตุรถาภรณ์ขึ้นไปจะลงยาด้วยสีทอง และอักษรย่อ "O" จะอยู่ระหว่างแขนของไม้กางเขน ตัวดวงตราด้านในจะลงยาด้วยสีแดง มีรูปสิงโตติดอยู่ด้านหน้าตัวดวงตรา ด้านหลังเขียนคำขวัญว่า «Ret og Sandhed» – "ความยุติธรรมและความจริง" และดวงตราถูกประดับด้วยมงกุฎ[2]
- ดารา (ชั้นประถมาภรณ์) : เป็นดาวแปดแฉก ทำด้วยเพชรและพลอย และมีสัญลักษณ์ดวงตราประดับอยู่ด้านหน้า
- ดารา (ชั้นทวีติยาภรณ์) : เป็นกางเขนมอลตาสีเงิน มีอักษรย่อ "O" ที่สวมรูปมงกุฎอยู่ระหว่างแขนของไม้กางเขน และตัวดวงตราเป็นสีแดงและมีรูปสิงตติดอยู่ที่ด้านหน้าและมีวงแหวนล้อมรอบตัวกางเขน
- แพรแถบย่อ : เป็นสีแดงแถบขอบขาว-น้ำเงิน-ขาวซึ่งเป็นสีของธงชาตินอร์เวย์
หากมีการพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ อาจมีการประดับเพชรบนดวงตรา ซึ่งในกรณีนี้ ตัววงแหวนจะเป็นเพชรแทนวงแหวงสีเงิน-ทอง[3] นอกจากนี้ อาจมีการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หากได้รับพระราชทานชั้นที่สูงขึ้นหรือเสียชีวิต
ลำดับชั้น
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มี แกรนด์มาสเตอร์ ซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ผู้เป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์[4] และมีลำดับชั้นปกติอยู่ 6 ชั้น ได้แก่
- ชั้นประถมาภรณ์ (Storkors) : สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือสามัญชนผู้ที่สมควรจะได้รับในกรณีพิเศษ โดยพระราชทานพร้อมกับสายสร้อยและสายสะพายซึ่งสะพายจากบ่าขวาลงทางซ้าย หรืออาจทรงพระราชทานอย่างใดอย่างหนึ่ง
- ชั้นผู้บังคับบัญชา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่[1]
- ชั้นทวีติยาภรณ์ (Kommandør med stjerne) : ประดับดวงตรากับสายคล้องคอและดาราบนหน้าอกซ้าย
- ชั้นตริตาภรณ์ (Kommandør) : ประดับดวงตรากับสายคล้องคอ
- ชั้นอัศวิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ชั้นจตุรถาภรณ์ (Ridder av 1. klasse) : ประดับดวงตราห้อยกับแพรแถบติดที่หน้าอกด้านซ้าย
- ชั้นเบญจมาภรณ์ (Ridder) : ประดับดวงตราห้อยกับแพรแถบติดที่หน้าอกด้านซ้าย
แพรแถบย่อ | |||||
---|---|---|---|---|---|
ชั้นประถมาภรณ์พร้อมสายสร้อย |
ชั้นประถมาภรณ์ |
ชั้นทวีติยาภรณ์ |
ชั้นตริตาภรณ์ |
ชั้นจตุรถาภรณ์ |
ชั้นเบญจมาภรณ์ |
การพระราชทาน
[แก้]พระมหากษัตริย์นอร์เวย์จะทรงพระราชทานตามคำขอพระราชทานจากคณะกรรมาธิการแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์หกคน ซึ่งไม่มีสมาชิกของรัฐบาลอยู่ โดยจะมีเพียงนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ รองนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ลอร์ดแชมเบอร์แลน (เหรัญญิก) และผู้แทนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์อีกสามคน ซึ่งคณะกรรมาธิการเหล่านี้จะเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับ และกราบทูลแก่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงอนุมัติและพระราชทานต่อไป[5]
สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของนอร์เวย์ จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะ[6] ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์นอร์เวย์รายล่าสุดที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เนื่องจากทรงบรรลุนิติภาวะได้แก่เจ้าหญิงอิงกริด อเล็กซันดราแห่งนอร์เวย์[7][8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Hieronymussen & Lundø 1968, p. 102.
- ↑ Hieronymussen & Lundø 1968, fig. 8, p. 102.
- ↑ "Utnevnelse til St. Olavs Orden". สืบค้นเมื่อ 21 September 2014.
- ↑ Statutes, §2
- ↑ section 5, Statues of the Order of St. Olav
- ↑ section 3, Statues of the Order of St. Olav
- ↑ "H.K.H. Prinsessens dekorasjoner". Kongehuset. สืบค้นเมื่อ 18 June 2022.
- ↑ "Appointment to the Order of St. Olav". The Royal House of Norway. สืบค้นเมื่อ 21 January 2022.