อุยก๋วน (เว่ย์ กว้าน)
อุยก๋วน (เว่ย์ กว้าน) | |
---|---|
衛瓘 | |
ผู้จัดการราชการของสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ปลายเดือนเมษายน ค.ศ. 291[a] – 25 กรกฎาคม ค.ศ. 291 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |
มหาองครักษ์ (太保 ไท่เป่า) | |
ดำรงตำแหน่ง 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 290[b] – 25 กรกฎาคม ค.ศ. 291 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน / จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |
ราชครูรองประจำองค์รัชทายาท (太子少傅 ไท่จื๋อเฉ่าฟู่) | |
ดำรงตำแหน่ง ?– ค.ศ. 290 | |
เสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 283– 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 290 | |
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ซื่อจง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 278–290 | |
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลื่ง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 278–290 | |
นายกองร้อยเผ่าออหวน (烏桓校尉 อูหฺวานเซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 271–278 | |
ข้าหลวงมณฑลอิวจิ๋ว (幽州刺史 โยวโจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 271–278 | |
มหาขุนพลโจมตีภาคเหนือ (征北大將軍 เจิงเป่ย์ต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 271–278 | |
เจ้ามณฑลเฉงจิ๋ว (青州牧 ชิงโจวมู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 269–271 | |
มหาขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東大將軍 เจิงตงต้าเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 269–271 | |
ขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東將軍 เจิงตงเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266–269 | |
กษัตริย์ | สุมาเอี๋ยน |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 220 อำเภอเซี่ย มณฑลชานซี |
เสียชีวิต | ค.ศ. 291 (71 ปี) |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ | เว่ย์ ชั่ว (หลานสาว) |
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
ชื่อรอง | ปั๋ว-ยฺวี่ (伯玉) |
สมัญญานาม | เฉิง (成) |
บรรดาศักดิ์ | หลานหลิงกง (蘭陵公) |
อุยก๋วน (ค.ศ. 220 – 25 กรกฎาคม ค.ศ. 291[c]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เว่ย์ กว้าน (จีน: 衛瓘; พินอิน: Wèi Guàn) ชื่อรอง ปั๋ว-ยฺวี่ (จีน: 伯玉; พินอิน: Bóyù) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ได้รับราชการกับราชวงศ์จิ้นหลังสิ้นสุดยุคสามก๊ก
ประวัติและการรับราชการช่วงต้น
[แก้]อุยก๋วนเป็นชาวอำเภออันอิบ (安邑縣 อันอี้เซี่ยน) เมืองฮอตั๋ง (河東郡 เหอตงจฺวิ้น) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอำเภอเซี่ย มณฑลชานซีในปัจจุบัน บิดาของอุยก๋วนคือเว่ย์ จี้ (衛覬; ค.ศ. 168 - 229) เป็นข้าราชการระดับสูงของวุยก๊กและมีบรรดาศักดิ์ระดับเฮา (侯 โหว)[d] อุยก๋วนสืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดาและได้เป็นข้าราชการเมื่อเติบโตขึ้น ในช่วงเวลาหลายปีนั้นอุยก๋วนเป็นที่รู้จักในด้านความสามารถและได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง หลังโจฮวนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ อุยก๋วนได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานตุลาการ (廷尉卿 ถิงเว่ย์ชิง) และเป็นที่รู้จักในเรื่องความเชี่ยวชาญในด้านการคิดเชิงตรรกะ
เมื่อสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กสั่งให้ขุนพลจงโฮยและเตงงายยกทัพเข้าโจมตีจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กในปี ค.ศ. 263 อุยก๋วนทำหน้าที่เป็นรองของเตงงาย หลังจ๊กก๊กล่มสลายในปีเดียวกันนั้น จงโฮยวางแผนจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก และขั้นตอนแรกของการเตรียมการก่อกบฏคือการกล่าวหาเท็จว่าเตงงายคิดก่อกบฏ สุมาเจียวเชื่อคำกล่าวหาของจงโฮยจึงสั่งให้จับกุมเตงงาย จงโฮยจึงมีคำสั่งให้อุยก๋วนจับกุมเตงงาย โดยหวังว่าอุยก๋วนจะล้มเหลวและถูกเตงงายสังหาร เพื่อที่จงโฮยจะสามารถยืนยันคำกล่าวหาของตนที่มีต่อเตงงายได้ อุยก๋วนรู้เรื่องนี้จึงเร่งเข้าจับกุมเตงงายในเวลากลางคืนไม่ให้ทันตั้งตัว ภายหลังเมื่อจงโฮยก่อกบฏ อุยก๋วนแสร้งทำเป็นป่วยหนักเพื่อให้จงโฮยลดความระแวงที่มีต่อตน ต่อมาอุยก๋วนเข้าร่วมในการปลุกปั่นให้ทหารก่อการกำเริบต่อจงโฮยและยุติการก่อกบฏ อุยก๋วนกลัวว่าเตงงายจะแก้แค้นตนในภายหลัง จึงมีคำสั่งให้ทหารไล่ตามเตงงายที่กำลังถูกคุมตัวไปและสังหารเสีย เมื่อเตาอี้ติเตียนอุยก๋วนในที่สาธารณะ แทนที่อุยก๋วนจะโกรธและตอบโต้เตาอี้ อุยก๋วนกลับไปเยี่ยมเตาอี้และขอขมา อุยก๋วนยังปฏิเสธที่จะรับบรรดาศักดิ์ระดับสูงกว่าท่สุมาเจียวพร้อมจะมอบให้จากผลงานในการศึก
การรับราชการในยุคราชวงศ์จิ้น
[แก้]ในเดือนกันยายน ค.ศ. 265 สุมาเจียวเสียชีวิต สุมาเอี๋ยนบุตรชายขึ้นสืบทอดอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 สุมาเอี๋ยนชิงราชบัลลังก์จากโจฮวน เป็นการสิ้นสุดรัฐวุยก๊กและก่อตั้งราชวงศ์จิ้น ตลอดรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน อุยก๋วนยังคงเป็นขุนนางและขุนพลคนสำคัญ รับผิดชอบราชการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้น้องชายคนหนึ่งและบุตรชายคนหนึ่งของอุยก๋วนได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เฮา (侯 โหว) อุยก๋วนพยายามนำระบบราชการที่ปรับปรุงใหม่มาใช้ โดยผู้ตรวจสอบราชการพลเรือน (中正 จงเจิ้ง) จะมีส่วนร่วมในการประเมินข้าราชการน้อยลง และการปฏิบัติงานจริงมีความสำคัญมากขึ้น แต่ถึงแม้จักรพรรดิสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) จะทรงโปรดข้อเสนอของอุยก๋วน แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงนำไปปฏิบัติ
อุยก๋วนเป็นหนึ่งในขุนนางไม่กี่คนที่กล้าทูลจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับการเลือกรัชทายาทของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงเลือกพระโอรสซือหม่า จง (司馬衷) ผู้ทรงมีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการ ครั้งหนึ่ง หลังอุยก๋วนทูลเป็นนับว่าซือหม่า จงไม่ควรเป็นรัชทายาท จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงส่งคำถามหลายข้อไปถึงซือหม่า จงเพื่อให้ทรงตอบคำถาม ปรากฏว่าคำตอบที่ส่งกลับมานั้นตอบได้ถูกต้อง (เพราะเจี่ย หนานเฟิง (賈南風) พระชายาของซือหม่า จงทรงให้คนอื่นตอบคำถามแทนซือหม่า จง) จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงพอพระทัยและแสดงคำตอบให้อุยก๋วนดูต่อหน้าเหล่าขุนนาง ทำให้อุยก๋วนรู้สึกอับอายอย่างมาก และทำให้ขุนนางคนอื่น ๆ รู้ว่าอุยก๋วนได้ทูลบางอย่างกับจักรพรรดิ
หลังจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนสวรรคตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 290 หยาง จฺวิ้น (楊駿) บิดาของหยาง จื่อ (楊芷) พระมเหสีของจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน ได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของซือหม่า จงผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ (晉惠帝) แต่ในเดือนเมษายน ค.ศ. 291 หยาง จฺวิ้นถูกโค่นอำนาจและถูกสังหารในระหว่างรัฐประหารที่ก่อขึ้นโดยจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิง จากนั้นอุยก๋วนได้รับการตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พร้อมกับซือหม่า เลี่ยง (司馬亮) ผู้เป็นปู่น้อยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ อุยก๋วนและซือหม่า เลี่ยงพยายามทำให้ราชสำนักอยู่ในครรลองอันควร แต่จักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงยังคงก้าวก่ายราชกิจ อุยก๋วนและซือหม่า เลี่ยงยังกังวลเกี่ยวกับอารมณ์รุนแรงของซือหมา เหว่ย์ (司馬瑋) พระอนุชาต่างมารดาของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ (ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการก่อรัฐประหารโค่นล้มหยาง จฺวิ้น) จึงพยายามจะปลดพระองค์จากอำนาจบัญชาการกำลังทหาร แต่ซือหมา เหว่ย์ทูลโน้มน้าวจักรพรรดิเจี่ย หนานเฟิงให้พระองค์ยังคงอำนาจบัญชาการกำลังทหารต่อไป ผู้ช่วยของซือหมา เหว่ย์คือฉี เชิ่ง (岐盛) และกงซุน หง (公孫宏) ทูลปดต่อจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงว่าซือหมา หล่างและอุยก๋วนวางแผนที่จะปลดจักรพรรดิ จักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงซึ่งทรงมีความแค้นต่ออุยก๋วนอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่รัชสมัยของสุมาเอี๋ยนที่อุยก๋วนเคยทูลเสนอให้เปลี่ยนรัชทายาท อีกทั้งจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงยังทรงต้องการควบคุมราชสำนักโดยตรงมากยิ่งขึ้น จึงทรงตัดสินใจก่อการรัฐประหารเป็นครั้งที่ 2
ในฤดูร้อน ค.ศ. 291 จักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงทรงให้จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ออกพระราชโองการถึงซือหมา เหว่ย์ มีรับสั่งให้ปลดซือหม่า เลี่ยงและอุยก๋วนออกจากตำแหน่ง กำลังทหารของซือหมา เหว่ย์เข้าล้อมจวนของซือหม่า เลี่ยงและอุยก๋วน แม้ว่าผู้ใตับังคับบัญชาของซือหม่า เลี่ยงและอุยก๋วนจะแนะนำให้ทั้งคู่ต่อต้าน แต่ทั้งคู่ปฏิเสธและถูกจับกุมไป ซือหม่า เลี่ยงและอุยก๋วนถูกสังหารซึ่งเป็นการขัดต่อความในพระราชโองการ นอกจากนี้ซือหม่า จฺวี (司馬矩) ผู้เป็นทายาทของซือหม่า เลี่ยง รวมถึงบุตรชายและหลานชายรวม 9 คนของอุยก๋วนยังถูกสังหารด้วย ภายหลังจักรพรรดินีเจี่ย หนานเฟิงทรงกังวลเรื่องอำนาจของซือหมา เหว่ย์ จึงทรงประกาศความเท็จว่าพระราชโองการนั้นถูกซือหมา เหว่ย์ปลอมแปลงขึ้นและมีรับสั่งให้ประหารชีวิตซือหมา เหว่ย์ อุยก๋วนได้รับการฟื้นฟูเกียรติหลังมรณกรรม และให้คืนสถานะเป็นก๋ง (公 กง)
อักษรวิจิตร
[แก้]อุยก๋วนเป็นนักอักษรวิจิตรที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญการเขียนอักษรแบบเฉ่าชู (草書) อุยก๋วนและสั่ว จิ้ง (索靖) ที่เป็นเพื่อนขุนนางมักถูกเรียกร่วมกันว่าเป็น "หนึ่งหอสูง สองมหัศจรรย์" (一台二妙 อีไถเอ้อร์เมี่ยว) จากทักษะการเขียนอักษรของทั้งคู่[5] ทั้งสองยังถูกเปรียบเทียบกับจาง จือ (張芝) นักอักษรวิจิตรในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ในยุคนั้นมีคำกล่าวว่า "[อุย]ก๋วนได้เอ็นของปั๋วอิง[e] [สั่ว]จิ้งได้เนื้อของปั๋วอิง"[6] หลานสาวของอุยก๋วนชื่อเว่ย์ ชั่ว (衛鑠) เป็นนักอักษรวิจิตรที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะอาจารย์ของหวาง ซีจือ (王羲之)
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ บทชีวประวัติอุยก๋วนในจิ้นชูระบุว่าอุยก๋วนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการราชการของสำนักราชเลขาธิการหลังการเสียชีวิตของหยาง จฺวิ้น (楊駿) ซึ่งอยู่ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 291 ในปฏิทินจูเลียน
- ↑ วันจี่ซื่อ (己巳) ในเดือน 1 ของศักราชไท่ซี (太熙) ปีที่ 1 ตามที่ระบุในบทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยนในจิ้นชู
- ↑ แม้ไม่มีการบันทึกวันเสียชีวิตของอุยก๋วนอย่างแน่ชัด แต่ในบทพระราชประวัติจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ในจิ้นชูบันทึกว่าอุยก๋วนถูกสังหารพร้อมกับซือหม่า เลี่ยง (司馬亮) ซึ่งสิ้นพระชนม์ในวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 291[1]
- ↑ เว่ย์ จี้ยังเชี่ยวชาญการเขียนอักษรวิจิตรด้วย ในบทชีวประวัติหู เจา (胡昭) ในสามก๊กจี่ระบุว่าอักษรวิจิตรของเว่ย์ จี้ได้รับการเอาอย่างโดยคนอื่น ๆ อย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากอักษรวิจิตนของหู เจา, หานตาน ฉุน (邯鄲淳), จงฮิว (鍾繇 จง เหยา) และเหวย์ ต้าน (韋誕)[2] ชูตฺว้าน (書斷) บันทึกว่าเว่ย์ จี้เสียชีวิตขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[3] บทชีวประวัติอุยก๋วนในจิ้นชูบันทึกว่าเว่ย์ จี้อุยก๋วนมีอายุ 10 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ขณะเมื่อบิดาเสียชีวิต[4]
- ↑ ปั๋วอิง (伯英) คือชื่อรองของจาง จือ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ [(永平元年)六月,贾后矫诏使楚王玮杀太宰、汝南王亮,太保、菑阳公卫瓘.] จิ้นชู เล่มที่ 4
- ↑ (昭善史书,与锺繇、邯郸淳、卫觊、韦诞并有名,尺牍之迹,动见模楷焉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 11.
- ↑ (魏卫觊,字伯儒,河南安邑人,官至侍中。尤工古文、篆、隶、草体。伤瘦,笔迹精绝。魏初传曰:古文者篆,出于邯郸淳,伯儒尝写淳古文尚书,还以示淳,淳不能别。年六十二卒。) ชูตฺว้าน บรรพ 3.
- ↑ (父觊,魏尚书。瓘年十岁丧父,...) จิ้นชู เล่มที่ 36
- ↑ [瓘學問深博,明習文藝,與尚書郎敦煌索靖俱善草書,時人號為「一台二妙」。] จิ้นชู เล่มที่ 36.
- ↑ [漢末張芝亦善草書,論者謂「瓘得伯英筋,靖得伯英肉」。] จิ้นชู เล่มที่ 36.
บรรณานุกรม
[แก้]- ฝาง เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.