ข้ามไปเนื้อหา

อสังหาริมทรัพย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อสังหาริมทรัพย์ (อังกฤษ: immovable (คอมมอนลอว์); realty (ซีวิลลอว์)) ในทางกฎหมาย ในทางกฎหมาย หมายถึง ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นที่ติดอยู่กับที่ดินอย่างถาวร เช่น อาคาร บ้านเรือน

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น โฉนดหรือทะเบียนที่ดิน เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง กฎหมายจึงกำหนดให้มีเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมาย

ประเภท

[แก้]
  1. ที่ดิน: หมายถึง พื้นดินทั่วไป รวมถึงภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเล
  2. ทรัพย์ที่ติดกับที่ดิน: ไม้ยืนต้น อาคาร บ้านเรือน โรงงาน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ
    1. บ้าน: สิ่งก่อสร้างที่ปลูกอยู่หลังเดียวโดด ๆ พร้อมทั้งเรือนครัว โรงรถ และเป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลในครัวเรือนเดียวกัน หรือบ้านที่ปลูกอยู่หลายหลังภายในบริเวณรั้วเดียวกัน และเป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลภายในครัวเรือนเดียวกัน
    2. ทาวน์เฮาส์: ตึกที่ปลูกติดต่อกันตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป โดยมีฝาร่วมกันด้านหนึ่งหรือสองด้านขึ้นไป อาจเป็นชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ได้ ตัวตึกอยู่ลึกเข้ามาจากริมถนน มีบริเวณที่ว่างหน้าบ้านอาจใช้เป็นที่จอดรถหรือทำประโยชน์อย่างอื่น
    3. คอนโดมีเนียม: กลุ่มห้องอันเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครัวเรือน โดยกลุ่มห้องนี้จะต้องมีห้องครัว ห้องน้ำ ตลอดจนทางเข้าออกห้องชุดเป็นของตนเอง ซึ่งสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกเป็นส่วน ๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง
    4. โรงงาน: โรงงานสำหรับประกอบกิจการอุตสาหกรรมโดยใช้เครื่องจักร ซึ่งเทียบได้เกิน 5 แรงม้าเป็นปัจจัย
    5. โกดัง: สิ่งก่อสร้างที่ใช้เพื่อเก็บสินค้า
    6. อาคารพาณิชย์: อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์แห่งการค้า หรือโรงงานที่ใช้เครื่องจักรซึ่งเทียบได้ไม่เกิน 5 แรงม้า หรืออาคารที่ก่อสร้างห่างแนวทางสาธารณะ หรือทางซึ่งมีสภาพเป็นสาธารณะไม่เกิน 20 เมตร ซึ่งอาจใช้เป็นอาคารเพื่อประโยชน์แห่งการค้าได้
    7. หอพัก: ห้องชุดตามปกติประกอบด้วยห้องนอน ห้องรับแขก ห้องครัว ห้องน้ำพร้อมอยู่ในชั้นเดียวกัน และรวมอยู่ในตึกหลังใหญ่สำหรับอยู่อาศัยหรือให้เช่า
  3. ทรัพย์ที่ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน: แม่น้ำ ลำคลอง แร่ธาตุ กรวด ทราย ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือซึ่งมนุษย์นำมารวมไว้กับที่ดินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นดินตามธรรมชาติ
  4. สิทธิที่เกี่ยวกับที่ดิน: กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีโฉนด สิทธิครอบครองในที่ดินที่ไม่มีโฉนด ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน


แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

[แก้]