อวตาร
ลิงก์ข้ามภาษาในบทความนี้ มีไว้ให้ผู้อ่านและผู้ร่วมแก้ไขบทความศึกษาเพิ่มเติมโดยสะดวก เนื่องจากวิกิพีเดียภาษาไทยยังไม่มีบทความดังกล่าว กระนั้น ควรรีบสร้างเป็นบทความโดยเร็วที่สุด |
อวตาร (สันสกฤต: अवतार, avatāra) คือการที่เทพเจ้าฮินดูแบ่งภาคมาเกิดบนโลกมนุษย์ โดยเทพแบ่งพลังงานส่วนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์หรือสัตว์ เพื่อทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในลัทธิไวษณพถือว่าเมื่อศีลธรรมของมนุษย์เสื่อมลง จนเกิดความเดือดร้อนไปทั่ว พระวิษณุจะอวตารลงมาปราบยุคเข็ญ[1][2]
การอวตารส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับพระวิษณุ แต่ก็ยังมีที่เชื่อมโยงกับเทวดาอื่น ๆ[3] รายชื่อของพระนารายณ์อวตารปรากฏในคัมภีร์ฮินดูจำนวนมากรวมทั้งอวตารทั้งสิบในครุฑ ปุราณะ และอวตาร 22 ปางในภควัตปุราณะ รวมทั้งที่เพิ่มอีกภายหลังจนนับไม่ถ้วน[4] พระวิษณุอวตารเป็นความเชื่อหลักของลัทธิไวษณพ หลักฐานเกี่ยวกับอวตารยุคแรก ๆ อยู่ในภควัทคีตา[5]
มีเรื่องราวเกี่ยวกับอวตารของพระศิวะและพระพิฆเนศ และเทพีต่าง ๆ โดยเฉพาะในหมู่ผู้นับถือลัทธิศักติ[5][6] อย่างไรก็ตาม อวตารของพระนารายณ์เป็นที่รู้จักมากที่สุด
อวตารในศาสนาฮินดู
[แก้]นารายณ์สิบปาง
[แก้]อวตารของพระวิษณุมีมากมายหลายปาง แต่อวตารซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคืออวตารชุด "ทศาวตาร" (เป็นการสมาสคำว่า "ทศ" (สิบ) เข้ากับคำว่า "อวตาร" จึงหมายถึง "อวตารทั้งสิบ") ซึ่งในประเทศไทยมักเรียกชื่อว่า "นารายณ์สิบปาง" รายชื่ออวตารทั้งสิบปางนั้นปรากฏอยู่ในครุฑปุราณะ (1.86.10"11)[7]
ทั้งนี้ ตามการแบ่งเวลาเป็นยุคของศาสนาฮินดูนั้น อวตารสี่ปางแรกของพระองค์เกิดขึ้นในสัตยยุค สามปางต่อมาเกิดขึ้นในไตรดายุค อวตารปางที่แปดเกิดขึ้นในทวาปรยุค ปางที่เก้าเกิดในกลียุค และปางที่สิบซึ่งเป็นปางสุดท้ายจะเกิดขึ้นเมื่อถึงปลายกลียุค[8]
อวตารทั้งสิบปางของพระวิษณุประกอบด้วย
- มัตสยาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นปลาชื่อ "ศผริ" เพื่อช่วยเหลือพระมนูให้รอดจากโลกาวินาศในช่วงพรหมราตรีจนกระทั่งไว้ตั้งวงศ์มนุษย์ขึ้นมาใหม่ และสังหารอสูรหัยครีวะซึ่งลักเอาพระเวทไปจากพระพรหม เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์มัตสยปุราณะ
- กูรมาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นเต่าเพื่อรองรับเขามันทระในพิธีกวนเกษียรสมุทร(สมุทระมันทระ) เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์กูรมปุราณะ
- วราหาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระวราหะ เพื่อประหารยักษ์หิรัณยากษะ ซึ่งได้ลักเอาแผ่นดินโลกไปจากพื้นสมุทร เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์วราหปุราณะ
- นรสิงหาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์) เพื่อประหารพญายักษ์หิรัณยกศิปุ ผู้ซึ่งกระทำทารุณกรรมต่อประหลาทกุมารซึ่งภักดีต่อพระวิษณุ
- วามนาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพราหมณ์หลังค่อมชื่อวามนะ เพื่อปราบความอหังการของราชาอสูรพลี ที่กระทำพิธีอัศวเมธ(ปล่อยม้าอุปการ)เพื่อให้ตนเป็นเจ้าทั้งสามพิภพ โดยขอพื้นที่ 3 ก้าวย่าง เรื่องราวโดยละเอียดปรากฏอยู่ในคัมภีร์วามนปุราณะ
- ปรศุรามาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพราหมณ์ชื่อปรศุราม ("รามผู้ถือขวาน") เพื่อปราบกษัตริย์ผู้มีพันกรชื่อกรรตวิรยะอรชุน ซึ่งกระทำการเบียดเบียนข่มเหงแก่คนวรรณะพราหมณ์อย่างหนัก และกวาดล้างเชื้อวงศ์วรรณะกษัตริย์ที่เป็นบุรุษจนหมดสิ้นทั้งโลก ถึง 21 ครั้ง
- รามาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระราม พระมหากษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา เป็นวีรบุรุษในมหากาพย์เรื่องรามายณะ (หรือรามเกียรติ์)
- กฤษณาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระกฤษณะ กษัตริย์แห่งกรุงทวารกาในคัมภีร์ภควตปุราณะ มหากาพย์มหาภารตะ และอนุศาสนภควัทคีตา อย่างไรก็ตาม ในทศวาตารฉบับดั้งเดิมนั้นกล่าวไว้ว่าพระพลรามพี่ชายของรามกฤษณะคืออวตารปางที่แปดของพระนารายณ์ ส่วนพระกฤษณะนั้นคือต้นธารแห่งอวตารทุกปางที่ปรากฏขึ้นในโลก[9]
- พุทธาวตาร - พระวิษณุอวตารเป็นพระโคตมพุทธเจ้า[10] ศาสดาของศาสนาพุทธองค์ปัจจุบัน มาจากคัมภีร์ภาควตปุราณะ (ปัจจุบันคือ พระไตรปิฎก) เรียบเรียงขึ้นหลังคริสต์ศตวรรษที่ ๙[11]
- กัลกิยาวตาร - ในอนาคตกาลเมื่อถึงปลายกลียุค พระวิษณุจะอวตารมาเป็นบุรุษขี่ม้าขาวชื่อกัลกิ ("นิรันดร", "กาลเวลา", หรือ "ผู้กำราบความเขลา") เพื่อปราบยุคเข็ญ มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในกัลกิปุราณะ
นอกจากนั้นยังมีอวตารอื่นๆ ของพระวิษณุ ที่มีปรากฏในคัมภีร์ภาควตปุราณะ รวมกับทศาวตารแล้วจะได้ 24 ปาง ดังนี้
- โมหิณีอวตาร (หญิงงาม) - เป็นปางที่กำเนิดขึ้นหลังจากพิธีกวนเกษียรสมุทร และเหล่าเทพกับอสูรแย่งน้ำอมฤตกัน ทรงแปลงเป็นหญิงงามนาม โมหิณี("เจ้าแห่งโมหะ") มาช่วยเหล่าเทพ และกันอสูรไม่ให้ดื่มน้ำอมฤตนั่นเอง (และมีอีกครั้งที่ทรงอวตารเป็นโมหิณี คือตอนช่วยพระศิวะปราบภัสมาสูรโดยการให้ร่ายรำตามตน จนเอามือวางบนศีรษะตนและไหม้เป็นจุณตามพรที่ภัสมาสูรขอจากพระศิวะนั่นเอง)
- ฤๅษีนระ ฤๅษีนารายณ์ - เป็นปางที่อวตารในช่วงสมัยสัตยยุค ซึ่งเดิมเป็นเจ้าชาย แต่ด้วยความเบื่อหน่ายในราชสมบัติ จึงออกบวชเป็นฤๅษี และบำเพ็ญตบะจนร้อนถึงพระอินทร์ซึ่งเกรงว่าทั้งสองจะมาแย่งสวรรค์ไปจากตน จึงส่งอัปสรนามรัมภาและเมนกา มาทำลายตบะ แต่ทั้งสองไม่ได้กลัว แถมฤๅษีนารายณ์ยังสร้างอัปสรนาม "อุรวศี" ขึ้นจากต้นขนของตน และแข่งร่ายรำจนอัปสรของสวรรค์พ่ายไป (ในภาวควตปุราณะกล่าวว่า อวตารนี้เป็นการตั้งต้นในอวตารชาติต่อไป คือ ฤๅษีนระ มาเกิดเป็น อรชุน หนึ่งในพี่น้องปาณฑพ และฤๅษีนารายณ์ เกิดเป็น พระกฤษณะ อวตารปางที่ 8 นั่นเอง)
- หัยครีวาวตาร (มนุษย์ศีรษะม้า) - เป็นปางที่อวตารมาปราบอสูรหัยครีวะที่มีศีรษะเป็นม้า โดยอสูรนั่นขอพรจากพระมหามายา(พระแม่อธิศักติ) ให้ไม่มีใครสังหารตนได้ นอกจากผู้ที่มีลักษณะเหมือนตน คือมีศีรษะเป็นม้า พระวิษณุจึงอวตารมาในรูปนี้ และสังหารอสูรไป(ในตำนานระบุเพิ่มเติม ว่าอสูรหัยครีวะไปขโมยพระเวทของพระพรหมไปด้วย ซึ่งจะไปทับซ้อนกับมัสยาวตารนั่นเอง)
- ฤๅษีกบิล - เป็นปางอวตารที่มีบทบาทในตำนานเชิญพระแม่คงคามายังโลก สมัยสัตยยุค ซึ่งเป็นผู้ที่พระอินทร์นำม้าในพิธีอัศวเมธของท้าวสัคระ ไปซ่อนในอาศรมของฤๅษีกบิล(อาศรมนี้อยู่ใต้บาดาล) และเหล่าโอรสของท้าวสัคระทั้ง 6 หมื่นองค์ ช่วยกันขุดลงไปใต้โลก จนถึงอาศรมฤๅษีกบิล และกล่าวโทษหาว่าฤๅษีกบิลขโมยม้ามา ทำให้ฤๅษีกบิลโกรธ และลืมตาเป็นเพลิงกรดเผาโอรสทั้ง 6 หมื่นของท้าวสัคระกลายเป็นเถ้าธุลี และเป็นที่มาของการเชิญพระคงคามาชำระบาปบนโลกนั่นเอง
- พระพลราม หรือพระพลเทพ - อวตารเป็นพี่ชายของพระกฤษณะนั่นเอง(เป็นตำนานดั้งเดิมในปุราณะ แต่พอพุทธศาสนากำเนิด ก็เอาพุทธาวตารมาแทนที่ และเปลี่ยนให้พระพลราม เป็นอวตารของเศษะนาคราช บังลังก์ของพระวิษณุในเกษียรสมุทรแทน)
- ฤๅษีวยาส - ในภาควตปุราณะ กล่าวว่า ฤๅษีวยาสผู้รจนามหาภารตะนั่น เป็นอวตารของพระวิษณุด้วยเช่นกัน
- ฤๅษีศุกกะเทพ - ในภาควตปุราณะ กล่าวว่า อวตารเป็นบุตรของฤๅษีวยาส ซึ่งมีบทบาทตอนปลายเรื่องมหาภารตะ และเป็นผู้รจนาภาควตปุราณะอีกด้วย
- ฤๅษีกุมารทั้ง 4 - ในภาควตปุราณะ กล่าวถึงที่มาของอวตารในทศาวตารไว้ตอนหนึ่งว่า ฤๅษีกุมารทั้งสี่ ซึ่งประกอบด้วย "ฤๅษีสนาธนะ" "ฤๅษีสนาตนะ" "ฤๅษีสนกะ" และ"ฤๅษีสนัตกุมาร" บุตรของพระพรหมนั้น เป็นอวตารของพระวิษณุด้วยเช่นกัน กำลังเดินทางมาเฝ้าพระวิษณุที่ไวกูณฐ์โลก(โลกของพระวิษณุ) แต่โดนทวารบาลนามว่า "ชัย" และ "วิชัย" ขวางไม่ให้เข้าไปเฝ้า ฤๅษีทั้งสี่จึงสาปให้ชัยและวิชัยไปเกิดเป็นอสูรบนโลก ทั้งสองจึงไปเฝ้าพระวิษณุให้ทรงช่วย พระวิษณุทรงกล่าวเป็นสองทางเลือกว่า จะกำเนิดเป็นอสูร 3 ชาติ และพระองค์อวตารลงไปสังหารให้สิ้น หรือจะกำเนิดเป็นสาวกพระองค์ 14 ชาติ โดยเมื่อครบทั้งสองทางแล้ว จะกลับยังมาไวกูณฐ์ตามเดิม ทั้งสองจึงเลือกกำเนิดเป็นอสูร 3 ชาติ และเป็นที่มาของอวตารทั้ง 4 ปาง คือ - ชาติแรก ชัย เป็น หิรัณยากษะ (โดนพระวราหาวตารสังหาร) วิชัย เป็น หิรัณยกศิปุ (โดนพระนรสิงหาวตารสังหาร) - ชาติที่สอง ชัย เป็น ราวณะหรือทศกัณฐ์ และวิชัย เป็น กุมภกรรณะ (ทั้งคู่โดนพระรามาวตารสังหาร ในรามายณะ หรือรามเกียรติ์ นั่นเอง) - ชาติสุดท้าย ชัย เป็น กังสะ(พี่ชายของเทวกี มารดาของพระกฤษณะ) กับทันตวะ และวิชัย เป็น ศิศุปาละ (ลูกพี่ลูกน้องของพระกฤษณะ) โดยทั้งคู่โดนพระกฤษณะสังหาร และทั้งสองก็กลับไปเป็นทวารบาลเฝ้าประตูวิมานไวกูณฐ์ตามเดิม
- เทวฤๅษีนารทะ - ในภาควตปุราณะ ก็กล่าวเพิ่มว่า เทวฤๅษีนารทะนั้น ก็เป็นอวตารของพระวิษณุด้วยเช่นกัน โดยเป็นมานัสบุตร(บุตรที่เกิดจากหัวใจ)ของพระพรหม และเป็นบรมสาวกของพระวิษณุ และเป็นเจ้าของเสียง "นารายณะ นารายณะ" อีกด้วย
- พระธันวันตริ - อวตารที่เป็นผู้ทูนน้ำอมฤตขึ้นมาจากพิธีกวนเกษียรสมุทร และเป็นเจ้าแห่งตำราอายุรเวทและแพทย์ทั้งปวงด้วย
- ปฤตุ - อวตารเป็นราชาในสมัยสัตยยุค โดยเป็นผู้ริเริ่มการเกษตรกรรม และทำให้โลกเกิดความอุดมสมบูรณ์จากน้ำนมของโคสุรภี และเป็นที่มาของนามพระแม่ธรณีว่า ปฤตวี ตามราชาปฤตุ นั่นเอง
- ฤษภะ - อวตารเป็นนักบวชบิดาของ จักรวรรติน และพหุพาลี ต้นกำเนิดของศาสนาเชน นั่นเอง
- พระทัตตาเตรยะ - อวตารเป็นบุตรของมหาฤๅษีอัตริ และเทวีอนสูยา และเป็นคนให้พรกับสหัสะพาหุอรชุน ที่โดนพระปรศุรามาวตารสังหารนั่นเอง
- ยัชญเทพ - เทพแห่งพิธียัชญกรรมทั้งปวง และเป็นรูปปรากฏพระอินทร์ในยุคก่อน
คเณศาวตาร
[แก้]ในลิงคะปุราณะกล่าวถึงอวตารของพระคเณศเพื่อปราบปีศาจและช่วยเหลือผู้ใจบุญ[12] อุปปุราณะ 2 ฉบับ คือ คเณศปุราณะและมุทคละปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักของผู้นับถือลัทธิบูชาพระคเณศได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอวตารของพระคเณศไว้ โดยในคเณศปุราณะมี 4 ปาง ส่วนในมุทคละปุราณะมี 8 ปาง [13] ทุกปางมักมีจุดมุ่งหมายเพื่อไปฆ่าปีศาจ[14] ทั้ง 8 ปางของพระคเณศได้แก่
- วักรตุณฑะ - มีราชสีห์เป็นพาหนะ
- เอกทันตะ ("งาเดียว") - มีหนูเป็นพาหนะ
- มโหทร ("ท้องใหญ่") - มีหนูเป็นพาหนะ
- คชวักตระ หรือ คชานนะ ("หน้าช้าง") - มีหนูเป็นพาหนะ
- ลัมโภทร ("ท้องใหญ่") - มีหนูเป็นพาหนะ
- วิกฎะ - มีนกยูงเป็นพาหนะ
- วิฆนราช ("ราชาแห่งอุปสรรค") - มีพญาเศษะนาคราชเป็นพาหนะ
- ธูมราวรรณ ("สีเทา") - มีม้าเป็นพาหนะ
อวตารของพระศิวะ
[แก้]แม้ว่าจะมีการอ้างอิงคัมภีร์ปุราณะต่างๆว่าพระศิวะมีการอวตารแต่ไม่เป็นที่เชื่อถือแพร่หลายนักในไศวนิกาย [5][15] ลิงกะปุราณะกล่าวว่าอวตารของพระศิวะมี 28 ปาง[16] ในศิวะปุราณะ กล่าวถึงอวตารสำคัญๆคร่าวๆ ดังนี้
- พระสทาศิวะ เป็นอวตารที่กำเนิดขึ้นเมื่อแรกเริ่มสร้างจักรวาล ปรากฏเป็นบุรุษรูปงาม มี 5 เศียร 10 กร
- พระไภรวาวตาร(ไภรวะ) เป็นอวตารที่เกิดขึ้นตอนปฐมกัลป์ หลังจากพระพรหมกับพระวิษณุทรงแข่งกันหาจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเสาไฟชโยติลึงค์แล้ว พระพรหมทรงโกงพระวิษณุโดยบอกว่าเจอยอดชโยติลึงค์ทั้งที่ไม่เจอจริงๆ โดยอ้างดอกเกตุที่ร่วงหล่นจากยอดชโยติลึงค์เป็นพยาน ทำให้พระศิวะทรงพิโรธ และแบ่งภาคเป็นพระไภรวะ ออกมาดึงเศียรที่ 5 ของพระพรหมขาดติดมือไป ปางนี้จะมีเศียรของพระพรหมเป็นลักษณะกะโหลก ถือในมือด้วยเสมอ
- พระอรรธนารีศวร เป็นรูปครึ่งพระศิวะครึ่งพระศักติ(อุมาเทวี) เป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมกันและความแยกจากกันไม่ได้ของชายและหญิง
- พระวีระภัทราวตาร (วีระภัทร) เป็นอวตารที่เกิดขึ้นหลังจากที่พระแม่สตี(ชายาองค์แรกของพระศิวะ)ทรงเผาตัวเองในงานยัชญะของพระทักษะประชาบดีไปนั้น ทำให้พระศิวะทรงพิโรธมาก จึงดึงปอยผมออกมาแล้วโยนลงพื้น บังเกิดเป็นบุรุษร่างกำยำ ดุดันน่าเกรงขาม นาม วีระภัทร โดยพระศิวะทรงให้นำคณะศิวะสาวกไปทำลายพิธียัชญะให้พินาศ และวีระภัทรยังตัดศีรษะของพระทักษะประชาบดีโยนลงในกองไฟพิธีอีกด้วย จากนั้นก็กลับคืนรวมกับพระศิวะตามเดิม (แต่ก็ยังมีบทบาทสำคัญในยามที่พระศิวะทรงเรียกใช้บ้างบางคราว)
- พระศารภาวตาร (ศารภะ) เป็นอวตารมาเพื่อกำราบพระนรสิงหาวตาร(พระวิษณุอวตารปางครึ่งคนครึ่งสิงห์)ที่สังหารอสูรหิรัณยกศิปุไปแล้ว แต่ความพิโรธของพระนรสิงห์ยังไม่หมดสิ้น ทำให้บ้าคลั่งขึ้นมา พระศิวะเห็นดังนั้น จึงอวตารเป็นสัตว์ประหลาด กายท่อนล่างและศีรษะเป็นสิงโต ท่อนบนเป็นมนุษย์ มี 4 แขน มีปากและปีกเป็นนก นาม ศารภะ กำราบพระนรสิงห์จนสงบลงในที่สุด[17]
- รุทราวตารหนุมาน เป็นอวตารที่ในบางท้องที่ถือว่าเป็นอวตารปางที่สิบเอ็ดของพระศิวะ ลงมาช่วยเหลือพระรามในการทำศึกกับราวณะ โดยมีชีวิตเป็นอมตะ และยังมีชีวิตอยู่จนถึงโลกปัจจุบัน[18][19][20][21]
อวตารของเทพี/ศักติ
[แก้]ในลัทธิศักติมีอวตารเช่นกัน ในเทวีภาควัตปุราณะอธิบายถึงอวตารของเทวีไว้โดยละเอียด และแบ่งตาม พระเทวีคือ
พระอุมาเทวี (ปารวตีเทวี) ชายาพระศิวะ มีอวตารดังนี้
- พระแม่เคารี (Gauri[22]) - อวตารเป็นเทวีที่มีกายสีดังทองคำ และเป็นเทวีแห่งความรักในครอบครัว และการวิวาห์มงคล มี 2-8 กร ทรงสิงโตเป็นพาหนะ
- พระแม่กาลี (Kali) - อวตารเป็นเทวีผู้ดุร้าย คอยกำราบอสูรชั่ว และพิทักษ์รักษาสาวกที่ภักดี มี 4-10 กร ทรงอาวุธครบมือ ขี่ลา หรือสิงโตเป็นพาหนะ
- พระแม่ทุรคา (Durga) - อวตารเป็นเทวีผู้รูปงาม และดุดัน มาปราบมหิษาสูร(อสูรควาย) และทุรกัมมาสูร มี 8-18 กร ทรงอาวุธครบมือ ขี่สิงโตเป็นพาหนะ
- เทวีนวทุรคา(Navdurga)[23] ทั้ง 9 ปาง ในเทศกาลนวราตรี ประกอบด้วย
- ไศลปุตรี (Shailaputri) = ธิดาแห่งเขาหิมาลัย
- พรหมจาริณี (Brahmacharini) = ผู้ครองพรหมจรรย์
- จันทรฆัณฏา (Chadraghanta) = ผู้งดงามดังจันทรา
- กุษมาณฑาเทวี (Kushmanda) = ผู้บันดาลให้เกิดชีวิต
- สกันทมาตา (Skandamata) = มารดาของพระสกันทะ(พระขันธกุมาร)
- กาตยายณี (Katyayani) = บุตรีของฤๅษีกาตยายณะ
- กาลราตรี (Kaalratri) = เจ้าแห่งความมืด และปราบอสูรชั่ว
- สิทธิธาตรี (Siddhidhatri)= เจ้าแห่งเทพ อสูร รากษส และมนุษย์ทั้งปวง
- มหาเคารี (Mahagauri) = เทวีผู้เป็นศักติของพระศิวะเจ้า
- เทวีทศมหาวิทยา (Dasha Mahavidya)[24] ทั้ง 10 ปางในนิกายตันตระ ประกอบด้วย
- เทวีกาลี (Kali)
- เทวีตารา (Tara)
- เทวีโสฑศี (ลลิตา , ตรีปุระสุนทรี) (Shodashi / Lalita / Tripurasundari)
- เทวีไภรวี (Bhairavi)
- เทวีภูวเนศวรี (Bhuvaneshwari)
- เทวีฉินมัสตา (Chinnamasta)
- เทวีธูมาวตี (Dhumavati)
- เทวีภคลามุขี (Bagalamukhi)
- เทวีมาตังคี (Matangi)
- เทวีกมลา (Kamala)
พระลักษมีเทวี ชายาพระวิษณุ มีอวตารดังต่อไปนี้
- อวตารร่วมกับพระวิษณุในปางต่างๆ เช่น ในรามาวตาร ก็ทรงอวตารเป็นเทวีสีดา และในกฤษณาวตาร ก็ทรงอวตารเป็นเทวีรุกมิณี และเทวีราธา
- อัษฏลักษมี[25] (พระลักษมี 8 ปาง) ประกอบด้วย
- อาทิลักษมี = เทวีแห่งการเริ่มต้น
- ธัญญะลักษมี/ไทรยะลักษมี = เทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ (โพสพในคติไทย)
- คชลักษมี = เทวีผู้มีช้างเป็นบริวาร
- ธนลักษมี= เทวีแห่งเงินทอง
- วีระลักษมี/วิชัยลักษมี = เทวีแห่งนักรบและชัยชนะ
- สันธานลักษมี = เทวีแห่งการคุ้มครองเด็ก
- วิทยาลักษมี = เทวีแห่งวิทยาการ
- ไอศวรรยาลักษมี/เสาวภาคยลักษมี = เทวีแห่งโภคสมบัติและความมั่งคั่ง
พระสรัสวดีเทวี ชายาของพระพรหม ไม่ค่อยมีรูปอวตารมากนัก ดังต่อไปนี้
- พระแม่คายตรี (กายาตรี) เทวีแห่งพระเวทและมนตรา มี 5 เศียร 10 กร
- พระแม่สาวิตรี เทวีผู้ทรงปัญญา และความรอบรู้ มี 4 กร
พระศักติเทวี เป็นอาทิเทวี(ร่างตั้งต้น)ของพระมหาเทวีทั้ง 3 องค์ข้างต้น มีอวตารมากมาย แต่จะยกมาบางส่วน คือ
- พระแม่สตีเทวี = ชายาองค์แรกของพระศิวะ ทรงทำลายร่างด้วยไฟตบะกลางพิธียัชญะของพระทักษะประชาบดี บิดาของพระนาง เนื่องจากโดนบิดาลบหลู่พระศิวะอย่างรุนแรง และไม่อาจกลับไปหาพระศิวะผู้สวามีได้อีก และจากนั้นร่างของพระแม่สตีก็กระจายหล่นไปทั่วชมพูทวีป เป็นศักติปีฐ(ที่สถิตแห่งพลังพระศักติ)ทั้ง 51 แห่ง ทั่วอินเดียในปัจจุบัน
- สัปตมาตริกา[26] (พลังทั้ง 7 ของเทพ) จะเป็นอวตารจากเทพ 7 องค์ ประกอบด้วย
- พระแม่พรหมาณี (ศักติของพระพรหม) มี 4 เศียร 4 กร ทรงหงส์เป็นพาหนะ
- พระแม่ไวษณวี (ศักติของพระวิษณุ) มี 4 กร ทรงครุฑเป็นพาหนะ
- พระแม่มเหศวรี (ศักติของพระศิวะ) มี 4 กร ทรงโคเป็นพาหนะ
- พระแม่เกามารี (ศักติของพระสกันทะ หรือพระขันธกุมาร) มี 4 กร ทรงนกยูงเป็นพาหนะ
- พระแม่อินทราณี / เอนทรี (ศักติของพระอินทร์) มี 4 กร ทรงช้างเป็นพาหนะ
- พระแม่วราหิ (ศักติของพระวราหาวตาร) มี 4 กร ทรงกระบือเป็นพาหนะ
- พระแม่นรสิงหิณี / สิงหิกาเทวี (ศักติของพระนรสิงหาวตาร) มี 4 กร ไม่ทรงพาหนะ
- พระเทวีเกาศิกี = ปางอวตารมาปราบอสูร ศุมภะ และ นิศุมภะ มี 8 กร ถืออาวุธครบมือ ทรงสิงโตเป็นพาหนะ
- พระเทวีศากัมภารี[27] = ปางอวตารมาทำให้โลกเกิดความสมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร และแหล่งน้ำ มีดวงตารอบกาย มี 4 กร
- พระเทวีภามรี[28] = เทวีแห่งแมลงภู่(ผึ้ง) มี 4 กร
- โยคมหามายาเทวี = เทวีแห่งภาพมายาทั้งปวง สถิตในทุกอนูแห่งจักรวาล เคยแบ่งภาคเป็นเด็กทารกหญิงของนันทโคบาล และนางยโสธา ก่อนที่วาสุเทพบิดาของพระกฤษณะจะมาสลับกับพระกฤษณะไปให้พญากังสะประหาร แต่ตอนประหาร เด็กทารกหญิงก็กลับคืนร่างเป็นพระโยคมหามายาเทวีตามเดิม และไปเกิดเป็นสุภัทรา น้องสาวคนเล็กของพระกฤษณะ และเป็นชายาของอรชุน(พี่น้องปาณฑพ)ในมหาภารตะ นั่นเอง
อวตารในศาสนาพุทธ
[แก้]อวตารกับวัชรยาน
[แก้]ความเชื่อของชาวพุทธที่นับถือนิกายวัชรยาน ถือว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์อวตารหรือแบ่งภาคได้เช่นเดียวกันเช่น พระอาทิพุทธะอวตารมาเป็นพระธยานิพุทธะ พระโพธิสัตว์อวตารเป็นยิดัม นอกจากนี้ชาวพุทธในทิเบตเชื่อว่า ทะไลลามะเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และปันเชนลามะเป็นอวตารของพระอมิตาภพุทธะ เป็นต้น[29]
อวตารกับเถรวาท
[แก้]ในความเชื่อของชาวพุทธนิกายเถรวาท จะไม่เชื่อว่าการอวตารมีจริง เพราะจิตนั้นมีดวงเดียว (ตามบทที่ว่า เอกะ จะรัง จิตตัง...) เพียงแต่เกิดดับตลอดเวลา เมื่อจิตนั้นเกิดเป็นเทพเจ้าไม่ว่าชั้นใดๆ หากแปลงกายเป็นมนุษย์ (เนรมิตขึ้นมาชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เช่น พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์แก่) โดยจิตเดิมยังอยู่เป็นเทพเจ้าบนสวรรค์นั้น มีจริง แต่การที่จิตนั้นลงมาเกิดอวตารเป็นมนุษย์ โดยการอยู่ในครรภ์ คลอดออกมา เจริญเติบโตเล่าเรียนรู้เลยทั้ง ๆ ที่ยังมีจิต (เหมือนกัน ดวงเดียวกัน) อีกดวง ยังเป็นเทพเจ้าบนสวรรค์นั้นเป็นไปตามความจริงไม่ได้ ตามหลักที่ปรากฏในพระอภิธรรม[29]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Matchett, Freda (2001). Krishna, Lord or Avatara?: the relationship between Krishna and Vishnu. 9780700712816. p. 4. ISBN 9780700712816.
- ↑ Introduction to World Religions, by Christopher Hugh Partridge, pg. 148, at Books.Google.com
- ↑ Kinsley, David (2005). Lindsay Jones (บ.ก.). Gale's Encyclopedia of Religion. Vol. 2 (Second ed.). Thomson Gale. pp. 707–708. ISBN 0-02-865735-7.
- ↑ Bryant, Edwin Francis (2007). Krishna: A Sourcebook. Oxford University Press US. p. 18. ISBN 9780195148916.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Sheth, Noel (Jan. 2002). "Hindu Avatāra and Christian Incarnation: A Comparison". Philosophy East and West. University of Hawai'i Press. 52 (1 (Jan. 2002)): 98–125. doi:10.1353/pew.2002.0005.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Hawley, John Stratton (2006). The life of Hinduism. University of California Press. p. 174. ISBN 9780520249141.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help) - ↑ Garuda Purana (1.86.10-11)
- ↑ Matchett, p. 86.
- ↑ O Keshava! O Lord of the universe! O Lord Hari, who have assumed the form of Balarama, the yielder of the prowl All glories to You! On Your brilliant white body You wear garments the color of a fresh blue rain cloud. These garments are colored like the beautiful dark hue of the River Yamuna, who feels great fear due to the striking of Your plowshare] Dasavatara stotra
- ↑ List of Hindu scripture that declares Gautama Buddha as 9th Avatar of Vishnu as follows [Harivamsha (1.41) Vishnu Purana (3.18) Bhagavata Purana (1.3.24, 2.7.37, 11.4.23 name="Bhagavata Purana 1.3.24">Bhagavata Purana 1.3.24 เก็บถาวร 2007-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Estimated dates given by some notable scholars include: R. C. Hazra – 6th c., Radhakamal Mukherjee – 9th–10th c., Farquhar – 10th c., Nilakanta Sastri – 10th c., S. N. Dasgupta – 10th c.Kumar Das 2006, pp. 172–173
- ↑ Grimes, John A. (1995). Gaṇapati: song of the self. SUNY Press. p. 105. ISBN 9780791424391.
- ↑ Phyllis Granoff, "Gaṇeśa as Metaphor," in Robert L. Brown (ed.) Ganesh: Studies of an Asian God, pp. 94-5, note 2. ISBN 0-7914-0657-1
- ↑ Grimes, pp. 100-105.
- ↑ Parrinder, Edward Geoffrey (1982). Avatar and incarnation. Oxford: Oxford University Press. pp. 88. ISBN 0-19-520361-5.
- ↑ Winternitz, Moriz (1981). A History of Indian Literature, Volume 1. Motilal Banarsidass. pp. 543–544. ISBN 9788120802643.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help) - ↑ Soifer, pp. 91-92.
- ↑ Lutgendorf, Philip (2007). Hanuman's tale: the messages of a divine monkey. Oxford University Press US. p. 44. ISBN 9780195309218.
- ↑ Catherine Ludvík (1994). Hanumān in the Rāmāyaṇa of Vālmīki and the Rāmacaritamānasa of Tulasī Dāsa. Motilal Banarsidass Publ. pp. 10–11. ISBN 9788120811225.
- ↑ Sontheimer, Gunther-Dietz (1990). "God as King for All: The Sanskrit Malhari Mahatmya and it's context". ใน Hans Bakker (บ.ก.). The History of Sacred Places in India as Reflected in Traditional Literature. BRILL. ISBN 9004093184. p.118
- ↑ Sontheimer, Gunther-Dietz (1989). "Between Ghost and God: Folk Deity of the Deccan". ใน Alf Hiltebeitel (บ.ก.). Criminal Gods and Demon Devotees: Essays on the Guardians of Popular Hinduism. SUNY Press. ISBN 0887069819. p.332
- ↑ "Parvati", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-03, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
- ↑ "Navadurga", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-14, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
- ↑ "Mahavidya", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-14, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
- ↑ "Ashta Lakshmi", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-08-25, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
- ↑ "Matrikas", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-22, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
- ↑ "Shakambhari", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-09-19, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
- ↑ "Bhramari", Wikipedia (ภาษาอังกฤษ), 2022-08-03, สืบค้นเมื่อ 2022-09-22
- ↑ 29.0 29.1 พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. ราชบัณฑิตยสถาน. 2548. หน้า 78-79.