ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระเจ้ามเหนทระแห่งเนปาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้ามเหนทระแห่งเนปาล
พระมหากษัตริย์แห่งเนปาล
ครองราชย์14 มีนาคม พ.ศ. 2498 — 31 มกราคม พ.ศ. 2515
รัชสมัย17 ปี
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ
รัชกาลถัดไปสมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทรพีรพิกรมศาหเทวะ
ประสูติ11 มิถุนายน พ.ศ. 2463
สวรรคต31 มกราคม พ.ศ. 2515
(พระชนมายุ 51 พรรษา)
พระบรมราชินีเจ้าหญิงอินดรา มกุฎราชกุมารีแห่งเนปาล
สมเด็จพระราชินีรัตนาราชยลักษมีเทวีศาหะ
พระราชบุตรเจ้าหญิงชานติ ซิงห์แห่งเนปาล
เจ้าหญิงชาราดา ชาห์แห่งเนปาล
สมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทระแห่งเนปาล
สมเด็จพระราชาธิบดีชญาเนนทระแห่งเนปาล
เจ้าหญิงโชวา ชาฮิแห่งเนปาล
เจ้าชายดิเรนดราแห่งเนปาล
สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ
ราชวงศ์ราชวงศ์ศาห์
พระราชบิดาสมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ
พระราชมารดาสมเด็จพระราชินีกานติแห่งเนปาล

สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ เป็นพระมหากษัตริย์ของเนปาลพระองค์ที่ 10 ครองราชย์ระหว่าง 14 มีนาคม พ.ศ. 2498 — 31 มกราคม พ.ศ. 2515

พระประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2463 ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ และ สมเด็จพระราชินีกานติแห่งเนปาล พระองค์ครองราชย์เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2498 แต่เป็นการครองราชย์เพียงในพระนาม อำนาจที่แท้จริงนั้นอยู่กับตระกูลรานาซึ่งสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าราชการ และนายทหารมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2389 พระองค์จึงเปรียบเสมือนเชลยในพระราชวังนารายันหิติ พระองค์อภิเษกสมรสครั้งแรกกับสมเด็จพระราชินีอินทรราชยลักษมีเทวี[1] มีพระราชโอรส 3 พระองค์ และพระราชธิดา 3 พระองค์[2] สมเด็จพระราชินีอินทรราชยลักษมีเทวีเสด็จสิ้นพระชนม์เมื่อปีพ.ศ. 2493 ต่อมาในปีพ.ศ. 2495 พระองค์จึงอภิเษกสมรสใหม่กับสมเด็จพระราชินีรัตนาราชยลักษมีเทวีศาหะ แต่ไม่มีพระราชโอรส-พระราชธิดาด้วยกัน

หลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากอินเดียในพ.ศ. 2490 ทำให้อำนาจของตระกูลรานาเสื่อมถอยลง ในปีพ.ศ. 2493 สถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายทำให้สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะกับพระราชวงศ์ตัดสินพระทัยไปประทับที่อินเดียเพื่อลี้ภัย ในที่สุดตระกูลรานาก็ได้ยอมตกลงที่จะร่วมมือกับรัฐบาลเนปาลภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะ โดยใช้อำนาจร่วมกันอย่างเท่าเทียมในรัฐสภา แต่สุดท้ายตระกูลรานาก็หมดสิ้นอำนาจไป เนปาลต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งแรกกับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พระพลานามัยของพระองค์ไม่ดีนักพระองค์จึงสวรรคตเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2515 ขณะพระชนมายุได้ 51 พรรษา

รัชกาล

[แก้]

สมเด็จพระเจ้ามเหนทรพีรพิกรมศาหเทวะปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์เนปาลเมื่อ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ

เมื่อ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2503 พระองค์ทรงระงับรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และไล่คณะรัฐมนตรีออก และจำคุกนายกรัฐมนตรีบิชเวชวาร์ ปราสาด โคอิราลาและบุคคลที่ทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล[3][4] พระองค์ทรงเริ่มปฏิรูปการปกครอง และดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยเป็นกลางระหว่างจีนและอินเดีย

พระองค์ได้รับตำแหน่งจอมพลอังกฤษในปี พ.ศ. 2503 พระองค์ได้เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินแก่ประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินทำกินจำนวนมาก และพระองค์ยังสร้างทางหลวงไปสู่ชนบท เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาชนบทของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังมีบทบาทสำคัญในการทำให้เนปาลเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]
  •  อิหร่าน :
    • พ.ศ. 2503 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปาห์ลาวี
    • พ.ศ. 2514 - เหรียญครบรอบ 2500 ปีการก่อตั้งจักรวรรดิเปอร์เซีย
  •  โปรตุเกส :
    • พ.ศ. 2503 - เครื่องอิสริยาภรณ์เซนต์เจมส์แห่งดาบ ชั้นประถมาภรณ์
  •  เบลเยียม :
    • พ.ศ. 2507 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระเจ้าเลโอโปลด์ที่ 3 ชั้นประถมาภรณ์
  •  ปากีสถาน :
    • พ.ศ. 2513 - เครื่องอิสริยาภรณ์นิชาน เอ ปากีสถาน

อ้างอิง

[แก้]
  1. "King Birendra of Nepal". London: Daily Telegraph. 23 August 2001. สืบค้นเมื่อ 21 July 2008.
  2. Nepalitimes
  3. "Bisheshwor Prasad Koirala". Spinybabbler.org. 8 September 1914. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-11. สืบค้นเมื่อ 26 August 2011.
  4. "Permanent rebellion: The story of B.P. Koirala". Hinduonnet.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-01-25. สืบค้นเมื่อ 26 August 2011.
ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้ามเหนทระแห่งเนปาล ถัดไป
สมเด็จพระเจ้าตริภูวนพีรพิกรมศาหเทวะ
พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเนปาล
(14 มีนาคม พ.ศ. 2498 — 31 มกราคม พ.ศ. 2515)
สมเด็จพระราชาธิบดีพีเรนทรพีรพิกรมศาหเทวะ