ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์นกยาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วงศ์นกยาง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: พาลีโอซีน-ปัจจุบัน, 55–0Ma
นกยางโทนใหญ่ หรือ นกกระยางขาว (Ardea alba)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์ปีก
Aves
อันดับ: นกกระทุง
Pelecaniformes
วงศ์: วงศ์นกยาง
Ardeidae
Leach, 1820[1]
วงศ์ย่อย[1]
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

นกยาง หรือ นกกระยาง (อังกฤษ: heron, bittern, egret) เป็นนกวงศ์หนึ่ง ที่อยู่ในอันดับนกกระทุง (Pelecaniformes) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Ardeidae

มีลักษณะโดยรวม คือ เป็นนกน้ำที่มีทั้งขนาดเล็ก, ขนาดกลาง และขนาดใหญ่มีคอและขายาว มักพบเดินท่องน้ำหากินหรือยืนนิ่งบนกอหญ้าหรือพืชน้ำ คอยใช้ปากแหลมยาวจับสัตว์น้ำเล็ก ๆ หรือแมลงบนพื้นเป็นอาหาร ขณะบินจะพับหัวและคอแนบลำตัว เหยียดขาไปข้างหลัง ทำรังรวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่บนต้นไม้ ใช้กิ่งไม้สานกันอย่างหยาบ ๆ[2] พบทั้งหมด 61 ชนิดทั่วโลก พบในประเทศไทย 20 ชนิด [3] หากินในเวลากลางวัน[4]

รายชื่อนกในวงศ์นกยางที่พบในประเทศไทย

[แก้]
ชื่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ สถานะ
นกกระสานวล Ardea cinerea นกอพยพ, เคยขยายพันธุ์ในประเทศไทย
นกกระสาใหญ่ Ardea sumatrana หายากมาก
นกกระสาแดง Ardea purpurea นกอพยพ
นกยางโทนใหญ่ Ardea alba
นกยางโทนน้อย Egretta intermedia นกอพยพ
นกยางเปีย Egretta garzetta
นกยางจีน Egretta eulophotes นกอพยพ, หายากมาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั่วโลก[5]
นกยางทะเล Egretta sacra
นกยางกรอกพันธุ์อินเดีย Ardeola grayii
นกยางกรอกพันธุ์จีน Ardeola bacchus นกอพยพ
นกยางกรอกพันธุ์ชวา Ardeola speciosa
นกยางควาย Bubulcus ibis
นกยางเขียว Butorides striata
นกแขวก Nycticorax nycticorax
นกยางลายเสือ Gorsachius melanolophus
นกยางไฟหัวดำ Ixobrychus sinensis
นกยางไฟหัวเทา Ixobrychus eurhythmus นกอพยพผ่าน
นกยางไฟธรรมดา Ixobrychus cinnamomeus
นกยางดำ Ixobrychus flavicollis
นกยางแดงใหญ่ Botaurus stellaris นกอพยพ

ความเชื่อ

[แก้]

นกยาง หรือ นกกระยาง เป็นนกที่ปรากฏอยู่ในความเชื่อร่วมของชาวเอเชียหลายชนชาติ ที่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับพิธีศพหรือความตาย โดยชาวญี่ปุ่นเรียกว่า "ตันโจะ" (ญี่ปุ่น: 丹頂; อันเป็นชื่อร่วมกับนกกระเรียนมงกุฎแดง) เชื่อว่าเป็นนกที่เป็นพาหนะนำพาดวงวิญญาณผู้ตายไปสู่สัมปรายภพ หรือหลักฐานทางโบราณคดีของเวียดนาม ย้อนไปในยุควัฒนธรรมดงเซินเมื่อ 2,500 ปีก่อน ปรากฏรูปนกในกลองมโหระทึก เชื่อกันว่าเป็นนกยาง (บ้างก็ว่าเป็นนกกระเรียน)

ในความเชื่อของชาวโตบา กลุ่มปฐมชาติของเกาะซาโมเซอร์ ในเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มีการเก็บศพไว้ภายในอาคารที่มีรูปทรงคล้ายบ้าน เรียกอาคารนี้ว่า "โจโร" (joro) จากภาพถ่ายเก่าปี ค.ศ. 1920 ปรากฏลักษณะของอาคารนี้มีห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยกพื้นเรือนสูง และบนหลังคามีโลงศพจำลอง และมีนกสองตัวยืน เรียกว่า "มานุก-มานุก" (manuk-manuk) มีหน้าที่ปกป้องดวงวิญญาณของผู้ตายตลอดการเดินทางไปสู่โลกหน้า เชื่อกันว่าเป็นนกกระยาง [6][4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "Ardeidae". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. "วงศ์นกยาง (Ardeidae)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-25. สืบค้นเมื่อ 2012-11-09.
  3. Walters, Michael P. (1980). Complete Birds of the World. David & Charles PLC. ISBN 0715376667.
  4. 4.0 4.1 "ฟ้าวันใหม่สุดสัปดาห์ 28 10 60 เบรก 1". ฟ้าวันใหม่. 2017-10-28. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.
  5. BirdLife International (2004). Egretta eulophotes. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 11 May 2006. Database entry includes a brief justification of why this species is vulnerable
  6. "นักวิชาการประวัติศาสตร์ เผยความรู้เรื่อง "นกส่งวิญญาณ" หลังมีการแชร์นกบินวนยอดพระเมรุมาศ". ข่าวสด. 2017-10-27. สืบค้นเมื่อ 2017-10-28.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]