ข้ามไปเนื้อหา

รามายณะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระรามประทับบนไหล่หนุมาน เข้าต่อรบกับพญายักษ์ราวณะ (ทศกัณฐ์), ภาพวาดบนกระดาษ, ศิลปะอินเดีย, ประมาณคริสต์ทศวรรษที่ 1820 (สมบัติของบริติชมิวเซียม)

รามายณะ (สันสกฤต: रामायण) เป็นวรรณคดีประเภทมหากาพย์ของอินเดีย เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป แต่ผู้ได้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรกคือฤๅษีวาลมีกิ เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ภาษาสันสกฤต เรียกว่า โศลก จำนวน 24,000 โศลกด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 7 ภาค (กาณฑ์ หรือ กัณฑ์) ดังนี้

  1. พาลกัณฑ์
  2. อโยธยากัณฑ์
  3. อรัณยกัณฑ์
  4. กีษกินธกัณฑ์
  5. สุนทรกัณฑ์
  6. ยุทธกัณฑ์
  7. อุตตรกัณฑ์

รามายณะเป็นวรรณคดีที่มีการดัดแปลง เล่าใหม่ และแพร่หลายไปในหลายภูมิภาคของเอเชีย โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไป และอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปด้วย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระรามกับฝ่ายทศกัณฐ์ (รากษส) โดยพระรามจะมาชิงตัวนางสีดา (มเหสีของพระราม) ซึ่งถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวมา ทางฝ่ายพระรามมีน้องชาย ชื่อพระลักษมณ์และหนุมาน (ลิงเผือก) เป็นทหารเอกช่วยในการทำศึก รบกันอยู่นานท้ายที่สุดฝ่ายอสูรก็ปราชัย

รามายณะเมื่อแพร่หลายในหมู่ชาวไทย คนไทยได้นำมาแต่งใหม่ก็เรียกว่า รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน ส่วนในหมู่ชาวลาวนั้น เรียกว่า พะลักพะลาม (พระลักษมณ์พระราม)

ภูมิหลัง

[แก้]

รามายณ เป็นกวีนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “อาทิกาวฺย” หรือ  “กาวฺยอันดับแรก” เป็นมหากาพย์ที่สำคัญและได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มชนที่นับถือศาสนาฮินดู รามายณ จัดเป็นวรรณคดีประเภท “อิติหาส” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานมาแล้ว

ผู้ประพันธ์ รามายณ มีเพียงผู้เดียวคือ “ฤษีวาลฺมีกิ” ก็ได้รับการยกย่องเป็น “อาทิกวี” หรือ “กวีคนแรก” ด้วยเช่นกัน จากในเนื้อเรื่องของ รามายณ แสดงให้เห็นว่า ฤษีวาลฺมีกิ เป็นบุคคลที่อยู่ในยุคสมัยกับ ราม ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของเรื่อง ฤษีวาลฺมีกิ ได้ประพันธ์ รามายณ เป็นบทกวีนิพนธ์ทั้งหมดโดยที่ไม่มีคำกล่าวที่ลักษณะเป็นร้อยแก้วเลย สถานที่เกิด รามายณ คือเมืองอโยธยาแห่งแคว้นโกศล

ตำนานการประพันธ์ รามายณ ของ ฤษีวาลฺมีกิ มีอยู่ว่า เทวฤษีนารท ได้เล่าเรื่องของ ราม ให้แก่ ฤษีวาลฺมีกิ ฟัง ซึ่งหลังจากที่ ฤษีวาลฺมีกิ ได้ยินเรื่องราวของ ราม ก็บังเกิดความประทับใจ เมื่อฟังจบ ฤษีวาลฺมีกิ ก็ได้ไปที่ริมฝั่งแม่น้ำตมสา (ตะ-มะ-สา) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำคงคา พร้อมกับศิษย์ทั้งหลายเพื่อที่จะอาบน้ำ ในบริเวณใกล้ ๆ นั้นฤษีได้มองเห็นนกเกราญจะ (เกฺราญฺจ คือ นกกินปลาประเภทหนึ่ง) คู่หนึ่งกำลังอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ขณะนั้นนายพรานนกคนหนึ่งได้มาที่นั้น แล้วใช้ธนูยิงลูกศรถูกนกตัวผู้ตกลงมาบนพื้นดิน ดิ้นรนด้วยความเจ็บปวด นกตัวเมียมองเห็นนกตัวผู้เป็นเช่นนั้น ก็ส่งเสียงร้องออกมาอย่างน่าสงสาร ฤษีวาลฺมีกิ ได้มองเห็นภาพที่เกิดขึ้นก็บังเกิดความเศร้าโสกขึ้นภายในใจ จึงได้กล่าวคำพูดออกมาว่า

मा निषाद प्रतिष्ठां त्वमगमः शाश्वतीः समाः I

यत्क्रौंचमिथुनादेकमवधी काममोहितम् II

mā niṣāda pratiṣṭhāṁ tvamagamaḥ śāśvatīḥ samāḥ

yat krauñcamithunādekam avadhīḥ kāmamohitam

มา นิษาท ปฺรติษฺฐำ ตฺวมคมะ ศาศฺวตี สมาะ I

ยตฺ เกฺราญจมิถุนาเทกมวธีะ กามโมหิตมฺ II  รามายณม 1.2.15

โอ นายพราน ! เพราะเจ้าได้สังหารนกเกราญจะตัวหนึ่งจากคู่ของมันขณะพวกมันกำลังเริงรักอยู่ เจ้าจงอย่าได้อยู่เป็นสุขตลอดกาลเทอญ

หลังจากที่ได้กล่าวคำพูด ฤษีวาลฺมีกิ ก็แปลกใจ เพราะเป็นคำกล่าวมีลักษณะเป็นฉันทลักษณ์แบบใหม่ เมื่อกลับมาที่อาศรมก็ยังคงคิดถึงเหตุการณ์และคำพูดนั้น ต่อมา พฺรหฺม ได้มาหมา ฤษีวาลมีกิ ที่อาศรม ฤษีวาลมีกิ จึงได้กล่าวถึงเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดกับนกคู่นั้นและคำพูดของตนเองที่กล่าวออกมาให้ พฺรหฺม ฟัง  พฺรหฺม จึงกล่าวกับ ฤษีวาลมีกิ ว่า คำพูดที่ ฤษีวาลมีกิ กล่าวออกมาด้วยความโศกเศร้านั้น เป็นคำพูดที่อยู่ในรูปของร้อยกรอง “โศลก” และ พฺรหฺม ได้ให้ ฤษีวาลมีกิ ประพันธ์เรื่องราวของ ราม ที่ได้รับฟังจาก เทวฤษีนารท ด้วยรูปแบบฉันทลักษณ์ดังกล่าว

รามายณ ทั้งหมดมีจำนวน 7 กาณฑะ (กาณฺฑ) ตามการยอมรับของนักกวีชาวอินเดียในสมัยโบราณ เช่น ภาส, กาลิทาส, ภวภูติ และ ทิงฺนาค และนักวิจารณ์ที่ยิ่งใหญ่ชาวอินเดียคือ อานนฺทวรฺธน ทั้งหมดยอมรับ พาล-กาณฺฑร และ อุตฺตร-กาณฺฑ เป็นส่วนดั้งเดิมของ รามายณ ที่ ฤษีวาลมีกิ ได้ประพันธ์ แต่อย่างไรก็ตามการยึดถือนี้ขัดแย้งกับการศึกษาเกี่ยวกับภูมิหลังของ รามายณ ของนักวิชาการทั้งหลายในยุคหลัง ซึ่งศาสตราจารย์ เอช. ชโคบี (Prof. H. Jacobi) ได้ให้ความเห็นว่า รามายณ จำนวนทั้งหมด 7 กาณฑะที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนั้นมีส่วนหนึ่งได้รับการประพันธ์เพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง รามายณ ฉบับดั้งเดิมนั้นมีเพียงแค่ 5 กาณฑะเท่านั้น (กาณฑะที่ 2 ถึงกาณฑะที่ 6) โดยเริ่มจาก อโยธฺยา-กาณฺฑ และจบลงด้วย ยุทธ-กาณฺฑ สำหรับกาณฑะที่เพิ่มเข้ามาภายหลังคือ กาณฑะที่ 1 พาล-กาณฺฑ และกาณฑะที่ 7 อุตฺตร-กาณฺฑ  ซึ่งมีเหตุผลสนับสนุนดังนี้

1.     ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ กล่าวว่า ราม เป็นอวตารปางหนึ่งของ วิษณุ (นารายณ)  แต่ในอีก 5 กาณฑะ (กาณฑะที่ 2–6) นั้น ถือกันเพียงว่า ราม คือ วีรบุรุษ เท่านั้น

2.     ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ มีเรื่องอยู่หลายเรื่องที่ไม่ตรงกับโครงเรื่องสำคัญของ รามายณ ส่วนกาณฑะที่ 2-6 นั้น มีเรื่องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็นเรื่องเดียวกัน

3.     ในสรรคะที่ 1 ของพาล-กาณฺฑ ว่า ฤษีนารท ได้เล่าเรื่องย่อของรามให้ ฤษีวาลฺมีกิ ฟัง ไม่ได้อ้างถึงเหตุการณ์ที่ได้กล่าวไว้ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ เลย

4.     โดยปกติแล้วกวีอินเดียจะนิพนธ์งานให้จบด้วยเรื่องราวที่มีความสุข เรื่องราชาภิเษกของ ราม ได้กล่าวบรรยายไว้ตอนสุดของ ยุทธ-กาณฺฑ (กาณฑะที่ 6) ซึ่งเป็นตอนที่แสดงถึงความสุขและแสดงการจบตามสภาพที่เป็นอยู่ของงานนิพนธ์ทั่วไปของอินเดีย ส่วนกาณฑะที่ 7 (อุตฺตร-กาณฺฑ) จบลงด้วยเรื่องที่นับว่า ไม่มีความสุขและไม่เป็นมงคล ดังนั้น ฤษีวาลฺมีกิ จะต้องประพันธ์เรื่องจบเพียงแค่ราชาภิเษกรามเท่านั้น

5.     ใน พาล-กาณฺฑ และ อุตฺตร-กาณฺฑ มีบางเรื่องที่ขัดแย้งกับบางเรื่องในกาณฑะอื่นๆ เช่น ใน พาล-กาณฺฑ กล่าวว่า ลกฺษฺมณฺ วิวาห์กับ อูรฺมิลา  แต่ใน อารณฺย-กาณฺฑ ว่า ราม ได้สั่งให้ ศูรฺปณขา ไปหา ลกฺษฺมณฺ โดยได้กล่าวว่า ลกฺษฺมณฺ ยังไม่ได้สมรส

ตัวละครหลัก

[แก้]
พระรามประทับนั่งเคียงคู่กับนางสีดา มีพระลักษมณ์คอยอยู่งานพัดถวาย และพญาวานรหนุมานแสดงอาการคารวะ
พระราม

ตัวละครเอกของมหากาพย์รามายณะ ผู้ถูกกล่าวถึงในฐานะอวตารชาติที่ 7 ของพระวิษณุ พระรามเป็นพระราชโอรสลำดับหัวปีและเป็นราชโอรสองค์โปรดของท้าวทศรถ กษัตริย์แห่งกรุงอโยธา และพระนางเกาศัลยา มีพระอุปนิสัยที่ยึดมั่นในคุณธรรมอย่างยิ่ง พระองค์ต้องออกเดินดงก่อนขึ้นครองราชสมบัติเป็นเวลา 14 ปี เพื่อรักษาสัจจวาจาของพระราชบิดาซึ่งได้ประทานพรแก่นางไกยเกยี ผู้เป็นมเหสีองค์กลาง ว่าจะประทานพรตามที่นางปรารถนา

นางสีดา

มเหสีผู้เป็นที่รักยิ่งของพระรามและราชธิดาของท้าวชนกแห่งกรุงมิถิลา นางเป็นอวตารของพระลักษมี มเหสีแห่งพระวิษณุ

หนุมาน

ราชาวานรผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะทหารเอกของพระราม และเป็นผู้ที่จงรักภักดีต่อพระรามมากที่สุด กำเนิดของหนุมานนั้นมีกล่าวถึงต่างๆ กันออกไป โดยมาถือว่าหนุมานเป็นโอรสของพระพาย แต่ในรามายณะของวาลมิกีกล่าวว่าเป็นโอรสของราชาวานรชื่อท้าวเกศรีกับนางอัญชนา ถือกำเนิดขึ้นจากการที่ท้าวเกศรีบำเพ็จตบะขอบุตรจากพระศิวะ บางแห่งจึงนับถือว่าหนุมานเป็นอวตารของพระศิวะด้วย

พระลักษมณ์ (ลักษมณะ)

คือบัลลังก์นาค (พญาอนันตนาคราช) ของพระวิษณุ (พระนารายณ์) อวตารลงมาเป็นพระอนุชาของพระราม พระลักษมณ์เป็นโอรสของท้าวทศรถกับพระนางสุมิตรา ได้ช่วยพระรามทำศึกกับเหล่ายักษ์ เพื่อช่วยนางสีดา

ราวณะ (ทศกัณฐ์)

พญารากษสเชื่อสายพรหมพงศ์เจ้ากรุงลังกา โอรสของพระวิศรวฤๅษีและนางแทตย์ชื่อไกกะษี มีนิสัยชอบก่อกวนการบำเพ็ญตบะของเหล่าฤๅษีและระรานเหล่าเทพและกษัตริย์ต่างๆ ให้ได้รับความเดือดร้อน การที่พระวิษณุต้องอวตารมาเป็นมนุษย์นั้น ก็เนื่องจากว่าราวณะได้รับพรจากพระพรหมหลังจากบำเพ็ญตบะนานนับหมื่นปีว่าจะไม่ถูกสังหารโดยทวยเทพ หมู่มาร และวิญญาณร้ายทั้งปวง ยกเว้นมนุษย์เท่านั้น

ท้าวทศรถ

พ่อของพระราม พระลักษมณ์ พระพรต กับ พระสัตรุต กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา

พระภรต

โอรสของท้าวทศรถกับนางไกยเกยี (มเหสีองค์กลาง) ในรามายณะกล่าวว่าเป็นอวตารอีกภาคหนึ่งของพระวิษณุที่แบ่งภาคลงมาเกิดพร้อมกับพระราม ในระหว่างที่พระรามออกเดินดงนั้น พระภรตไม่ยอมขึ้นครองราชสมบัติแทนพระราม โดยยอมรับเป็นแต่เพียงผู้สำเร็จราชการกรุงอโยธยา เพื่อรอการกลับมาของพระรามอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น

พระศัตรุฆน์

โอรสองค์ที่ 4 ของท้าวทศรถ เกิดแต่นางสุมิตรา (มเหสีองค์ที่ 3 ของท้าวทศรถ) และเป็นฝาแฝดกับพระลักษมณ์ ในรามายณะกล่าวว่าเป็นอวตารอีกภาคหนึ่งของพระวิษณุเช่นเดียวกับพระรามและพระภรต

เรื่องราวโดยย่อ

[แก้]

พาลกัณฑ์

[แก้]
กำเนิดโอรสทั้งสี่แห่งท้าวทศรถ

ท้าวทศรถทรงเป็นกษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา เมืองหลวงแห่งอาณาจักรโกศล พระองค์มีพระมเหสี 3 องค์ คือ นางเกาศัลยา นางไกยเกยี และนางสุมิตรา แต่หามีราชโอรสเพื่อจะสืบราชสมบัติไม่ พระองค์จึงได้จัดให้มีพิธีบูชาไฟเพื่อขอบุตรขึ้น[1] พระองค์ได้ราชโอรส 4 องค์เรียงตามลำดับคือ พระราม (เกิดจากนางเกาศัลยา) พระภรต (เกิดจากนางไกยเกยี) พระลักษมณ์และพระศัตรุฆน์ (โอรสแฝดซึ่งเกิดจากนางสุมิตรา) [2][3] โอรสทั้งสี่นี้คือร่างแบ่งภาคของพระวิษณุ ซึ่งถูกเลือกให้เกิดมาเป็นมนุษย์เพื่อปราบพญารากษสราวณะ ผู้ซึ่งเบียดเบียนทวยเทพทั้งหลายและได้รับพรว่าจะถึงแก่ความตายได้ก็ด้วยน้ำมือของมนุษย์เท่านั้น[4] กุมารทั้งสี่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมฐานะของโอรสกษัตริย์ และได้รับการสั่งสอนศิลปวิทยาการในแขนงต่างๆ ตามสมควรแก่วรรณะของตน เมื่อพระรามมีชันษาได้ 16 ปี พระฤๅษีวิศวามิตรได้มายังราชสำนักแห่งท้าวทศรถเพื่อขอให้พระรามผู้เป็นราชโอรสช่วยปราบอสูรที่คอยรบกวนการทำพิธีกรรมของเหล่าฤๅษีอยู่ตลอดเวลา ในการนี้พระลักษมณ์ได้ร่วมติดตามไปกับพระรามด้วย พระรามและพระลักษมณ์ได้รับคำสั่งสอนและอาวุธวิเศษจากพระฤๅษีวิศวามิตร และสามารถปราบอสูรร้ายเหล่านั้นลงได้[5]

ฝ่ายท้าวชนก กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา วันหนึ่งพระองค์ได้ประกอบพิธีแรกนาขวัญ และทรงไถนาได้กุมารีนางหนึ่งซึ่งถือกำเนิดอยู่ในผืนดินที่พระองค์ประกอบพิธีอยู่ พระองค์ได้รับเลี้ยงกุมารีนั้นด้วยความดีพระทัยอย่างยิ่ง และทรงขนานนามเด็กหญิงนั้นว่า "สีดา" อันมีความหมายว่ารอยไถในภาษาสันสกฤต (สันสกฤต: सीता; สีตา) [6] นางสีดาเติบโตขึ้นเป็นหญิงงามและมีเสน่ห์อย่างไม่มีใครเทียบเทียมได้ และเมื่อนางมีอายุพอสมควรที่จะมีคู่ได้ ท้าวชนกจึงได้จัดพิธีสยุมพร เพื่อหาคู่ครองที่สมควรให้แก่ราชธิดาของพระองค์ ในพิธีครั้งนี้พระองค์ได้จัดให้มีการแข่งขันยกมหาธนูกปิล อันเป็นเทพอาวุธที่พระศิวะประทานให้แก่บรรพบุรุษของท้าวชนก โดยตั้งเงื่อนไขไว่ว่า ใครก็ตามที่สามารถยกธนูนี้ขึ้นได้ก็จะได้นางสีดาไปครอง พระวิศวามิตรได้แนะให้พระรามและพระลักษมณ์เข้าร่วมในงานสยุมพรดังกล่าว พระรามสามารถยกมหาธนูกปิลได้เพียงผู้เดียวและยังโก่งธนูดังกล่าวจนหักลง พิธีอภิเษกของพระรามกับนางสีดาจึงเกิดขึ้นพร้อมด้วยการอภิเษกของราชโอรสอีกสามองค์ของท้าวทศรถกับราชธิดาและและราชนัดดาองค์อื่น ๆ ของท้าวชนกที่นครมิถิลาและมีการเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร เมื่อสิ้นสุดงานแล้วบรรดาคู่บ่าวสาวจึงได้เดินทางกลับสู่กรุงอโยธยา[5]

อโยธยากัณฑ์

[แก้]
พระภรตทูลขอฉลองพระบาทของพระรามเป็นของแทนพระองค์ก่อนที่พระรามจะออกเดินดง 14 ปี, ผลงานของภวานราวะ ศรีนิวาสราวะ ปันตะประตินิธี, ค.ศ. 1916

หลังจากการอภิเษกสมรสของพระรามกับนางสีดาผ่านไปได้ 12 ปี ท้าวทศรถว่าตระหนักพระองค์ชราลงไปมากจึงดำริที่จะยกราชสมบัติให้พระรามเป็นผู้สืบทอดต่อไป บรรดาข้าราชบริพารต่างล้วนสนับสนุนพระดำริของท้าวทศรถเช่นกัน[7][8] ทว่าก่อนจะมีพีธีราชาภิเษกนั้น นางไกยเกยีซึ่งถูกยุยงจากนางทาสีหลังค่อมชื่อนางมันถรา ได้ทวงคำสัญญาจากท้าวทศรถที่เคยให้ไว้ในกาลก่อนว่าจะดลบันดาลให้ตามที่นางปรารถนา โดยพรที่นางขอคือให้เนรเทศพระรามออกจากเมืองไป 14 ปี และให้พระภรตซึ่งเป็นโอรสที่เกิดจากนางได้ครองราชสมบัติแทนในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น พระราชาจำต้องอนุมัติตามที่นางขอเพื่อรักษาสัจจวาจาที่พระองค์ให้ไว้ด้วยพระทัยที่แหลกสลาย[9] พระรามยอมรับต่อราชโองการนั้นโดยความอ่อนน้อมและความสุขุมเยือกเย็น ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพระองค์ที่จะปรากฏต่อไปตลอดเรื่อง [10] พระลักษมณ์และนางสีดาได้ของติดตามพระรามไปด้วย เมื่อพระรามได้กล่าวห้ามนางสีดา นางได้เอ่ยว่า "ผืนป่าที่พระองค์สถิตอยู่คือเมืองอโยธยาสำหรับหม่อมฉัน และเมืองอโยธยาที่ไร้พระองค์นั้นคือนรกอันแท้จริงของหม่อมฉัน"[11]

หลังจากพระรามเสด็จออกจากรุงอโยธยา ท้าวทศรถได้สวรรคตด้วยความตรอมพระทัย[12] ขณะเดียวกัน พระภรตผู้เสด็จไปเยี่ยมพระมาตุลาที่ต่างเมืองก็ได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอโยธยา พระองค์จึงปฏิเสธที่จะขึ้นครองเมืองตามที่พระมารดาของตนได้ขอไว้และเสด็จไปติดตามพระรามในป่า โดยร้องขอให้พระรามกลับคืนเมืองและขึ้นครองราชย์ตามพระประสงค์อันแท้จริงของพระราชบิดา แต่พระรามต้องการรักษาสัจจวาจาของพระราชบิดาไว้จึงตอบปฏิเสธไป พระภรตจึงทูลขอฉลองพระบาทของพระรามและเชิญไปประดิษฐานยังพระราชบัลลังก์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ ส่วนพระภรตคงอยู่รักษาเมืองอโยธยาต่อไปในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น[9][12]

อรัณยกัณฑ์

[แก้]
ราวณะประหารพญาแร้งชฏายุที่เข้ามาช่วยเหลือนางสีดา, ผลงานของราชา รวิ วรรมา, ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19

พระราม นางสีดา และพระลักษมณ์เดินทางลงใต้เลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำโคทาวารี และตั้งอาศรมพำนักและใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้น ที่ป่าปัญจวดีนั้นทั้งสามได้พบกับนางรากษสีชื่อ "ศูรปนขา" น้องสาวของพญารากษสีราวณะ นางพยายามยั่วยวนสองพี่น้องให้มาเป็นสวามีและคิดจะฆ่านางสีดาให้ได้ พระลักษมณ์จึงหยุดนางด้วยการจับนางมาเชือดหูตัดจมูกเสีย เมื่อพญาขร พี่ชายของนางศูรปนขา ได้รู้เรื่องดังกล่าว จึงนำกองทหารมาจัดการกลุ่มของพระราม ทว่าพระรามกลับสามารถจัดการพญาขรกับกองทหารทั้งหมดลงได้ [13]

เรื่องความอับอายของนางศูรปนขาและความตายของพญาขรได้รู้เข้าไปถึงหูของพญาราวณะ พญายักษ์จึงหาวิธีทำลายพระรามโดยอาศัยความช่วยเหลือจากมารีศ มารีศได้แปลงร่างเป็นกวางทองมาล่อลวงนางสีดาให้หลงใหล นางสีดาเมื่อได้เห็นกวางทองแล้วจึงร้องขอให้พระรามช่วยจับกวางนั้นมาเลี้ยง แม้จะระแวงอยู่ว่ากวางนั้นเป็นยักษ์แปลงมาก็ตาม แต่พระรามขัดนางสีดาไม่ได้ จำต้องออกไปตามกวางตามความประสงค์นั้น โดยฝากให้พระลักษมณ์ช่วยคุ้มกันนางสีดาแทนตน เวลาผ่านไปนางสีดาได้ยินเสียงเหมือนกับว่าพระรามเรียกพระลักษมณ์ให้ตามไปช่วย นางจึงบอกให้พระลักษมณ์ไปช่วยพระรามด้วย พระลักษมณ์ได้ทูลเตือนพระพี่นางของตนว่าพระรามนั้นแข็งแกร่งไม่มีใครทำร้ายได้ และตนจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของพระราม นางสีดาจึงคร่ำครวญด้วยความอึดอัดใจว่า คนที่ต้องการความช่วยเหลือในตอนนี้ไม่ใช่นาง แต่เป็นพระรามต่างหาก พระลักษมณ์เมื่อเห็นว่าจะขัดนางไม่ได้จึงจำต้องออกไปตามหาพระราม แต่ว่าพระลักษมณ์เองก็ได้ตั้งเงื่อนไขไว้ว่านางสีดาจะต้องไม่ออกจากเขตอาศรม และออกไปต้อนรับคนแปลกหน้าเป็นอันขาด เมื่อบริเวณอาศรมพระรามเปิดโล่งเช่นนี้ ราวณะจึงได้แปลงกายเป็นฤๅษี กระทำภิกขาจารขออาหารจากนางสีดา ครั้นสบโอกาสในขณะที่นางสีดาไม่ระวังตัว ราวณะจึงลักพาตัวนางสีดาไปจากอาศรมได้[13][14]

พญาแร้งตนหนึ่งชื่อชฏายุได้พยายามช่วยนางสีดาจากเงื้อมมือของราวณะ แต่พลาดท่าเสียทีถูกราวณะทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสและไม่อาจช่วยเหลือนางสีดาได้ ราวณะได้พาตัวนางสีดามาไว้ยังกรุงลังกาและให้บรรดานางรากษสีคอยดูแลคุ้มกันนางอย่างเข้มงวด ราวณะะได้พยายามเกี้ยวนางสีดาเป็นชายา แต่นางสีดาไม่ยอมรับ และยังภักดีมั่นต่อพระรามเท่านั้น [12] พระรามและพระลักษมณ์หลังจัดการมารีศแล้วก็ได้ทราบเรื่องนางสีดาถูกลักพาตัวจากนกชฏายุก่อนจะสิ้นใจ ทั้งสองจึงเดินทางออกตามหานางสีดาทันที [15] ระหว่างการเดินทาง ทั้งสององค์ได้ยักษ์ชื่อ "กพันธะ" และนางดาบสีนีชื่อ "ศพรี" ชี้ทางให้เดินทางไปพบพญาวานรสุครีพและหนุมาน [16][17]

กีษกินธากัณฑ์

[แก้]
พญาพาลีรบกับสุครีพ ภาพจำหลักหิน ศิลปะบาปวนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 (ราวพุทธศตวรรษที่ 16) ได้จากเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา (สมบัติของพิพิธภัณฑ์กีเมต์, ปารีส, ฝรั่งเศส)

เรื่องราวของกีษกินธากัณฑ์เกิดขึ้นในนครกีษกินธา เมืองแห่งวานร พระรามและพระลักษณ์ได้พบกับหนุมาน ขุนทหารวานรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นผู้ติดตามของสุครีพ อุปราชแห่งนครกิษกินธาผู้ถูกพี่ชาย (พญาพาลี กษัตริย์แห่งกิษกินธา) ขับออกจากเมืองของตน[18] พระรามได้ผูกมิตรกับพญาสุครีพและให้ความช่วยเหลือสุครีพในการสังหารพญาพาลีเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนในการให้ความช่วยเหลือพระรามในการตามหานางสีดา[19]

เมื่อพาลีสิ้นชีวิตและนครกิษกินธาตกอยู่ในความปกครองของสุครีพแล้ว สุครีพกลับลืมคำสัญญาดังกล่าวและมัวเพลิดเพลินอยู่กับการเสวยสุขในนคร พระลักษมณ์โกรธสุครีพมากจึงจะตรงไปทำลายนครวานรเสีย นางตาราผู้เป็นชายาของสุครีพได้เกลี้ยกล่อมให้สุครีพทำตามคำสัญญาที่ไว้แก่พระราม เพื่อบรรเทาความโกรธของพระลักษมณ์และรักษาเกียรติยศของตัวสุครีพเอง สุครีพจึงได้ส่งกองทหารวานรออกไปสืบหาข่าวของนางสีดาในทั้งสี่ทิศ[20] ผลปรากฏว่ามีเพียงกองทหารที่ส่งไปหาข่าวทางทิศใต้ (ภายใต้การนำขององคตและหนุมาน) ที่ประสบความสำเร็จ โดยกองทหารชุดดังกล่าวได้ข่าวจากพญาแร้งสัมปาติว่านางสีดาถูกนำตัวไปยังกรุงลังกา[20][21]

สุนทรกัณฑ์

[แก้]
พญาราวณะพยายามเกี้ยวนางสีดาในป่าอโศก ส่วนหนุมานคอยซุ่มดูอยู่บนต้นไม้

เนื้อหาของสุนทรกัณฑ์นับได้ว่าเป็นหัวใจหลักของมหากาพย์รามายณะฉบับวาลมิกี[22] และประกอบด้วยรายละเอียดการผจญภัยของหนุมานอันน่าตื่นเต้น[18] เรื่องราวจับความตั้งแต่เมื่อกองทหารวานรทราบข้อมูลเกี่ยวกับนางสีดา หนุมานจึงได้แปลงร่างของตนให้สูงใหญ่และกระโจนข้ามมหาสมุทรไปยังเกาะลังกา ณ ที่นี้ หนุมานได้พบนครของเหล่ารากษส และได้สืบข่าวของพญายักษ์ราวณะจนกระทั่งทราบว่าราวณะได้พาตัวนางสีดาไปไว้ยังป่าอโศกและพยายามเกี้ยวพาราสีนางสีดาให้เป็นชายาของตน หนุมานจึงลอบเข้าไปถวายแหวนของพระรามแก่นางสีดา เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าพระรามยังปลอดภัยดี และยังได้เสนอที่จะพานางสีดากลับไปพบพระรามด้วย แต่นางได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ เพราะไม่ประสงค์จะให้บุรุษอื่นนอกจากสวามีของตนสัมผัสตัวของนางอีก นางสีดาได้ฝากข้อความไปยังพระรามด้วยว่าขอให้พระองค์มาช่วยนางและล้างอายที่นางต้องถูกราวณะลักพามาด้วย[18]

หลังเสร็จการเข้าเฝ้านางสีดา หนุมานก็ได้ก่อความวุ่นวายขึ้นในกรุงลังกาด้วยการทำลายต้นไม้และอาคารต่างๆ พร้อมทั้งสังหารทหารของราวณะจำนวนมาก เมื่อราวณะส่งอินทรชิตมาจับตัวหนุมาน หนุมานก็แกล้งยอมให้ถูกจับโดยง่ายและถูกคุมตัวให้ไปพบกับพญายักษ์ราวณะ หนุมานได้เอ่ยปากให้ราวณะปล่อยตัวนางสีดาเสีย ราวณะจึงสั่งให้ทหารจุดไฟเผาหางของหนุมานเป็นการลงโทษ ทันทีที่ไฟติดหาง หนุมานก็ได้สะบัดตัวหลุดออกจากพันธนาการแล้วเผากรุงลังกาจนพินาศย่อยยับ จากนั้นจึงได้กลับไปยังฝั่งแผ่นดินใหญ่สมทบกับกองทัพวานร เพื่อกลับไปแจ้งข่าวดีที่นครกิษกินธาต่อไป[18][23]

ยุทธกัณฑ์

[แก้]
ศึกลังกา ตอนหนุมานประหารยักษ์ตรีศิระ (ตรีเศียร), ผลงานของไซฮิบดิน, ได้จากเมืองอุทัยปุระ, ราว (ค.ศ. 1649-53)

ยุทธกัณฑ์เป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วยสงครามระหว่างพระรามกับท้าวราวณะ หลังจากพระรามได้ทราบข่าวของนางสีดาจากหนุมานแล้ว พระองค์พร้อมด้วยพระลักษมณ์และกองทัพวานรก็ได้เดินทางมุ่งตรงไปยังชายฝั่งทะเลทางทิศใต้ ณที่นั้นทั้งหมดได้พบกับวิภีษณะ น้องชายของราวณะผู้คัดค้านการลักพาตัวนางสีดาจนถูกขับไล่ออกจากกรุงลังกา ซึ่งได้ขอเข้าร่วมทัพกับพระราม กองทัพพระรามได้ยกไปยังกรุงลังกาโดยใช้สะพานหินซึ่งมีขุนพลวานร "นละ" กับ "นีละ" เป็นแม่กองในการสร้าง สงครามดำเนินไปเป็นระยะเวลานานและจบลงด้วยการที่พระรามสามารถประหารพญายักษ์ราวณะได้ พระรามจึงแต่งตั้งให้วิภีษณะเป็นกษัตริย์ครองกรุงลังกาแทนสืบไป[24]

เมื่อได้พบกับนางสีดา พระรามได้ขอร้องให้นางสีดาเข้าพิธีลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของนาง เพราะนางได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของยักษ์มาเป็นเวลานานหลายปี ทันทีทีนางได้ย่างเท้าเข้าสู่กองไฟในพิธีลุยไฟนั้น พระอัคนีผู้เป็นเทพแห่งไฟได้ทูนนางขึ้นไปยังบัลลังก์โดยหาได้ทำอันตรายแก่นางแต่อย่างใดไม่ แสดงถึงการยืนยันในความบริสุทธิ์ในตัวนางสีดาอย่างชัดแจ้ง[25] เรื่องราวในตอนพิธีลุยไฟนี้กล่าวความต่างกันในรามายณะฉบับของวาลมิกีและฉบับของตุลสิทาส[26] เนื้อความที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเป็นเรื่องจากฉบับของวาลมิกี ส่วนในรามายณะฉบับรามจริตมนัสของตุลสิทาสกล่าวว่า นางสีดาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระอัคนี จึงเป็นการจำเป็นที่จะเชิญนางออกจากความคุ้มครองของพระอัคนีก่อนกลับมาอยู่ร่วมกับพระรามอีกครั้ง เมื่อวาระแห่งการเดินดง 14 ปี สิ้นสุดลง พระรามพร้อมด้วยนางสีดาและพระลักษมณ์ก็ได้กลับคืนสู่กรุงอโยธยา พระภรตได้ถวายราชสมบัติคืนและจัดพิธีราชาภิเษกพระรามขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรโกศล[24]

อุตตรกัณฑ์

[แก้]
นางสีดาประทับในบริเวณอาศรมของพระวาลมิกีฤๅษี, วาดขึ้นราว ค.ศ. 1800 - 1825

อุตตรกัณฑ์กล่าวถึงเรื่องราวในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระราม นางสีดา และเหล่าอนุชาของพระราม ซึ่งเรื่องราวในกัณฑ์นี้ถูกมองว่าเป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาต่อจากรามายณะฉบับดั้งเดิมที่วาลมิกีรจนาไว้ และมีเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อกัน[27] เนื้อความในกัณฑ์นี้ประกอบด้วยเรื่องอสุรพงศ์ ราวณะเยี่ยมพิภพ การประพฤติพาลและการสงครามของราวณะ วานรพงศ์ เหตุบันดาลให้ราวณะลักนางสีดา การส่งกษัตริย์มาช่วยงานราชาภิเษกพระราม พระรามเนรเทศนางสีดา พระรามเล่านิยายโบราณสอนพระลักษมณ์ คุณของพระราม พระศัตรุฆน์ปราบลพณาสูร นางสีดาประสูติโอรส พระรามประกอบพิธีอัศวเมธและรับนางสีดาคืนเมือง ศึกพระภรต เนรเทศพระลักษมณ์ และพระรามพร้อมด้วยบริวารกลับสวรรค์[ต้องการอ้างอิง]

ส่วนที่ต่อเนื่องจากยุทธกัณฑ์เริ่มจับความตั้งแต่หลังจากการขึ้นครองราชย์ของพระราม พระองค์ได้ครองคู่กับนางสีดาอย่างมีความสุขเป็นเวลาหลายปี ทว่าแม้นางสีดาได้ได้ผ่านพิธีลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนแล้วก็ตาม แต่ชาวอโยธยาก็ยังคงมีข้อครหาต่อความบริสุทธิ์ของนางอยู่ตลอด[28] พระรามจำต้องยอมตามความเห็นของมหาชนและเนรเทศนางสีดาออกไปจากเมือง แม้จะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของนางอยู่ก็ตาม นางสีดาจึงได้ไปอาศัยอยู่สำนักอาศรมของพระฤๅษีวาลมิกี จนกระทั่งนางได้ประสูติโอรสแฝดที่ติดพระครรภ์ 2 องค์ คือ เจ้าชายลวะและเจ้าชายกุศะ พระกุมารทั้งสองต่อมาได้เล่าเรียนศิลปวิทยาการจากพระฤๅษีวาลมิกีและได้เติบโตขึ้นโดยที่ยังไม่ทราบถึงสถานะที่แท้จริงของตนเอง

พระฤๅษีวาลมิกีได้รจนามหากาพย์รามายณะและสวดให้สองกุมารสวดหนังสือเรื่องนี้ ต่อมาเมื่อพระรามได้กระทำพิธีอัศวเมธ พระวาลมิกีจึงได้เข้าร่วมพิธีโดยพาสองกุมารไปด้วย และให้กุมารทั้งสองสวดเรื่องรามายาณะท่ามกลางมหาสมาคมต่อเบื้องพระพักตร์ของพระราม เมื่อสองกุมารสวดไปถึงตอนพระรามเนรเทศนางสีดา พระรามได้กันแสงออกมา พระวาลมิกีจึงได้เชิญนางสีดาออกมาพบพระราม ณ ที่นั้น นางได้ประกาศถึงความบริสุทธิ์ของตนโดยอ้างเอาแม่พระธรณีเป็นพยาน โดยกล่าวว่าหากนางเป็นผู้บริสุทธิ์จริงของให้แผ่นดินรับเอานางไปอยู่ด้วย เมื่อจบคำประกาศแล้ว แผ่นดินก็ได้แหวกเป็นช่องให้นางลงไปเบื้องล่างและหายไปกับผืนดินที่ปิดสนิท[28][29] หลังจากนั้นพระรามจึงได้รับเอาโอรสทั้งสองของพระองค์เข้ามาเลี้ยงดูในวังสืบมา จนกระทั่งเมื่อบรรดาเทพเจ้าบนสวรรค์ได้ส่งข่าวผ่านพระยมว่าภารกิจการอวตารของพระองค์สิ้นสุดแล้ว พระรามจึงจัดการแบ่งราชสมบัติให้พระโอรสทั้งสองปกครอง และทำพิธีกลับคืนสู่สวรรค์พร้อมเหล่าพระอนุชาและขุนพลวานร[25]

ความแตกต่างจากรามเกียรติ์

[แก้]

ความแตกต่างระหว่างรามายณะและรามเกียรติ์ มีหลายประการ เช่น

1. ในรามายณะ หนุมานเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอิศวร ชื่อรุทรอวตาร หนุมานในรามายณะไม่เจ้าชู้เหมือนหนุมานในรามเกียรติ์ซึ่งแสดงค่านิยมของชายไทยโบราณอย่างเห็นได้ชัด

2. ในรามายณะ ชาติก่อน ทศกัณฐ์กับกุมภกรรณเป็นนายทวารเฝ้าที่อยู่ของพระนารายณ์ชื่อชัยกับวิชัย ซึ่งพระนารายณ์ห้ามไม่ให้ใครเข้าในเวลาที่ทรงเกษมสำราญ ต่อมามีฤๅษีมาขอเข้าพบพระนารายณ์ นายทวารทั้งสองไม่ยอมให้เข้า ฤๅษีจึงสาปให้ชัยกับวิชัยต้องไปเกิดในโลกมนุษย์ได้รับความทรมาน พวกเขาจึงไปขอความเมตตาจากพระนารายณ์เพราะตนเพียงแต่ทำตามคำสั่งเท่านั้น พระนารายณ์บอกว่าแก้คำสาปฤๅษีไม่ได้แต่บรรเทาให้เบาบางลงได้ โดยให้ทั้งสองไปเกิดเป็นยักษ์เพียงสามชาติ และทั้งสามชาติพระนารายณ์จะลงไปสังหารทั้งสองเองเพื่อให้หมดกรรม ชาติแรกชัยกับวิชัยเกิดเป็นหิรันตยักษ์กับหิรัณยกศิปุ พระนารายณ์อวตารเป็นหมู(วราหะ) และนรสิงห์ไปปราบ ชาติที่สองนายทวารทั้งสองเกิดเป็นทศกัณฐ์กับกุมภกรรณ พระนารายณ์อวตารเป็นพระรามไปปราบ ชาติที่สามนายทวารทั้งสองเกิดเป็นพญากังสะ และศิศุปาล พระนารายณ์อวตารเป็นพระกฤษณะไปปราบ

3. กุมภกรรณในรามายณะมีลักษณะคล้ายกุมภกรรณในรามเกียรติ์ ตรงที่มีความซื่อสัตย์เที่ยงธรรม แต่ในรามายณะ กุมภกรรณได้เคยขอพรพระพรหมให้ตนเองมีสภาพคล้ายพระวิษณุ คือนอนหลับอยู่เป็นเวลานานจึงตื่นเพียงวันเดียว และหยั่งรู้ความเป็นไปของโลกในการนอนหลับนั้น ดังนั้นเมื่อทศกัณฑ์ปลุกกุมภกรรณให้ไปรบกับพระนารายณ์นั้น เขาย่อมรู้ว่าพระรามนั้นที่แท้คือพระวิษณุและเขาไม่มีทางรบชนะเด็ดขาด แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นทหาร กุมภกรรณยังคงตัดสินใจไปรบโดยทูลทศกัณฐ์ว่า ถ้าตนตายในการรบก็ขอให้ทศกัณฑ์ยอมแพ้เสีย เพราะถ้าตนรบชนะไม่ได้ก็ย่อมไม่มีใครในลงการบชนะพระรามได้

4. ในรามายณะไม่มีตัวละครหลายตัวที่รามเกียรติ์แต่งเพิ่มขึ้นมา เช่น ท้าวจักรวรรดิ ท้าวสหัสเดชะ มูลพลัม ไมยราพณ์ท้าวมหาชมพู และมีตัวละครหลายตัวที่ถูกรวมเป็นตัวเดียว เช่น สุกรสารในรามเกียรติ์ มาจากสายลับของกรุงลงกาสองคนชื่อสุก กับ สรณะ

5. ทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ เป็นพญายักษ์ แต่ในรามายณะ เป็นพญารากษส

6.นางสีดาในรามายณะเป็นธิดาแท้ๆของท้าวชนก กษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา แต่นางสีดาในรามเกียรติ์เป็นธิดาของทศกัณฐ์กับนางมณโฑ โดยตอนนางสีดาประสูตินั้น ได้ร้องว่าผลาญราพณ์ถึง 3 ครั้ง จนทศกัณฐ์ให้พิเภกทำนายดวงชะตา แล้วพบว่าเป็นกาลกิณีต่อชาวอสูรลงกา ทศกัณฐ์จึงสั่งให้พิเภกนำธิดาใส่พะอบแล้วลอยไปยังแม่น้ำ ต่อมาฤาษีชนกได้พบพะอบแล้วเปิดดู ปรากฏว่ามีเด็กผู้หญิงอยู่ในพะอบ แต่เนื่องจากตนครองเพศอยู่นั้น จึงฝากพะอบให้พระแม่ธรณีเลี้ยงดู จนกระทั่งผ่านไป 16 ปี ฤาษีชนกลาเพศดาบส จึงขุดพะอบแล้วพบพระธิดาที่มีรูปร่างงดงามกว่าเทวดานางฟ้า จึงตั้งชื่อว่า สีดา แปลว่า รอยไถ แล้วพากลับกรุงมิถิลา

7.ในการสังหารทศกัณฐ์ ในรายมณะพระรามจะเป็นผู้ยิงศรใส่สะดือซึ่งเป็นน้ำอมตะของราวณะ ทำให้ราวณะสิ้นชีพทันที แต่ในรามเกียรติ์ พระรามได้แผลงศรปักอกทศกัณฐ์ ทำให้งาช้างที่พระอิศวรซัดใส่อกหลุดออกจากอกทศกัณฐ์ สำนึกสุดท้ายของทศกัณฐ์ได้ขอขมาพระรามและสั่งเสียแก่พิเภกให้ปกครองกรุงลงกาแทนตน หลังจากนั้นหนุมานได้ขยี้กล่องดวงใจของทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ได้สิ้นชีวิตทันที

ในวัฒนธรรมปัจจุบัน

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. Keshavadas 1988, p.27
  2. Keshavadas 1988, p.29
  3. Buckvan Nooten 2000, p.16
  4. Goldman 1990, p.7 "These sons, are infused with varying portions of the essence of the great Lord Vishnu who has agreed to be born as a man in order to destroy a violent and otherwise invincible demon, the mighty rakshasa Ravana who has been oppressing the Gods, for by the terms of a boon that he has received, the demon can be destroyed only by a mortal."
  5. 5.0 5.1 Goldman 1990, p.7
  6. Bhattacharji 1998, p.73
  7. Buckvan Nooten 2000, pp.60-61
  8. Prabhavananda 1979, p.82
  9. 9.0 9.1 Goldman 1990, p.8
  10. Brockington 2003, p.117
  11. Keshavadas 1988, pp.69-70
  12. 12.0 12.1 12.2 Prabhavananda 1979, p.83
  13. 13.0 13.1 Goldman 1990, p.9
  14. Buckvan Nooten 2000, p.166-168
  15. Keshavadas 1988, pp.112-115
  16. Keshavadas 1988, pp.121-123
  17. Buckvan Nooten 2000, p.183-184
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Goldman 1990, p.10
  19. Buckvan Nooten 2000, p.197
  20. 20.0 20.1 Goldman 1994, p.4
  21. Kishore 1995, pp.84-88
  22. Goldman 1996, p.3
  23. Goldman 1996, p.4
  24. 24.0 24.1 Goldman 1990, pp. 11-12
  25. 25.0 25.1 Prabhavananda 1979, p.84
  26. Rajagopal, Arvind (2001). Politics after television. Cambridge University Press. pp. 114–115. ISBN 9780521648394.
  27. Sundararajan 1989
  28. 28.0 28.1 Goldman 1990, p.13
  29. Dutt 2002, "Aswa-Medha" p.146

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]
เอกสารต้นฉบับ แม่แบบ:Sa icon
ฉบับแปล

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ฉบับแปลภาษาอังกฤษ

[แก้]

บทความวิจัย

[แก้]