รอเบิร์ต คาปา
รอเบิร์ต คาปา | |
---|---|
เกิด | แอ็นแดร แอร์เนอ ฟรีดมันน์[1] 22 ตุลาคม ค.ศ. 1913 บูดาเปสต์, จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี |
เสียชีวิต | 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 จังหวัดท้ายบิ่ญ, รัฐเวียดนาม | (40 ปี)
สุสาน | สุสานอมาวอล์กฮิล นิวยอร์ก |
สัญชาติ | ฮังการี, อเมริกัน (ตั้งแต่ ค.ศ. 1946) |
มีชื่อเสียงจาก | การถ่ายภาพสงคราม |
รอเบิร์ต คาปา (อังกฤษ: Robert Capa, 22 ตุลาคม ค.ศ. 1913 – 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1954) ชื่อเกิด แอ็นแดร แอร์เนอ ฟรีดมันน์ (ฮังการี: Endre Ernő Friedmann)[1] เป็นช่างภาพสงครามและช่างภาพวารสารศาสตร์ชาวฮังการี-อเมริกัน คาปาได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในช่างภาพสงครามและผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์[2]
ครั้งเป็นวัยรุ่นคาปาหลบหนีการปราบปรามทางการเมืองในฮังการีไปยังเบอร์ลินและเข้าเรียนที่นั่น หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ คาปาย้ายไปอยู่ที่ปารีสและร่วมงานกับแกร์ดา ทาโร ช่างภาพชาวเยอรมันเชื้อสายยิว คาปาปฏิบัติงานในสงคราม 5 ครั้งได้แก่ สงครามกลางเมืองสเปน สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป สงครามอาหรับ–อิสราเอล พ.ศ. 2491 และสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง และมีผลงานเผยแพร่ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายใหญ่หลายภาพ[3] คาปาเป็นช่างภาพพลเรือนเพียงคนเดียวที่ร่วมการยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮาในการยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี และบันทึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองในลอนดอน แอฟริกาเหนือ อิตาลี และการปลดปล่อยกรุงปารีส
ค.ศ. 1947 พลเอกดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์มอบเหรียญอิสรภาพให้แก่คาปาจากผลงานภาพถ่ายช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในปีเดียวกันคาปาร่วมก่อตั้งแมกนัมโฟโตส์ สหกรณ์ช่างภาพอิสระทั่วโลกแห่งแรก
ประวัติ
[แก้]รอเบิร์ต คาปามีชื่อเกิดว่าแอ็นแดร แอร์เนอ ฟรีดมันน์ เกิดในครอบครัวชาวยิวที่บูดาเปสต์ใน ค.ศ. 1913 เป็นบุตรของแดเฌอ ฟรีดมันน์กับฌูเลีย แบร์โควิตส์[2] คาปามีพี่ชายชื่อ ลาสโล ฟรีดมันน์ และน้องชายชื่อ คอร์เนล คาปา เมื่ออายุได้ 18 ปี คาปาถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่คอมมิวนิสต์จึงต้องหลบหนีจากฮังการีไปยังเบอร์ลิน[4]: 154 ที่นั่นคาปาเรียนที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินและทำงานชั่วคราวเป็นผู้ช่วยห้องมืด ก่อนจะเป็นช่างภาพให้กับ Dephot เอเจนซีภาพสัญชาติเยอรมัน ต่อมาเมื่อพรรคนาซีเรืองอำนาจ คาปาซึ่งเป็นยิวตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่ปารีสใน ค.ศ. 1934[4]: 154
ที่ปารีส คาปาพบกับแกร์ตา โพโฮริลเลอ ช่างภาพชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่มาปารีสด้วยเหตุผลเดียวกับคาปา[4]: 154 ทั้งสองทำงานร่วมกันและมีความสัมพันธ์แบบรักใคร่ โดยเริ่มแรกใช้นามแฝงร่วมกันว่ารอเบิร์ต คาปา[5] แต่ภายหลังแยกกันทำงานและแกร์ตาใช้นามแฝงว่าแกร์ดา ทาโร[6] ในค.ศ. 1936 คาปาและแกร์ดาเดินทางไปสเปนเพื่อถ่ายภาพสงครามกลางเมืองสเปน ซึ่งหนึ่งปีต่อมาแกร์ดาเสียชีวิตหลังถูกรถถังฝ่ายสาธารณรัฐชนในยุทธการที่บรูเนเต[7][8]
คาปายังรู้จักกับอ็องรี การ์ตีเย-แบรซง ช่างภาพชาวฝรั่งเศสที่บุกเบิกการถ่ายภาพแนวสตรีท ต่อมาคาปา แบรซงและช่างภาพอีกห้าคนร่วมกันก่อตั้งแมกนัมโฟโตส์ใน ค.ศ. 1947[4]: 154 [9]
การทำงาน
[แก้]ระหว่าง ค.ศ. 1936–1939 คาปาทำงานถ่ายภาพสงครามกลางเมืองสเปนกับแกร์ดา ทาโร และเดวิด ซีมัวร์ ช่างภาพชาวโปแลนด์[10] ในสงครามนี้คาปาได้ถ่ายภาพ "The Falling Soldier" ซึ่งเป็นภาพทหารฝ่ายสาธารณรัฐที่ถูกยิงเสียชีวิต ต่อมาภาพดังกล่าวถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือ และบางส่วนเชื่อว่าเป็นการจัดฉาก[11] นอกจากทาโรและซีมัวร์ คาปายังร่วมงานกับเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ซึ่งในขณะนั้นทำงานเป็นนักข่าว โดยเฮมิงเวย์ได้บรรยายถึงประสบการณ์นี้ในนวนิยาย ศึกสเปญ[12]
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง คาปาย้ายจากปารีสไปที่นครนิวยอร์กเพื่อหางานและหลบหนีพรรคนาซี ต่อมาคาปาถูกส่งไปยังหลายพื้นที่ในยุโรปและได้ถ่ายภาพสำคัญหลายภาพ เช่น "The Magnificent Eleven" ซึ่งเป็นภาพทหารสหรัฐกำลังยกพลขึ้นบกที่หาดโอมาฮาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944[13], "The Shaved Woman of Chartres" ซึ่งเป็นภาพสตรีถูกกล้อนผมและประจานหลังถูกกล่าวหาว่าให้ความร่วมมือกับศัตรูทางแนวนอนที่เมืองชาทร์เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944[14] และ "The Picture of the Last Man to Die" ซึ่งเป็นภาพทหารสหรัฐถูกสังหารโดยพลซุ่มยิงเยอรมันที่เมืองไลพ์ซิชเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1945[15]
คริสต์ทศวรรษที่ 1950 นิตยสาร ไลฟ์ มอบหมายให้คาปาถ่ายภาพในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง คาปาได้ติดตามกรมทหารฝรั่งเศสในจังหวัดท้ายบิ่ญ ประเทศเวียดนาม จนในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1954 กรมทหารฝรั่งเศสเคลื่อนผ่านเขตที่มีการปะทะ คาปาตัดสินใจลงจากรถเพื่อไปถ่ายภาพ และเสียชีวิตหลังเหยียบกับระเบิด[16][4]: 155 [17] ร่างของเขาถูกฝังที่สุสานอมาวอล์กฮิล รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Capa, Robert". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ ตุลาคม 6, 2011. สืบค้นเมื่อ กุมภาพันธ์ 18, 2009.
- ↑ 2.0 2.1 Kershaw, Alex. Blood and Champagne: The Life and Times of Robert Capa, Macmillan (2002) ISBN 978-0306813566
- ↑ Hudson, Berkley (2009). Sterling, Christopher H. (บ.ก.). Encyclopedia of Journalism. Thousand Oaks, Calif.: SAGE. pp. 1060–67. ISBN 978-0-7619-2957-4.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Davenport, Alma. The History of Photography: An Overview, Univ. of New Mexico Press (1991)
- ↑ "Gerda Taro, Robert Capa y los peligros de firmar con un seudónimo masculino". eldiario.es (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 2018-01-23.
- ↑ "Photo of Gerda Taro". zakhor-online.com. สืบค้นเมื่อ April 1, 2018.
- ↑ Steinman, Ron (October 2007). "Capa and Taro: Together at Last". The Digital Journalist.
- ↑ Aronson, Marc; Budhos, Marina (2017). Eyes of the World Robert Capa, Gerda Taro, and the Invention of Modern Photojournalism. Macmillan Publishing Group, LLC. ISBN 9780805098358.
- ↑ "Robert Capa’s Longest Day", Vanity Fair, June 2014
- ↑ "New Works by Photography’s Old Masters", New York Times, April 30, 2009
- ↑ MacSwan, Angus (November 11, 2008). "New light shed on Capa's "Falling Soldier" photo". Reuters. สืบค้นเมื่อ October 26, 2021.
- ↑ "Photo of Capa (far left) with Hemingway (far right) in Spain". wordpress.com. สืบค้นเมื่อ April 1, 2018.
- ↑ "Op-Ed: The D-day photos that must be seen". The Los Angeles Times. June 2, 2019. สืบค้นเมื่อ October 26, 2021.
- ↑ "L'Épuration | Robert Capa". December 11, 2012.
- ↑ "Bowman, Raymond J." tracesofwar.com. สืบค้นเมื่อ April 23, 2016.
- ↑ Aronson, Marc; Budhos, Marina (2017). Eyes of the World Robert Capa, Gerda Taro, and the Invention of Modern Photojournalism. Macmillan Publising Group, LLC. ISBN 9780805098358.
- ↑ Badenbroek, Michael. "Robert Capa – war photographer". army-photographer.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ พฤษภาคม 4, 2016. สืบค้นเมื่อ เมษายน 28, 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ รอเบิร์ต คาปา
- วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ รอเบิร์ต คาปา