ย่านความถี่ 10 เมตร
ย่านความถี่ 10 เมตร ย่านความถี่นี้ส่วนหนึ่งของวิทยุคลื่นสั้น (Shortwave Radio) (คำว่า 10 เมตร เป็นความยาวคลื่นโดยประมาณของความถี่ 28.000 MHz ถึง 29.700 MHz) ถูกจัดสรรให้กับนักวิทยุสมัครเล่น (สำหรับประเทศไทย อนุญาตให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง สามารถใช้งานได้) โดยมีความถี่ตั้งแต่ 28.000 MHz ถึง 29.700 MHz
การใช้ความถี่
[แก้]ย่านความถี่ 10 เมตรนี้เราสามารถพบรูปแบบการติดต่อได้หลายรูปแบบ เช่น เราจะพบการติดต่อด้วยรหัสมอร์ส หรือการติดต่อแบบใช้แถบความถี่แคบรูปแบบอื่น ๆ แถวช่วงแรกของย่านความถี่ และจะพบการติดต่อในรูปแบบ SSB ในความถี่ตั้งแต่ 28.300 MHz ขึ้นไป ส่วนระบบการติดต่อสื่อสารแบบแถบความถี่กว้าง (เช่น ระบบ FM หรือ AM) จะพบได้แถวช่วงปลายของย่านความถี่
รูปแบบการแพร่กระจายคลื่น
[แก้]ย่านความถี่ 10 เมตรนี้จะมีรูปแบบการแพร่กระจายคลื่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ในบางครั้งสามารถติดต่อทางไกลได้ดี ด้วยกำลังส่งต่ำ ๆ ก็สามารถติดต่อได้รอบโลก แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมาก ในช่วงที่เป็นจุดสูงสุดของ Solar cycle หรือช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์มีจุดดับมาก ๆ ย่านความถี่ 10 เมตรจะเต็มไปด้วยสัญญาณจากดินแดนที่ไกล ๆ ซึ่งสะท้อนบรรยากาศชั้น F2 ซึ่งเป็นชั้นย่อยของชั้นไอโอโนสเพียร์ ย่านความถี่ 10 เมตรจะเป็นความถี่ที่สามารถติดต่อทางไกลได้ดีในช่วงกลางวัน (เวลาท้องถิ่น) สำหรับช่วงที่มีการเพิ่ม Sunspot activity จะพบสภาพ "อากาศเปิด" สามารถใช้งานย่านความถี่ 10 เมตรได้ตั้งแต่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นจนถึงกลางคืนเลยทีเดียว
ในเวลากลางคืนของช่วงเวลา solar minimum ชั้น F2 ซึ่งเป็นชั้นย่อยของชั้นไอโอโนสเพียร์จะมีน้อย ย่านความถี่ 10 เมตรอาจจะติดต่อทางไกลได้โดยการแพร่กระจายคลื่นแบบ Sporadic E propagation สามารถติดต่อได้ไกลตั้งแต่ 100 ไมล์ ถึงหลาย 1,000 ไมล์ สภาพ Sporadic E ในย่านความถี่ 10 เมตรนี้จะขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในช่วงปลายของฤดูใบไม้ผลิ จนถึง ก่อนฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการแพร่กระจายคลื่นแบบนี้
ย่านความถี่ 10 เมตรเป็นรอยต่อระหว่างแถบความถี่ HF และแถบความถี่ VHF ย่านความถี่ 10 เมตร เลยมีคุณสมบัติของการแพร่กระจายคลื่นบางอย่างที่คล้ายกับแถบความถี่ VHF เช่น การติดต่อสื่อสารแบบสะท้อนฝนดาวตก(Meteor scatter), aurora, auroral E และ transequatorial propagation ทำให้สามารถติดต่อได้ถึง 2,300 กิโลเมตร หรือไกลกว่า เทคนิคการติดต่อในแถบความถี่ VHF สามารถนำมาใช้ได้ดีในย่านความถี่ 10 เมตร เช่นกัน
ข้อเท็จจริงในการใช้ความถี่สำหรับนักวิทยุสมัครเล่น
[แก้]ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น นั้น ระบุให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นสามารถใช้ความถี่ในย่าน 10 เมตรในการติดต่อสื่อสารด้วยกำลังส่งไม่เกิน 100 วัตต์ ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้น สำนักงาน กสทช. ยังมิได้มีการอนุญาตให้มี ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม หรือตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ในย่านความถี่ 10 เมตรสำหรับพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นอย่างถูกต้องแต่อย่างใด จึงทำให้นักวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นที่สนใจในการใช้ความถี่ย่าน 10 เมตร จำเป็นต้องใช้ร่วมกันกับสถานีวิทยุคมนาคมที่มีนักวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางนั้นอยู่แล้ว หรือ สามารถใช้ความถี่ 10 เมตรได้จากสถานีสโมสร (Club Station)ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการอนุญาตในลำดับต่อไป
ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการควบคุมดูแล รวมถึงให้การให้คำแนะนำ ในการใช้งานย่านความถี่ 10 เมตร เนื่องจากข้อกำหนดทางเทคนิคทำให้มีผลกระทบเป็นวงกว้างหากใช้งานอย่างไม่เหมาะสม
อ้างอิง
[แก้]- ประกาศ กสทช เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น (วันที่ 23 กรกฎาคม 2557)
- http://www.ten-ten.org/ เก็บถาวร 2010-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.chem.hawaii.edu/uham/spore.html เก็บถาวร 2010-10-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- http://www.arrl.org/propagation-of-rf-signals