มาเจสตี
มาเจสตี หรือ แมเจสตี (HM ย่อมาจาก His Majesty หรือ Her Majesty เมื่อกราบทูลจะใช้ว่า Your Majesty ; จากภาษาละติน: maiestas) เป็นคำที่ใช้กราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ ซึ่งมักจะเป็น พระมหากษัตริย์ หรือ สมเด็จพระราชินีนาถ มีศักดิ์สูงกว่า อิมพีเรียลไฮเนส และ รอยัลไฮเนส แต่ต่ำกว่า อิมพีเรียลมาเจสตี
กำเนิด
[แก้]เดิมทีในช่วง สาธารณรัฐโรมัน คำว่า ไมเอสตาซ (ละติน: maiestas) เป็นศัพท์ทางกฎหมายที่ใช้เรียกสถานะสูงสุดของรัฐที่ต้องได้รับการเคารพเหนือสิ่งอื่นใด สิ่งนี้ได้รับการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกรณีจำเพาะที่เรียกว่า แลซา ไมเอสตาซ ละติน: laesa maiestas (ในกฎหมายฝรั่งเศสและอังกฤษในเวลาต่อมา ฝรั่งเศส: lèse-majesté) ประกอบด้วยการกระทำที่ละเมิดสถานะอันสูงส่งนี้ เช่น การจัดงานเลี้ยงในวันไว้ทุกข์ การดูหมิ่นพิธีกรรมต่าง ๆ ของรัฐ และการแสดงความไม่จงรักภักดีทั้งทางวาจาและการกระทำ ล้วนถูกลงโทษในฐานะอาชญากรรมต่อความยิ่งใหญ่ของสาธารณรัฐ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาภายใต้จักรวรรดิ คำนี้กลายมาเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจักรพรรดิ
ฐานันดรศักดิ์ของประมุขแห่งรัฐ
[แก้]ศัพท์นี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยทรงเชื่อว่าเมื่อพระองค์ได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในปี ค.ศ. 1519 พระองค์ก็สมควรได้รับฐานันดรศักดิ์ที่สูงส่งกว่ากว่าคำว่า "ไฮเนส" ซึ่งจักรพรรดิและพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ เคยใช้ ต่อมาไม่นาน พระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส และ พระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ก็ทรงนำมาปรับใช้ด้วย [1]
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ คำว่า "มาเจสตี" ถูกใช้เพื่ออธิบายถึงพระมหากษัตริย์ที่มีพระอิสริยยศสูงสุดในแผ่นดิน โดยทั่วไปจะใช้หมายถึง พระเจ้า รวมทั้งมีการเติมคำเพิ่มเพื่อเพิ่มความหมายและเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น เช่น คาทอลิก มาเจสตี (สเปน) หรือ บริทันนิก มาเจสตี (สหราชอาณาจักร) ซึ่งมักใช้ในบริบททางการทูต
ผู้ที่มีฐานันดรศักดิ์นี้จะถูกกราบทูลว่า Your Majesty หรือ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หรือกล่าวถึงเป็นบุคคลที่ 3 ว่า His/Her Majesty หรือ HM (สมเด็จพระราชาธิบดี/สมเด็จพระราชินี) และใช้ในรูปพหูพจน์ว่า Their Majesties หรือ TM ส่วน จักรพรรดิและจักรพรรดินี ใช้ว่า [His/Her/Their/Your] Imperial Majesty, HIM หรือ TIM
เจ้าชายและดยุกที่เป็นประมุขแห่งราชรัฐมักใช้ คำว่า ฮิส ไฮเนส (His Highness) หรือคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกัน (เช่น ฮิส เซอรีนไฮเนส) ราชรัฐในจักรวรรดิอังกฤษ ประมุขรัฐจะเรียกว่า ไฮเนส
ในระบอบราชาธิปไตยที่ไม่ได้รับธรรมเนียมของยุโรปมา พระมหากษัตริย์อาจได้รับการทูลว่า มาเจสตี เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะทรงเป็น พระมหากษัตริย์ หรือ พระราชินี อย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม ดังที่เป็นกรณีในบางประเทศและในกลุ่มชนบางกลุ่มใน แอฟริกา และ เอเชีย
ในยุโรป พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สหราชอาณาจักร สเปน เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียมใช้ธรรมเนียมนี้ ในทางตรงกันข้าม ประมุขแห่งรัฐของลีชเทินชไตน์และโมนาโกซึ่งเป็นอาณาจักรใช้ฐานันดรศักดิ์ที่ต่ำกว่าคือ “เซอรีนไฮเนส” (Serene Highness) ส่วนในลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นแกรนด์ดัชชี ยกย่องประมุขของรัฐให้มีฐานันดรศักดิ์ที่ "รอยัลไฮเนส" เช่นเดียวกับสมาชิกในพระราชวงศ์แกรนด์ดัชชี เนื่องจากทรงสืบเชื้อสายมาจากเจ้าชายเฟลิกซ์แห่งบูร์บง-ปาร์มา ส่วนในสันตะสำนัก พระสันตปาปาทรงใช้ฐานันดรศักดิ์ทางศาสนาที่เรียกว่า “โฮลิเนส” ขณะที่ทรงเป็น ประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน นอกจากนี้ แม้ว่าอันดอร์ราจะมีระบบการปกครองแบบราชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ แต่เจ้าผู้ร่วมครองอันดอร์รา ได้แก่ บิชอปแห่งอูร์เฌ็ลย์ (ได้รับการสถาปนาโดยพระสันตปาปา) และประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส กลับใช้ฐานันดรศักดิ์ที่ “เอ็กเซลเล็นซี” แบบสาธารณรัฐและไม่ถือเป็นราชวงศ์ อนึ่งอันดอร์ราเป็นรัฐราชาธิปไตยที่ไม่สืบทอดอำนาจ โดยมีการเลือกตั้งและสถาปนาเพียงแห่งเดียวในยุโรป
สหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ
[แก้]ในสหราชอาณาจักร มีการใช้คำว่า มาเจสตี ในรูปแบบต่าง ๆ กันหลายแบบ ทั้งเพื่อจำแนกพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรออกจากกษัตริย์และราชินีประเทศอื่น ๆ หรือเพื่อใช้เป็นการถวายพระเกียรติยศในกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในเอกสารราชการหรือในพิธีทางการ ตามที่ โรเบิร์ต เลซีย์ กล่าวไว้ในหนังสือของเขาเรื่อง Great Tales from English history พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ถือเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่มีฐานันดรศักดิ์ ไฮเนส หรือ มาเจสตี และเขายังพบข้อสังเกตอีกว่า “กษัตริย์อังกฤษในอดีตทรงพอพระทัยที่จะได้รับการเรียกว่า ท่านลอร์ด ” [2]
คำว่า โมสต์ เกรเชียส มาเจสตี (Most Gracious Majesty) จะใช้เฉพาะในวโรกาสที่เป็นทางการที่สุดเท่านั้น ประมาณปี ค.ศ. 1519 พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงมีพระราชปรารภว่า มาเจสตี ควรเป็นพระราชฐานันดรศักดิ์ของพระมหากษัตริย์อังกฤษ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการใช้แค่คำว่า "มาเจสตี " เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังใช้ร่วมกับคำว่า "ไฮเนส " และ "เกรซ" อีกด้วย แม้แต่ในเอกสารราชการ ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาทางกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงประกาศ มีการใช้คำทั้งสาม โดยมาตรา 15 เริ่มต้นด้วย "The Kinges Highness hath orders" (สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้สูงส่งทรงมีพระราชบัญชา) มาตรา 16 เริ่มต้นด้วย "The Kinges Majestie" (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) และมาตรา 17 เริ่มต้นด้วย "The Kinges Grace" (ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณ)
พระมหากษัตริย์สกอตแลนด์ก่อนการรวมราชบัลลังก์ได้รับการเรียกเพียงว่า "Your Grace" มีความหมายว่า นายท่าน เท่านั้น ในรัชสมัยของ พระเจ้าเจมส์ที่ 6 และที่ 1 คำว่า มาเจสตี กลายมาเป็นพระราชฐานันดรศักดิ์อย่างเป็นทางการ โดยใช้คำว่า His (Her) Most Gracious Majesty ซึ่งเป็นการรวมเอาทั้ง Grace ตามธรรมเนียมสกอตและ Majesty ตามธรรมเนียมอังกฤษเข้าไว้ด้วยกัน
บริทันนิก มาเจสตี (Britannic Majesty) เป็นฐานันดรศักดิ์ที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรในด้านการทูต กฎหมายระหว่างประเทศ และการเจริญสัมพันธไมตรี ตัวอย่างเช่น ปาเลสไตน์ในอาณัติของสันนิบาตชาติ ฮิส บริทันนิก มาเจสตี ทรงเป็น ผู้ได้รับมอบอาณัติในการปกครองปาเลสไตน์ คำว่า บริทันนิก มาเจสตี ถูกใช้ในหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักรทุกเล่ม โดยมีประโยคดังต่อไปนี้:
His Britannic Majesty's Secretary of State Requests and requires in the Name of His Majesty all those whom it may concern to allow the bearer to pass freely without let or hindrance, and to afford the bearer such assistance and protection as may be necessary.
รัฐมนตรีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่แห่งบริเตน ร้องขอให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางนี้ผ่านไปได้โดยไม่ต้องขัดขวาง และให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางนี้ตามสมควร
คำว่าโมสต์ เอ็กเซ็ลเลนท์ มาเจสตี (Most Excellent Majesty) จะใช้ใน พระราชบัญญัติ โดยที่ใช้วลีว่า The King's (หรือ Queen's) Most Excellent Majesty ดังตัวอย่าง:
BE IT ENACTED by the King's [Queen's] most Excellent Majesty, by and with the advice and consent of the Lords Spiritual and Temporal, and Commons, in this present Parliament assembled, and by the authority of the same, as follows:
พระมหากษัตริย์ [สมเด็จพระราชินีนาถ] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกพระราชบัญญัติ ตามคำกราบบังคมทูลและความยินยอมของสภาขุนนางฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรและสภาสามัญชนที่ประชุมร่วมกันในรัฐสภา โดยอาศัยอำนาจของรัฐสภาดังกล่าว มีใจความดังต่อไปนี้
พระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิที่จะได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระราชินี ฐานันดรศักดิ์ที่ เฮอร์ มาเจสตี (เช่น สมเด็จพระราชินีคามิลลา) แต่พระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถจะไม่ได้รับสิทธิ์นี้ ดังเช่นในกรณีของ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงมีฐานันดรศักดิ์ที่ รอยัลไฮเนส
ไทย
[แก้]ในประเทศไทย พระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์คือ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า พระเจ้าอยู่หัว มีที่มาจากคติเทวราชา ซึ่งเชื่อกันว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นอวตารของพระวิษณุ อันเป็นเทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู
ในสมัยโบราณชนชาติไทยเรียกขานกษัตริย์ของตนว่า พ่อขุน อันหมายถึง พ่อ เช่นในสมัยอาณาจักรสุโขทัยหรือแคว้นพะเยา พระมหากษัตริย์ในเวลานั้นถูกเรียกว่า พ่ออยู่หัว, พ่อหยัว (กร่อนมาจาก พ่ออยู่หัว) หรือ พ่ออยู่หัวเจ้า[3] ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดปิตาธิปไตย โดยถือว่ากษัตริย์เปรียบดั่งพ่อและไพร่ฟ้าเป็นบุตรใต้ปกครอง[4]
ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยา สังคมได้ขยายตัวใหญ่ขึ้น พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์จึงเปลี่ยนจาก พ่ออยู่หัว เป็น พระเจ้าอยู่หัว [5] อันแสดงถึงฐานะแห่งพระเป็นเจ้า พระองค์ทรงรับเอาคติเทวราชาจากอาณาจักรเขมรมาใช้ โดยนำคำว่า พระบาท จากพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์เขมร เหตุที่เอ่ยถึงพระมหากษัตริย์ว่า พระบาท เนื่องจากมีคติถือกันว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้สูงส่ง มิบังควรหากจะอ้างถึงพระนามหรือเรียกขานทั้งพระวรกายโดยตรง จึงจำเป็นต้องเรียกว่า พระบาท อันเป็นอวัยวะเบื้องล่างของพระมหากษัตริย์แทน ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความนอบน้อม โดยหลักฐานการใช้คำว่า พระบาท สำหรับการเรียกพระมหากษัตริย์ ปรากฏหลักฐานการใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังจะเห็นได้จากจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาเขมร ค.ศ. 1361 ก็เรียกพระนามพ่อขุนรามคำแหงว่า พฺระบาทกมฺรเดงอญ ศฺรีรามราช นอกจากนี้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ยังทรงรับคำว่า สมเด็จ อันหมายถึงผู้เป็นใหญ่ซึ่งมาจากภาษาเขมร ทำให้พระนามของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ปรากฏหลักฐานการเรียกตามบทพระอัยการต่างๆ [4]ว่า พระบาทสมเดจ์พระเจ้ารามาธิบดีศรีสินธรบรมจักรพรรดิศีบวรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า อันเป็นบรรทัดฐานในการเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลถัดๆ มา[6]
พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไทยยังถูกทำให้ศักดิสิทธิ์ยิ่งขึ้นผ่านการบ่งบอกพระราชสถานะแสดงถึงความเป็นเทพ เช่น รามาธิบดี ความหมาย คือ พระรามผู้เป็นใหญ่, นเรศวร หมายถึงพระเจ้าในร่างมนุษย์ หรือ ราเมศวร อันเป็นคำสมาสแบบสนธิของคำว่า ราม และ อิศวร [7]
นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานการใช้ที่คล้ายๆ กัน เช่น สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึง พุทธสภาวะของพระมหากษัตริย์ผู้เปรียบดั่งพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต หรือ สมเด็จบรมบพิตร อันเป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 ที่พระภิกษุใช้เรียกพระมหากษัตริย์ และ มหาบพิตร อันเป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 ที่พระภิกษุใช้เรียกพระมหากษัตริย์
ญี่ปุ่น
[แก้]ในประเทศญี่ปุ่น การใช้คำว่า เฮกะ (ญี่ปุ่น: 陛下; โรมาจิ: Heika) กล่าวถึง จักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น จักรพรรดินี สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้รับการกำหนดไว้ในกฎหมายราชวงศ์ตั้งแต่ ค.ศ. 1947 [8]
ในปี 757 คำนี้มีการใช้เป็นครั้งแรกใน โยโร ริตสึเรียว (ญี่ปุ่น: 養老律令) เพื่อใช้เฉพาะเมื่อกราบทูลกับจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน (ญี่ปุ่น: 今上天皇)
ในกฎหมายราชวงศ์ในอดีต (ค.ศ. 1889) มีการอนุโลมให้ใช้คำศัพท์นี้ได้กับจักรพรรดินี สมเด็จพระอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีด้วย [9]
บรูไน
[แก้]ในบรูไน พระบรมราชอิสริยยศภาษามลายูสำหรับสุลต่านแห่งบรูไนอย่างเป็นทางการ คือ Kebawah Duli Yang Maha Mulia Paduka Seri Baginda (KDYMMPSB) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า Kebawah Duli แปลว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงชัยทรงสถิตใต้ฝ่าละอองธุลีของพระผู้ทรงสูงส่ง”
พระบรมราชอิสริยยศได้สะท้อนถึง Zilullah-fil-Alam ("เงาของพระเจ้าบนโลก") ซึ่งหมายถึงสุลต่านทรงที่มีพระราชอำนาจเพียงส่วนน้อยของอำนาจอันมหาศาลของพระเจ้า คำว่า ปาดูกา (paduka) แปลว่า "ชัยชนะ" ในภาษามลายูโบราณ ในขณะที่ เซอรี (seri) เป็นคำยกย่องจากภาษาสันสกฤต ส่วนคำว่า บากินดา เป็นคำนามบุคคลที่สามที่ใช้เรียกราชวงศ์และศาสดา
จีนโบราณ
[แก้]ในประวัติศาสตร์จีนยุคหลังราชวงศ์ฮั่น มีการใช้คำว่า ปี้เซี่ย (陛下) กราบบังคมทูลจักรพรรดิจีน (皇帝)
ซาอุดิอาระเบีย
[แก้]ในปีค.ศ. 1986 สมเด็จพระราชาธิบดีฟะฮัด ทรงยกเลิกการใช้คำว่า Majesty ( อาหรับ: صَاحِب الْجَلَالَة, อักษรโรมัน: Ṣāḥib al-Jalāla, แปลตรงตัว 'ผู้ทรงประเสริฐ' ) ซึ่งอิงมาจากพระอิสริยยศ ผู้อารักขาแห่งมัสยิดศักดิ์สิทธิ์ทั้งสอง ซึ่งเป็นพระอิสริยยศที่ผู้ปกครองศาสนาอิสลามนำมาใช้ [10] อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย ยังคงถูกเรียกว่า "Your Majesty" ในการกราบบังคมทูล
มาเลเซีย
[แก้]ในสมาพันธรัฐมาเลเซีย พระบรมราชอิสริยยศของยังดีเปอร์ตวนอากง และพระราชอิสริยยศของราจาเปอร์ไมซูรีอากง คือ Kebawah Duli Yang Maha Mulia Seri Paduka Baginda หรืออย่างย่อว่า Seri Paduka Baginda สุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ และพระมเหสีทรงใช้พระราชอิสริยยศ Duli Yang Maha Mulia (DYMM) ซึ่งมีศักดิ์เสมอด้วย His/Her Majesty ตั้งแต่ ค.ศ. 2017 ก่อนหน้านั้น มีการใช้ฐานันดรศักดิ์ในภาษาอังกฤษที่ His/Her Royal Highness โดยรัฐอื่น ๆ จะมีลักษณะคล้ายกัน [11]
พม่า
[แก้]ในประเทศพม่า พระบรมราชอิสริยยศอย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์แห่งพม่า คือ โภน ตาว จี หลา ทอ เมียนมาร์ มิน มยัต พยา ( พม่า: ဘုန်းတော်ကြီးလှသောမြန်မာမင်းမြတ်ဘုရား ) ย่อเป็น โภนตอจีพยา ( พม่า: ဘုန်းတော်ကြီးဘုရား) หรือ อาชิน พยา ( พม่า: အရှင်ဘုရား ). [12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Royal Styles and the uses of "Highness"
- ↑ Great Tales from English History, Robert Lacey.
- ↑ ไม่ควรสับสนกับ "พ่อเจ้าอยู่หัว" ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในยุคหลัง
- ↑ 4.0 4.1 กรมศิลปากร. (2547) [Fine Arts Department (2004)]. Sukhothai Inscription No. 1. Ram Khamhaeng Inscription. Bangkok: National Library of Thailand. Retrieved 9 January 2024
- ↑ ชุติพงศ์พิสิฏฐ์, อภิชา. "เทวสิทธิ์-เทวราชา: แนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์". คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- ↑ การเรียกพระนาม “พระเจ้าแผ่นดิน” จากคำวินิจฉัยของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ศิลปวัฒนธรรม. 29 ตุลาคม 2564.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ และนวรัตน์ ภักดีคำ. (2561). ประวัติศาสตร์อยุธยาจากจารึก: จารึกสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์ฯ.
- ↑ "The Imperial House Law (Chapter 4. Majority; Honorific Titles; Ceremony of Accession; Imperial Funeral; Record of Imperial Lineage; and Imperial Mausoleums)". Imperial Household Agency. 3 May 1947. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 February 2023. สืบค้นเมื่อ 23 February 2023.
- ↑ "皇室典範・御署名原本" [The Imperial House Law (1889 Original)]. National Archives of Japan (ภาษาญี่ปุ่น). 11 February 1889. สืบค้นเมื่อ 23 February 2023.
- ↑ "Fahad played pivotal role in development". Daily Gulf News. 2 August 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 October 2013. สืบค้นเมื่อ 2 February 2013.
- ↑ "Johor Sultan decrees he is to be addressed as 'His Majesty' in English". The Star Online. 5 September 2017. สืบค้นเมื่อ 27 May 2018.
- ↑ Scott, J. George (1900). Gazetteer of Upper Burma and the Shan States. Vol. 2. Rangoon: Superintendent, Government Printing, Burma.