ข้ามไปเนื้อหา

ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี
ศิลปินยัน ฟัน ไอก์
ปีค.ศ. 1434
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนไม้โอ๊ก
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน

ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี (อังกฤษ: Arnolfini Portrait), การแต่งงานของอาร์นอลฟีนี (อังกฤษ: The Arnolfini Wedding) หรือ ภาพเหมือนของโจวันนี อาร์นอลฟีนี และภรรยา (ดัตช์: Portret van Giovanni Arnolfini en zijn vrouw; อังกฤษ: Portrait of Giovanni Arnolfini and his Wife) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันบนไม้โอ๊กที่เขียนโดยยัน ฟัน ไอก์ จิตรกรเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ยัน ฟัน ไอก์เขียนภาพ "ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" ในปี ค.ศ. 1434 เป็นภาพที่เชื่อกันว่าเป็นภาพเหมือนของโจวันนี อาร์นอลฟีนี (Giovanni Arnolfini) พ่อค้าจากเมืองลุกกาในอิตาลีและภรรยาในห้องที่อาจจะเป็นที่บ้านที่พำนักอยู่ในเมืองบรูชในฟลานเดอส์ เป็นภาพที่ถือกันว่าเป็นภาพที่มีความเป็นต้นตอและความซับซ้อนมากที่สุดภาพหนึ่งของจิตรกรรมตะวันตก ฟัน ไอก์ลงชื่อและวันที่ว่าวาดในปี ค.ศ. 1434 ต่อมาหอศิลป์แห่งชาติแห่งลอนดอนซื้อภาพเขียนนี้ในปี ค.ศ. 1842

"ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" เป็นภาพเขียนแบบลวงตาที่น่าประทับใจสำหรับช่วงเวลาที่เขียนที่เห็นได้จากรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพโดยเฉพาะการใช้แสง และในการสร้างช่องว่างภายในของภาพ และเป็นภาพที่ทำให้ผู้ดูสามารถเชื่อได้จริง ๆ ว่าเป็นภาพของห้องและผู้ที่อยู่ในห้อง[1]

จากการศึกษาภาพนี้อย่างละเอียด ศิลปินเดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) และนักฟิสิกส์ชาลส์ เอ็ม. แฟลโก (Charles M. Falco) ก็ตั้งสมมุติฐานว่าฟัน ไอก์ ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่ากล้องทาบเงาในการช่วยเขียนภาพ อย่างน้อยก็ในบางส่วนของภาพ ข้อสันนิษฐานนี้เป็นที่รู้จักกันว่า วิทยานิพนธ์ฮอกนีย์-แฟลโก (Hockney–Falco thesis)

บุคคลในภาพ

[แก้]

ภาพนี้เป็นภาพที่เชื่อกันอยู่เป็นเวลานานว่าเป็นภาพเหมือนของโจวันนี อาร์นอลฟีนี และโจวันนา เชนามี (ภรรยา) ภายในห้องแบบเฟลมิช แต่ในปี ค.ศ. 1997 ก็เป็นที่ทราบว่าอาร์นอลฟีนีและเชนามียังไม่แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1447 ซึ่งเป็นเวลาสิบสามปีหลังจากปีที่ระบุว่าเป็นปีที่เขียนภาพและหกปีหลังจากที่ฟัน ไอก์ เสียชีวิตไปแล้ว ในปัจจุบันจึงเชื่อกันว่าเป็นภาพเขียนของลูกพี่ลูกน้องของโจวันนี ดี อาร์รีโก ที่ชื่อโจวันนี ดี นีโกลาโอ อาร์นอลฟีนี และภรรยา ที่อาจจะเป็นภรรยาคนที่สองที่ไม่มีเอกสารระบุ หรือตามทฤษฎีที่เสนอเมื่อไม่นานมานี้ว่าเป็นภรรยาคนแรกที่ชื่อคอสสแตนซา เทรนทาผู้ที่เสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1433[2] ตามทฤษฎีนี้ก็ทำให้ภาพนี้กลายเป็นภาพอนุสรณ์แสดงให้เห็นภาพของผู้ที่ยังมีชีวิตคนหนึ่งและผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วอีกคนหนึ่ง โจวันนี ดี นีโกลาโอ อาร์นอลฟีนีเป็นพ่อค้าชาวอิตาลีที่เดิมมาจากเมืองลุกกาผู้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองบรูชอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1419[3] อาร์นอลฟีนีเป็นแบบสำหรับภาพเหมือนอีกภาพหนึ่งที่เขียนโดยฟัน ไอก์ที่ปัจจุบันอยู่ที่เบอร์ลิน ที่ทำให้สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นเพื่อนกับจิตรกร[4]

ภาพ

[แก้]
รายละเอียดการตกแต่งที่ปลายแขนของเสื้อ

ภาพเขียนนี้[5]โดยทั่วไปแล้วอยู่ในสภาพที่ดี แม้ว่าสีเดิมจะหายไปบ้างและได้รับความเสียหายบ้างแต่ก็ไม่มากนัก และก็ได้รับการซ่อมแซมแล้ว เมื่อใช้เครื่อง reflectogram อินฟรา-เรดตรวจสอบก็พบว่ารายละเอียดของภาพหลายแห่งได้รับการแก้ไขที่รวมทั้งใบหน้าของตัวแบบทั้งสองคน กระจก และสิ่งอื่น ๆ

อาร์นอลฟีนีและภรรยายืนอยู่ในห้องชั้นบนในฤดูร้อนที่ทราบได้จากต้นเชอร์รีที่ออกผลอยู่นอกหน้าต่าง ห้องที่เห็นไม่ใช่ห้องนอนเช่นที่มักจะเข้าใจกันแต่เป็นห้องรับรอง เพราะในฝรั่งเศสและเบอร์กันดีนิยมการมีเตียงตั้งอยู่ในห้องรับรอง ที่ตามปกติแล้วก็ใช้เป็นที่นั่งนอกจากในกรณีที่เป็นแม่ลูกอ่อนที่รับแขก หน้าต่างทางด้านซ้ายของภาพมีบานไม้หกบาน แต่ตอนบนเท่านั้นที่เป็นกระจกแบบตาวัวที่ประดับด้วยกระจกสีสีน้ำเงิน แดง และเขียว

ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงถึงความมั่งคั่งของผู้เป็นแบบ ที่จะเห็นได้จากแต่งตัวอย่างหรูหราที่เป็นเสื้อผ้าสำหรับหน้าหนาวที่มีเสื้อคลุมทับแม้ว่าภายนอกจะเป็นหน้าร้อน ชายเสื้อโค้ทสั้นของสามีและเสื้อของภรรยาตกแต่งด้วยขนสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นขนสัตว์ที่มีราคาเช่นขนเซเบิล (sable) สำหรับชาย และเออร์มินสำหรับสตรี แต่อาร์นอลฟีนีใส่หมวกย้อมสีดำซึ่งเป็นหมวกที่ใช้สวมกันในหน้าร้อนในขณะนั้น เสื้อโค้ทสั้นอาจจะเป็นสีม่วงกว่าที่เห็นในปัจจุบันเพราะสีที่จางไป เนื้อผ้าที่ใช้ทำอาจจะเป็นกำมะหยี่ไหมซึ่งเป็นของที่มีราคาสูงอีกเช่นกัน เสื้อชั้นในเสื้อโค้ทเป็นเสื้อที่มีลายทอที่อาจจะเป็นดามาสค์ไหม เสื้อของภรรยามีกรุยจีบตกแต่งแขนเสื้ออย่างละเอียดเป็นชายยาวที่เรียกว่า dagging เช่นที่เห็นในภาพ เสื้อชั้นในก็มีชายที่แต่งด้วยขนสัตว์

ชาร์ลพระเศียรล้านไปเยี่ยมจิตรกร
ดาวีด โอแบร์ (David Aubert) โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า จุลจิตรกรรมที่แฝงความหมายหลายอย่างที่อาจจะเป็นนัยยะถึงอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้ไปเยี่ยมศิลปินโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ผนังในฉากหลังดูเหมือนจะเป็นนัยยะถึง "ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" ที่เขียนสี่สิบปีก่อนหน้านั้น ที่มีองค์ประกอบต่างเช่นที่ปรากฏในภาพเหมือน โดยเฉพาะคำจารึกบนผนัง เขียนก่อน ค.ศ. 1472

แม้ว่าเครื่องแต่งกายของทั้งสองคนเป็นเครื่องแต่งกายที่มีราคาสูงมาก แต่การใช้เครื่องประดับร่างกายนอกไปจากเสื้อก็เป็นไปอย่างจำกัดโดยเฉพาะในกรณีของฝ่ายชาย ภรรยาก็ใส่แต่เพียงสร้อยและแหวนทองเรียบ ๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเป็นการแต่งตัวให้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นพ่อค้า เพราะภาพเหมือนของผู้มีตระกูลหรือเจ้านายในสมัยนั้นมักจะมีเครื่องตกแต่งที่เป็นทองและเสื้อผ้าที่มีค่ามากกว่าที่เห็นในภาพนี้

สิ่งอื่นในห้องที่แสดงฐานะก็ได้แก่โคมทองเหลืองขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างหรูหราตามมาตรฐานร่วมสมัยและเป็นของมีค่า ที่อาจจะมีกลไกสำหรับดึงขึ้นลงที่ใช้ในการจุดหรือดับเทียน ที่ฟัน ไอก์ไม่ได้เขียนรายละเอียดเพราะไม่มีเนื้อที่ในภาพ กระจกโค้งนูนกลมในฉากหลังมีกรอบที่ทำด้วยไม้ที่มีภาพเขียนในชุดทุกขกิริยาของพระเยซูในช่องกลมเล็ก ๆ ล้อมรอบกรอบ กระจกนูนในภาพมีขนาดใหญ่กว่าที่สามารถทำได้ในขณะนั้น สิ่งที่ขาดไปอีกอย่างหนึ่งคือเตาผิง อีกอย่างที่แสดงฐานะอีกอย่างหนึ่งคือส้มที่อยู่บนขอบหน้าต่างและบนหีบทางซ้ายของภาพ ส้มเป็นผลไม้ที่หายากและมีราคาแพงในเบอร์กันดี และอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นธุรกิจของอาร์นอลฟีนีก็เป็นได้

อีกสิ่งหนี่งที่แสดงความมั่งคั่งคือเครื่องตกแต่งเตียงที่มีเพดานเหนือเตียง ที่ติดตั้งด้วยราวเหล็กจากเพดาน และรายละเอียดของเก้าอี้ หัวเตียง และม้านั่งที่แกะสลักติดกับผนังในฉากหลัง บนพื้นข้างเตียงปูด้วยพรมออเรียนทัล ผู้เป็นเจ้าของพรมชนิดนี้มักจะใช้ปูโต๊ะซึ่งก็ยังทำกันอยู่ในเนเธอร์แลนด์

ภาพสะท้อนในกระจกในฉากหลังเป็นรูปชายสองคนด้านในของประตูห้องที่ทั้งสองคนยืนอยู่ ชายที่ยืนอยู่ด้านหน้าใส่เสื้อที่น้ำเงินที่อาจจะเป็นฟัน ไอก์แ ต่ไม่ได้ทำท่าเขียนภาพเหมือนกับภาพ "ลัสเมนินัส" (Las Meninas) ของเดียโก เบลัซเกซ สุนัขในภาพเป็นพันธุ์ที่เพิ่งเริ่มผสมที่ปัจจุบันเรียกว่าบรัสเซลส์ กริฟฟอน

ฟัน ไอก์ลงชื่อและวันที่บนผนังเหนือกระจกว่า "Johannes de eyck fuit hic. 1434" ("ยาน เดอ ไอก์อยู่ที่นี่ ค.ศ. 1434") คำจารึกดูเหมือนกับเขียนบนกำแพงด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ และเขียนอย่างลักษณะการเขียนสุภาษิตหรือวลีบนผนังเช่นที่ทำกันในยุคนั้น ลายเซ็นอื่นของฟัน ไอก์ ที่เขียนแบบลวงตาเหมือนจริง (trompe l'oeil) บนกรอบไม้ที่ทำให้เหมือนกับแกะสลักลงไปบนเนื้อไม้[3]

ข้อโต้แย้งของนักวิชาการ

[แก้]
ลายเซ็น "Johannes de eyck fuit hic. 1434" บนผนัง

ในปี ค.ศ. 1934 เออร์วิน พานอฟสกี (Erwin Panofsky) พิมพ์บทความชื่อ ""การแต่งงานของอาร์นอลฟีนี" โดย ยัน ฟัน ไอก์" ใน "นิตยสารเบอร์ลิงตัน" กล่าวว่าลายเซ็นอันใหญ่โตของฟัน ไอก์บนผนังของด้านหลังและสิ่งอื่นในภาพก็เพื่อเป็นบ่งว่าเป็นเอกสารทางกฎหมายที่เป็นการบันทึกการสมรส[6]

ตั้งแต่นั้นมาก็มีการโต้แย้งกันในหัวข้อนี้ นักประวัติศาสตร์ศิลปะเอ็ดวิน ฮอลล์กล่าวว่าเป็นภาพที่แสดงการหมั้นหมายไม่ใช่การแต่งงาน ส่วนมาร์กาเรต ดี. แคร์รอลล์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะอีกคนหนึ่งโต้ว่าเป็นภาพเขียนที่แสดงการตกลงทางธุรกิจระหว่างสามีและภรรยาในบทความชื่อ "ในนามของพระเจ้าและผลประโยชน์: "ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" โดยยัน ฟัน ไอก์" ที่เขียนในปี ค.ศ. 1993

ลอร์น แคมป์เบลล์ในแค็ตตาล็อกของหอศิลป์แห่งชาติไม่เห็นความจำเป็นในการแสวงหาความหมายที่มีเงื่อนงำของภาพเขียนนี้นอกไปจากการเป็นภาพเหมือนของคนสองคน ที่อาจจะเป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อฉลองการแต่งงานแต่ไม่ใช่เพื่อเป็นบันทึกทางกฎหมาย แคมป์เบลล์อ้างตัวอย่างของจุลจิตรกรรมจากหนังสือต้นฉบับที่แสดงภาพการเขียนอักษรบนผนังแบบตกแต่งที่นิยมทำกันในสมัยนั้น ภาพเขียนอีกภาพหนึ่งของฟัน ไอก์ของหอศิลป์แห่งชาติที่เรียกกันว่า "Leal Souvenir" มีลายเซ็นที่มีลักษณะเป็นลายเซ็นสำหรับเอกสารที่เกี่ยวกับกฎหมาย[3]

ข้อคิดเห็นใหม่ของมาร์กาเรต คอสเตอร์กล่าวว่าเป็นภาพเขียนแบบอนุสรณ์ของภรรยาผู้เสียชีวิตไปราวปีหนึ่งก่อนหน้านั้นซึ่งลบล้างทฤษฎีต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

นักประวัติศาสตร์ศิลปะมักซีมีลียาน มาร์เตินส์เสนอว่าเป็นภาพเขียนที่ตั้งใจจะให้เป็นของขวัญต่อตระกูลอาร์นอลฟีนีในอิตาลี ที่แสดงความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งของคู่บ่าวสาวในภาพ[ต้องการอ้างอิง] มาร์เตินส์มีความรู้สึกว่าเป็นเหตุผลที่อาจจะอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกในภาพ เช่นการที่อาร์นอลฟีนีและภรรยาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เป็นเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวขณะที่เป็นหน้าร้อนที่มีต้นเชอร์รีออกผลอยู่นอกหน้าต่าง และสาเหตุที่ฟัน ไอก์ลงชื่อตัวใหญ่โตกลางภาพเขียนว่า "ยาน เดอ ไอก์อยู่ที่นี่ ค.ศ. 1434"

การตีความหมายและสัญลักษณ์

[แก้]
พานอฟสกีและคอสเตอร์มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับเทียนเล่มเดียวที่จุดอยู่ (ดูเล่มที่ดับไปแล้วด้านตรงข้ามทางขวา)
รายละเอียดของกระจกโค้งนูนทรงกลมที่มีภาพเขียนชุดทุกขกิริยาของพระเยซูล้อมรอบ
ส้มบนขอบหน้าต่างและบนหีบใต้หน้าต่าง

การวางท่าของบุคคลสองคนในภาพเป็นลักษณะการวางภาพตามที่ใช้กันในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่แสดงการสมรสและบทบาทของเพศ – สตรียืนใกล้เตียงและลึกเข้าไปในห้องทางด้านขวาของภาพเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทในฐานะผู้ดูแลบ้าน ขณะที่โจวันนียืนอยู่ริมหน้าต่างที่เปิดที่เป็นสัญลักษณ์ของหน้าที่ที่มีในโลกภายนอก โจวันนีมองตรงมายังผู้ชมภาพโดยยกมือขวาขึ้นมาเป็นการแสดงว่าเป็นผู้มีอำนาจขณะที่มือของภรรยาอยู่ต่ำกว่าและแสดงความอ่อนน้อมกว่า

  • แม้ว่าผู้ชมในปัจจุบันจะสรุปว่าภรรยากำลังตั้งครรภ์แต่ไม่เชื่อกันว่าจะเป็นเช่นนั้น นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนชี้ให้เห็นว่ามีภาพนักบุญสตรีหลายภาพที่แต่งกายในลักษณะเดียวกันและเชื่อว่าการแต่งกายลักษณะนี้เป็นความนิยมกันในสมัยนั้น[7]
  • ต้นเชอร์รีที่ออกผลอยู่นอกหน้าต่างอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ส้มที่ตั้งอยู่บนขอบหน้าต่างและหีบใต้หน้าต่างอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และไร้เดียงสาในสวนอีเด็นก่อนการถูกขับจากสวรรค์[8] การใช้ส้มเป็นสัญลักษณ์ในทางปรัชญาเช่นนี้ไม่ใช้กันนักในเนเธอร์แลนด์และถ้าใช้ก็เป็นการแสดงความมั่งคั่ง แต่ในอิตาลีส้มเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการมีบุตรธิดาของคู่สมรส[9]
  • รองเท้าแตะไม้ (patten) ที่วางอยู่ทางล่างซ้ายของภาพอาจจะเป็นการแสดงความเคารพพิธีสมรสและเป็นการชี้ให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ตามปกติแล้วเป็นรองเท้าที่ใช้สวมนอกบ้าน ตามธรรมเนียมแล้วสามีมักจะให้รองเท้าแตะไม้เป็นของขวัญต่อภรรยา[8] หรืออาจจะเป็นการแสดงความสงบสุขของความเป็นอยู่ภายในบ้าน
  • สุนัขเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี[8] หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความไคร่ ที่ชี้ให้เห็นถึงความต้องการที่จะมีบุตรธิดาของคู่สามีภรรยา[10]
  • เสื้อสีเขียวของภรรยาเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ซึ่งอาจจะเป็นความหวังในการเป็นแม่ ผ้าคลุมผมสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์
  • ด้านหลังคู่สามีภรรยาม่านแห่งการแต่งงานก็ถูกเบิก ม่านสีแดงอาจจะเป็นนัยยะถึงการสมสู่ของคู่สามีภรรยา
  • เทียนเล่มเดียวทางด้านซ้ายบนโคมทองเหลืองเจ็ดก้านอาจจะเป็นเทียนที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในประเพณีการแต่งงานเฟลมิช[8] เทียนจุดทั้งที่ยังเป็นเวลากลางวันเหมือนกับเทียนภายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัด เทียนอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตอยู่ในที่นั้นหรือแสงสว่างอันเป็นนิรันดรของพระเจ้า แต่อีกทฤษฎีหนึ่งของมาร์กาเรต คอสเตอร์ในหัวข้อเดียวกันนี้ที่เสนอว่าเป็นภาพอนุสรณ์ การมีเทียนเพียงเล่มเดียวที่จุดอยู่ทางด้านที่โจวันนียืนอยู่ ตรงกันข้ามกับอีกเล่มหนึ่งที่ดับทางด้านภรรยา ซึ่งเป็นอุปมาที่นิยมใช้กันในงานวรรณกรรมว่าฝ่ายหนึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังจากที่อีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว
  • เหนือหัวเสาของเตียงมีรูปสลักของนักบุญมาร์กาเรตผู้เป็นนักบุญผู้พิทักษ์ของสตรีผู้มีครรภ์และการให้กำเนิดทารก[8] นักบุญมาร์กาเรตเป็นนักบุญผู้ให้ความช่วยเหลือเมื่อสตรีเจ็บท้องและช่วยกำจัดความเป็นหมัน ใต้หัวเสาที่เป็นนักบุญมาร์กาเรตก็มีแปรงแขวนอยู่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการดูแลบ้านเรือน นอกจากนั้นแล้วแปรงและลูกประคำที่มักจะเป็นของขวัญแต่งงานที่นิยมให้กันก็ตั้งอยู่สองข้างของกระจกที่อาจจะเป็นนัยยะความหมายควบของปรัชญาที่ว่า "ora et labora" หรือ "สวดมนต์ไปทำงานไป"
  • วงกลมเล็ก ๆ รอบกรอบกระจกนูน (convex mirror) บนผนังในฉากหลังของภาพวาดจากฉากของทุกขกิริยาของพระเยซู และอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของคำสัญญาของพระเจ้าที่จะทรงไถ่บาปให้แก่ผู้ที่ปรากฏอยู่ในกระจก นอกจากนั้นถ้าตีความหมายว่าเป็นภาพอนุสรณ์แล้วภาพทุกขกิริยาทางด้านภรรยาก็เป็นภาพการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูและการคืนชีพของพระองค์ ภาพทางสามีเป็นภาพที่เกี่ยวกับพระเยซูขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่
  • ตัวกระจกเองก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของพระเนตรของพระเจ้าที่ทรงเป็นพยานในการตั้งปฏิญาณของการแต่งงาน นอกจากนั้นกระจกที่ไม่มีตำหนิก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของพระแม่มารีที่เป็นนัยยะถึงการกำเนิดบริสุทธิ์ (immaculate conception) และความบริสุทธิ์[8]
  • กระจกสะท้อนให้เห็นคนสองคนที่ประตู คนหนึ่งอาจจะเป็นฟัน ไอก์เอง ตามทฤษฎีที่ออกจะเป็นที่ขัดแย้งโดยผู้อื่นกล่าวว่าการมีบุคคลสองคนในกระจกก็เพื่อเป็นการแสดงว่ามีพยานสองคนตามการระบุที่ต้องการทางกฎหมาย และลายเซ็นของฟัน ไอก์บนผนังก็เป็นการแสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการที่ฟัน ไอก์เป็นพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์

วิธีเขียน

[แก้]

ฟัน ไอก์เขียนภาพบนผิวที่เหมือนกับผิวที่สะท้อนโดยการทาสีเคลือบใสหลายชั้น สีที่สว่างที่ใช้ในภาพช่วยทำให้เน้นความเป็นจริงมากขึ้นและแสดงถึงสิ่งต่าง ๆ ในภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของอาร์นอลฟีนี ฟัน ไอก์ใช้ประโยชน์ของการแห้งที่ช้าของสีน้ำมัน (เมื่อเทียบกับสีฝุ่น) ในการผสานสีที่ใช้วิธีที่เรียกว่า "wet-in-wet" คือเขียนสีใหม่บนสีเก่าที่ยังไม่แห้งเพื่อที่จะให้ได้แสงและเงาที่ต้องการและทำให้เพิ่มความเป็นสามมิติของภาพเพิ่มขึ้น ฟัน ไอก์เขียนรายละเอียดต่าง ๆ อย่างบรรจง และใช้ทั้งการใช้ทั้งแสงที่ส่องตรงและแสงที่กระทบกระจายสาดบนวัตถุต่าง ๆ ในภาพ มีผู้เสนอว่าฟัน ไอก์ใช้กระจกขยายในการเขียนรายละเอียดที่มีขนาดเล็กมากในภาพเช่นเงาบนลูกประคำแต่ละเม็ดที่ห้อยอยู่ข้างกระจกโค้งนูนบนผนังในฉากหลัง

ประวัติการเป็นเจ้าของ

[แก้]
รายละเอียด
ดิเอโก เด เกบารา มอบภาพเขียนให้แก่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค โดยไมเคิล ซิตโตว์ (Michael Sittow) ราว ค.ศ. 1517

ประวัติการเป็นเจ้าของของภาพเขียนเท่าที่ทราบตามลำดับเวลา:[11]

  • ค.ศ. 1434 - ภาพเขียนเขียนและลงวันที่โดย ฟัน ไอก์ อาจจะเป็นเจ้าของโดยผู้เป็นแบบ
  • ก่อน ค.ศ. 1516 - เป็นของดอน ดิเอโก เดอ เกบารา (เสียชีวิตที่บรัสเซลส์ ในปี ค.ศ. 1520) ข้าราชสำนักชาวสเปนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในเนเธอร์แลนด์และอาจจะรู้จักอาร์นอลฟีนี เมื่อมาถึง ค.ศ. 1516 ก็ได้มอบภาพนี้ให้แก่อาร์คดัชเชสมาร์กาเรตแห่งออสเตรียผู้สำเร็จราชการของฮาพส์บวร์คแห่งเนเธอร์แลนด์
  • ค.ศ. 1516 - ภาพเขียนเป็นสิ่งแรกในรายการสำรวจภาพเขียนของอาร์คดัชเชสมาร์กาเรตที่ทำต่อหน้าพระองค์ที่เมเคอเลิน ที่มีคำบรรยายเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "ภาพเขียนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "Hernoul le Fin กับภรรยาในห้อง" ที่ได้รับจากดอน ดิเอโก ที่มีตราอาร์มบนภาพดังกล่าว; เขียนโดยจิตรกรโยฮันน์" และมีข้อเขียนเล็ก ๆ บนขอบรายการว่า "เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใส่ล็อกเพื่อจะปิดภาพ: ตามคำสั่งของมาดาม[อาร์ชดัชเชสมาร์กาเรต]"
  • ค.ศ. 1523-1524 - ในรายการสำรวจภาพเขียนเมเคอเลินอีกรายการหนึ่งก็มีคำบรรยายที่คล้ายคลึงกัน แต่ครั้งนี้ชื่อผู้เป็นแบบเปลี่ยนเป็น "Arnoult Fin" แทนที่จะเป็น "Hernoul le Fin"
  • ค.ศ. 1558 - ในปี ค.ศ. 1530 มาเรียแห่งออสเตรีย หลานของอาร์คดัชเชสมาร์กาเรตก็ได้เป็นเจ้าของภาพเขียน และในปี ค.ศ. 1556 พระองค์ก็เสด็จไปพำนักในประเทศสเปน ในรายการสำรวจภาพเขียนหลังจากที่สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1558 ระบุว่าภาพเขียนตกไปเป็นของพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ภาพเขียนของพระราชธิดาสองพระองค์ของพระเจ้าเฟลิเปเห็นได้ชัดว่าวางท่าเช่นเดียวกับภาพเขียนนี้[1]
  • ค.ศ. 1599 - ผู้เข้าเยี่ยมชมพระราชวังอัลกาซาร์ในมาดริดเห็นภาพเขียนภาพนี้ และมีประโยคจากโอวิดบนกรอบว่า "See that you promise: what harm is there in promises? In promises anyone can be rich." เชื่อกันว่าเดียโก เบลัซเกซ รู้จักภาพเขียนภาพนี้ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่มีอิทธิพบต่อการเขียนภาพ "ลัสเมนินัส" ที่เป็นภาพของห้องในพระราชวังเดียวกัน
  • ค.ศ. 1700 - ในรายการสำรวจภาพเขียนหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปนภาพเขียนก็ยังคงอยู่ในพระราชวังพร้อมด้วยประโยคจากโอวิด
  • ค.ศ. 1794 - ภาพเขียนไปอยู่ที่พระราชวังใหม่ในมาดริด
  • ค.ศ. 1816 - ภาพเขียนไปอยู่ที่ลอนดอนโดยมีนายพันเจมส์ เฮย์เป็นเจ้าของ เฮย์นายทหารสกอตอ้างว่าหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บในยุทธการวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ในปีก่อนหน้านั้นก็เห็นภาพเขียนแขวนอยู่ในห้องผู้ป่วยในบรัสเซลส์ เฮย์ก็ตกหลุมรักภาพนี้และหว่านล้อมให้เจ้าของขายให้ แต่ที่น่าจะเป็นจริงมากกว่าคือเฮย์เข้าร่วมในยุทธการที่บิตอเรียในสเปนในปี ค.ศ. 1813 ที่ฝ่ายอังกฤษปล้นรถม้าใหญ่ที่เต็มไปด้วยภาพเขียนที่โจเซฟ โบนาปาร์ต ไปขนมาจากราชสำนักสเปน เฮย์นำภาพเขียนมาถวายเจ้าชายผู้สำเร็จราชการผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรผ่านทางเซอร์ทอมัส ลอว์เรนซ์ เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงรับและตั้งไว้ที่คฤหาสน์คาร์ลตันเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะคืนให้เฮย์ในปี ค.ศ. 1818.
  • ราว ค.ศ. 1828 - เฮย์มอบภาพเขียนให้เพื่อนดูแลและไม่ได้พบกับเพื่อนคนนี้อีกสิบสามปี จนกระทั่งมาจัดให้ภาพเขียนออกแสงในนิทรรศการ
  • ค.ศ. 1841 - ภาพเขียนออกแสงในนิทรรศการ
  • ค.ศ. 1842 - หอศิลป์แห่งชาติแห่งลอนดอนที่เพิ่งก่อตั้งซื้อภาพเขียนจากเฮย์เป็นจำนวน 600 ปอนด์ บานภาพและกรอบเดิมหายไป

อ้างอิง

[แก้]
  1. Dunkerton, Jill, et al., Giotto to Dürer: Early Renaissance Painting in the National Gallery, page 258. National Gallery Publications, 1991. ISBN 0-300-05070-4
  2. Margaret Koster, Apollo, Sept 2003. เก็บถาวร 2008-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Also see Giovanni Arnolfini for a fuller discussion of the issue
  3. 3.0 3.1 3.2 National Gallery catalogue: The Fifteenth Century Netherlandish Paintings by Lorne Cambell, 1998, ISBN 1-85709-171-X
  4. http://www.artchive.com/artchive/v/van_eyck/eyck_giovanni.jpg
  5. Cambell 1998, op cit, pp. 186-91 for all this section
  6. Repeating the material in his Early Netherlandish Painting, cited here
  7. Hall, Edwin. The Arnolfini Bethrothal. 1994. pp. 105-106.Online edition
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Panofsky, Erwin. Early Netherlandish Painting. Cambridge: Harvard University Press, 1953. pp. 202-203.
  9. Orange blossom remains the traditional flower for a bride to wear in her hair.
  10. as the Art Historian Craig Harbison has argued
  11. Cambell 1998, op cit, pp. 175-78 for all this section

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]