ฟร็องซัว เดอ ซาล
นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล | |
---|---|
มุขนายกและนักปราชญ์แห่งคริสตจักร | |
เกิด | 21 สิงหาคม ค.ศ. 1567 ชาโตเดอซาล ดัชชีซาวอย จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
เสียชีวิต | 28 ธันวาคม ค.ศ. 1622 ลียง ราชอาณาจักรฝรั่งเศส |
นิกาย | โรมันคาทอลิก แองกลิคัน |
เป็นนักบุญ | 8 เมษายน ค.ศ. 1665 โดย สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 |
วันฉลอง | 24 มกราคม |
สัญลักษณ์ | พระหฤทัยของพระเยซู มงกุฏหนาม |
องค์อุปถัมภ์ | นักข่าว |
นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล (ฝรั่งเศส: Saint François de Sales; 21 สิงหาคม ค.ศ. 1567 – 28 ธันวาคม ค.ศ. 1622) เป็นบาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งเจนีวา ผลงานที่สำคัญของท่านคือการดึงชาวเมืองชาเบลส์ซึ่งไปนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ลัทธิคาลวินให้หันกลับมานับถือนิกายโรมันคาทอลิกได้สำเร็จ นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างสรรค์วรรณกรรมไว้มากมายซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความศรัทธาในคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก จนต่อมาท่านได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์แห่งคริสตจักร และเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียน
ประวัติ
[แก้]นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล เกิดในตระกูลขุนนางในดัชชีซาวอย ทางภาคใต้ของฝรั่งเศส ด้วยความที่เป็นบุตรคนโตในบุตรทั้ง 6 คน บิดาจึงตั้งใจจะให้ทำงานตุลาการศาลล่างและส่งไปเรียนที่วิทยาลัยในเมืองลาโรชและอานซี เมื่ออายุได้ 16 ปี เดอ ซาลก็เข้าเรียนด้านวาทศิลป์และมนุษยศาสตร์ที่ Collège de Clermont ขณะอยู่ที่นี่ได้เข้าร่วมการอภิปรายด้านเทววิทยา และเกิดความสงสัยเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเทวลิขิต และทุกข์ใจมากจนล้มป่วย จนที่สุดในปี ค.ศ. 1587 จึงตัดสินใจอุทิสตนต่อพระเจ้าโดยเชื่อว่าความรักของพระองค์ย่อมนำสิ่งที่ดีมาสู่มนุษย์ทุกคนรวมทั้งตัวเอง จนปี ค.ศ. 1588 ได้ย้ายไปเรียนนิติศาสตร์และเทววิทยาที่มหาวิทยาลัยปาโดวา ประเทศอิตาลีจนจบปริญญาเอกในปี ค.ศ. 1592
หลังจบการศึกษา บิดาของเดอ ซาลได้ปูทางชีวิตขุนนางให้โดยเตรียมแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิกแห่งช็องเบรี และหาสตรีสูงศักดิ์มาเป็นคู่สมรส[1] แต่แผนการทั้งหมดก็ต้องล้มเหลวเพราะเดอ ซาลตัดสินใจจะบวชเป็นบาทหลวง บิดาต้องจำใจยอมรับการตัดสินใจของบุตรเพราะบิชอปโกลด เดอ กรานีแยร์ (Claude de Granier) บิชอปแห่งเจนีวาในขณะนั้นได้เข้าช่วยเดอ ซาล โดยให้เขาได้รับศีลอนุกรมเป็นบาทหลวงจนสำเร็จแล้วแต่งตั้งให้เป็นอธิการอาสนวิหารเจนีวา (ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญรองจากบิชอป) ในปี ค.ศ. 1593[2]
การงาน
[แก้]นับตั้งแต่มีการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ขึ้น ชาวเจนีวาจำนวนมากได้หันไปเข้ารีตนิกายใหม่นี้ ส่งผลให้อาสนะของบิชอปแห่งเจนีวาซึ่งเป็นสัญลักษณ์อำนาจของนิกายคาทอลิกต้องถูกย้ายไปตั้งที่เมืองอานซี แคว้นซาวอยแทน เดอ ซาลในฐานะที่เป็นบาทหลวงก็ได้เผยแผ่ศาสนาอย่างแข็งขัน สามารถเข้าถึงคนยากจน รู้จักพัฒนาภาษาสัญลักษณ์เพื่อใช้เทศน์ให้กับคนหูหนวก เป็นต้น จนสามารถนำชาวโปรเตสแตนต์ให้หันกลับมาสู่ความเชื่อเดิม (เป็นคำที่เดอ ซาล ใช้หมายถึงแนวทางของคาทอลิก) ได้เป็นจำนวนมาก
ในปี ค.ศ. 1602 บิชอปแห่งเจนีวาถึงแก่กรรม เดอ ซาล จึงได้รับอภิเษกให้เป็นบิชอปแห่งเจนีวาสืบต่อแทน แต่ท่านได้ไปเจนีวาแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ครั้งแรกไปตามพระบัญชาของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ให้ท่านไปชักนำเบซานักเทววิทยาผู้สืบทอดแนวคิดของคาลวินให้กลับมานับถือคาทอลิก อีกครั้งหนึ่งเป็นการเดินทางผ่าน[2]
นอกจากนี้ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1610 ท่านยังร่วมกับนักบุญฌาน เดอ ช็องตาล (Jeanne de Chantal) ก่อตั้งคณะแม่พระเสด็จเยี่ยม (Order of the Visitation of Holy Mary) ซึ่งเป็นคณะนักบวชคาทอลิกหญิงที่เน้นงานเยี่ยมเยียนและช่วยเหลือคนป่วยและคนยากจน[3]
การถึงแก่กรรม
[แก้]นักบุญฟร็องซัว เดอ ซาล ถึงแก่กรรมขณะร่วมเดินทางในคณะของดยุกชาร์ล อิมมานูเอลที่ 1 ดยุกแห่งซาวอย เมื่อวันที่28 ธันวาคม ค.ศ. 1622 ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ขณะอายุได้เพียง 55 ปี หลังจากให้โอวาทแก่นักพรตหญิงท่านหนึ่งเป็นคำสุดท้ายว่า “ความถ่อมตน” [2]
ในปี ค.ศ. 1661 ท่านได้รับการประกาศเป็นบุญราศีโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 7 และได้รับการประกาศเป็นนักบุญในอีก 3 ปีให้หลัง ต่อมาในปี ค.ศ. 1877 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 9 ก็ประกาศให้ท่านเป็นนักปราชญ์แห่งคริสตจักรด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: St. Francis de Sales. Catholic encyclopedia. เรียกข้อมูลวันที่ 22 ก.ย. พ.ศ. 2553
- ↑ 2.0 2.1 2.2 St. Francis de Sales. Catholic online. เรียกข้อมูลวันที่ 22 ก.ย. พ.ศ. 2553
- ↑ วีรศักดิ์ วนาโรจน์สุวิช, ประวัตินักบุญตลอดปี, สมณองค์กรสนับสนุนงานแพร่ธรรมในประเทศไทย, 2550, หน้า 54