ฟรีเดินส์ไรช์ ฮุนเดิร์ทวัสเซอร์
ฟรีเดินส์ไรช์ ฮุนเดิร์ทวัสเซอร์ | |
---|---|
ภาถ่ายที่นิวซีแลนด์เมื่อปี 1998 | |
เกิด | ฟรีดริค ชโทวัสเซอร์ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1928 เวียนนา ประเทศออสเตรีย |
เสียชีวิต | 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 บนเรือ ควีนเอลิซาเบธเดอะเซคเคินด์ | (71 ปี)
สัญชาติ |
|
มีชื่อเสียงจาก |
|
ผลงานเด่น | |
ขบวนการ | สมัยใหม่ |
ฟรีดริค ชโทวัสเซอร์ (เยอรมัน: Friedrich Stowasser; 15 ธันวาคม ค.ศ. 1928 – 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000) หรือเป็นที่รู้จักมากกว่าด้วยนามแฝง ฟรีเดินส์ไรช์ เรเกินทาก ดุงเคิลบุนท์ ฮุนเดิร์ทวัสเซอร์ (เยอรมัน: Friedensreich Regentag Dunkelbunt Hundertwasser; ภาษาเยอรมัน: [ˈfʁiːdn̩sˌʁaɪ̯x ˈʁeːgn̩ˌtaːk ˈdʊŋkl̩ˌbʊnt ˈhʊndɐtˌvasɐ]) เป็นศิลปินสาขาทัศนศิลป์[1] และสถาปนิกชาวออสเตรีย มีผลงานโดดเด่นในสาขาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เขาเกิดที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย และย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ฟาร์นอร์ธ ในประเทศนิวซีแลนด์ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1970 ที่ซึ่งเขาอยู่อาศัยและสร้างสรรค์ผลงานเป็นส่วนใหญ่ ฮุนแดร์ทวัสเซอร์มีความโดดเด่นที่คติ "ต่อต้านเส้นตรง" และการปฏิบัติตามมาตรฐานใด ๆ ทั้งปวง ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบการออกแบบชิ้นงานและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของเขา ผลงานชิ้นสำคัญของเขาได้แก่ ฮุนแดร์ทวัสเซอเฮาส์ ในเวียนนา
เขาหลงใหลในเส้นโค้งก้นหอย และเรียกเส้นตรงว่า "นอกรีตและไร้ศีลธรรม" และเป็น "สิ่งที่ถูกวาดอย่างขี้ขลาดไปตามกฎเกณฑ์ ปราศจากซึ่งความคิดหรือคสามรู้สึก"[2] เขาตั้งชื่อทฤษฎีศิลปะแบบของเขาว่า "ทรันส์เอาโทมาทิสซึม" ซึ่งมุ่งเน้นที่ประสบการณ์ของผู้ชมมากกว่าของศิลปินผู้สร้างสรรค์ชิ้นงาน[3] แนวคิดนี้ยังแสดงออกผ่านการออกแบบธงชาติใหม่ของนิวซีแลนด์ ที่เขานำเอารูปเส้นโค้งก้นหอยโกรูของวัฒนธรรมเมารีมาใช้[4]
ในการกล่าวสุนทรพจน์ขณะเปลือยกายหลายครั้งในปี ค.ศ. 1967 ถึง 1968 เขากล่าวประณามว่าระบบกริดอันไร้มลทิน ที่ใช้ในสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยนั้นเป็นการกักขังมนุษยชาติ และเป็นแค่ผลผลิตจากการผลิตทางอุตสาหกรรม[5] เขาปฏิเสธคติเหตุผลนิยมและสถาปัตยกรรมที่ออกแบบโดยมีการใช้งานเป็นศูนย์กลาง[6] เขาเชื่อว่าความหมดอาลัยตาอยากที่มนุษย์มีนั้นเกิดจากสถาปัตยกรรมอันสะอาด มีเหตุมีผล และมีหน้าตาเหมือน ๆ กัน แบบที่สร้างตามธรรมเนียมของอาโดล์ฟ โลส์ ผู้ประพันธ์ Ornament and crime (ค.ศ. 1908) เขาเรียกร้องให้บอยคอตสถาปัตยกรรมจำพวกนี้ และหันมาออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่มอบสิทธิในการสร้างสรรค์อย่างอิสระของแต่ละบุคคล[7]
เขามีส่วนร่วมในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงพิทักษ์ป่า ทะเล และสัตว์ นอกจากนี้เขายังเป็นผู้สนับสนุนส้วมที่ใช้ระบบย่อยสลาย และแนวคิดของพื้นที่ชุ่มน้ำแบบสร้างขึ้น เขามองว่าขี้ไม่ได้น่าสะอิดสะเอียน แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรของธรรมชาติ ดังที่เขาเขียนในประกาศ The Holy Shit และในคู่มือการสร้างส้วมระบบย่อยสลายด้วยตนเอง[8] แนวคิดนี้ยังแสดงออกผ่านการสร้างส้วมฮุนแดร์ทวัสเซอร์ ในคาวาคาวา ประเทศนิวซีแลนด์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Pierre Restany: Die Macht der Kunst, Hundertwasser. Der Maler-König mit den fünf Häuten. Taschen, Köln 2003, ISBN 978-3-8228-6598-9, S. 16
- ↑ Hundertwasser, Friedensreich. "Mouldiness Manifesto against Rationalism in Architecture". สืบค้นเมื่อ 8 October 2014.
- ↑ Schmied, Wieland, บ.ก. (2000). Hundertwasser 1928–2000, Catalogue Raisonné. Cologne: Taschen. p. 80.
- ↑ Walrond, Carl; Taonga, New Zealand Ministry for Culture and Heritage Te Manatu. "The koru". teara.govt.nz (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 14 June 2020.
- ↑ Catalogue Raisonné, p. 1177
- ↑ Wieland Schmied (ed.), Hundertwasser 1928–2000, Catalogue Raisonné, Cologne: Taschen, 2000/2002, Vol. II, pp. 1167–1172.
- ↑ Cat. Rais. p. 1178
- ↑ Manifest Die heilige Scheiße เก็บถาวร 26 เมษายน 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน