ข้ามไปเนื้อหา

พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์
เกิดพงศกร วันจงคำ
11 สิงหาคม พ.ศ. 2520 (47 ปี)

พงษ์ศักดิ์เล็ก ศิษย์คนองศักดิ์ มีชื่อจริงว่า พงศกร วันจงคำ เกิดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ที่อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา อดีตนักมวยสากลอาชีพ เป็นอดีตแชมป์โลกของสภามวยโลก (WBC) 2 สมัย และ 3 สมัย (ไม่เป็นทางการ) ในรุ่นฟลายเวท อดีตแชมป์โลก 2 รุ่น (ไม่เป็นทางการ) WBU ไลท์ฟลายเวท และ WBC ฟลายเวท ได้รับยกย่องให้เป็นแชมป์เกียรติยศ[1] และได้รับสถาปนาให้เป็นแชมป์โลกของเดอะริง ในรุ่นเดียวกัน (The Ring)[2]

แชมป์โลกคนที่ 31

[แก้]

พงษ์ศักดิ์เล็กชกมวยสากลอาชีพแพ้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น ต่อ เจอรี่ ปาฮายาไฮ นักมวยถนัดซ้ายชาวฟิลิปปินส์ คนเดียวเท่านั้น แต่หลังจากนั้นมาพงษ์ศักดิ์เล็กไม่เคยแพ้ใครอีกเลย และพัฒนาฝีมือการชกขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้ครองแชมป์โลกของสหภาพมวยโลก หรือ WBU ในรุ่นไลท์ฟลายเวท สถาบันระดับเล็ก จากนั้นในปี พ.ศ. 2543 เมื่อ เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม เสียแชมป์โลกของสภามวยโลก หรือ WBC ในรุ่นฟลายเวท แก่ มัลคอร์ม ทูนาเกา นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ไปแล้วอย่างไม่มีใครคาดคิด จึงเป็นโอกาสของพงษ์ศักดิ์เล็กที่จะได้ขึ้นชิงแชมป์โลกคืน เนื่องจากเป็นนักมวยในสังกัดของ "เสี่ยเน้า" วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ เหมือนกัน ซึ่งพงษ์ศักดิ์เล็กก็สามารถเอาชนะทีเคโอไปได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ยกแรกเท่านั้น ที่จังหวัดพิจิตร จากนั้นพงษ์ศักดิ์เล็กได้ป้องกันตำแหน่งอย่างต่อเนื่องและสามารถเอาชนะได้อย่างสวยงามหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน เช่น ชนะคะแนนโดยเทคนิค อเล็ก บาบา แชมป์เงา WBC และรองแชมป์โลก WBC อันดับหนึ่งชาวกานา ยก 8 ที่หาดใหญ่ ชนะ ไดซูเกะ ไนโต นักมวยชาวญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2545 และ ปี พ.ศ. 2548 อย่างง่ายดาย รวมทั้งการเดินทางไปป้องกันตำแหน่งที่ประเทศญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน

จนเมื่อถึงการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 15 ในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ที่สยามพารากอน กับ เอเบราร์โด โมราเลส นักมวยชาวเม็กซิกัน เป็นการจัดการแข่งขันครั้งใหญ่ เนื่องจากเป็นการทำสถิติการป้องกันตำแหน่งแชมป์ในรุ่นฟลายเวท เทียบเท่ากับ มิเกล กันโต อดีตแชมป์โลกชาวเม็กซิกันในอดีตที่ได้ทำสถิติได้ ซึ่งครั้งนี้ พงษ์ศักดิ์เล็กก็สามารถเอาทีเคโอไปได้ในยกที่ 4

ทำลายสถิติโลกและเสียแชมป์

[แก้]

เมื่อสถิติโลกเดิมถูกทำลายลงแล้ว จากนั้น ทางทีมงานจึงวางเป้าให้พงษ์ศักดิ์เล็กป้องกันตำแหน่งให้ได้ 20 ครั้ง ซึ่งเท่ากับว่าจะทำลายสถิติการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกมากครั้งที่สุดของนักมวยชาวไทยและของทวีปเอเชียด้วยของ เขาทราย แกแล็คซี่ คือ 19 ครั้ง จากนั้นจึงจะให้พงษ์ศักดิ์เล็กป้องกันตำแหน่งให้ได้มากกว่า 25 ครั้ง ทำลายสถิติโลกของ โจ หลุยส์ อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทชาวอเมริกัน แต่ทว่าการป้องกันตำแหน่งในครั้งที่ 18 ที่ประเทศญี่ปุ่น กับ ไดซูเกะ ไนโต คู่ปรับเก่าที่เคยเอาชนะมาแล้วถึง 2 ครั้ง พงษ์ศักดิ์เล็กต้องประสบกับปัญหาการลดน้ำหนักตัวซึ่งต้องทำการลดหลายครั้งก่อนการชั่งน้ำหนักอย่างเป็นทางการ และในวันชก ไดซูเกะ แก้ทางมวยของพงษ์ศักดิ์เล็กมาเป็นอย่างดี ใช้จังหวะเข้าทำก่อนและโผเข้ากอด ทำให้พงษ์ศักดิ์เล็กไม่อาจทำอะไรได้ถนัดถนี่ เมื่อครบ 12 ยก จึงแพ้คะแนนไปอย่างเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 115 - 113, 116 - 113, 116 - 113 ถือว่าเป็นการพ่ายแพ้อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เพราะก่อนการชกหลายฝ่ายคาดว่า พงษ์ศักดิ์เล็กน่าจะเอาชนะไปได้เหมือน 2 ครั้งก่อนอย่างง่ายดาย

และทำให้เป้าหมายที่จะทำสถิติป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกให้ได้ถึง 20 ครั้ง ต้องดับสลายลงด้วยการป้องกันได้เพียง 17 ครั้ง แต่กระนั้นก็ทำให้พงษ์ศักดิ์เล็กมีสถิติการป้องกันตำแหน่งแชมป์โลกมากเป็นอันดับที่ 2 ของทวีปเอเชีย เทียบเท่ากับ ยู มย็อง-อู อดีตแชมป์โลกรุ่นไลท์ฟลายเวท ของสมาคมมวยโลก หรือ WBA ชาวเกาหลีใต้

ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2551 พงษ์ศักดิ์เล็กมีโอกาสได้แก้มือกับไดซูเกะอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเที่ยวนี้พงษ์ศักดิ์เล็กมีความมุ่งมั่นและเตรียมตัวมาดีกว่าครั้งที่แล้ว แต่ผลการชกก็ยังออกมาเสมอกันอีก ด้วยคะแนน 115 - 114, 115 - 113, และ 114 - 114 ที่โตเกียว

หลังจากนั้นพงษ์ศักดิ์เล็กก็ได้อุ่นเครื่องอีก 4 ครั้ง ชนะรวด และได้มีโอกาสชิงแชมป์อีกครั้ง แต่เป็นแชมป์เฉพาะกาล โดยชนะคะแนนอย่างขาดลอย กับ ฆูลิโอ เซซาร์ มิรันดา นักมวยชาวเม็กซิกัน เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2552 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา

กลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง

[แก้]

จนในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553 พงษ์ศักดิ์เล็กก็ได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกของจริง กับ โคกิ คาเมดะ นักมวยหนุ่มที่ห้าวหาญผู้ไม่เคยแพ้ใคร ผู้เป็นพี่ใหญ่แห่งตระกูลคาเมดะ ผลการชกปรากฏว่าทั้งคู่เกิดหัวชนกัน ทำให้คาเมดะเกิดแผลแตก เลือดไหลเข้าตาตั้งแต่ยก 4 และในยกที่ 5 พงษ์ศักดิ์เล็กก็ถูกตัดคะแนนในข้อหาหัวชน แต่ในการชกพงษ์ศักดิ์เล็กเป็นฝ่ายทำคะแนนได้จะแจ้งกว่า จึงเป็นฝ่ายชนะคะแนนไปแบบไม่เอกฉันท์ 114-114, 116-112, 115-112 ได้กลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง นับเป็นสมัยที่ 2 และในครั้งนี้พงษ์ศักดิ์เล็กยังได้รับการแต่งตั้งจากนิตยสารเดอะริง ให้เป็นแชมป์โลกในรุ่นนี้ด้วย[3]

พงษ์ศักดิ์เล็กป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก WBC รุ่นฟลายเวท สมัยที่ 2 ได้ 4 ครั้ง จนกระทั่งครั้งที่ 5 เป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอ ซอนนี่ บอย จาโร นักมวยชาวฟิลิปปินส์ไปอย่างไม่มีใครคาดคิด ในยกที่ 6 ที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งก่อนการชก ฝนได้ตกมาลงอย่างหนัก ทำให้พื้นเวทีลื่น[4] ซึ่งหลังการชก พงษ์ศักดิ์เล็กได้ยอมรับในความพ่ายแพ้ และกล่าวว่าซอนนี่ บอย จาโร เป็นนักมวยหมัดหนักที่สุดเท่าที่เคยพบมา และการชกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่เจ็บตัวมากที่สุดด้วย[5]

ชีวิตช่วงต้นและชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ในวัยเด็กพงษ์ศักดิ์เล็กเป็นเพียงเด็กที่ช่วยกิจการของพ่อที่เป็นอู่ซ่อมรถ ได้ขึ้นชกมวยครั้งแรก เมื่ออายุ 11 ขวบ ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือ ป.6 ที่เวทีมวยแถวบ้านเนื่องจากขาดนักมวยขึ้นชก จึงได้ชกแทนได้เงินค่าตัว 100 บาทและได้ชัยชนะอีกด้วย จึงเป็นแนวทางให้เข้าสู่วิถีชีวิตนักมวยอย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อในครั้งแรก ๆ ในแบบมวยไทยว่า "มังกรทอง ศิษย์เซียนเมฆ" สั่งสมชื่อเสียงและประสบการณ์ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้มาชกในกรุงเทพมหานคร

พงษ์ศักดิ์เล็กเคยคิดท้อถอยอยากจะเลิกชกหลายครั้ง แต่ได้เทรนเนอร์คอยห้ามปรามไว้ ซึ่งไฟต์ที่เจ้าตัวประทับใจมากที่สุดคือไฟต์ที่ป้องกันตำแหน่งเอาไว้ได้เป็นครั้งที่ 15 เนื่องจากได้ทำลายสถิติเดิมของมิเกล คันโต ที่ทำไว้จนมีชื่อบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศ หรือ Hall of Fame เทียบเท่านักมวยรุ่นพี่ที่มีชื่อเสียงหลายคน

พงษ์ศักดิ์เล็ก มีชื่อเล่นว่า "กร" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียกอย่างติดปากจากแฟนมวยและสื่อมวลชนว่า "เจ้ากร" ถือได้ว่าเป็นนักมวยที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่มีนักมวยครองแชมป์ในสถาบันเล็ก ๆ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้กีฬามวยสากลอาชีพไม่ได้รับความนิยมอย่างในอดีต แต่พงษ์ศักดิ์เล็กเป็นแชมป์ในสถาบันใหญ่ที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังทำสถิติการป้องกันตำแหน่งไว้ได้หลายครั้งด้วยกัน และมีเอกลักษณ์ที่เป็นของตัวเองคือ เมื่อขึ้นเวทีจะสวมหมวกไหมพรมสีแดงที่ได้รับการปลุกเสก จาก หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ทุกครั้ง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

ในช่วงที่ยังชกมวยอยู่ นอกจากการชกมวยแล้ว พงษ์ศักดิ์เล็กยังมีธุรกิจส่วนตัว คือ น้ำมันนวดแบบสมุนไพรไทยและพิมเสนน้ำ[6]

หลังจากเสียแชมป์โลกในสมัยที่ 2 แล้ว พงษ์ศักดิ์เล็กได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่าประชาธรรมนิคม ที่บ้านเกิด เป็นเวลา 19 วัน[7] และเมื่อสึกออกมาแล้วก็ยังจะมุ่งมั่นเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง นับเป็นสมัยที่ 3 แม้ว่าอายุจะมากถึง 35 ปีแล้วก็ตาม[8] โดยได้แชมป์อินเตอร์เนชั่นแนลในรุ่นเดียวกัน แต่แล้วก็เสียแชมป์ในปีเดียวกันด้วยการแพ้ทีเคโอ เรย์ เมกริโน นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ในยกที่ 3 ที่จังหวัดนครราชสีมา บ้านเกิด ซึ่งหลังการชก ทางฝ่าย "เสี่ยเน้า" วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ผู้จัดการได้ปรึกษากับทางผู้สนับสนุนแล้วเห็นว่าต้องการให้พงษ์ศักดิ์เล็กแขวนนวม เนื่องจากอายุมากแล้ว[9][10] แต่ทว่าเนื่องจากเรื่องส่วนตัว คือ พงษ์ศักดิ์เล็กถูกผู้หญิงที่คบหาหลอกจนสูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก หลายต่อหลายคน จนแทบไม่เหลือติดตัว จึงตัดสินใจที่จะชกมวยต่อ ด้วยคิดว่าร่างกายของตนเองยังไหวอยู่[11]

พงษ์ศักดิ์เล็กชกมวยมานานกว่า 10 ปี ในสังกัดเพชรยินดีบ็อกซิ่งโปรโมชั่น มีเงินเก็บกว่า 25 ล้านบาท แต่เพราะไม่มีการวางแผนการเก็บเงินที่ดี จึงหมดไม่มีเหลือเลย และเป็นต้นสังกัดที่ต้องให้ความช่วยเหลือ คือ ไถ่ถอนบ้านที่จังหวัดนครราชสีมา ที่พงษ์ศักดิ์เล็กนำไปจำนองไว้กว่า 500,000 บาท ให้ เฉพาะค่าดอกเบี้ยอย่างเดียว พงษ์ศักดิ์เล็กต้องเสียสูงถึงเดือนละ 15,000 บาท

และในที่สุด พงษ์ศักดิ์เล็กได้แขวนนวมไปอย่างแน่นอนเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556 โดยประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ปัจจุบัน พงษ์ศักดิ์เล็กเป็นครูสอนมวย ที่ค่ายมวยไทคัวยิม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เเละคบหาอยู่กับแฟนคนปัจจุบันชื่อตันหยง ที่จ.กาฬสินธุ์ [12]

เกียรติประวัติ

[แก้]
ผลงานประวัติศาสตร์
[แก้]
  • ได้รับการบรรุจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศ (Hall of Fame) ของ WBC และเป็นนักมวยคนแรกด้วยที่มีชื่อบรรจุอยู่โดยที่ยังไม่ได้แขวนนวม
  • อดีตแชมป์โลก 2 รุ่น ( ไม่เป็นทางการ ) WBU ไลท์ฟลายเวท และ WBC ฟลายเวท
  • อดีตแชมป์โลกฟลายเวท 3 สมัย( ไม่เป็นทางการ ) WBC( 2544-2550 ),"เฉพาะกาล"WBC( 2552 ),WBC ( 2553-2555 )
  • อดีตแชมป์โลกฟลายเวท เดอะริง The Ring
  • เป็นเจ้าของสถิติชนะน็อกเร็วที่สุดในรุ่นฟลายเวท จากการชนะน็อก ไดซูเกะ ไนโต ยกที่ 1 ด้วยเวลาเพียง 34 วินาที พร้อมกับได้ถูกยกย่องให้เป็นแชมป์เกียรติยศ[1]
  • เจ้าของสถิติป้องกันตำแหน่งแชมป์มากที่สุดในโลกเฉพาะรุ่นฟลายเวทรวม 17 ครั้ง( ทำลายสถิติเดิมที่ มิเกล กันโต ทำไว้ที่ 14 ครั้ง )
  • ได้รับยกย่องให้เป็นนักมวยแห่งทศวรรษของ WBC [14]
  • พ.ศ. 2550 รางวัลชนะเลิศ นักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 1
  • นักมวยที่เก่งที่สุดของโลกอันดับที่ 6 เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ของนิตยสารเดอะริง ประจำปี ค.ศ. 2010
  • นักมวยที่เก่งที่สุดของโลกอันดับที่ 7 เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ของนิตยสารเดอะริง ประจำปี ค.ศ. 2011
  • พ.ศ. 2555 รางวัลรองชนะเลิศ นักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม สยามกีฬาอวอร์ดส์ ครั้งที่ 6 [15]
  • ได้รับเกียรตินำรูปประดับไว้ในเข็ดขัดแชมป์โลกรุ่นเล็กของ WBC อย่างถาวร[16]

ชื่อในการชกมวยชื่ออื่น

[แก้]
  • พงษ์ศักดิ์เล็ก สิงห์วังชา
  • พงษ์ศักดิ์เล็ก กระทิงแดงยิม
  • พงษ์ศักดิ์เล็ก ไก่ย่างห้าดาวยิม

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Mallon, Scott. "Boxing in Asia." เก็บถาวร 2006-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 24 August 2005. The Sweet Science. URL accessed 7 July 2006.
  2. The Ring editors. The Ring Ratings. 3 July 2006. The Ring. URL accessed 7 July 2006
  3. 3.0 3.1 "Weekend Peview: Huge weekend". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-31. สืบค้นเมื่อ 2016-06-25.
  4. นักชกปินส์ถลุง 'พงษ์ศักดิ์เล็ก' น็อคยก 6 จากไทยรัฐ
  5. เน้าให้โอเล่ห์ฯทวงแชมป์คืน กรรับเจ็บหนัก, หน้า 18 กีฬา. เดลินิวส์: วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ฉบับที่ 22,786
  6. ธีรพัฒน์ อัครเศรณี, กำปั้นสะท้านภพ พงษ์ศักดิ์เล็ก กระทิงแดงยิม (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2550) สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ISBN 9789747263893
  7. พงษ์ศักดิ์เล็กนักมวยแชมป์โลกชื่อดังบวชที่โคราชบ้านเกิด จากเดลินิวส์
  8. โตชิยูกิ อิการาชิแชมป์โลกป้ายแดง WBCเป้าหมายภาคที่ 3 ของ เจ้ากร พงษ์ศักดิ์เล็กเก็บถาวร 2012-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากไทยโพสต์
  9. พงษ์ศักดิ์เล็กเข็มขัดหลุดพ่ายน็อกปินส์ยก3 จากสยามสปอร์ต
  10. "เจ้ากร" เข็มขัดกระเด็นหลังพ่ายน็อกปินส์ จากโพสต์ทูเดย์
  11. เจ้ากร โดนหญิงหลอกหมดตัว เตรียมคัมแบ็ก จากสปอร์ตกูรู[ลิงก์เสีย]
  12. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, บทเรียนของฮีโร่ จาก 'กร' ถึง 'แก้ว' . "ไฮไลต์กีฬา". เดลินิวส์ฉบับที่ 23,833: วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2558 แรม 9 ค่ำ เดือน 2 ปีมะแม
  13. 10 ล้านแพงสุด.. สุริยันชิงพงษ์ศักดิ์เล็ก ลงคัว.. ช่อง 3 ถ่ายทอดสด 14.00 น.
  14. เจ้ากรซิว ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษWBC คมพยัคฆ์ไฟต์ดุเดือดยอดเยี่ยมแห่งปี 2011 จาก เก็บถาวร 2012-04-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนผู้จัดการออนไลน์
  15. มวยสยามรายวัน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 6764. วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555. หน้า 17
  16. หน้า 11 ต่อ 12 กีฬา, วันเฮงลงตัวชกฟิลิปปินส์. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,838: วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558 แรม 14 ค่ำ เดือน 2 ปีมะแม

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]