ข้ามไปเนื้อหา

ประกาศก้องจอมราชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ประกาศก้องจอมราชา
โปสเตอร์โฆษณาภาพยนตร์
กำกับทอม ฮูปเปอร์
เขียนบทเดวิด ไซด์เลอร์
อำนวยการสร้างIain Canning
Emile Sherman
Gareth Unwin
Geoffrey Rush
นักแสดงนำโคลิน เฟิร์ธ
เจฟฟรีย์ รัช
เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์
กาย เพียร์ซ
ทิโมธี สปอลล์
เซอร์ ดีเรค จาโคบี
เจนนิเฟอร์ อีห์ลี
ไมเคิล แกมบอน
กำกับภาพแดนนี โคเฮน
ตัดต่อฏอริก อันวัร
ดนตรีประกอบAlexandre Desplat
บริษัทผู้สร้าง
ซี-ซอว์ ฟีลมส์
เบดแลม โปรดักชันส์
ผู้จัดจำหน่ายพาราเมาต์พิกเจอส์ (ออสเตรเลีย)
The Weinstein Company (สหรัฐอเมริกา)
Momentum Pictures (สหราชอาณาจักร)
วันฉาย
  • 23 ธันวาคม ค.ศ. 2010 (2010-12-23) (ออสเตรเลีย)
  • 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 (2010-11-24) (สหรัฐอเมริกา)
  • 7 มกราคม ค.ศ. 2010 (2010-01-07) (สหราชอาณาจักร)
  • 25 มกราคม ค.ศ. 2011 (2011-01-25) (ประเทศไทย)
ความยาว118 นาที
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[1]
ทำเงิน423.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2]
ข้อมูลจากสยามโซน

ประกาศก้องจอมราชา[3] (อังกฤษ: The King's Speech) เป็นภาพยนตร์จากสหราชอาณาจักรแนวดรามาอิงประวัติศาสตร์​ กำกับการแสดงโดย ทอม ฮูเปอร์ เขียนบทภาพยนตร์โดย เดวิด ไซด์เลอร์ นำแสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ​ รับบทเป็นเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก​ ผู้ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร​ที่ต้องรับมือกับการพูดติดอ่าง​ และ เจฟฟรีย์ รัช รับบทเป็น ไลโอเนล โล้ก นักอรรถบำบัดชาวออสเตรเลีย​ ผู้มีหน้าที่รักษาผู้ที่มีความผิดปกติทางการพูด

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุคแห่งยอร์ก (พระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2)​ ผู้ที่ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร อย่างกะทันหันเนื่องจากผลของเหตุการณ์วิกฤตการณ์สละราชสมบัติของพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ 8 โดย​พระเชษฐาของพระองค์ทรงสละราชสมบัติเพื่อสมรสกับหญิงหม้ายชาวอเมริกัน ทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ตที่เป็นพระอนุชาต้องขึ้นครองราชย์แทนอย่างไม่ได้เตรียมใจนัก แต่ด้วยปัญหาเกี่ยวกับพระอาการพูดติดอ่างจึงนำมาสู่ความกังวลของพระองค์ว่าบุคคลิกของพระองค์อาจไม่เหมาะสมที่จะเป็นกษัตริย์ที่ดีได้ โดยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เข้ารับการรักษาพระอาการผิดปกติทางการพูดจาก ไลโอเนล โล้ก นักอรรถบำบัดที่เป็นสามัญชนชาวออสเตรเลียตั้งแต่ยังดำรงพระอิสสริยยศเป็นดยุกแห่งยอร์ก​ จากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการบำบัดทำให้เกิดเป็นมิตรภาพระหว่างสามัญชนและกษัตริย์ขึ้นและทำให้สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เป็นกษัตริย์ที่ได้รับการยกย่องในเรื่องของการพยายามต่อสู้เอาชนะปมด้อยของตนเองในเวลาต่อมา

เดวิด ไซด์เลอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้มีโอกาสอ่านเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในการต่อสู้กับการพูดติดอ่างของพระองค์ที่เป็นมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเขาเริ่มเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างสามัญชนที่เป็นนักอรรถบำบัด​ชาวออสเตรเลียกับผู้เข้ารับการรักษาที่เป็นสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์สหราชอาณาจักร​ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 แต่เนื่องจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (ควีนมัม)​​ได้มีรับสั่งให้เขาระงับการเขียนเรื่องดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคต ซึ่งภายหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตในปี 2002 ไซด์เลอร์จึงได้กลับมาเขียนเรื่องราวดังกล่าวขึ้นอีกครั้งโดยเริ่มเขียนเป็นบทสำหรับละครเวที​ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสามัญชนและผู้ที่เป็นถึงเชื้อพระวงศ์ระดับสูง และในเก้าสัปดาห์ก่อนเริ่มมีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้มีการค้นพบสมุดบันทึกรายละเอียดและขั้นตอนการบำบัดพระอาการของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ฉบับจริงของ ไลโอเนล โล้ก โดยทางผู้ผลิตภาพยนตร์ได้ยืมมาใช้และปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ด้วย

การถ่ายภาพในภาพยนตร์เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2009 ถึงเดือนมกราคม 2010 ที่กรุงลอนดอน​และทั่วสหราชอาณาจักร มีการใช้แสงแข็งเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและใช้เลนส์มุมกว้างกว่าปกติเพื่อแสดงถึงความรู้สึกหดหู่ของดยุกแห่งยอร์ก นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคการจัดวางตำแหน่งของตัวละครให้อยู่นอกบริเวณจุดกึ่งกลางของภาพ เพื่อดึงให้ผู้ชมสนใจและมองสิ่งที่อยู่รอบๆภาพทั้งหมดไม่ใช่แค่ตัวละครที่อยู่ตรงกลางเฟรม

ประกาศก้องจอมราชา ประสบความสำเร็จอย่างสูงในบ็อกซ์ออฟฟิศ โดยได้รับกระแสคำชื่นชมอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในเรื่องรูปแบบภาพ การกำกับงานศิลป์ บทภาพยนตร์ การกำกับการแสดง ดนตรีประกอบ และนักแสดง นอกจากนี้ตัวภาพยนตร์ยังได้รับการพูดถึงในเรื่องของการนำเสนอรายละเอียดที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์เช่นท่าทีของเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล กับการสละราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 จากความสำเร็จทั้งในแง่ของรายได้และคำชื่นชมในวงกว้าง ทำให้ภาพยนตร์ได้รับรางวัลใหญ่จากวงการหลายรางวัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ โคลิน เฟิร์ธ นักแสดงชาวอังกฤษ ผู้รับบทเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร ที่ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม​เป็นครั้งแรกในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 83

ประกาศก้องจอมราชา ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์มาก​ถึง 12 สาขา ซึ่งถือว่ามากที่สุดในบรรดาภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนั้น และชนะ 4 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ​และ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม​ เดิมทีภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสมาคมภาพยนตร์ (สหรัฐ) ​จัดระดับผู้รับชมให้อยู่ในระดับอาร์​เนื่องจากบางช่วงตัวละครมีการสบถด้วยคำหยาบคาย แต่ได้รับคำวิพากย์วิจารณ์และโต้แย้งจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในสหราชอาณาจักร จึงได้มีการจัดระดับใหม่อีกครั้งให้อยู่ในระดับพีจี 13 (สามารถรับชมได้ทุกวัย โดยเยาวชนอายุต่ำกว่า 13 ปีควรได้รับคำแนะนำจากผู้ปกครองขณะรับชม)​ ซึ่งการฉายในโรงภาพยนตร์ที่สหรัฐอเมริกาได้มีการทำให้เป็นเสียงเงียบในฉากที่ตัวละครสบถเป็นคำหยาบไว้ โดยภาพยนตร์ทำรายได้มากถึง 427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เนื้อเรื่อง

[แก้]

ปี ค.ศ. 1925 เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก​ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร ​เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานพระราชดำรัสปิดงานนิทรรศการแห่งจักรวรรดิบริติชที่สนามกีฬาเวมบลีย์ และต้องประสบกับพระอาการพูดติดอ่างต่อหน้าราษฎรจำนวนมาก ทำให้พระองค์เกิดความวิตกกังวล​และขาดความมั่นใจเมื่อต้องมีพระราชดำรัสใดๆกับราษฎร พระองค์เข้ารับการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยความท้อแท้ จนกระทั่งเอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งยอร์ก​ พระมหสีของพระองค์ ได้พาไปพบกับ ไลโอเนล โล้ก นักอรรถบำบัดชาวออสเตรเลียผู้รักษาอาการผิดปกติทางการพูดด้วยวิธีการที่แหวกแนวและไม่เหมือนใครในสมัยนั้น โดยเขาไม่เคยผ่านหลักสูตรเกี่ยวกับแพทย์และไม่มีประกาศนียบัตรรับรองใดๆ

ในการพบกันครั้งแรก ไลโอเนล ยืนยันที่จะเรียกเจ้าชายอัลเบิร์ตด้วยชื่อเล่นว่า "เบอร์ตี" ซึ่งเป็นชื่อที่มีเพียงคนในครอบครัวเท่านั้นที่จะกล้าเรียกพระองค์เช่นนี้ได้ นั่นทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ต ดูไม่พอพระทัยเขาตั้งแต่แรกพบ แต่ไลโอเนล ยังคงยืนกรานที่จะเรียกพระนามของเจ้าชายเช่นนั้นนอกจากนี้เขายังแจ้งแก่พระองค์ว่าเมื่อขณะอยู่ในขั้นตอนการรักษาจะต้องมีการปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมระหว่างตัวเขาและเจ้าชาย ในการรักษาครั้งแรก ไลโอเนล เริ่มให้เจ้าชายอัลเบิร์ต อ่านออกเสียงบทพูดที่ชื่อ To be, or not to be จากบทประพันธ์เรื่องแฮมเลต​ของวิลเลียม เชคสเปียร์​ ซึ่งเจ้าชายอัลเบิร์ตรู้ตัวว่าพระองค์ไม่สามารถอ่านออกเสียงได้คล่องเหมือนคนปกติและปฏิเสธไปในทันที ไลโอเนล จึงลองให้เจ้าชายอัลเบิร์ตใส่หูฟังพร้อมกับเปิดเพลงโหมโรง งานแต่งงานของฟีกาโร​ ของ ว็อล์ฟกัง อมาเดอุส โมทซาร์ท​ และด้วยเสียงเพลงที่ดังอยู่ในหูฟังทำให้พระองค์ไม่สามารถได้ยินเสียงของพระองค์เองได้ โดย ไลโอเนล ได้ให้เจ้าชายอัลเบิร์ตอ่านออกเสียงบทประพันธ์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน และได้ทำการบันทึกเสียงการอ่านของพระองค์ใส่แผ่นอะซิเตท​ วิธีการรักษาและการปฏิบัติตัวของ ไลโอเนล ทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ตรู้สึกไม่พอพระทัยอยู่ลึกๆและมีพระราชดำรัสกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธว่าพระองค์จะไม่เสด็จมารักษาที่นี่อีก โดย ไลโอเนล ได้มอบแผ่นอะซิเตทที่บันทึกเสียงอ่านของพระองค์ให้เป็นที่ระลึก

ต่อมาหลังจาก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร​ ได้มีพระราชดำรัสอำนวยพรเนื่องในวันคริสต์มาส ผ่านการกระจายเสียงทางคลื่นวิทยุให้แก่พสกนิกรแล้ว พระองค์ได้ทรงตรัสกับเจ้าชายอัลเบิร์ตถึงเรื่องความสำคัญของการมีพระราชดำรัสออกอากาศผ่านทางคลื่นวิทยุที่จะเป็นวิธีที่ทำให้เสียงจากราชวงศ์เข้าไปยังประตูบ้านของราษฎรทุกๆคนได้ และได้มีพระราชปรารภถึงเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์​ พระราชโอรสองค์ใหญ่ซึ่งเป็นรัชทายาท​และเป็นพระเชษฐาของเจ้าชายอัลเบิร์ต ที่แลดูจะไม่ใส่พระทัยในงานของราชวงศ์เท่าที่ควรและประพฤติตนเป็นการไม่สมควรที่ไปครองรักกับ วอลลิส ซิมป์สัน​ หญิงหม้ายชาวอเมริกันที่ผ่านการแต่งงานมาแล้วถึง 2 ครั้ง อีกทั้งยังไม่หย่าขาดกับสามีคนที่ 2 อย่างเป็นทางการ โดยการที่​องค์รัชทายาททรงดำรงตำแหน่งผู้ปกครองสูงสุดของคริสตจักรอังกฤษและอดีตสามี 2 คนก่อนหน้านี้ของ วอลลิส ซิมป์สัน ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้การแต่งงานขององค์รัชทายาทไม่สามารถเกิดขึ้นได้และจะไม่ได้รับการยอมรับทั้งจากทุกฝ่าย ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงผิดหวังในตัวเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นรัชทายาท จึงทรงเข้มงวดกับเจ้าชายอัลเบิร์ตและพยายามฝึกให้พระองค์เอาชนะการพูดติดอ่างให้ได้แต่ก็ไม่เป็นผล ในคืนหนึ่งเจ้าชายอัลเบิร์ตที่กำลังท้อแท้ได้หยิบแผ่นอะซิเตทที่ไลโอเนล มอบให้มาเปิดฟังเป็นครั้งแรก และพบว่าเมื่อพระองค์อ่านบทประพันธ์ขณะบันทึกเสียงนั้นพระองค์ไม่มีพระอาการพูดติดอ่างเลย จากนั้นพระองค์จึงกลับไปเข้ารับการบำบัดทุกวันเพื่อเอาชนะต้นเหตุทางร่างกายและจิตใจของพระองค์

ในปี ค.ศ. 1936 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตด้วยพระอาการประชวร ทำให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งเป็นรัชทายาท ได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8​ หลังจากขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาได้ไม่นานพระองค์ก็แสดงพระราชประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะมีพระราชาภิเษกสมรสกับ วอลลิส ซิมป์สัน สตรีสามัญชนชาวอเมริกันที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้วถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้เกิดข้อครหาเป็นวงกว้างว่าพระราชประสงค์ของกษัตริย์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ปกครองคริสตจักรอังกฤษและอดีตสามีทั้ง 2 คนของ วอลลิส ก็ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านวอลลิสไปทั่วทั้งสหราชอาณาจักรและดินแดนอาณานิคม สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงไม่อาจนิ่งเฉยและตัดพระทัยจากคนรักได้จึงทรงสละพระราชสมบัติให้แก่เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก ซึ่งเป็นพระอนุชา ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร โดยหลังจากสละราชสมบัติพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น "เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งวินด์เซอร์" และทรงเสกสมรสกับวอลลิสในปีถัดมาตามพระประสงค์ โดยวอลลิส ซิมป์สัน ได้รับการสถาปนาให้เป็น "วอลลิส ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์"

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้มีปัญหาในการกล่าวพระราชดำรัสเนื่องจากพระอาการติดอ่าง ต้องขึ้นครองราชย์ ด้วยเหตุที่ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์จวนเจียนเข้าสู่สงครามและจำเป็นต้องมี ผู้นำที่เข้มแข็ง เอลิซาเบธ (เฮเลนน่า บอนแฮม คาร์เตอร์) ภรรยาของเบอร์ตี และอนาคตราชินี จึงจัดแจงให้สามีของเธอได้พบกับไลโอเนล ล็อก (เจฟฟรีย์ รัช) ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคผิดปกติทางการพูด

จากการเริ่มต้นที่แสนลำบาก ผู้รักษาและผู้รับการรักษาต่างร่วมกันแสวงหาวิธีบำบัดใหม่ ๆ ซึ่งก่อกำเนิดมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างชายทั้งคู่ ด้วยความช่วยเหลือของล็อก รวมทั้งครอบครัว, รัฐบาล และวินสตัน เชอร์ชิลล์ (ทิโมธี สปอลล์) กษัตริย์จอร์จที่ 6 จะต้องเอาชนะอาการพูดติดอ่างให้ได้ เพื่อกล่าวปลุกปลอบพสกนิกรของพระองค์ให้ลุกขึ้นยืนหยัดเคียงข้างประเทศชาติ ในภาวะสงคราม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ ชนะเลิศรางวัลจากสถาบันทางภาพยนตร์ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 75 รางวัล โดยมีรางวัลที่สำคัญ คือการชนะเลิศรางวัลออสการ์ ใน 4 รางวัล ได้แก่

กระบวนการผลิต

[แก้]

ขั้นแรก

[แก้]

เดวิด ไซด์เลอร์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์ชาวอังกฤษเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เปิดเผยว่าตนเองเคยเป็นผู้ประสบปัญหาการพูดติดอ่าง​อย่างรุนแรงตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งเขาเชื่อว่าอาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลกระทบทางจิตใจที่ตนเองได้รับมาจากเหตุการณ์​ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง​ โดยปู่และย่าของเขาถูกสังหารในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรปโดยนาซีเยอรมัน​และอพาร์ทเมนต์ที่ครอบครัวของเขาพักอาศัยอยู่ในลอนดอน​ถูกทิ้งระเบิดจากเหตุการณ์เดอะบลิตซ์โดยทัพอากาศลุฟท์วัฟเฟอ​ ทำให้ครอบครัวของเขาต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังสหรัฐอเมริกา​ทางเรือ โดยมีจุดหมายอยู่ที่เกาะลอง, ​รัฐนิวยอร์ก​ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเรือที่อพยพมาพร้อมกับครอบครัวของเขาถูกเรืออู​ของเยอรมันจมลงกลางมหาสมุทรหนึ่งลำ ซึ่งจากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้เขาเกิดบาดแผลทางใจและกลายเป็นเด็กพูดติดอ่างมาจนถึงอายุ 16 ปี

ช่วงวัยรุ่น เดวิด ไซด์เลอร์ เกิดความรู้สึกประทับใจในความสำเร็จของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร ในการเอาชนะอาการพูดติดอ่างของพระองค์เอง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้กับไซด์เลอร์ โดยเขากล่าวว่า "นี่คือพระสุระเสียงของพระมหากษัตริย์ที่มีอาการติดอ่างและต้องมีพระราชดำรัสปราศรัยทางคลื่นวิทยุที่พสกนิกรจะต้องฟังทุกพยางค์ของพระองค์ หากแต่พระองค์ก็สามารถทำได้และเต็มไปด้วยความน่าหลงใหลและเข้มข้น" เมื่อไซด์เลอร์โตเป็นผู้ใหญ่เขาจึงเริ่มเขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ถึงปี ค.ศ. 1980 เขาได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 อย่างกระตือรืนร้นและได้ค้นพบข้อมูลเกี่ยวกับนักบำบัดชาวออสเตรเลียที่ชื่อว่า ไลโอเนล โล้ก ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือและบำบัดอาการของพระองค์ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1981 เดวิด ไซด์เลอร์ จะเขียนจดหมายติดต่อไปยัง ดร.วาเลนไทน์ โล้ก ศัลยแพทย์ทางสมอง ​ซึ่งเป็นลูกชายที่ยังมีชีวิตอยู่ของ ลีโอเนล โล้ก โดย ดร.วาเลนไทน์ ได้ตกลงยอมพูดคุยกับไซด์เลอร์เกี่ยวกับพ่อของเขาและยินดีให้ยืมสมุดบันทึกของพ่อที่บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ไว้ โดยมีเงื่อนไขว่า ไซด์เลอร์ จะต้องได้รับพระราชทานพระราชานุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี​ ซึ่งเป็นอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสียก่อน

ต่อมา เดวิด ไซด์เลอร์ มีหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตไปยังสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี และได้รับคำตอบจากเลขานุการในพระองค์ว่า พระราชชนนีขอให้เขาระงับการดำเนินการนี้ในช่วงที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ไซด์เลอร์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกโครงการในปี 1982[4]

นักแสดง

[แก้]
โคลิน เฟิร์ธ และ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์​ แสดงเป็น เจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก และ เอลิซาเบธ ดัชเชสแห่งยอร์ก​

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.guardian.co.uk/film/2011/feb/11/baftas-the-kings-speech-riches
  2. http://www.boxofficemojo.com/movies/?id=kingsspeech.htm
  3. "ประกาศก้องจอมราชา". สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  4. Colin Firth and "The King's Speech (ภาษาอังกฤษ), สืบค้นเมื่อ 2021-03-10

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]