นนทรี
นนทรี | |
---|---|
ดอกกับดอกตูม | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงคู่แท้ Eudicots |
เคลด: | โรสิด Rosids |
อันดับ: | ถั่ว Fabales |
วงศ์: | ถั่ว Fabaceae |
วงศ์ย่อย: | วงศ์ย่อยราชพฤกษ์ Caesalpinioideae |
สกุล: | Peltophorum Peltophorum (DC.) K.Heyne |
สปีชีส์: | Peltophorum pterocarpum |
ชื่อทวินาม | |
Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Heyne | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
นนทรี (ชื่อวิทยาศาสตร์: Peltophorum pterocarpum) เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ถั่ว ทรงพุ่มสูงได้ถึง 25 เมตร กึ่งผลัดใบ เรือนยอดรูปร่ม แผ่กว้าง ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นรูปไข่ ออกดอกเป็นช่อตั้งขนาดใหญ่ที่ปลายกิ่ง สีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน
นนทรีมีชื่อพื้นเมืองอื่นอีก ดังนี้ กระถินแดง (ตราด) กระถินป่า (ตราด, สุโขทัย) และสารเงิน (เชียงใหม่, เหนือ)[2]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
[แก้]ต้นนนทรี เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมไปถึงประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงเรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงกลมกลายๆ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกค่อนข้างเรียบ และอาจแตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดเต็มวัน เป็นต้นไม้ที่มักผลัดใบเมื่อมีอากาศแห้งแล้ง ชอบขึ้นตามป่าชายหาด
ใบนนทรี ใบออกเป็นช่อเรียงสลับเวียนกันถี่ ๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวประมาณ 20-27 เซนติเมตร มีใบย่อยที่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ประมาณ 9-13 คู่ แขนงย่อยคู่ต้นๆ จะสั้นกว่าคู่ถัดไป และคู่ที่อยู่ปลายช่อก็จะสั้นเช่นกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรหลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวอ่อน
ดอกนนทรี ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ตั้งขึ้น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง มีกิ่งแขนงในช่อดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะบางและค่อนข้างยับย่น โคนกลีบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1.6-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบวางเกยทับกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน โดยทั่วไปจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม และออกดอกทั้งต้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่อาจขยายเวลาได้ตามลักษณะของดินฟ้าอากาศในแต่ละปี และลักษณะของพันธุกรรมของต้นนนทรีแต่ละต้น
ผลนนทรี เนื่องจากต้นนนทรีเป็นพืชในตระกูลถั่ว จึงออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบนเป็นรูปหอก ปลายฝักและโคนฝักเรียวแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ฝักสดเป็นสีเขียวพอแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดวางตัวเรียงขวางกับฝักประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีความแข็งแรง มีรูปร่างและขนาดเท่าใบย่อย โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน[3]
การใช้ประโยชน์
[แก้]นนทรีเป็นพืชสมุนไพร ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ใช้เปลือกบดเป็นผงรักษาโรคสะเก็ดเงิน[4]
ดอกนนทรีเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนนทบุรีและจังหวัดพิษณุโลก ส่วนต้นนนทรีเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดนนทบุรี และเป็นต้นไม้ประจำสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนชุมแพศึกษา โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ โรงเรียนหอวัง โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนนนทรีวิทยา โรงเรียนนนทบุรีพิทยาคม โรงเรียนสตรีชัยภูมิ โรงเรียนเทพมงคลรังษี ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก จังหวัดกาญจนบุรี สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดสกลนคร โรงเรียนบ้านลาดพร้าว (สาคร-สุ่น พานิชเฮง) โรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Peltophorum pterocarpum". International Legume Database & Information Service (ILDIS). สืบค้นเมื่อ 30 Aug 2016 – โดยทาง The Plant List.
- ↑ เต็ม สมิตินันทน์ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เก็บถาวร 2010-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, พ.ศ. 2549
- ↑ "นนทรี พันธุ์ไม้มงคลประจำจังหวัดนนทบุรี".
- ↑ Samuel, A.J.S.J., Kalusalingam, A., Chellappan, D.K., Gopinath, R., Radhamani, S., Husain, H. A., Muruganandham, V., Promwichit, P. 2010. Ethnomedical survey of plants used by the orang asli in kampong bawong, Perak, West Malaysia. Joutnal of Ethnobiology and Ethnomedicine. 6:5
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ต้นนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เก็บถาวร 2010-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน