ข้ามไปเนื้อหา

ท่าอากาศยานดอนเมือง

พิกัด: 13°54′45″N 100°36′24″E / 13.91250°N 100.60667°E / 13.91250; 100.60667
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท่าอากาศยานดอนเมือง
ข้อมูลสำคัญ
การใช้งานสาธารณะ / ทหาร
เจ้าของกองทัพอากาศ และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
ผู้ดำเนินงานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
พื้นที่บริการกรุงเทพมหานคร
ปทุมธานี
นนทบุรี
ที่ตั้งถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
เปิดใช้งาน23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457; 110 ปีก่อน (2457-02-23)
ฐานการบิน
เหนือระดับน้ำทะเล9 ฟุต / 3 เมตร
พิกัด13°54′45″N 100°36′24″E / 13.91250°N 100.60667°E / 13.91250; 100.60667
เว็บไซต์donmueang.airportthai.co.th
แผนผังท่าอากาศยาน DMK
แผนผังท่าอากาศยาน DMK
แผนที่
ทางวิ่ง
ทิศทาง ความยาว พื้นผิว
ฟุต เมตร
03L/21R 12,139 3,700 ยางมะตอย
03R/21L 11,482 3,500 ยางมะตอย
สถิติ (2566)
ผู้โดยสารทั้งหมด26,980,428 เพิ่มขึ้น67.26%
ผู้โดยสารต่างประเทศ9,971,010 เพิ่มขึ้น282.59%
ผู้โดยสารในประเทศ17,009,418เพิ่มขึ้น25.77%
เที่ยวบิน184,542 เพิ่มขึ้น52.92%
การขนส่ง (ตัน)14,210 เพิ่มขึ้น117.18%
อ้างอิง: บมจ. ท่าอากาศยานไทย[1]

ท่าอากาศยานดอนเมือง (ชื่อเดิมคือ ท่าอากาศยานกรุงเทพ) หรือที่เรียกกันติดปากว่า สนามบินดอนเมือง อักษรย่อ ทดม. เป็นท่าอากาศยานในประเทศไทย และเป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ (International Airport)[2] ที่ตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง ช่วงกิโลเมตรที่ 24 ทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร เป็นจุดศูนย์กลางทางการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมทางอากาศไปยังจุดต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการบินภายในทวีปเอเชียด้วยกัน หรือระหว่างทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย ซึ่งสามารถใช้เป็นจุดแวะลงและเชื่อมต่อในการเดินทางของผู้โดยสารตลอดจนพัสดุไปรษณียภัณฑ์ไปยังจุดอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

ท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2457

หลังจากการเปิดใช้งานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ท่าอากาศยานดอนเมืองถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่ซ่อมเครื่องบิน ฝึกบิน และสำหรับจอดเครื่องบินส่วนตัวของบุคคลสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ท่าอากาศยานดอนเมืองได้กลับมาให้บริการเที่ยวบินแบบประจำ (Scheduled flight) ในประเทศอีกครั้ง หลังจากพบปัญหาหลายอย่างที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ท่าอากาศยานดอนเมืองได้กลับมาเปิดให้บริการในฐานะท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 อีกครั้ง เนื่องด้วยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องการสานต่อจากนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องการลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเก่าแก่ที่สุดในเอเชียที่ยังคงดำเนินการอยู่[3]

ปัจจุบัน ท่าอากาศยานดอนเมืองรับเที่ยวบินจากประเทศกัมพูชา ประเทศมาเลเซีย ประเทศพม่า ประเทศเวียดนาม ประเทศไต้หวัน ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศอินเดีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเนปาล ประเทศศรีลังกา และ ประเทศออสเตรเลีย

ที่ตั้ง

[แก้]

ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือประมาณ 24 กิโลเมตร ดอนเมืองได้รับการขยายพื้นที่ตลอดมา โดยการขอซื้อที่ดินของกรมรถไฟหลวงที่มีพื้นที่ติดต่อกับท่าอากาศยานดอนเมืองบ้าง และซื้อจากเอกชนบ้าง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2538 พื้นที่ท่าอากาศยานกรุงเทพมีจำนวน 3,881 ไร่ โดยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ที่ดิน และการบริการอากาศยานพาณิชย์อย่างเป็นทางการ คือ กองทัพอากาศไทย และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

ประวัติ

[แก้]

สำรวจหาที่ตั้งท่าอากาศยานแห่งใหม่

[แก้]

นับตั้งแต่การยกเลิกใช้สนามบินสระปทุม ส่วนหนึ่งของสนามม้าราชกรีฑาสโมสร ซึ่งถือเป็นสนามบินแห่งแรกของสยามประเทศ เนื่องจากสาเหตุคือมีพื้นที่คับแคบ มีเนื้อที่จำกัด และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ไม่เหมาะสม ทางราชการจึงได้คิดหาสถานที่ใหม่ที่มีบริเวณกว้างขวาง เป็นพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ไม่ห่างไกลจากพระนครและเป็นพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเป็นสนามบินขนาดใหญ่ต่อไปได้ในอนาคต โดยมีพันโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) หัวหน้านายทหารนักบินชุดแรกของประเทศไทยซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็นพลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ ทำหน้าที่เป็นบุคคลสำคัญในการแสวงหาพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นสนามบินถาวร

จากการบินสำรวจทางอากาศพระยาเฉลิมอากาศได้พบเห็นผืนนาซึ่งเป็นที่ดอน อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอบางเขน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม จึงได้บินลงมาสำรวจทางพื้นดิน ได้ความว่า พื้นที่บริเวณนั้นชาวบ้านเรียกว่า "ดอนอีเหยี่ยว" เพราะมีฝูงเหยี่ยวบินมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในบริเวณที่ดอนแห่งนี้ ทั้งยังมีทางรถไฟสายเหนือวิ่งผ่าน พื้นที่นี้อยู่ห่างจากสนามบินสระปทุมไปทางเหนือใช้เวลาบินประมาณ 13 นาที (ด้วยเครื่องบินเบรเกต์ในสมัยนั้น) คิดเป็นระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตรเศษ บริเวณนี้เป็นที่นาที่หลายเจ้าของ เช่น หมื่นหาญใจอาจ (พู่ จามรมาน) ซึ่งท่านผู้นี้มีที่นาจำนวนมาก ได้ยกที่ดินส่วนหนึ่งให้สร้างเป็นวัด สมัยนั้นยังไม่มีชื่อ ชาวบ้านเรียกว่า "วัดดอนอีเหยี่ยว" ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งกองบินขึ้นที่บริเวณนี้และเรียกกันว่า "ดอนเมือง" วัดนี้จึงถูกเรียกว่า "วัดดอนเมือง" ตามชื่อสนามบินไปด้วย นอกจากนั้นยังมีที่นาของพระยาอร่ามมณเฑียร และราษฎรคนอื่น ๆ อีกหลายคน บางส่วนเป็นที่ดินของกรมรถไฟหลวง พันโทพระยาเฉลิมอากาศได้รายงานขึ้นตามลำดับชั้น เพื่อขอจัดสร้างสนามบินถาวรขึ้นที่บริเวณนี้ กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดซื้อบ้าง ขอเวนคืนบ้าง และมีผู้บริจาคให้เป็นประโยชน์แก่ทางราชการบ้าง

กรมเกียกกายทหารบกได้เริ่มดำเนินการปรับพื้นที่ให้เป็นสนามหญ้าที่เครื่องบินสามารถวิ่งและบินขึ้น-ลงได้ พร้อมทั้งสร้างโรงเก็บเครื่องบิน และอาคารสถานที่ทำการตามความจำเป็น การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2457 กรมเกียกกายทหารบกจึงส่งมอบให้กรมจเรการช่างทหารบกรับช่วงดูแลต่อ และเรียกชื่อสนามบินนี้ว่า "สนามบินดอนเมือง" ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายทหารนักบินทั้ง 3 นาย นำเครื่องบินจากสนามบินสระปทุมมาลงที่สนามบินดอนเมืองเป็นปฐมฤกษ์ในตอนเช้า จนกระทั่งวันที่ 27 มีนาคม กระทรวงกลาโหมได้ออกคำสั่งตั้งกองบินทหารบกขึ้น และย้ายเข้าที่ตั้งถาวรที่สนามบินดอนเมือง นับเป็นรากฐานการเริ่มต้นของกิจการการบินของไทยที่มั่นคง และภายหลังกองทัพอากาศได้ถือเอาวันที่ 27 มีนาคม เป็นวันที่ระลึกของกองทัพอากาศ

การเปิดใช้งานและช่วงแรกเริ่ม

[แก้]

พื้นที่ของสนามบินดอนเมืองในสมัยเริ่มแรก จากการสำรวจเมื่อวันที่ 1 มีนาคม มีพื้นที่ 1,770 ไร่ พื้นดินเป็นสนามหญ้า มีผิวดินชนิดดินปนทรายแดง เครื่องบินขนาดใหญ่ของสายการบินพาณิชย์ไม่สามารถใช้ขึ้นลงได้ในฤดูฝน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลจึงอนุมัติให้กระทรวงเศรษฐการและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันดำเนินการสร้างทางวิ่งเป็นคอนกรีตและลาดยางแอสฟัลต์ พร้อมกับให้สร้างถนนเชื่อมระหว่างสนามบินดอนเมืองกับใจกลางพระนคร คือถนนพหลโยธิน ทางวิ่งดังกล่าวแล้วเสร็จเรียบร้อยเปิดใช้การได้ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2478

ปี พ.ศ. 2483 กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองการบินพลเรือนขึ้นดำเนินงานเกี่ยวกับการบินระหว่างประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. 2491 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกรมการบินพลเรือน ได้เข้ามาดำเนินการปรับปรุงสนามบินดอนเมือง และเรียกชื่อว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง (อังกฤษ: Don Mueang Airport) จัดเป็นท่าอากาศยานสากล จนกระทั่งวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2498 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น ท่าอากาศยานกรุงเทพ หรือ ทกท. (อังกฤษ: Bangkok Airport ต่อมาเปลี่ยนเป็น Bangkok International Airport)

อยู่ภายใต้การดูแลของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

[แก้]

ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ได้รับการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2522 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ส่งผลทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองที่สังกัดกับกรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ได้รับการโอนกิจการย้ายมาสังกัดกับ ทอท. แทน โดยอาศัยตามความบทเฉพาะกาล มาตรา 50 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว[4]

การเติบโตของท่าอากาศยานแต่ละแห่งสามารถวัดได้จากอัตราการเจริญเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร จำนวนการขึ้น-ลงของอากาศยาน และปริมาณการขนถ่ายสินค้าทางอากาศ ซึ่งผลการให้บริการของท่าอากาศยานกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 นับเป็นท่าอากาศยานพาณิชย์สากลที่สำคัญมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางและเป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศของภูมิภาคนี้ได้อย่างเหมาะสม สถิติในช่วงปีงบประมาณ 2522–2548 ของผลการดำเนินงานให้บริการทางอากาศในด้านการขึ้น-ลงของอากาศยาน พบว่าในปีงบประมาณ 2522 มีเที่ยวบินรวม 51,518 เที่ยวบิน และเพิ่มขึ้นเป็น 265,122 เที่ยวบินในปีงบประมาณ 2548 ซึ่งมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 6.69 โดยในปีงบประมาณ 2548 ให้บริการสายการบินแบบประจำขนส่งผู้โดยสารรวม 79 สายการบิน เที่ยวบินร่วม 7 สายการบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้าอย่างเดียวอีก 11 สายการบิน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินราคาประหยัด ในส่วนของจำนวนผู้โดยสารรวมของท่าอากาศยานกรุงเทพเพิ่มขึ้นจาก 5,135,490 คน ในปีงบประมาณ 2522 เป็น 38,889,229 คน ในปีงบประมาณ 2548 ซึ่งมีอัตราการเพิ่มเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 8.45 โดยเฉพาะในช่วงปีงบประมาณ 2530–2532 ผลการดำเนินงานให้บริการในด้านผู้โดยสารอยู่ในระดับที่ดีมาก ทั้งนี้เนื่องจากปี 2530 รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีการท่องเที่ยวไทย ประกอบกับปี 2531 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงสุดในรอบ 30 ปีของการพัฒนา

หลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

[แก้]

เมื่อมีการย้ายเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหมดไปสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 จึงเป็นเหตุให้การบริการสำหรับเที่ยวบินเพื่อการพาณิชย์ทั้งหมดในท่าอากาศยานดอนเมืองต้องหยุดตัวลงในวันเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 มติของคณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ได้มีความต้องการที่จะให้มีการเปิดบริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอีกรอบหนึ่ง เนื่องมาจากพบปัญหาหลายประการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและเพื่อการขยายและพัฒนาประสิทธิภาพของดอนเมืองให้มีความคล่องตัว รองรับในระบบการอากาศยาน นอกเหนือจากการบินพาณิชย์แล้ว ทำให้มีการกลับมาเปิดให้บริการอีกรอบหนึ่งและกลับมาใช้ชื่อว่า ท่าอากาศยานดอนเมือง เหมือนเช่นเดิม ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยมีการบินไทย นกแอร์ วัน-ทู-โก และพีบีแอร์ มาเปิดให้บริการในลำดับแรก[5]

อาคารผู้โดยสาร

[แก้]

ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองมีอาคารผู้โดยสาร 3 อาคาร คือ อาคาร 1 อาคาร 2 และอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเดิม ทุกอาคารตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสนามบิน ด้านหน้าติดกับถนนวิภาวดีรังสิต เรียงลำดับจากทิศเหนือไปทิศใต้ (จากซ้ายไปขวาเมื่อหันหน้าเข้าหาสนามบินจากถนนวิภาวดีรังสิต) โดยอาคารแรกที่ก่อสร้าง คือ อาคาร 3 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 (โดยมีการขยายอาคาร 3 เพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538) ต่อมา คือ อาคาร 1 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2531 และสุดท้าย คือ อาคาร 2 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538[6][7][8]

ท่าอากาศยานเมือง มีหลุมจอดอากาศยานทั้งหมด 101 หลุมจอด โดยแบ่งเป็นหลุมจอดที่เชื่อมต่อกับประตูทางออกอาคารผู้โดยสาร(Contact Gate) อาคาร 1 จำนวน 35 หลุมดจอด และเป็นหลุมจอดที่ไม่เชื่อมต่อกับประตูทางออก(Remote Parking) จำนวน 66 หลุมจอด

อาคารผู้โดยสาร 1 (อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ)

[แก้]
อาคารผู้โดยสาร 1
ภายในอาคารผู้โดยสาร 1
ภายในอาคารผู้โดยสาร 1

เปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 และเปิดอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร 1 เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2530 อาคาร 1 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 109,033 ตารางเมตร ในช่วงที่ใช้งานเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549 รองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 18.5 ล้านคนต่อปี[7][9]

ป้ายต้อนรับภายในอาคาร

ก่อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดใช้ อาคาร 1 ใช้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ หลังจากนั้นได้ปิดใช้งานพร้อมกับการย้ายสายการบินที่ทำการบินแบบประจำทั้งหมดไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในคืนวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 คงเหลือแต่เฉพาะสายการบินที่ทำการบินแบบเช่าเหมาลำเท่านั้น แม้จะมีการนำเที่ยวบินภายในประเทศบางเที่ยวบินมาทำการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 แต่ใช้พื้นที่ทำการที่อาคาร 3 (อาคารผู้โดยสารในประเทศ) ไม่ได้ใช้อาคาร 1[10][11]

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ย้ายการปฏิบัติการของสายการบินภายในประเทศ (ขณะนั้น คือ นกแอร์ - เอสจีเอ แอร์ไลน์ - โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ - โซล่าแอร์) จากอาคาร 3 มารวมกับสายการบินระหว่างประเทศที่ทำการบินแบบเช่าเหมาลำ ที่อาคาร 1 เนื่องจากอาคาร 1 มีพื้นที่รองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคตได้มากกว่า และขณะนั้น ทอท. ต้องการใช้ประโยชน์อาคาร 3 รวมทั้งอาคารคลังสินค้าและพื้นที่โดยรอบเพื่อดำเนินการตามแผนการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน โครงการบริหารจัดการอะไหล่อากาศยาน โครงการศูนย์ขนส่งกระจายสินค้า โครงการศูนย์ประชุมและนิทรรศการ ฯลฯ[12][13] สำหรับการใช้อาคาร 1 เพื่อรองรับเที่ยวบินในประเทศ ทอท. ได้แบ่งพื้นที่ภายในอาคารเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ฝั่งทิศเหนือใช้สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทิศใต้สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ และใช้ทางเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกฝั่งทิศเหนือใช้สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ฝั่งทิศใต้สำหรับผู้โดยสารในประเทศ เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 1–6 [บัสเกต] และ 12 14–15) ส่วนเที่ยวบินในประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบิน 2 และ 3 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 21–26 31–36 และ 71–77 [บัสเกต]) ซึ่งในช่วงแรกได้เปิดใช้เฉพาะอาคารเทียบเครื่องบิน 3 ก่อน จากนั้นอาคารเทียบเครื่องบิน 2 จึงเปิดใช้ตามมาในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 สำหรับผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศจะใช้สายพานรับกระเป๋า 1–3 และในประเทศใช้สายพานรับกระเป๋า 4–6 แต่ยังคงใช้ห้องโถงเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ทอท. จำเป็นต้องปิดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองชั่วคราว เนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปีนั้น ส่งผลให้น้ำเริ่มไหลเข้ามาจากด้านทิศเหนือและเข้าท่วมผิวทางวิ่งและพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน โดยสายการบินที่ทำการบินแบบประจำอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้หยุดให้บริการตั้งแต่ประมาณ 12.00 น. ของวันนั้น ก่อนย้ายไปให้บริการชั่วคราวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกรมการบินพลเรือนได้ออกประกาศหยุดทำการบินตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. ของวันเดียวกันด้วยเหตุผลด้านความไม่ปลอดภัยต่อการบิน[14] แต่ด้วยน้ำที่ท่วมภายในท่าอากาศยานมีระดับสูงสุดถึงเกือบ 4 เมตร น้ำจึงได้เข้าท่วมชั้นใต้ดินและชั้น 1 ภายในอาคารผู้โดยสารทั้งหมด ทำให้อาคาร 1 ซึ่งเปิดใช้งานอยู่ขณะนั้นจึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแม้น้ำที่ท่วมจะลดระดับลงจนเข้าสู่สภาวะปกติตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 และ ทอท. เปิดใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 แล้วก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เวลาในการบูรณะซ่อมแซมอาคาร 1 ประมาณ 4 เดือน ด้วยงบประมาณ 441 ล้านบาท (งบประมาณฟื้นฟูท่าอากาศยานทั้งหมด 930 ล้านบาท) ก่อนจะเปิดใช้งานได้อีกครั้ง พร้อมกับทางวิ่งฝั่งตะวันตกและระบบสนับสนุนต่าง ๆ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555 และเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป[15][16]

จนกระทั่ง วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,600 ล้านบาท ให้ ทอท. นำไปปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อมุ่งเน้นให้เป็นท่าอากาศยานสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) และเป็นศูนย์กลางเส้นทางการบินในแบบจุดต่อจุด ตามความสมัครใจของแต่ละสายการบิน[17] โดย ทอท. ได้ใช้งบประมาณดังกล่าวเพื่อปรับปรุงบางส่วนของอาคาร 1 และอาคารเทียบเครื่องบิน 2–4 ก่อนจะเปิดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองแบบเต็มรูปแบบ โดยให้สายการบินระหว่างประเทศที่ทำการบินแบบประจำเข้ามาใช้พื้นที่ทำการที่อาคาร 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555[18][19] ในการนี้ ทอท. ได้ปรับการใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินที่เชื่อมต่อกับอาคาร 1 ใหม่ โดยให้เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือและอาคารเทียบเครื่องบิน 2 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 1–6 [บัสเกต] 12 14–15 และ 21–26) ส่วนเที่ยวบินในประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบิน 3 และ 4 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 31–36 41–46 และ 71–77 [บัสเกต]) แต่การแบ่งการใช้งานห้องโถงเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระยังคงเหมือนเช่นเดิม[20]

อาคาร 1 เป็นอาคาร 4 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่การใช้งาน ดังนี้

  • ชั้น 1 เป็นส่วนผู้โดยสารขาเข้า ประกอบด้วย จุดจอดรถบัสส่งผู้โดยสารขาเข้าจากหลุมจอดระยะไกล (หลุมจอดที่ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน) - ห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ มีสายพานรับกระเป๋า 6 สายพาน คือ สายพานที่ 1–6 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ - เคาน์เตอร์บริการติดตามสัมภาระ ด่านศุลกากร ด่านควบคุมโรคติดต่อ ด่านตรวจพืช ด่านกักกันสัตว์ และด่านตรวจสัตว์น้ำ อยู่ภายในห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ - ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า มีจุดนัดพบ เคาน์เตอร์บริการรถเช่า ร้านอาหาร ร้านค้า และประตูทางออกอาคาร 8 ประตู คือ ประตูที่ 1-8 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ - ชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนภายในท่าอากาศยานที่ต่อมาจากทางเข้าท่าอากาศยานบนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า (ช่องทาง ทดม.4)
  • ชั้น 2 เป็นโถงทางเดินผู้โดยสารขาเข้า เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าระหว่างประเทศ
  • ชั้น 3 เป็นส่วนผู้โดยสารขาออก ประกอบด้วย ชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนยกระดับที่ต่อมาจากถนนยกระดับหน้าอาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมืองและสะพานกลับรถบนถนนวิภาวดีรังสิตขาออก - ห้องโถงผู้โดยสารขาออก มีประตูทางเข้าอาคาร 8 ประตู คือ ประตูที่ 1-8 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ ร้านอาหาร ร้านค้า เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารของสายการบิน และที่ทำการหน่วยงานราชการ - พื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร (เคาน์เตอร์เช็คอิน) มีจุดตรวจกระเป๋าสัมภาระและเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและรับฝากกระเป๋าสัมภาระไปกับอากาศยาน จำนวน 8 แถว คือ แถวที่ 1-8 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ แถวละ 16 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ A-H ฝั่งทิศเหนือ เคาน์เตอร์ J-N และ P-R ฝั่งทิศใต้ - จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก 2 จุด และเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองขาออกระหว่างประเทศ อยู่ด้านหลังห้องโถงผู้โดยสารขาออกก่อนเข้าสู่โถงทางเดินผู้โดยสารขาออกและอาคารเทียบเครื่องบิน
  • ชั้น 4 เป็นร้านอาหาร ร้านค้า บริเวณดูเครื่องบิน (ออฟเซอร์เวชั่น เด็ค) และที่ทำการสายการบิน
  • ชั้นใต้ดิน เป็นที่จอดรถ จอดรถยนต์ได้ประมาณ 535 คัน

หลังจากการเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ที่สร้างบนพื้นที่เดิมของอาคาร 3 ในปี พ.ศ. 2571 บมจ. ท่าอากาศยานไทย มีแผนปิดให้บริการอาคาร 1 ชั่วคราว เพื่อปรับปรุงเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศต่อไป[21]

อาคารผู้โดยสาร 2 (อาคารผู้โดยสารในประเทศ)

[แก้]
อาคารผู้โดยสาร 2
ภายในอาคารผู้โดยสาร 2 ก่อนปรับปรุง
ภายในอาคารผู้โดยสาร 2 ก่อนปรับปรุง
ภายในอาคารผู้โดยสาร 2 ก่อนปรับปรุง
ภายในอาคารผู้โดยสาร 2 หลังปรับปรุงใหม่

เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2538[22] และใช้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นร่วมกับอาคาร 1 มีพื้นที่ 106,586.5 ตารางเมตร โดยอาคาร 2 ให้บริการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้ปิดตัวลงเพื่อย้ายสายการบินทั้งหมดที่ใช้งานอาคารหลังนี้ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในช่วงที่ใช้งานเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549 อาคาร 2 รองรับผู้โดยสารได้ 9 ล้านคนต่อปี

หลังจาก ทอท. ได้เปิดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองแบบเต็มรูปแบบ ทอท. ได้เริ่มปรับปรุงอาคาร 2 เพื่อใช้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ ตามแผนการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 2 ซึ่งเปิดให้บริการบางส่วนตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 (วันครบรอบ 102 ปี ของท่าอากาศยานดอนเมือง) โดยหลังจากปรับปรุงแล้ว อาคาร 2 จะรองรับผู้โดยสารได้ 11.5 ล้านคนต่อปี จากเดิม 9 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ได้มีการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบิน 5 และทางเชื่อมฝั่งทิศใต้ (เซาท์ คอร์ริดอร์) ซึ่งได้ทำการปรับปรุงพร้อมกับอาคาร 2 ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ทำให้เที่ยวบินในประเทศสามารถใช้อาคารเทียบเครื่องบินได้เพิ่มอีก 1 อาคาร รวมเป็น 3 อาคาร คือ อาคารเทียบเครื่องบิน 3 4 และ 5 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 31–36 41–46 51–56 และ 71–78 [บัสเกต]) โดยเชื่อมต่อกับอาคาร 2 ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ อาคารเทียบเครื่องบิน 2 และ 3 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 1-6 [บัสเกต] 12 14–15 21–26 และ 31–36) โดยเชื่อมต่อกับอาคาร 1 เช่นเดิม (เดิมหลังเปิดใช้อาคาร 2 ทอท. จะปรับการใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินใหม่ โดยให้เที่ยวบินในประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบิน 4 และ 5 เท่านั้น และเปลี่ยนอาคารเทียบเครื่องบิน 3 ไปใช้กับเที่ยวบินระหว่างประเทศ)

อาคารผู้โดยสาร 2 เป็นอาคาร 4 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่นอกเขตห้าม (แลนด์ไซด์) สำหรับผู้โดยสารและบุคคลทั่วไป และพื้นที่ในเขตห้าม (แอร์ไซด์) เฉพาะผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่

พื้นที่นอกเขตห้าม ประกอบด้วย

  • ชั้น 1 ส่วนผู้โดยสารขาเข้า
    • ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า มีจุดนัดพบ เคาน์เตอร์บริการรถเช่า ร้านอาหาร ร้านค้า และประตูทางออกอาคาร 6 ประตู คือ ประตูที่ 9–12 และ 14–15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้
    • ชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนภายในท่าอากาศยาน ที่ต่อมาจากชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้าของอาคาร 1
    • ทางเชื่อมไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าอาคาร 1 อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศเหนือ ทางเชื่อมไปยังอาคารจอดรถและห้องพักรอผู้โดยสารรถแท็กซี่ อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศใต้
  • ชั้น 2 ที่ทำการสายการบิน และพื้นที่สำนักงาน
  • ชั้น 3 ส่วนผู้โดยสารขาออก
    • ชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนยกระดับที่ต่อมาจากถนนยกระดับหน้าอาคาร 1
    • ห้องโถงผู้โดยสารขาออก มีประตูทางเข้าอาคาร 6 ประตู คือ ประตูที่ 9–12 และ 14–15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้
    • พื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร อยู่ภายในห้องโถงผู้โดยสารขาออก มีเคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 82 เคาน์เตอร์ แบ่งเป็น 6 แถว คือ แถวที่ 9–12 และ 14–15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ แถวละ 12–14 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ A–G ฝั่งทิศเหนือ เคาน์เตอร์ J–N หรือ L–N และ P–Q ฝั่งทิศใต้ โดยติดตั้งเครื่องเอกซเรย์สัมภาระบรรทุก (สัมภาระโหลด) อัตโนมัติ แบบอินไลน์ สกรีน หรือโพส เช็คอิน สกรีน ด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอินแถวละ 1 เครื่อง รวม 6 เครื่อง (เดิมมีแถวละ 18 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ A–H และ T ฝั่งทิศเหนือ เคาน์เตอร์ J–N และ P–S ฝั่งทิศใต้ และติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ ก่อนเข้าพื้นที่เช็คอิน) ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ ดังนี้ แถวที่ 9 และ 10 ไทยแอร์เอเชีย (FD |AIQ) แถวที่ 11 ฝั่งทิศเหนือ โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ (OX |OEA) และ อาร์ แอร์ไลน์ (RK |RCT) แถวที่ 11 ฝั่งทิศใต้ และ 12 ฝั่งทิศเหนือ ไทยไลอ้อนแอร์ (SL |TLM) แถวที่ 14 และ 15 นกแอร์ (DD |NOK)
    • เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารของสายการบิน อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอิน แถวที่ 9–10 และ 14–15
    • ทางเข้าจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอิน แถวที่ 12
    • ทางเชื่อมไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาออกอาคาร 1 อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศเหนือ
  • ชั้น 4 ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร (ฟู้ด คอร์ท) ร้านค้า และโรงแรมขนาดเล็ก อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศเหนือและทิศใต้

พื้นที่ในเขตห้าม ประกอบด้วย

  • ชั้น 1 ส่วนผู้โดยสารขาเข้า
    • จุดจอดรถบัสส่งผู้โดยสารขาเข้าจากหลุมจอดระยะไกล (หลุมจอดที่ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน)
    • ห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ มีสายพานรับกระเป๋า 6 สายพาน คือ สายพานที่ 9–12 และ 14–15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ และเคาน์เตอร์บริการติดตามสัมภาระ
  • ชั้น 2 โถงทางเดินผู้โดยสารขาเข้า ที่เชื่อมต่อมาจากอาคารเทียบเครื่องบิน
  • ชั้น 3 ส่วนผู้โดยสารขาออก
    • จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก มีเครื่องตรวจจับโลหะแบบเดินผ่าน (วอล์คทรู) เครื่องเอกซเรย์สัมภาระติดตัว 11 เครื่อง อยู่ด้านหลังห้องโถงผู้โดยสารขาออก
    • โถงทางเดินผู้โดยสารขาออก มีร้านอาหารและร้านค้า อยู่ด้านหลังจุดตรวจค้น ก่อนเข้าสู่อาคารเทียบเครื่องบิน

อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ หลังเดิม

[แก้]
อาคารผู้โดยสาร 3
ภายในอาคารผู้โดยสาร 3 ก่อนปิดปรับปรุง

อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อาคารหลังเดิมที่เป็นอาคาร 2 ชั้น อยู่ทางฝั่งทิศเหนือ เปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2528 โดยภายหลังมีเฉพาะส่วนบริการสำหรับผู้โดยสารขาออกที่ชั้น 1 เท่านั้น และอาคารหลังใหม่ที่เป็นอาคาร 3 ชั้น อยู่ทางฝั่งทิศใต้และเชื่อมต่อกับอาคารเดิม ซึ่งเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2536 โดยมีส่วนผู้โดยสารขาออกเพิ่มเติมที่ชั้น 2 และมีส่วนผู้โดยสารขาเข้าที่ชั้น 1 โดยในช่วงที่ใช้งานเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549 อาคารหลังนี้รองรับผู้โดยสารได้ 9 ล้านคนต่อปี

อาคารหลังใหม่ เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่การใช้งาน ดังนี้

  • ชั้น 1 เป็นส่วนผู้โดยสารขาเข้า ประกอบด้วย จุดจอดรถบัสส่งผู้โดยสารขาเข้าจากหลุมจอดระยะไกล - ห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ - ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า - ชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนภายในท่าอากาศยาน
  • ชั้น 2 เป็นส่วนผู้โดยสารขาออก ประกอบด้วย ชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนยกระดับที่ต่อมาจากถนนภายในท่าอากาศยาน - ห้องโถงผู้โดยสารขาออก - พื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร มีเคาน์เตอร์เช็คอิน เรียงจากทิศเหนือไปใต้ 45 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ 1–45 - จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านทิศเหนือของห้องโถงผู้โดยสารขาออกก่อนเข้าสู่อาคารเทียบเครื่องบิน
  • ชั้น 3 เป็นที่ทำการสายการบิน และพื้นที่สำนักงาน

อาคาร 3 ให้บริการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 จึงได้ปิดตัวลงเพื่อย้ายสายการบินภายในประเทศทั้งหมดไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 สายการบินในประเทศที่ทำการบินแบบประจำ จำนวนหนึ่ง ได้แก่ การบินไทย นกแอร์ และวัน-ทู-โก (ภายหลังเปลี่ยนเป็นโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ เมื่อ พ.ศ. 2553) ได้ย้ายการปฏิบัติการทั้งหมดจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กลับมายังท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้ง โดยใช้อาคาร 3 เป็นพื้นที่ให้บริการ ยกเว้นการบินไทยที่ยังคงให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศบางส่วนในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งเป็นเที่ยวบินเชื่อมต่อสำหรับผู้โดยสารต่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป โดยมีเที่ยวบินออกจากดอนเมืองในจุดบิน 4 จุดดังกล่าวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การบินไทยยังได้เปิด ไทย ซิตี้ แอร์ เทอร์มิน่อล (ท่าอากาศยานดอนเมือง) บริเวณโถงชั้น 1 อาคารจอดแล้วจรของ รฟม. ที่เชื่อมต่อกับสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีน้ำเงิน) เพื่อเป็นการเพิ่มจุดบริการตรวจบัตรโดยสารให้แก่ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีบริการรถเวียนระหว่างสถานีลาดพร้าวและท่าอากาศยานดอนเมือง[23][24] อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552 การบินไทย ได้ย้ายการปฏิบัติการของเที่ยวบินในประเทศกลับไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมด เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อเที่ยวบินของผู้โดยสารและผู้ส่งสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินและอุปกรณ์บริการภาคพื้น ตามนโยบายการเสริมสร้างศักยภาพให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคของรัฐบาลในขณะนั้น ขณะที่นกแอร์และวัน-ทู-โก ยังคงให้บริการที่อาคาร 3 ท่าอากาศยานดอนเมืองต่อไป[25][26] จนกระทั่ง วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ทอท. จึงได้ย้ายพื้นที่ปฏิบัติการของสายการบินในประเทศไปยังอาคาร 1 ทั้งหมด อีกทั้งปลายปี พ.ศ. 2554 อาคาร 3 ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย และหลังจากนั้นยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ใช้งานได้ตามเดิม ปัจจุบันจึงไม่มีสายการบินใดที่เปิดทำการให้บริการที่อาคาร 3

ในอนาคต บมจ. ท่าอากาศยานไทย มีแผนรื้อถอนอาคาร 3 ทั้งหมด เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ ซึ่งย้ายการให้บริการมาจากอาคาร 1 โดยกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2571 จากนั้นจะปิดการใช้งานอาคาร 1 เพื่อปรับปรุงเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศต่อไป[21]

อาคารผู้โดยสารหลังเดิม

[แก้]

ในอดีตก่อนจะมีการก่อสร้างอาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมืองมีอาคารผู้โดยสารเพียงหลังเดียว (อยู่ทางทิศเหนือของอาคาร 1) สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2513–2516 แบ่งเป็น 3 ส่วน เรียงจากเหนือไปใต้

  • ส่วนที่ 1 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารในประเทศ เป็นอาคารชั้นเดียว
  • ส่วนที่ 2 อยู่กึ่งกลาง เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศขาออก เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้น 1 เป็นที่จอดรถ (แบ่งเป็น 2 ชั้นย่อย) ชั้น 2 เป็นห้องโถงเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและรับฝากสัมภาระไปกับอากาศยาน ชั้นที่เหลือเป็นร้านค้า ร้านอาหาร และที่ทำการสายการบิน ด้านหน้าอาคารส่วนนี้ ชั้น 2 เป็นชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ติดกับถนนยกระดับซึ่งเชื่อมต่อกับสะพานกลับรถเพื่อให้รถบนถนนวิภาวดีรังสิตขาออก (จากในเมือง) วิ่งเข้าสู่อาคารผู้โดยสารได้โดยตรง
  • ส่วนที่ 3 อยู่ทางทิศใต้ เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้า เป็นอาคาร 3 ชั้น บนหลังคาเป็นหอบังคับการบิน ด้านหน้าอาคารส่วนนี้เป็นชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ติดกับลานจอดรถ

อาคารผู้โดยสารหลังเดิมนี้ เชื่อมต่อกับอาคารเทียบเครื่องบินที่มีสะพานเทียบเครื่องบิน 4 ชุด (ขณะนั้นท่าอากาศยานดอนเมือง มีหลุมจอดแบบประชิดอาคาร 4 หลุมจอด โดยเครื่องบินจะจอดหันหน้าเข้าสู่อาคารในแนวเฉียงไปทางทิศเหนือ) ภายหลังอาคารส่วนนี้ใช้เป็นอาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ (นอร์ท คอร์ริดอร์) เชื่อมต่อกับอาคาร 1 และใช้มาจนถึงปัจจุบัน[6]

ปัจจุบัน อาคารส่วนที่ 1 ใช้เป็นอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล (ไพรเวท เจ็ท เทอร์มินอล) โดยก่อนหน้านั้นได้ปรับปรุงเป็นอาคารห้องรับรองพิเศษระหว่างประเทศ อาคารส่วนที่ 2 ใช้เป็นอาคารสำนักงานของท่าอากาศยาน โดยส่วนถนนยกระดับหน้าอาคารชั้น 2 ที่เชื่อมกับสะพานกลับรถใช้เป็นทางเข้าอาคารผู้โดยสาร 1 อาคารส่วนที่ 3 หรือเรียกว่า อาคารส่วนกลาง (เซ็นทรัล บล็อก) ใช้เป็นอาคารสำนักงานของสายการบินและส่วนบริการต่าง ๆ โดยลานจอดรถหน้าอาคารใช้เป็นลานจอดรถโดยสารขนาดใหญ่ รวมทั้งรถเวียนรับส่งระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง-สุวรรณภูมิ (ชัตเทิ้ล บัส) สำหรับหอบังคับการบินบนหลังคาอาคาร มีสร้างหลังใหม่ทดแทน บริเวณทิศใต้ของอาคารผู้โดยสาร 3 แล้ว

อาคารเทียบเครื่องบิน

[แก้]

ท่าอากาศยานดอนเมืองใช้อาคารผู้โดยสารรูปแบบคล้ายนิ้วมือ (เพียร์ ฟิงค์เกอร์ เทอร์มินอล) มีอาคารเทียบเครื่องบิน 6 อาคาร เรียงจากทิศเหนือไปใต้ คือ อาคารฝั่งเหนือ (นอร์ท คอร์ริดอร์ หรือเพียร์ 1) อาคาร 2 3 4 5 และ 6 (เพียร์ 2 3 4 5 และ 6) โดยอาคาร 2-6 ยื่นออกจากอาคารผู้โดยสารหลักเข้าไปในลานจอดอากาศยานในแนวตั้งฉาก ส่วนอาคารฝั่งเหนือยื่นออกไปทางทิศเหนือในแนวขนานกับอาคารผู้โดยสารหลัก ปัจจุบันอาคารเทียบเครื่องบิน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ อาคารที่เชื่อมกับอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 ประกอบด้วย อาคารฝั่งเหนือและอาคาร 2–5 กลุ่มที่ 2 คือ อาคารที่เชื่อมกับในประเทศหลังใหม่ (อาคารผู้โดยสาร 3) ซึ่งมีเฉพาะอาคาร 6 เท่านั้น โดยอาคารเทียบเครื่องบิน 3 และ 4 เป็นอาคารที่สร้างขึ้นพร้อมกับอาคารผู้โดยสาร 1 และเปิดใช้งานพร้อมกันในปี พ.ศ. 2530 ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2531 อาคารเทียบเครื่องบิน 2 จึงสร้างแล้วเสร็จ สำหรับอาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 จากนั้นในปี พ.ศ. 2536 อาคารเทียบเครื่องบิน 6 จึงสร้างแล้วเสร็จ พร้อมกับอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังใหม่ ส่วนอาคารเทียบเครื่องบิน 5 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543

อาคารเทียบเครื่องบินเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้น 3 เป็นห้องโถงพักรอผู้โดยสารขาออก (เกต โฮลด์ รูม) และทางออกขึ้นเครื่องที่มีสะพานเทียบเครื่องบิน (เกต) ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องบินที่จอดอยู่ในหลุมจอดประชิดอาคาร (คอนแทค เกต) ชั้น 2 เป็นโถงทางเดินผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 เป็นพื้นที่ระบบสายพานขนถ่ายกระเป๋า พื้นที่คัดแยกกระเป๋าสัมภาระ และพื้นที่ส่วนงานบริการลานจอด รวมทั้งในบางอาคารยังใช้เป็นห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก (บัส เกต โฮลด์ รูม) และทางออกขึ้นเครื่องที่ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน (บัส เกต) โดยมีจุดจอดรถบัสรับผู้โดยสารขาออกเพื่อไปยังหลุมจอดระยะไกล (รีโมท สแตนด์) ทั้งนี้ท่าอากาศยานดอนเมือง กำหนดให้หมายเลขของเกต ตรงกับหมายเลขของหลุมจอดประชิดอาคาร โดยใช้ตัวเลขสองหลัก ซึ่งหลักแรกแสดงหมายเลขของอาคารเทียบเครื่องบิน (1-6) หลักที่สองแสดงลำดับที่ของเกต/หลุมจอด ส่วนหมายเลขของบัส เกต จะใช้ตัวเลขหนึ่งหรือสองหลักที่ไม่ซ้ำกับเกตอื่น โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับหมายเลขของหลุมจอดระยะไกล

ก่อนปี พ.ศ. 2543

[แก้]

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2532-2538 ท่าอากาศยานดอนเมือง มีอาคารเทียบเครื่องบิน 4 อาคาร และหลุมจอดอากาศยานแบบประชิดอาคาร 26 หลุม สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี ที่มีความยาวปีกตั้งแต่ 52 เมตร แต่ไม่เกิน 65 เมตร 14 หลุม (เช่น โบอิง 747) และขนาด โค้ด ดี ที่มีความยาวปีกตั้งแต่ 36 เมตร แต่ไม่เกิน 52 เมตร 12 หลุม (เช่น แอร์บัส เอ300/เอ310 โบอิง 707/757/767 แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10/เอ็มดี-11 ล็อกฮีด แอล-1011 เป็นต้น) ดังนี้

  • อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ มีหลุมจอด 4 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 11–12 และ 14–15 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว รวมทั้งยังมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 1–7
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 7 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 4 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด ดี ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 21 23 25 และ 27 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว และฝั่งทิศใต้ 3 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 22 24 และ 26 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 3 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 7 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 31–37 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว ยกเว้นทางออกขึ้นเครื่อง 37 ใช้สะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 4 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 แต่มีหลุมจอดที่รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศใต้ เพิ่มอีก 1 หลุม รวมเป็น 8 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 41-48 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว

เมื่อมีการเปิดใช้อาคารผู้โดยสารในประเทศหลังใหม่ (อาคารผู้โดยสาร 3) พร้อมอาคารเทียบเครื่องบิน 6 ในปี พ.ศ. 2538 ท่าอากาศยานดอนเมืองจึงมีอาคารเทียบเครื่องบิน 5 อาคาร และหลุมจอดอากาศยานแบบประชิดอาคาร 34 หลุม สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี 15 หลุม ขนาด โค้ด ดี 17 หลุม และขนาด โค้ด ซี ที่มีความยาวปีกตั้งแต่ 24 เมตร แต่ไม่เกิน 36 เมตร (เช่น โบอิง 737) 2 หลุม ดังนี้

  • อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือและอาคาร 2-4 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 6 มีหลุมจอด 8 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 4 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 61 63 65 และ 67 และฝั่งทิศใต้ 4 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 62 64 66 และ 68 โดยหลุมจอด 61-65 รองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด ดี หลุมจอด 66-67 รองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด ซี และหลุมจอด 68 รองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี ทั้งหมดเชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว รวมทั้งยังมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 8–10

นอกจากนี้เมื่อมีการเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร 2 ในปี พ.ศ. 2538 เช่นกัน ได้มีการเปิดใช้ห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 71–77 เพิ่มเติมภายในอาคารผู้โดยสาร 2 โดยอยู่บริเวณปลายอาคารเทียบเครื่องบิน 4 ฝั่งทิศตะวันตก

หลังปี พ.ศ. 2543

[แก้]

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2541–2543 ได้มีการปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ในขณะนั้น ให้รองรับการบริการได้จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ในปี พ.ศ. 2547 โดยอาคารทั้งหมดยังคงใช้งานต่อมาจนกระทั่งย้ายการให้บริการไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี พ.ศ. 2549 ทั้งนี้การปรับปรุงประกอบด้วย (1) ลดจำนวนหลุมฝั่งทิศเหนือของอาคาร 2-4 จาก 4 หลุมเป็น 3 หลุม เพื่อให้หลุมจอดมีขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับรองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี ได้ (2) ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน 5 พร้อมทางเชื่อมฝั่งทิศใต้ (เซาท์ คอร์ริดอร์) เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสาร 2 (3) ลดจำนวนหลุมจอดฝั่งทิศใต้ของอาคาร 4 จาก 4 หลุมเป็น 3 หลุม เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างทางเชื่อมฝั่งทิศใต้ไปยังอาคาร 5 (4) ปรับปรุงห้องโถงพักรอผู้โดยสารขาออกของอาคาร 2-4 เพื่อให้มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น จากแบบที่มีการกั้นห้องแยกกันระหว่างแต่ละทางออกขึ้นเครื่องและอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร โดยมีทางเดินผู้โดยสารขาออกอยู่บนชั้น 3 ให้เป็นแบบรวมกันในห้องเดียวและอยู่บนชั้น 3 ของอาคาร โดยก่อสร้างทางลงไปยังสะพานเทียบเครื่องบินที่อยู่บนชั้น 2 ให้เป็นส่วนต่อเติมที่ยื่นออกไปนอกตัวอาคารเดิมตามตำแหน่งของสะพานเทียบเครื่องบิน (5) เปลี่ยนสะพานเทียบเครื่องบินของอาคารฝั่งเหนือและอาคาร 2-4 ฝั่งทิศใต้ จากแบบซองเดียว (ส่วนใหญ่) เป็นแบบ 2 ซองทั้งหมด (6) ก่อสร้างห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออกภายในอาคาร 6 เพิ่มเติมบริเวณปลายอาคารฝั่งทิศตะวันออก

หลังปี พ.ศ. 2543 เมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานดอนเมืองมีอาคารเทียบเครื่องบิน 6 อาคาร และหลุมจอดประชิดอาคาร 36 หลุม สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี 29 หลุม ขนาด โค้ด ดี 5 หลุม และขนาด โค้ด ซี 2 หลุม (แต่หลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี จำนวน 9 หลุม มีลักษณะจำกัด โดยรองรับเฉพาะเครื่องบินขนาด โค้ด อี ที่มีความยาวปีกไม่เกิน 61 เมตร เท่านั้น เช่น แอร์บัส เอ330 แอร์บัส เอ340-200/300 โบอิง 777-200/200อีอาร์) ดังนี้

  • อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ มีหลุมจอด 4 หลุม ขนาดเท่าเดิม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 11–12 และ 14–15 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง และมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 1–7
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 6 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 3 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ได้บางแบบ (ความยาวปีกไม่เกิน 61 เมตร) ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 21 23 และ 25 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว และฝั่งทิศใต้ 3 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ได้ทุกแบบ ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 22 24 และ 26 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 3 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 6 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 31–36
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 4 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 6 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 41–46
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 5 มีหลุมจอด 6 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 3 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 51 53 และ 55 และฝั่งทิศใต้ 3 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 52 54 และ 56 โดยทุกหลุมจอดรองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี และเชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง รวมทั้งยังมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 57–59
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 6 มีหลุมจอด 8 หลุม ขนาดเท่าเดิม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 61-68 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว และมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 8–10 และ 81–84

ในช่วงหลังการเปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดบริเวณทิศเหนือบางส่วน ที่ติดกับอาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ เพื่อใช้สร้างโรงเก็บอากาศยานและลานจอด สำหรับอากาศยานส่วนบุคคล พร้อมกับการปรับปรุงอาคารห้องรับรองพิเศษระหว่างประเทศเป็นอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล จึงได้มีการยกเลิกหลุมจอด 11 และทางออกขึ้นเครื่อง 11 โดยถอดสะพานเทียบเครื่องบินออก ทำให้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ เหลือหลุมจอด 3 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 12 และ 14–15 โดยยังมีขนาดเท่าเดิม (รองรับเครื่องบินขนาดโค้ด อี)

อาคารคลังสินค้า

[แก้]

คลังสินค้าท่าอากาศยานดอนเมือง

“Cargo Village” เป็นชื่อที่เรียกกลุ่มอาคารคลังสินค้าขนาดใหญ่ของท่าอากาศยานดอนเมือง อาคารดังกล่าวเริ่มเปิดใช้ในปี พ.ศ. 2529 มีพื้นที่ 37,400 ตารางเมตร ภายหลังขยายพื้นที่จนครอบคลุมอาณาบริเวณกว่า 100,740 ตารางเมตร และเป็นอาคารคลังสินค้าที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย สามารถให้บริการขนถ่าย สินค้าขาเข้า ขาออก และถ่ายลำได้ภายในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าปริมาณมาก ๆ คลังสินค้าแห่งนี้ใช้อุปกรณ์ที่ล้ำสมัยควบคุมด้วยระบบ Computer และได้มีการประสานงานกับกรมศุลกากรในการขนถ่ายสินค้าถ่ายลำทำให้สามารถลดเวลาในการปฏิบัติการลงให้ใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ( Gateway ) ที่สะดวกที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปเอเชีย ปัจจุบันคลังสินค้าท่าอากาศยานดอนเมืองได้ถูกแบ่งออกเป็นคลังสินค้าย่อยจำนวน 4 อาคาร ได้แก่

  • อาคารคลังสินค้า 1 มีพื้นที่ 24,840 ตารางเมตร แบ่งเป็นส่วนสำนักงาน 3,736 ตารางเมตร และพื้นที่เก็บสินค้า 21,104 ตารางเมตร
  • อาคารคลังสินค้า 2 มีพื้นที่ 41,777 ตารางเมตร แบ่งเป็นส่วนสำนักงาน 6,799 ตารางเมตร และพื้นที่เก็บสินค้า 34,978 ตารางเมตร
  • อาคารคลังสินค้า 3 มีพื้นที่ 30,638 ตารางเมตร แบ่งเป็นส่วนสำนักงาน 7,465 ตารางเมตรและพื้นที่เก็บสินค้า 23,173 ตารางเมตร
  • อาคารคลังสินค้า 4 มีพื้นที่ 20,277 ตารางเมตร แบ่งเป็นส่วนสำนักงาน 6,016 ตารางเมตรและพื้นที่เก็บสินค้า 14,261 ตารางเมตร


อาคารคลังสินค้าท่าอากาศยานดอนเมืองสามารถรองรับสินค้าได้ 800,000 ตัน ต่อปี โดยมีอาคารคลังสินค้า 1–4 ปัจจุบัน เปิดใช้เพียงอาคาร 2 เท่านั้น ด้วยพื้นที่ให้บริการขนาด 5,000 ตารางเมตร เป็นอาคารคลังสินค้าระหว่างประเทศ โดย บริษัท Asia Ground Service ,Thai Lion Air ,Thai AirAsiaและ นกแอร์ ในอนาคตเมื่อมีการปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 อาจลดพื้นที่อาคารส่งสินค้าทางอากาศลดลงมาเหลือ เพียง 500,000 ตัน เนื่องจากอาจแบ่งพื้นที่อาคารคลังสินค้าที่ 3 และ 4 มาสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานของสายการบินในอนาคต จะมีการพัฒนาอาคารคลังสินค้า 1 และ 2 ที่มีสภาพทรุดโทรม นับจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ จะปรับปรุงเพื่อขยายปริมาณสินค้าจากใต้ท้องเครื่องบินระหว่างประเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

อาคารอื่นที่มีสายการบินเปิดใช้

[แก้]
อาคารคลังสินค้า
Airbus Helicopters HS-BHQ ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
Airbus 340-500 ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
Airbus 320-214(CJ) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
Boeing 737-9GP ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

อาคารรับรองพิเศษ

[แก้]
  • เอ็มเจ็ท - บริการเครื่องบินโดยสารส่วนบุคคล (เช่าเหมาลำ)
  • สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง - บริการเครื่องบินโดยสารส่วนบุคคล (เช่าเหมาลำ) ในนาม Executive Wings และเครื่องบินพยาบาลในนาม Medical Wings
  • บางกอกเฮลิคอปเตอร์เซอร์วิส - บริการเฮลิคอปเตอร์พยาบาล ปัจจุบันมีเฮลิคอปเตอร์ทะเบียน HS-BHS และ HS-BHQ

สายการบินและจุดหมายปลายทาง

[แก้]
สายการบิน จุดหมายปลายทาง หมายเหตุ
ชิงเต่าแอร์ไลน์ ต้าเหลียน,นครอี๋ชาง ระหว่างประเทศ
เซบูแปซิฟิก มะนิลา ระหว่างประเทศ
เอเชียฟิลิปปินส์ มะนิลา ระหว่างประเทศ
ไทเกอร์แอร์ไต้หวัน ไทเป–เถา–ยฺเหวียน ระหว่างประเทศ
ไทยไลอ้อนแอร์ โกจจิ,ยังจิ๋ว,ซานย่า,เขาหวง,เทียนจิน,กว่างโจว, กาฐมาณฑุ, คุนหมิง, โคลัมโบ–บันดาราไนเก, จาการ์ตา–ซูการ์โน–ฮัตตา, จี่หนาน, เจิ้งโจว, ฉงชิ่ง, ฉางชา, ฉางโจว, เฉิงตู, เชินเจิ้น, ซีอาน, เซี่ยงไฮ้–ผู่ตง, เด็นปาซาร์/บาหลี, โตเกียว–นาริตะ , เทียนจิน, ไทเป–เถา–ยฺเหวียน, ธากา, นาโงยะ–เซ็นแทรร์, ฟูกูโอกะ, มุมไบ, ย่างกุ้ง, สิงคโปร์, หนานจิง, หนานชาง, หนิงปัว, หางโจว, อู่ฮัน, โอซากะ–คันไซ, ฮานอย, อะห์มดาบาด
เฉพาะฤดูกาล: ไท่–ยฺเหวียน, สหฺวีโจว
ระหว่างประเทศ
ไทยไลอ้อนแอร์ กระบี่, ขอนแก่น, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, นครศรีธรรมราช, พิษณุโลก, ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่, อุดรธานี, อุบลราชธานี ภายในประเทศ
ไทยแอร์เอเชียเอกซ์ นาโกยา, เซี่ยงไฮ้-ผู่ตง, เบงคาลูรุ, ดูไบ, ทบิลิซี[27], ชัรญะฮ์[28], ซิดนีย์[29] (1 ธันวาคม), ฮ่องกง[30], เมลเบิร์น, เดลี[31], บริสเบน[32], โอกินาวา, โอซากะ–คันไซ, โตเกียว–นาริตะ, โซล–อินช็อน , ฮาร์บิน (24 ธันวาคม) ระหว่างประเทศ
ไทยแอร์เอเชีย เมืองพระสีหนุ, กว่างโจว,เกาสฺยง, กัวลาลัมเปอร์–นานาชาติ, เกิ่นเทอ, โกชิ, โกลกาตา, คุนหมิง, โคลัมโบ–บันดาราไนเก[33], เจนไน, เจียหยาง, ฉงชิ่ง, ฉางชา, เฉิงตู, ชัยปุระ, เชินเจิ้น, ซานย่า, ซีอาน, ญาจาง, ดานัง, เด็นปาซาร์/บาหลี, เบงคาลูรุ, ปีนัง, พนมเปญ, พาราณสี, มัณฑะเลย์ , มาเก๊า, มาเล , ไต้หวันเถา-ยฺเหวียน, ย่างกุ้ง , เวียงจันทน์ , สิงคโปร์ , เสียมราฐ–อังกอร์, หนานจิง, หลวงพระบาง, หางโจว , อะห์มดาบาด, อู่ฮัน , ฮ่องกง, โตเกียว-นาริตะ , ฟูกูโอกะ, ฮานอย , โฮจิมินห์,คยา , โอกินาวา , ติรุจิรัปปัลลิ, ไฮเดอราบาด , โอซากะ–คันไซ ,นาโงยะ–เซ็นแทรร์ , ฟู้โกว๊ก , โซล–อินช็อน , ซัปโปโระ–ชิโตเซะ , ซิดนีย์,
เฉพาะฤดูกาล: หนิงปัว
ระหว่างประเทศ
ไทยแอร์เอเชีย กระบี่, ขอนแก่น, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, นครพนม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, น่าน, บุรีรัมย์, พิษณุโลก, ภูเก็ต, ร้อยเอ็ด, ระนอง, เลย, สกลนคร, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่, อุดรธานี, อุบลราชธานี, แม่สอด อนาคต, ลำปาง ภายในประเทศ
นกแอร์ คูวาหตี, เจิ้งโจว, เซี่ยงไฮ้–ผู่ตง, หนานทง, ย่างกุ้ง, เหยียนเฉิง, เหอเฝย์, ไฮเดอราบาด, ฮิโรชิมะ, โฮจิมินห์
เฉพาะฤดูกาล: หนานจิง
ระหว่างประเทศ
นกแอร์ กระบี่ , เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, นครศรีธรรมราช, น่าน, บุรีรัมย์,ชุมพร , พิษณุโลก, แพร่, ภูเก็ต, แม่สอด, แม่ฮ่องสอน, ร้อยเอ็ด, ระนอง, ลำปาง, เลย, สกลนคร, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่, เบตง, อุดรธานี, อุบลราชธานี
เช่าเหมาลำทหาร/ตำรวจ: นราธิวาส, หาดใหญ่
ภายในประเทศ
บางกอกแอร์เวย์ สมุย[34] ภายในประเทศ
บาติกแอร์ จาการ์ตา–ซูการ์โน–ฮัตตา[35] ระหว่างประเทศ
มาลินโดแอร์ กัวลาลัมเปอร์–นานาชาติ ระหว่างประเทศ
สายการบินสกู๊ต โตเกียว–นาริตะ, สิงคโปร์, โอซากะ–คันไซ ระหว่างประเทศ
อินโดนีเซียแอร์เอเชีย จาการ์ตา–ซูการ์โน–ฮัตตา, เด็นปาซาร์/บาหลี, เมดัน ระหว่างประเทศ
แอร์เอเชีย กัวลาลัมเปอร์–นานาชาติ, โกตากีนาบาลู หยุดชั่วคราว ระหว่างประเทศ
แอร์เอเชียฟิลิปปินส์ มะนิลา ระหว่างประเทศ
แอร์เอเชียแคมโบเดีย พนมเปญ,เสียมราฐ–อังกอร์ อนาคต ระหว่างประเทศ

สถิติ

[แก้]
ฝูงบินของการบินไทย ก่อนย้ายฐานการบินไปที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปี พ.ศ. 2549
ภายในอาคารผู้โดยสาร 1

เส้นทางการบินระหว่างประเทศ

[แก้]
เส้นทางการบินระหว่างประเทศ ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด (พ.ศ. 2556)[36]
อันดับ ท่าอากาศยาน จำนวนผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2556 (คน) ความเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) จำนวนผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2555 (คน)
1 กัวลาลัมเปอร์ 976,559 เพิ่มขึ้น390.58 199,063
2 สิงคโปร์ 552,663 เพิ่มขึ้น288.85 142,128
3 มาเก๊า 425,673 เพิ่มขึ้น376.18 89,393
4 ฮ่องกง 290,767 เพิ่มขึ้น408.96 57,130
5 โฮจิมินห์ซิตี 257,856 เพิ่มขึ้น416.57 49,917
6 ย่างกุ้ง 245,083 เพิ่มขึ้น275.67 65,239
7 ฉงชิ่ง 204,499 เพิ่มขึ้น357.16 44,732
8 จาการ์ตา-ซูการ์โน-ฮัตตา 202,479 เพิ่มขึ้น560.06 30,676
9 กว่างโจว 177,805 เพิ่มขึ้น523.53 28,516
10 อู่ฮั่น 156,853 เพิ่มขึ้น463 27,860

เส้นทางการบินภายในประเทศ

[แก้]
เส้นทางการบินภายในประเทศ ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด (พ.ศ. 2556)[36]
อันดับ ท่าอากาศยาน จำนวนผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2556 (คน) ความเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ) จำนวนผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2555 (คน)
1 เชียงใหม่ 1,872,291 เพิ่มขึ้น131.16 809,960
2 ภูเก็ต 1,782,840 เพิ่มขึ้น221.81 554,003
3 หาดใหญ่ 1,657,984 เพิ่มขึ้น118.78 757,825
4 อุดรธานี 850,390 เพิ่มขึ้น83.29 463,949
5 นครศรีธรรมราช 819,640 เพิ่มขึ้น111.32 387,861
6 สุราษฎร์ธานี 765,174 เพิ่มขึ้น135.12 325,436
7 อุบลราชธานี 681,753 เพิ่มขึ้น99.88 341,080
8 เชียงราย 675,835 เพิ่มขึ้น116.48 312,192
9 กระบี่ 542,709 เพิ่มขึ้น371.87 115,012
10 ตรัง 487,023 เพิ่มขึ้น123.97 217,452

ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศ

[แก้]
ข้อมูลสถิติการขนส่งทางอากาศในแต่ละปีปฏิทิน[37]
ปี (พ.ศ.) ผู้โดยสาร ความเปลี่ยนแปลง จำนวนเที่ยวบิน คาร์โก้ (ตัน)
2556 16,479,227 เพิ่มขึ้น 175.43% 144,108 18.296
2557 21,546,568 เพิ่มขึ้น 30.75% 172,681 29.086
2558 30,304,183 เพิ่มขึ้น 40.65% 224,074 45,488
2559 35,203,757 เพิ่มขึ้น 16.17% 244,296 67.884
2560 38,299,757 เพิ่มขึ้น 8.8% 256,760 67.777
2561 40,758,148 เพิ่มขึ้น 6.4% 272,361 55.250
2562 41,312,443 เพิ่มขึ้น 1.4% 272,363 43.566
2563 15,765,854 ลดลง 61.8% 133,307 15.226
2564 (ม.ค. - พ.ย.) 4,127,243 44,275 20.379

การคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยาน

[แก้]

รถโดยสารประจำทาง

[แก้]
  • ฝั่งหน้าท่าอากาศยานดอนเมือง
    • รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
      • 59 อู่รังสิต - ดอนเมือง - สนามหลวง
      • 95ก อู่รังสิต - บางกะปิ
      • 510 มธ.ศูนย์รังสิต - ดอนเมือง - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
      • 555 อู่รังสิต - การบินไทย - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
    • รถโดยสารปรับอากาศของบริษัท สมาร์ทบัส (ในเครือไทยสมายล์บัส) จำกัด
      • 1-17 (187) รังสิตคลอง 3 - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
      • 1-18E (504) รังสิต - บางรัก
      • 1-24E (538) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี - รพ.สงฆ์
      • S2 (554) รังสิต - รามอินทรา กม.8 - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
    • รถโดยสารชานเมือง
      • 356 (สีแดง) ปากเกร็ด - สะพานใหม่ - ดอนเมือง
      • 356 (สีเขียว) ปากเกร็ด - ดอนเมือง - สะพานใหม่
    • รถตู้และรถมินิบัส
      • ต.95 ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต - ม.รามคำแหง
      • ต.356 ปากเกร็ด - ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต
  • ฝั่งภายในท่าอากาศยานดอนเมือง
    • รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
      • A1 ท่าอากาศยานดอนเมือง - หมอชิต 2
      • A2 ท่าอากาศยานดอนเมือง - อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
      • A3 ท่าอากาศยานดอนเมือง - สวนลุมพินี
      • A4 ท่าอากาศยานดอนเมือง - สนามหลวง
    • รถโดยสารของ AOT
      • Shuttle Bus ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - ท่าอากาศยานดอนเมือง (สงวนสิทธิ์เฉพาะผู้โดยสารที่ต้องต่อเครื่องบินเท่านั้น โดยผู้ใช้บริการจะต้องมีตั๋วโดยสารของสายการบินที่จะต้องเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานเท่านั้น จึงจะสามารถใช้บริการได้)
    • รถตู้
      • ต.555 ท่าอากาศยายสุวรรณภูมิ - ท่าอากาศยานดอนเมือง


ท่าอากาศยานดอนเมือง (ภายใน)

[แก้]
สายที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ประเภทของรถที่ให้บริการ ผู้ให้บริการ หมายเหตุ
A1 Handicapped/disabled access (1) ท่าอากาศยานดอนเมือง รถโดยสารประจำทาง สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) 1.รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีฟ้า (ใช้แก๊สธรรมชาติ)

2.รถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สีฟ้า (ไฮบริด)

ขสมก.
A2 Handicapped/disabled access (1) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 1.รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีฟ้า (ใช้แก๊สธรรมชาติ)
A3 Handicapped/disabled access (1) สวนลุมพินี
A4 Handicapped/disabled access สนามหลวง

ถนนวิภาวดีรังสิต

[แก้]

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

[แก้]
  • Handicapped/disabled access เส้นทางที่มีรถรองรับวีลแชร์
สายที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ผู้ให้บริการ ประเภทของรถที่ให้บริการ หมายเหตุ
1-8 (59) (3) รถโดยสารประจำทาง อู่รังสิต สนามหลวง ขสมก. 1.รถโดยสารประจำทางสีครีม-แดง มีรถให้บริการตลอดคืน
95ก.(1) บางกะปิ
1-19 (510) Handicapped/disabled access (2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 1.รถโดยสารประจำทางสีครีม-แดง

2.รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู)

555 (3) รถโดยสารประจำทาง อู่รังสิต ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1.รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีส้ม (ยูโรทู)

รถเอกชน

[แก้]
  • Handicapped/disabled access เส้นทางที่มีรถรองรับวีลแชร์
สายที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ผู้ให้บริการ ประเภทของรถที่ให้บริการ หมายเหตุ
187 (1-17) Handicapped/disabled access รังสิตคลอง 3 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บจก.ธรรมนัส ทรานสปอร์ต 1.รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีน้ำเงิน (ใช้พลังงานไฟฟ้า)
504 (1-18E) Handicapped/disabled access รังสิต บางรัก บจก.สมาร์ทบัส
538 (1-24E) Handicapped/disabled access มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รพ.สงฆ์
554 (S2) Handicapped/disabled access รังสิต ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

รถหมวด 3 (ระหว่างจังหวัด)

[แก้]
สายที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ผู้ให้บริการ ประเภทของรถที่ให้บริการ หมายเหตุ
ต.356 ปากเกร็ด รังสิต บจก.สหายยนต์ รถโดยสารประจำทางปรับอากาศขนาดเล็กสีขาว-เขียว

รถตู้โดยสารประจำทางสีขาว-เขียว

รถตู้โดยสารปรับอากาศร่วมบริการขสมก.

[แก้]
สายที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ประเภทของรถที่ให้บริการ หมายเหตุ
ต.95 ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง รถโดยสารประจำทางปรับอากาศขนาดเล็กสีขาวแถบเขียว-นํ้าเงิน

รถตู้โดยสารประจำทางสีขาวแถบเขียว-นํ้าเงิน

ต.83 เดอะมอลล์บางแค เมเจอร์รังสิต รถตู้โดยสารประจำทางสีขาวแถบเขียว-นํ้าเงิน

รถไฟฟ้า

[แก้]

ท่าอากาศยานดอนเมือง สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมือง สายธานีรัถยา ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - รังสิต ที่สถานีดอนเมืองได้ในประตูที่ 4 และ 6 ซึ่งจะมีทางเดินสกายวอล์ค เข้า/ออก อาคารผู้โดยสารชั่น 2 ฝั่งทิศใต้ ท่าอากาศยานดอนเมืองได้โดยตรง

แผนการพัฒนา

[แก้]

ปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับผู้โดยสารสูงสุด 50ล้านคน/ปี Terminal 1 ปรับตึกเหมือน T2 & เป็นตึกบินในประเทศ คาดว่าจะเปิดทำการปี 2572 Terminal 3 รื้อและทำการสร้างใหม่ คาดว่าจะเปิดทำการปี 2569 เพิ่มที่จอดรถรวม 10,000 คัน เดิมสนามบินดอนเมืองมีพื้นที่รองรับผู้โดยสาร 30ล้านคน/ปี

  • พื้นที่อาคารผู้โดยสารในประเทศ 106,000 ตร.ม.
  • พื้นที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 137,000 ตร.ม.
  • จำนวนที่จอดรถ 4,400 คัน
  • ระบบถนน 1,200 - 2,500 คัน/ชั่วโมง

หากปรับปรุงพัฒนาแล้วเสร็จ จะปรับปรุงให้มีผู้โดยสารได้มากถึง 50ล้านคน/ปี

  • อาคารผู้โดยสารในประเทศ 240,000 ตร.ม.
  • อาคารผู้โดยสารต่างประเทศ 166,000 ตร.ม.
  • จำนวนที่จอดรถ 10,000 คัน
  • ระบบถนน 2,500 - 5,000 คัน/ชั่วโมง

คาดว่าทั้งโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง จะแล้วเสร็จและเปิดใช้ในปี 2572

เหตุการณ์เฉพาะกิจ

[แก้]
  • 6 ธันวาคม พ.ศ. 2474 เครื่องบินสายการบินเคแอลเอ็มทะเบียน PH-AFO ตกหลังทำการวิ่งขึ้นจากท่าอากาศยานดอนเมืองไม่นานมีผู้เสียชีวิต 6 ราย[38]
  • 11 ตุลาคม พ.ศ. 2497 เครื่องบินของกองทัพอากาศทะเบียน L2-10/96 แบบเครื่องบิน Douglas C-47B-25-DK (DC-3) [39]ประสบอุบัติเหตุตกที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย[40]
  • 25 ธันวาคม พ.ศ. 2519 เครื่องบินสายการบินอียิปต์แอร์ เที่ยวบินที่ 864 ตกห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง 2 กิโลเมตร มีผู้เสียชีวิต 71 ราย
  • 28 มีนาคม พ.ศ. 2524 มีการจี้เครื่องบินสายการบิน การูดาอินโดนีเซีย เที่ยวบิน 206 มีผู้เสียชีวิต 5 ราย
  • 9 กันยายน พ.ศ. 2531 เวียดนามแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 831 ประสบอุบัติเหตุตกที่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยมีปลายทางที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้เสียชีวิต 76 ราย
  • 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 เลาดาแอร์ เที่ยวบินที่ 004 ประสบอุบัติเหตุตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีผู้เสียชีวิต 223 ราย
  • 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ปีเยิร์ก ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักข่าวชาวอังกฤษ julie kaufman ขณะที่อยู่ในท่าอากาศยานดอนเมือง[41]
  • 23 กันยายน พ.ศ. 2542 เครื่องบินของสายการบินแควนตัส เที่ยวบินที่ QF1 เครื่องบินแบบ B747-400 ผู้โดยสาร 391 ราย ลูกเรือ 19 ราย ลื่นไถลออกนอกรันเวย์ บาดเจ็บเล็กน้อย 39 ราย
  • 3 มีนาคม พ.ศ. 2544 เครื่องบินของ การบินไทย เที่ยวบินที่ 114 เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินไฟไหม้ขณะจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
  • พ.ศ. 2551 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 ในเดือนสิงหาคม 2551 ที่อาคารสำนักงาน อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 1,2 และอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เดือนกันยายน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุญาตให้สำนักนายกรัฐมนตรีเข้าใช้พื้นที่ประกอบการต่าง ๆ เป็นการชั่วคราวในระยะสั้น เพื่อใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่กันยายน 2551 จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ซึ่งสลายการชุมนุมไปแล้ว สำหรับในอดีต ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีคณะรัฐมนตรีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ปฏิบัติการเฉพาะพื้นที่อาคารรับรองพิเศษของท่าอากาศยานฯ เท่านั้น
  • พ.ศ. 2552 มีการจัดแสดงนิทรรศการการบินพลเรือน ที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2 การแสดงเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ที่ลานจอดและทางวิ่งเครื่องบิน (อนึ่งเคยทำการแสดงมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2530 และ พ.ศ. 2537) และการเปิดตัวอัลบั้มของ ทาทา ยัง ในชุด ทาทาเทกยูทูเดอะเวิลด์ และมีการฉายปฐมทัศน์ จากอัลบั้ม มายบลัดดีวาเลนไทน์ ที่ลานจอดเครื่องบิน
  • พ.ศ. 2553 มีการจัดแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการพลเรือนประจำปีที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2[42] และการจัดแสดงนิทรรศการการบินพลเรือน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม ที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ 2
  • พ.ศ. 2554 มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) ของรัฐบาลไทย ณ อาคารผู้โดยสารภายในประเทศและอาคารสำนักงานท่าอากาศยาน[43]
    • 25 ตุลาคม การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ได้ประกาศปิดใช้สนามบินดอนเมืองชั่วคราว เนื่องจากมีปริมาณน้ำเข้าท่วมเข้ารันเวย์บางส่วน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบิน[44]
  • พ.ศ. 2555
    • 6 มีนาคม สายการบินนกแอร์กลับมาทำการบินที่สนามบินดอนเมืองตามเดิม[45]
    • 27 มิถุนายน สายการบินโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ กลับมาทำการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองตามเดิม
    • 1 ตุลาคม สายการบินไทยแอร์เอเชียได้เปลี่ยนฐานการบินหลักจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกลับมาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และทำให้ท่าอากาศยานดอนเมืองกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังจากปิดไปหลังการเปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ[46]
  • 5 มีนาคม พ.ศ. 2560 เครื่องบินเคลื่อนย้ายผู้ป่วยของสายการบิน แอร์แชร์เตอร์เซอร์วิส ทะเบียน VT-AVG ปลายทางท่าอากาศยานดอนเมือง[47] พร้อมนักบิน 2 คน และผู้โดยสาร 3 คน[48] ลงจอดฉุกเฉินและประสบอุบัติเหตุบริเวณท่าอากาศยานกำแพงแสน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
  • 23​ เมษายน​ พ.ศ. 2563 เครื่องบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียเอกซ์เที่ยวบินที่ 212 ทำการบินจากดอนเมืองแวะปีนัง​ปลายทางกรุงปราก ​ก่อนบินกลับในเที่ยวบินที่ 213 จากกรุงปราก​บินตรงมายังดอนเมือง ในขณะที่มีประกาศงดทำการบินทั้งนี้เพื่อขนผู้โดยสารชาวยุโรปกลับประเทศ​ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
  • 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ท่าอากาศยานดอนเมืองรับเครื่องบินจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมด 4 เที่ยวบิน ได้แก่ไทยแอร์เอเชียเที่ยวบินที่ FD3109 ท่าอากาศยานหาดใหญ่-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง[49]ไทยไลอ้อนแอร์เที่ยวบินที่ SL811 ท่าอากาศยานกระบี่-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง[50]ไทยแอร์เอเชียเที่ยวบินที่ FD3026 ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง[51]และไทยแอร์เอเชียเที่ยวบินที่ FD611 ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง[52] เนื่องจากสภาพอากาศฝนตกหนัก
  • 25 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เที่ยวบินเช่าเหมาลำที่มีจูเลียน อาสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ ซึ่งเพิ่งถูกปล่อยตัวจากเรือนจำอังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร แวะพักเพื่อเติมเชื้อเพลิงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ก่อนเดินทางต่อไปยังเกาะไซปันในหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา[53]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Air Transport Statistic". Airports of Thailand. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2024.
  2. ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง รายชื่อสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ (International Airport) พ.ศ. ๒๕๖๖
  3. "Midnight Initiation for Suvarnabhumi". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 พฤษภาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม 2022.
  4. "พระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2522" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  5. "4 สายการบิน สมัครใจใช้ดอนเมือง 25 มี ค. นี้". กระปุก.คอม. 21 กุมภาพันธ์ 2007. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2013.
  6. 6.0 6.1 "รำลึกถึงสนามบินดอนเมือง ตอน 1 จากอดีตถึงปัจจุบัน". PANTIP.COM. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  7. 7.0 7.1 "รำลึกถึงสนามบินดอนเมือง ตอน 2". PANTIP.COM. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  8. "รำลึกถึงสนามบินดอนเมือง ตอน 3". PANTIP.COM. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  9. "ผู้โดยสารกว่า 86 ล้านคนใช้บริการท่าอากาศยาน ทอท. ในปี 2556". บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน). 8 ธันวาคม 2013. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กรกฎาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2014.
  10. "ย้ายเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิกลับดอนเมือง…นโยบายระยะยาวต้องชัดเจน". มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1947. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2016. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  11. "3 สายการบินพร้อมให้บริการที่ดอนเมือง 25 มี.ค.นี้". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กันยายน 2013. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  12. "ประกาศเรื่อง การให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง". บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.). กรกฎาคม 2012. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  13. "ดอนเมืองประกาศย้ายอาคารผู้โดยสารในประเทศ ดีเดย์ 1 ส.ค." ข่าวไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  14. "น้ำท่วมรันเวย์ ทอท.ปิดสนามบินดอนเมืองถึงสิ้นเดือน". ข่าวไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  15. "เปิดใช้ดอนเมืองวันแรกหลังน้ำท่วมฉลุย". ข่าวไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  16. "สนามบินดอนเมือง เปิดบริการวันแรกราบรื่น "ทอท." แจงแผนป้องกันน้ำท่วม-เร่งกำจัดเชื้อราในอาคาร". ASTV ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  17. "1 ตุลาคม "ดอนเมือง" พร้อมเต็ม 100 สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  18. "ท่าอากาศยานดอนเมืองพร้อมรับสายการบินย้ายจากสุวรรณภูมิ 1 ตุลาคมนี้". บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 กันยายน 2013. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  19. "1 ตุลาคม "ดอนเมือง"พร้อมเต็ม 100 สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  20. "[CR] บินหางแดงไปสำรวจบ้านใหม่ ดอนเมือง ขาเข้า-ขาออก เข้าเมือง ต่อเครื่อง อาหารการกิน เล้าจน์ ห้องน้ำหรู !!". PANTIP.COM. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  21. 21.0 21.1 Siripanjana, Maneerat. "ปีหน้า "สนามบินดอนเมือง" ทุบอาคารร้าง! สร้างใหม่หลังที่ 3 บริการอินเตอร์". เดลินิวส์.
  22. 19 ปี การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ: การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย. 1998. ISBN 974-86303-7-4.
  23. "ดอนเมืองพร้อมเปิดใช้ เตรียมรับเที่ยวแรกวันนี้ 6 โมง". Krungthep Metro Travel. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  24. "การบินไทยพร้อมให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศที่ท่าอากาศยานดอนเมือง". Krungthep Metro Travel. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  25. "ทอท.แจงย้ายเที่ยวบิน จากดอนเมืองไปสุวรรณภูมิ". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  26. "นกแอร์-วันทูโกยึดดอนเมือง ย้ำไม่ย้ายกลับสุวรรณภูมิ". แนวหน้า. สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2013.
  27. xj908
  28. XJ920
  29. XJ383
  30. XJ595
  31. TAX340
  32. TAX310
  33. "AirAsia to launch Colombo-Bangkok direct flights". Wijeya Newspapers. 17 กันยายน 2019.
  34. "บางกอกแอร์เวย์ส เปิดแล้ว! เส้นทางบินดอนเมือง-สมุย". ประชาชาติธุรกิจ. 29 ตุลาคม 2023.
  35. Jim Liu (18 พฤศจิกายน 2019). "Batik Air plans Bangkok launch from late-Dec 2019". Routes online.
  36. 36.0 36.1 "AOT Traffic 2013 (Statistic Report)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015.
  37. "ข้อมูลสถิติท่าอากาศยานสังกัดบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)". บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน). สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2022.
  38. Crash Fokker F7b3m Bangkok
  39. "Database » 1954". Aviation Safety Network.
  40. "Crash of a Douglas C-47B-25-DK in Bangkok: 4 killed". Bureau of Aircraft Accidents Archives (B3A).
  41. Chris Colin (1 พฤษภาคม 2001). "Bjork". Salon.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กันยายน 2011. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2016.
  42. "ก.ไอซีที ชวนร่วมชมนิทรรศการวันข้าราชการพลเรือน 1-4 เมษายนนี้". ThaiPR.net. 29 มีนาคม 2010.
  43. "ตั้งศูนย์'ศปภ.'แก้วิกฤติน้ำท่วม". กรุงเทพธุรกิจ. 7 ตุลาคม 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มิถุนายน 2013. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2012.
  44. "สนามบินดอนเมืองปิดชั่วคราวหนีน้ำท่วม-ศปภ.ยืนยันยังปักหลัก". ข่าวสด. 25 ตุลาคม 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2012.
  45. "นกแอร์กลับมาให้บริการบินที่ดอนเมือง". ผู้จัดการออนไลน์. 13 กุมภาพันธ์ 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2017.
  46. "ดอนเมือง ได้ฤกษ์ดี เปิดให้บริการเต็มรูปแบบอีกครั้งวันนี้". เอ็มไทย. 1 ตุลาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ตุลาคม 2012.
  47. "ASN Wikibase Occurrence # 193994". Aviation Safety Network.
  48. "Crash of a Pilatus PC-12/47 in Kamphaeng Saen: 1 killed". Bureau of Aircraft Accidents Archives (B3A).
  49. FD3109
  50. SL811
  51. FD3026
  52. FD611
  53. "เที่ยวบิน'เจ้าพ่อวิกิลีกส์' แวะเติมน้ำมันดอนเมือง ก่อนมุ่งหน้าไปขึ้นศาล". bangkokbiznews. 25 มิถุนายน 2024.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]