ชีมาบูเอ
เชนนี ดิ เป็บโป (โจวันนี) ชิมาบูเย (ภาษาอิตาลี: Cenni di Pepo (Giovanni) Cimabue) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า เบนชิเวียนี ดิ เป็บโป (Bencivieni Di Pepo) หรือในภาษาอิตาลีสมัยใหม่ว่า เบนเวนูโต ดิ จุยเซ็พปี (Benvenuto Di Giuseppe) (ประมาณ ค.ศ. 1240-ประมาณ ค.ศ. 1302) เป็นจิตรกรและช่างโมเสกชาวอิตาลีจากเมืองฟลอเรนซ์ (ผู้เป็นอาจารย์ของจอตโต ดี บอนโดเน) ชิมาบูเยมีบทบาทสำคัญต่องานจิตรกรรมในประเทศอิตาลี และถือว่าเป็นจิตรกรคนสำคัญคนสุดท้ายของสมัยศิลปะไบแซนไทน์[ต้องการอ้างอิง] ศิลปะยุคนี้ประกอบด้วยโครงสร้างและทิวทัศน์ที่ยังเป็นสองมิติและเป็นสมัยที่เน้นการตกแต่ง (highly stylized) คล้ายจิตรกรรมฝาผนังในวัดไทย ชิมาบูเยเป็นผู้ริเริ่มการวาดแบบใกล้เคียงธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากรูปคนที่ขนาดสัดส่วนเท่าคนจริงและการเริ่มใช้แสงเงาบ้างเล็กน้อย
ประวัติ
[แก้]หลักฐานเกี่ยวกับชีวิตของชิมาบูเยมีน้อยมาก เราจึงไม่ค่อยทราบประวัติชีวิตของเขานอกจากทราบว่าเกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ จอร์โจ วาซารีกล่าวถึงชิมาบูเยในหนังสือ “ชีวิตจิตรกร” (Le Vite) ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะเล่มแรกแต่เขียน 200 ปีหลังจากชิมาบูเยเสียชีวิตไปแล้ว ฉะนั้นความเที่ยงตรงจึงไม่เป็นที่แน่นอน วาซารีกล่าวว่าเมื่อชิมาบูเยยังเด็ก “แทนที่จะเรียนหนังสือ ชิมาบูเยใช้เวลาส่วนใหญ่วาดรูปคน ม้า บ้าน และสิ่งต่าง ๆ ที่เขาจินตนาการ” แต่คำบรรยายที่ทำให้เราเห็นถึงความมุ่งมั่นของศิลปินเป็นคำบรรยายที่มักจะใช้กันมากในการบรรยายชีวประวัติของศิลปินระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นอกจากวาซารีแล้ว ดันเต อาลีกีเอรีก็กล่าวถึงชิมาบูเยในหนังสือเรื่อง “Purgatorio”[1]
ชิมาบูเยเสียชีวิตที่ปิซา
งาน
[แก้]ถ้าดูจากค่าสัญญาว่าจ้างที่ได้รับชิมาบูเยก็ดูเหมือนว่าจะเป็นศิลปินที่มี่ชื่อเสียงในสมัยนั้น ขณะที่ชิมาบูเยทำงานอยู่ที่ฟลอเรนซ์ ดุชโชเป็นจิตรกรคนสำคัญของเมืองเซียนนาและอาจจะเป็นคู่แข่งของชิมาบูเยก็ได้ งานชิ้นสำคัญที่ชิมาบูเยได้รับคืองานจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่สองบริเวณในมหาวิหารเซนต์ฟรานซิสแห่งอาซิซิ ซึ่งอยู่ในบริเวณแขนกางเขนเป็นภาพ “พระเยซูบนกางเขน” (Crucifixion) และ “การนำร่างพระเยซูลงจากกางเขน” (Deposition) แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บริเวณนี้ค่อนข้างมืดจึงทำให้เห็นผลงานของชิมาบูเยอย่างไม่ได้อย่างเต็มที่ ระหว่างที่มหาวิหารถูกยึดครองโดยทหารชาวฝรั่งเศส ก็เกิดไฟไหม้ฟางที่ทำให้ความเสียหายแก่ภาพเขียน สีขาวที่มีเงินเป็นส่วนผสมทำปฏิกิริยากับอ็อกซิเจนทำให้กลายเป็นสีดำ ทำให้ใบหน้าและเสื้อผ้ากลายเป็นเน็กกาทีฟ
งานของชิมาบูเยที่ได้รับความเสียหายอีกชิ้นหนึ่งคือกางเขนใหญ่ที่บาซิลิกาซานตาโครเชที่ฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นงานชิ้นที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งทางศิลปะ เสียหายอย่างหนักเมื่อเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ฟลอเรนซ์เมื่อปีค.ศ. 1966 ทั้งสีและผิวหน้าของภาพถูกชะไปเกือบหมด
งานของชิมาบูเยที่ยังเหลืออยู่ก็ได้แก่ “Madonna of Santa Trinita” ซึ่งเคยอยู่ที่วัดซานตาทรินิตา แต่ปัจจุบันตั้งแสดงพร้อมกับภาพ “Rucellai Madonna” โดยดุชโช และ “Ognissanti Madonna” โดยจอตโต ที่หอศิลป์อุฟฟีซี
ชั้นล่างของบาซิลิกาเซ็นต์ฟรานซิสเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของชิมาบูเยที่แสดงภาพพระแม่มารีและพระบุตรบนบัลลังก์ล้อมรอบด้วยนักบุญและนักบุญฟรานซิส ซึ่งว่ากันว่าเป็นงานที่ชิมาบูเยทำเมื่ออายุมากแล้ว
งานอีกสองชิ้นที่สันนิษฐานว่าเป็นของชิมาบูเยคือภาพ “พระเยซูถูกเฆี่ยน” (The Flagellation of Christ) ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฟริค (Frick Collection) จากนครนิวยอร์กเป็นผู้ซื้อไปเมื่อค.ศ. 1950 ซึ่งขณะนั้นเรื่องใครเป็นศิลปินของภาพนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่เมื่อปีค.ศ. 2000 พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ลอนดอนซึ้อภาพ “พระแม่มารีกับพระบุตรบนบัลลังก์กับเทวดาสององค์” (The Virgin and Child Enthroned with Two Angels) ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ “พระเยซูถูกเฆี่ยน” ไม่ว่าจะเป็นขนาด วัสดุที่ใช้วาด ขอบสีแดง การตัดขอบและอื่น ๆ ฉะนั้นทั้งสองภาพนี้ในปัจจุบันจึงสันนิษฐานกันว่าเป็นงานที่เป็นชุดเดียวกันจากบานพับภาพสอง หรือสาม ของฉากแท่นบูชา ภาพคู่นี้เชื่อกันว่าวาดราวปี ค.ศ. 1280 พิพิธภัณฑ์ฟริคจึงยืมภาพ “พระแม่มารีกับพระบุตร” เพื่อไปตั้งแสดงคู่กับ “พระเยซูถูกเฆี่ยน” เมื่อปี ค.ศ. 2006
อีกภาพหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาของชิมาบูเย คือภาพเล็กชื่อ “พระแม่มารีกับพระบุตรกับนักบุญปีเตอร์และนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” (Madonna and Child with SS. Peter and John the Baptist) ที่ปัจจุบันอยูที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ซึ่งเขียนโดยชิมาบูเยหรือลูกศิษย์ประมาณปี ค.ศ. 1290
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Purgatio XI, cited in the [http://www.newadvent.org/cathen/03771a.htm เชนนี ดิ เป็บโป ชิมาบูเย (Catholic Encyclopedia)
ข้อมูลเพิ่มเติม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ชิมาบูเย
- ชีวประวัติของชิมาบูเยที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเว็บ
- ภาพเขียนของชิมาบูเยที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเว็บ