งูแมวเซาอินเดีย
งูแมวเซาอินเดีย | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไฟลัมย่อย: | Vertebrata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Viperidae |
วงศ์ย่อย: | Viperinae |
สกุล: | Daboia |
สปีชีส์: | D. russelii |
ชื่อทวินาม | |
Daboia russelii (Shaw & Nodder, 1797) | |
แผนที่การกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
|
งูแมวเซาอินเดีย หรือ งูพิษรัสเซลล์ (อังกฤษ: Daboia, Indian Russell's viper[2][3], Russell's viper[4]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Daboia russelii) งูพิษชนิดหนึ่ง ที่พบได้ในทวีปเอเชียในหลากหลายประเทศ จัดเป็นงูเพียง4ชนิดเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Daboia ในวงศ์ Viperidae[5]
โดยถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่แพทริก รัสเซลล์ นักฟิสิกส์และธรรมชาติวิทยาชาวสกอต และชื่อสกุล Daboia มาจากภาษาฮินดีที่มีความหมายถึง "ซ่อนลวดลาย" หรือ "ผู้แฝงตัว"[6]
เป็นงูที่มีพิษร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง ที่มีกัดมนุษย์จะมีผลต่อระบบโลหิตในร่างกาย ทำให้แก่ถึงความตายได้ มีรูปร่างอ้วนป้อม ลำตัวสั้น หางสั้น เวลาตกใจหรือถูกรบกวนมักขดตัวเหมือนแมวนอนขด พร้อมทั้งทำเสียงขู่คล้ายแมวหรือยางรถยนต์รั่ว เนื่องจากสูบลมเข้าไปในตัวจนตัวพอง แล้วพ่นลมออกมาทางรูจมูกแรง ๆ แทนที่จะเลื้อยหนี สามารถฉกกัดได้รวดเร็วแทบไม่ทันตั้งตัวทั้ง ๆ ที่ขดตัวอยู่
ส่วนหัวของงูแมวเซาอินเดียเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมและมีลายดำคล้ายลูกธนู มีเกล็ดเล็กละเอียดบนหัว มีพฤติกรรมชอบอยู่ตามที่ราบแห้ง ๆ เชิงเขาที่เป็นดินปนทราย ตามที่ดอน หรือซ่อนตัวในซอกหิน โพรงดิน ใต้กอหญ้าใหญ่ ๆ ไม่ชอบย้ายที่อยู่บ่อย ๆ ปกติไม่เลื้อยขึ้นต้นไม้ ออกหากินไม่ไกลจากที่อยู่ เป็นงูที่มีความเชื่องช้าไม่ปราดเปรียว มีอุปนิสัยดุ เมื่อถูกรบกวนจะส่งเสียงขู่
มีพฤติกรรมชอบความเย็น แต่ไม่ชอบน้ำ มักออกหากินในเวลากลางคืน แต่ในสถานที่ ๆ มีความเย็น ก็อาจออกหากินในเวลากลางวันด้วย โดยกินหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ
เป็นงูที่ออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 20–30 ตัว (สูงสุด 63 ตัว) ผสมพันธุ์ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม และไปออกลูกช่วงฤดูร้อน ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 7.2–14.4 กรัม และความยาวโดยเฉลี่ย 24–30 เซนติเมตร
เดิมทีถูกจัดให้เป็นชนิดแยกย่อยของงูแมวเซา (D. siamensis) โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า D. russelii russelii แต่ปัจจุบันได้ถูกแยกออกมาเป็นชนิดต่างหากกัน โดยมีความแตกต่างกันที่ลวดลาย ตรงที่งูแมวเซาอินเดียมีลายสีนํ้าตาลเข้ม เป็นวงแยกจากกัน[7] และสถานที่พบโดยจะพบได้ที่อนุทวีปอินเดีย เช่น ปากีสถาน, บังกลาเทศ, อินเดีย จนถึงเกาะซีลอน หรือศรีลังกา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ McDiarmid RW, Campbell JA, Touré TA. 1999. Snake Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference, Volume 1. Washington, District of Columbia: Herpetologists' League. 511 pp. ISBN 1-893777-00-6 (series). ISBN 1-893777-01-4 (volume).
- ↑ Captive Care of the Russell's viper at VenomousReptiles.org. Retrieved 14 March 2007. เก็บถาวร 2008-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Somaweera A. 2007. Checklist of the Snakes of Sri Lanka. Peradeniya, Sri Lanka: Department of Zoology, Faculty of Science, University of Peradeniya. PDF เก็บถาวร 2008-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at Sri Lanka Reptile เก็บถาวร 2009-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 14 March 2007.
- ↑ Russell's or chain viper เก็บถาวร 2009-09-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน at Wildlife of Pakistan เก็บถาวร 2009-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 20 October 2006.
- ↑ "Daboia". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ. สืบค้นเมื่อ 31 July 2006.
- ↑ Weiner ESC, Simpson JA, Editors. 1991. The Compact Oxford English Dictionary: New Edition. USA: Oxford University Press. ISBN 0-19-861258-3.
- ↑ ประชาชื่น, น้าชาติ (2013-12-13). "งูแมวเซา". ข่าวสด.[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Daboia russelii ที่วิกิสปีชีส์