ข้ามไปเนื้อหา

การแสวงบุญของชาวพุทธในดินแดนพุทธภูมิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 1 ในจุดหมายแสวงบุญที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ

การแสวงบุญของชาวพุทธในดินแดนพุทธภูมิ คือการเดินทางของพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาเพื่อไปสักการะสถานที่สำคัญในพระพุทธประวัติหรือสถูปเจดีย์ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล (หรือที่คือดินแดนที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน) โดยสถานที่สำคัญที่ถือได้ว่าเป็นจุดหมายหลักของชาวพุทธคือสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ฯ สารนาถ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และกุสินารา สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งนอกจากสังเวชนียสถานแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ทั้งที่เป็นมหาสังฆารามในอดีต หรือเมืองสำคัญในสมัยพุทธกาลที่มีความเกี่ยวข้องปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งบางแห่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เช่นที่ พุทธคยา ถ้ำอชันตา-เอลโลล่า เป็นต้น

เดิมนั้นการเดินทางไปสักการะยังสถานที่ต่าง ๆ ในดินแดนพุทธภูมิเป็นไปด้วยความยากลำบาก ต้องมีความศรัทธาตั้งมั่นอย่างมากจึงจะสามารถไปนมัสการได้ครบทุกแห่ง ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกสบายขึ้น และมีวัดพุทธนานาชาติอยู่ในจุดสำคัญ ๆ ของพุทธสถานโบราณต่าง ๆ ทำให้ชาวพุทธจากทั่วโลกนิยมไปนมัสการพุทธสถานในดินแดนพุทธภูมิเป็นจำนวนมากในแต่ละปี

ความเป็นมาของการจาริกแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานของชาวพุทธ

[แก้]

การแสวงบุญ หรือการจาริกไปเพื่อทำการบูชาสังเวชนียสถาน เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นชาวพุทธจะจาริกแสวงบุญโดยเดินทางมาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในภายหลังมีผู้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ผู้มีศรัทธาควรไปยัง ณ สถานที่ใด เพื่อยังให้เกิดความเจริญใจ (ด้วยศรัทธา เสมือนเข้าเฝ้าพระพุทธองค์) พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบว่า สถานที่ควรไปเพื่อยังให้เกิดความแช่มชื่น เบิกบานใจ เจริญใจ และสังเวชใจเมื่อได้ไป คือ สังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบลดังพระพุทธพจน์ดังต่อไปนี้[1]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้ ๔ แห่งเป็นไฉน คือ สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธาว่า พระตถาคตประสูติ ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตทรงประกาศธรรมจักรอันยอดเยี่ยม ณ ที่นี้ ๑ พระตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ณ ที่นี้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่ควรเห็น ควรให้เกิดความสังเวชแห่งกุลบุตรผู้มีศรัทธา ๔ แห่งนี้แล ฯ

โดยพระพุทธองค์ได้ตรัสถึงอานิสงส์ของการจาริกแสวงบุญไปยังสังเวชนียสถานด้วยความศรัทธาว่า

ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ (สังเวชนียสถาน) มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

— พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาทั้งหลายก็ได้นิยมเดินทางมานมัสการสถานที่สำคัญเหล่านี้ ดังปรากฏหลักฐานของสมณทูตจากประเทศจีน (เช่น หลวงจีนฟาเหียน พระถังซำจั๋ง เป็นต้น) ที่ได้เดินทางมาจากประเทศจีนเพื่อสักการะสังเวชนียสถานและสถานที่สำคัญในพุทธประวัติอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเรื่องราวการเดินของชาวไทยที่จาริกไปพุทธคยาด้วย (พงศาวดารเหนือ) (ซึ่งผู้จาริกได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมของพระมหาโพธิเจดีย์มาสร้างเป็นเจดีย์วัดเจดีย์เจ็ดยอดในตัวเมืองเชียงใหม่) แต่หลังจากพระพุทธศาสนาได้เสื่อมไปจากอินเดีย สังเวชนียสถานและสถานที่สำคัญอื่น ๆ ก็ได้ถูกทิ้งร้างไป ซึ่งในระยะนั้นก็มีชาวพุทธเข้ามาบูรณะบ้างเป็นครั้งคราว แต่สุดท้ายก็ได้ถูกปล่อยทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 จนอนุทวีปอินเดีย (ยกเว้นศรีลังกา) ถูกอังกฤษเข้ามาปกครองเป็นอาณานิคม จึงได้เริ่มมีการเข้าไปบูรณะขุดค้นทางโบราณคดียังสถานที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งถูกทิ้งร้างเป็นเนินดินจำนวนมาก และมีการบูรณะเรื่อยมาโดยศรัทธาทุนทรัพย์ของชาวพุทธบ้าง รัฐบาลอินเดียบ้าง จนในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 จึงได้เริ่มมีชาวพุทธทุกนิกายจากทั่วโลกนิยมมานมัสการสังเวชนียสถานและสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนาในดินแดนพุทธภูมิมากขึ้นจนปัจจุบัน[2]

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • สังเวชนียสถาน
  • ลุมพินีวัน (สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
  • พุทธคยา (สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
  • สารนาถ (สถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนากัณฑ์แรกแก่ปัญจวัคคีย์)
  • กุสินารา (สถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน)

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สังเวชนียสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 11-6-52
  2. สุนนท์ ปัทมาคม, รศ. . สมุดภาพแดนพุทธภูมิ ฉลองชนมายุ ๘๐ ปี พระสุเมธาธิบดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
เริ่มต้น:
เมืองกบิลพัสดุ์
(เมืองพระราชบิดา)
(และเมืองที่ประทับเมื่อทรงพระเยาว์)

เมืองเทวทหะ
(เมืองพระราชมารดา)


นำเที่ยวเส้นทางแสวงบุญของชาวพุทธ
ในดินแดนพุทธภูมิ
(เรียงตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ)
สถานที่ถัดไป:
ลุมพินีวัน
- สังเวชนียสถานแห่งที่ 1 -
(สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ)