ข้ามไปเนื้อหา

หลี่ เผิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
หลี่ เผิง
李鹏
หลี่ในปี ค.ศ. 1996
นายกรัฐมนตรีจีน คนที่ 4
ดำรงตำแหน่ง
25 มีนาคม ค.ศ. 1988 – 17 มีนาคม ค.ศ. 1998
(9 ปี 357 วัน)
รักษาการ: 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987 – 25 มีนาคม ค.ศ. 1988
(0 ปี 122 วัน)
ประธานาธิบดีหยาง ช่างคุน
เจียง เจ๋อหมิน
รองหัวหน้ารัฐบาล
ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง
เจียง เจ๋อหมิน
ก่อนหน้าจ้าว จื่อหยาง
ถัดไปจู หรงจี้
ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ คนที่ 7
ดำรงตำแหน่ง
16 มีนาคม ค.ศ. 1998 – 15 มีนาคม ค.ศ. 2003
(4 ปี 364 วัน)
ผู้นำเจียง เจ๋อหมิน
(ผู้นำสูงสุด)
ก่อนหน้าเฉียว ฉือ
ถัดไปอู๋ ปังกั๋ว
รองนายกรัฐมนตรีจีน
ดำรงตำแหน่ง
6 มิถุนายน ค.ศ. 1983 – 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1987
(4 ปี 171 วัน)
หัวหน้ารัฐบาลจ้าว จื่อหยาง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด20 ตุลาคม ค.ศ. 1928(1928-10-20)
เขตสัมปทานฝรั่งเศสเซี่ยงไฮ้
เสียชีวิต22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019(2019-07-22) (90 ปี)
ปักกิ่ง, สาธารณรัฐประชาชนจีน
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (เข้าร่วมในปี 1945)
คู่สมรสจู หลิน (สมรส 1958)[1]
บุตรหลี เสี่ยวเผิง (บุตร)
หลี เสี่ยวหลิน (บุตรี)
หลี่ เสียวหย่ง (บุตร)
บุพการีหลี่ ชั่วซฺวิน (บิดา)
จ้าว จฺวินเถา [zh] (มารดา)[1]
ความสัมพันธ์หลี่ เย่ (หลานสาว)

หลิว ชื่อหราน [หลานของฟกู่มู่] (หลานเขย)

ถังเหวิน [หลานของถัง เช่าอี๋] (ลูกสะใภ้)
ศิษย์เก่าสถาบันวิศวกรรมพลังงานมอสโก
วิชาชีพนักการเมือง
วิศวกรไฟฟ้าพลังน้ำ
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวย่อ李鹏
อักษรจีนตัวเต็ม李鵬
ความหมายตามตัวอักษรหลี่ (นามสกุล 李)
เผิง (นกยักษ์ในตำนานจีน)

หลี่ เผิง (จีน: 李鹏; พินอิน: Lǐ Péng; 20 ตุลาคม ค.ศ. 1928 – 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019) เป็นนักการเมืองชาวจีน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ถึง 1998 และประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ถึง 2003 ตลอดทศวรรษที่ 1990 หลี่ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนที่หนึ่ง เป็นรองเพียงเจียง เจ๋อหมิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในขณะนั้น เขาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนจนกระทั่งเกษียณอายุในปี ค.ศ. 2002

หลี่เป็นบุตรชายของหลี่ ชั่วซฺวิน นักปฏิวัติคอมมิวนิสต์รุ่นบุกเบิกผู้ถูกประหารชีวิตโดยก๊กมินตั๋ง ภายหลังการกับโจว เอินไหลในมณฑลเสฉวน หลี่ก็ได้เติบโตขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของโจวและภรรยาของเขาคือ เติ้ง อิ่งเชา หลี่ได้ศึกษาและฝึกฝนวิชาการด้านวิศวกรรมในสหภาพโซเวียต และเข้าทำงานในบริษัทพลังงานระดับชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งหลังจากกลับมายังประเทศจีน เขาสามารถหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 1950 1960 และ 1970 ได้ เพราะมีความสัมพันธ์ทางการเมืองและตำแหน่งงานในบริษัท หลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นดำรงเป็นผู้นำสูงสุดของจีนในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 หลี่ก็ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญและทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1987

ในฐานะนายกรัฐมนตรี หลี่เป็นตัวแทนที่โดดเด่นที่สุดของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนการใช้กำลังเพื่อยุติการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 ในระหว่างการประท้วงครั้งนั้น หลี่ได้ใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนประกาศกฎอัยการศึก และร่วมมือกับเติ้ง เสี่ยวผิง ประธานคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง ในการสั่งปราบปรามผู้ประท้วงจนนำไปสู่การสังหารหมู่ในท้ายที่สุด

หลี่สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เขาไม่ลงรอยจ้าว จื่อหยาง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ซึ่งหมดความโปรดปรานในปี ค.ศ. 1989 หลังจากที่จ้าวถูกปลดจากตำแหน่ง หลี่ได้ส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม เขาเริ่มสูญเสียอิทธิพลเมื่อจู หรงจี้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถยับยั้งกระแสการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นของจีนได้ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง เขาเป็นผู้นำโครงการก่อสร้างเขื่อนสามผา ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้ประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก เขาและครอบครัวได้บริหารบริษัทผูกขาดด้านพลังงานขนาดใหญ่ของจีน ซึ่งรัฐบาลจีนได้เข้ามายุติการผูกขาดดังกล่าวลงหลังจากเขาลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลี่ถึงแก่อสัญกรรมในกรุงปักกิ่งด้วยวัย 90 ปี

วัยเด็ก

[แก้]

หลี่เกิดในชื่อ หลี ยฺเหวี่ยนเผิง (李遠芃; Lǐ Yuǎnpéng) ที่บ้านของตระกูลในเขตสัมปทานฝรั่งเศสเซี่ยงไฮ้ ปัจจุบันคือเลขที่ 545 ถนนเหยียนอาน เขตหฺวางผู่ นครเซี่ยงไฮ้ ตระกูลของเขามีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน[2] เป็นบุตรชายของหลี่ ชั่วซฺวิน หนึ่งในนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์จีนรุ่นบุกเบิก[3] และเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการทางการเมืองของกองพลที่ 20 ในระหว่างการก่อการกำเริบหนานชาง และนางจ้าว จฺวินเถา ผู้ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์รุ่นบุกเบิกเช่นกัน[4] ในปี ค.ศ. 1931 บิดาของหลี่ซึ่งกำลังปฏิบัติงานลับอยู่ในไหหลำ ถูกจับกุมและประหารชีวิตโดยก๊กมินตั๋ง[5] เชื่อกันว่าในปี ค.ศ. 1939 หลี่ได้พบกับนางเติ้ง อิ่งเชา ภรรยาของโจว เอินไหล ผู้นำคอมมิวนิสต์ระดับสูงในเฉิงตู และนางเติ้งได้พาหลี่ไปยังฉงชิ่งเพื่อพบกับโจว แม้ว่าในขณะนั้นโจวจะอยู่ในฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์ที่เหยียนอาน ทั้งสองจึงไม่ได้พบกันจนกระทั่งปลายปี ค.ศ. 1940[6] ในปี ค.ศ. 1941 เมื่อหลี่อายุได้ 12 ปี โจวได้ส่งหลี่ไปยังเหยียนอาน ซึ่งหลี่ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่นั่นจนถึงปี ค.ศ. 1945[4] เมื่ออายุได้ 17 ปีในปี ค.ศ. 1945 หลี่ก็ได้เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน[7]

อาชีพการงาน

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1941 หลี่ได้เข้าศึกษาที่สถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเหยียนอาน (ต้นแบบของสถาบันเทคโนโลยีปักกิ่ง)[8] ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1946 หลี่ถูกส่งไปทำงานในเมืองจางเจียโข่ว ตามความทรงจำของเขา ในปี ค.ศ. 1947 เขาได้เดินทางผ่านมณฑลชานตงและเกาหลีเหนือ ก่อนจะมาลงเอยที่เมืองฮาร์บิน ซึ่งที่นั่นเขาได้เริ่มทำงานบริหารจัดการบางส่วนในโรงงานแปรรูปมันหมู ในปี ค.ศ. 1948 หลี่ถูกส่งไปศึกษาที่สถาบันวิศวกรรมพลังงานมอสโก ประเทศรัสเซีย ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าพลังน้ำ หนึ่งปีต่อมาในปี ค.ศ. 1949 โจว เอินไหลได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่[4] หลี่สำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1954 ในช่วงที่อยู่ในสหภาพโซเวียต หลี่ได้เป็นหัวหน้าสมาคมนักศึกษาจีนในสหภาพโซเวียต[7]

เมื่อหลี่เดินทางกลับมายังประเทศจีนในปี ค.ศ. 1955 ประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว หลี่เข้าร่วมงานด้านเทคนิคและบริหารจัดการในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเริ่มต้นอาชีพการทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม หลี่ถูกส่งไปยังปักกิ่งเพื่อดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานการไฟฟ้าเทศบาล[7] เขาดำรงตำแหน่งสำคัญในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถูเฮ่อ ในเมืองถังชาน และโรงไฟฟ้าเกาจิง ในกรุงปักกิ่ง[9] ระหว่างที่อยู่ที่เกาจิง เขาทำงานสามวันสามคืนในการการควบคุมดูแลงานก่อสร้าง ในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1974 เขาประสบอุบัติเหตุถูกรถชนขณะขี่จักรยานกลับบ้านหลังเลิกงาน[9] ในปี ค.ศ. 1976 หลี่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการฟื้นฟูระบบไฟฟ้าในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในถังชาน ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน[9]

หลี่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองอย่างรวดเร็วหลังจากที่เติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจ และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรี และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมกันนั้นยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสำนักบริหารการไฟฟ้าภาคเหนือของจีนระหว่างปี ค.ศ. 1979 ถึง 1983 และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงชลประทานและพลังงานระหว่างปี ค.ศ. 1982 ถึง 1983[2] การเลื่อนตำแหน่งทางการเมืองอย่างรวดเร็วของหลี่ส่วนใหญ่เกิดจากการสนับสนุนของเฉิน ยฺหวิน ผู้อาวุโสของพรรค[2]

หลี่เข้าร่วมคณะกรรมาธิการกลางในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 12 ในปี ค.ศ. 1982 ในปี ค.ศ. 1983 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานขนาดเล็กด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้คณะรัฐมนตรี[10] ในปี ค.ศ. 1985 เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งรัฐ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะกรมการเมืองและสำนักเลขาธิการพรรค ในปี ค.ศ. 1987 หลังการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 13 หลี่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำกรมการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดของพรรค

นายกรัฐมนตรี

[แก้]

ผู้พิทักษ์อำนาจควบคุมของรัฐ

[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1987 หลังจากที่นายกรัฐมนตรีจ้าว จื่อหยาง ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลี่ก็ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี เขาได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมปีถัดมา ในช่วงเวลาที่ถูกเลื่อนตำแหน่ง หลี่ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่คาดไม่ถึงสำหรับนายกรัฐมนตรี เพราะเขาดูเหมือนไม่มีความกระตือรือร้นเหมือนกับเติ้งในการแนะนำการปฏิรูปตลาด[3] การที่หลี่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นผลมาจากการที่หู เย่าปังต้องพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค เนื่องจากพรรคได้กล่าวโทษเขาว่าเป็นต้นเหตุการประท้วงของนักศึกษาในปี ค.ศ. 1987

ตลอดทศวรรษที่ 1980 ประเทศจีนต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาสังคมอย่างรุนแรง อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อ การย้ายถิ่นฐานเข้าเมือง และปัญหาความแออัดในโรงเรียน แม้จะเผชิญกับความท้าทายอย่างรุนแรงเหล่านี้ หลี่ได้เปลี่ยนจุดสนใจของตนจากภารกิจประจำวันด้านพลังงาน การสื่อสาร และการจัดสรรวัตถุดิบ มาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในข้อถกเถียงภายในพรรคที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับความก้าวหน้าของการปฏิรูปตลาด ในทางการเมือง หลี่คัดค้านการปฏิรูปเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ริเริ่มโดยจ้าว จื่อหยาง ตลอดระยะเวลาที่จ้าวดำรงตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 1988 เขาได้ลดบทบาทของคณะกรรมการปฏิรูประบบ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้คณะรัฐมนตรีที่จัดตั้งขึ้นโดยจ้าว จื่อหยาง[11] ขณะที่นักศึกษาและปัญญาชนเรียกร้องการปฏิรูปที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ผู้อาวุโสของพรรคบางส่วนกลับมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่าความไม่มั่นคงที่เกิดจากการปฏิรูปครั้งใหญ่ใด ๆ อาจเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลี่ได้ทุ่มเทชีวิตการทำงานเพื่อเสริมสร้างมาโดยตลอด

ภายหลังจากที่จ้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้อเสนอของเขาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1988 ที่มุ่งขยายขอบเขตของระบบเศรษฐกิจเสรี ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอย่างกว้างขวาง (ซึ่งบางฝ่ายสันนิษฐานว่าเป็นการปลุกปั่นทางการเมือง) โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ความกังวลของประชาชนต่อผลกระทบเชิงลบจากการปฏิรูปตลาดได้เปิดโอกาสให้กลุ่มอนุรักษ์นิยม (รวมถึงหลี่) เรียกร้องให้มีการรวมอำนาจควบคุมทางเศรษฐกิจกลับสู่ศูนย์กลางมากขึ้น และมีการจำกัดอิทธิพลจากตะวันตกอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคัดค้านการขยายขอบเขตของแนวทางการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของจ้าว เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดการถกเถียงทางการเมือง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่งงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1988–89

การประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989

[แก้]

การประท้วงและการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1989 เกิดขึ้นจากการไว้อาลัยครั้งใหญ่ต่อการถึงแก่อสัญกรรมของหู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเขาถูกปลดจากตำแหน่งเพราะสนับสนุนการเปิดเสรีทางการเมือง[12] ในวันก่อนพิธีศพของหู มีประชาชนจำนวนกว่า 100,000 คนมาชุมนุมกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน นักศึกษาปักกิ่งเป็นผู้ริเริ่มการประท้วงเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดเสรีอย่างต่อเนื่อง และการประท้วงเหล่านี้ก็ได้พัฒนาไปสู่ขบวนการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองในวงกว้าง[13] จากจัตุรัสเทียนอันเหมิน ผู้ประท้วงได้ขยายการชุมนุมออกไปสู่ท้องถนนโดยรอบในเวลาต่อมา การประท้วงโดยสงบยังเกิดขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศจีน รวมถึงเซี่ยงไฮ้และอู่ฮั่น แต่เกิดการจลาจลในซีอานและฉางชา[14]

การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่พอใจต่อความมั่งคั่งของบุตรหลานของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ และความรู้สึกว่าบุตรหลานเหล่านี้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยอาศัยอิทธิพลของบิดามารดา หลี่ซึ่งครอบครัวมักตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหาทุจริตภายในอุตสาหกรรมพลังงานของจีนถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องดังกล่าว[15]

บทบรรณาธิการที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป่าในวันที่ 26 เมษายน ซึ่งลงนามในนามของเติ้ง เสี่ยวผิง ได้ประณามการประท้วงว่าเป็น "ความวุ่นวายที่ถูกวางแผนและจัดฉากขึ้นโดยมีเจตนาต่อต้านพรรคและสังคมนิยม" บทความดังกล่าวได้ก่อให้เกิดสถานการณ์การประท้วงที่รุนแรงขึ้น โดยกระตุ้นให้ผู้นำการประท้วงเกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่การยกระดับข้อเรียกร้องให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จ้าว จื่อหยางได้บันทึกไว้ในอัตชีวประวัติของตนในภายหลังว่า "แม้ว่าเติ้งจะแสดงความเห็นทำนองเดียวกันในการสนทนาส่วนตัวกับหลี่ เผิงก่อนจะมีการเขียนบทบรรณาธิการ แต่หลี่ได้นำความเห็นดังกล่าวไปเผยแพร่แก่สมาชิกพรรคและตีพิมพ์เป็นบทบรรณาธิการโดยที่เติ้งไม่ทราบและไม่ได้ให้ความยินยอม"[16]

หลี่ปฏิเสธที่จะเจรจาต่อรองกับผู้ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างเด็ดขาดด้วยเหตุผลทางหลักการ และกลายเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐที่ผู้ประท้วงคัดค้านมากที่สุด[2] อู๋เอ่อร์ไคซี หนึ่งในแกนนำการประท้วง ได้กล่าวตำหนิหลี่อย่างเปิดเผยทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติขณะอดอาหารประท้วง โดยกล่าวว่าเขาเพิกเฉยต่อความต้องการของประชาชน ผู้สังเกตการณ์บางรายกล่าวว่าถ้อยแถลงของอู๋ได้ดูหมิ่นหลี่โดยตรง ทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะยุติการประท้วงโดยใช้ความรุนแรง[17][ต้องการอ้างอิง]

ในบรรดาสมาชิกอาวุโสคนอื่น ๆ ของรัฐบาลกลาง หลี่กลายเป็นผู้ที่สนับสนุนความรุนแรงมากที่สุด และเป็นที่รู้จักกันในนาม "นักฆ่าแห่งปักกิ่ง" จากบทบาทของเขาในการปราบปราม[18][19] หลังจากได้รับการสนับสนุนจากคณะทำงานส่วนใหญ่รวมถึงเติ้ง เสี่ยวผิง หลี่ก็ได้ประกาศกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1989 และให้คำมั่นสัญญาว่า "จะใช้มาตรการที่เด็ดขาดและแน่วแน่เพื่อยุติความวุ่นวาย"[20] การประท้วงถูกปราบปรามโดยกองทัพในวันที่ 3–4 มิถุนายน การประมาณจำนวนผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงตั้งแต่หลายร้อยไปจนถึงหลายพันคน ต่อมาหลี่ได้อธิบายถึงการปราบปรามดังกล่าวว่าเป็นชัยชนะทางประวัติศาสตร์ของลัทธิคอมมิวนิสต์[3] และได้เขียนว่าตนมีความกังวลว่าการประท้วงเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศจีนอย่างร้ายแรงเทียบเท่ากับการปฏิวัติทางวัฒนธรรม[17] กฎอัยการศึกถูกยกเลิกโดยหลี่ในวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1990[21]

ความยืนยาวทางการเมือง

[แก้]
หลี่ เผิง กับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในปี ค.ศ. 2000

แม้ว่าการปราบปรามที่เทียนอันเหมินจะเป็น "ภัยพิบัติทางด้านการประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำหรับจีน" แต่ก็เป็นการยืนยันให้เห็นว่าหลี่จะยังคงดำรงตำแหน่งและประสบความสำเร็จในอาชีพการงานต่อไปอีกยาวนาน แม้เขาจะเป็นเป้าหมายหลักของผู้ประท้วง ทว่าอำนาจของเขายังคงอยู่ได้เพราะคณะผู้นำเชื่อว่าการจำกัดบทบาทของหลี่ก็เหมือนกับการยอมรับว่าตนกระทำผิดพลาดในการปราบปรามการประท้วง การที่ผู้นำจีนรักษาตำแหน่งของหลี่ไว้ในระดับสูงสุดของพรรคนั้นเป็นการสื่อสารไปยังประชาคมโลกว่า ประเทศยังคงรักษาความมั่นคงและความเป็นหนึ่งเดียว[3] เนื่องจากบทบาทของหลี่ในการปราบปราม ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ไม่เป็นที่ยอมรับในทางการเมืองในเมืองหลวงส่วนใหญ่ของประเทศตะวันตก และคณะผู้แทนจากประเทศตะวันตกที่เดินทางไปจีนมักต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าการพบปะกับหลี่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของตนหรือไม่[22]

ทันทีหลังจากเหตุการณ์ประท้วงที่เทียนอันเหมิน หลี่ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินโครงการรัดเข็มขัดแห่งชาติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อชะลออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงการรวบอำนาจบริหารเศรษฐกิจกลับสู่ส่วนกลางอีกครั้ง หลี่ได้ดำเนินการเพิ่มอัตราภาษีในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมส่งออก พร้อมทั้งเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานในอุตสาหกรรมที่ขาดประสิทธิภาพซึ่งเป็นของรัฐบาล หลี่ได้กำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวด โดยการควบคุมราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการ สนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น และตัดการให้สินเชื่อของรัฐบาลต่อภาคเอกชนและสหกรณ์เพื่อพยายามลดอัตราเงินเฟ้อ[23] หลังการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 5 ของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 13 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 หลี่ได้ตั้งคณะกรรมการการผลิตแห่งคณะรัฐมนตรีขึ้นเพื่อประสานงานการดำเนินงานตามแผนต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น[24]

ในเดือนมกราคม ค.ศ.1992 ช่วงเดียวกับที่เติ้ง เสี่ยวผิงกำลังเยือนภาคใต้ของจีน หลี่ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลก ณ เมืองดาโฟส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในที่ประชุม หลี่ได้กล่าวต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่า "เราจะต้องเร่งรัดการปฏิรูปและเปิดประเทศให้มากขึ้น" พร้อมทั้งกระตุ้นให้พวกเขาเข้ามาลงทุนในจีน[25] ในปีเดียวกัน หลี่ได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล[26]: 51–52  การประชุมดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงบทบาทของจีนให้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในนโยบายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ[27]: 8  ในท้ประชุม หลี่ได้กล่าวว่า "การแสวงหาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ควรทำให้เกิดการละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจ และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศไม่ควรละเมิดอธิปไตยของชาติ"[26]: 52 

หลี่ประสบอาการหัวใจวายในปี ค.ศ. 1993 และเริ่มสูญเสียอิทธิพลภายในพรรคให้กับจู หรงจี้ รองนายกรัฐมนตรีลำดับสูงสุด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างแข็งขัน ในปีนั้น เมื่อหลี่ได้รายงานผลการดำเนินงานประจำปีต่อคณะกรมการเมือง เขาถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนแผนงานกว่า 70 ครั้งเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเติ้ง[2] เมื่อตระหนักได้ว่าการต่อต้านการปฏิรูปตลาดจะได้รับการตอบรับที่ไม่ดีจากเติ้งและผู้อาวุโสของพรรคคนอื่น ๆ หลี่จึงออกมาสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งอย่างเปิดเผย หลี่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี ค.ศ. 1993 แม้จะมีเสียงคัดค้านจำนวนมากสนับสนุนจู ในที่สุดจูก็ได้เช้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อจากหลี่หลังจากที่วาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สองของหลี่สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1998[3]

ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลี่ได้เริ่มโครงการทางวิศวกรรมขนาดใหญ่มากจำนวนสองโครงการ ได้แก่ การเริ่มต้นก่อสร้างเขื่อนสามผาในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1994 และการเตรียมความการสำหรับโครงการยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเฉินโจว ทั้งสองโครงการเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมากทั้งภายในและนอกประเทศจีน โครงการเฉินโจวถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นพิเศษถึงต้นทุนที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ (หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) นักเศรษฐศาสตร์และนักมนุษยธรรมหลายคนเสนอว่าทุนจำนวนมหาศาลเหล่านั้นอาจนำไปลงทุนเพื่อช่วยเหลือประชากรจีนให้สามารถรับมือกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ และเพื่อพัฒนาการศึกษา บริการด้านสุขภาพ และระบบกฎหมายของจีนได้ดีกว่า[28]

ประธานสภา

[แก้]

หลี่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปี ค.ศ. 1998 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาสองวาระ หลังจากที่วาระที่สองของเขาสิ้นสุดลง เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ[29] การสนับสนุนหลี่ให้ดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะเป็นพิธีการส่วนใหญ่ได้รับความเห็นชอบในระดับต่ำ โดยเขาได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 90 ในการสมัยประชุมแรกของสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 9 ซึ่งเขาเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว[29] เขาอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการติดตามเฝ้าดูโครงการที่เขามองว่าเป็นผลงานชิ้นเอกในชีวิตของเขานั่นก็คือเขื่อนสามผา ความสนใจของหลี่ที่มีต่อเขื่อนสะท้อนถึงอาชีพวิศวกรชลศาสตร์ในช่วงต้นของชีวิตการทำงาน และตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งทางการ หลี่ได้ให้ความสำคัญกับการบริหารอุตสาหกรรมพลังงานที่กว้างขวางและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในเวลานี้ หลี่ถือว่าตนเองเป็นผู้สร้างและผู้ปฏิรูป

วันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2000 หลี่ได้เดินทางไปยังนครนิวยอร์กเพื่อเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติ[22] ที่โรงแรมวอลดอร์ฟ-แอสโตเรีย นักสืบเอกชนที่มีใบอนุญาตได้ส่งหมายเรียกทางกฎหมายแก่เขาในข้อกล่าวหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน[22] ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้ร่วมเดินทางไปกับผู้ส่งหมายเรียก และได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้[22] หลี่รู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก เพราะมองว่ารัฐบาลสหรัฐมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าว เนื่องจากหมายเรียกได้ถูกส่งผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชาวอเมริกันที่ประจำตัวอยู่[22]

มรดกและอสัญกรรม

[แก้]

หลังจากเกษียณอายุในปี ค.ศ. 2003 หลี่ยังคงมีอิทธิพลบางส่วนในคณะกรรมาธิการสามัญกรมการเมือง หลัว ก้าน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้รับผิดชอบด้านการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคงแห่งชาติระหว่างปี ค.ศ. 2002 ถึง 2007 นั้นถือเป็นบุคคลที่หลี่อุปถัมภ์[30] หลังการเกษียณอายุของหลัวในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 17 อิทธิพลของหลี่ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งตัวเขาเองและสมาชิกในครอบครัวกลายเป็นเป้าหมายของการตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตอยู่เสมอ นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของหลี่ในสายตาประชาชนอาจกล่าวได้ว่าผูกพันอย่างแยกไม่ออกกับเหตุการณ์ปราบปรามที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ. 1989 มากกว่าผู้นำคนอื่น ๆ และด้วยเหตุนี้เขาจึงยังคงเป็นบุคคลประชาชนชาวจีนจำนวนมากเกลียดชังมาจนถึงศตวรรษที่ 21[15] โดยทั่วไปแล้วเขาไม่เป็นที่นิยมในประเทศจีน ซึ่งเขา (เคย) ถูกมองด้วยความดูถูกและสงสัยมานาน

ตลอดทศวรรษที่ 1990 หลี่ได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในการขยายและบริหารบริษัทการไฟฟ้าแห่งประเทศจีน (State Power Corporation of China) ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีญาติของหลี่ทำงานอยู่ หลี่จึงถูกกล่าวหาว่าได้เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงานของจีนให้กลายเป็น "อาณาจักรส่วนตัวของตระกูล"[31][32] ในช่วงรุ่งเรืองที่สุด บริษัทพลังงานของหลี่ครอบครองสินทรัพย์ในการผลิตพลังงานทั้งหมดในประเทศจีนถึงร้อยละ 72 และได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 60 ของโลกโดยนิตยสารฟอร์ชูน หลังจากที่หลี่ออกจากรัฐบาล การผูกขาดด้านพลังงานของหลี่ก็ถูกแยกออกเป็นบริษัทขนาดเล็กจำนวนห้าแห่งโดยรัฐบาลจีน[33]

ในปี ค.ศ. 2010 ผลงานอัตชีวประวัติของหลี่ เรื่อง The Critical Moment – ​​Li Peng Diaries ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นิวเซนจูรี หนังสือนี้ได้กล่าวถึงกิจกรรมของหลี่ในช่วงการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวาระครบรอบ 21 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าว[34] หนังสือดังกล่าวถูกนักวิจารณ์ระบุว่ามีจุดมุ่งหมายหลักในการลดทอนความผิดของหลี่ในช่วงที่เลวร้ายที่สุดของการปราบปราม และบางส่วนยังกล่าวอีกว่าเขาพยายามโยนความผิดให้เติ้ง[17] เขาปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคครั้งที่ 19 ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 2017 ก่อนจะถึงแก่อสัญกรรม[35]

หลี่ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 ด้วยวัย 90 ปี ขณะกำลังรับการรักษาพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง[36][37][38] พิธีศพของเขาจัดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 โดยมีผู้เข้าร่วมพิธี ได้แก่ สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี และเจียง เจ๋อหมิน อดีตเลขาธิการพรรค

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

หลี่สมรสกับนางจู หลิน (朱琳) อดีตรองผู้จัดการบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจีน[2] มีบุตรธิดาด้วยกัน 3 คน ได้แก่[39] หลี เสี่ยวเผิง บุตรชายคนโต หลี เสี่ยวหลิน บุตรี และนางหลี่ เสียวหย่ง บุตรชายคนเล็ก หลี่ เสียวหย่ง สมรสกับนางเย่ เสี่ยวเหยียน บุตรีของเย่ เจิ้งหมิง บุตรชายคนรองของเย่ ถิง ทหารผ่านศึกคอมมิวนิสต์

ครอบครัวของหลี่ได้รับประโยชน์จากตำแหน่งอันสูงส่งของหลี่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 หลี เสี่ยวเผิง และ หลี เสี่ยวหลิน บุตรทั้งสองของหลี่ได้สืบทอดและดำเนินกิจการบริษัทเอกชนขนาดใหญ่สองแห่งของจีน ซึ่งผูกขาดไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของประเทศ สื่อมวลชนของรัฐบาลจีนได้ตั้งคำถามต่อสาธารณชนว่าการรักษา "ชนชั้นทุนนิยมผูกขาดของรัฐรุ่นใหม่" ที่ครอบครัวของหลี่เป็นตัวแทนไว้นั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศหรือไม่[40] หลี เสี่ยวเผิงเข้าสู่วงการการเมืองในมณฑลชานซี [41] และดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการมณฑลซานซีในปี ค.ศ. 2012[42] ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางหลี เสี่ยวหลิน เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทพัฒนาพลังงานระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน (China Power International Development) ก่อนจะถูกโอนไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับรองในบริษัทพลังงานแห่งอื่นในปี ค.ศ. 2016

เกียรติยศ

[แก้]
เครื่องอิสริยาภรณ์ ประเทศ วันที่ อ้างอิง
เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งสาธารณรัฐ  ตูนิเซีย 21 มีนาคม ค.ศ. 1984 [43]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อุยซาม อาลาวี  โมร็อกโก 4 ตุลาคม ค.ศ. 1995 [44]
เครื่องอิสริยาภรณ์พระอาทิตย์แห่งเปรู  เปรู 9 ตุลาคม ค.ศ. 1995 [45]
เครื่องอิสริยาภรณ์ผู้ปลดปล่อย  เวเนซุเอลา 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 [46]
เครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณ  แคเมอรูน 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1997 [47]
เครื่องอิสริยาภรณ์แห่งปากีสถาน  ปากีสถาน 10 เมษายน ค.ศ. 1999 [48]
เครื่องอิสริยาภรณ์ดารายูโกสลาฟ  ยูโกสลาเวีย 12 มิถุนายน ค.ศ. 2000 [49][50]
เหรียญแห่งพุชกิน  รัสเซีย 31 ตุลาคม ค.ศ. 2007 [51]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "李鹏同志逝世 他曾这样记录自己这一生". 23 กรกฎาคม 2019.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "李鹏简历" [Resume of Li Peng]. Xinhua News Agency. 15 มกราคม 2002. สืบค้นเมื่อ 21 ธันวาคม 2010.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "The Man Who Took on the Dissidents: Li Peng (1928–)". CNN. 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มกราคม 2010. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2008.
  4. 4.0 4.1 4.2 Barnouin & Yu 2006, p. 126.
  5. Fang & Fang 1986, p. 66.
  6. Li, Jing (30 มิถุนายน 2014). "Li Peng finally denies old rumours he is ex-premier Zhou Enlai's adopted son". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2014.
  7. 7.0 7.1 7.2 Mackerras, McMillen & Watson 1998, p. 136.
  8. Bartke 1987, p. 235.
  9. 9.0 9.1 9.2 六四强硬派李鹏逝世 三大争议亟待盖棺论定. Duowei. 22 กรกฎาคม 2019.
  10. Gewirtz 2022, p. 129.
  11. Gewirtz 2022, p. 200.
  12. Pan 2008, p. 274.
  13. Nathan, Andrew J. (มกราคม 2001). "The Tiananmen Papers". Foreign Affairs. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ธันวาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010.
  14. "China's Upheaval: Five Weeks of Student Demonstrations". The New York Times. Associated Press. 20 พฤษภาคม 1989. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019.
  15. 15.0 15.1 Bezlova, Antoaneta (19 มกราคม 2002). "The princelings and the protesters". Asia Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มิถุนายน 2011. สืบค้นเมื่อ 19 สิงหาคม 2011.
  16. Zhao 2009, p. 10–12.
  17. 17.0 17.1 17.2 "Li Peng, the "butcher of Tiananmen," was "ready to die" to stop the student turmoil". AsiaNews. 4 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2011.
  18. "'Butcher of Beijing': Ex-Chinese premier Li Peng, who ordered Tiananmen Massacre, dies aged 90". Hong Kong Free Press. Agence France-Presse. 23 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019.
  19. "Li Peng: former Chinese premier known as 'Butcher of Beijing' dies aged 90". The Guardian. 23 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019.
  20. Gewirtz 2022, p. 233.
  21. Gewirtz 2022, p. 277.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 Lampton, David M. (2024). Living U.S.-China Relations: From Cold War to Cold War. Lanham, MD: Rowman & Littlefield. p. 187. ISBN 978-1-5381-8725-8.
  23. Burns, John P. (24 ตุลาคม 2003). ""Downsizing" the Chinese State: Government Retrenchment in the 1990s". The China Quarterly. 175: 775–802. doi:10.1017/s0305741003000444. hdl:10722/179364. ISSN 0305-7410.
  24. Gewirtz 2022, p. 276.
  25. Gewirtz 2022, p. 269.
  26. 26.0 26.1 Lewis, Joanna I. (2020). "China's Low-Carbon Energy Strategy". ใน Esarey, Ashley; Haddad, Mary Alice; Lewis, Joanna I.; Harrell, Stevan (บ.ก.). Greening East Asia: The Rise of the Eco-Developmental State. Seattle: University of Washington Press. ISBN 978-0-295-74791-0. JSTOR j.ctv19rs1b2.
  27. Esarey, Ashley; Haddad, Mary Alice; Lewis, Joanna I.; Harrell, Stevan, บ.ก. (2020). Greening East Asia: The Rise of the Eco-Developmental State. Seattle: University of Washington Press. ISBN 978-0-295-74791-0. JSTOR j.ctv19rs1b2.
  28. Lan, Chen (2004). "Pre-Shenzhou Studies". Shenzhou History. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2007.
  29. 29.0 29.1 "China's parliament embarrasses Li Peng". BBC News. 16 มีนาคม 1998. สืบค้นเมื่อ 8 มกราคม 2023.
  30. "Luo Gan: Protege of Li Peng will face explosive issues". South China Morning Post. 16 พฤศจิกายน 2002. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2023.
  31. Rosenthal, Elisabeth (11 มีนาคม 2003). "Li Peng Retires, but His Infamy for Tiananmen Massacre Endures". The New York Times. ISSN 0362-4331. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2023. In recent years, he has also been accused of corruption and nepotism, particularly concerning the involvement of his wife and sons in state-owned power companies.
  32. Chu, Henry (18 มกราคม 2002). "Tale of Chinese Scandal Backfires on Magazine". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2023.
  33. Antoaneta Bezlova (1 พฤศจิกายน 2002). "China corruption probes signal power plays". Asia Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2016.{{cite news}}: CS1 maint: unfit URL (ลิงก์)
  34. Bristow, Michael (4 มิถุนายน 2010). "Tiananmen Leader's 'Diary' Revealed". BBC News. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2011.
  35. 李鹏亮相十九大 媒体:并非外界所传病危. Duowei News. 18 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2020.
  36. 李鹏同志逝世-新华网. Xinhua. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019.
  37. Martina, Michael; Munroe, Tony (23 กรกฎาคม 2019). "China's former premier Li Peng dies at 90". Reuters (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019.
  38. Jun, Mai; Ng, Kang-chung (23 กรกฎาคม 2019). "Former Chinese premier Li Peng dies, aged 90". South China Morning Post. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019.
  39. "32: Li Peng". CNN. 1999. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กันยายน 2014. สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2011.
  40. Lam, Willy Wo-Lap (17 สิงหาคม 2007). "China's elite economic double standard". Asia Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 ตุลาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2011.
  41. "李小鹏就任山西副省长 承诺"当好人民公仆"" [Li Xiaopeng took office as vice governor of Shanxi and promised to be a "good public servant of the people"]. Xinhua News Agency. 13 มิถุนายน 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 กันยายน 2008. สืบค้นเมื่อ 27 ตุลาคม 2011.
  42. "Li Xiaopeng appointed acting governor of Shanxi". China Daily. 19 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2023.
  43. "布尔吉巴总统姆扎利总理会见李鹏副总理". 人民日报. 23 พฤษภาคม 1984. p. 第6版.
  44. 成元生; 吕志星; 赵章云 (5 ตุลาคม 1995). "李鹏总理同摩洛哥国王会见". 拉巴特: 人民日报. p. 第1版.
  45. 成元生; 管彦忠 (11 ตุลาคม 1995). "藤森总统向李鹏总理授勋". 利马: 人民日报. p. 第6版.
  46. 于青; 管彦忠 (15 พฤศจิกายน 1996). "卡尔德拉总统欢宴李鹏总理 李鹏总理举行答谢招待会". 加拉加斯: 人民日报. p. 第6版.
  47. "喀总统向李鹏总理授勋". 雅温得: 人民日报. 新华社. 12 พฤษภาคม 1997. p. 第6版.
  48. "巴总统授予李鹏"巴基斯坦勋章"". 人民网. 11 เมษายน 1999. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2016.
  49. "李鹏同南联盟总统米洛舍维奇举行会谈". 人民网. 13 มิถุนายน 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 มีนาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2019.
  50. "Milošević uručio Li Pengu orden velike jugoslovenske zvezde". B92. 12 มิถุนายน 2000. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 8 ธันวาคม 2014.
  51. Указ Президента Российской Федерации от 31 октября 2007 года № 1440 «О награждении медалью Пушкина»

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
แม่แบบ:S-par
ก่อนหน้า หลี่ เผิง ถัดไป
เจ้าหน้าที่รัฐบาล
สมัยก่อนหน้า
หลิว หลานปัว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้า
ค.ศ. 1981–1982
สมัยต่อมา
เฉียน เจิ้งอิง
as รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำและพลังงาน
สมัยก่อนหน้า
เหอ ตงชาง
as รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานคณะกรรมการการศึกษาแห่งรัฐ
ค.ศ. 1985–1988
สมัยต่อมา
หลี เถี่ยอิ้ง
สมัยก่อนหน้า
จ้าว จื่อหยาง
นายกรัฐมนตรีจีน
ค.ศ. 1987–1998
สมัยต่อมา
จู หรงจี้
สมัยก่อนหน้า
เฉียว ฉือ
ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาประชาชนแห่งชาติ
ค.ศ. 1998–2003
สมัยต่อมา
อู๋ ปังกั๋ว

แม่แบบ:การประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พ.ศ. 2532