ข้ามไปเนื้อหา

พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล)
ศาสตราจารย์ พระเจริญวิศวกรรม
เกิด26 เมษายน พ.ศ. 2438
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต12 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 (92 ปี)
อาชีพวิศวกร
คู่สมรสอรุณ เจริญวิศวกรรม
บุตร4 คน

ศาสตราจารย์กิตติคุณ อำมาตย์เอก พระเจริญวิศวกรรม (26 เมษายน พ.ศ. 2438 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2530) มีนามเดิมว่า เจริญ เชนะกุล ปรมาจารย์หรือครูใหญ่ของเหล่าช่างทั้งปวง อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกผู้ก่อตั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์[1] ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานให้แก่วงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย และ บิดาแห่งวิศวกรไทย[2][3] นอกจากนั้นยังเป็น นายกคณะฟุตบอลแห่งสยาม คนที่ 5

ประวัติ

[แก้]

พระเจริญวิศวกรรม หรือ James Shea เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2438 ที่บ้านเลขที่ 110 ถนนสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนเดียวของ John Edward Austin Shea M.I.E.E. ชาวอังกฤษเชื้อสายไอริช ซึ่งเป็นวิศวกรที่เข้ามาทำงานอยู่กรมการไฟฟ้าในขณะนั้น และคุณแม่ชื่อ กี๋ เป็นชาวนครสวรรค์

ด้านการศึกษาเข้าศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน (พ.ศ. 2445-2450) ต่อมาในระดับมัธยมต้นได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนราชวิทยาลัย (พ.ศ. 2450-2453) และในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (พ.ศ. 2453-2455) ในปีสุดท้ายที่ศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2455 เข้ารับการศึกษาที่ Eastbourne College (พ.ศ. 2455-2457) ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 สอบได้ Matriculation ซึ่งเทียบเท่าหลักสูตรเตรียมอุดมศึกษา และวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2457 เข้าศึกษาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตร 3 ปี) ที่ King's College, University of Durham ต่อมาในปีประกาศนียบัตร Intermediate B. Sc. ต่อมาทางราชการได้มีคำสั่งย้ายไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากสงครามในทวีปยุโรป โดยเข้าศึกษาแขนงวิชาวิศวกรรมโยธา ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (หลักสูตร 4 ปี) แต่ศึกษาสำเร็จภายใน 3 ปี เนื่องจากได้รับโอนหน่วยกิตมาจากมหาวิทยาลัยเดิมในประเทศอังกฤษ 1 ปี และได้รับปริญญา B.S. in Civil Engineering และได้เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง "Design of Double - Track Through Inclined Upper Chord and Sub-divided Panel R.R. Bridge"

ในปี พ.ศ. 2462 เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2472 และยังได้เป็นหัวหน้าแผนกวิชาวิศวกรรมโยธา (พ.ศ. 2480) และหัวหน้าแผนกสถาปัตยกรรม (พ.ศ. 2481) และเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (พ.ศ. 2485) และทำหน้าที่รักษาการอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2495) จนเกษียณเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2499 หลังเกษียณได้รับต่ออายุราชการเป็นรายปีเรื่อยมา จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2505 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีมติอนุมัติให้ได้รับพระราชทานปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และต่อมาวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2509 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์อุปการคุณ

ด้านบทบาทการงาน ในช่วงปลายของชีวิตราชการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเข้าไปมีบทบาทในโครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และต่อมาหลังจากที่ได้รับต่อเวลาราชการได้ช่วยราชการของการพลังงานแห่งชาติ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงฝ่ายไทย[4]

ครอบครัว

[แก้]

พระเจริญวิศวกรรม สมรสกับนางสาวอรุณ ชูพันธุ์ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 ซึ่งเป็นบุตรีคนโตของขุนพินิชพัสดุและนางซวน ชูพันธุ์ มีบุตรด้วยกัน 4 คนคือ

  • นางอุษา (เชนะกุล) เวย์ส
  • นายจุลวัฒน์ เชนะกุล (มีบุตรชาย 2 คนชื่อ นาย แมนสรรค์ เชนะกุล และ นายแพทย์ฉันทวัฒน์ เชนะกุล บุตรสาว 1 คนชื่อ นางปริย เชนะกุล)
  • นางนิศา เชนะกุล
  • นางนงนุช (เชนะกุล) ทองเจือ

ผลงาน

[แก้]
  • หนังสือ
    • กลศาสตร์ประยุกต์
    • คำนวณออกแบบเสริมเหล็กคอนกรีต
    • เรขาสถิตยศาสตร์
  • สิ่งก่อสร้าง
    • สนามศุภชลาศัย (ออกแบบและคำนวณหลังคาที่ไม่มีเสาค้ำของอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก)[5]

เกียรติยศ

[แก้]

บรรดาศักดิ์

[แก้]
  • พ.ศ. 2462: รองอำมาตย์เอก
  • พ.ศ. 2463: หลวงเจริญวิศวกรรม
  • พ.ศ. 2465: อำมาตย์ตรี
  • พ.ศ. 2466: อำมาตย์โท
  • พ.ศ. 2470: พระเจริญวิศวกรรม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ตำแหน่งทางวิชาการ

[แก้]
  • พ.ศ. 2505: วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2509: ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมัญญานาม

[แก้]
  • ผู้วางรากฐานให้แก่วงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย
  • บิดาแห่งวิศวกรไทย[2][3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมาชิกผู้ก่อตั้งวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. 2.0 2.1 ‘บ้านคุณพระเจริญฯ’หรือ‘อริยศรมวิลล่า’
  3. 3.0 3.1 อาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์
  4. หนังสือ อนุสรณ์ ศาสตราจารย์พระเจริญวิศวกรรม จัดพิมพ์โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2530
  5. บทความ ผู้สร้างตำนานอัฒจันทร์ฝั่งตะวันตก พระเจริญวิศวกรรม
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๕, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๗ ง หน้า ๖๓๕๑, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๓
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๗๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘๘, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๔