ข้ามไปเนื้อหา

การบัญชี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)

การบัญชี หมายถึง กระบวนการจัดการในส่วนของบันทึกรายการทางการค้า ได้แก่ การเขียนบันทึกรายการทางการค้า การจำแนกแยกประเภทหมวดหมู่ทางการค้า การสรุปผลการดำเนินงาน รวมไปถึงการวิเคราะห์และการแปลความหมายข้อมูลของนักบัญชี

ประวัติการบัญชี

[แก้]

การบัญชีเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุเมเรียนในดินแดนเมโสโปเตเมีย ในช่วงแรก ๆ เป็นเพียงการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตทางการเกษตร กับมูลค่าเหล่านั้น ส่วนวิชาการบัญชีที่มีพื้นฐานเหมือนกับระบบคณิตศาสตร์ (ระบบบัญชีคู่ ซึ่งหมายถึงการบันทึกข้อมูลทางด้านการเงินโดยมีการบันทึกทั้งด้านบวก (เดบิต หรืออาจเรียกว่าการบันทึกบัญชีทางด้านซ้าย) กับ ด้านลบ (เครดิต หรืออาจเรียกว่าการบันทึกบัญชีทางด้านขวา) โดยที่การบันทึกแต่ละครั้งจะต้องมียอดรวมด้านบวกรวมกับด้านลบเป็นศูนย์) เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีก่อนปี ค.ศ. 1543 โดยได้พิมพ์หนังสือชื่อว่า Vennice ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการบันทึกบัญชี โดยพื้นฐานของการบัญชีทั้งหมดมาจากสมการว่า "สินทรัพย์=หนี้สิน+ทุน" ส่วนรายได้และค่าใช้จ่ายถือเป็นส่วนหนึ่งของทุน

วัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชี

[แก้]
  1. เพื่อเป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางการค้า
  2. เพื่อให้เจ้าของกิจการได้ทราบว่าช่วงเวลานั้น ๆ มีสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของเจ้าของ อยู่เป็นจำนวนเท่าใดและอย่างไร
  3. เพื่อเป็นปัจจัยหนึ่งประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของนักธุรกิจและประกอบการตัดสินใจในการบริหารของเจ้าของกิจการ
  4. เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตและการสูญหายของสินทรัพย์
  5. เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย
  6. เพื่อเป็นเครื่องมือนำมาใช้ในการคำนวณภาษีที่จะต้องจ่ายแก่รัฐ

ขอบเขตของงานบัญชี

[แก้]

สำหรับขอบเขตของงานบัญชีนั้น สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

  1. การบัญชีการเงิน (Financial Accounting) - เป็นการบัญชีที่จัดทำโดยบันทึกตามมาตรฐานการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรองกันทั่วไป ได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด นโยบายการบัญชีและหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อรายงานต่อบุคคลภายนอกกิจการ เช่น นักลงทุน เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น หน่วยงานราชการ ลูกจ้าง
  2. การบัญชีเพื่อการจัดการ (Managerial Accounting) - เป็นการจัดทำเพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อผู้ใช้ข้อมูลที่เป็นบุคคลภายในกิจการ ได้แก่ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก ฯลฯ เพื่อใช้ในการวางแผน และควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลนั้นส่วนหนึ่งมาจากการทำบัญชี รวมกับข้อมูลอื่น ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน เช่น จำนวนชั่วโมงการทำงาน จำนวนหน่วยของวัตถุดิบ เป็นต้น รายงานทางการบัญชีเพื่อการจัดการมีได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริหาร

อ้างอิง

[แก้]
  • ศรีสุดา ธีรยา"ลักษณะข้อมูลทางการบัญชี". การบัญชีเพื่อการจัดการ Managerial Accounting. ปทุมธานี, 2555

ดูเพิ่ม

[แก้]