หม่า ยฺเหวียน
หม่า ยฺเหวียน (จีน: 馬援; 14 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 49) หรือ ม้าอ้วน[a] ชื่อรอง เหวินเยฺวียน (จีน: 文淵) หรือที่รู้จักในชื่อตำแหน่งว่า ฝูปัวเจียงจฺวิน (伏波將軍; "ขุนพลผู้สงบคลื่น") เป็นขุนพลและขุนนางชาวจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก[1][2] มีบทบาทสำคัญในการปราบกบฏพี่น้องจึง
หม่า ยฺเหวียน 馬援 | |
---|---|
รูปปั้นของหม่า ยฺเหวียนบนเขาฝูปัว นครกุ้ยหลิน | |
เกิด | 14 ปีก่อนคริสตกาล นครซิงผิง มณฑลฉ่านซี |
เสียชีวิต | ค.ศ. 49 (62 ปี) |
ชื่ออื่น | เหวินเยฺวียน (文淵) จงเฉิงโหว (忠成侯) |
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
บุตร |
|
บิดามารดา |
|
ญาติ |
|
ผลงานของหม่า ยฺเหวียนในด้านการทหารและการเมือง ได้แก่การช่วยเหลือจักรพรรดิฮั่นกวังอู่รวบรวมแผ่นดินและปราบปราบการก่อกบฏของพี่น้องจึง (ในเมืองเจียวจื่อ ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณทางเหนือของประเทศเวียดนาม) และชนเผ่าอู่หลิน (อยู่ทางตะวันออกของมณฑลกุ้ยโจวและทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) หม่า ยฺเหวียนล้มป่วยลงระหว่างการยกทัพบุกบริเวณที่เป็นมณฑลหูหนานในปัจจุบันในปี ค.ศ. 49 และเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน หม่า ยฺเหวียนยังมีส่วนช่วยทำให้จักรพรรดิฮั่นกวังอู่เอาชนะขุนศึกเหว่ย์ เอ๋า (隗囂) ผู้ปกครองอาณาบริเวณที่อยู่ทางตะวันออกของมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน
ประวัติและการงาน
แก้ประวัติช่วงต้น
แก้หม่า ยฺเหวียนเป็นชาวอำเภอเม่าหลิง (茂陵) เมืองฝูเฟิง (扶風) ซึ่งปัจจุบันคือนครซิงผิง มณฑลฉ่านซี เกิดในตระกูลขุนนาง สืบเชื้อสายจากขุนพลเจ้า เชอ (趙奢) จากรัฐจ้าวในยุครณรัฐ หม่า ยฺเหวียนเป็นผู้รูปร่างหน้าตาดี[3] ในยุคราชวงศ์ซินของหวัง หมั่ง หม่า ยฺเหวียนรับราชการในตำแหน่งขุนนางตรวจการ (督郵 ตูโหยฺว) ของเมืองฝูเฟิง ต่อมาหม่า ยฺเหวียนแอบปล่อยตัวนักโทษอุกฉกรรจ์ หม่า ยฺเหวียนจึงถูกเนรเทศไปเมืองเป่ย์ตี้ (北地; ปัจจุบันคือนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่) ทำงานดูแลปศุสัตว์อยู่ที่นั่น ในช่วงปลายรัชสมัยของหวัง หมั่ง หม่า ยฺเหวียนไปเข้าด้วยเหว่ย์ เอ๋า (隗囂) ขุนศึกผู้ปกครองกองกำลังในมณฑลเหลียงโจว (涼州)
ในปี ค.ศ. 28 หม่า ยฺเหวียนเป็นตัวแทนของเหว่ย์ เอ๋านำหนังสือไปยังลั่วหยาง เข้าพบหลิว ซิ่ว (劉秀; ภายหลังคือจักรพรรดิฮั่นกวังอู่) และกล่าวว่า "ทุกวันนี้ไม่เพียงประมุขที่เลือกขุนนาง ขุนนางก็เลือกประมุขด้วยเช่นกัน" หม่า ยฺเหวียนได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติจากหลิว ซิ่ว ภายหลังหม่า ยฺเหวียนติดตามเหว่ย สฺวิน (隗恂) บุตรชายของเหว่ย์ เอ๋าที่เหว่ย์ เอ๋าส่งให้ไปเป็นตัวประกันที่ลกเอี๋ยงเพื่อแสดงความภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น แล้วหม่า ยฺเหวียนจึงเข้าสวามิภักด์ต่อจักรพรรดิฮั่นกวังอู่
ในปี ค.ศ. 32 เหว่ย์ เอ๋าทรยศก่อกบฏต่อราชวงศ์ฮั่น จักรพรรดิฮั่นกวังอู่นำทัพด้วยพระองค์เองยกไปปราบ หม่า ยฺเหวียน "รวบรวมข้าวไปไว้ในหุบเขา ชี้ภาพรวมของสถานการณ์" ช่วยให้จักรพรรดิฮั่นกวังอู่เอาชนะเหว่ย์ เอ๋าได้สำเร็จ
การทัพปราบชนเผ่าเชียง
แก้หม่า ยฺเหวียนมีบทบาทในการปราบปรามชนเผ่าเชียง ในปี ค.ศ. 34 ชนเผ่าเซียนเหลียนเชียงและชนเผ่าอื่น ๆ ยกกองกำลังบุกเข้าตีจุดยุทธศาสตร์สำคัญของชาวฮั่นในเมืองจินเฉิง (晋城) และหล่งซี (隴西) และพ่ายแพ้ต่อกองทัพฮั่น อีกไม่กี่เดือนต่อมา ไหล ซี (來歙) ถูกสังหารในการทัพรบกับกงซุน ชู่ (公孫述) แต่หม่า ยฺเหวียนเจ้าเมืองหล่งซีที่เป็นผู้ช่วยของไหล ซี ยังคงดำเนินการรบต้านชนเผ่าเชียงต่อไป ในปี ค.ศ. 35 ชนเผ่าเซียนเหลียนเชียงพ่ายแพ้อีกครั้ง ครั้งแรกที่อำเภอหลินเถา (臨洮) ในเมืองหล่งซี ตามด้วยตลอดแม่น้ำซีนิง (西寧) ในเมืองจินเฉิง ในการทัพทั้งสองครั้งนี้ หม่า ยฺเหวียนยึดได้ม้า วัว และแกะรวมมากกว่าหมื่นตัว พร้อมด้วยเสบียงจำนวนมาก หม่า ยฺเหวียนได้รับบาดเจ็บที่ขาระหว่างการรบครั้งสุดท้าย หม่า ยฺเหวียนไม่ได้กวาดล้างข้าศึกไปทั้งหมด เพียงแต่ขับไล่ออกจากบริเวณหุบเขาของเมืองจินเฉิง หม่า ยฺเหวียนได้รับรางวัลเป็นเกียรติจากราราชสำนักและได้ครอบครองสัตว์จำนวนหลายพันที่จับมาได้
แม้ว่าชนเผ่าเชียงจะถอยหนีข้ามชายแดนไปแล้ว แต่ชัยชนะของหม่า ยฺเหวียนในปี ค.ศ. 35 ก็ทำลายอำนาจของชนเผ่าเซียนเหลียนเชียงและสามารถกู้คืนจุดยุทธศาสตร์ในแนวชายแดนเดิมได้
กบฏพี่น้องจึง
แก้หม่า ยฺเหวียนได้รับมอบหมายให้บัญชาการทัพในการปราบปรามกบฏพี่น้องจึง (Trưng)[1] หม่า ยฺเหวียนได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเป็น ฝูปัวเจียงจฺวิน (伏波將軍; ขุนพลผู้สงบคลื่น)[1] หม่า ยฺเหวียนและคณะเริ่มระดมกำลังทหารชาวฮั่นในภาคใต้ของจีน[1] รวมแล้วมีกำลังพลประมาณ 10,000 นาย[4] หม่า ยฺเหวียนส่งกองเรือเสบียงจากกว่างตงไปตามชายฝั่ง[1] แล้วนำกองทัพฮั่นผ่านภูมิประเทศกันดารไปยังดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง โดยยกมาถึงเมื่อต้นปี ค.ศ. 43[1] กบฏถูกปราบปรามในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม[1]
เสียชีวิต
แก้ในปี ค.ศ. 49 ระหว่างการยกทัพปราบชนเผ่าในเมืองอู่หลิง (武陵; อยู่ทางตะวันออกของมณฑลกุ้ยโจวและทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) หม่า ยฺเหวียนเสียชีวิตจากโรคระบาดซึ่งคร่าชีวิตทหารของเขาไปจำนวนมากเช่นกัน
หลังการเสียชีวิตของหม่า ยฺเหวียน เกิ่ง ชู (耿舒) ผู้ช่วยของหม่า ยฺเหวียนซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลยุทธ์ของหม่า ยฺเหวียน และเหลียง ซง (梁松) ราชบุตรเขยของจักรพรรดิฮั่นกวังอู่ซึ่งมีความแค้นต่อหม่า ยฺเหวียนมาแต่ก่อน ได้กล่าวหาหม่า ยฺเหวียนในหลายข้อหา โดยเฉพาะสองข้อหาที่ว่าหม่า ยฺเหวียนมีส่วนรับผิดชอบต่อการเกิดโรคระบาดในกองทัพอันเนื่องมาจากการเลือกเส้นทางเดินทัพไปปราบชนเผ่าในเมืองอู่หลิง และข้อหาที่ว่าหม่า ยฺเหวียนยักยอกไข่มุกและนอแรดเป็นของตนระหว่างการทัพ ข้อหาหลังนี้เป็นความเข้าใจผิดเพราะสับสนกับอาหารชนิดหนึ่งที่หม่า ยฺเหวียนชื่นชอบคือลูกเดือย (ซึ่งหม่า ยฺเหวียนเชื่อว่าสามารถป้องกันโรคระบาดได้) ซึ่งภาษาท้องถิ่นเจียวจื่อเรียกว่า "เจินจู" (珍珠) มีความหมายตรงตัวว่า "ไข่มุก" ลูกเดือยมีการผลิตในภาคใต้ของจีนและภาคเหนือของเวียดนาม หม่า ยฺเหวียนได้ส่งลูกเดือยปริมาณมากกลับไปนครหลวงลั่วหยาง จักรพรรดิฮั่นกวังอู่เชื่อคำกล่าวหาเท็จของเกิ่ง ชูและเหลียง ซง จึงริบศักดินาและถอดบรรดาศักดิ์ของหม่า ยฺเหวียนออก
บุตรสาวของหม่า ยฺเหวียนขึ้นเป็นจักรพรรดินีหม่าในปี ค.ศ. 57[5] หลังจากชื่อเสียงของหม่า ยฺเหวียนได้รับการกู้คืน
สิ่งสืบเนื่อง
แก้อนุสรณ์
แก้หม่า ยฺเหวียนได้รับการบูชาในฐานะเทพเจ้าในศาลเจ้าหลายแห่งในจีนและเวียดนาม ศาลฝูปัวในอำเภอจูโจฺว มณฑลหูหนาน และในอำเภอเหิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งในศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุด ภูเขาฝูปัวและสวนสาธารณะฝูปัวในนครกุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงก็ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อตำแหน่งของหม่า ยฺเหวียนเช่นกัน
ศาลเจ้าของเวียดนามที่สร้างขึ้นอุทิศแก่ขุนพลของราชวงศ์ฮั่นมีอยู่ในโก๋ลวา, จังหวัดทัญฮว้า, จังหวัดฟู้เอียน และจังหวัดบั๊กนิญในช่วงศควรรษที่ 19 และ 20[6][7][8] รายงานในปี ค.ศ. 1938 จากหมู่บ้านในจังหวัดบั๊กนิญระบุถึงการบูชาหม่า ยฺเหวียนนอกเหนือจากการบูชาพี่น้องจึง (Trưng) ในฐานะเทพผู้ทักษ์หลักของพวกตน[6][8] ในภาคใต้ของเวียดนาม ศาลเจ้าที่สร้างอุทิศให้กับหม่า ยฺเหวียนนั้นส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณศาลเจ้าจีนหรือพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเวียดนามเชื่อสายจีน[7][8] เชื่อกันว่าการบูชาหม่า ยฺเหวียนมาจากผู้อพยพชาวจีน แต่นักประวัติศาสตร์ Li Tana แสดงความคิดเห็นว่า "เป็นไปได้สูงว่าเรื่องราวจะเป็นไปในอีกทางหนึ่ง - ว่าชาวจีนรับเอาลัทธินับถือหม่า ยฺเหวียนมาจากชาวเวียดนาม" เนื่องจากการบูชาหม่า ยฺเหวียนในฐานะเทพเจ้าท้องถิ่นแพร่หลายในเวียดนามอยู่แล้ว เพราะหม่า ยฺเหวียนได้รับการขนานนามว่า บ่านโถกง (bản thổ công; "จิตวิญญาณท้องถิ่น")[7]
วัดบักหมา
แก้มีหลักฐานว่ามีการบูชาหม่า ยฺเหวียนในวัดบักหมา (Bạch Mã) ในกรุงฮานอย ก่อนที่การบูชาหม่า ยฺเหวียนจะถูกกวาดล้างอย่างมากภายหลังสงครามจีน–เวียดนามในปี ค.ศ. 1979[8][6][7] หนังสือของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (École française d'Extrême-Orient) ในปี ค.ศ. 1956 โดยหวู ซัง มิญ (Vũ Đăng Minh) และเหงียน ฟู้ ห่อย (Nguyễn Phú Hợi) ระบุถึงการมีอยู่ของรูปปั้นหม่า ยฺเหวียนในศาลเจ้า และสำนักงานวัฒนธรรมแห่งกรุงฮานอยได้บันทึกการมีอยู่ของรูปปั้นหม่า ยฺเหวียนในศาลเจ้าเมื่อปี ค.ศ. 1984[6][8] ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ชาวเวียดนามเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ใกล้ศาลเจ้ากล่าวว่าพวกตนไม่เคยได้ยินเรื่องการบูชาหม่า ยฺเหวียนในศาลเจ้ามาก่อน[6][8]
เทพดั้งเดิมที่บูชาในศาลเจ้าอาจจะเป็นเทพบักหมา (จิตวิญญาณ-เทพผู้พิทักษ์ของกรุงฮานอยที่ถูกรวมเข้ากับเทพล็องโด๋ (Long Đỗ)) หรืออาจจะเป็นหม่า ยฺเหวียน[6][8] เทพดั้งเดิมอาจจะเป็นบักหมาก่อนที่ภายหลังผู้อพยพและนักเดินทางชาวจีนในภายหลังสับสนกับชื่อของหม่า ยฺเหวียน[6][8][9][10] นักประวัติศาสตร์ Olga Dror เสนอความเป็นไปได้ 2 ประการ ความเป็นไปได้ประการแรกคือเทพบักหมาได้รับการบูชาโดยชุมชนชาวจีนรุ่นเก่าและชุมชนชาวญวนที่ศาลเจ้า ก่อนที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวจีนรุ่นใหม่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาจะรวมเทพบักหมาเข้ากับหม่า ยฺเหวียน ความเป็นไปได้ประการที่สองคือหม่า ยฺเหวียนได้รับการบูชาที่ศาลเจ้ามาแต่เดิม ก่อนที่จะเกิดความสับสนหลังการครอบงำภาคเหนือยุคที่สามและถูกแทนที่ด้วยลัทธิบักหมา[8][6][7]
ตำนาน
แก้ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 จูกัดเหลียงได้รับการชี้นำทางจากศาลเจ้าหม่า ยฺเหวียน (ม้าอ้วน) ในการปราบปรามกบฏเบ้งเฮ็กและชนเผ่าลำมัน (南蠻 หนานหมาน)[11]
หม่า ยฺเหวียนเป็นที่มาของสำนวนเฉิงยฺหวี่ (成語) ของจีนสองสำนวน สำนวนแรกคือ "หนังม้าห่อร่าง" (馬革裹屍 หม่าเก๋อกั่วชือ) มีความหมายถึงการอุทิศตนต่อหน้าที่ เต็มใจสละชีพในสนามรบและให้ห่อศพด้วยหนังม้า หม่า ยฺเหวียนกล่าวประโยคนี้ขณะที่สนทนากับสหายถึงเหตุผลที่ตนต้องการรับราชการทหารต่อไป อีกสำนวนหนึ่งคือ "วาดรูปเสือผิดได้รูปสุนัข" (畫虎不成反類犬 ฮฺว่าหู่ปู้เฉิงฝ่านเล่ย์เฉฺวี่ยน) อ้างถึงคำพูดของหม่า ยฺเหวียนที่ตักเตือนหลานชายให้ระมัดระวังความประพฤติและอย่าพยายามเลียนแบบตู้ เป่า (杜保) ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น -- กล่าวคือหากพยายามเลียนแบบตู้ เป่า แต่ไม่มีความกล้าหาญแบบตู้ เป่า สุดท้ายจะกลายเป็นเพียงอันธพาลเหลาะแหละ
หมายเหตุ
แก้- ↑ ชื่อที่ปรากฏในนวนิยายตั้งฮั่นซึ่งสันนิษฐานว่าแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 และในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยในสมัยรัชกาลที่ 1
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Bielestein, Hans (1987). "Wang Mang, the restoration of the Han dynasty, and Later Han". The Cambridge History of China, Volume 1: The Ch'in and Han Empires, 221 B.C.–A.D. 220. Cambridge: Cambridge University Press. p. 271. ISBN 9780521243278.
- ↑ "Ma Yuan". Mountain Songs. สืบค้นเมื่อ 11 January 2013.
- ↑ 《後漢書》李賢注引《東觀漢記》載:“援長七尺五寸,色理膚髮眉目容貌如畫。”
- ↑ Yü, Ying-shih (1987). "Han Foreign Relations". The Cambridge History of China, Volume 1: The Ch'in and Han Empires, 221 B.C.–A.D. 220. Cambridge: Cambridge University Press. p. 454. ISBN 9780521243278.
- ↑ Peterson, Barbara Bennett, บ.ก. (2000). "Queen Ma, queen-consort of Emperor Ming, Eastern Han dynasty". Notable Women of China: Shang Dynasty to the Early Twentieth Century. Routledge. doi:10.4324/9781315702063. ISBN 9781315702063.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 "Mã Viện's Memorials in Vietnam" (ภาษาเวียดนาม). BBC Vietnamese. 29 June 2005.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Li, Tana (2003). "Opusculum de sectis apud Sinenses et Tunkinenses (A Small Treatise on the Sects among the Chinese and Tonkinese): A Study of Religion in China and North Vietnam in the Eighteenth Century by Adriano Di St. Thecla, Olga Dror, Mariya Berzovska". Journal of Southeast Asian Studies. 34 (3): 580–581. JSTOR 20072547.
Bach Mã temple in the heart of the '36 streets' of Hanoi was dedicated to Ma Yuan (Mã Viện), a Chinese general in the first century CE (pp. 144-5) [...] temples for Ma Yuan existed not only in the old capital Hanoi, but also in Cổ Loa, as well as in Thanh Hóa and Phúc Yên provinces. Furthermore, she found that in Bắc Ninh where people worshiped the Trưng sisters, they also worshipped Ma Yuan in the same temple (pp. 46-7). All of these are found in northern Vietnam, which is striking.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 8.6 8.7 8.8 Dror, Olga (2002). "Translator's Introduction". Opusculum de Sectis apud Sinenses et Tunkinenses: A Small Treatise on the Sects among the Chinese and Tonkinese. โดย di St. Thecla, Adriano; Dror, Olga; Taylor, K. W.; Jensen, Lionel M. Cornell University Press. pp. 42–47. JSTOR 10.7591/j.ctv1fxmh0.
- ↑ Tran, Anh Q. (2017). Gods, Heroes, and Ancestors: An Interreligious Encounter in Eighteenth-Century Vietnam. Oxford University Press. ISBN 9780190677633.
- ↑ Mai, Hồng (1996). "Về vị thần thờ ở đền Bạch Mã phố Hàng Buồm, Hà Nội". Tạp chí Hán Nôm (ภาษาเวียดนาม). Institute of Hán-Nôm Studies. 26. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-08-27. สืบค้นเมื่อ 4 August 2023.
- ↑ ล่อ, กวนตง. "ตอนที่ 89". สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้).