posttoday

"ไอออน เอนเนอร์ยี่" ยึดโมเดลติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี - EPC ครบจบที่เดียว

12 มิถุนายน 2567

"พีรกานต์ มานะกิจ" ประธานอำนวยการ "ไอออน เอนเนอร์ยี่" ยึดโมเดลติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี มีสัญญาซื้อขายไฟ พร้อมรับเหมา EPC ออกแบบ ติดตั้ง ดูแลรักษาอุปกรณ์ครบจบที่เดียว ชูจุดเด่นแอพพลิเคชั่นเพื่ออนาคต

     นายพีรกานต์ มานะกิจ ประธานอำนวยการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา โพสต์ทูเดย์ SMART SME 2024 “EMPOWERING THE NEXT WAVE” ในหัวข้อ "ถอดบทเรียน SME ปรับตัวรับโลกยุคใหม่"ว่า ไอออนฯเป็นน้องใหม่ในธุรกิจโซลาร์เซลล์ แต่ถือว่ามากด้วยประสบการณ์ 

     ทั้งนี้บริษัทแบ่งโมเดลการทำงานใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรก "โมเดลลงทุน" ซึ่งภาพรวมบริษัทได้ขยายตลาดเพื่อตอบโจทย์คนทุกกลุ่มมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วโจทย์สำคัญคือต้องการทำให้โซลาร์เซลล์เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคนทุกกลุ่มทั้งลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี หรือ องค์กรต่างๆ รวมถึงโรงงาน โรงเรียน หรือโรงแรม เรามีโมเดลโซลาร์ PPA นั่นก็คือคุณไม่ต้องลงทุนหลายสิบล้านบาทเพื่อติดตั้งโซลาร์ บริษัทจะลงทุนติดตั้งให้ฟรี เพียงแต่ต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ต่ำกว่าค่าไฟของ กฟผ. ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผมคิดว่า ในฐานะธุรกิจ SME อยากจะแก้ pain point ของธุรกิจอื่นๆที่อยากเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ แต่อาจไม่ได้อยากใช้เงินทุนในส่วนนี้

 

     ส่วนที่สอง คือ "โมเดล EPC" รับเหมาฯ ออกแบบ ติดตั้ง และดูแลรักษาอุปกรณ์ให้กับลูกค้า ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้ง การติดตั้งในโครงการบ้านเดี่ยวหลายพันหลังคาต่อปี หลากหลายแบรนด์ เราถือเป็นผู้ติดตั้งโซลาร์ที่เยอะที่สุด รวมถึงธนาคารต่างๆ ทั้ง ออมสิน , กสิกรไทย ฯลฯ และขยายติดตั้งให้กับ SCGP เป็นต้น

     นอกจากนี้ ในฐานะธุรกิจ SME ถ้าบริษัททำแค่โมเดลปกติก็จะคล้ายกับคนอื่น ทำเหมือนคนอื่น อุปกรณ์ก็ไม่ได้ผลิตเอง ดังนั้นสิ่งที่เราทำเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแตกต่างขึ้นมา นั่นก็คือ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นของไอออน นี่คือคนไทยพัฒนาเอง สามารถดาวน์โหลดแอพฯได้ทั้งระบบ iOS และ Android เพื่อตรวจสอบผลผลิตการใขช้พลังงานทั้งจาก กฟผ. , โซลาร์ และในอนาคตถ้ามีแบตเตอร์รี่ รวมถึงการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตได้ 

     อย่างไรก็ตาม ธุรกิจกลุ่มพลังงานเป็นธุรกิจที่มีแต่ผู้เล่นขนาดใหญ่ เรื่องความมั่นใจและความเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะอย่างอุปกรณ์โซลาร์ฯต้องอยู่ไปอีก 25-30 ปี ช่วงแรกของการทำการตลาดถือว่ายากมาก เราจึงหาพาร์ทเนอร์และผู้ร่วมทุนที่มีชื่อเสียง มีเน็ตเวิร์ค มีซินเนอร์ยีร่วมกันได้ ดังนั้นบริษัทจึงต้องเริ่มด้วยการติดตั้งโซลาร์ให้กับโครงการของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) พอคนเห็นว่าทำได้จริง โอกาสที่จะขยายฐานลูกค้าผู้พัฒนาอสังหาฯรายอื่นๆจึงค่อนข้างเป็นไปได้สูง 

     "เราต้องมีพาร์ทเนอร์ที่ดี แต่ต้องส่งมอบงานให้ได้ ไม่ใช่แค่เอาชื่อพาร์ทเนอร์มาใช้ แต่ทำไม่ได้จริง ยังไงธุรกิจก็ไปต่อไม่ได้"