แกงแค
แกงแคไก่ใส่ถั่วฝักยาวและผักต่าง ๆ | |
ชื่ออื่น | แก๋งแค |
---|---|
ประเภท | แกง |
แหล่งกำเนิด | ประเทศไทย |
ภูมิภาค | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ |
ชาติที่มีอาหารประจำชาติที่เกี่ยวข้อง | ไทย |
ผู้สร้างสรรค์ | อาหารไทยภาคเหนือ |
อุณหภูมิเสิร์ฟ | ร้อน |
ส่วนผสมหลัก | ผัก เนื้อสัตว์ |
แกงแค ภาษาล้านนาว่า แก๋งแค (ไทยถิ่นเหนือ: ᩯᨠ᩠ᨦᩯᨤ) เป็นอาหารไทยภาคเหนือ ประเภทแกง อาจกินกับข้าวสวย หรือข้าวเหนียว ทางภาคเหนือใช้ผักท้องถิ่นหรือตามฤดูกาล ไม่นิยมใช้ผักที่มีเมือกลื่นหรือเปื่อยง่ายมาทำ แกงแคจะเติมน้ำเล็กน้อยเพราะมีน้ำจากผักอยู่แล้ว จะเรียกชื่อแกงแคตามชนิดของเนื้อสัตว์ที่นำมาเป็นส่วนผสมนั้น เช่น แกงแคไก่ แกงแคกบ แกงแคจิ๊นงัว แกงแคปลาแห้ง[1]
ส่วนผสม
[แก้]แกงแคใช้เครื่องปรุงเป็นสารพัดผัก เช่น ตำลึง ชะพลู ชะอม เสลดพังพอนตัวเมีย (ลิ้นเขียด) ผักชีฝรั่ง ดอกแค ยอดคูน ผักคราดหัวแหวน ยอดดีปลี มารวมทำเป็นแกง ใส่เนื้อย่าง เช่น วัว ควาย หรือหมู ไก่ กบ หรือใช้เนื้อตากแห้ง ปลาแห้ง ปรุงรสด้วยน้ำพริก[2] ซึ่งประกอบด้วย พริกแห้ง ข่าหั่น ขมิ้น ตะไคร้ซอย กระเทียมแกะเปลือก หอมแดงปอกเปลือก กะปิแกง เกลือเม็ด ปลาร้าสับเล็กน้อย นำมาโขลกให้ละเอียด แกงแคมีน้ำพอขลุกขลิก มีรสเผ็ด หวาน เค็ม ที่เกิดจากการปรุงน้ำปลา ส่วนความหวานได้จากน้ำของผัก หอมมะแขว่น รสชาติไม่จัด
แกงแคอาจแกงในลักษณะแห้ง เรียกว่า คั่วแค หรืออาจเติมข้าวคั่วและห่อใบตองแล้วนำไปนึ่ง เรียกว่า ห่อนึ่งแค หากแกงแคเหลือ อาจไปรวมกับแกงอื่น เช่น แกงฮังเล แกงอ่อม เติมหน่อไม้ดอง วุ้นเส้น และผักอื่นอีก ก็สามารถเป็นแกงโฮะอีกอย่าง[3]
สิ่งสืบเนื่อง
[แก้]ด้วยลักษณะของแกงแคที่นำผักหลากชนิดมารวมกัน จึงมีการเรียกหมู่บ้านที่มีคนหลากหลายชาติพันธุ์ ว่า บ้านแกงแค หรือคำว่า ธัมม์แกงแค มีความหมายถึง คัมภีร์ที่มีการรวมเอาธัมม์หลากหลายเรื่องเข้ามารวมเป็นไม้ประกับธัมม์เดียวกัน โดยธัมม์แกงแคมักเป็นธัมม์ชะตา เช่น ธัมม์ประจำวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด ที่นำมาถวายพระเป็นต้น ขณะที่โดยปกติจะแยกเป็นแต่ละเรื่องแต่เป็นหลายผูก[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "แกงแคไก่". ศูนย์สนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2020.
- ↑ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (13 มิถุนายน 2019). "วิธีทำ "แกงแค" แบบฉบับแท้ๆ ของ คนล้านนา". มติชนสุดสัปดาห์. ISSN 1686-8196.
- ↑ 3.0 3.1 คชานนท์ จินดาแก้ว (2016). ศักดิ์นรินทร์ ชาวงิ้ว (บ.ก.). "แกงแคไก่" (PDF). เวียงเจ็ดลิน. เชียงใหม่: ศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา. 6 (2): 51–54. ISSN 2228-9364.