งูอนาคอนดา
งูอนาคอนดา | |
---|---|
งูอนาคอนดาเหลือง (E. notaeus) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Squamata |
อันดับย่อย: | Serpentes |
วงศ์: | Boidae |
วงศ์ย่อย: | Boinae |
สกุล: | Eunectes Wagler, 1830[1] |
ชนิดต้นแบบ | |
Eunectes murinus (Linnaeus, 1758)[1] | |
ชนิด | |
| |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
งูอนาคอนดา (อังกฤษ: anaconda) หรือ งูโบอาน้ำ (water boa) เป็นชื่อสามัญและสกุลของงูขนาดใหญ่ 4 ชนิดที่อยู่ในวงศ์ย่อย Boinae ในวงศ์ใหญ่ Boidae ใช้ชื่อสกุลว่า Eunectes
อาศัยอยู่ใน หนอง บึง และแม่น้ำในป่าดิบชื้นในทวีปอเมริกาใต้และเกาะตรินิแดด
โดยที่คำว่า Eunectes มาจากภาษากรีกคำว่า Eυνήκτης หมายถึง "ว่ายน้ำได้ดี"
การจำแนก
[แก้]- งูอนาคอนดาโบลิเวีย (Eunectes beniensis) พบเป็นครั้งแรกในโบลิเวีย ได้รับการตั้งชื่อเมื่อปี ค.ศ. 2002 โดย ลุตซ์ เดิร์กเซน และกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา[2][3]
- งูอนาคอนดาจุดดำ (Eunectes deschauenseei) พบทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล
- งูอนาคอนดาเขียว หรือ งูอนาคอนดาธรรมดา (Eunectes murinus) จัดเป็นชนิดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด โดยมีรายงานว่ามีความยาวถึง 10 เมตร แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีความยาวเฉลี่ย 4.5 เมตร แม้จะมีความยาวน้อยกว่างูเหลือมซึ่งเป็นงูชนิดที่มีบันทึกว่ายาวที่สุด แต่ก็ยังมีน้ำหนักมากกว่า จัดว่าเป็นงูที่หนักที่สุดในโลกที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ อาจมีน้ำหนักถึง 250 กิโลกรัม และมีเส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวมากกว่า 30 เซนติเมตร ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยตัวเมียจะมีความยาวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6-7.8 เมตร ขณะที่ตัวผู้มีความยาวเฉลี่ย 3.6-4.8 เมตร พบทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ อย่างเช่นในเวเนซุเอลา, โคลัมเบีย, บราซิล, เอกวาดอร์, ทางตอนเหนือของโบลิเวีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเปรู, กายอานา และตรินิแดด แม้ว่าจะเป็นที่สนใจมาก แต่ก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับงูชนิดนี้อยู่น้อยมาก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1992 จึงได้มีการศึกษาในทางชีววิทยาเป็นครั้งแรกในเวเนซุเอลา โดย ดร.เฮซุส ริวาซ
- งูอนาคอนดาเหลือง (Eunectes notaeus) มีขนาดโดยเฉลี่ยเมื่อโตเต็มวัยค่อนข้างเล็กกว่างูอนาคอนดาเขียว โดยมีความยาวเพียง 3 เมตร อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของโปลิเวีย, ปารากวัย, อุรุกวัย, ทางตะวันตกของบราซิล และทางตะวันออกเฉียงเหนือของอาร์เจนตินา
- Eunectes stirtoni ค้นพบในลาเวนตา (โคลอมเบีย) สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ยุคไมโอซีนในโคลัมเบีย[4]
ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรม
[แก้]โดยรวมแล้วงูอนาคอนดาที่มีหัวขนาดใหญ่และลำคอหนา ตาและรูจมูกอยู่ที่ส่วนบนของหัว ทำให้สามารถหายใจและมองเห็นเหยื่อในขณะที่อยู่ใต้น้ำได้ ฆ่าเหยื่อโดยใช้ลำตัวบีบรัด เป็นงูที่ไม่มีพิษ แต่ยังมีฟันและขากรรไกรที่แข็งแรงที่ใช้กัดเหยื่อ โดยจะคาบเหยื่อแล้วลากลงไปในน้ำเพื่อให้เหยื่อจมน้ำตาย
ด้วยความที่มีน้ำหนักมากทำให้เมื่ออยู่บนบกงูอนาคอนดาจะเคลื่อนไหวได้ช้าและงุ่มง่ามมาก แต่จะเคลื่อนไหวได้ดีและรวดเร็วผิดกับรูปร่างเมื่ออยู่ในน้ำ ในบางครั้งอาจลอยตัวนิ่ง ๆ อยู่บนผิวน้ำปล่อยให้กระแสน้ำพัดไป
โดยปกติแล้ว จะกินสัตว์จำพวกหนูขนาดใหญ่ เช่น คาปรีบารา รวมถึงสัตว์ขนาดใหญ่อย่างอื่น เช่น สมเสร็จ, กวาง, หมูป่า, ปลา, เต่า, นก, แกะ, สุนัข และสัตว์เลื้อยคลานในน้ำอย่าง จระเข้ไคแมน ส่วนตัวที่ยังไม่โตเต็มที่จะกินหนูขนาดเล็ก, ลูกไก่, กบ และปลา โดยการใช้อวัยวะรับรู้คลื่นความร้อนหรืออินฟราเรดที่เป็นแอ่งบริเวณหน้าผากตรวจจับ โดยสัญชาตญาณแล้ว เมื่องูอนาคอนดาพบมนุษย์จะหนีไป การตายของมนุษย์ที่เกิดจากงูอนาคอนดาจึงเกิดขึ้นได้ยาก แม้จะเป็นงูขนาดใหญ่และอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่กระนั้นงูอนาคอนดาขนาดเล็กหรือตัวที่อ่อนแอหรือบาดเจ็บก็จะตกเป็นเหยื่อของสัตว์กินเนื้ออย่างอื่นได้ง่าย เช่น เสือจากัวร์, จระเข้ไคแมน, งูอนาคอนดาด้วยกัน หรือ ปลาปิรันยา
งูอนาคอนดาทุกชนิดขยายพันธุ์ด้วยการออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 20-40 ตัว หรือมากกว่านั้น เป็นงูที่นิยมเลี้ยงกันในสวนสัตว์เพื่อการศึกษา และเลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินส่วนตัว[5]
ในวัฒนธรรม
[แก้]ด้วยความที่งูอนาคอนดาเป็นงูขนาดใหญ่ ทำให้แลดูน่าสะพรึงกลัว ชาวพื้นเมืองอเมริกาใต้จึงให้ความนับถือดุจเทพเจ้า เช่น ชาวแอซเท็ก ให้ความนับถือเทพที่ชื่อว่า "เก็ตซัลโกอาตล์" ที่มีรูปลักษณ์เป็นงูขนาดใหญ่ เป็นเทพเจ้าที่สร้างโลกและมนุษย์ให้เกิดขึ้นมาจากเถ้ากระดูก[6]
นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องเล่าลือถึงงูอนาคอนดาขนาดยักษ์ ที่มีขนาดใหญ่กว่างูอนาคอนดาตามปกติ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาสเปนว่า "cobra grande" แปลว่า "งูยักษ์" โดยในปี ค.ศ. 1906 พันเอกเพอร์ซี ฟาลเคตต์ ซึ่งเป็นนักสำรวจผู้เขียนแผนที่ป่าอเมซอนได้เขียนลงในบันทึกของเขาว่าเขามีหนังงูที่มีความยาว 62 ฟุต และกล่าวว่า เขาได้สังหารงูตัวนี้ด้วยปืนไรเฟิลด้วยกระสุนขนาด .44 ในกระดูกสันหลังของมัน ซึ่งมันโจมตีใส่เรือของคณะเขา เส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัวมันเกินกว่า 12 นิ้ว และอาจจะใหญ่ได้มากกว่านี้ถ้าได้กินอาหารเข้าไป
นอกจากนี้แล้วยังมีความเชื่อของชนพื้นเมืองในป่าดิบชื้นของอเมซอนที่เรียกงูอนาคอนดาขนาดยักษ์ว่า "matatoro" แปลว่า "ตัวกินวัว" โดยมีความยาวกว่า 80 ฟุต[7]
ซึ่งจากความเชื่อและเรื่องเล่าลือนี้ทำให้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยเช่น ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดได้สร้างเรื่องเกี่ยวกับงูอนาคอนดายักษ์มาในปี ค.ศ. 1997 คือ Anaconda ซึ่งนำแสดงโดย เจนนิเฟอร์ โลเปซ และจอน วอยต์ และได้มีภาคต่อมาอีกถึง 2 ภาค ในปีหลังจากนี้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 McDiarmid RW, Campbell JA, Touré T. 1999. Snake Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference, vol. 1. Herpetologists' League. 511 pp. ISBN 1-893777-00-6 (series). ISBN 1-893777-01-4 (volume).
- ↑ Dirksen, L. (2002) (in German). Anakondas. Münster: Natur und Tier Verlag
- ↑ Eunectes beniensis DIRKSEN, 2002
- ↑ Hoffstetter, R., and J. C. Rage. 1977. Le gisement de vertebres miocenes de La Venta (Colombie) et sa faune de serpents. Annales de Paleontologie (Vertebres) 63:161–190.
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หน้า 405-406 (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
- ↑ สมฤทธี บัวระมวล. ตำนานแห่งศาสนา ลัทธินิยมและความเชื่อปรัมปรา. กทม. คุ้มคำ.มปป. หน้า 76
- ↑ MEGACONDA จากAnimal Planet
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์องค์กรอนุรักษ์งูอนาคอนดา (อังกฤษ) เก็บถาวร 2019-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Eunectes ที่วิกิสปีชีส์