ข้ามไปเนื้อหา

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดย อ็องตวน-ฟร็องซัว ซาลเลต
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
ครองราชย์10 พฤษภาคม 1774 – 4 กันยายน 1791
ราชาภิเษก11 มิถุนายน 1775
ก่อนหน้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 15
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศส
ครองราชย์4 กันยายน 1791 – 10 สิงหาคม 1792
ประกาศองค์30 กันยายน 1791
ถัดไปการปฏิวัติฝรั่งเศส
ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง
สภากงว็องซียงแห่งชาติ
พระราชสมภพ23 สิงหาคม ค.ศ. 1754(1754-08-23)
พระราชวังแวร์ซาย, ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
สวรรคต21 มกราคม ค.ศ. 1793(1793-01-21) (38 ปี)
ปลัสเดอลากงกอร์ด, ปารีส, สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ฝังพระศพ21 มกราคม 1815
มหาวิหารแซ็ง-เดอนี, ทางเหนือของฝรั่งเศส
คู่อภิเษกมารี อ็องตัวแน็ต
พระราชบุตรมารี-เตแรซแห่งฝรั่งเศส
เจ้าชายหลุยส์-โฌแซ็ฟ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
พระเจ้าหลุยส์ที่ 17 แห่งฝรั่งเศส
เจ้าหญิงโซเฟีย เฮเลน เบียทริซแห่งฝรั่งเศส
พระนามเต็ม
หลุยส์ ออกุสต์ เดอ ฟร็อง
ราชวงศ์บูร์บง
พระราชบิดาเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดามาเรีย โจเซฟาแห่งซัคเซิน
ศาสนาโรมันคาทอลิก
ลายพระอภิไธย

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Louis XVI de France, หลุยส์แซซเดอฟร็องส์; 5 กันยายน ค.ศ. 175421 มกราคม ค.ศ. 1793) ทรงเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์ ในช่วงต้นของสมัยใหม่ พระบิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คือ เจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส ผู้เป็นพระโอรสเพียงพระองค์เดียวและทายาทผู้มีสิทธิโดยตรงในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ซึ่งสวรรคตในปี ค.ศ. 1765 ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระอัยกา (พระเจ้าหลุยส์ที่ 15) ในปี ค.ศ. 1774 โดยในปี ค.ศ. 1791 ทรงสูญเสียราชบัลลังก์แห่งนาวาร์และครองราชย์ต่อไปในฐานะกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ถัดมาในปี ค.ศ. 1792 ทรงถูกขับออกจากราชสมบัติและสำเร็จโทษในช่วงของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ช่วงต้นรัชกาลได้รับการบันทึกไว้ว่าทรงพยายามที่จะปฏิรูปฝรั่งเศส เนื่องจากทรงได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของยุคเรืองปัญญา อาทิเช่น ความพยายามในการล้มเลิกระบบมาเนอร์ การจัดทำระบบตายย์ (ฝรั่งเศส: Taille; การจัดเก็บภาษีที่ดินคำนวณจากขนาดที่ดินที่ถือครอง) และสนับสนุนขันติธรรมไปในแนวทางที่ออกห่างจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก แต่ฝ่ายขุนนางฝรั่งเศสกลับแสดงท่าทีอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิรูปของพระองค์และประสบความสำเร็จในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สามัญชนมากขึ้น นอกจากนี้ยังทรงเข้าไปพัวพันกับสงครามประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกา ด้วยการประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา สงครามดังกล่าวสร้างภาระค่าใช้จ่ายแก่ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวนมาก จนทำให้ฐานะการคลังของประเทศตกอยู่ในภาวะเลวร้าย

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการคลังที่ตามมามีส่วนทำให้ความนิยมในระบอบเก่าเสื่อมลง ความไม่พอใจในหมู่ชนชั้นกลางและล่างของฝรั่งเศสส่งผลให้มีการต่อต้านอภิสิทธิ์ชนและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มมากขึ้น ที่ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ทรงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของระบอบการปกครองนี้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1789 คุกบัสตีย์ถูกทลายลงระหว่างการก่อจลาจลในกรุงปารีส อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ยังผลให้เกิดสถาบันนิติบัญญัติแห่งชาติ และการปฏิวัติยังสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองแต่เพียงในนามเท่านั้น

แม้ว่าจะทรงสนับสนุนรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 แต่พระราโชบายที่ให้ชาติมหาอำนาจในยุโรปเข้าแทรกแซงฝรั่งเศสเพื่อยุติความวุ่นวายก็ประสบความล้มเหลว ตามมาด้วยเหตุการณ์ความพยายามเสด็จหนีออกจากฝรั่งเศสที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อพระองค์เป็นวงกว้างทั่วฝรั่งเศส ทำให้พระราชอำนาจถูกล้มล้างลงอย่างเป็นทางการจากเหตุการณ์สิบสิงหาคมที่มีการบุกทำลายพระราชวังตุยเลอรี พระเจ้าหลุยส์และพระบรมวงศ์ทรงถูกจองจำในป้อมปราการแห่งหนึ่ง จนเมื่อมีการสถาปนาสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 ขึ้น สมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสก็ได้กล่าวหาพระองค์ว่าทรยศต่อประเทศชาติ จากการสืบสวนพบว่าทรงมีความผิดจริงและทรงถูกตัดสินลงโทษด้วยการปลงพระชนม์ ทั้งนี้ทรงถูกเรียกขานในแบบสามัญชนว่า หลุยส์ กาเป (Louis Capet) ซึ่งนามสกุลนี้มีที่มาจากเชื้อสายราชวงศ์กาเปเซียงของพระองค์ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สวรรคตจากการสำเร็จโทษด้วยเครื่องกิโยตีน ในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1793

ทรงพระเยาว์

[แก้]

หลุยส์ออกุสต์ เดอ ฟร็อง และดำรงตำแหน่งดยุกแห่งแบร์รีตั้งแต่แรกประสูติ ณ พระราชวังแวร์ซาย ทรงเป็นโอรสองค์ที่สามจากทั้งหมดเจ็ดพระองค์ของเจ้าชายหลุยส์ โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส เป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศสกับพระราชินีมารี เลสซ์ไซน์สกา มีพระราชมารดามีพระนามว่า เจ้าหญิงมาเรีย โจเซฟาแห่งซัคเซิน ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์ เจ้านครรัฐผู้คัดเลือกแห่งซัคเซินและพระมหากษัตริย์โปแลนด์-ลิทัวเนีย

เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ ทรงเผชิญกับความยากลำบากในวัยเยาว์ เนื่องจากว่ากันว่าพระบิดาและพระมารดาของพระองค์ทรงทอดทิ้งพระองค์และให้ความสำคัญกับพระเชษฐา เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ ซึ่งมีพระจริยวัตรและพระปรีชาสามารถมากกว่า แต่ต่อมาก็สิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ. 1761 ด้วยพระชนมายุ 9 พรรษา เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์มีพระพลานามัยแข็งแรงแต่ทรงมีพระจริยวัตรเขินอาย มีพระปรีชาในด้านการเรียนและทรงแตกฉานในภาษาละติน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังทรงใช้ภาษาอิตาลีและภาษาอังกฤษได้อย่างเชี่ยวชาญ ทรงโปรดกิจกรรมที่ใช้พละกำลังเช่นการล่าสัตว์กับพระอัยกา หรือการหยอกเล่นกับพระอนุชา เจ้าชายหลุยส์สตานิสลาส์ เคาท์แห่งโพรว็องส์ และเจ้าชายชาร์ลส์-ฟีลีปป์ เคาท์แห่งอาร์ตัวส์ นอกจากนี้ยังทรงได้รับแรงสนับสนุนในงานอดิเรกส่วนพระองค์อื่น ๆ เช่น การประกอบนาฬิกา ซึ่งถูกมองว่าเป็นประโยชน์กับผู้เยาว์[1]

จากการสิ้นพระชนม์ของพระบิดาด้วยวัณโรคในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1765 เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ผู้มีพระชนมายุได้เพียง 11 พรรษา ก็ได้เฉลิมพระยศใหม่ขึ้นเป็นโดแฟ็ง พระมารดาของพระองค์ผู้ทรงไม่เคยฟื้นจากความอาดูรในการสูญเสียพระสวามีก็ได้สิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1767 ด้วยวัณโรคเช่นเดียวกัน[2] การศึกษาอย่างเข้มงวดในแบบอนุรักษนิยมจากดยุกแห่งโวกียงซึ่งมีฐานะเป็น ข้าหลวงแห่งราชบุตรฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Gouverneur des Enfants de France; กูแวร์เนอเดส์อ็องฟ็องต์สเดอฟร็องส์) ตั้งแต่ ค.ศ. 1760 จนกระทั่งทรงอภิเษกสมรสในปี ค.ศ. 1770 ไม่ได้ช่วยเตรียมพระองค์ในการขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ต่อจากพระอัยกาในปี ค.ศ. 1774 เลย การศึกษาที่ทรงได้รับเป็นการผสมปนเปกันของวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะศาสนา จริยธรรม และมนุษยศาสตร์[3] ทั้งนี้พระอาจารย์อาจจะมีส่วนในการปลุกปั้นพระองค์ให้ทรงกลายมาเป็นกษัตริย์ผู้ไร้ซึ่งความหนักแน่นเฉียบขาดอีกด้วย เช่นที่ อับเบ แบร์ตีแยร์ พระอาจารย์ของพระองค์ชี้แนะว่าความขลาดกลัวคือคุณค่าในตัวกษัตริย์ผู้แข็งแกร่ง หรือที่อับเบ โซลดีนี ผู้รับฟังคำสารภาพบาป ได้ชี้แนะไว้ว่าอย่าทรงปล่อยให้ผู้คนอ่านพระราชหฤทัยของพระองค์ได้[4]

พระชนม์ชีพส่วนพระองค์

[แก้]
มารี อ็องตัวแน็ต สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศสกับพระราชโอรส-ธิดาองค์โต 3 พระองค์แรก, เจ้าหญิงมารี-เตเรส, เจ้าชายหลุยส์-ชาร์ลส์ และเจ้าชายหลุยส์-โจเซฟ แต่เดิมแล้วในพระอู่ควรจะมีเจ้าหญิงโซฟี เฮเลน เบียทริกซ์แห่งฝรั่งเศส แต่ภาพนี้ถูกวาดขึ้นหลังจากการสิ้นพระชนม์ขององค์หญิง โดยเอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขณะมีพระชนมายุ 20 พรรษา
เจ้าหญิงโซฟี เฮเลน เบียทริกซ์แห่งฝรั่งเศส

ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1770 ขณะมีพระชนมายุ 15 พรรษา เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ทรงอภิเษกกับอาร์คดัชเชสพระชนมายุ 14 พรรษาจากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คพระนามว่า อาร์ชดัชเชสมารีอา อันโทนีอา โยเซฟา โยฮันนา (ชื่อฝรั่งเศสเรียกมารี อ็องตัวแน็ต) พระญาติชั้นที่สองและพระราชธิดาองค์เล็กสุดในจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์กับจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระชายาผู้น่าเกรงขาม

การอภิเษกสมรสในครั้งนี้ต้องเผชิญกับการต่อต้านบางส่วนจากสาธารณชนชาวฝรั่งเศส จากที่การเป็นพันธมิตรกับออสเตรียได้นำพาฝรั่งเศสเข้าสู่ความหายนะในสงครามเจ็ดปี ทำให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่สหราชอาณาจักรทั้งในแผ่นดินยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยในช่วงของการอภิเษกสมรสครั้งนี้ ประชาชนชาวฝรั่งเศสมองสัมพันธไมตรีกับออสเตรียด้วยความชิงชัง และพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ก็ทรงถูกมองว่าเป็นสตรีชาวต่างชาติผู้ไม่เป็นที่พึงประสงค์[5] สำหรับคู่รักราชนิกุลผู้เยาว์ทั้งสองแล้ว การอภิเษกครั้งนี้เริ่มแรกดูชื่นมื่นแต่ห่างเหิน - ความเขินอายของเจ้าชายหลุยส์โอกุสต์หมายความว่าพระองค์จะทรงล้มเหลวในการรวมกันของสองราชวงศ์ครั้งนี้ สร้างความทุกข์ใจให้แก่พระชายาอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นคือความกังวลว่าจะทรงถูกบงการโดยพระชายาเพื่อประสงค์บางอย่างของพระบรมวงศ์ฮับส์บูร์ก ก็ยิ่งกดดันให้ทรงวางพระองค์เย็นชาต่อพระชายาในที่สาธารณะมากขึ้นไปอีก[6] อย่างไรก็ตามเมื่อกาลเวลาล่วงเลยผ่านไป ทั้งสองพระองค์ก็ทรงใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้น จนมีรายงานว่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1773 สายสัมพันธ์ได้แนบแน่นจนผสานทั้งสองพระองค์เข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังไม่ปรากฏอย่างชัดจริงจนกระทั่งปี ค.ศ. 1777[7]

อย่างไรก็ดี ทั้งสองพระองค์ทรงล้มเหลวที่จะมีรัชทายาทร่วมกันเป็นเวลาหลายปีนับจากนี้ สร้างความกดดันเพิ่มขึ้นให้แก่การอภิเษกสมรส[8] ในขณะที่สถานการณ์ได้เลวร้ายลงไปอีกเมื่อจุลสารสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร ลีเบลล์ (ฝรั่งเศส: libelles) ได้เสียดสีล้อเลียนทั้งคู่โดยการตั้งคำถามว่า "กษัตริย์จะทรงทำได้ไหม? กษัตริย์จะทรงทำได้ไหม"[9]

ในช่วงเวลานั้นมีการถกเถียงถึงสาเหตุของความล้มเหลวในช่วงต้นของการมีองค์รัชทายาท และก็ยังทรงเป็นเช่นนั้นไป หนึ่งในข้อเสนอแนะก็คือ เจ้าชายหลุยส์โอกุสต์ ต้องทรงทุกข์ทรมานจากความเสื่อมสมรรถภาพทางสรีรวิทยา[10] ส่วนมากคาดเดากันว่าเกิดจากพระอาการหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่เปิดในวัยพระเยาว์ (phimosis) ซึ่งคำเสนอแนะนี้ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1772 โดยเหล่าแพทย์หลวง[11] ด้านเหล่านักประวัติศาสตร์ยึดมั่นต่อมุมมองนี้ว่าทรงได้เข้ารับการสุหนัต[12] (วิธีการรักษาทั่วไปของอาการหนังหุ้มปลายไม่เปิด) เพื่อบรรเทาพระอาการหลังจากเป็นเวลาผ่านไปเจ็ดปีหลังการอภิเษกสมรส แพทย์หลวงประจำพระองค์ไม่เห็นชอบกับการผ่าตัดมากนัก - การผ่าตัดมีความละเอียดอ่อน มีความชอกช้ำ และง่ายต่อการ "สร้างความเสียหายร้ายแรง" ต่อบุรุษวัยฉกรรจ์ ข้อถกเถียงเรื่องพระอาการข้างต้นและผลที่ตามมาจากการผ่าตัดส่วนมากสามารถพบเห็นได้ในงานเขียนของสเตฟาน ชไวจ์ นักเขียนชาวออสเตรีย[13]

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ส่วนมากว่าพระองค์มิทรงเคยเข้ารับการผ่าตัด[14][15][16] - ตัวอย่างเช่นในช่วงปลาย ค.ศ. 1777 ราชทูตปรัสเซียนามว่า บารอน โกลต์ซ รายงานว่ากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสทรงปฏิเสธรับการผ่าตัดอย่างแน่นอน[17] ข้อเท็จจริงก็คือเจ้าชายถูกประกาศว่ามีพระสมรรถภาพสมบูรณ์อย่างเยี่ยมยอดต่อการมีเพศสัมพันธ์ ยืนยันโดยจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และในช่วงที่ทรงถูกกล่าวอ้างถึงการเข้ารับการผ่าตัด พระองค์เสด็จออกไปล่าสัตว์แทบจะทุกวันตามคำบันทึกส่วนพระองค์ ซึ่งหมายความว่าการทรงเข้ารับการผ่าตัดไม่มีโอกาสที่จะเป็นไปได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็ไม่น่าจะทรงสามารถเสด็จออกไปล่าสัตว์ในช่วงสองสามสัปดาห์หลังจากการผ่าตัดนั้น ทั้งนี้ประเด็นถกเถียงถึงความสมบูรณ์ทางสรีระส่วนพระองค์ถูกนำไปประกอบกับปัจจัยอื่นแล้ว ซึ่งก็ยังคงเป็นที่โต้แย้งและถกเถียงมาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงระยะต่อมา แม้ว่าจะประสบกับความยากลำบากมาก่อนหน้านี้ แต่ในท้ายที่สุดทั้งสองพระองค์ก็ทรงมีรัชทายาทสืบเชื้อพระวงศ์รวมสี่พระองค์ ได้แก่

คาร์ล ชอว์ เขียนในหนังสือ Royal Babylon: The Alarming History of European Royalty ของเขาว่า "ว่ากันว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เป็นที่จดจำจากการเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสพระองค์แรกที่ทรงริเริ่มการใช้มีดและส้อม อีกทั้งการที่ทรงสรงน้ำและสีพระทนต์น้อยครั้ง" ท้ายที่สุดราชทูตอิตาลีประจำราชสำนักฝรั่งเศสผู้นี้เขียนไว้ตอนท้ายประมาณพระราชกิจวัตรขององค์กษัตริย์ไว้ดั่งกับ "ความสนพระราชหฤทัยในสุขอนามัยส่วนพระองค์อันแปลกประหลาด"

สมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งฝรั่งเศส

[แก้]

เมื่อพระเจ้าหลุยส์เสด็จขึ้นครองราชบัลลังก์ในปี ค.ศ. 1774 ทรงมีพระชนมายุเพียง 19 พรรษา ทรงต้องแบกรับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง ในขณะนั้นรัฐบาลกำลังประสบกับภาวะหนี้สินล้นพ้นและกระแสการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังทรงรู้สึกว่าตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งกษัตริย์อีกด้วย

ในฐานะกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ทรงให้ความสำคัญกับพระราชกิจด้านการศาสนาและการต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งจากพระราชกิจด้านการทำให้ศาสนจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียว ประกอบกับแรงกดดันจากคณะลัทธิฌ็องเซ็น (Jansénisme) ส่งผลให้ต่อมาทรงตัดสินพระทัยขับไล่เนรเทศคณะเยสุอิตออกจากแผ่นดินฝรั่งเศส[18] ทรงหวังที่จะได้รับความนิยมชมชอบจากพสกนิกรด้วยการรื้อฟื้นรัฐสภา (Parlement) ขึ้นมาใหม่ ในขณะที่ไม่มีใครสงสัยถึงพระปรีชาสามารถการบริหารแผ่นดินของพระองค์ ทั้งนี้เป็นที่แน่ชัดว่าแม้จะทรงเจริญพระชันษาผ่านการเลี้ยงดูในฐานะ โดแฟ็ง ตั้งแต่ ค.ศ. 1765 แต่ก็ทรงขาดความหนักแน่นและเด็ดขาดในพระจริยวัตรของพระองค์ การที่ทรงต้องการที่จะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนปรากฏเป็นหลักฐานในบทนำของพระบรมราชโองการหลายครั้ง และถูกใช้อ้างอิงถึงเจตนาดีของพระองค์ที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เมื่อตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ทรงตัดสินพระทัยรื้อฟื้นรัฐสภาขึ้นมา ทรงตรัสว่า "มันอาจดูเหมือนการตัดสินใจทางการเมืองที่ไม่ค่อยชาญฉลาดนัก แต่กับข้าพเจ้าแล้ว มันดูเหมือนเป็นความปรารถนาทั่วไปของสาธารณชน และข้าพเจ้าก็ต้องการให้สาธารณชนรักข้าพเจ้า"[19] ซึ่งแม้จะทรงขาดความเด็ดขาด พระเจ้าหลุยส์ก็ยังถูกพิจารณาว่าเป็นกษัตริย์ที่ดี ตรัสว่าจะต้องทรง "ปรึกษาหารือและรับฟังทัศนคติของสาธารณชนทุกครั้ง; ผลที่ออกมาจะไม่มีผิดพลาด"[20] พระเจ้าหลุยส์ยังทรงแต่งตั้งที่ปรึกษาส่วนพระองค์ผู้มีประสบการณ์สูงอย่าง ฌ็อง-เฟรเดริก เฟลีโปซ์ เคาน์แห่งโมเรอปาส์ ผู้ซึ่งรับผิดชอบงานราชการของกระทรวงต่าง ๆ จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1781

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยอ็องตวน-ฟร็องซัวส์ กาเลต์ ค.ศ. 1786

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญระหว่างรัชกาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คือการตราพระราชกฤษฎีกาแวร์ซาย (Edict of Versailles) หรือรู้จักกันในชื่อ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยขันติธรรม (Edict of Tolerance) ในวันที่ 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1787 และได้รับการลงมติในรัฐสภา ณ วันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1788 พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ลบล้างผลของพระราชกฤษฎีกาฟงแตนโบล (Edict of Fontainebleau) ซึ่งถูกตราและบังคับใช้มากว่า 102 ปี พระราชกฤษฎีกาแวร์ซายรับรองให้ชาวคริสต์นอกนิกายโรมันคาทอลิก เช่น นิกายคาลวิน- อูเกอโนต์ (Calvinist Huguenots) นิกายลูเทอแรน เช่นเดียวกับชาวยิว ได้รับสถานะทางแพ่งและทางกฎหมายในฝรั่งเศส และเปิดให้คนเหล่านั้นสามารถเลือกนับถือความเชื่อใดก็ตามได้อย่างเปิดเผย แต่ถึงกระนั้นพระราชกฤษฎีกาแวร์ซายก็ไม่ได้ประกาศเสรีภาพในการนับถือศาสนาในฝรั่งเศสโดยตรง ซึ่งต่อมาอีกสองปีก็มีการตรากฎหมายที่รับรองเสรีภาพดังกล่าวขึ้นคือ ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 อย่างไรก็ตามนับได้ว่าพระราชกฤษฎีกาแวร์ซายเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญที่ช่วยลบล้างความตรึงเครียดทางศาสนาและทำให้การประหัตประหารกันระหว่างศาสนาในแผ่นดินของพระองค์สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ[21]

การปฏิรูปทางการเงินอย่างสุดโต่งโดย ตูร์โกต์และมาเลอแซเบอส์ ส่งผลให้เหล่าขุนนางเกิดความไม่พอใจอย่างมากและถูกยับยั้งไว้โดยรัฐสภา ที่ซึ่งพวกเขายืนกรานว่าพระเจ้าหลุยส์ไร้ซึ่งพระราชอำนาจในการกำหนดเกณฑ์ภาษีขึ้นมาใหม่ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1776 ตูร์โกต์จึงถูกปลดออกจากตำแหน่ง และมาเลอแซเบอส์ลาออก เปิดทางให้ฌัก แนแกร์ เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน แนแกร์มีแนวคิดสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกาและดำเนินนโยบายด้านการคลังด้วยการก่อหนี้จำนวนมากแทนการขึ้นภาษี ในปี ค.ศ. 1781 เขาพยายามเอาใจประชาชนด้วยการตีพิมพ์รายงาน กงต์รองดูโอรัว (ฝรั่งเศส: Compte rendu au roi; รายงานแด่กษัตริย์) ซึ่งแสดงบัญชีหนี้สินและรายจ่ายของกษัตริย์ฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก เปิดโอกาสให้ชาวฝรั่งเศสสามารถตรวจดูรายการบัญชีของกษัตริย์ที่มีรายรับมากกว่ารายจ่ายอยู่เล็กน้อย[22] แต่เมื่อนโยบายนี้ประสบความล้มเหลวอย่างน่าสังเวช พระเจ้าหลุยส์ก็ทรงปลดเขาออกจากตำแหน่ง และทรงแต่งตั้งชาร์ล อาแล็กซ็องดร์ เดอ กาลอน (Charles Alexandre de Calonne) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในปี ค.ศ. 1783 กาลอนกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อ "ซื้อ" หนทางที่จะนำพาประเทศออกจากหนี้กองโต อีกเช่นเคย นโยบายนี้ประสบความล้มเหลว ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์จึงทรงเรียกประชุมสมัชชาชนชั้นสูง (Assembly of Notables) ในปี ค.ศ. 1787 เพื่ออภิปรายถึงการปฏิรูประบบการคลังของประเทศซึ่งถูกเสนอไว้โดยกาลอน เมื่อเหล่าชนชั้นสูงได้รับการชี้แจ้งว่าจะมีการก่อหนี้ก้อนใหม่ ทั้งหมดรู้สึกตกตะลึงอย่างมากและปฏิเสธแผนการดังกล่าว ผลลัพธ์เชิงลบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งสัญญาณว่าพระเจ้าหลุยส์ได้สูญเสียพระราชอำนาจที่จะปกครองในฐานะกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว และทำให้ทรงตกอยู่ในภวังค์แห่งความหดหู่[23]

ขณะที่พระราชอำนาจในการปกครองประเทศของพระเจ้าหลุยส์กำลังเสื่อมถอยลง มีเสียงเรียกร้องให้ทรงเปิดการประชุมสภาฐานันดรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1614 ในช่วงต้นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในความพยายามครั้งสุดท้ายของพระองค์ที่จะให้การปฏิรูประบบการเงินการคลังได้รับการอนุมัติ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ตัดสินพระราชหฤทัยเรียกประชุมสภาฐานันดรในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1788 และกำหนดวันเปิดสภาในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1789 ด้วยการเรียกประชุมสภาฐานันดรนี้เอง เท่ากับว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงเดิมพันเกียรติยศและภาพลักษณ์ต่อสาธาณชนของพระองค์ไปไว้ในมือของคณะบุคคลผู้ซึ่งไม่ค่อยรู้สึกกังวลกับแนวคิดสาธารณรัฐนิยมมากเท่ากับที่พระเจ้าหลุยส์ทรงรู้สึก ซึ่งความเสี่ยงเช่นนี้มีให้พบเห็นบ่อยครั้งจากเหตุการณ์และกรณีต่าง ๆ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีการโต้เถียงกันว่าการจัดการประชุมในครั้งนี้ควรปฏิบัติตามระเบียบวีธีการดั้งเดิมหรือไม่ เนื่องจากการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในท้ายที่สุด ปาร์เลอมงต์เดอปารีส์ (ฝรั่งเศส: parlement de Paris) ก็มีมติตกลงว่า "ควรดำรงไว้ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติอย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการปฏิบัติใด ๆ นอกเหนือไปจากธรรมเนียมดังกล่าว" และจากมติดังกล่าว พระเจ้าหลุยส์จึงทรงยินยอมให้คงไว้ซึ่งธรรมเนียมประเพณีหลาย ๆ อย่าง อันเป็นบรรทัดฐานมาจากการประชุมครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 1614 ส่งผลให้ฐานันดรที่สาม (สามัญชน) ไม่พอใจธรรมเนียมบางประการที่ขัดกับประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองว่าด้วยความเท่าเทียม เช่น การที่ฐานันดรที่หนึ่ง (นักบวช) และฐานันดรที่สอง (ขุนนาง) สามารถแต่งกายได้อย่างหรูหราสมฐานะเข้าไปในสภาได้ แต่ฐานันดรที่สามกลับถูกจำกัดให้แต่งกายแบบเรียบ ๆ ด้วยสีดำทะมึนอันแสดงถึงการกดขี่ เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น พระเจ้าหลุยส์แสดงออกถึงความเคารพผู้เข้าร่วมประชุม : สมาชิกสภาฐานันดรผู้มีความเย่อหยิ่งในตนสูงปฏิเสธที่จะถอดหมวกของตนเมื่อพระเจ้าหลุยส์เสด็จมาถึง ดังนั้นพระเจ้าหลุยส์จึงทรงเป็นผู้ถอดพระมาลา (หมวก) ของพระองค์ต่อสมาชิกสภาแทน[24]

ที่ประชุมของสามฐานันดรนี้เองที่เป็นชนวนเหตุเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและการเมืองโดยทั่วไปอัน "ป่วยการ" ของประเทศไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1789 ฐานันดรที่สามประกาศตนว่าเป็นสมัชชาแห่งชาติแต่เพียงฝ่ายเดียว พระเจ้าหลุยส์จึงทรงพยายามควบคุมเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์คำปฏิญาณสนามเทนนิส (ฝรั่งเศส: serment du jeu de paume) ในวันที่ 20 มิถุนายน ตามมาด้วยการสถาปนาสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติในวันที่ 9 กรกฎาคม จนในที่สุดนำไปสู่การทลายคุกบัสตีย์ในวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นการเปิดฉากการปฏิวัติฝรั่งเศส และในระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสามเดือน พระราชอำนาจปกครองประเทศของพระเจ้าหลุยส์ส่วนมากก็ถูกส่งผ่านไปยังผู้แทนที่ได้รับเลือกมาจากประชาชนในประเทศ

พระราโชบายด้านการต่างประเทศ

[แก้]
การยอมจำนนของนายพลคอร์นวอลลิสต่อกองทัพฝรั่งเศส (ซ้าย) และสหรัฐอเมริกา (ขวา) ณ การโอบล้อมยอร์กทาวน์ ค.ศ. 1781 โดยจอห์น ทรัมบูล
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงต้อนรับคณะราชทูตแห่งสุลต่านทิพภูในปี ค.ศ. 1788 วาดโดยเอมีล วัตตีแยร์ คริสต์ศตวรรษที่ 19

ผลของสงครามเจ็ดปีทิ้งไว้ซึ่งความหายนะแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ชัยชนะของบริเตนใหญ่ส่งผลให้ฝรั่งเศสสูญเสียดินแดนอาณานิคมมากมาย ซึ่งบางส่วนได้รับคืนในปี ค.ศ. 1763 จากสนธิสัญญาปารีส ดังนั้นดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของทวีปอเมริกาเหนือจึงตกเป็นของอังกฤษโดยสมบูรณ์

ความพ่ายแพ้นี้เองนำไปสู่แผนการรื้อสร้างกองทัพฝรั่งเศสขึ้นมาใหม่ของเหล่าชนชั้นนำฝรั่งเศสเพื่อที่จะต่อสู้ในสงครามแก้แค้นกับอังกฤษ โดยพวกเขาคาดหวังไว้ว่าอาจได้รับดินแดนอาณานิคมบางส่วนกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสยังคงมีอิทธิพลเหนือหมู่เกาะอินดีสตะวันตกอย่างมาก และมีสถานีการค้าห้าแห่งอยู่ในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถใช้เป็นเงื่อนไขในสร้างความขัดแย้งและต่อรองอำนาจกับอังกฤษได้ในอนาคต[25]

การปฏิวัติอเมริกา

[แก้]

ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1776 แวร์เฌนส์ รัฐมนตรีการต่างประเทศ มองเห็นโอกาสที่จะฉีกหน้าคู่ปรับเก่าแก่ของฝรั่งเศสอย่างอังกฤษ เช่นเดียวกับโอกาสที่จะได้ดินแดนที่เสียไปในช่วงสงครามเจ็ดปีกลับคืนมาด้วยการสนับสนุนการปฏิวัติอเมริกา พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกน้าวโน้มโดยปิแยร์ โบมาร์เชส์ ให้ทรงส่งเสบียงและอาวุธยุทโธปกรณ์แก่สหรัฐอเมริกาอย่างลับ ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1776 ลงนามสนธิสัญญาพันธมิตรฝรั่งเศส-อเมริกันในต้นปี ค.ศ. 1778 และเข้าร่วมสงครามต่อต้านอังกฤษในท้ายที่สุด ต่อมาสเปนและเนเธอร์แลนด์จึงเข้าร่วมกับฝรั่งเศสเป็นพันธมิตรในการต่อต้านอังกฤษ หลังจากปี ค.ศ. 1778 อังกฤษหันมาให้ความสำคัญกับหมู่เกาะอินดีสตะวันตก เนื่องจากตระหนักว่าการปกป้องหมู่เกาะซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยน้ำตาลสำคัญกว่าการพยายามยึดอาณานิมทั้งสิบสามกลับคืนมา ส่วนฝรั่งเศสและสเปนวางแผนที่จะบุกเกาะอังกฤษด้วยกองเรืออาร์มาดาปี ค.ศ. 1779 แต่แผนการดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ในช่วงต้นของการสนับสนุนฝ่ายปฏิวัติอเมริกัน ฝรั่งเศสพบกับความผิดหวังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอเมริกันในสมรภูมิโรดไอส์แลนด์และการโอบล้อมที่ซาวันนาห์ ในปี ค.ศ. 1780 ฝรั่งเศสส่งโรช็องโบและเดอ กราสส์ ไปช่วยฝ่ายอเมริกัน พร้อมทั้งกำลังพลทั้งทางบกและทางน้ำ กองพลเคลื่อนที่เร็วของฝรั่งเศสเดินทางถึงอเมริกาเหนือในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1780 ตามมาด้วยการปรากฏตัวของราชนาวีฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียนจากการเข้ายึดหมู่เกาะน้ำตาล รวมทั้งโตเบโกและเกรเนดา[26] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1781 การปิดล้อมทางเรือของฝรั่งเศสถูกใช้เป็นเครื่องมือบังคับให้กองทัพอังกฤษภายใต้การนำของลอร์ดคอร์นาวอลลิสให้ยอมจำนนในการโอบล้ามที่ยอร์กทาวน์[27] เมื่อลอนดอนได้รับข่าวนี้ ส่งผลให้รัฐบาลของลอร์ดนอร์ทล่มลงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1782 และอังกฤษกลับท่าทีเพื่อให้ความขัดแย้งสงบลงอย่างกระทันหัน อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสทำให้สงครามยืดเยื้อออกไปจนกระทั่งเดือนกันยายน ค.ศ. 1783 โดยหวังว่าจะได้รับดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในอินเดียและหมู่เกาะอินดีสตะวันตกเพิ่มเติม

ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่รับรองเอกราชของอาณานิคมทั้งสิบสามในฐานะสหรัฐอเมริกาและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสสามารถรื้อฟื้นกองทัพฝรั่งเศสขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอังกฤษสามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1782 ได้สำเร็จและสามารถป้องกันจาเมกาและยิบรอลตาร์ไว้ได้ ส่วนฝรั่งเศสได้ดินแดนเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อยจากสนธิสัญญาปารีส ค.ศ. 1783 ซึ่งปิดฉากสงครามลงอย่างเป็นทางการ ยกเว้นในอาณานิคมโตเบโกและเซเนกัล พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงผิดหวังอย่างมากจากพระราชประสงค์ที่จะได้ดินแดนแคนาดา อินเดีย และเกาะอื่น ๆ ในหมู่เกาะอินดีสตะวันตกคืนมาจากอังกฤษ เนื่องจากดินแดนดังกล่าวได้รับการป้องกันอย่างดีเยี่ยม อีกทั้งราชนาวีอังกฤษที่แข็งแกร่งทำให้การรุกรานจากภายนอกเป็นไปไม่ได้ สงครามดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,066 ล้านลีฟว์ โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเงินกู้ระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยสูง (โดยไม่มีภาษีชนิดใหม่) แนแกร์ปกปิดวิกฤตการเงินจากสาธารณชนด้วยการอธิบายเพียงว่างบประมาณรายได้มากกว่ารายจ่ายของประเทศ และไม่ได้กล่าวถึงเงินกู้ยืมก้อนดังกล่าว ซึ่งหลังจากที่เขาถูกขับออกจากตำแหน่งในปี ค.ศ. 1781 จึงมีการจัดเก็บภาษีชนิดใหม่[28]

อินเดีย

[แก้]
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงให้คำแนะนำของพระองค์ต่อ เคาน์แห่งลาเปรูส

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงหวังที่จะใช้สงครามปฏิวัติอเมริกันในการขับไล่อังกฤษออกจากอินเดีย[25] ในปี ค.ศ. 1782 ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับ เพชวา มัดฮัฟเราที่ 2 (Peshwa Madhavrao II) มาร์กี เดอ บุชชี-คัสเตลโน จึงเคลื่อนกองกำลังของตนเข้าไปยังอีลส์เดอฟร็องซ์ (ปัจจุบันคือมอริเชียส) และภายหลังได้ช่วยเหลือในความพยายามของฝรั่งเศสในอินเดีย ค.ศ. 1783[25][29] ซุฟเฟร็นเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฮีดดะ อาลี (Hyder Ali) ในสงครามอังกฤษ-ไมซอร์ครั้งที่สองต่อต้านการปกครองของอังกฤษในอินเดีย ช่วงปี ค.ศ. 1782 – 1783 ต่อสู้กับกองเรืออังกฤษตลอดแนวชายฝั่งของอินเดียและซีลอน[30][31]

เวียดนามและอินโดจีน

[แก้]

ฝรั่งเศสยังได้เข้าแทรกแซงโคชินจีน (Cochinchina) จากการที่นายพลปิโญ เดอ เบอเฮน เข้าแทรกแซงให้การช่วยเหลือทางการทหาร การเป็นพันธมิตรกันระหว่างฝรั่งเศสและโคชินจีนได้รับการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย ค.ศ. 1787 ระหว่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับเจ้าชายเหวียน อันห์[32] ในขณะที่ระบอบการปกครองของฝรั่งเศสตกอยู่ในความตึงเครียดและความวุ่นวาย ฝรั่งเศสไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในสนธิสัญญาได้ แต่นายพลเบอเฮนยังคงยืนหยัดในความพยายามของเขาและได้รับการสนับสนุนจากปัจเจกบุคคลและพ่อค้าชาวฝรั่งเศสที่ร่วมกันจัดตั้งเป็นกองกำลังทหารและเจ้าพนักงาน ซึ่งจะช่วยพัฒนากองทัพของเจ้าชายเหวียน อันห์ ให้มีความทันสมัยขึ้น และตามมาด้วยชัยชนะของนายพลเบอเฮนในการยึดครองเวียดนามได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1802

การสำรวจดินแดนใหม่

[แก้]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังทรงให้การสนับสนุนนักสำรวจและนักเดินทาง ในปี ค.ศ. 1785 ทรงแต่งตั้งเคาน์แห่งลาเปรูสเป็นผู้นำการสำรวจดินแดนทั่วโลก

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

[แก้]

วันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1789 กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนมากเป็นสตรีชนชั้นแรงงานชาวปารีสและได้รับการปลุกระดมโดยเหล่านักปฏิวัติ เดินขบวนสู่พระราชวังแวร์ซายที่ซึ่งพระบรมวงศ์ประทับอยู่ ณ รุ่งเช้า เหล่าผู้ประท้วงต่างพากันเข้าไปในเขตพระราชวังและพยายามปลงพระชนม์พระนางอ็องตัวแน็ต ผู้ซึ่งใช้ชีวิตหรูหราและสุขสบายอันเป็นสัญลักษณ์ที่น่าเกลียดชังของ อองเซียงเรฌีม เหตุการณ์ได้รับการคลี่คลายลงโดยนายพล ลา ฟาแย็ต ผู้นำกองทหารรักษาการณ์แห่งชาติ (ฝรั่งเศส: Garde nationale) ฝูงชนนำพระเจ้าหลุยส์และพระบรมวงศ์เสด็จแปรที่พำนักไปยังพระราชวังตุยเลอรีในกรุงปารีส โดยเชื่อว่าหากนำองค์กษัตริย์ไปพำนัก ณ กรุงปารีสซึ่งแวดล้อมไปด้วยประชาชนแล้ว จะทำให้พระเจ้าหลุยส์ทรงมีความรับผิดชอบต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

ภาพแกะสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ปี ค.ศ. 1792 คำบรรยายใต้ภาพอ้างถึงวันที่ของคำปฏิญาณสนามเทนนิสและกล่าวสรุปไว้ว่า "พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พระองค์เดิม ผู้ทรงรอคอยอย่างกล้าหาญจนกระทั่งบริวารของพระองค์กลับสู่ที่อยู่อาศัยของตนเพื่อวางแผนทำสงครามลับและแก้แค้นให้กับพระองค์"

หลักการที่ประมุขแห่งรัฐมาจากความนิยมของสาธารณชนของฝ่ายปฏิวัติ (ซึ่งพัฒนาไปเป็นหลักการประชาธิปไตยในยุคสมัยหลัง) แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหลักการที่ประมุขแห่งรัฐมาจากการสืบทอดตำแหน่งตามสายเลือด อันเป็นหลักการสำคัญของการปกครองของฝรั่งเศสในอดีต ผลที่ตามมาก็คือหลักการใหม่ของฝ่ายปฏิวัตินี้ได้รับการต่อต้านจากชาวชนบทในฝรั่งเศสจำนวนมากมายและและรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านที่รายล้อมฝรั่งเศสในขณะนั้น เมื่อการปฏิวัติทวีความรุนแรงขึ้นและการควบคุมฝูงชนผู้ประท้วงทำได้ยากขึ้น บุคคลสำคัญของฝรั่งเศสหลายคนที่ร่วมจุดชนวนการปฏิวัติจึงเริ่มตั้งคำถามถึงผลประโยชน์ที่จะตามมาในอนาคต เช่น ออนอเร มิราโบ เริ่มสมคบคิดอย่างลับ ๆ กับพระเจ้าหลุยส์ในการรื้อฟื้นพระราชอำนาจของกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญแบบใหม่

เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1791 มงต์มอแร็ง รัฐมนตรีการต่างประเทศเริ่มดำเนินการจัดตั้งกองกำลังปฏิวัติตอบโต้ อีกทั้งงบประมาณรายจ่ายสำหรับกษัตริย์ (ฝรั่งเศส: la Liste civile) ซึ่งได้รับการลงมติอนุมัติเป็นประจำทุกปีโดยสมัชชาแห่งชาติ ถูกปันส่วนอย่างลับ ๆ เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ อาร์โนลต์ ลาปอร์ต ผู้รับผิดชอบบัญชีรายชื่อพลเรือน ร่วมมือกับมงต์มอแร็งและมิราโบ ซึ่งภายหลังการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของมิราโบ มักซีมีเลียง ราดีซ์ เดอ แซ็งต์-ฟัวส์ นักการเงินการธนาคาร เข้าดำรงตำแหน่งแทน มีผลทำให้เขากลายเป็นหัวหน้าสภาองคมนตรีที่ปรึษาลับของพระเจ้าหลุยส์ ซึ่งเป็นคณะของบุคคลผู้พยายามรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ ในท้ายที่สุดแผนการดังกล่าวประสบความล้มเหลว และได้รับการเปิดโปงจนกลายเป็นกรณีอื้อฉาว อาร์มัวร์เดอแฟร์ (ฝรั่งเศส: armoire de fer; ตู้เหล็ก)

การเสียชีวิตของมิราโบและความไม่เด็ดขาดของพระเจ้าหลุยส์ ส่งผลให้การเจรจาระหว่างกษัตริย์และนักการเมืองสายกลางอ่อนลงอย่างรุนแรง แต่ในอีกทางหนึ่ง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงมีท่าทีไม่หัวรุนแรงเท่าพระอนุชาทั้งสองอย่าง เคาน์แห่งโพรว็องส์[ต้องการอ้างอิง]และเคาน์แห่งอาร์ตัวส์ โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ส่งราชหัตถเลขาแก่พระอนุชาทั้งสองผ่านผู้ถูกเสนอชื่ออย่างลับ ๆ ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนอย่าง พระคาร์ดินัลโลเมนี เดอ บรีเยนน์ ร้องขอให้หยุดความพยายามก่อการปฏิวัติต่อต้าน ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ทรงมีพระราชหฤทัยออกห่างรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากปฏิกิริยาด้านลบของรัฐบาลต่อบทบาทตามประเพณีของกษัตริย์และความเป็นอยู่ของเชื้อพระวงศ์ที่หรูหรา พระเจ้าหลุยส์ทรงรู้สึกระคายเคืองอย่างยิ่งจากการถูกคุมขังราวกับนักโทษในพระราชวังตุยเลอรี และจากการที่รัฐบาลใหม่ไม่อนุญาตให้ทรงมีผู้ไถ่บาปและนักบวชตามพระราชประสงค์

การเสด็จสู่วาแรน

[แก้]

วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1791 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระบรมวงศ์ เสด็จออกจากกรุงปารีสอย่างลับ ๆ ไปยังเมืองม็งต์เมดิซึ่งเป็นเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมใกล้กับชายแดนฝรั่งเศสทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ซึ่งจะทรงเข้าร่วมกับพวก เอมิเกร (ฝรั่งเศส: émigrés) และได้รับการคุ้มครองจากออสเตรีย ในขณะที่สภาร่างนิติบัญญัติแห่งชาติทำงานอย่างอุตสาหะเพื่อให้ฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พระเจ้าหลุยส์และพระราชินีมารี อ็องตัวแน็ต ก็ทรงมีแผนการของพระองค์เอง พระเจ้าหลุยส์ทรงแต่งตั้งบารงแห่งเบรอเตยให้เทียบเท่ากับตำแหน่งทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม เพื่อไปเจรจากับประมุขแห่งรัฐอื่น ๆ ให้ร่วมกันก่อการปฏิวัติซ้อนขึ้น พระเจ้าหลุยส์ยังทรงสงวนท่าทีในการรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ ทรงมีแนวคิดเช่นเดียวกับพระบิดาและพระมารดาที่ว่าพวกออสเตรียคือพวกทรยศชาติและพวกปรัสเซียคือพวกทะเยอทะยานเกินตน[33] ต่อมาขณะที่ความตึงเครียดในปารีสทวีความรุนแรงขึ้นและทรงถูกกดดันให้ยอมรับแนวทางของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ พระเจ้าหลุยส์และพระนางอ็องตัวแน็ตทรงวางแผนเสด็จหนีออกจากฝรั่งเศสอย่างลับ ๆ ที่เมื่อสำเร็จแล้ว ทรงหวังจะรวมกองกำลังทหารจากความช่วยเหลือของพวกเอมิเกรส์รวมไปถึงชาติอื่น ๆ ในยุโรปเพื่อเข้ายึดฝรั่งเศสกลับมาจากฝ่ายปฏิวัติ แผนการนี้เองที่เป็นตัวบ่งชี้เจตนารมณ์ทางการเมืองในการนำฝรั่งเศสออกจากความวุ่นวาย โดยในท้ายที่สุด แนวคิดและแผนการดังกล่าวถูกใช้เป็นหลักฐานเพื่อสำเร็จโทษพระองค์ในข้อหา "ทรยศต่อประเทศชาติ"[34] อย่างไรก็ตาม ความไม่เด็ดขาดและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝรั่งเศสของพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ทรงเสด็จฯ หลบหนีไม่สำเร็จ พระบรมวงศ์ทรงถูกจับกุม ณ เมืองวาแรน ไม่นานหลังจากที่ฌ็อง-บาติสต์ ดรูเอต์ ผู้สามารถจดจำพระเจ้าหลุยส์จากพระฉายาลักษณ์บนธนบัตรใบละ 50 ลีฟว์ได้[35] พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระบรมวงศ์ทรงถูกนำกลับสู่กรุงปารีสและเสด็จถึงในวันที่ 25 มิถุนายน ทรงถูกมองจากสาธารณชนอย่างสงสัยว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติและทรงถูกกักบริเวณ ณ พระราชวังตุยเลอรี

นักประวัติศาสตร์ส่วนน้อยมองว่าความล้มเหลวของแผนการเสด็จฯ หนี มีสาเหตุมาจากความโชคร้าย ความล่าช้า ความเข้าใจผิด และการตัดสินใจที่ไม่ดีพอ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน[36] แต่ในขณะที่ส่วนมากมองว่าความล้มเหลวดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความไม่เด็ดขาดของพระเจ้าหลุยส์ ทรงเลื่อนแผนการดังกล่าวออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าและทรงปล่อยให้ปัญหาเล็กน้อยบานปลายเป็นปัญหาใหญ่ ทรงคิดว่ามีเพียงพวกหัวรุนแรงจำนวนไม่มากในปารีสกำลังก่อการปฏิวัติ ในขณะที่คนส่วนมากของประเทศไม่เห็นด้วย และทรงเข้าใจอย่างผิด ๆ ว่าทรงเป็นที่รักใคร่ของชนชั้นเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป[37] การเสด็จหนีที่ล้มเหลวในครั้งนี้สร้างบาดแผลไว้ให้แก่ฝรั่งเศส กระตุ้นให้เกิดกระแสความปวดร้าว ความคับแค้น และความตื่นตระหนกในความรู้สึกของสาธารณชนทั่วไป ทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าสงครามขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ และตระหนักได้ลึกยิ่งขึ้นว่ากษัตริย์ของพวกเขาแท้ที่จริงแล้วทรงต่อต้านการปฏิวัติ ทั้งยังสร้างความตกตะลึงอย่างใหญ่หลวงในหมู่คนที่ยังคงเชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ดีและปกครองด้วยโองการของพระเจ้า พวกเขารู้สึกถูกทรยศ ผลที่ตามมาก็คือลัทธิสาธารณรัฐนิยมปะทุขึ้นในร้านกาแฟทั่วทุกหนแห่งและกลายมาเป็นปรัชญาหลักของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว[38]

การแทรกแซงจากต่างชาติ

[แก้]

ในขณะเดียวกันนั้นเอง กษัตริย์ยุโรปพระองค์อื่น ๆ ต่างทอดพระเนตรสถานการณ์ในฝรั่งเศสอย่างกังวลพระทัย ทรงพินิจว่าควรจะแทรกแซงฝรั่งเศสด้วยการเข้าสนับสนุนพระเจ้าหลุยส์ หรือควรจะฉกฉวยความได้เปรียบจากความวุ่นวายที่กำลังดำเนินไป บุคคลสำคัญในประเด็นนี้ก็คือ จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระเชษฐาในพระนางมารี อ็องตัวแน็ต ซึ่งเริ่มแรกจักรพรรดิเลโอโปลด์ทอดพระเนตรการปฏิวัติว่าเป็นเพียงความวุ่นวายเล็กน้อย แต่ทรงวิตกกังวลมากขึ้นเมื่อเหตุการณ์ทวีความรุนแรงจนกระทั่งไม่สามารถควบคุมไว้ได้ ถึงอย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ยังทรงหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามกับฝรั่งเศสได้

ในวันที่ 27 สิงหาคม จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 2 และพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาซึ่งเป็นขุนนางฝรั่งเศสฝ่าย เอมิเกร์ ออกคำประกาศพิลนิทซ์ (Declaration of Pillnitz) ซึ่งแสดงความกังวลพระทัยของบรรดากษัตริย์ยุโรปต่อความผาสุขของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระบรมวงศ์ฝรั่งเศส ทั้งยังแสดงท่าทีคุกคามและกล่าวอย่างเป็นนัยถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายที่จะตามมาหากกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ฝรั่งเศสได้รับภยันตรายใด ๆ และแม้ว่าจักรพรรดิเลโอโปลด์จะทอดพระเนตรคำประกาศฉบับนี้ว่าเป็นแนวทางแสดงความกังวัลพระทัยเกี่ยวกับสถานการณ์ในฝรั่งเศสอย่างง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องใช้แนวทางด้านการทหารหรือการเงินใด ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ดังกล่าว แต่เหล่าผู้นำการปฏิวัติในปารีสกลับตอบสนองต่อคำประกาศนี้ด้วยความหวาดกลัว โดยมองว่าเป็นภัยคุกคามจากต่างชาติที่ต้องการจะบ่อนทำลายอธิปไตยของฝรั่งเศส

ทั้งนี้ นอกเหนือจากความแตกต่างทางด้านแนวคิดและอุดมการณ์ระหว่างฝรั่งเศสและบรรดาสิทธิราชย์แห่งยุโรปแล้ว ยังปรากฏความขัดแย้งต่าง ๆ อาทิเช่น ความขัดแย้งเรื่องสถานะสินทรัพย์ของออสเตรียในแคว้นอาลซัส และความกังวลของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเรื่องการก่อกวนของขุนนางฝ่ายเอมิเกร์ที่อยู่นอกฝรั่งเศส โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียและในบรรดาจุลรัฐของเยอรมนี

ในช่วงท้าย สภานิติบัญญัติซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยพระเจ้าหลุยส์ เป็นฝ่ายประกาศสงครามต่อจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก่อน โดยได้รับการลงคะแนนญัตติดังกล่าวในวันที่ 20 ค.ศ. 1792 ภายหลังจากได้รับการร้องทุกข์จำนวนมากผ่านรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ชาลส์ ฟร็องซัวส์ ดูมูรีเยส์ ทั้งนี้ดูมูรีเยส์ได้เตรียมรุกรานเข้าไปยังเนเธอร์แลนด์ของออสเตรียอย่างฉับพลัน ที่ที่เขาคาดการณ์ว่าประชาชนในท้องถิ่นจะร่วมลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของออสเตรีย อย่างไรก็ตาม กองกำลังฝ่ายปฏิวัติขาดการจัดการที่ดีและกองกำลังลุกฮือมีจำนวนไม่มากพอสำหรับการรุกราน ส่งผลให้แผนการดังกล่าวประสบความล้มเหลว เหล่านายทหารต่างพากันถอยหนีออกจากสมรภูมิรบ ทั้งนี้ในวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1792 ยังเกิดกรณีสังหารผู้บังคับบัญชาระดับนายพลของตนนามว่า เคาน์เตโอบาลด์แห่งดิลอน ซึ่งมีสัญชาติไอร์แลนด์ เนื่องจากเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ[39]

เหตุการณ์บุกทำลายพระราชวังตุยเลอรี ณ วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792

ในขณะที่รัฐบาลฝ่ายปฏิวัติกำลังจัดตั้งและจัดวางโครงสร้างของกองทัพใหม่อย่างแข็งขัน กองทัพผสมปรัสเซีย-ออสเตรียภายใต้การบัญชาการของ คาร์ล วิลเฮล์ม แฟร์ดีนันด์ ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ รวมพล ณ เมืองโคเบลนซ์ (Koblenz) ริมฝั่งแม่น้ำไรน์ การรุกรานของฝ่ายปรัสเซีย-ออสเตรียเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสามารถเข้ายึดป้อมปราการแห่งล็องก์วี (ฝรั่งเศส: Longwy) และแวร์เดิง จากนั้นในวันที่ 25 กรกฎาคม ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์ออกแถลง คำประกาศเบราน์ชไวค์ (Brunswick Manifesto) ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยพระญาติฝ่ายเอมิเกร์ของพระเจ้าหลุยส์นามว่า หลุยส์ โฌแซ็ฟ แห่งบูร์บง เจ้าชายแห่งกงเด (ฝรั่งเศส: Louis Joseph de Bourbon, Prince de Condé) เพื่อประกาศเจตนารมณ์ร่วมของชาวออสเตรียและชาวปรัสเซียในการคืนสิทธิราชย์ทั้งมวลแก่พระเจ้าหลุยส์ และเพื่อดำเนินการในข้อหากบฏกับบุคคลใดหรือเมืองใดก็ตามที่ต่อต้านชาวออสเตรียและปรัสเซีย ซึ่งบุคคลนั้นหรือเมืองนั้นจะได้รับการกล่าวโทษด้วยกฏอัยการศึกถึงขั้นประหารชีวิต

แม้กระนั้น คำประกาศเบราน์ชไวค์กลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับจุดประสงค์แรกเริ่ม คือเพื่อเสริมสร้างพระราชสถานะของพระเจ้าหลุยส์ในปารีสและตัดรอนกระแสการปฏิวัติ หากแต่ยิ่งบั่นทอนพระราชสถานะของพระเจ้าหลุยส์ที่ตกอยู่ในที่นั่งลำบากอยู่แต่เดิมแล้วให้ยิ่งเลวร้ายไปมากกว่าเดิม หลายคนถือว่าคำประกาศนี้คือหลักฐานชิ้นสุดท้ายที่ยืนยันว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงสมคบคิดกับชาวต่างชาติในการต่อต้านประเทศชาติของพระองค์เอง ความโกรธแค้นของประชาชนดำเนินมาถึงจุดเดือดในวันที่ 10 เดือนสิงหาคม เมื่อกองกำลังติดอาวุธภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลเมืองปารีสชุดใหม่ที่รู้จักกันในชื่อกอมมูนปารีส เข้าปิดล้อมพระราชวังตุยเลอรี ส่งผลให้พระบรมวงศ์ต้องเสด็จลี้ไปพำนัก ณ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

การจองจำและการสำเร็จโทษ

[แก้]
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกจองจำ ณ หอคอยต็องเปลอ โดยฌ็อง-ฟร็องซัว การ์เนอเร

พระเจ้าหลุยส์ทรงถูกจับกุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 สิงหาคม 1792 และถูกส่งไปยังหอคอยต็องเปลอ ซึ่งเป็นป้อมปราการโบราณในกรุงปารีสที่เคยถูกใช้เป็นเรือนจำมาก่อน ต่อมาในวันที่ 21 กันยายน สมัชชาแห่งชาติจึงประกาศให้ฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐและล้มล้างระบอบราชาธิปไตยลง พระเจ้าหลุยส์ทรงถูกถอดพระอิสริยยศและพระเกียรติทั้งหมด และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาทรงเป็นที่รู้จักในนามเยี่ยงสามัญชนว่า ซีโตย็อง หลุยส์ กาเป

ฝ่ายฌีรงแด็งตั้งใจที่จะกักขังอดีตกษัตริย์องค์นี้ไว้ เพื่อเป็นตัวประกันและตัวการันตีถึงอนาคตของตน แต่ฝ่ายกอมมูนและนักการเมืองหัวรุนแรงส่วนมาก ซึ่งภายหลังรวมกลุ่มกันขึ้นในนาม "ลามงตาญ" (La Montagne) มีความเห็นแย้งกับฝ่ายฌีรงแด็งและต้องการให้มีการสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์โดยทันที แต่ด้วยพื้นเพเดิมของสมาชิกในกลุ่มส่วนมากมาจากอาชีพด้านกฎหมาย จึงยอมรับได้ยากหากจะสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์โดยไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมายให้เป็นรูปธรรมบางอย่าง ทั้งหมดจึงลงคะแนนเสียงกันว่าให้ส่งอดีตกษัตริย์ไปสอบสวนต่อหน้าสภากงว็องซียงแห่งชาติ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร การสอบสวนนี้ถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นตัวแทนของการปฏิวัติ การปฏิวัติที่ถูกมองว่ามรณกรรมของคนคนหนึ่งนำมาซึ่งชีวิตของอีกหลายคน แต่มิเชเลต์เห็นแย้งว่ามรณกรรมของอดีตกษัตริย์จะทำให้ผู้คนถือเอาว่าความรุนแรงคือเครื่องมือที่ทำให้ได้มาซึ่งความสงบสุข เขากล่าวว่า "หากเรายอมรับว่าคนหนึ่งคนสามารถเสียสละเพื่อความสุขของคนอีกหลายคนได้ อีกไม่ช้ามันก็จะกลายเป็นคนสองหรือสามคนก็สามารถเสียสละเพื่อความสุขของคนหลายคนได้เช่นกัน เช่นนี้ไปทีละเล็กทีละน้อย จนเรายอมที่จะเสียสละคนหลายคนเพื่อความสุขของคนหลายคนได้ในที่สุด"[40]

ในเดือนพฤศจิกายน 1792 เหตุอื้อฉาว อาร์มัวร์เดอแฟร์ (ตู้เหล็ก) เกิดขึ้น ณ พระราชวังตุยเลอรี เมื่อฟร็องซัว กาแม็ง ค้นพบและเปิดโปงว่ามีตู้เหล็กนิรภัยภายในห้องพระบรรทม ซึ่งภายในบรรจุเอกสารลับอยู่มากมาย ช่างทำกุญแจผู้ติดตั้งตู้เหล็กดังกล่าวจึงเดินทางไปยังปารีสในวันที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อให้การกับฌ็อง-มารี โรล็องด์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจากฝ่ายฌีรงแด็งในขณะนั้น[41] ส่งผลให้พระเกียรติของพระองค์เสื่อมเสียลงไปอีก

ในวันที่ 11 ธันวาคม อดีตกษัตริย์ถูกนำพระองค์ออกจากจากหอคอยต็องเปลอ ผ่านฝูงชนผู้สังเกตการณ์จำนวนมากตามท้องถนนที่เงียบสงัด ไปยังสภากงซ็องซียงเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาการเป็นกบฏต่อแผ่นดินและอาชญากรรมต่อประเทศชาติ ต่อมาในวันที่ 26 ธันวาคม ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ เรย์ม็งด์ เดอ เซส นำคำตอบรับของพระเจ้าหลุยส์ต่อคดีความภายใต้ความช่วยเหลือของฟร็องซัว ตรงเชอต์ และกีโยม-เครเตียง เดอ ลามัวญง เดอ มาลแซบ์

การสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ณ ปลัสเดอลาเรวอลูซียง แท่นอนุสาวรีย์ที่ว่างเปล่าขวามือของภาพเคยเป็นฐานของพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระอัยยิกาในพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งถูกทำลายลงในช่วงของการปฏิวัติ

ในวันที่ 15 มกราคม 1793 มีการจัดประชุมสภากงว็องซียงและมีสมาชิกเข้าร่วมจำนวน 721 คน เพื่อลงคะแนนเสียงในคดีความดังกล่าว ผลของการลงคะแนนเป็นที่ทราบแน่ชัดมาก่อนหน้านี้แล้ว จากหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าพระเจ้าหลุยส์ทรงร่วมมือกับชาวต่างชาติให้รุกรานประเทศชาติของพระองค์ ด้วยคะแนนเสียงว่าทรงมีความผิดจริง 693 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง และไม่มีสมาชิกคนใดลงคะแนนให้พระองค์ทรงพ้นจากความผิด ในวันถัดมามีการลงคะแนนเสียงอีกครั้งในประเด็นวิธีการสำเร็จโทษของพระเจ้าหลุยส์ และผลที่ออกมาสูสีกันมากเนื่องจากเป็นการลงคะแนนตัดสินใจที่สำคัญและละเอียดอ่อน สมาชิกลงคะแนนเสียงจำนวน 288 เสียง ต่อต้านการปลงพระชนม์และเลือกวิธีการสำเร็จโทษรูปแบบอื่น ส่วนมากเห็นชอบให้คุมขังหรือเนรเทศพระองค์ ซึ่งสมาชิกอีกจำนวน 72 เสียงสนับสนุนให้มีการปลงพระชนม์ แต่ให้ชะลอโทษดังกล่าวออกไปด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ นานา ในขณะที่อีก 361 เสียงลงคะแนนให้ปลงพระชนม์ในทันที หนึ่งในจำนวนเสียงนั้นก็คือ ฟีลิป เอกาลีเต อดีตดยุกแห่งออร์เลอ็อง ผู้เป็นพระญาติของพระเจ้าหลุยส์ สร้างความขมขื่นในหมู่ฝ่ายกษัตริย์นิยมของฝรั่งเศสในอนาคตอย่างมาก ซึ่งในท้ายที่สุดเขาเองก็ถูกประหารด้วยเครื่องกีโยตินในช่วงปลายปี 1793

ในวันถัดมา คำอุทธรณ์ในโทษประหารชีวิตของพระเจ้าหลุยส์ถูกปฏิเสธด้วยคะแนนเสียง 380 ต่อ 310 เสียง ส่งผลให้ต้องมีการสำเร็จโทษด้วยการปลงพระชนม์ในทันที และคำตัดสินดังกล่าวถือว่าเป็นที่สิ้นสุดแล้ว วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกสำเร็จโทษจากการบั่นพระเศียรด้วยเครื่องกีโยติน ณ ปลัสเดอลาเรวอลูซียง ผู้สำเร็จโทษนามว่า ชาลส์ อ็องรี ซ็องซง ให้การว่าทรงยอมรับชะตากรรมของพระองค์อย่างกล้าหาญ[42]

ขณะที่ทรงถูกนำพระองค์ขึ้นไปบนนั่งร้าน ทรงมีท่าทีที่สง่างามแต่ปล่อยวาง ทรงมีพระดำรัสสั้น ๆ ถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ ("ข้าพเจ้าขออภัยท่านเหล่านั้น ผู้เป็นเหตุแห่งมรณกรรมของข้าพเจ้า....")[43] ทรงประกาศว่าบริสุทธิ์จากอาชญกรรมทีทรงถูกกล่าวหา และภาวนาว่าพระโลหิตของพระองค์จะไม่ไหลหลั่งลงบนผืนแผ่นดินของฝรั่งเศส[44] ผู้ร่วมในเหตุการณืหลายคนให้การว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ประสงค์ที่จะมีพระดำรัสมากกว่านี้ แต่อ็องตวน-ฌอเซฟ ซงแตรร์ นายพลจากกองทหารักษาการณ์แห่งชาติ (การ์ดนาซียงนัล) ระงับพระดำรัสและสั่งให้พลทหารรัวกลอง จากนั้นพระเจ้าหลุยส์จึงถูกนำพระองค์ไปบั่นพระเศียรอย่างรวดเร็ว[45] ผู้อยู่ในเหตุการณ์บางรายกล่าวว่าใบมีดไม่ได้หั่นพระศอ (คอ) ให้ขาดออกจากพระวรกายในคราวแรก บ้างก็กล่าวว่าทรงเปล่งเสียงร้องด้วยความตกใจหลังจากที่ใบมีดถูกปล่อยลงมา แต่คำกล่าวนี้ไม่น่าจะมีมูลความจริงเนื่องจากใบมีดควรจะหั่นสับพระปิฐิกัณฐกัฐิ (กระดูกสันหลัง) ไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปถึงคำกล่าวอ้างที่ว่า ในขณะที่พระโลหิตของพระเจ้าหลุยส์หยดลงสู่พื้นดิน ผู้คนจำนวนมากนำผ้าเช็ดหน้าของตนไปรองรับพระโลหิตดังกล่าว[46] เนื่องจากมีการพิสูจน์ทราบในภายหลังเมื่อปี 2012 ด้วยการเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) จากพระโลหิตที่คาดว่าได้มาจากการบั่นพระเศียรพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับตัวอย่างเนื้อเยื้อจากมัมมี่พระเศียรที่เชื่อว่าเป็นของพระเจ้าอองรีที่ 4 โดยตัวอย่างพระโลหิตดังกล่าวได้มาจากน้ำเต้าแกะสลักเพื่อเฉลิมฉลองวีรบุรุษจากการปฏิวัติ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่าเคยถูกใช้เป็นภาชนะสำหรับบรรจุพระโลหิตของพระเจ้าหลุยส์[47]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Andress, David. The Terror, Farrar, Straus and Giroux, New York, 2005, p. 12-13
  2. Lever, Évelyne, Louis XVI, Librairie Arthème Fayard, Paris, 1985
  3. Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 10.
  4. Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 18.
  5. Andress, David. "The Terror", p. 12
  6. Fraser, Antonia, Marie Antoinette, pp.100–102
  7. Fraser, Antonia, Marie Antoinette, p.127
  8. Fraser, Antonia, Marie Antoinette, pp.166–167
  9. Fraser, Antonia, Marie Antoinette, p.164
  10. Francine du Plessix Gray (7 August 2000). "The New Yorker From the Archive Books". The Child Queen. สืบค้นเมื่อ 17 October 2006.
  11. Fraser, Antonia, Marie Antoinette, p.122
  12. Androutsos, George. "The Truth About Louis XVI's Marital Difficulties". Translated from French.
  13. Zweig, Stefan (1933). Marie Antoinette: The Portrait of An Average Woman.
  14. Fraser, Antonia (2001). Marie Antoinette: The Journey.
  15. Lever, Evelyne (2001). Marie Antoinette: Last Queen of France.
  16. Cronin, Vincent (1974). Louis and Antoinette.
  17. "Dictionary of World Biography". Author: Barry Jones. Published in 1994.
  18. Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 4.
  19. Hardman, John. Louis XVI, The Silent King. New York: Oxford University Press, 2000. p. 37-39.
  20. Andress, David,(2005) The Terror, pp.13
  21. Encyclopedia of the Age of Political Ideals, Edict of Versailles (1787) เก็บถาวร 2012-07-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, downloaded 29 January 2012
  22. Doyle, William (2001). The French Revolution: A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press. pp. 26–27.
  23. John Hardman, Louis XVI, Yale university Press, New Haven and London, 1993 p126
  24. Baecque, Antoine de, From Royal Dignity to Republican Austerity: The Ritual for the Reception of Louis XVI in the French National Assembly (1789–1792), The Journal of Modern History, Vol. 66, No. 4 (December 1994), p.675.
  25. 25.0 25.1 25.2 "Tipu Sultan and the Scots in India". The Tiger and The Thistle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-21. สืบค้นเมื่อ 17 July 2011.
  26. The Oxford Illustrated History of the British Army (1994) p. 130.
  27. Jonathan R. Dull, The French Navy and American Independence: A Study of Arms and Diplomacy, 1774–1787 (1975).
  28. On finance, see William Doyle, Oxford History of the French Revolution (1989) pp. 67-74.
  29. The influence of sea power upon history, 1660–1783, by Alfred Thayer Mahan, p. 461: [1]
  30. "The History Project - University of California,, Davis". Historyproject.ucdavis.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-29. สืบค้นเมื่อ 17 July 2011.
  31. Black, Jeremy. Britain as a military power, 1688–1815. สืบค้นเมื่อ 17 July 2011.
  32. http://belleindochine.free.fr/2TraiteVersaillesEvequeAdran.htm (in French)
  33. Hardman, John, Louis XVI, The Silent King, New York: Oxford University Press, 2000. p.127.
  34. Price, Munro, Louis XVI and Gustavus III: Secret Diplomacy and Counter-Revolution, 1791–1792, The Historical Journal, Vol. 42, No. 2 (June 1999), p. 441.
  35. http://assignat.fr/1-assignat/ass-04a
  36. J.M. Thompson, The French Revolution (1943) identifies a series of major and minor mistakes and mishaps, pp. 224-227
  37. Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) ch. 3
  38. Timothy Tackett, When the King Took Flight (2003) p. 222
  39. Liste chronologique des généraux français ou étrangers au service de France, morts sur le champ de bataille... de 1792 à 1837, A. Leneveu, rue des Grands-Augustins, n° 18, Paris, 1838, p. 7.
  40. Dunn, Susan, The Deaths of Louis XVI: Regicide and the French Political Imagination, Princeton: Princeton University Press, 1994, pp. 72-76.
  41. G. Lenotre, Vieilles maisons, vieux papiers, Librairie académique Perrin, Paris, 1903, pp. 321-338 (in French)
  42. Alberge, Dalya. What the King said to the executioner... เก็บถาวร 2010-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, The Times, 8 April 2006. Retrieved 26 June 2008.
  43. Hardman, John (1992). Louis XVI. Yale University Press. p. 232.
  44. Louis XVI's last words heard before the drums covered his voice: Je meurs innocent de tous les crimes qu'on m'impute ; je pardonne aux auteurs de ma mort ; je prie Dieu que le sang que vous allez répandre ne retombe pas sur la France.
  45. Hardman 1992, p. 232.
  46. Andress, David, The Terror, 2005, p. 147.
  47. "Blood of Louis XVI 'found in gourd container'". BBC News Online. 2013-01-01. สืบค้นเมื่อ 2013-01-03.


ก่อนหน้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส ถัดไป
พระเจ้าหลุยส์ที่ 15
พระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสและนาวาร์
(10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774 - 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792)
ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง
ลำดับถัดไปโดย
นโปเลียน โบนาปาร์ต
ในตำแหน่งจักรพรรดิ
เจ้าชายหลุยส์ แฟดีน็อง
(พ.ศ. 2272 - 2308)

โดแฟ็งแห่งฝรั่งเศส
(20 ธันวาคม ค.ศ. 1765 – 10 พฤษภาคม ค.ศ. 1774)
เจ้าชายหลุยส์ โฌแซ็ฟ