ข้ามไปเนื้อหา

จารึกพ่อขุนรามคำแหง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศิลาจารึกหลักที่ 1)
จารึกหลักที่ 1 *
  ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก
จารึกพ่อขุนรามคำแหง
ที่เก็บรักษาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
อ้างอิง[1]
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2546
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
ลักษณะอักษรไทยที่ใช้ในจารึก

จารึกหลักที่ 1[1] หรือ จารึกพ่อขุนรามคำแหง[1] เป็นศิลาจารึกที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกนี้ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ขณะผนวชอยู่เป็นผู้ทรงค้นพบเมื่อปีมะเส็ง เบญจศก จุลศักราช 1195 ตรงกับวันศุกร์ที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1834 หรือ พ.ศ. 2376[2] ณ เนินปราสาทเมืองเก่าสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเป็นหลักสี่เหลี่ยมด้านเท่า ทรงกระโจม สูง 111 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินทรายแป้งเนื้อละเอียด[1] มีจารึกทั้งสี่ด้าน ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

เนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็นสามตอน ตอนที่หนึ่ง บรรทัดที่ 1 ถึง 18 เป็นการเล่าพระราชประวัติพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่ประสูติจนเสวยราชย์ ใช้คำว่า "กู" เป็นหลัก ตอนที่ 2 ไม่ใช้คำว่า "กู" แต่ใช้ว่า "พ่อขุนรามคำแหง" เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในกรุงสุโขทัย และตอนที่สาม ตั้งแต่ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 12 ถึงบรรทัดสุดท้าย มีตัวหนังสือต่างจากตอนที่ 1 และ 2 จึงน่าจะจารึกขึ้นภายหลัง เป็นการสรรเสริญและยอพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตราชอาณาจักรสุโขทัย[1]

จารึกได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. 2546[3] โดยยูเนสโกบรรยายว่า "[จารึกนี้] นับเป็นมรดกเอกสารชิ้นหลักซึ่งมีความสำคัญระดับโลก เพราะให้ข้อมูลอันทรงค่าว่าด้วยแก่นหลักหลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโลก ไม่เพียงแต่บันทึกการประดิษฐ์อักษรไทยซึ่งเป็นรากฐานแห่งอักษรที่ผู้คนหกสิบล้านคนใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน การพรรณนาสุโขทัยรัฐไทยสมัยศตวรรษที่ 13 ไว้โดยละเอียดและหาได้ยากนั้นยังสะท้อนถึงคุณค่าสากลที่รัฐทั้งหลายในโลกทุกวันนี้ร่วมยึดถือ"[3]

มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อถือได้ของบางส่วนหรือทั้งหมดของศิลาจารึกดังกล่าว[4] พิริยะ ไกรฤกษ์ นักวิชาการที่สถาบันไทยคดีศึกษา ออกความเห็นว่า การใช้สระในศิลาจารึกนี้แนะว่าผู้สร้างได้รับอิทธิพลมาจากระบบพยัญชนะยุโรป เขาสรุปว่าศิลาจารึกนี้ถูกบางคนแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 4 หรือไม่นานก่อนหน้านั้น[5] นักวิชาการเห็นต่างกันในประเด็นว่าด้วยความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้ ผู้ประพันธ์บางคนอ้างว่ารอยจารึกนั้นเป็นการแต่งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งหมด บ้างอ้างว่า 17 บรรทัดแรกนั้นเป็นจริง บ้างอ้างว่ารอยจารึกนั้นพระยาลือไทยทรงแต่งขึ้น นักวิชาการไทยส่วนใหญ่ยังยึดถือความน่าเชื่อถือของศิลาจารึกนี้[6] รอยจารึกดังกล่าวและภาพลักษณ์ของสังคมสุโขทัยในจินตนาการยังเป็นหัวใจของชาตินิยมไทย และไมเคิล ไรท์ นักวิชาการชาวอังกฤษ เสนอแนะว่าศิลาจารึกดังกล่าวอาจถูกปลอมขึ้น ทำให้เขาถูกขู่ด้วยการเนรเทศภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย[7]

ส่วนจิราภรณ์ อรัณยะนาค เขียนบทความแสดงทัศนะว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนผุสลายมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ใกล้เคียงกับศิลาจารึกหลักที่ 3 หลักที่ 45 และหลักที่กล่าวถึงชีผ้าขาวเพสสันดร ไม่ได้ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4[8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 จารึกพ่อขุนรามคำแหง เก็บถาวร 24 กันยายน 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้น 10 เมษายน 2014.
  2. "17 มกราคม วันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช". มหาวิทยาลัยรามคำแหง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มกราคม 2023. สืบค้นเมื่อ 17 มกราคม 2012.
  3. 3.0 3.1 The King Ram Khamhaeng Inscription. UNESCO
  4. Centuries-old stone set in controversy, The Nation. 8 กันยายน 2003.
  5. The Ramkhamhaeng Controversy: Selected Papers. Edited by James F. Chamberlain. The Siam Society, 1991.
  6. Intellectual Might and National Myth: A Forensic Investigation of the Ram Khamhaeng Controversy in Thai Society, by Mukhom Wongthes. Matichon Publishing, Ltd. 2003.
  7. Seditious Histories: Contesting Thai and Southeast Asian Pasts, by Craig J. Reynolds. University of Washington Press, 2006, p. vii
  8. จารึกพ่อขุนรามคำแหง "ไม่ปลอม" : จากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]