มณฑลนครศรีธรรมราช
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
มณฑลนครศรีธรรมราช | |
---|---|
มณฑลเทศาภิบาล | |
พ.ศ. 2439 – 2476 | |
ธง | |
แผนที่มณฑลนครศรีธรรมราช | |
เมืองหลวง | นครศรีธรรมราช |
การปกครอง | |
• ประเภท | สมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ |
สมุหเทศาภิบาล | |
• พ.ศ. 2439–2449 | พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) (คนแรก) |
• พ.ศ. 2449–2453 | พระยาชลบุรานุรักษ์ (เจริญ จารุจินดา) |
• พ.ศ. 2453–2468 | สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ |
• พ.ศ. 2468–2469 | พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) |
• พ.ศ. 2469–2476 | พระยาศรีธรรมราช (ทองคำ กาญจนโชติ) (คนสุดท้าย) |
ยุคทางประวัติศาสตร์ | รัตนโกสินทร์ |
• จัดตั้ง | พ.ศ. 2439 |
• เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภาคปักษ์ใต้ | 21 มีนาคม พ.ศ. 2459 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2469 |
• รวมมณฑลสุราษฎร์ไว้ในการปกครอง | 31 มีนาคม พ.ศ. 2469 |
• รับจังหวัดสตูลจากมณฑลภูเก็ตไว้ในการปกครอง | 31 มีนาคม พ.ศ. 2469 |
• รวมมณฑลปัตตานีไว้ในการปกครอง | 1 เมษายน พ.ศ. 2475 |
• ยุบเลิก | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ | ไทย |
มณฑลนครศรีธรรมราชตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 จากการรวมหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ ตั้งแต่เมือง นครศรีธรรมราช ลงไป ที่ว่าการของมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา หัวเมืองที่รวมอยู่ในมณฑลนี้ในระยะแรก คือก่อน พ.ศ. 2449 มี 10 เมือง คือ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และบริเวณ 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน สายบุรี ระแงะ และยะลา แต่ครั้นถึงปี พ.ศ. 2449 ได้แยกบริเวณ 7 หัวเมืองออกไปจัดเป็น มณฑลปัตตานี มณฑลนี้จึงเหลือหัวเมืองในสังกัดเพียง 3 หัวเมือง ซึ่งในที่นี้จะกล่าวเน้นเฉพาะบริเวณ 3 หัวเมืองเท่านั้น
ก่อนที่จะจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลทางภาคใต้ รัฐบาลกลางมีแผนการที่จะจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลทางหัวเทืองภาคใต้ไว้แตกต่างกัน 2 แผนการ คือ
แผนการที่ 1 ส่งข้าหลวงใหญ่ที่มีอำนาจบารมีมาก มีความสามารถทางการปกครองสูงและเป็นที่ไว้วางพระราชกฤทัยไปประจำเป็นผู้อำนวยการอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช แล้วมี ข้าหลวง ระดับรองลงไปประจำที่สงขลา ภูเก็ต และชุมพรแห่งละคน
แผนการที่ 2 ส่งข้าหลวงออกไป 3 คน ประจำอยู่ที่ภูเก็ต ปกครองดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก คนหนึ่งประจำอยู่ที่สงขลา ปกครองดูแลหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชลงไป จนถึงบริเวณ 7 หัวเมือง และอีกคนหนึ่งประจำอยู่ที่ชุมพร ปกครองดูแลตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงกาญจนดิษฐ์ ข้าหลวงทั้ง 3 คนมีฐานะเทียบเท่ากันโดยฟังคำสั่งจากกระทรวงมหาไทย
แผนการที่ 1 ติดขัดที่ตัวบุคคลซึ่งจะไปเป็นข้าหลวงใหญ่จึงต้องดำเนินการตามแผนการที่ 2 และในขณะนั้นรัฐบาลได้ส่งพระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) ไปประจำอยู่ที่ภูเก็ต และส่งพระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ไปประจำอยู่ที่เมืองสงขลา แล้วคิดจะให้พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก้อง ณ ระนอง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง บุตรคนที่ 2 ของพระยาดำรงสุจริตกุล (คอซู้เจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง ไปประจำอยู่ที่ชุมพร
พระยาวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษลงไปเริ่มจัดราชการในเมืองสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุงในปี พ.ศ. 2437 ก่อนจัดตั้งเป็นมณฑลนครศรีธรรมราชในอีก 2 ปีต่อมา
การจัดราชการเมืองสงขลาเริ่มจากการตั้งศาลยุติธรรมแบบใหม่และการแบ่งท้องที่ในเมืองสงขลาออกเป็น 3 แขวง เพื่อป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้าย คือแขวงกลางหรืออำเภอเมือง แขวงฝ่ายเหนือซึ่งต่อมาคืออำเภอหาดใหญ่ และแขวงปละท่าหรืออำเภอสทิงพระ ตั้งกรมการเมืองออกไปประจำและเริ่มสร้างถนนภายในเมืองสงขลา โดยการรื้อกำแพงเมือง มีการสร้างตลาดของหลวงซึ่งต่อมาคือตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ปรับปรุงโรงภาษีและจัดระบบไปรษณีย์ติดต่อระหว่างสงขลากับไทรบุรี พัทลุง และนครศรีธรรมราช
เมืองพัทลุง แต่งตั้งข้าหลวงผู้ช่วยไปชำระคดีที่คั่งค้างพร้อมทั้งจัดแบ่งท้องที่ใหม่เป็นแขวงนายร้อยและนายสิบ ลดจำนวนบ่อนเบี้ย บ่อนไก่ชนลง ยกเลิกการใช้ขื่อคา และนำเอาสูตรนารายณ์ไปใช้ปราบปรามโจรผู้ร้ายบริเวณรอยต่อระหว่างเมืองต่าง ๆ มีการยุบรวมศาลต่าง ๆ ให้เหลือเพียง 3 ศาล คือ ศาลเพ่ง อาญา และอุทธรณ์ จัดตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งสำหรับสะสางความเก่า ชำระความใหม่และแบ่งแขวงต่าง ๆ
นอกเหนือไปจากการจัดราชการต่าง ๆ มีการติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าเมืองและกรรมการเมืองอย่างใกล้ชิด มีการทำบัญชีผลประโยชน์เมืองสงขลาแจ้งให้รัฐบาลกลางทราบ ชั่วระยะเวลาเพียงปีกว่าๆ พระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) สามารถจัดราชการเมืองต่าง ๆ ได้ดีเป็นที่พอพระทัยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้เสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครศรีธรรมราชใช่วงกลางปี พ.ศ. 2439 หลังจากนั้นไม่นานก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช โดยเลื่อนพระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชคนแรก ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ. 2439 - 2449 ต่อจากนั้นก็มีข้าหลวงอีก 2 คน คือ พระยาชลบุรานุรักษ์ (เจริญ จารุจินดา) พ.ศ. 2449 - 2452 และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ พ.ศ. 2453 - 2468 งานปฏิรูปมณฑลนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่ ดำเนินการแล้วเสร็จในสมัยพระยาสุขุมนัยวินิจ (ปั้น สุขุม) ส่วนสมัยหลัง ๆ เป็นเพียงการทำนุบำรุงรักษาสิ่งที่ได้ก่อสร้างขึ้นในระยะแรก ๆ ซึ่งจากนี้ไปจะกล่าวถึงงานปฏิรูปมณฑลนครศรีธรรมราชในด้านต่างๆ ต่อไป
ด้านการปกครอง
[แก้]ดำเนินการเหมือนมณฑลอื่นๆ คือจัดตั้งกองมณฑล ขึ้นเป็นคณะผู้ปกครองมณฑลออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ คืออำเภอกลางเมือง เบี้ยซัด ร่อนพิบูลย์ กลาย สิชล ลำพูน ฉวาง ทุ่งสง และเขาพังไกร เมืองสงขลาแบ่งออกเป็น 5 อำเภอ คืออำเภอกลางเมือง ปละท่า ฝ่ายเหนือ จะนะ และเทพา เมืองพัทลุงแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง อุดร ทักษิณ รวม 3 เมือง มี 17 อำเภอ การแบ่งพื้นที่ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2440 ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อบางอำเภอตามที่ราษฎรนิยมเรียกกัน เป็นต้นว่า อำเภอเบี้ยซัด เป็นอำเภอปากพนัง อำเภออุดรเป็นอำเภอปากกระ อำเภอทักษิณเป็นอำเภอปากพะยูน อำเภอปละท่าเป็นอำเภอสทิงพระ อำเภอฝ่ายเหนือเป็นอำเภอหาดใหญ่ และในปี พ.ศ. 2449 มีการโอนท้องที่พระแสงและพนมในอำเภอลำพูนไปขึ้นกับเมืองไชยา ในขณะเดียวกันได้มีการทำสัมมะโนครัวด้วย ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2442 มณฑลนครศรีธรรมราชมีนายอำเภอ 17 คน กำนัน 232 คน ผู้ใหญ่บ้าน 2,669 คน มีจำนวนครัวเรือน 72,343 ครัวเรือน และราษฎรทั้งหมด 326,266 คน อาศัยอยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชร้อยละ 60 สงขลาร้อลละ 29 และพัทลุงร้อยละ 11
ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย
[แก้]มีการจัดตั้งกองพลตระเวรหรือตำรวจภูธรขึ้นในบริเวณชุมชนที่ราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นต้นว่ากลางเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และที่อำเภอปากพนัง เป็นผลให้โจรผู้ร้ายที่เคยชุกชุมลดน้อยลง เกิดความสงบขึ้นในบ้านเมืองระดับหนึ่ง
ด้านตุลากร
[แก้]มีการจัดตั้งศาลมณฑลขึ้นที่สงขลา ศาลเมืองนครศรีธรรมราช ปากพนังและพัทลุง และศาลอำเภอในอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอ ข้าหลวงเทศาภิบาลให้อำนาจแก้กรรมการอำเภอมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาคดีเพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 40 บาท และมีอำนาจเปรียบความได้โดยไม่มีกำหนดสุดแต่คู่ความจะตกลง ในปี พ.ศ. 2440 มีการสร้างเรือนจำขึ้นเพื่อคุมขังนักโทษรวมกันที่นครศรีธรรมราช แทนที่จะแยกคุมตามบ้านเจ้าเมืองหรือกรรมการเมืองอย่างแต่ก่อน
ด้านเศรษฐกิจ
[แก้]การค้าทางเรือเจริญขึ้น ทำให้ท่าเรือต่าง ๆ คึกคักไปด้วยการค้า สินค้าส่วนใหญ่เป็นของพื้นเมืองที่มีการแปรรูปโดยกรรมวิธีเก่า ๆ เป็นต้นว่า รังนก กุ้งแห้ง ผ้าพื้น สุกร ดีบุก หนัง เขาสัตว์ เครื่องปั้นดินเผา ส้มตรังกานูจากสงขลา ข้าวเปลือก ข้าวสาร ไต้ ชัน ยาสูล คราม เรือมาดจากนครศรีธรรมราช ข้าวเปลือกและข้าวสารจากพัทลุง การค้าทางเรือเจริฐขึ้นจากการเปิดการค้าเสรี มีการนำเรือกลไฟ มาใช้มากขึ้น มีการติดต่อกับสิงคโปร์ กรุงเทพฯ และตอนใต้ของจีนเป็นประจำ
การเก็บภาษีสามารถเปลี่ยนจากวิธีปณะมูลโดยเจ้าภาษีนายอากร มาเก็บเป็นของหลวงทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2439 - 2440 ภาษีที่สำคัญมร 10 กว่าชนิด คือ อากรฝิ่น อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย อากรค่าน้ำเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง ภาษีจันอับ ภาษีผลประโยชน์เมืองสงขลา นครศรีธรรมราช และพัทลุง ภาษีดีบุกเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ข้าหลวงเทศาภิบาลจะควบคุมการเก็บภาษีเหล่านี้โดยตรง สามารถเก็บได้มากกว่าวิธีประมูลหลายเท่าตัว ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เคยเป็นผลประโยชน์ของเจ้าเมืองและกรรมการเมืองก็ยกเลิกให้ไปเป็นของหลวงทั้งหมด เช่นเดียวกับเงินส่วนรายเฉลี่ยที่เก็บจากไพร่หัวเมือง เงินค่านาข้าหลวใหญ่ข้าหลวงใหญ่จะเข้าไปควบคุมการเก็บโดยตรงแทนที่จมอบให้เจ้าเมือง กรรมการเมือง กำนันไปเก็บอย่างแต่ก่อน อย่างไรก็ตามแม้ภาษีเงินได้ที่เก็บจากราษฎรชาวเมืองนครศรีธรรมราชจะสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัวก็ตามแต่ผู้ที่เสวยสุขจากผลผลิตส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองแต่กลับเป็นกลุ่มคณาธิปไตยส่วนน้อยในเมืองหลวง เพราะเงินภาษีรายได้เหล่านี้ต้องส่งเป็นเงินรายได้ของรัฐบาลกลาง 2 ส่วน ใน 3 ส่วน ไม่กลับมาเอื้อประโยชน์ต่อมณฑลนครศรีธรรมราชเลย
ด้านการคมนาคมขนส่ง
[แก้]มีการสร้างถนนในเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราช โดยรื้อกำแพงเมืองลงมาถมถนน ขณะเดียวกันก็สร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างนครศรีธรรมราชกับตรัง และถนนเชื่อมระหว่างตรังและพัทลุง ทางด้านการไปรษณีย์โทรเลขมีการปักเสาพาดสายลงไปถึงสงขลา จากสงขลาต่อไปถึงไทรบุรี มีสำนักงานไปรษณีย์อยู่ที่สงขลา มีพนักงานส่งหนังสือราชการและจดหมายระหว่างเมืองต่าง ๆ 7 วันครั้ง โดยแบ่งออกเป็น 3 สายคือ จากสงขลาไปปัตตานีและกลันตันสายหนึ่ง ไปพัทลุง ตรัง กระบี่ และพังงาสายหนึ่ง และอีกสานหนึ่งไปไทรบุรี ปะลิส และสตูล
ด้านชลประทาน
[แก้]มีการขุดลอกคลองกันอย่างกว้างขวางในเขตนครศรีธรรมราช ได้แก่ คลองสุขุม นครพญา ม่าแพ และคลองระโนดติดต่อระหว่างนครศรีธรรมราชกับสงขลา ในเขตพัทลุงได้แก่ คลองคอกช้าง ในเขตสงขลาได้แก่ คลองแกะใหญ่ คลองเหล่านี้ใช้ประโยชน์ทั้งทางด้านการชลประทานและการคมนาคมขนส่ง
ด้านศาสนา
[แก้]มีการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุงเสียใหม่เป็นคณะใหญ่ คณะรอง และคณะแขวง มีการบูรณาซ่อมแซมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารนครศรีธรรมราชครั้งใหญ่
ด้านการศึกษา
[แก้]มีการจัดตั้งโรงเรียนแบบสมัยใหม่ขึ้นในเมืองต่าง ๆ ระยะแรกเพียงเมืองละ 1 แห่งก่อนแล้วค่อยขยายออกไป โรงเรียนแห่งแรกที่ตั้งขึ้น คือ โรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา และโรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2441 รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในวัดและพึ่งพาวัดให้เป็นผู้อบรมให้การศึกษาแก่เยาวชนแทนที่จะรับผิดชอบเองโดยตรง การปฏิรูปประเทศครั้งนั้นรัฐบาลได้ละเลยต่อการพัฒนาคน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศที่สำคัญที่สุด
อ้างอิง
[แก้]1 มูลนิธิสารนุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิช. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 8. สยามเพรส แมเนจเม้นท์ จำกัด. หน้า 3630 - 3638.