พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
พระบรมราชานุสาวรีย์กษัตริย์วัลเดมาร์มหาราช ณ จัตุรัสเมืองริงสเต็ด | |||||
พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก | |||||
ครองราชย์ | 1154 – 12 พฤษภาคม 1182 | ||||
ก่อนหน้า | สเวนที่ 3 | ||||
ถัดไป | คนุดที่ 6 | ||||
ประสูติ | 14 มกราคม ค.ศ. 1131 ชเลสวิช, เดนมาร์ก | ||||
สวรรคต | 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1182 ปราสาทวอร์ดิงบอร์ก, วอร์ดิงบอร์ก, เดนมาร์ก | (51 ปี)||||
ฝังพระศพ | โบสถ์นักบุญเบ็นท์, ริงสเต็ด, เดนมาร์ก | ||||
คู่อภิเษก | เจ้าหญิงโซเฟียแห่งมินสก์ | ||||
พระราชบุตร |
| ||||
| |||||
ราชวงศ์ | แอสตริดเซน | ||||
พระราชบิดา | เจ้าชายคนุต ลาวาร์ด ดยุกแห่งชเลสวิช | ||||
พระราชมารดา | เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งเคียฟ | ||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก (14 มกราคม ค.ศ. 1131 - 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1182) ทรงเป็นที่รู้จักในพระนามว่า วัลเดมาร์มหาราช (เดนมาร์ก: Valdemar den Store) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ตั้งแต่ค.ศ. 1146 จนกระทั่งสวรรคตในปีค.ศ. 1182 รัชกาลของพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 เป็นรัชสมัยที่รุ่งเรืองของเดนมาร์ก และเจริญถึงขีดสุดในรัชสมัยของพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระราชโอรส[1]
พระราชประวัติ
[แก้]ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 | |
---|---|
ตราประจำพระอิสริยยศ | |
การทูล | Hans Majestæt (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) |
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ | Deres Majestæt (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ) |
วัยเยาว์
[แก้]กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 1 เป็นพระราชโอรสในเจ้าชายคนุต ลาวาร์ด ดยุกแห่งชเลสวิช กับเจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งเคียฟ เจ้าชายคนุด ลาวาร์ดทรงเป็นผู้มีความกล้าหาญและเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน เจ้าชายคนุดเป็นพระราชโอรสในกษัตริย์อีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ต่อมาเจ้าชายคนุดได้ถูกปลงพระชนม์โดยกษัตริย์มักนุส ผู้แข็งแกร่งแห่งสวีเดน พระญาติและเป็นศัตรูของเจ้าชายคนุด ซึ่งทั้งสองพระองค์มีสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์ก เจ้าชายคนุดสิ้นพระชนม์เพียงไม่กี่วันก่อนที่เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กจะมีพระประสูติกาลเจ้าชายวัลเดมาร์ในปีค.ศ. 1131 เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งเคียฟ เป็นพระราชธิดาในแกรนด์ปรินซ์มิสทิสลาฟที่ 1 แห่งเคียฟและเจ้าหญิงคริสตินา อิงเงอร์สด็อทเทอร์แห่งสวีเดน เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กตั้งพระนามพระราชโอรสตามพระอัยกา คือ วลาดิเมียร์ที่ 2 โมโนมักห์ แกรนด์ปรินซ์แห่งเคียฟ
ด้วยที่ทรงเป็นรัชทายาทในราชบัลลังก์และศัตรูผู้มีสิทธิในบัลลังก์องค์อื่นๆต่างมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เจ้าชายวัลเดมาร์จึงถูกนำพระองค์ไปอภิบาลที่เมืองริงสเต็ด ในสำนักของเคานท์อัสเซอร์ ริกแห่งเฟ็นเนสรีฟ (ราวค.ศ. 1080 - 1151) ขุนนางชาวเดนมาร์ก อัสเซอร์เป็นสมาชิกตระกูลไฮวด์ และเป็นตระกูลที่ทำการอบรมเลี้ยงดูเจ้าชายคนุด ลาวาร์ด พระราชบิดาของพระองค์ด้วย เจ้าชายวัลเดมาร์ทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูพร้อมๆกับเหล่าบุตรชายของอัสเซอร์ ซึ่งรวมทั้ง อับซาลอน (ราวค.ศ. 1128 - 1201) ผู้ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นพระสหายสนิทและที่ปรึกษาของพระองค์ที่ทรงไว้วางพระทัยมากที่สุด ภายหลังเขาได้รับตำแหน่งบิชอปแห่งมุขมณฑลรอสคิลด์ในช่วงปีค.ศ. 1158 - 1192 และอาร์กบิชอปแห่งลุนด์ตั้งแต่ค.ศ. 1178 จนกระทั่งเขาเสียชีวิต[2] [3] [4]
ต่อสู้เพื่อราชบัลลังก์
[แก้]ในปีค.ศ. 1146 เมื่อเจ้าชายวัลเดมาร์มีพระชนมายุได้ 15 พรรษา กษัตริย์อีริคที่ 3 แห่งเดนมาร์กสละราชบัลลังก์และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ ได้แก่
- กษัตริย์สเวนที่ 3 กราเธอ ซึ่งเป็นพระราชโอรสในกษัตริย์อีริคที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และกษัตริย์อีริคที่ 2 เป็นพระราชโอรสในกษัตริย์อีริคที่ 1
- กษัตริย์คนุดที่ 5 เป็นพระราชโอรสในกษัตริย์มักนุส ผู้แข็งแกร่งแห่งสวีเดน และกษัตริย์มักนุสแห่งสวีเดนเป็นพระราชโอรสในกษัตริย์นีลส์แห่งเดนมาร์ก พระอนุชาในกษัตริย์อีริคที่ 1
เจ้าชายวัลเดมาร์เองก็ทรงตรึงกำลังอยู่ที่คาบสมุทรจัตแลนด์และส่วนหนึ่งของดัชชีชเลสวิชที่ซึ่งเป็นดินแดนที่พระองค์ได้มาจากการสืบทอดมรดก สงครามกลางเมืองชิงบัลลังก์ครั้งนี้กินเวลายาวนานถึงสิบปี และในปี 1154 เจ้าชายวัลเดมาร์ก็สถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์ก
ในปีค.ศ. 1157 กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ตัดสินใจที่จะแบ่งประเทศออกเป็นสามราชอาณาจักร กษัตริย์สเวนที่ 3 ได้ทำการจัดงานเลี้ยงขึ้นที่รอสคิลด์ในวันที่ 9 สิงหาคม เพื่อเชิญกษัตริย์คนุดที่ 5 และกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 1 มาร่วมงานเพื่อเจรจาสันติภาพ กษัตริย์วัลเดมาร์เสด็จมาพร้อมกับอับซาลอน ที่ปรึกษาคนสนิท แต่ในความเป็นจริงแล้วกษัตริย์สเวนที่ 3 ทรงตั้งพระทัยที่จะใช้งานเลี้ยงนี้สังหารกษัตริย์ทั้งสอง กษัตริย์คนุดที่ 5 ถูกปลงพระชนม์ในงานเลี้ยงโดยทหารของกษัตริย์สเวน ส่วนกษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 1 และอับซาลอนสามารถหลบหนีไปได้ เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า "งานเลี้ยงเลือดที่รอสคิลด์" (Bloodfeast of Roskilde) กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงหลบหนีกลับคาบสมุทรจัตแลนด์ได้ กษัตริย์สเวนจึงรีบระดมกองทัพรุกรานคาบสมุทรจัตแลนด์ทันที ยุทธการกราเธอฮีทเกิดขึ้นในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1157 และเป็นจุดจบของสงครามกลางเมืองเดนมาร์ก กษัตริย์สเวนที่ 3 สวรรคตในสนามรบ โดยพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยเหล่าชาวนาราษฎรของกษัตริย์วัลเดมาร์ ที่จับกุมพระองค์และสังหารเสียขณะที่ทรงหลบหนีออกจากสมรภูมิและม้าของพระองค์ติดอยู่ในพรุ จากเหตุการณ์นี้กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวกว่าศัตรูผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ทุกคน จึงทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กเพียงพระองค์เดียว[5]
ครองราชย์แต่เพียงผู้เดียว
[แก้]ในปีค.ศ. 1158 อับซาลอนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบิชอปแห่งรอสคิลด์ และกษัตริย์วัลเดมาร์ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นที่ปรึกษาและสหายสนิท พระองค์ทรงจัดระเบียบและฟื้นฟูเดนมาร์กที่บอบช้ำจากสงครามขึ้นมาใหม่ พระองค์ทรงสร้างปราสาทชอนเดนบอร์กให้เป็นป้อมปราการบนช่องแคบอัลส์ ที่เชื่อมต่อกับเกาะอัลส์[6] พระองค์ทรงคิดค้นกลยุทธ์การบุกจู่โจมแบบไวกิงซึ่งเป็นรูปแบบชาวสแกนดิเนเวียสมัยโบราณเพื่อจัดการกับชาวเวนด์ทางใต้ ซึ่งมีการปรับกองทหารม้าหนักให้มีความเหมาะสมในการโจมตีแบบสะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งจะได้รับการปรับปรุงต่อมาในรัชกาลถัดไปคือ พระเจ้าคนุตที่ 6[7]
จากการปลุกเร้าของอับซาลอน กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงประกาศสงครามกับชาวเวนด์ซึ่งมักปล้นสะดมตามชายฝั่งทะเลเดนมาร์ก พวกเขาอาศัยอยู่บริเวณพอเมอเรเนียและเกาะรือเกินในทะเลบอลติกและคุกคามชาวเดนส์ในแถลทะเลบอลติก ซึ่งชาวเวนด์มีจำนวนมากกว่าชาวเดนส์เป็นจำนวน 2 ต่อ 1 ดังนั้นในเวลาไม่ช้า ชาวเดนส์ก็เริ่มบุกชายฝั่งของชาวเดนส์กลับบ้าง จนกระทั่งได้ชัยชนะในการยึดเกาะรือเกิน ซึ่งได้เป็นสถานที่ตั้งมั่นในการโจมตีชาวเวนด์ต่อๆ ไป อิทธิพลของเดนมาร์กได้กระจายไปถึงทั้งพอเมอเรเนียและโอบอทริเทส ทั้งสองถูกปล้นสะดมโดยชาวเดนส์อยู่เนืองๆ ในปีค.ศ. 1168 เมืองหลวงของชาวเวนด์ คือ อาร์โกนาได้ถูกยึดครอง และชาวเวนด์ยอมนับถือศาสนาคริสต์และยอมสวามิภักดิ์ต่อเดนมาร์ก ราวในปีค.ศ. 1170 กองเรือเล็กของเดนมาร์ก (นำโดยกษัตริย์วัลเดมาร์และอับซาลอน) ได้เคลื่อนผ่านช่องน้ำโอเดอร์ กองทัพเดนส์ได้ถูกซุ่มโจมตีโดยกองทัพและกองเรือชาวเวนด์ที่นำโดยกาซีมีร์ที่ 1 ดยุกแห่งพอเมอเรเนีย ณ ยุทธการสะพานยูลิน (วอลินในปัจจุบัน) ดยุกหวังหยุดยั้งการรุกรานของชาวเดนส์ แต่ชาวเดนส์สามารถชิงไหวชิงพริบเหนือชาวเวนด์ได้ และบดขยี้กองทัพพร้อมกองเรือของเขา สาเหตุก็เพราะเรือของเดนมาร์กได้บรรทุกทหารม้ามาด้วยจึงสามารถจัดการได้[8] ในปีค.ศ. 1175 กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 1 ทรงสร้างปราสาทวอร์ดิงบอร์ก ให้เป็นป้อมปราการป้องกัน และเป็นฐานในการโจมตีเมืองตามชายฝั่งเยอรมัน[9]
ในปีค.ศ. 1180 เกิดความไม่สงบแพร่ขยายไปทั่วแคว้นที่ร่ำรวยอย่าง สคาเนีย ประชาชนต้องการให้กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงปลดผู้ว่าการที่มาจากคาบสมุทรจัตแลนด์ที่พวกเขามองว่าเป็น "ชาวต่างชาติ" และแต่งตั้งขุนนางจากจังหวัดในแคว้นสคาเนียแทน พวกเขายังปฏิเสธที่จะจ่ายทศางค์แก่ศาสนจักรด้วย เมื่อกษัตริย์วัลเดมาร์ทรงปฏิเสธข้อเรียกร้อง พวกเขาจึงลุกฮือขึ้นปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีและทศางค์ ประชาชนมีจำนวนมากทำให้กษัตริย์ไม่ทรงสามารถรวบรวมกองทัพของพระองค์ได้เพียงพอ พระองค์ยังทรงเรียกไพร่พลจากเบลกิงด้วย กองทัพมาถึงในยุทธการไดซีอา พระองค์บดขยี้ผู้ประท้วงและหลังจากนั้นพวกเขาก็ยอมจ่ายภาษีอีกครั้ง แม้ว่ากองกำลังชาวนาทั้งหมดจะยอมจำนน แต่พวกเขายังคงปฏิเสธที่จะจ่ายทศางค์ ดังนั้นกษัตริย์วัลเดมาร์จึงให้ประชาชนเปลี่ยนมามอบของกำนัลและบริจาคแก่โบสถ์แทน พวกเขาไม่ต้องจ่ายทศางค์แต่สามารถจ่ายด้วยอย่างอื่นใดๆ แทน มีข้อเสนอเดียวที่พระองค์ยอมรับคือ ทรงยอมให้เปลี่ยนผู้ว่าการเป็นชาวสคาเนีย[10] การให้สัมปทานนี้แกชาวสคาเนีย เป็นเหมือนกฎของชาวจัตในจัตแลนด์และกฎรือเกียนในรือเกิน ซึ่งได้รับการปรับให้เหมาะสมกับสภาพสังคมในแต่ละพื้นที่ สิ่งนี้ช่วยอย่างมากในการรักษาความสงบภายในราชอาณาจักรและอาณาจักรที่ได้รับการขยายดินแดนในภายหลัง
พระองค์สวรรคตที่ปราสาทวอร์ดิงบอร์ก ในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1182 ขณะมีพระชนมายุ 51 พรรษา พระเจ้าคนุตที่ 6 แห่งเดนมาร์ก พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์ได้สืบราชบัลลังก์ต่อ
พระโอรส-ธิดา
[แก้]กษัตริย์วัลเดมาร์ที่ 2 อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโซเฟียแห่งมินสก์ พระราชธิดาในริเชซาแห่งโปแลนด์ สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งสวีเดนกับโวโลดาร์ เกรโบวิช เจ้าชายแห่งมินสก์ พระประมุขแห่งมินสก์ โซเฟียแห่งมินสก์เป็นพระขนิษฐาต่างบิดาของกษัตริย์คนุดที่ 5 กษัตริย์วัลเดมาร์และสมเด็จพระราชินีโซเฟียทรงมีพระราชโอรสธิดาร่วมกันดังนี้
พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา | |
- | เจ้าหญิงโซเฟีย เคานท์เตสแห่งไวมาร์-ออร์ลามุนด์ | ค.ศ. 1159 | ค.ศ. 1208 | อภิเษกสมรสกับ ซิกฟีดที่ 3 เคานท์แห่งไวมาร์-ออร์ลามุนด์ มีพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ อัลเบิร์ตที่ 2 เคานท์แห่งไวมาร์-ออร์ลามุนด์ แฮร์มันน์ที่ 2 เคานท์แห่งไวมาร์-ออร์ลามุนด์ |
พระเจ้าคนุดที่ 6 แห่งเดนมาร์ก | ค.ศ. 1163 | 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1202 | อภิเษกสมรส กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1177 กับ เจ้าหญิงเกอร์ทรูดแห่งบาวาเรีย ไม่มีพระโอรสธิดา | |
- | เจ้าหญิงมาเรียแห่งเดนมาร์ก | ราวค.ศ. 1165 | ไม่ปรากฏหลักฐาน | ไม่อภิเษกสมรส ดำรงเป็นนางชีที่รอสคิลด์ ในปีค.ศ.1188 |
- | เจ้าหญิงมาร์เกรเธอแห่งเดนมาร์ก | ราวค.ศ. 1167 | ราวค.ศ. 1205 | ไม่อภิเษกสมรส ดำรงเป็นนางชีที่รอสคิลด์ ในปีค.ศ.1188 |
พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1170 | 28 มีนาคม ค.ศ. 1241 | อภิเษกสมรสครั้งที่ 1 ค.ศ. 1205 กับ เจ้าหญิงดักมาร์แห่งโบฮีเมีย มีพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ วัลเดมาร์ยุวกษัตริย์ พระโอรสตายคลอด อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1214 กับ เจ้าหญิงเบเรนกาเรียแห่งโปรตุเกส มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าอีริคที่ 4 แห่งเดนมาร์ก เจ้าหญิงโซฟีแห่งเดนมาร์ก พระเจ้าอเบลแห่งเดนมาร์ก พระเจ้าคริสตอฟเฟอร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก บุตรตายคลอดไม่ทราบเพศ | |
เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส | ค.ศ. 1174 | 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1237 | อภิเษกสมรส 15 สิงหาคม ค.ศ. 1193 กับ พระเจ้าฟีลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศส ไม่มีพระโอรสธิดา | |
- | เจ้าหญิงเฮเลนา ดัชเชสแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค | ราวค.ศ. 1180 | 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1233 | อภิเษกสมรส ค.ศ. 1202 กับ วิลเลียมแห่งวินเชสเตอร์ ลอร์ดแห่งลุนเอนบูร์ก มีพระโอรส 1 พระองค์ ได้แก่ อ็อทโทที่ 1 ดยุกแห่งเบราน์ชไวค์-ลือเนอบวร์ค |
เจ้าหญิงริเชซา สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน | ราวค.ศ. 1180 | 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1220 | อภิเษกสมรส ค.ศ. 1210 กับ พระเจ้าอีรีคที่ 10 แห่งสวีเดน มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงโซเฟีย อีริคสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน เจ้าหญิงมาร์ธา อีริคสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน (ถูกกล่าวอ้าง) เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์ก อีริคสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน เจ้าหญิงมาเรียนนา อีริคสด็อทเทอร์แห่งสวีเดน (อาจเป็นไปได้) พระเจ้าอีริคที่ 11 แห่งสวีเดน | |
- | เจ้าหญิงวัลบูร์กิส ดัชเชสแห่งพอเมอเรเนีย | ไม่ปรากฏหลักฐาน | ค.ศ. 1177 | อภิเษกสมรส กับ บอกุสเลาว์ที่ 1 ดยุกแห่งพอเมเรเนีย มีพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่ ราติบอร์แห่งพอเมเรเนีย วอร์ทิสเลาว์ที่ 2 ดยุกแห่งพอเมอเรเนีย |
มีบันทึกว่าสมเด็จพระราชินีโซเฟียเป็นสตรีที่ทรงพระสิริโฉม ทรงมีพระอำนาจเหนือกษัตริย์และมีอุปนิสัยโหดเหี้ยม ตามพงศาวดารดั้งเดิมระบุว่า สมเด็จพระราชินีทรงสั่งสังหาร ฟรีลี โทเว พระสนมในกษัตริย์วัลเดมาร์ และทรงทำร้าย เคิร์ชเทน ขนิษฐาของกษัตริย์จนบาดเจ็บ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีการยืนยันตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์[11] หลังจากกษัตริย์วัลเดมาร์สวรรคต สมเด็จพระพันปีหลวงโซเฟีย พระมเหสี ทรงอภิเษกสมรสใหม่กับลุดวิกที่ 3 แลนด์เกรฟแห่งทือริงเงิน ในปีค.ศ. 1184
กษัตริย์วัลเดมาร์ทรงมีพระโอรสนอกสมรสกับ ฟรีลี โทเว มีพระโอรส 1 พระองค์คือ
- คริสโตเฟอร์แห่งเดนมาร์ก (ค.ศ. 1150-1173) เป็นโอรสองค์โตของกษัตริย์วัลเดมาร์ และได้เป็นดยุกแห่งจัตแลนด์ (dux Iuciae[12]) ราวค.ศ. 1170 - 1173
พระราชตระกูล
[แก้]8. พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | ||||||||||||||||
4. พระเจ้าอีริคที่ 1 แห่งเดนมาร์ก | ||||||||||||||||
9. ไม่ปรากฏนาม | ||||||||||||||||
2. เจ้าชายคนุด ลาวาร์ด | ||||||||||||||||
10. ธูร์ก็อต อูล์ฟสัน ฟาเกอร์ไคน์ | ||||||||||||||||
5. บอเอดิล ธูร์ก็อตสแด็ทเทอร์ | ||||||||||||||||
11. ธอร์กุนนา วักน์สแด็ทเทอร์ | ||||||||||||||||
1. พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก | ||||||||||||||||
12. วลาดิเมียร์ที่ 2 โมโนมักห์ | ||||||||||||||||
6. มิสทิสลาฟที่ 1 แห่งเคียฟ | ||||||||||||||||
13. ไกธาแห่งเวสเซกซ์ | ||||||||||||||||
3. เจ้าหญิงอิงเงอร์บอร์กแห่งเคียฟ | ||||||||||||||||
14. พระเจ้าอิงเงอร์ที่ 1 แห่งสวีเดน | ||||||||||||||||
7. เจ้าหญิงคริสตินา อิงเงอร์สด็อทเทอร์แห่งสวีเดน | ||||||||||||||||
15. เฮเลนา | ||||||||||||||||
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Valdemar Den Store 1131-1182". Danmarks Historien. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-05. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Asser (Rig), 1151". Dansk biografisk Lexikon. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Asser Rig". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Absalon". Den Store Danske, Gyldendal. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Slaget på Grathe Hede 1157". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ "Slaget på Grathe Hede 1157". Danmarks Historien. สืบค้นเมื่อ August 1, 2018.
- ↑ Pratt, Fletcher (1950). The Third King. New York: William Sloane Associates, INC. pp. 101–105. ISBN DBJ098983.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่า|isbn=
: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help) - ↑ Pratt, Fletcher (1950). The Third King. New York: William Sloane Associates, Inc. pp. 108–110. ISBN DBJ098983.
{{cite book}}
: ตรวจสอบค่า|isbn=
: ตัวอักษรไม่ถูกต้อง (help) - ↑ "About Vordingborg Castle (Museerne.dk)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-23. สืบค้นเมื่อ 2019-08-22.
- ↑ Pratt, Fletcher (1950). The Third King. New York: William Sloane Associates, Inc. pp. 130–131.
- ↑ Smith-Dampier, Eleanor. Danish Ballads, pp. 15-24 (Cambridge U. Press 1920).
- ↑ Esben Albrectsen, "Das Abel-Geschlecht und die Schauenburger als Herzöge von Schleswig", Marion Hartwig and Frauke Witte (trls.), in: Die Fürsten des Landes: Herzöge und Grafen von Schleswig, Holstein und Lauenburg [De slevigske hertuger; German], Carsten Porskrog Rasmussen (ed.) on behalf of the Gesellschaft für Schleswig-Holsteinische Geschichte, Neumünster: Wachholtz, 2008, pp. 52–71, here p. 52. ISBN 978-3-529-02606-5
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Valdemar I of Denmark
- พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก ที่ไฟน์อะเกรฟ
- Valdemar den Store เก็บถาวร 2008-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Kings of Denmark, DK
ก่อนหน้า | พระเจ้าวัลเดมาร์ที่ 1 แห่งเดนมาร์ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าอีริคที่ 3 | พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก ร่วมกับ พระเจ้าสเวนที่ 3 (1146-1157) พระเจ้าคนุดที่ 5 (1146-1157) (ค.ศ. 1146 - ค.ศ. 1182) |
พระเจ้าคนุดที่ 6 |