พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช)
พระรัตนธัชมุนี (ม่วง รตนทฺธโช) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | พระเดชพระคุณ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 10 สิงหาคม พ.ศ. 2396 (81 ปี 42 วัน ปี) |
มรณภาพ | 21 กันยายน พ.ศ. 2477 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | เปรียญธรรม 4 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | จังหวัดนครศรีธรรมราช |
อุปสมบท | พ.ศ. 2432 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์วรวิหาร เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช |
พระรัตนธัชมุนี นามเดิม ม่วง ฉายา รตนทฺธโช เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เจ้าอาวาสรูปที่ 7 ของวัดท่าโพธิ์วรวิหาร[1] ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาในภาคใต้ โดยก่อตั้งและร่วมก่อตั้งโรงเรียนขึ้น 21 แห่ง รวมทั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช[2]
ประวัติ
[แก้]วัยเยาว์
[แก้]พระรัตนธัชมุนี มีนามเดิม ม่วง เกิดเมื่อวันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2396 ตรงกับวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 9 ปีฉลู[3] เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรทั้งหมด 8 คน (หญิง 2 ชาย 6) ของนายแก้วกับนางทองคำ ชาติภูมิอยู่บ้านหมาก ตำบลบ้านเพิง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช[4]
การศึกษา
[แก้]เมื่ออายุ 9 ขวบ ได้ศึกษาภาษาไทยและภาษาบาลีตามลำดับในสำนักของพระอาจารย์เพ็ชร วัดแจ้ง จนอายุ 15 จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดแจ้ง จนอายุได้ 17 ปีจึงย้ายไปอยู่วัดมเหยงคณ์ ศึกษาภาษาบาลีในสำนักของพระครูการาม (จู) จนอายุ 20 ปีในปี พ.ศ. 2416 จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีพระครูการาม (จู) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระครูการามย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ในปีต่อมา ท่านได้ตามมาอยู่ด้วย จนพระครูการามมรณภาพในปี พ.ศ. 2427 ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสแทน[3]
ปีฉลู พ.ศ. 2432 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจการพระศาสนาในหัวเมืองปักษ์ใต้ พระอธิการม่วงได้เข้าเฝ้าและตามเสด็จกลับมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานคร ทรงให้ท่านอยู่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร และในปีฉลูนั้นทรงให้ท่านทำทัฬหีกรรมบวชใหม่ในคณะธรรมยุตโดยมีพระพรหมมุนี (แฟง กิตฺติสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระองค์เองเป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วศึกษากับพระองค์ต่อ จนปีขาล พ.ศ. 2433 ได้เข้าสอบที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เป็นเปรียญธรรม 4 ประโยค ปีต่อมาได้ทูลลากลับไปอยู่วัดท่าโพธิ์ตามเดิม[3]
ศาสนกิจ
[แก้]พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ประพาสปักษ์ใต้ พระมหาม่วงได้เข้าเฝ้าและถวายรายงานเรื่องการพระศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราชเป็นที่พอพระทัย และทรงเห็นว่าท่านมีคุณธรรมและอุตสาหะ จึงแต่งตั้งท่านเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่เมืองนครศรีธรรมราช[3][5] ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม ร.ศ. 121 ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช[6] และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาวุฒิการบดีส่งสัญญาบัตรไปพระราชทาน[7] ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ทรงประกาศให้รวมมณฑลสุราษฎ์และจังหวัดสตูลเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราช โดยโปรดให้ท่านเป็นเจ้าคณะมณฑลต่อตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2469 เป็นต้นไป[8]
ในระหว่างดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑล นอกจากการปกครองสังฆมณฑลให้เรียบร้อย ท่านยังได้ทำงานสนองนโยบายของราชการโดยจัดการศึกษาแบบใหม่ขึ้นทั่วทั้งมณฑลนับแต่เมืองนครศรีธรรมราชไปจนถึงเมืองกลันตัน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2472 ท่านจึงขอลาออกจากตำแหน่งเพราะชราภาพ[9] แต่ปรากฏว่าเกิดความไม่สงบขึ้น ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467[10] เมื่อสะสางปัญหาต่าง ๆ เรียบร้อยท่านจึงขอลาออกอีกครั้งด้วยเหตุผลเดิม จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตและให้พระธรรมโกษาจารย์ (เซ่ง อุตฺตโม) เจ้าคณะมณฑลภูเก็ต ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2471[11]
สมณศักดิ์
[แก้]- 4 กรกฎาคม ร.ศ. 117 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระศิริธรรมมุนี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครศรีธรรมราช มีนิตยภัตรเดือนละ 4 ตำลึง[5]
- 25 มกราคม ร.ศ. 129 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพกวี ศรีวิสุทธิดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตรเดือนละ 26 บาท[12]
- 10 พฤศจิกายน ร.ศ. 131 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโกษาจารย์ สุนทรญาณดิลก ตรีปิฎกธรรมภูษิต ยติคณิศร บวรสังฆารามคามวาสี มีนิตยภัตรเดือนละ 28 บาท[13]
- 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษที่ พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สังฆนายกตรีปิฎกคุณาลังการ ศีลสมาจารวินัยสุนทร ยติคณิศรบวรสังฆาราม คามวาสี[14]
มรณภาพ
[แก้]พระรัตนธัชมุนี ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2477 เวลา 4.20 น. ณ วัดท่าโพธิ์ สิริอายุได้ 81 ปี 42 วัน ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2478[15]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒, หน้า 544
- ↑ "ประวัติโรงเรียน". โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อ 6 ธันวาคม 2558.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 235
- ↑ พระรัตนธัชมุนีนามนี้คือสมณปราชญ์, หน้า 19-20
- ↑ 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรสงฆ์, เล่ม 15, ตอน 16, 17 กรกฎาคม ร.ศ. 117, หน้า 180
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งราชาคณะเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 19, ตอน 16, 20 กรกฎาคม ร.ศ. 121, หน้า 296-297
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 19, ตอน 17, 27 กรกฎาคม ร.ศ. 121, หน้า 334
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมวิสามัญศึกษา เรื่อง ตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงและเจ้าคณะ, เล่ม 43, ตอน 0 ง, 23 พฤษภาคม 2469, หน้า 891-893
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกรมธรรมการ เรื่อง เจ้าคณะมณฑลลาออกจากตำแหน่งและย้ายตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด, เล่ม 36, ตอน 0, 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462, หน้า 3,713
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมธรรมการ เรื่อง ตั้งเจ้าคณะมณฑล, เล่ม 41, ตอน 0 ง, 8 มีนาคม พ.ศ. 2467, หน้า 4,347
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมธรรมการ เรื่อง เจ้าคณะมณฑลลาออกและตั้งเจ้าคณะมณฑลใหม่, เล่ม 45, ตอน 0 ง, 24 มิถุนายน พ.ศ. 2471, หน้า 1,034
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะและราชาคณะ, เล่ม 27, ตอน 0 ง, 29 มกราคม ร.ศ. 129, หน้า 2637
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระราชาคณะ, เล่ม 29, ตอน ก, 13 พฤศจิกายน ร.ศ. 131, หน้า 237
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระราชาคณะ, เล่ม 40, ตอน 0 ง, 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466, หน้า 2,594
- ↑ พระรัตนธัชมุนีนามนี้คือสมณปราชญ์, หน้า 83
- บรรณานุกรม
- กองพุทธศาสนสถาน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. ประวัติพระอารามหลวง เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2548. 622 หน้า. หน้า 313-314.
- คัมภีร์ ทองพูน. พระรัตนธัชมุนี(ม่วง รตนธชเถร) กับการจัดการศึกษาในหัวเมืองภาคใต้. มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ : บทความวิจัย เสนอในการประชุมหาดใหญ่วิชาการ ครั้งที่ 4, 10 พฤษภาคม 2556.
- ฉลอง เจยาคม. พระรัตนธัชมุนีนามนี้คือสมณปราชญ์. กรุงเทพฯ : มหรรรพ, 2539. 175 หน้า. หน้า 15-93. ISBN 974-89824-2-4
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. หน้า 235-236. ISBN 974-417-530-3