พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) | |
---|---|
เกิด | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 |
เสียชีวิต | 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (62 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | อ.น.ก. , อุนิกา , อนึก คำชูชีพ |
อาชีพ | นักเขียน , ผู้เชี่ยวชาญทางภาษา |
มีชื่อเสียงจาก | ผู้ริเริ่มการใช้คำว่า “สวัสดี” สำหรับทักทาย , อาจารย์ใหญ่คนแรกของประเทศไทย , เป็นคนแต่งตำราเรียนภาษาไทยหลายเล่ม , เป็นคนแปลบทกลอนของกวีอังกฤษ โทมัส เกรย์ เป็นกลอนดอกสร้อย รำพึงในป่าช้า |
พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484) เป็นนักเขียน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ท่านใช้นามปากกาหลายนาม ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ "ในอีกชื่อคือ “นิม", "อนึก คำชูชีพ" และเป็นผู้ริเริ่มคำทักทายคำว่า "สวัสดี" และยังเป็นผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาทางการแพทย์หรือที่เรียกว่าอาจารย์ใหญ่ เป็นท่านแรกของประเทศไทย โดยกล่าวว่า "ฉันเป็นครู ตายแล้วขอเป็นครูต่อไป "[1]
ประวัติ
[แก้]พระยาอุปกิตศิลปสารมีนามเดิมว่า นิ่ม กาญจนาชีวะ เป็นบุตรของ นายหว่าง และ นางปลั่ง เกิดวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2422 ศึกษาหาความรู้ภาษาไทยเบื้องต้นที่วัดบางประทุนนอก อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันคือเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร) และที่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ต่อมาได้บวชเป็นสามเณรและเป็นพระภิกษุที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ระหว่างที่บวชได้ศึกษาพระธรรมวินัย จนสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และศึกษาวิชาครู
พระยาอุปกิตศิลปสารได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูฝึกสอน ที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สายสวลี ต่อมาได้ย้ายไปสอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ วัดมหาธาตุ และ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา นอกจากเป็นครูแล้ว พระยาอุปกิตศิลปสารยังเคยดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการ พนักงานกรมราชบัณฑิต หัวหน้าการพิมพ์แบบเรียน หัวหน้าแผนกอภิธานสยาม ปลัดกรมตำราและอาจารย์ประจำกรมศึกษาธิการ และได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์มาตามลำดับ จนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467 จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอุปกิตศิลปสาร มีตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการ ถือศักดินา 1,000[2] และมียศเป็นอำมาตย์เอก
พระยาอุปกิตศิลปสารเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางภาษาไทย ภาษาบาลี และวรรณคดีไทย อีกทั้งท่านยังเป็น อาจารย์พิเศษแผนกภาษาไทยและภาษาโบราณตะวันออกในคณะอักษรศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พิเศษสอนภาษาไทยในชุดครูมัธยม และเป็นกรรมการชำระปทานุกรม ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484
ผลงาน
[แก้]- ตำราไวยากรณ์ไทย 4 เล่ม ได้แก่ อักขรวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ และ ฉันทลักษณ์
- สงครามภารตะคำกลอน
- คำประพันธ์บางเรื่อง
- ผู้ที่ริเริ่มใช้คำว่า "สวัสดี"
- กลอนสุภาพ พ่อแม่รังแกฉัน
- กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า (ปรับจาก Elegy Written in a Country Churchyard)
- ได้รับการบรรจุเป็นแบบเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามานานนับ 10 ปี [3]
สยามไวยากรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2460 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)[4]
- พ.ศ. 2457 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)[5]
- พ.ศ. 2470 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[6]
- พ.ศ. 2476 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "อาจารย์ใหญ่คนแรกของเมืองไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-04-24.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานบรรดาศักดิ์, เล่ม 41, ตอน ง, 1 มกราคม 2467, หน้า 3447
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. กรุงเทพฯ: สกสค. ลาดพร้าว, 2550, หน้า 127
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๓๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๖๖, ๒๐ มกราคม ๒๔๖๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๓๗๘, ๑๐ มกราคม ๒๔๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เก็บถาวร 2022-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๔๐๘๗, ๑๘ มีนาคม ๒๔๗๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ส่งเหรียญจักรพรรดิมาลาไปพระราชทาน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๑๗, ๒ ธันวาคม ๒๔๗๗