พระราชวังดุสิต
พระราชวังดุสิต | |
---|---|
ชื่อเดิม | วังสวนดุสิต พระราชวังสวนดุสิต |
ที่มา | ตำบลสวนดุสิต |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | พระราชวัง |
ที่ตั้ง | แขวงดุสิตและแขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2442 (125 ปี) |
พระราชวังดุสิต เป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในพื้นที่แขวงดุสิตและแขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่เสด็จประทับชั่วคราว เนื่องจากภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับนั้นประกอบด้วยพระราชมณเฑียร หมู่พระตำหนัก หมู่เรือนในเขตพระราชฐานชั้นใน และหมู่เรือนข้าราชบริพาร ปลูกสร้างอยู่กันอย่างแออัด ปิดทางลม ทำให้ที่ประทับร้อนจัด ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันเสมอ ต่อมาจึงสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชวังที่ประทับถาวรจนตลอดรัชกาล แต่ได้สร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประวัติ
[แก้]พระราชวังดุสิตเป็นพระราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ภายหลังเสด็จกลับจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พระองค์มีพระราชดำริว่า พระบรมมหาราชวัง ในฤดูร้อนจะร้อนจัดเพราะมีตึกบังอยู่โดยรอบทำให้ขวางทางลม รวมทั้ง พระองค์โปรดพระราชดำเนินด้วยพระบาทในระยะทางหนึ่งพอสมควรแก่พระกำลัง ถ้าประทับอยู่บนพระที่นั่งไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินแห่งใดหลายเดือนก็ไม่ใคร่ทรงสบาย[1] นอกจากนี้ นายแพทย์ประจำพระองค์ได้กราบบังคมทูลว่า ในพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ที่ประทับมาแต่เดิมไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ทรงพระประชวรกันเสมอ
เมื่อปี พ.ศ. 2442 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่สวนและทุ่งนาบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวังแล้วทรงพอพระราชหฤทัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนด้วยเงินพระคลังข้างที่อันเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานชื่อตำบลแห่งนี้ว่า "สวนดุสิต" และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลาขึ้นเป็นที่เสด็จประทับแรมชั่วคราวและให้เรียกที่ประทับแห่งนี้ว่า “วังสวนดุสิต”[1]
เมื่อมีการขยายพระนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนสามเสน ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินนอก และโปรดให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี มาสร้างที่วังสวนดุสิตและพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ"[2] โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2445[3] พร้อมกันนี้ พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนไทยหมู่หนึ่ง พระราชทานนามว่า "เรือนต้น" เพื่อใช้เป็นที่เสด็จให้ประชาชนที่พระองค์ได้ทรงรู้จักเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นมาเฝ้า
เมื่อมีการสร้างที่ประทับถาวรขึ้นและเสด็จมาประทับบ่อยครั้ง จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระที่นั่งต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีได้เช่นเดียวกับพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเปลี่ยนนามวังสวนดุสิตเป็น "พระราชวังสวนดุสิต" [4]
นอกจากสร้างพระที่นั่งต่าง ๆ ขึ้นในพระราชวังสวนดุสิตแล้ว ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนและพระตำหนักพระราชทานให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชเทวี พระอัครชายา พระราชชายา เจ้าจอม และพระธิดา ยังมีสวนอีกมากมายได้แก่ สวนสี่ฤดู สวนหงส์ สวนบัว สวนฝรั่งกังไส สวนนกไม้ สวนม้าสน สวนผักชีเข้ม สวนญี่ปุ่น สวนวิลันดา และสวนโป๊ยเซียน และโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบพระราชวังดุสิตเป็นเขตพระราชฐาน ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน อย่างถาวร
ต่อมาเมื่อเสด็จกลับจากประพาสทวีปยุโรปเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2451 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายเขตพระราชฐานด้านหลังพระราชวังสวนดุสิต เป็นเขตพระราชอุทยานส่วนพระองค์ พร้อมทั้งเป็นที่ประทับถาวรของพระราชธิดา เจ้าจอมมารดา ที่อยู่ของเจ้าจอมและข้าราชบริพารในพระองค์ เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชอุทยานนี้พระราชทานนามว่า "สวนสุนันทา" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่พระราชวังแห่งนี้จนกระทั่งเสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังสวนดุสิต
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชวังสวนดุสิตว่า "พระราชวังดุสิต"[5] และโปรดให้สร้างสวนจิตรลดาในบริเวณระหว่างพระราชวังดุสิตกับวังพญาไท เพื่อเป็นที่เสด็จประพาสและประทับแรม และสร้างพระตำหนักขึ้นหลังหนึ่ง พระราชทานนามว่า พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกสวนจิตรลดาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต ทำให้ในปัจจุบันพระราชวังดุสิตมีพื้นที่อยู่ใน 2 แขวง คือแขวงดุสิตและแขวงสวนจิตรลดา[6]
พระราชวังดุสิตเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนเป็นที่ทำการของสำนักพระราชวัง ยังคงเหลือส่วนหนึ่งที่เป็นเขตพระราชวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน
สถานที่ภายในพระราชวังดุสิต
[แก้]พระที่นั่ง
[แก้]เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นที่เกาะสีชังเมื่อ พ.ศ. 2435 แต่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโยธาเทพ (กร หงสกุล ต่อมาเป็นพระยาราชสงคราม) เป็นนายงานรื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากเกาะสีชังมาสร้างในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ" และทรงวางศิลาฤกษ์พระที่นั่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2443 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ 2445 โดยองค์พระที่นั่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง ภายในแบ่งออกเป็นห้องชุดต่าง ๆ 5 ชุดได้แก่
- ห้องสีฟ้าเป็นที่ประทับในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- ห้องงาช้างเป็นที่ประทับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
- ห้องชมพูเป็นที่ประทับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา
- ห้องเขียวเป็นที่พำนักของเจ้าจอมก๊กออ
- และห้องสีลูกพีช (ชมพูอมส้ม)
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆใน พ.ศ. 2468 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เสด็จไปประทับที่พระตำหนักสวนนกไม้ ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักที่ประทับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพระที่นั่งวิมานเมฆจึงไม่มีเจ้านายพระองค์ใดเสด็จมาประทับอีก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงขอพระบรมราชานุญาตบูรณะพระที่นั่งวิมานเมฆ เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันพระที่นั่งวิมานเมฆเป็นเขตพระราชฐานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นพระที่นั่งองค์แรก ๆ ที่สร้างขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ประดับไปด้วยสร้างด้วยไม้เป็นส่วนมาก มีลวดลายฉลุไม้เรียกว่า ลายบุหงา มีการประดับกระจกสี และลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน เป็นศิลปะแบบมัวร์ จึงทำให้พระที่นั่งองค์นี้งดงามมาก พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของพระที่นั่งวิมานเมฆ สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์ได้เสด็จกลับมาจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เพื่อใช้เป็นท้องพระโรง และสถานที่พระราชทานเลี้ยง สำหรับพระราชวังดุสิต และใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ในงานประจำปีสวนดุสิต
เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อใช้เป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคม พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระบรมมหาราชวังที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง พระที่นั่งหลังนี้ออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง และมี พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้เสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี ใช้งบประมาณประมาณ 15 ล้านบาท องค์พระที่นั้นมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ และนีโอคลาสสิก โดยตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือ มีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง ขนาดขององค์พระที่นั่งฯ ส่วนกว้างประมาณได้ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร ภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก ซึ่งภาพจะติดทนกว่าภาพที่เขียนบนปูนแห้ง (ภาพจิตรกรรมไทยนิยมเขียนแบบปูนแห้ง) เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี รีโกลีและศาสตราจารย์กาลิเลโอ กินี
พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในปีเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งวิมานเมฆเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งขึ้นอีกองค์หนึ่งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า สวนแง่เต๋ง (แปลว่า สีงา) และทรงตั้งนามให้พระที่นั่งองค์ใหม่ว่า พระที่นั่งอัมพรสถาน
พระสถิตย์นิมานการ (ม.ร.ว. ชิด อิศรศักดิ์) เจ้ากรมโยธาธิการ ได้ดำเนินการก่อสร้างอยู่หลายปี ครั้นถึง ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุขุมนัยวินิต (ต่อมาคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)) มารับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จึงได้เป็นผู้อำนวยการก่อสร้างพระที่นั่งต่อมาจนเสด็จในปีนั้นและการเฉลิมพระที่นั่งนั้น เป็นงานใหญ่ตั้งแต่วันที่ 18 - 22 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449) แต่ที่จริงโหรทำนายว่าควรจะเอาเป็นวันในปลายเดือนธันวาคม แต่มิโปรดเนื่องจากอากาศนั้นหนาวเย็น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตที่ชั้น 3 ของพระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ ได้ประทับแค่เพียงชั้น 2 เท่านั้น เพราะชั้น 3 ถือว่าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ใน พ.ศ. 2493 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายหลังเสด็จฯ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นิวัติพระนคร ได้ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ก่อนจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระที่นั่งอัมพรสถาน เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
เป็นหนึ่งในพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน สร้างขึ้นบริเวณทางทิศเหนือของพระที่นั่งอัมพรสถานโดยมีสะพานเหล็กหล่อเชื่อมองค์พระที่นั่งทั้ง 2 เข้าด้วยกัน เป็นที่ประทับในสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
พระที่นั่งประจิมภาค
[แก้]เป็นหนึ่งในพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน สร้างบริเวณด้านหลังปีกทางทิศเหนือของพระที่นั่งอัมพรสถานติดกับคลองเม่งเส็ง เป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี รวมทั้งเจ้าจอมก๊กออ มีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง 2 ชั้น ด้านที่ติดกับคลองเม่งเส็จทำเป็นระเบียงไม้ยืดลงไปในคลอง ปัจจุบันพระที่นั่งประจิมภาคถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งอัมพรสถาน
พระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์
[แก้]เป็นหนึ่งในพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งอัมพรสถาน ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรก เดิมเป็นเพียงตำหนัก เป็นที่ประทับในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกฐานะให้เป็นพระตำหนัก แต่ทว่าในแผนที่พระราชวังดุสิตในสมัยรัชกาลที่ 7 ระบุว่าพระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ จึงสันนิษฐานว่ามีการยกขึ้นเป็นพระที่นั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ยังไม่สามารถหาเอกสารมาอ้างอิงเพิ่มเติมได้
พระที่นั่งนิยมทัศนาณ
[แก้]เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นบริเวณเขามอทางทิศใต้ของพระที่นั่งอนันตสมาคม มีลักษณะเป็นหอคอย 8 เหลี่ยมหลังคายอดโดม พระที่นั่งองค์นี้ถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ 8
พระที่นั่งสัตลาภิรมย์
[แก้]เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2447 เพื่อเป็นที่ประทับเสวยพระกายาหาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างมีลีลักษณะเป็นศาลาไทย อยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรด ให้ลดฐานะและเปลี่ยนชื่อเป็น ศาลาวรสภาภิรมย์ พระที่นั่งองค์นี้ถูกรื้อลงในสมัยรัชกาลที่ 10
พระที่นั่งราชฤดี
[แก้]เป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2472 เพื่อเป็นที่ประทับเสวยพระกายาหาร ทรงโปรดให้ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้ออกแบบและดูแลการก่อสร้างมีลีลักษณะเป็นศาลาไทยอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรด ให้ลดฐานะและเปลี่ยนชื่อเป็น ศาลาสำราญมุขมาตย์ และถูกย้ายไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในสมัยรัชกาลที่ 7 ตราบจนปัจจุบัน
พระตำหนัก
[แก้]- พระตำหนักเรือนต้น
- พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
- พระตำหนักสวนหงส์
- พระตำหนักสวนสี่ฤดู
- พระตำหนักนกไม้
- พระตำหนักสวนบัว
ตำหนัก
[แก้]- ตำหนักสวนไม้สามอย่าง
- ตำหนักสวนเขาไม้
- ตำหนักสวนหนังสือเล็กและสวนหนังสือใหญ่
- ตำหนักสวนบ๋วยไผ่
- ตำหนักสวนภาพผู้หญิง
- ตำหนักสวนพุดตานเบญจมาศ
- ตำหนักสวนพุดตาน
- ตำหนักสวนม้าสน
- ตำหนักสวนผักชีเข้ม
- ตำหนักสวนฝรั่งกังไส
- ตำหนักสวนญี่ปุ่น
- ตำหนักสวนวิลันดา
- ตำหนักสวนโป๊ยเซียน
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรไทยเทพกัญญา
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณวดี
- ตำหนักพระองค์เจ้านารีรัตนาและพระองค์เจ้าประดิษฐาสารี
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
- ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญจนากร
- สวนสุนันทา
อาคารต่าง ๆ
[แก้]- เรือนเจ้าจอมมารดาวาด
- โรงช้างต้น
- สำนักราชเลขาธิการ
- ทิมดาบ
- เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความเรื่องสวนดุสิต, เล่ม 15, ตอน 50, 12 มีนาคม พ.ศ. 2441, หน้า 543
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระบรมราชโองการสร้างพระที่นั่งวิมาณเมฆ, เล่ม 17, ตอน 24, 9 มิถุนายน พ.ศ. 1900, หน้า 303
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การเฉลิมพระที่นั่งวิมานเมฆ, เล่ม 19, ตอน 2, 13 เมษายน พ.ศ. 2445, หน้า 25
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศเรียกวังสวนดุสิตเป็นพระราชวัง, เล่ม 26, ตอน 0ง, 11 เมษายน พ.ศ. 2452, หน้า 45
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ขนานนามประตูพระราชวังสวนดุสิต, เล่ม 33, ตอน 0ก, 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2459, หน้า 113
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสวนจิตรลดา, เล่ม 42, ตอน 0ก, 5 เมษายน พ.ศ. 2468, หน้า 4
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ นามพระที่นั่งและสถานต่าง ๆ ในสวนดุสิต, เล่ม 28, ตอน ก, 21 มกราคม พ.ศ. 2454, หน้า 428
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระราชวังดุสิต
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์