จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา[1] (เยอรมัน: Maria Theresia von Österreich, อังกฤษ: Maria Theresa of Austria; พระนามเต็ม: มาเรีย เทเรเซีย วาร์ลบูก้า อมาเลีย คริสติน่า ฟอน ฮาพส์บวร์ค) หรือ สมเด็จพระราชินีนาถมาเรีย เทเรซา แห่งฮังการีและโบฮีเมีย เป็นผู้ปกครองรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คสตรี "โดยพระราชสิทธิ์อันชอบธรรม" เพียงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ภายหลังทรงสถาปนาพระราชสวามีให้ดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิและพระองค์เองทรงดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดินี พระอัครมเหสีแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พระราชอำนาจทั้งหมดอยู่ที่พระองค์เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเป็นประมุขแห่งออสเตรีย ฮังการี โบฮีเมีย โครเอเชีย และสลาโวเนีย ถือว่า พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในพระประมุขผู้ทรงอำนาจที่สุดในทวีปยุโรปเลยทีเดียว[ต้องการอ้างอิง]
พระราชประวัติ
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2260 เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ คริสตีนแห่งบรันสวิค-วูล์ฟเฟ็นบืทเทล (พระธิดาในดยุกลุดวิก รูดอล์ฟแห่งบรันสวิค-ลืนย์เบิร์ก และเจ้าหญิงคริสตีน หลุยส์แห่งเอิททินเจน-เอิททินเจน) มีพระเชษฐา 1 พระองค์ แต่สิ้นพระชนม์ขณะยังทรงพระเยาว์ และพระขนิษฐาอีก 3 พระองค์ ทั้ง 4 พระองค์ทรงได้รับการศึกษาในราชสำนัก โดยพระราชบิดาทรงให้ครูมาให้การศึกษา โดยพระองค์ทรงเล็งเห็นว่า พระราชธิดาองค์โตพระองค์นี้ จะต้องเป็นองค์พระประมุของค์ต่อไป ซึ่งตามหลักของกฎมณเฑียรบาลเรื่องการสืบราชบัลลังก์นั้น จะให้พระบรมวงศานุวงศ์เพศชายเท่านั้นที่จะอยู่ในลำดับการสืบสันตติวงศ์ได้ แต่พระองค์ทรงไม่มีพระราชโอรสแล้ว พระองค์จึงทรงให้ครูเข้มงวดในเรื่องของการศึกษาของพระราชธิดาองค์โตด้วย
องค์รัชทายาทหญิง
เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชธิดาองค์โตของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเนื่องจากพระราชโอรสพระองค์เดียว อาร์ชดยุกเลโอโปลด์ โยฮันน์ มกุฎราชกุมารได้สิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนแล้ว พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเขียนพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. 1713 (Pragmatic Sanction of 1713) ซึ่งสามารถให้พระราชธิดาองค์โต สามารถสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาได้ ทำให้มีการลงประชามติจากองค์พระประมุขหลายพระองค์ทางยุโรปตอนเหนือ ซึ่งเห็นด้วยกับการออกพระราชกฤษฎีกาของพระองค์ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านพระองค์ การที่พระองค์ได้ทรงเป็นองค์รัชทายาทหญิงแห่งออสเตรียนั่นเอง เป็นเหตุให้มีการก่อสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of Austrian Succession) ขึ้นในปีพ.ศ. 2283 เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้ผู้หญิงมาสืบราชบัลลังก์แห่งจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซีย ซึ่งทรงเกรงว่าจะทำให้ระบอบการปกครองสั่นคลอน โดยพระองค์ทรงยื่นข้อเสนอให้กับจักรพรรดิคาร์ลว่า ให้พระราชธิดาอภิเษกสมรสกับพระองค์เสียเอง โดยทรงอ้างว่าจะรักษาความสมดุลของระบอบการปกครองของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ได้
อย่างไรก็ตามหลังจากที่พระราชาบิดาเสด็จสวรรคต เจ้าหญิงมาเรียก็ทรงได้รับการสืบราชบัลลังก์แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี พ.ศ. 2283 แต่ยังไม่ได้ครองราชย์เพราะเนื่องจากสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย พระองค์จึงทรงมอบบัลลังก์ให้กับจักรพรรดิคาร์ลที่ 7 แห่งราชวงศ์วิทเทิลส์บัค แล้วอีก 5 ปีต่อมา จักรพรรดิคาร์ลเสด็จสวรรคต พระองค์จึงทรงสืบราชบัลลังก์ต่อ โดยการอภิเษกสมรสกับดยุกฟรันซ์ที่ 3 สเตฟานแห่งลอแรน และสถาปนาให้พระสวามีของพระองค์เป็นจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระองค์ก็จะทรงเป็นจักรพรรดินีมเหสี (Empress Consort) แทน แต่พระอำนาจและการบริหารบ้านเมืองทั้งหมด จะอยู่ที่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาทรงริเริ่มช่วยเหลือในการปฏิรูปทางการเงินและการศึกษา อีกทั้งทรงช่วยเหลือทางด้านการค้าขายทางธุรกิจ การพัฒนาการเกษตรกรรม และการจัดการทางการทหาร พระองค์ทรงจัดตั้งกองทัพขึ้นใหม่ เนื่องจากออสเตรียยังมีความขัดแย้งกับปรัสเซีย กษัตริย์แห่งปรัสเซียยังทรงต่อต้านออสเตรียที่มีองค์พระประมุขหญิง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จึงได้ต่อสู้กับราชอาณาจักรปรัสเซีย เป็นเหตุให้มีการต่อสู้ในสงครามเจ็ดปี ซึ่งอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2299 ถึง พ.ศ. 2306 และสงครามสืบราชบัลลังก์บาวาเรีย (War of Bavarian Succession)
ครองราชย์
ช่วงต้นรัชกาล
จักรพรรดิคาร์ล พระราชบิดามิได้พระราชทานการศึกษาเรื่องรัฐศาสตร์ให้แก่เจ้าหญิงมาเรีย ทำให้เจ้าหญิงทรงเรียนรู้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งก่อนสิ้นรัชกาลของพระราชบิดา 2 ปี การทหารและกลาโหมของประเทศได้อ่อนแอลงมาก ซึ่งหลังจากจักรพรรดิเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าหญิงก็ได้ทรงเข้าพิธีเถลิงวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งฮังการี ณ มหาวิหารเซนต์ มาร์ติน เมืองปอลโซนี (ปัจจุบันคือกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของประเทศสโลวาเกีย) พิธีเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมีขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2284
สงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรียยังคงมีอยู่เรื่อยมา เพราะเนื่องจากพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียได้ทรงนำกองทัพรุกรานหวังจะยึดครองไซลีเชีย ขณะที่บาวาเรีย และฝรั่งเศสได้ร่วมกันรุกรานดินแดนทางตะวันตกของออสเตรีย เพราะเนื่องจากปรัสเซียได้ให้บาวาเรียกับฝรั่งเศสรุกรานออสเตรีย พระเจ้าฟรีดริชจึงได้พระสมญานามว่า เฟรเดอริกมหาราช (Frederick The Great) พระองค์จึงเป็นศัตรูตัวฉกาจของจักรพรรดินี อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงเพ่งจุดเด่นไปยังนโยบายทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกเพื่อการต่อสู้กับปรัสเซีย เป็นเหตุให้ออสเตรียชนะสงครามในที่สุด ปรัสเซียก็ได้รับความพ่ายแพ้ไป อีกทั้งกษัตริย์แห่งปรัสเซียก็ทรงยอมรับพระองค์ในฐานะองค์พระประมุขหญิงแห่งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้แผ่นดินคืน หลังจากที่เคยถูกยึดไป และได้มีการทำสนธิสัญญาอิกส์-ลา-ชาแปลล์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2291 โดยผลของสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว มีผลให้ฝรั่งเศสได้ให้ดินแดนออสเตรีย-เนเธอร์แลนด์ และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน จักรพรรดินีทรงยกดินแดนปาร์มา ปิอาเซนซ่า และกูแอสตาลล่าให้กับเจ้าฟ้าชายเฟลิปเป้แห่งสเปน (ซึ่งภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นองค์พระประมุขแห่งปาร์มา)
หลังจากที่พ่ายแพ้จากสงครามซิลิเซียครั้งที่ 1 และ 2 พระองค์ก็ทรงริเริ่มที่จะปฏิรูปอาณาจักรของพระองค์ให้ทันสมัย โดยทรงได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากฟรีดริช วิลเฮล์ม ฟอน ฮอว์กวิทซ์ สมุหนายกแห่งสภาจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม การพ่ายแพ้สงครามซิลิเซียได้ทำให้พระองค์ทรงมีกำลังพระทัยน้อยลง ที่จะเป็นองค์พระประมุขที่ดีได้ พระองค์ทรงเพิ่มจำนวนกำลังทหารและกองทัพถึง 200 เปอร์เซ็นต์ และทรงเพิ่มค่าภาษีเพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจของระบอบการเมืองการปกครอง และรัฐบาลที่มั่นคงของจักรวรรดิ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรวมอำนาจของรัฐบาลมายังจุดศูนย์กลาง โดยทรงรวมระบอบสมุหนายกของออสเตรีย และโบฮีเมียซึ่งเคยถูกแบ่งแยก มารวมไว้ที่สำนักบริหารระบอบการปกครอง โดยก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแปลงศาลสูงสุด เพื่อมีหน้าที่ดูแลความยุติธรรมในระบอบเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองของจักรวรรดิ
ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นคริตศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งเป็นนิกายประจำราชวงศ์ พระองค์จึงทรงเคร่งครัดในเรื่องของศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะยังทรงพระเยาว์นั้นทรงได้รับการศึกษาในเรื่องของศาสนา ณ มหาวิหารมาเรียเซลล์ เมืองมาเรียเซลล์ ประเทศออสเตรีย พระองค์ทรงมีแนวคิดอนุรักษนิยม อีกทั้งทัศนคติที่ไม่ทรงยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง กล่าวคือ พระองค์ไม่ทรงยอมรับการนับถือนิกายแตกต่างจากพระองค์ ในปีพ.ศ. 2284 พระองค์ทรงขับไล่ชาวยิว ออกจากเมืองปราก ระบอบการเมืองการปกครองของพระองค์ ทำให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ ที่พระองค์ทรงมีส่วนพิจารณาการก่อตั้งนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ (Church of England) โดยพระองค์มีพระดำริถึงการมีความเป็นนอกศาสนา
พระองค์ได้ทรงตัดบริเตนใหญ่จากการเป็นพันธมิตร โดยทรงได้รับคำแนะนำจากสมุหนายกรัฐบุรุษเว็นเซล แอนตัน ฟอน คอว์นิทซ์ และหันไปจับมือเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิรัสเซีย และฝรั่งเศส พระองค์ทรงก่อตั้งสถานศึกษากรมทหารเทเรเซียน (Theresian Military Academy; อักษรย่อ MilAk) เมื่อปี พ.ศ. 2295 และต่อมาในปี พ.ศ. 2297 ได้ทรงก่อตั้งวิทยาลัยวิทยาศาตร์อุตสาหกรรมขึ้น และยังมีพระราชดำริให้ใช้งบประมาณในการก่อตั้งคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวียนนาอีกด้วย
ทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงกระทำนี้ ได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในการกลาโหม และการแพทย์ที่จะรักษาทหารที่เจ็บป่วยในการสงคราม ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ทรงนำกองทัพไปรบกับปรัสเซียอีกครั้งในปี พ.ศ. 2299 เหตุสงครามนี้ เกิดจากการที่พระเจ้าฟรีดริชทรงรุกรานซัคเซิน ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรของออสเตรีย ซึ่งการก่อสงครามนี้เอง ทำให้นำไปสู่สงครามเจ็ดปี (Seven Years’ War) เมื่อสงครามเสร็จสิ้นในปีพ.ศ. 2306 จักรพรรดินีทรงลงพระนามในสนธิสัญญาฮิวเบอร์ตัสบูร์ก (Treaty of Hubertusburg) โดยให้ปรัสเซียได้ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของซิลิเซีย
หลังจากที่จักรพรรดิฟรันซ์ พระราชสวามีเสด็จสวรรคต พระองค์ก็ได้ทรงเฉลิมพระองค์ไว้ทุกข์ตลอด 15 ปีต่อมา โดยในระหว่างไว้ทุกข์นั้น พระองค์ก็มิได้ทรงละจากการเมืองการปกครอง พระองค์ทรงวางแผนที่จะยึดแผ่นดินซิลิเซียคืน โดยพระองค์ทรงให้คำแนะนำแก่จักรพรรดิโยเซฟ พระราชโอรสองค์โตที่ได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา โดยพระองค์ทรงให้ความมีอำนาจจำกัดของพระราชโอรส ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดินี พระพันปีหลวง พระองค์ทรงเห็นว่า พระราชโอรสของพระองค์ทรงหลงใหลในพระราชอำนาจมากเกินไป พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับสิ่งต่างๆ ที่พระราชโอรสทรงกระทำ แต่ทรงเห็นด้วยกับการแบ่งแยกโปแลนด์ครั้งที่ 1 (First Partition of Poland) เมื่อปีพ.ศ. 2315 ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของยุโรปของคริสต์ศตวรรษที่ 18
อภิเษกสมรส
พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับดยุกฟรันซ์ที่ 3 สเตฟานแห่งลอแรน ซึ่งเป็นองค์พระประมุขแห่งลอแรน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2279 ซึ่งขณะนั้น มีพระชนมายุเพียง 15พรรษา หลังจากการอภิเษกสมรสของทั้ง 2 พระองค์ ได้มีการก่อตั้งราชสกุลใหม่ขึ้นว่า ราชสกุลฮาพส์บวร์ค-ลอแรน โดยจักรพรรดินีทรงอยู่ในราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค และดยุกฟรันซ์ทรงอยู่ในราชวงศ์ลอแรน พระราชบุตรของพระองค์จะดำรงในราชสกุลนี้ และยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ดำรงอยู่ในราชสกุลนี้จวบจนถึงปัจจุบัน
หลังจากอภิเษกสมรสแล้วองค์จักรพรรดินีมีพระบรมราชโองการสถาปนาดยุกฟรันซ์ สเตฟาน พระราชสวามีขึ้นเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่พระราชอำนาจทั้งหมดจะอยู่ที่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว ในฐานะที่ทรงเป็นจักรพรรดินี และสมเด็จพระราชินีนาถ
ทั้ง 2 พระองค์มีพระราชโอรส 5 พระองค์ และพระราชธิดา 11 พระองค์ รวมพระราชบุตรทั้งหมดถึง 16 พระองค์ ดังนี้
- อาร์ชดัชเชสมาเรีย เอลิซาเบธ อมาลี่ แอนโตนี่ โจเซเฟ้ เกเบรียล โจฮันนา อกาเธ (5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2280 ทรงเป็นองค์รัชทายาทหญิง ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2283)
- อาร์ชดัชเชสมาเรีย แอนนา โจเซเฟ้ แอนโตนี่ โจฮันนา (6 ตุลาคม พ.ศ. 2281 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2332) ทรงเป็นองค์รัชทายาทหญิงต่อจากพระเชษฐภคินีที่ทรงสิ้นพระชนม์ระทันหันระหว่างปีพ.ศ. 2283 ถึงพ.ศ. 2284 ไม่ทรงอภิเษกสมรส
- อาร์ชดัชเชส มารี แคโรไลน์ เออร์เนสติน แอนโตนี่ โจฮันนา โจเซเฟ้ (12 มกราคม พ.ศ. 2283 - 25 มกราคม พ.ศ. 2284)
- จักรพรรดิโยเซฟ เบเนดิกต์ ออกัสต์ โจฮันน์ แอนตัน มิคาเอล อดัม แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ( 13 มีนาคม พ.ศ. 2284 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2333) อภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าหญิงอิสซาเบล มาเรียแห่งปาร์มา มีพระราชธิดา 2 พระองค์ ต่อมาทรงอภิเษกสมรสอีกครั้งกับเจ้าหญิงมาเรีย โยเซฟ่าแห่งบาวาเรีย ไม่มีพระราชบุตรเลย
- อาร์ชดัชเชสมาเรีย คริสติน่า โจฮันนา โจเซเฟ้ แอนโตนี่ (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2285 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2341) ทรงอภเษกสมรสกับเจ้าชายอัลเบิร์ต คาสิเมียร์แห่งซัคเซิน ดยุกแห่งเทสเชน มีพระธิดา 1 พระองค์
- อาร์ชดัชเชสมาเรีย เอลิซาเบธ โจเซเฟ้ โจฮันนา แอนโตนี่ (13 สิงหาคม พ.ศ. 2286 - 22 กันยายน พ.ศ. 2351) ไม่ทรงอภิเษกสมรส
- อาร์ชดยุกคาร์ล โยเซฟ เอ็มมานูเอล โจฮันน์ เนโพมัก แอนตัน โพรค๊อป (1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2288 - 18 มกราคม พ.ศ. 2304)
- อาร์ชดัชเชสมาเรีย อมาเลีย โยเซฟ่า โจฮันนา แอนโตนี่ ดัชเชสแห่งปาร์มา ปิอาเซนซ่า และกูแอสตาลล่า ( 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2289 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2347) ทรงอภิเษกสมรสกับดยุกแฟร์ดีนันด์แห่งปาร์มา มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 9 พระองค์
- จักรพรรดิปีเตอร์ เลโอโปลด์ โยเซฟ แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2290 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2335) สืบราชสมบัติต่อจากพระเชษฐาเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2333 ทรงอภิเษกสมรสกับมาเรีย ลุยซา แห่งสเปน มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งหมด 16 พระองค์
- อาร์ชดัชเชสมารี แคโรไลน์ - ประสูติเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2291 สิ้นพระชนม์หลังประสูติ
- อาร์ชดัชเชสมารี โจฮันนา กาเบีรยลล่า โจเซเฟ้ แอนโตนี่ (4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2293 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2305)
- อาร์ชดัชเชสมาเรีย โยเซฟ่า เกเบรียล โจฮันนา แอนโตนี่ แอนนา ( 19 มีนาคม พ.ศ. 2294 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2310)
- อาร์ชดัชเชสมารี แคโรไลน์ หลุยส์ โจเซเฟ้ โจฮันนา แอนโตนี่ สมเด็จพระราชินีแห่งซิซิลีทั้งสอง ( 13 สิงหาคม พ.ศ. 2295 - 8 กันยายน พ.ศ. 2357 ) ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าแฟร์ดีนันด์ที่ 4 แห่งเนเปิลส์ หรือแฟร์ดีนันด์ที่ 3 แห่งซิซิลี ภายหลังมีการรวมอาณาจักรเนเปิลส์และซิซิลีเป็นราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง ภายหลังจึงทรงฉลองพระปรมภิไธยใหม่ว่าพระเจ้าแฟร์ดีนันด์ที่ 1 แห่งซิซิลีทั้งสอง มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งหมด 17 พระองค์
- อาร์ชดยุกแฟร์ดีนันด์ คาร์ล แอนตัน โยเซฟ โจฮันน์ สตานิสเลาส์ (1 มิถุนายน พ.ศ. 2297 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2349) ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงมาเรีย เบียทริซ องค์รัชทายาทหญิงแห่งแคว้นโมเดน่าและเรจจิโอ้ หลังจากการอภิเษกสมรส มีการรวมพระราชอิสริยยศออสเตรีย และเอสต์รวมไว้เข้าด้วยกัน จึงได้มีการก่อตั้งราชสกุลหรือพระราชอิสริยยศออสเตรีย-เอสต์ขึ้น (Austria-Este) ตั้งแต่บัดนั้น ดังนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ออสเตรียที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศนี้ ทั้ง 2 พระองค์มีพระโอรสและพระธิดารวม 9 พระองค์
- อาร์ชดัชเชสมาเรีย อองตัวเนต โจเซเฟ โจฮันนา สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส (2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2298 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2336) ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 4 พระองค์
- อาร์ชดยุกแม็กซีมีเลียน ฟรันซ์ เซเวอร์ โยเซฟ โจฮันน์ แอนตัน เดอ พอลล่า เว็นเซล อาร์คบิชอปแห่งโคโลญ ( 8 ธันวาคม พ.ศ. 2299 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2344) ไม่ทรงอภิเษกสมรส
หลังจากที่จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 1 เสด็จสวรรคต จักรพรรดิโยเซฟ พระราชโอรสองค์โต ได้ทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แต่พระราชอำนาจส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ที่จักรพรรดินีเช่นเดิม ส่วนพระองค์เอง ก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็นจักรพรรดินี พระพันปีหลวง (The Dowager Empress, The Empress Mother)
ช่วงปลายรัชกาล
ในช่วงปี พ.ศ. 2303 ได้มีโรคไข้ทรพิษลุกลามเชื้อโรคมายังพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ก็ทรงติดเชื้อจากไข้ทรพิษด้วย แต่ทรงหายจากอาการประชวรได้ในปีพ.ศ. 2310 หลังจากทรงหายจากพระอาการประชวรแล้ว พระองค์จึงทรงริเริ่มให้คณะแพทย์ทำการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ โดยเริ่มทำการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่พระราชบุตรของพระองค์ทั้งหมด จากนั้นจึงพระราชทานวัคซีนให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ
ช่วงปลายรัชกาลของพระองค์ พระองค์มีพระราชโองการให้ปฏิรูปกฎหมายใหม่ เป็นกฎหมายระบอบเผด็จการทางการเมือง ทำให้ระบอบเศรษฐกิจของจักรวรรดิมีความมั่นคง หลังจากที่สูญเสียดินแดนซิลิเซียให้กับปรัสเซีย
ในปีพ.ศ. 2314 พระองค์ และจักรพรรดิโยเซฟ พระราชโอรส ทรงประกาศแจกจ่ายแรงงานโรบ๊อท พาเท็นท์ (Robot Patent) โดยทรงวางระเบียบควบคุมรายจ่ายของแรงงานของจักรวรรดิทั้งหมด ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของออสเตรีย นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงช่วยเหลือทางด้านการศึกษาทั่วทั้งจักรวรรดิ โดยในปีพ.ศ. 2315 ทรงก่อตั้งราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และวรรณคดี (Imperial and Royal Acedemy of Science and Literature) ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงอุปถัมภ์ประชาชนที่ยากไร้ โดยเฉพาะกรุงเวียนนา พระองค์ทรงเป็นแรงหนุนให้ประชาชนที่ยากไร้ ได้มีอนาคตที่ดี ทำให้ประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดินี พระราชชนนีพันปีหลวง
สวรรคต
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา พระราชชนนีพันปีหลวงแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2323 สิริพระชันษาได้ 63 พรรษา พระองค์ทรงเป็นองค์พระประมุขหญิงพระองค์เดียวในราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค ในรอบ 650 ปี ถือได้ว่า ทรงเป็นหนึ่งในพระประมุขผู้ทรงอำนาจที่สุดในทวีปยุโรป พระบรมศพของพระองค์ถูกนำไปฝังเคียงข้างจักรพรรดิพระราชสวามี ณ วิหารฮาพส์บวร์ค (The Imperial Crypt) กรุงเวียนนา
โดยหลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระราชโอรสองค์โต จักรพรรดิโยเซฟ ก็ได้ทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระราชมารดา และเถลิงวัลยาชสมบัติเป็น พระมหากษัตริย์แห่งฮังการี โบฮีเมีย โครเอเชีย และสลาโวเนีย
พระราชอิสริยยศ
- 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2260 - 20 ตุลาคม พ.ศ. 2283: อาร์ชดัชเชสมาเรีย เทเรซาแห่งออสเตรีย (Her Royal Highness Archduchess Maria Theresa of Austria)
- 20 ตุลาคม พ.ศ. 2283 - 13 กันยายน พ.ศ. 2288: พระราชินีนาถแห่งฮังการีและโบฮีเมีย (Her Majesty The Queen of Hungary and Bohemia)
- 13 กันยายน พ.ศ. 2288 – 18 สิงหาคม พ.ศ. 2308: จักรพรรดินีโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Her Imperial Majesty The Holy Roman Empress)
- 18 สิงหาคม พ.ศ. 2308 - 27 กันยายน พ.ศ. 2323: จักรพรรดินีพันปีหลวงแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Her Imperial Majesty The Dowager Holy Roman Empress, The Empress Mother)
พระปรมาภิไธยเต็ม หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระราชสวามี: Her Imperial and Royal Apostolic Majesty Maria Theresia Walburga Amaliae Christina, by the Grace of God, Dowager Holy Roman Empress; Queen of Hungary, of Bohemia, of Dalmatia, of Croatia, of Slavonia, of Galicia, of Lodomeria, etc; Archduchess of Austria; Duchess of Burgundy, of Styria, of Carinthia and of Carniola; Grand Princess of Transylvania; Margravine of Moravia; Duchess of Brabant, of Limburg, of Luxemburg, of Guelders, of Württemberg, of Upper and Lower Silesia, of Milan, of Mantua, of Parma, of Piacenza, of Guastalla, of Auschwitz and of Zator; Princess of Swabia; Princely Countess of Habsburg, of Flanders, of Tyrol, of Hennegau, of Kyburg, of Gorizia and of Gradisca; Margravine of Burgau, of Upper and Lower Lusatia; Countess of Namur; Lady on the Wendish Mark and of Mechlin; Dowager Duchess of Lorraine and Bar, Dowager Grand Duchess of Tuscany.
ภาษาเยอรมัน: Maria Theresia von Gottes Gnaden Heilige Römische Kaiserinwitwe, Königin zu Ungarn, Böhmen, Dalmatien, Kroatien, Slavonien, Gallizien, Lodomerien, usw., Erzherzogin zu Österreich, Herzogin zu Burgund, zu Steyer, zu Kärnten und zu Crain, Großfürstin zu Siebenbürgen, Markgräfin zu Mähren, Herzogin zu Braband, zu Limburg, zu Luxemburg und zu Geldern, zu Württemberg, zu Ober- und Nieder-Schlesien, zu Milan, zu Mantua, zu Parma, zu Piacenza, zu Guastala, zu Auschwitz und Zator, Fürstin zu Schwaben, gefürstete Gräfin zu Habsburg, zu Flandern, zu Tirol, zu Hennegau, zu Kyburg, zu Görz und zu Gradisca, Markgräfin des Heiligen Römischen Reiches, zu Burgau, zu Ober- und Nieder-Lausitz, Gräfin zu Namur, Frau auf der Windischen Mark und zu Mecheln, Herzoginwitwe zu Lothringen und Baar, Großherzoginwitwe zu Toskana.
ราชตระกูล
จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซาแห่งออสเตรีย (สมเด็จพระราชินีนาถแห่งฮังการีและโบฮีเมีย) |
พระชนก: จักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
พระอัยกาฝ่ายพระชนก: จักรพรรดิเลโอโปลด์ที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: จักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 3 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: เจ้าหญิงมาเรีย แอนนาแห่งสเปน | |||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก: เจ้าหญิงเอลีนอร์-แม็กดาเล็นแห่งนอยเบิร์ก |
พระปัยกาฝ่ายพระชนก: เค้านท์ฟิลลิปป์ วิลเฮล์ม สมุหนายกแห่งนอยเบิร์ก | ||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก: แลนด์เกรวีน เอลิซาเบธ อมาลี่แห่งเฮสส์-ดาร์มสตัดท์ | |||
พระชนนี: เจ้าหญิงเอลิซาเบธ คริสตีนแห่งบรันสวิค-วูล์ฟเฟ็นบืทเทล |
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี: ดยุกลุดวิก รูดอล์ฟแห่งบรันสวิค-ลืนย์เบิร์ก |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: ดยุกแอนตัน อูล์ริชแห่งบรันสวิค-วูล์ฟเฟ็นบืทเทล | |
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: ดัชเชสเอลิซาเบธ จูเลียน่าแห่งชเลสวิช-โฮล์สไตน์-ซอนเดอร์บวร์ก-นอร์บูร์ก | |||
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี: เจ้าหญิงคริสตีน หลุยส์แห่งเอิททินเจน-เอิททินเจน |
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี: เจ้าชายอัลเบิร์ต เอิร์นส์ที่ 1 แห่งเอิททินเจน-เอิททินเจน | ||
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี: ดัชเชสคริสตีน เฟรเดริคเก้แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค |
อ้างอิง
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประเทศในทวีปยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2550, หน้า 49
- wikisource:Catholic Encyclopedia (1913)/Maria Theresa of Austria Maria Theresa of Austria]". Catholic Encyclopedia. (1913). New York: Robert Appleton Company.
- Alfred von Arneth: Geschichte Maria Theresias. 10 Bände, Biblio-Verlag, Osnabrück 1971, (Nachdruck der Ausgabe Wien 1863–1879).
- Peter Berglar: Maria Theresia. Mit Selbstzeugnissen und Bilddokumenten. Reinbek, Rowohlt 2004
- Franz Herre: Maria Theresia, die große Habsburgerin. Piper, München 2004
- Hermann Schreiber: Maria Theresia – Schicksalsstunde Habsburgs. Casimir Katz Verlag 2005
- Richard Suchenwirth: Maria Theresia. Ein Kaiserleben. Reprint-Verlag, Holzminden 2003
- Dieter Wunderlich: Vernetzte Karrieren. Friedrich der Große, Maria Theresia, Katharina die Große. Verlag Friedrich Pustet, Regensburg 2000
- Adam Wandruszka: Maria Theresia. Die große Kaiserin. Muster-Schmidt Verlag, Göttingen – Zürich – Frankfurt 1980.
แหล่งข้อมูลอื่น
- Entry in aeiou.at
- Baroque Absolutism Country Studies - Austria
- Book by M. Goldsmith (1936) about Maria Theresia (eLibrary Austria Project - eLib at) เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Kalenderblatt: Maria Theresia stirbt เก็บถาวร 2008-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Biografie Maria Theresias von Carry Brachvogel (1911) เก็บถาวร 2007-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Kurzbiografie mit Gemälde von Peter Kobler von Ehrensorg
ก่อนหน้า | จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
มาเรีย อมาเลีย แห่งออสเตรีย | จักรพรรดินีแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ 13 กันยายน ค.ศ. 1745 – 18 สิงหาคม ค.ศ. 1765 |
มาเรีย โจเซฟา แห่งบาวาเรีย | ||
จักรพรรดิคาร์ลที่ 7 | อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย 20 ตุลาคม ค.ศ. 1740 - 27 กันยายน ค.ศ. 1780 |
จักรพรรดิโยเซฟที่ 2 | ||
จักรพรรดิคาร์ลที่ 7 | พระราชินีนาถแห่งฮังการี โครเอเชีย และสลาโวเนีย 25 มิถุนายน ค.ศ. 1741 - 27 กันยายน ค.ศ. 1780 |
จักรพรรดิโยเซฟที่ 2 | ||
จักรพรรดิคาร์ลที่ 7 | พระราชินีนาถแห่งโบฮีเมีย 20 ตุลาคม ค.ศ. 1743 - 27 กันยายน ค.ศ. 1780 |
จักรพรรดิโยเซฟที่ 2 | ||
ดยุกคาร์ลแห่งปาร์มา | ดัชเชสแห่งปาร์มาและปิอาเซนซ่า 25 มิถุนายน ค.ศ. 1741 – 24 เมษายน ค.ศ. 1748 |
ดยุกฟิลลิปแห่งปาร์มา | ||
แอนนา มาเรีย ฟรานเชสกาแห่งแซ็กซ์-ลอฟเอ็นบูร์ก | แกรนด์ดัชเชสแห่งทัสคานี 13 กันยายน ค.ศ. 1745 – 18 สิงหาคม ค.ศ. 1765 |
มาเรีย ลุยซา แห่งสเปน |
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2260
- บุคคลที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2323
- จักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา
- ราชวงศ์ออสเตรีย
- ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
- ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ลอแรน
- จักรพรรดินีโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
- สมเด็จพระราชินีนาถ
- ผู้ปกครองออสเตรีย
- อาร์ชดยุกแห่งออสเตรีย
- ราชินีนาถแห่งฮังการี
- ราชินีแห่งเยอรมนี
- ราชินีแห่งอิตาลี
- บุคคลจากเวียนนา
- ดยุกแห่งบราบันต์
- ดยุกแห่งโลเธียร์
- ดยุกแห่งปาร์มา
- ดยุกแห่งคารินเทีย
- ดยุกแห่งมิลาน
- ดยุกแห่งลักเซมเบิร์ก
- เคานต์แห่งแฟลนเดอส์
- เคานต์แห่งแอโน
- ดยุกแห่งลิมบืร์ค
- ผู้ปกครองสติเรีย
- เคานต์แห่งทีโรล
- อาร์ชดยุกรัชทายาทแห่งออสเตรีย
- ผู้รอดชีวิตจากฝีดาษ
- ดัชเชสแห่งลอแรน
- พระราชธิดาในสมเด็จพระจักรพรรดิ