กรมธนารักษ์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
The Treasury Department | |
เครื่องหมายราชการ | |
ที่ทำการกรมธนารักษ์ | |
ภาพรวมกรม | |
---|---|
ก่อตั้ง | 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 |
กรมก่อนหน้า |
|
ประเภท | ส่วนราชการ |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | ซอยพระรามที่ 6 ซอย 30 (อารีย์สัมพันธ์) ถนนพระรามที่ 6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 |
บุคลากร | 3,810 คน (พ.ศ. 2566) |
งบประมาณต่อปี | 6,049,138,600 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
ฝ่ายบริหารกรม |
|
ต้นสังกัดกรม | กระทรวงการคลัง |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของกรม |
กรมธนารักษ์ เป็นกรมในสังกัดของกระทรวงการคลัง มีหน้าที่เกี่ยวกับ 1.การปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ให้ใช้ จัดประโยชน์ และดำเนินการในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ 2.การจัดทำ นำออกใช้ และรับคืนเหรียญกษาปณ์และดำเนินการเกี่ยวกับเงินตราและงานรับจ้างทำของ 3.รับ-จ่ายเงินคงคลัง 4.ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์ 5.จัดแสดง เผยแพร่และอนุรักษ์ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและจำหน่ายผลิตภัณฑ์
ประวัติ
ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 ได้มีการก่อตั้ง "กรมธนารักษ์" ขึ้นมา โดยกรมธนารักษ์รวมกรมที่มีหน้าที่สำคัญไว้ 4 กรม ได้แก่
- กรมกษาปณ์สิทธิการ
- กรมพระคลังมหาสมบัติ
- กรมเงินตรา
- กรมรักษาที่หลวงและกัลปนา
โดยทั้งนี้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2476 กรมธนารักษ์แต่เดิมใช้ชื่อว่ากรมพระคลัง และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมคลัง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการ สำนักงานและกรมในกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2495 จากนั้นได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2495 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากกรมคลัง เป็น "กรมธนารักษ์" เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 ตราบจนถึงปัจจุบัน
รายชื่อและหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มารวมกันเป็นกรมธนารักษ์ มีดังนี้
- กรมกษาปณ์สิทธิการ
กรมกษาปณ์สิทธิการ ก่อตั้งขึ้นเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะจัดตั้งโรงกษาปณ์ทำเหรียญแบนขึ้นตามลักษณะสากลนิยมใช้แทนเงินพดด้วง จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะทูตไทยที่ส่งไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษ จัดซื้อเครื่องทำเงินมาถวาย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และในต้นปี พ.ศ. 2403 ได้ติดตั้งเครื่องจักรเสร็จเรียบร้อย โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า "โรงกระษาปณ์สิทธิการ" ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมกระษาปณ์" และเป็น "กองกษาปณ์" และเป็น "สำนักกษาปณ์" ในปัจจุบัน
- กรมพระคลังมหาสมบัติ
เดิม กรมพระคลังมหาสมบัติมีชื่อเรียกว่า "กรมเก็บ" ขึ้นกับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เป็นพระคลังแผ่นดินสำหรับรับจ่ายและรักษาพระราชทรัพย์ทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร และเป็นต้นเรื่องรับส่งเงินแผ่นดินถึงพระคลังในหัวเมืองทั่วราชอาณาจักร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2455 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากกรมเก็บเป็นกรมพระคลังมหาสมบัติ
- กรมเงินตรา
กรมเงินตรากำเนิดขึ้นโดยประกาศพระราชบัญญัติธนบัตร พ.ศ. 2445 โดยรัฐออกเงินกระดาษรูปตั๋วสัญญาใช้เงินตามกฎหมายเรียกว่า "ธนบัตร" โดยสัญญาจะจ่ายเงินให้แก่ผู้นำตั๋วมายื่นทันที เจ้าพนักงานผู้ออกธนบัตรและผู้รับจ่ายเงินขึ้นธนบัตรให้เรียกว่า "กรมธนบัตร"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 กรมธนบัตร ได้ถูกโอนไปขึ้นกับกรมตำรวจและกรมสารบัญชี ซึ่งภายหลังได้ชื่อใหม่ว่ากรมบัญชีกลาง จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2471 จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก "กรมธนบัตร" เป็น "กรมเงินตรา"
เมื่อมีพระราชกฤษฎีการจัดวางระเบียบกรมในกระทรวงการคลังในปี พ.ศ. 2476 แล้ว กรมเงินตราก็ได้ลดฐานะลงเป็น กองเงินตรา สังกัดกรมพระคลัง โดยมีหน้าที่เกี่ยวกับธนบัตรและเหรียญกษาปณ์
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2485 ได้จัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น กิจการเกี่ยวกับธนบัตรจึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยหน้าที่ของกองเงินตราไปอยู่กับฝ่ายออกบัตรธนาคาร กรมเงินตราจึงพ้นไปจากกรมธนารักษ์
- กรมรักษาที่หลวงและกัลปนา
กรมรักษาที่หลวงและกัลปนา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเงินในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ของบรมวงศ์ และดูแลที่ดินซึ่งมีผู้อุทิศแต่ประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสนา ซึ่งเรียกว่า "ที่กัลปนา" อีกด้วย แต่ปัจจุบันเป็นหน้าที่ของกรมการศาสนาซึ่งเป็นผู้ดูแล
จากการปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 ได้มีการโอนสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย มาสังกัดที่กรมธนารักษ์
กรมธนารักษ์ในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน กรมธนารักษ์มีหน้าที่ในด้านต่าง ๆ คือ ด้านที่ราชพัสดุ ด้านเหรียญกษาปณ์และบริหารเงินตรา ด้านทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน
โดยสถานที่ทำการแห่งแรกของกรมธนารักษ์ตั้งอยู่บริเวณถนนเขื่อนขันฑ์นิเวศในพระบรมมหาราชวัง ในปี พ.ศ. 2503 ได้ย้ายที่ทำการจากพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่ถนนจักรพงษ์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และในปี พ.ศ. 2535 สถานที่ทำการกรมธนารักษ์ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ในบริเวณกระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังมีที่ทำการของหน่วยงานในสังกัดกรมธนารักษ์ (ไม่รวมสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ซึ่งตั้งอยู่ทุกจังหวัด 76 จังหวัด) มีที่ทำการอยู่ภายนอกกรม ดังนี้
- กองกษาปณ์ และกองบริหารเงินตรา
- 13/1 หมู่ 2 ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
- กองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ
- ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
- กองประเมินราคาทรัพย์สิน และกองมาตรการประเมินราคาทรัพย์สิน
- 120 ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ชั้น 6 ฝั่งทิศตะวันตก ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
หน่วยงานในสังกัด
ส่วนกลาง
ด้านที่ราชพัสดุ
- กองบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร
- กองบริหารจัดการกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ
- กองบริหารที่ราชพัสดุภูมิภาค
- กองเทคโนโลยีการสำรวจและฐานข้อมูลที่ราชพัสดุ
- กองพัฒนาและบำรุงรักษาอาคารราชพัสดุ
- กองพัฒนาธุรกิจและศักยภาพที่ราชพัสดุ
ด้านบริหารเงินตราและทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
- กองบริหารเงินตรา
- กองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ
- กองกษาปณ์
ด้านบริหาร
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กลุ่มงานตรวจราชการ
- กลุ่มตรวจสอบภายใน
- กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร
- กองบริหารทรัพยากรบุคคล
- กองยุทธศาสตร์และแผนงาน
- กองบริหารการคลัง
- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- กองกฎหมาย
ด้านประเมินราคาทรัพย์สิน
- กองประเมินราคาทรัพย์สิน
- กองมาตรฐานการประเมินราคาทรัพย์สิน
หน่วยงานภายใต้กำกับดูแล
ส่วนภูมิภาค
- สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ 76 พื้นที่
อ้างอิง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
แหล่งข้อมูลอื่น
.