ข้ามไปเนื้อหา

การสังหารหมู่ที่หนานจิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การสังหารหมู่ที่หนานจิง
(การข่มขืนกระทำชำเราหนานจิง)
เป็นส่วนหนึ่งของ สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สองในสงครามโลกครั้งที่สอง
ทหารญี่ปุ่นกำลังสังหารชาวจีนโดยการฝังทั้งเป็น[1]
สถานที่ สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) นครหนานจิงและบริเวณโดยรอบ
วันที่13 ธันวาคม ค.ศ. 1937 – กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1938
เป้าหมายทหารและพลเรือนจีน
ประเภทสังหารหมู่
ตาย
  • 50,000–300,000 คน (แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่)[2][3]
  • 40,000–300,000 คน (ฉันทามติทางวิชาการ)[4]
  • 300,000 คน (รัฐบาลจีน, ฉันทามติทางวิชาการในประเทศจีน)[5][6][7]
เจ็บศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกลพบว่ามีสตรีชาวจีน 20,000 คนถูกข่มขืนกระทำชำเราโดยทหารญี่ปุ่นในช่วงเดือนแรกของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมถึงความรุนแรงทางเพศที่รุนแรงซึ่งผู้เสียหายส่วนใหญ่ถูกข่มขืนกระทำชำเราและสังหาร นอกจากนี้ศาลทหารยังพบว่ากองทัพญี่ปุ่นวางเพลิงต่อเนื่องเป็นเวลาหกสัปดาห์และหนึ่งในสามของเมืองหนานจิงถูกลอบวางเพลิงโดยทหารญี่ปุ่น
ผู้ก่อเหตุ ญี่ปุ่น
ผู้โจมตี 大日本帝国陆军
การสังหารหมู่นานกิง
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม南京大屠殺
อักษรจีนตัวย่อ南京大屠杀
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ1. 南京大虐殺
2. 南京事件
การถอดเสียง
เฮ็ปเบิร์นดั้งเดิม1. Nankin Daigyakusatsu
2. Nankin Jiken

การสังหารหมู่ที่หนานจิง (อังกฤษ: Nanking Massacre หรือ Nanjing Massacre) หรือรู้จักกันในนามการข่มขืนกระทำชำเราหนานจิง (อังกฤษ: Rape of Nanking) เป็นการสังหารหมู่และการข่มขืนกระทำชำเรายามสงคราม (war rape) ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลาหกสัปดาห์หลังญี่ปุ่นยึดนครหนานจิง อดีตเมืองหลวงของสาธารณรัฐจีน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 1937 ระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ในช่วงนี้ พลเรือนและทหารจีนที่ถูกปลดอาวุธหลายแสนคนถูกทหารกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นฆ่า[8][9] ทั้งยังเกิดการข่มขืนกระทำชำเราและฉกชิงทรัพย์อย่างกว้างขวาง[10][11] นักประวัติศาสตร์และพยานประเมินว่ามีผู้ถูกฆ่าระหว่าง 250,000 ถึง 300,000 คน[12] ผู้ก่อการสังหารหมู่หลายคน ซึ่งขณะนั้นถูกตราว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม ภายหลังถูกไต่สวนและตัดสินว่ามีความผิด ณ ศาลชำนาญพิเศษอาชญากรรมสงครามนานกิง และถูกประหารชีวิต ในการนี้ เจ้าชายยาซูฮิโกะ อาซากะ พระอนุวงศ์ญี่ปุ่น อันเป็นผู้ก่อการสำคัญคนหนึ่ง ทรงรอดจากการฟ้องคดีอาญา เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรได้ให้ความคุ้มครองไว้ก่อน

เหตุการณ์นี้ยังเป็นประเด็นพิพาททางการเมือง เพราะนักลัทธิแก้ประวัติศาสตร์ (historical revisionist) และนักชาตินิยมญี่ปุ่นบางคนแย้งหลายแง่มุมของเหตุการณ์ดังกล่าว[9] โดยอ้างว่า การสังหารหมู่มีการบรรยายเกินจริงหรือแต่งขึ้นทั้งหมดเพื่อจุดประสงค์ด้านโฆษณาชวนเชื่อ ผลของความพยายามของนักชาตินิยมที่จะปฏิเสธหรืออ้างความชอบธรรมในอาชญากรรมสงคราม ทำให้เกิดข้อโต้เถียงเกี่ยวกับการสังหารหมู่ยังเป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับชาติอื่นในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์

การประเมินยอดผู้เสียชีวิตในการสังหารหมู่อย่างแม่นยำนั้นทำไม่ได้ เพราะบันทึกทหารญี่ปุ่นเกี่ยวกับการสังหารจำนวนมากถูกทำลายหรือเก็บไว้เป็นความลับโดยเจตนาไม่นานหลังการยอมจำนนของญี่ปุ่นในปี 1945 ศาลทหารพิเศษระหว่างประเทศภาคพื้นตะวันออกไกลประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กว่า 200,000 คน[13] ทางการจีนประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตราว 300,000 โดยอิงการประเมินของศาลชำนัญพิเศษอาชญากรรมสงครามนานกิง การประเมินจากนักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมีหลากหลายตั้งแต่ 40,000 ถึง 200,000 คน นักลัทธิแก้ประวัติศาสตร์บางคนปฏิเสธว่าไม่มีการสังหารหมู่เป็นระบบกว้างขวางเกิดขึ้นเลย โดยอ้างว่าการเสียชีวิตทั้งหมดมีคำธิบายทางทหาร เป็นอุบัติเหตุ หรือเป็นเหตุการณ์ความทารุณที่ไม่ได้รับอนุญาตที่ไม่เกี่ยวข้องกัน[14][15]

แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยอมรับการกระทำการฆ่าพลเรือนจำนวนมาก การฉกชิงทรัพย์และความรุนแรงอื่นโดยกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่นหลังนานกิงแตก[16][17] ทว่า เสียงข้างน้อยกลุ่มเล็กแต่ทรงอิทธิพลทั้งในรัฐบาลและสังคมญี่ปุ่นแย้งว่า ยอดผู้เสียชีวิตนั้นแท้จริงเป็นทหารและไม่มีอาชญากรรมเกิดขึ้น การปฏิเสธการสังหารหมู่กลายเป็นส่วนสำคัญของลัทธิชาตินิยมญี่ปุ่น[18] ในญี่ปุ่น ความเห็นสาธารณะต่อการสังหารหมู่มีหลากหลาย และมีน้อยคนที่ปฏิเสธการสังหารหมู่ทั้งหมด[18] กระนั้น ความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าของนักลัทธิแก้ที่จะสนับสนุนประวัติศาสตร์เหตุการณ์ของลัทธิแก้ได้สร้างข้อโต้เถียงซึ่งปรากฏในสื่อระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจีน เกาหลีใต้และชาติอื่นในเอเชียตะวันออก เป็นระยะ[19]

การบุกนานกิงของญี่ปุ่น

การสังหารพลเรือนมากมายอย่างโหดเหี้ยมของทหารญี่ปุ่น

กองทัพญี่ปุ่นใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศที่ว่า นานกิงนั้นถูกขนาบด้วยแม่น้ำถึงสองด้าน ซึ่งเมืองนี้ตั้งอยู่ทางใต้ของโค้งแม่น้ำแยงซี ซึ่งเมื่อไหลมาจากทางเหนือแล้วก็เลี้ยวผ่านไปทางตะวันออก กองทัพญี่ปุ่นภายใต้การนำของพลเอกนากาจิมะ เคซาโกะ สามารถเดินทัพจากทางตะวันออกเฉียงใต้มาบรรจบกันที่ด้านหน้าของนานกิงในรูปครึ่งวงกลม โดยใช้แม่น้ำเป็นกำแพงธรรมชาติล้อมเมืองหลวงแห่งนี้ รวมทั้งสกัดการฝ่าหนีออกไป

ปลายเดือนพฤศจิกายน ทหารญี่ปุ่นสามกองทัพดาหน้าเข้าหานานกิง ทัพหนึ่งมุ่งตะวันตกทางฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำแยงซี ทหารกองนี้เข้ามาทางแม่น้ำไป๋เหมา ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเซี่ยงไฮ้ โดยเดินทัพมาทางรถไฟสายนานกิง-เซี่ยงไฮ้

ทัพที่สองเตรียมตัวบุกจู่โจมนานกิงทั้งทางน้ำและทางบกอยู่ที่ทะเลสาบอ้ายหู ทัพนี้เคลื่อนจากเซี่ยงไฮ้ลงมาทางตะวันตก และเดินทัพอยู่ทางทิศใต้ของทัพของนาคาจิมา โดยผู้นำทัพนี้คือ พลเอกมัตสึอิ อิวาเนะ

ทัพที่สามภายใต้การนำของพลโทยานากาวะ ไฮซูเกะ เดินห่างจากทัพของพลเอกมัตสึอิลงไปทางใต้และหักเลี้ยวเข้าหานานกิงจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ

ก่อนที่จะบุกถึงนานกิงนั้นทหารญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีเมืองซูโจวและฆ่าทุกคนที่พบ การบุกเข้าเมืองซูโจวครั้งนี้ทำให้จำนวนประชากรลดลงจาก 350,000 คนลงเหลือไม่ถึง 500 คน

จนถึงรุ่งสางของวันที่ 13 ธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นสามารถบุกผ่านประตูเมืองนานกิงเข้ามาได้

หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกนานกิง

ซากศพของชาวจีนผู้ถูกสังหารบนฝั่งแม่น้ำฉินฮัวโดยมีทหารญี่ปุ่นยืนสังเกตการณ์

หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้านานกิงได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทำการเข้าปลดอาวุธทหารจีนที่ยอมแพ้และยอมตกเป็นเชลย โดยมีคำสั่งต่อทหารญี่ปุ่นว่าให้กำจัดคนจีนและเชลยทุกคนที่จับได้ และจากที่ประชุมตกลงว่า จะทำการแบ่งเชลยออกเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน และจะถูกนำออกมาจากที่คุมขังเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 50 คน เพื่อนำไปประหาร ใช้ทหารกองร้อยที่ 1, 2 และ 5 โดยกองร้อยที่ 1 ใช้พื้นที่บริเวณนาข้าวและบริเวณพื้นที่ลุ่มทางตะวันตกเฉียงใต้ของกองร้อยที่ 2 และกองร้อยที่ 5 ใช้พื้นที่บริเวณนาข้าวทางตะวันออกเฉียงใต้ของที่ตั้งกอง

คำสั่งนั้นเป็นไปอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเหี้ยมโหดโดยปราศจากเมตตาเพราะไม่สามารถหาอาหารให้เชลยทั้งหมดได้ โดยสามารถช่วยขจัดปัญหาเรื่องอาหาร และลดการตอบโต้ได้

ญี่ปุ่นใช้วิธีการหลอกลวงเชลยเพื่อนำไปประหารหลายวิธีด้วยกัน เช่น ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติอย่างดีหากไม่ต่อต้าน หลอกให้เข้ามอบตัว แบ่งผู้ชายออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละร้อยหรือสองร้อย แล้วหลอกไปยังจุดต่าง ๆ ที่นอกตัวเมืองเพื่อฆ่าทิ้ง

ทั้งหมดนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างง่ายดายกว่าที่ฝ่ายญี่ปุ่นคาด การต่อต้านมีเพียงบางจุด เพราะทหารจีนส่วนใหญ่ทิ้งอาวุธและทิ้งเมืองไปก่อนแล้ว

การดำเนินการกับเชลยศึกจีน

เชลยศึกชาวจีนกำลังถูกทหารญี่ปุ่นประหารโดยการตัดคอด้วยดาบซามูไร "กุนโต" (ดาบกองทัพ)

6 สิงหาคม ค.ศ. 1937 เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นไม่สามารถหาอาหารมาให้แก่เชลยศึกอย่างเพียงพอได้ จึงคิดทำการสังหารเชลยศึกเสีย แต่กฎหมายระหว่างประเทศในขณะนั้นได้ให้การคุ้มครองแก่เชลยศึกอยู่ ทางจักรวรรดิญี่ปุ่นจึงได้มีรับสั่งแก่ทหารทุกนายให้ยกเลิกการใช้คำว่าเชลยศึกกับชาวจีนที่ถูกจับได้ และนำเชลยศึกเหล่านั้นไปทำการสังหารที่บริเวณแม่น้ำแยงซี การสังหารเชลยศึกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม (ซึ่งถูกเรียกว่า String Gorge Massacre) ทหารญี่ปุ่นใช้เวลาในช่วงเช้าเพื่อมัดเชลยศึกเหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นจำนวนหลายแถว และเปิดฉากยิงใส่ด้วยปืนกล เชลยศึกที่ถูกมัดอยู่ไม่สามารถหนีได้ ทำได้เพียงกรีดร้องเท่านั้น เชลยศึกราว 57,500 คนถูกสังหาร

เชลยศึกบางส่วน ถูกทหารญี่ปุ่นมัดเข้าด้วยกัน และให้เชลยศึกเหล่านั้นเหยียบกับระเบิด เพื่อสังหารหมู่ บ้างก็มัดเชลยเหล่านั้นเข้าด้วยกันแล้วจุดไฟเผา

การทารุณกรรม

ทหารญี่ปุ่นทำการทารุณกับชาวนานกิงเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้เช่น ฝังทั้งเป็น โดยจะขุดหลุม และฝังเชลยให้โผล่ขึ้นมาแค่เพียงหน้าอกหรือแค่คอ เพื่อจะได้รับทุกข์ทรมานต่างอีกหลายอย่าง เช่น ฉีกเป็นชิ้น ๆ ทหารญี่ปุ่นคว้านตับไตไส้พุง ตัดหัวหรือสับเหยื่อเป็นชิ้น ๆ แล้วโยนให้สุนัขกิน ตอกเชลยไว้กับแผ่นไม้แล้วให้รถถังแล่นทับ ใช้เป็นที่ซ้อมเสียบดาบปลายปืน ควักลูกตา หั่นจมูกและใบหูก่อนเผาทั้งเป็น

การสังหารพลเรือน

การสังหารพลเรือน

หลังทหารจีนทั้งหมดยอมแพ้ ก็เท่ากับไม่เหลือใครที่จะปกป้องพลเรือนในตัวเมือง ทหารญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามา ยึดอาคารที่ทำการรัฐบาล ธนาคารและโรงเก็บสินค้า ยิงผู้คนตามท้องถนนอย่างไม่เลือกหน้า โดยใช้ทั้งปืนพก ปืนกล ปืนเล็กยาว ยิงเข้าไปในฝูงคนที่มีทั้งทหารที่บาดเจ็บ หญิงชรา และเด็ก ๆ โดยทหารญี่ปุ่นฆ่าพลเรือนทุกมุมเมือง ไม่ว่าจะตามตรอกเล็ก ๆ หรือถนนสายใหญ่ ในสนามเพลาะ หรือแม้แต่ในอาคารที่ทำการรัฐบาล[ต้องการอ้างอิง]

การข่มขืนกระทำชำเรา

ทหารจีนกำลังจะถูกทหารญี่ปุ่นฝังทั้งเป็น

หญิงชาวจีนถูกข่มขืนกระทำชำเราเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ไม่ว่าจะเป็นหญิงสาว คนท้อง หรือคนแก่[20] ทหารญี่ปุ่นข่มขืนกระทำชำเราชนิดไม่เลือกหน้า ไล่ตั้งแต่ชาวนา เด็กนักเรียน ครู พนักงานระดับบริหาร คนงาน อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่งแม่ชี ต่างก็เลี่ยงไม่พ้นการถูกข่มขืนกระทำชำเราทั้งสิ้น โดยผู้หญิงคนหนึ่งจะตกไปอยู่ในมือของทหารประมาณ 15 ถึง 20 คน[21] บางคนในจำนวนนี้ถูกเรียงคิวจนถึงแก่ความตาย แต่กฎของกองทัพที่ว่าห้ามข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิงของฝ่ายตรงกันข้ามนั้น ทำให้ทหารสังหารเหยื่อเสียเมื่อเสร็จธุระ[22]

พฤติกรรมเช่นนี้ไม่ได้กระทำกันเฉพาะในหมู่พลทหาร แม้ระดับนายทหารก็ไม่เว้น บางคนไม่เพียงสนับสนุนการข่มเหง แต่ยังเตือนให้พลทหารจัดการเหยื่อเมื่อเสร็จธุระเพื่อกำจัดหลักฐาน

หญิงในนานกิงถูกข่มขืนกระทำชำเราชนิดไม่เลือกที่และไม่เลือกเวลา ประมาณว่าหนึ่งในสามของการข่มขืนกระทำชำเราทั้งหมดเกิดขึ้นตอนกลางวันแสก ๆ และไม่มีสถานที่แห่งใดปลอดจากการข่มขืนกระทำชำเรา เช่น คนท้อง หญิงชรา ในเรือนแม่ชี ในโบสถ์ แม้แต่ในโรงเรียน

นอกจากนั้นคนเฒ่าคนแก่ยังไม่สามารถใช้ความชราเป็นเกราะคุ้มกันการข่มขืนกระทำชำเราได้ ผู้เฒ่าต่างต้องเผชิญทารุณกรรมทางเพศอย่างถ้วนหน้าและซ้ำซาก ย่ายายวัยแปดสิบจำนวนมากถูกข่มขืนกระทำชำเราจนตายคาที่ และอย่างน้อยก็ถูกยิงตายเพราะปฏิเสธการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

เขตปลอดภัยนานกิง

เขตปลอดทหารสำหรับพลเรือนจีนจัดตั้งขึ้นเมื่อ (22 พฤศจิกายน 1937) วันพักรบของญี่ปุ่น ก่อนยุทธการที่นานกิงวันพักรบของญี่ปุ่น เขตปลอดทหารเพื่อความปลอดภัยถูกสร้างโดย ยอน ราเบอ นักธุรกิจเยอรมันสมาชิกพรรคนาซี ร่วมกับโรเบิร์ต โอ วิลสัน แพทย์ชาวอเมริกันและชาวตะวันตกคนอื่น ๆ โดยขอความร่วมมือจากนายกเทศมนตรีเมืองนานกิงให้อพยพชาวเมืองเข้าไปในเขตปลอดภัย เขตปลอดภัยมีหน้าที่ในการช่วยชีวิตของพลเรือนหลายพันคนของจีนให้รอดพ้นจากการถูกสังหารหมู่

หลังสงคราม

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองจบลงไปแล้วด้วยความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิญี่ปุ่น แต่จากการกระทำสังหารหมู่ชาวจีนในนานกิงครั้งนั้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่นตกต่ำอย่างถาวรไม่อาจฟื้นฟูขึ้นมาได้เลย เพราะชาวจีนโกรธแค้นญี่ปุ่นเป็นอย่างมากจึงได้ทำการต่อต้านญี่ปุ่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ปัจจุบันญี่ปุ่นจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและรักสันติสุขมากขึ้นก็ตาม แม้ว่านายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหรือจักรพรรดิญี่ปุ่นมากล่าวขอโทษด้วยตนเองก็ไม่อาจทำให้ชาวจีนยกโทษให้ ในเนื้อหาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นยังถูกบิดเบือนด้วยการข้ามการกระทำอันโหดร้ายในนานกิงครั้งนั้นและบอกเพียงว่า เพียงแค่ยึดนานกิงเท่านั้น ทำให้ชาวจีนไม่พอใจและไม่ไว้ใจต่อญี่ปุ่นมาก

วัฒนธรรมสมัยนิยม

ภาพยนตร์

ไฟล์:Black Sun The Nanking Massacre Poster.jpg
ภาพยนตร์เรื่อง Black Sun: The Nanking Massacre
  • ภาพยนตร์เรื่อง Black Sun: The Nanking Massacre สะท้อนถึงเหตุการณ์ของการสังหารหมู่นานกิงโดยกองทัพญี่ปุ่น
  • ภาพยนตร์เรื่อง Don't Cry, Nanking หรือ สงครามอำมหิตปิดตาโลก เป็นภาพยนตร์ปี ค.ศ. 1995 บอกเล่าเรื่องราวความอำมหิตของกองทัพญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวนานกิงในช่วงปี ค.ศ. 1937 จนกลายเป็นหนึ่งในโศกนาฎกรรมของโลก โดยเล่าผ่านชีวิตครอบครัวของแพทย์ชาวจีนกับภรรยาตั้งครรภ์ชาวญี่ปุ่นพร้อมลูกสาวที่เดินทางกลับมายังเมืองนานกิง ก่อนจะพบว่าบ้านเมืองได้ถูกยึดครองทำลายและฆ่าล้างอย่างโหดร้ายโดยกองทัพญี่ปุ่น

อ้างอิง

  1. 军事委员会政治部编印 (1938-07). 《日寇暴行实录》. “南京寇军活埋我同胞之惨状”. 汉口. p. 35. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. "The Nanking Atrocities: Fact and Fable". Wellesley.edu. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 28, 2011. สืบค้นเมื่อ 2011-03-06. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  3. "Nanking Atrocities – In the 1990s". nankingatrocities.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 26, 2013. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  4. Bob Tadashi Wakabayashi, บ.ก. (2008). The Nanking Atrocity, 1937–38: Complicating the Picture. Berghahn Books. p. 362. ISBN 1845451805.
  5. "论南京大屠杀遇难人数 认定的历史演变" (PDF). Jds.cass.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-03-22. สืบค้นเมื่อ 2016-03-16.
  6. "近十年" 侵华日军南京大屠杀"研究述评" (PDF). Jds.cass.cn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ March 16, 2016.
  7. "Modern China" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ March 6, 2016. สืบค้นเมื่อ May 30, 2014. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  8. Levene, Mark and Roberts, Penny. The Massacre in History. 1999, page 223-4
  9. 9.0 9.1 Totten, Samuel. Dictionary of Genocide. 2008, 298–9.
  10. Iris Chang, The Rape of Nanking, p. 6.
  11. Lee, Min (March 31, 2010). "New film has Japan vets confessing to Nanjing rape". Salon/Associated Press.
  12. "Scarred by history: The Rape of Nanjing". BBC News. April 11, 2005.
  13. "Judgement: International Military Tribunal for the Far East". Chapter VIII: Conventional War Crimes (Atrocities). November 1948.
  14. Fogel, Joshua A. The Nanjing Massacre in History and Historiography. 2000, page 46-8.
  15. Dillon, Dana R. The China Challenge. 2007, page 9-10
  16. "Q8: What is the view of the Government of Japan on the incident known as the "Nanjing Massacre"?". Foreign Policy Q&A. Ministry of Foreign Affairs of Japan.
  17. "I'm Sorry?". NewsHour with Jim Lehrer. 1998-12-01.
  18. 18.0 18.1 Yoshida, Takashi. The Making of the "Rape of Nanking". 2006, page 157-8.
  19. Gallicchio, Marc S. The Unpredictability of the Past. 2007, page 158.
  20. Paragraph 2, p. 1012, Judgment International Military Tribunal for the Far East
  21. "Japanese Imperialism and the Massacre in Nanjing: Chapter X: Widespread Incidents of Rape". Museums.cnd.org. สืบค้นเมื่อ 2011-03-06.
  22. "A Debt of Blood: An Eyewitness Account of the Barbarous Acts of the Japanese Invaders in Nanjing," 7 February 1938, Dagong Daily, Wuhan edition

แหล่งข้อมูลอื่น