ข้ามไปเนื้อหา

ลำไย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ลำไย
ลำไยออกผลเป็นพวง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Sapindaceae
สกุล: Dimocarpus
สปีชีส์: D.  longan
ชื่อทวินาม
Dimocarpus longan
Lour.

ลำไย ชื่อวิทยาศาสตร์: Dimocarpus longan (มักเขียนผิดเป็น ลำใย) มีชื่อเรียกทางพื้นบ้านภาคเหนือว่า "บ่าลำไย" ชื่อภาษาอังกฤษว่า Longan อยู่ในวงศ์ Sapindaceae เป็นพืชไม้ผลเขตร้อนและกึ่งร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อ สีขาวครีม ผลทรงกลมเป็นช่อ ผลดิบเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ผลสุกสีน้ำตาลล้วน เนื้อลำไยสีขาวหรือชมพูอ่อน เมล็ดสีดำเป็นมัน เนื้อล่อนเม็ด

ประวัติลำไย

พันธุ์ลำไย

ลำไยนิยมปลูกในหลายประเทศ แหล่งปลูกขนาดใหญ่คือประเทศจีนมีการปลูกลำไยถึง 26 สายพันธุ์ โดยส่วนมากปลูกในมณฑลกวางตุ้ง 12 สายพันธุ์ ปลูกในประเทศไต้หวันอีก 15 สายพันธุ์ ปลูกในสหรัฐอเมริกา 1 สายพันธุ์ คือพันธุ์โคฮาลา และในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีแหล่งปลูกลำไยขนาดใหญ่ไม่แพ้จากประเทศจีน โดยมักมักปลูกในเวียดนามทางตอนเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น โดยพันธุ์ลำไยของเวียดนามนั้นนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทนได้ในอากาศเย็นจัดจนถึงจุดเยือกแข็ง ซึ่งต่างจากลำไยของประเทศไทยเกิดการกลายพันธุ์เป็นลำไยเมืองร้อน สามารถทนอุณหภูมิสูงได้ถึง 40-43 องศาในฤดูร้อน

ลำไยไทย

ลำไยในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มและแยกเป็นชนิดย่อย เช่น กลุ่มลำไยพันธุ์ดี (ลำไยกะโหลก), กลุ่มลำไยป่า, กลุ่มลำไยพื้นเมือง(ลำไยกระดูก), กลุ่มลำไยเครือหรือลำไยเถา(ลำไยชลบุรี)

  • 1. ลำไยกะโหลก เป็นพันธุ์ลำไยที่ให้ผลขนาดใหญ่มีเนื้อหนารสหวาน แบ่งเป็นอีกสายพันธุ์ย่อยอีก คือ
    • ลำไยสีชมพู มีผลใหญ่เนื้อหนา, เมล็ดเล็ก, เนื้อมีสีชมพูเรื่อ ๆ รสดีมากที่สุด
    • ลำไยตลับนาค มีผลใหญ่เนื้อหนา, เมล็ดเล็ก, หวานกรอบ, เนื้อแห้ง, เปลือกบาง
    • ลำไยเบี้ยวเขียว หรือลำไยอีเขียว ผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ เนื้อล่อน
    • ลำไยอีแดง สีเปลือกของผลค่อนข้างแดง เป็นพันธุ์ขนาดกลาง กิ่งเปราะหักง่าย ผลกลมใหญ่ เมล็ดใหญ่ รสหวานแบ่งออกเป็น 2ชนิดย่อย คือ
      • ลำไยอีแดงเปลือกหนา มีใบป้อมใหญ่ผลใหญ่
      • ลำไยอีแดงเปลือกบาง ใบยาวผลเล็กกว่าอีแดงเปลือกหนา
    • ลำไยอีดอ ผลขนาดปานกลางมีเมล็ดเล็ก, รสหวาน เป็นลำไยที่มักออกดอกและเก็บผลผลิตก่อนพันธุ์อื่น ๆ สามารถทนแล้งได้ดี ชาวสวนนิยมปลูกชนิดนี้มากที่สุด แบ่งเป็น2ชนิดย่อย คือ
      • ลำไยอีดอ-ยอดแดง ใบอ่อนมีสีแดง เจริญเติบโตเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับอีดอยอดเขียว ไม่ค่อยนิยมปลูกเนื่องจากออกดอกติดผลไม่ดี
      • ลำไยอีดอ-ยอดเขียว ใบอ่อนเป็นสีเขียว ออกดอกติดผลง่ายแต่อาจไม่สม่ำเสมอ
    • ลำไยอีดำ ผลใหญ่ ใบดำ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ
    • ลำไยอีแห้ว เป็นลำไยพันธุ์หนัก ลำต้นไม่ค่อยแข็งแรง เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีมาก ทนแล้งได้ดี แบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ
      • ลำไยอีแห้ว-ยอดแดง มีใบอ่อนสีแดง เมล็ดมีขนาดปานกลาง
      • ลำไยอีแห้ว-ยอดเขียว เมื่อแตกใบอ่อนมียอดสีเขียว ผลกลมใหญ่, หัวเบี้ยว เนื้อกรอบแต่ไม่หวาน
    • ลำไยอีเหลือง มีทรงพุ่มค่อนข้างกลม ออกผลดก กิ่งเปราะหักง่ายเมื่อมีผลดก ผลค่อนข้างกลมมีเนื้อสีขาวนวล เมล็ดกลม
    • ลำไยพวงทอง เป็นพันธุ์ที่ช่อดอกขนาดใหญ่กว้าง ผลทรงค่อนข้างกลมและเบี้ยวเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาลมีกระสีน้ำตาล เนื้อหนา กรอบ สีขาวครีม รสหวาน เมล็ดขนาดปานกลางและแบน ปลูกมากในภาคกลางตอนล่าง เช่น นครปฐม, สมุทรสาคร สันนิฐานว่ากลายพันธุ์จากเมล็ดมาจากลำไยกระโหลกและลำไยอีดอ
    • ลำไยเพชรสาครทวาย สามารถออกดอกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี มีใบขนาดเล็ก เรียวแหลม ออกดอกและให้ผลผลิตปีละ 2 รุ่น คือรุ่นแรกออกดอกราวเดือนธันวาคม-มกราคม และเก็บผลได้ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน, รุ่นที่สองออกดอกราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนธันวาคม-มกราคม ผลกลม เปลือกบาง เนื้อมีสีขาวฉ่ำน้ำ
    • ลำไยปู่มาตีนโค้ง มีผลสวย ผลมีขนาดใหญ่สีเขียว ให้ผลดก แต่คุณภาพและรสชาดไม่ดี มีกลิ่นคาว เป็นสายพันธุ์ที่ไม่นิยมปลูกจึงหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง มักพบในสวนลำไยรุ่นเก่า ๆ
  • 2. ลำไยกระดูก หรือลำไยพื้นเมือง เป็นพันธุ์พื้นเมือง ทรงพุ่มกว้างใบหนาทึบ ผลเล็กมีน้ำมาก เนื้อน้อยไม่หวาน มีน้ำตาลประมาณ 13.75% ขึ้นได้ทั่วไปปลูกง่าย เหลือให้เห็นน้อยเพราะไม่นิยมปลูก เนื่องจากไม่มีราคา มีหลายสายพันธุ์ย่อยแต่มักเรียกรวมกันว่าลำไยพื้นเมือง
  • 3. ลำไยกะลา หรือลำไยธรรมดา ผลปานกลาง เนื้อหนากว่าลำไยพันธุ์กระดูก เนื้อกรอบบางมีน้ำมาก ให้ผลดก
  • 4. ลำไยสายน้ำผึ้ง ลักษณะคล้ายลำไยธรรมดา แต่เนื้อมีสีเหลืองอ่อน เนื้อมีรสดี หอมกรอบ เมล็ดเล็ก
  • 5. ลำไยเถา หรือลำไยเครือ เป็นไม้ต้นรอเลื้อย ลำต้นไม่มีแก่นจึงพันเข้ากับรั้วหรือหลัก ผลเล็ก, เมล็ดโตกว่าลำไยบ้าน, เนื้อหุ้มเมล็ดบางมีเนื้อน้อย รสชาติมีกลิ่นคล้ายกำมะถันจึงนิยมปลูกไว้ประดับมากกว่ารับประทาน [1] นิยมปลูกไว้ประดับมากกว่าปลูกไว้รับประทาน ชอบขึ้นตามป่าเขา
  • 6. ลำไยขาว เป็นลำไยพันธุ์โบราณหายาก ในครั้งหนึ่งเชื่อว่าเคยสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการตามหาและตอนกิ่งขยายพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง ผลขนาดเล็กกว่าลำไยทั่วไป เปลือกสีน้ำตาลอ่อนเกือบขาว เนื้อสีขาวใส เมล็ดลีบ รสหวาน [2]

และยังมีลำอีกอยากหลายชนิดที่ยังไม่ถูกจำแนก เช่น ลำไยใบหยก, ลำไยอีสร้อย, ลำไยตอหลวง, ลำไยเพรชน้ำเอก, ลำไยพวงเพชรบ้านแพ้ว เป็นต้น ฯลฯ

ประโยชน์ของลำไย

เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาและมีรสฝาดใช้ต้มเป็นยาหม้อแก้ท้องร่วง ลำต้นมีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30-40 ฟุต เนื้อไม้มีสีแดงและแข็งสามารถใช้ทำเครื่องใช้ประดับบ้านได้ เนื้อลำไยกินสดเป็นผลไม้ ทำเป็นอาหารหวาน เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย วุ้นลำไย ลำไยลอยแก้ว น้ำลำไย หรือแปรรูป เช่น บรรจุกระป๋อง ตากแห้งสามารถทำเป็นชาชงดื่ม เป็นยาบำรุงกำลังช่วยให้หลับสบายเจริญอาหาร แต่ถ้ากินลำไยมากเกินไปจะเกิดอาการร้อนใน แผลในปาก หรือตาแฉะได้[3] ในตำรายาจีนเรียกกุ้ยหยวน (ภาษาจีนกลาง) หรือ กุ้ยอี้ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) ใช้เป็นยาบำรุงเลือด กล่อมประสาท[4]

คุณค่าทางอาหารของลำไย

กองวิทยาศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ส่วนประกอบของลำไยปรากฏผลว่า[ต้องการอ้างอิง]

  1. ลำไยสดทั่วไปประกอบด้วยน้ำ 81.1% คาร์โบไฮเดรต 16.98% โปรตีน 0.97% เถ้า 0.56% กาก0.28% และไขมัน 0.11%
  2. ในลำไยสด 100 กรัมจะมีค่าความร้อน 72.8 แคลอรีและมีวิตามิน 69.2 มิลลิกรัมแคลเซียม 57 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 35.17 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 0.35 มิลลิกรัม
  3. ลำไยแห้งประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 69.06% น้ำ 21.27% โปรตีน 4.61% เถ้า 3.33% กาก 1.50% และไขมัน 0.171%
  4. ลำไยแห้ง 100 กรัม จะมีค่าความร้อน 296.1 แคลอรี แคลเซียม 32.05 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 150.5 มิลลิกรัม โซเดียม 4.78 มิลลิกรัม เหล็ก 2.85 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 1390.3 มิลลิกรัม กรดแฟนโทซินิค 0.72 มิลลิกรัม วิตามินบี 12 จำนวน 1.08 มิลลิกรัม

ในเมล็ดลำไยมีปริมาณโปรตีนรวม 6.5% ปริมาณไขมันรวม 1.94% และปริมาณเยื่อใยรวมเป็น 8.33% ค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเป็น 3,365 kcal/kg สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ได้ ในเปลือกหุ้มเมล็ดของลำไยมีปริมาณแทนนินสูง[5]

อ้างอิง

  1. เศรษฐมันต์ กาญจนกุล. ลำไยเครือ ใน ผลไม้ในเมืองไทย. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555 หน้า 94-95
  2. เศรษฐมันต์ กาญจนกุล. ลำไยขาว ใน ผลไม้ในเมืองไทย. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555 หน้า 104 - 105
  3. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 203 - 205
  4. ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม. 2555
  5. บัวเรียม มณีวรรณ์*ทองเลียน บัวจูม เผ่าพงษ์ ปูระณะพงษ์ และ โยธิน นันตา.การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี การย่อยได้ของโภชนะ และพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ของเมล็ดลำไยและเนื้อในเมล็ดลำไยในไก่พื้นเมือง[ลิงก์เสีย]. การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยครั้งที่ 7 29 – 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อ้างอิง