ลำไย
ลำไย | |
---|---|
ลำไยออกผลเป็นพวง | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Sapindales |
วงศ์: | Sapindaceae |
สกุล: | Dimocarpus |
สปีชีส์: | D. longan |
ชื่อทวินาม | |
Dimocarpus longan Lour. |
อีแดง ชื่อวิทยาศาสตร์: Dimocarpus longan (มักเขียนผิดเป็น ลำใย) มีชื่อเรียกทางพื้นบ้านภาคเหนือว่า "บ่าลำไย" ชื่อภาษาอังกฤษว่า Longan อยู่ในวงศ์ Sapindaceae เป็นพืชไม้ผลเขตร้อนและกึ่งร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อ สีขาวครีม ผลทรงกลมเป็นช่อ ผลดิบเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ผลสุกสีน้ำตาลล้วน เนื้อลำไยสีขาวหรือชมพูอ่อน เมล็ดสีดำเป็นมัน เนื้อล่อนเม็ด
ประวัติ ลำไย
ลำไยเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและกึ่งร้อนของเอเชีย ซึ่งอาจมีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันออก พม่าตอนเหนือและจีนตอนใต้ แต่ที่พบหลักฐานที่ปรากฏในวรรณคดีของจีนในสมัยพระเจ้าเซ็งแทงของจีนเมื่อ 1,766ปีก่อนคริสกาล และจากหนังสือ RuYa ของจีนเมื่อ 110ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการกล่าวถึงลำไยไว้แล้ว และเมื่อชาวยุโรปได้เดินทางไปยังประเทศจีนเมื่อปีพ.ศ. 1514 ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับลำไยไว้ในปี พ.ศ. 1585 แสดงว่าลำไยมีการปลูกในประเทศจีนที่มณฑลกวางตุ้ง, มณฑลเสฉวน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน
ลำไยได้แพร่หลายเข้าไปในประเทศอินเดีย, ศรีลังกา พม่า และประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปลายพุทธศตวรรษที่25 ในประเทศไทยทางภาคเหนือมีลำไยพันธุ์พื้นเมืองเรียก "ลำไยกะลา" หรือลำไยธรรมดา [1] ในสมัยรัชกาลที่6 มีชาวจีนนำพันธุ์ลำไยเข้ามาถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมีจำนวน5ต้น (ในปัจจุบันบัญญัติชื่อพันธุ์เบี้ยวเขียว) ทรงให้ปลูกที่เชียงใหม่ 3ต้น โดยปลูกที่สวนเจ้าสบาย ณ ที่ประทับของเจ้าดารารัศมีหลังเสด็จนิวัติกลับมาประทับถาวรเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่5 เสด็จสวรรคต และส่งมาปลูกที่ตรอกจันทร์ กรุงเทพฯ 2ต้น [1] หลักฐานที่พบเป็นต้นลำไยในสวนเก่าแก่ของ ร.อ.หลวงราญอริพล (เหรียญ ศัพทเสน) ที่ปลูกในตรอกจันทร์ถนนสาธุประดิษฐ์ใกล้วัดปริวาศในสมัยรัชกาลที่5 ต่อมามีการขยายพันธุ์จากต้นในจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็ขยายสู่ภูมิภาคต่างๆในภาคเหนือ โดยการเพาะเมล็ดจนเกิดการกลายพันธุ์ (Mutation) เกิดพันธุ์ใหม่ๆตามสภาพคุณลักษณะที่ดีของภูมิอากาศที่เหมาะสมและเกื้อกูลต่อการเจริญเติบโตของต้นลำไย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดลำพูนมีสภาพภูมิประเทศเป็นดินทราย อยู่ในที่ลุ่มของลำน้ำหลายสาย จนเกิดลำไยต้นหมื่นที่บ้านหนองช้างคืน อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งเก็บผลขายต้นเดียวได้ราคาเป็นหมื่น เมื่อปีพ.ศ. 2511 ผลิตผลต่อต้นได้ 40-50เข่ง พัฒนาการของลำไยในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะที่จังหวัดลำพูน ถ้านับจากการเสด็จกลับเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเมื่อปีพ.ศ. 2457 จนถึงลำไยต้นหมื่นที่หนองช้างคืนเมื่อปีพ.ศ. 2511 มีการพัฒนาพันธุ์ร่วม90ปี จนขณะนี้มีลำไยมากมายหลายพันธุ์และมีการปลูกมากถึง157,220ไร่ [ต้องการอ้างอิง]
พันธุ์ลำไย
ลำไยนั้นปลูกในหลายประเทศ แหล่งปลูกขนาดใหญ่คือประเทศจีนมีการปลูกลำไยถึง 26สายพันธุ์ โดยส่วนมากปลูกในมณฑลกวางตุ้ง 12สายพันธุ์ ปลูกในประเทศไต้หวันอีก 15สายพันธุ์ ปลูกในสหรัฐอเมริกา 1สายพันธุ์ คือพันธุ์โคฮาลา และในประเทศเวียดนาม ซึ่งมีแหล่งปลูกลำไยขนาดใหญ่ไม่แพ้จากประเทศจีน โดยมักมักปลูกในเวียดนามทางตอนเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น โดยพันธุ์ลำไยของเวียดนามนั้นนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ทนได้ในอากาศเย็นจัดจนถึงจุดเยือกแข็ง ซึ่งต่างจากลำไยของประเทศไทยเกิดการกลายพันธุ์เป็นลำไยเมืองร้อน สามารถทนอุณหภูมิสูงได้ถึง40-43องศาในฤดูร้อน
ลำไยไทย
ลำไยในประเทศไทย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มและแยกเป็นชนิดย่อย เช่น กลุ่มลำไยพันธุ์ดี(ลำไยกะโหลก), กลุ่มลำไยป่า, กลุ่มลำไยพื้นเมือง(ลำไยกระดูก), กลุ่มลำไยเครือหรือลำไยเถา(ลำไยชลบุรี)
- 1. ลำไยกะโหลก เป็นพันธุ์ลำไยที่ให้ผลขนาดใหญ่มีเนื้อหนารสหวาน แบ่งเป็นอีกสายพันธุ์ย่อยอีก คือ
- ลำไยสีชมพู มีผลใหญ่เนื้อหนา, เมล็ดเล็ก, เนื้อมีสีชมพูเรื่อๆ รสดีมากที่สุด
- ลำไยตลับนาค มีผลใหญ่เนื้อหนา, เมล็ดเล็ก, หวานกรอบ, เนื้อแห้ง, เปลือกบาง
- ลำไยเบี้ยวเขียว หรือลำไยอีเขียว ผลใหญ่กลมเบี้ยว เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ เนื้อล่อน
- ลำไยอีแดง สีเปลือกของผลค่อนข้างแดง เป็นพันธุ์ขนาดกลาง กิ่งเปราะหักง่าย ผลกลมใหญ่ เมล็ดใหญ่ รสหวานแบ่งออกเป็น 2ชนิดย่อย คือ
- ลำไยอีแดงเปลือกหนา มีใบป้อมใหญ่ผลใหญ่
- ลำไยอีแดงเปลือกบาง ใบยาวผลเล็กกว่าอีแดงเปลือกหนา
- ลำไยอีดอ ผลขนาดปานกลางมีเมล็ดเล็ก, รสหวาน เป็นลำไยที่มักออกดอกและเก็บผลผลิตก่อนพันธุ์อื่นๆ สามารถทนแล้งได้ดี ชาวสวนนิยมปลูกชนิดนี้มากที่สุด แบ่งเป็น2ชนิดย่อย คือ
- ลำไยอีดอ-ยอดแดง ใบอ่อนมีสีแดง เจริญเติบโตเร็วมากเมื่อเปรียบเทียบกับอีดอยอดเขียว ไม่ค่อยนิยมปลูกเนื่องจากออกดอกติดผลไม่ดี
- ลำไยอีดอ-ยอดเขียว ใบอ่อนเป็นสีเขียว ออกดอกติดผลง่ายแต่อาจไม่สม่ำเสมอ
- ลำไยอีดำ ผลใหญ่ ใบดำ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก หวานกรอบ
- ลำไยอีแห้ว เป็นลำไยพันธุ์หนัก ลำต้นไม่ค่อยแข็งแรง เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตดีมาก ทนแล้งได้ดี แบ่งออกเป็น2ชนิดย่อย คือ
- ลำไยอีแห้ว-ยอดแดง มีใบอ่อนสีแดง เมล็ดมีขนาดปานกลาง
- ลำไยอีแห้ว-ยอดเขียว เมื่อแตกใบอ่อนมียอดสีเขียว ผลกลมใหญ่, หัวเบี้ยว เนื้อกรอบแต่ไม่หวาน
- ลำไยอีเหลือง มีทรงพุ่มค่อนข้างกลม ออกผลดก กิ่งเปราะหักง่ายเมื่อมีผลดก ผลค่อนข้างกลมมีเนื้อสีขาวนวล เมล็ดกลม
- ลำไยพวงทอง เป็นพันธุ์ที่ช่อดอกขนาดใหญ่กว้าง ผลทรงค่อนข้างกลมและเบี้ยวเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาลมีกระสีน้ำตาล เนื้อหนา กรอบ สีขาวครีม รสหวาน เมล็ดขนาดปานกลางและแบน ปลูกมากในภาคกลางตอนล่าง เช่น นครปฐม, สมุทรสาคร สันนิฐานว่ากลายพันธุ์จากเมล็ดมาจากลำไยกระโหลกและลำไยอีดอ
- ลำไยเพชรสาครทวาย สามารถออกดอกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี มีใบขนาดเล็ก เรียวแหลม ออกดอกและให้ผลผลิตปีละ 2 รุ่น คือรุ่นแรกออกดอกราวเดือนธันวาคม-มกราคม และเก็บผลได้ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน, รุ่นที่สองออกดอกราวเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนธันวาคม-มกราคม ผลกลม เปลือกบาง เนื้อมีสีขาวฉ่ำน้ำ
- ลำไยปู่มาตีนโค้ง มีผลสวย ผลมีขนาดใหญ่สีเขียว ให้ผลดก แต่คุณภาพและรสชาดไม่ดี มีกลิ่นคาว เป็นสายพันธุ์ที่ไม่นิยมปลูกจึงหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง มักพบในสวนลำไยรุ่นเก่าๆ
- 2. ลำไยกระดูก หรือลำไยพื้นเมือง เป็นพันธุ์พื้นเมือง ทรงพุ่มกว้างใบหนาทึบ ผลเล็กมีน้ำมาก เนื้อน้อยไม่หวาน มีน้ำตาลประมาณ 13.75% ขึ้นได้ทั่วไปปลูกง่าย เหลือให้เห็นน้อยเพราะไม่นิยมปลูก เนื่องจากไม่มีราคา มีหลายสายพันธุ์ย่อยแต่มักเรียกรวมกันว่าลำไยพื้นเมือง
- 3. ลำไยกะลา หรือลำไยธรรมดา ผลปานกลาง เนื้อหนากว่าลำไยพันธุ์กระดูก เนื้อกรอบบางมีน้ำมาก ให้ผลดก
- 4. ลำไยสายน้ำผึ้ง ลักษณะคล้ายลำไยธรรมดา แต่เนื้อมีสีเหลืองอ่อน เนื้อมีรสดี หอมกรอบ เมล็ดเล็ก
- 5. ลำไยเถา หรือลำไยเครือ เป็นไม้ต้นรอเลื้อย ลำต้นไม่มีแก่นจึงพันเข้ากับรั้วหรือหลัก ผลเล็ก, เมล็ดโตกว่าลำไยบ้าน, เนื้อหุ้มเมล็ดบางมีเนื้อน้อย รสชาติมีกลิ่นคล้ายกำมะถันจึงนิยมปลูกไว้ประดับมากกว่ารับประทาน [2] นิยมปลูกไว้ประดับมากกว่าปลูกไว้รับประทาน ชอบขึ้นตามป่าเขา
- 6. ลำไยขาว เป็นลำไยพันธุ์โบราณหายาก ในครั้งหนึ่งเชื่อว่าเคยสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการตามหาและตอนกิ่งขยายพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง ผลขนาดเล็กกว่าลำไยทั่วไป เปลือกสีน้ำตาลอ่อนเกือบขาว เนื้อสีขาวใส เมล็ดลีบ รสหวาน [3]
และยังมีลำอีกอยากหลายชนิดที่ยังไม่ถูกจำแนก เช่น ลำไยใบหยก, ลำไยอีสร้อย, ลำไยตอหลวง, ลำไยเพรชน้ำเอก, ลำไยพวงเพชรบ้านแพ้ว เป็นต้น ฯลฯ
ประโยชน์ของลำไย
เปลือกของต้นมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเทาและมีรสฝาดใช้ต้มเป็นยาหม้อแก้ท้องร่วง ลำต้นมีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30-40 ฟุต เนื้อไม้มีสีแดงและแข็งสามารถใช้ทำเครื่องใช้ประดับบ้านได้ เนื้อลำไยกินสดเป็นผลไม้ ทำเป็นอาหารหวาน เช่น ข้าวเหนียวเปียกลำไย วุ้นลำไย ลำไยลอยแก้ว น้ำลำไย หรือแปรรูป เช่น บรรจุกระป๋อง ตากแห้งสามารถทำเป็นชาชงดื่ม เป็นยาบำรุงกำลังช่วยให้หลับสบายเจริญอาหาร แต่ถ้ากินลำไยมากเกินไปจะเกิดอาการร้อนใน แผลในปาก หรือตาแฉะได้[1] ในตำรายาจีนเรียกกุ้ยหยวน (ภาษาจีนกลาง) หรือ กุ้ยอี้ (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) ใช้เป็นยาบำรุงเลือด กล่อมประสาท[4]
คุณค่าทางอาหารของลำไย
กองวิทยาศาสตร์กรมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยได้ทำการวิเคราะห์ส่วนประกอบของลำไยปรากฏผลว่า[ต้องการอ้างอิง]
- ลำไยสดทั่วไปประกอบด้วยน้ำ81.1%คาร์โบไฮเดรต16.98%โปรตีน0.97%เถ้า0.56%กาก0.28%และไขมัน 0.11%
- ในลำไยสด100กรัมจะมีค่าความร้อน72.8แคลอรีและมีวิตามิน69.2มิลลิกรัมแคลเซียม57มิลลิกรัมฟอสฟอรัส35.17มิลลิกรัมและธาตุเหล็ก0.35มิลลิกรัม
- ลำไยแห้งประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต 69.06%น้ำ 21.27%โปรตีน 4.61%เถ้า 3.33%กาก 1.50%และไขมัน 0.171%
- ลำไยแห้ง 100กรัมจะมีค่าความร้อน 296.1แคลอรี แคลเซียม 32.05มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 150.5มิลลิกรัมโซเดียม 4.78มิลลิกรัม เหล็ก 2.85มิลลิกรัม โพแทสเซียม 1390.3มิลลิกรัม กรดแฟนโทซินิค 0.72มิลลิกรัมวิตามินบี 12จำนวน 1.08มิลลิกรัม
ในเมล็ดลำไยมีปริมาณโปรตีนรวม 6.5% ปริมาณไขมันรวม1.94% และปริมาณเยื่อใยรวมเป็น 8.33% ค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเป็น 3,365 kcal/kg สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ได้ ในเปลือกหุ้มเมล็ดของลำไยมีปริมาณแทนนินสูง[5]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 203 - 205
- ↑ เศรษฐมันต์ กาญจนกุล. ลำไยเครือ ใน ผลไม้ในเมืองไทย. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555 หน้า 94-95
- ↑ เศรษฐมันต์ กาญจนกุล. ลำไยขาว ใน ผลไม้ในเมืองไทย. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555 หน้า 104 - 105
- ↑ ภาสกิจ วัณณาวิบูล. รู้เลือกรู้ใช้ 100 ยาจีน. กทม. ทองเกษม. 2555
- ↑ บัวเรียม มณีวรรณ์*ทองเลียน บัวจูม เผ่าพงษ์ ปูระณะพงษ์ และ โยธิน นันตา.การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี การย่อยได้ของโภชนะ และพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ของเมล็ดลำไยและเนื้อในเมล็ดลำไยในไก่พื้นเมือง. การประชุมวิชาการนเรศวรวิจัยครั้งที่ 7 29 – 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554