สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
สมเด็จพระบรมราชา | |
---|---|
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 2301 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 |
ก่อนหน้า | สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร |
ถัดไป | สิ้นกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี |
สวรรคต | เมษายน พ.ศ. 2310 |
มเหสี | กรมขุนวิมลพัตร |
สนม | เจ้าจอมมารดาเพ็ง เจ้าจอมมารดาแม้น[1] |
พระราชบุตร | เจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี พระองค์เจ้าหญิงสตันสรินทร์ พระองค์เจ้าชายประเวศกุมาร พระองค์เจ้าหญิงสูรา (รุจจาเทวี) พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (กุมารา)[1] |
ราชวงศ์ | บ้านพลูหลวง |
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ |
พระราชมารดา | กรมพระเทพามาตุ (พลับ) |
สมเด็จพระบรมราชา (ที่ 3) หรือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ หรือ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 33 และเป็นรัชกาลสุดท้ายแห่งอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2301-2310
พระราชประวัติ
ก่อนครองราชย์
สมเด็จพระบรมราชา มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าเอกทัศ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย) เมื่อพระราชบิดาปราบดาภิเษกในปี พ.ศ. 2275 จึงโปรดให้ตั้งเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี[2]
หนึ่งปีก่อนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตนั้น พระองค์ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พระอนุชาของเจ้าฟ้าเอกทัศ ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แต่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทูลว่า เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี พระเชษฐา ยังคงอยู่ขอพระราชทานให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลน่าจะสมควรกว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงตรัสว่า กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น เป็นวิสัยพระทัยปราศจากความเพียร ถ้าจะให้ดำรงฐานานุศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิจ กอปรด้วยสติปัญญาฉลาดเฉลียว ควรจะดำรงเศวตฉัตรรักษาแผ่นดินได้[3] แล้วรับสั่งกับกรมขุนอนุรักษ์มนตรีว่า "จงไปบวชเสีย อย่าอยู่ให้กีดขวาง" กรมขุนอนุรักษ์มนตรีเกรงพระราชอาญาจึงจำพระทัยทูลลาผนวชไปประทับ ณ วัดละมุดปากจั่น ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้รับอุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแทน[4]
การเสด็จขึ้นครองราชย์
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2301 พระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ ระหว่างนั้นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีเสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์[5] ราว 2 เดือนต่อมา พระเจ้าอุทุมพรเสด็จไปถวายราชสมบัติแก่กรมขุนอนุรักษ์มนตรีแล้วเสด็จออกผนวช ประทับ ณ วัดประดู่ทรงธรรม กรมขุนอนุรักษ์มนตรีจึงเสด็จขึ้นราชาภิเษก ณ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชามหาอดิศร บวรสุจริต ทศพิธธรรมธเรศ เชษฐโลกานายกอุดม บรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว[6]
สงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง
ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์ พม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าเอกทัศได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยบัญชาการรบ พระเจ้าอลองพญา พระมหากษัตริย์พม่า ที่ยกทัพมา แต่สวรรคตเสียก่อน
ต่อมาใน พ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระ โอรสของพระเจ้าอลองพญา ได้เป็นพระมหากษัตริย์พม่า และส่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ให้เกณฑ์กองทัพกว่า 70,000 นาย ยกเข้าตีเมืองไทย 2 ทาง ทางทิศใต้เข้าตีเข้าทางเมืองมะริด ส่วนทางตอนเหนือตีลงมาจากแคว้นล้านนา และบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยาเป็นศึกขนานกันสองข้างโดยได้ล้อมกรุงศรีอยุธยานาน 1 ปี 2 เดือน ก็เข้าพระนครได้ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310
ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและคองบองของพม่า ได้บรรยายให้เห็นว่าในสงครามครั้งนี้ ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเองก็ได้เตรียมการและกระทำการรบอย่างเข้มแข็ง มิได้เหลวไหลอ่อนแอ [7]
การสวรรคต
สาเหตุการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเอกทัศมีสันนิษฐานไว้หลายข้อ ในหลักฐานของไทยส่วนใหญ่บันทึกไว้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคตจากการอดพระกระยาหารเป็นเวลานานกว่า 10 วัน หลังจากที่เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้กับวัดสังฆาวาส[8] ทหารพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อเสด็จสวรรคต นายทองสุกได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ ตรงหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร[9] ต่อมา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงอัญเชิญพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี[10][11]
ฝ่ายพงศาวดารพม่าระบุว่า เกิดความสับสนระหว่างการหลบหนีในเหตุการณ์กรุงแตก จึงถูกปืนยิงสวรรคตที่ประตูท้ายวัง
ส่วนคำให้การของแอนโทนี โกยาตัน ตำแหน่ง Head of the foreign Europeans เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2311 มีว่า "กษัตริย์องค์ที่สูงวัย [พระเจ้าเอกทัศ] ถูกลอบปลงพระชนม์โดยชาวสยามเช่นเดียวกัน" หรือไม่พระองค์ก็ทรงวางยาพิษตนเอง[12]
พระราชกรณียกิจ
ในทัศนะของสุเนตร ชุตินธรานนท์ มีความเห็นว่า ผู้ชำระพงศาวดารไทยไม่ได้ระบุพระราชกรณียกิจของพระเจ้าเอกทัศ ซ้ำยังกล่าวพาดพิงในแง่ร้ายอยู่บ่อยครั้ง หากแต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ กลับมีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างชื่นชม
คำให้การชาวกรุงเก่า ปรากฏความว่า "[พระมหากษัตริย์พระองค์นี้] ทรงพระกรุณากับอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แผ่เมตตาไปทั่วสารพัดสัตว์ทั้งปวง"
ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม ปรากฏความว่า "พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจ บพิตรตั้งอยู่ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณ์ก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราชทุกขไภย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความศุกมิได้ดาล ทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทาน และการมโหรสพต่าง ๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความศุกที่ทุกขอบขันธสีมา"
นอกจากนี้ จากหลักฐานทั้งสอง ยังได้กล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าเอกทัศ เช่น ทรงออกพระราชบัญญัติเครื่องชั่ง ตวง วัดต่าง ๆ, มาตราเงินบาท สลึง เฟื้องให้เที่ยงตรง และโปรดให้ยกเลิกภาษีอากรต่าง ๆ เป็นเวลา 3 ปี รวมทั้ง "ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบ การค้าขายเจริญ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้แก่คนยากจนจำนวนมาก"[13]
พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โปรดให้หล่อพระพุทธรูปขนาดเท่าพระองค์ และบริจาคทรัพย์ทำการเฉลิมฉลองพระพุทธรูปแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปพระองค์นั้นไปยังวัดวิหารหลวงวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในช่วงต้นรัชกาล ทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อสร้างพระอารามขึ้นมา 2 แห่ง คือ วัดละมุด และวัดครุฑาวาส และยังพระราชดำเนิน ไปนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีเป็นประจำทุกปีอีกด้วย และเมื่อยามสงบสุข พระองค์โปรดทำบุญบริจาคทรัพย์ให้แก่ผู้ยากไร้เป็นประจำเช่นกัน[14]
พระราชโอรสธิดา
บัญชีพระนามเจ้านาย ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระเจ้าเอกทัศมีพระราชโอรสธิดา 5 พระองค์[1]
ประสูติแต่กรมขุนวิมลพัตร พระอัครมเหสี คือ
- เจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี (ศรีจันทเทวี)
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเพ็ง พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ
- พระองค์เจ้าหญิงสตันสรินทร์ (ประพาลสุริยวงศ์)
- พระองค์เจ้าชายประเวศกุมาร (ประไพกุมาร)
ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแม้น พระสนมเอก มี 2 พระองค์ คือ
- พระองค์เจ้าหญิงสูรา (รุจจาเทวี)
- พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ (กุมารา)
ส่วน บัญชีรายพระนามพระราชวงศ์และข้าราชการสยามที่พม่าว่าจับไปได้จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อกรุงเสียในปี พ.ศ. 2310 ระบุรายพระนามเจ้านายว่ามีพระราชชายา 4 พระองค์ และมีพระราชโอรส-ธิดา 7 พระองค์ในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ถูกจับไปยังพม่า ได้แก่[15]
|
|
ทัศนะ
ฝ่ายซึ่งเห็นว่าพระองค์มีพระราชประวัติความประพฤติไม่ดีก็ว่า ราษฎรไม่เลื่อมใสศรัทธาเพราะพระมหากษัตริย์ทรงประพฤติตนไม่เหมาะสม บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย มีข้าราชการลาออกจากราชการอยู่บ้าง สังคมสมัยนั้นมีการกดขี่รีดไถ ข่มเหงรังแกราษฎรอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อขุนนางชั้นผู้น้อยเห็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ทำก็เลียนแบบ ราษฎรและข้าราชการทั้งหลายหมดที่พึ่งจึงแตกความสามัคคี ดังที่บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า: "... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา] ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือนจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น..."[16]
ในประวัติศาสตร์ไทย พระเจ้าเอกทัศเป็นพระมหากษัตริย์ที่ถูกกล่าวถึงในแง่ร้ายเรื่อยมา และถูกจดจำในฐานะ "บุคคลที่ไม่มีใครอยากจะตกอยู่ในฐานะเดียวกัน" เหตุเพราะไม่สามารถป้องกันกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากข้าศึก ทั้งนี้ คนไทยที่เหลือรอดมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือเอาว่า พระองค์ควรรับผิดชอบการเสียกรุงครั้งที่สองร่วมกับพระเจ้าอุทุมพร[17]
ครั้ง พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก เหตุเพราะช้ำพระราชหฤทัยที่สยามยกดินแดนให้ฝรั่งเศสไป (วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112) โดยทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพันความทุกข์ร้อน และท้อพระทัยว่าจะถูกนินทาไปตลอดกาล ดังเช่นสองพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ) ผู้ไม่อาจปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากศัตรู ในช่วงนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพึงถึงความกลัดกลุ้มทุกข์ร้อน ทั้งกลัวว่าจะถูกติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เหมือนสองกษัตริย์ผู้ไม่สามารถจะปกป้องกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้จากข้าศึกศัตรู ความดังนี้[17]
"เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์ | มะนะเรื่องบำรุงกาย | |
ส่วนจิตบ่มีสบาย | ศิระกลุ้มอุราตรึง |
แม้หายก็พลันยาก | จะลำบากฤทัยพึง | |
ตริแต่จะถูกรึง | อุระรัดและอัตรา |
กลัวเป็นทวิราช | บ่ตริป้องอยุธยา | |
เสียเมืองจึงนินทา | บ่ละเว้นฤๅว่างวาย |
พงศาวลี
พงศาวลีในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 627
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 356
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 367
- ↑ พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน, หน้า 325
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 370
- ↑ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และและเอกสารอื่น, หน้า 371
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์. ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ:มติชน, 2554. หน้า 88
- ↑ พระเจ้าเอกทัศน์ครองเมืองกรุงศรีอยุธยา
- ↑ จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 185.
- ↑ กรมตำรา กระทรวงธรรมการ, พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘-๑๑๔๔. พิมพ์ครั้งที่ ๔ ; พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ, ๒๔๗๒. หน้า ๒๓.
- ↑ สุนทรภู่, นิราศสุนทรภู่ ตอนนิราศพระบาท (พระนคร:คุรุสภา ๒๕๑๙) หน้า ๑๒๓-๑๒๔.
- ↑ จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 198.
- ↑ จรรยา ประชิตโรมรัน. หน้า 3.
- ↑ กันตพงศ์ ก้อนนาค (11 มีนาคม 2561). "ลือหนัก…พระเจ้าเอกทัศทรงจงกรมจนเสียเมือง ?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2561.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 1135-1136
- ↑ ขจร สุขพานิช. ข้อมูลประวัติศาสตร์ : สมัยบางกอก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2531. หน้า 269.
- ↑ 17.0 17.1 สองกษัตริย์สุดท้าย[ลิงก์เสีย] วิชาการ.คอม
- บรรณานุกรม
- ประชิตโรมรัน, จรรยา (2547). การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 974-13-2907-5.
- นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550. 1136 หน้า. ISBN 978-974-7088-10-6
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
- พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)]
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
- สุเนตร ชุตินธรานนท์. (2541). สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐: ศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับราชวงศ์คองบอง. สำนักพิมพ์ศยาม. หน้า 81-82.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ. 2301) |
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ราชวงศ์บ้านพลูหลวง) (พ.ศ. 2301 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310) |
สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) (พ.ศ. 2310-2325) |