ข้ามไปเนื้อหา

ไปรษณีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภายในที่ทำการไปรษณีย์ โดยในภาพเป็นที่ทำการไปรษณีย์นาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม

ไปรษณีย์ เป็นคำที่มีความหมายได้หลายอย่าง อาจหมายถึง จดหมาย (mail) บริการรับส่งจดหมายและพัสดุภัณฑ์ (postal service) รวมทั้งเป็นคำเรียกย่อ ๆ ของ ที่ทำการไปรษณีย์

ประวัติไปรษณีย์

การส่งเอกสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยใช้คนส่งสาร มีมานานพอ ๆ กับการคิดค้นการเขียน มีการจัดตั้งระบบส่งสารในประเทศจีนรวม 4000 ปีก่อนคริสตกาล ในอียิปต์ และ ดินแดนอัสซิเรีย (Assyria) 3000 ปีก่อนคริสตกาล จดหมายที่เก่าแก่เท่าที่ยังเหลือให้เห็นในปัจจุบันเป็นแผ่นดินเหนียวจารึกอักษรรูปลิ่มของอียิปต์และสอดอยู่ในซองดินเหนียวอีกที

แต่ระบบส่งสารที่จัดตั้งเป็นระบบเกิดขึ้นหลังจากนั้น เท่าที่มีการบันทึกไว้ ในสมัยฟาโรห์ของอียิปต์ตั้งแต่ 2400 ปีก่อนคริสตกาลมีการส่งราชโองการจากฟาโรห์ไปยังท้องที่ต่าง ๆ ที่ปกครองอยู่ ต่อมาจึงพัฒนาระบบไปรษณีย์ที่ให้บริการกับประชาชน โดยระบบเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐาน คือที่อัสซิเรีย ริเริ่มตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาลเป็นอย่างน้อย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ จีน มีการวางระบบในสมัยราชวงศ์จิ๋น ประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งระบบไปรษณีย์ของจีนนี้ นับว่าเป็นระบบเก่าแก่ที่สุดที่ยังคงให้บริการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ประวัติกิจการไปรษณีย์ไทย

งานไปรษณีย์ของไทยแต่เดิม การรับส่งจดหมายไปรษณีย์ภัณฑ์จากประเทศไทยออกไปต่างประเทศและรับจากต่างประเทศเข้าประเทศไทย ดำเนินการโดยสถานกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทยโดยเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2400 ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีกิจการไปรษณีย์ของตนเองได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพไปรษณีย์โลกเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 งานบริการด้านไปรษณีย์ของสถานกงสุลจึงได้เลิกไป

จุดเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์ของราชการไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2423 เจ้าหมื่นเสมอใจราช หัวหมื่นมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคำแนะนำให้เปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นใน ประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเห็นชอบ จึงทรงแต่งตั้งให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้ทรงมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือพิมพ์รายวัน "ข่าวราชการ" ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า ภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ ได้ทรงวางโครงการและ เตรียมการไว้พร้อมที่จะเปิดบริการไปรษณีย์ได้แล้ว ก็ได้ประกาศเปิดรับฝาก ส่งจดหมายหรือหนังสือ เป็นการทดลองในเขตพระนครและธนบุรีขึ้นเมื่อ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานพระปกเกล้าคู่ขนานกับสะพานพุทธ) ที่ทำการแห่งแรกนี้ใช้เป็น ที่ทำการไปรษณีย์สำหรับจังหวัดพระนคร ด้วยเรียกกันว่า "ไปรษณียาคาร"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการกราบบังคมทูลเสนอความเห็นว่าราชการ ของกรมไปรษณีย์และราชการของกรมโทรเลข ซึ่งตั้งขึ้นก่อนกรมไปรษณีย์แล้วนั้นเป็นงานใน ด้านสื่อสารด้วยกันควรรวมเป็นหน่วยราชการเดียวกันเสียเพื่อความสะดวกแก่การดำเนินงาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นเป็นสมควรจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหน่วยงานทั้งสองเข้าด้วยกันเรียกว่า "กรมไปรษณีย์โทรเลข" ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปใช้อาคารที่ทำงานเดิมของสถานกงสุลอังกฤษ ถนนเจริญกรุง เป็นที่ทำการและเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลาง" ต่ออาคารเดิมของสถานกงสุลคับแคบไม่เหมาะกับงานไปรษณีย์ จึงได้รื้ออาคารทิ้งและสร้างอาคารใหม่เป็นรูปที คือ "อาคารไปรษณีย์กลาง" ถนนเจริญกรุง ในปัจจุบัน

การไปรษณีย์ เป็นบริการสาธารณะจำเป็นต้องมีระเบียบข้อบังคับเพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการและ เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินบริการทราบและถือปฏิบัติเมื่อ เปิดการไปรษณีย์โทรเลขได้ประมาณ 2 ปีแล้ว รัฐบาลจึงได้ตรากฎหมายขึ้นใน ปี พ.ศ. 2428 เรียกว่า "พระราชบัญญัติการไปรษณีย์ไทย จุลศักราช 1248" ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ได้ออกพระราชกำหนดไปรษณีย์ ร.ศ.116 ยกเลิก พระราชบัญญัติฉบับแรกและใช้พระราชกำหนดนี้ตลอดมา จนกระทั่งปรับปรุงใหม่ออกเป็น "พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477" มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการเป็น ผู้รักษาตามพระราชบัญญัติ (ปัจจุบันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้รักษาการ ตามพระราชบัญญัติและพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่)

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ได้มีการจัดตั้ง "การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.)" ตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 โดยรับมอบกิจการด้านปฏิบัติการทั้งหมด รวมถึงการให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ใช้สถานที่ปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการไปรษณีย์กลาง ต่อมาสำนักงานใหญ่ย้ายมาอยู่ที่ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่ง กสท. ได้ปรับปรุงและพัฒนาบริการให้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด จนเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นนำที่ยิ่งใหญ่ มีศักยภาพเครือข่าย ระบบ และคุณภาพบริการระดับมาตรฐานสากล

จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เทียบเท่าภาคเอกชน ซึ่ง กสท. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้แปรสภาพ กสท. ตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคม และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 แยกกิจการเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตั้งอยู่ที่ อาคารสำนักงานใหญ่ ปณท. ถนนแจ้งวัฒนะ โดยปฏิรูปภาพลักษณ์ใหม่ ปรับปรุงบริการและการให้บริการไปรษณีย์แก่ประชาชนทั่วไปและพัฒนาการให้บริการเชิงธุรกิจ เพื่อให้ ปณท. ก้าวไกล ทันสมัย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดไป

บริการไปรษณีย์

ปณฝ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ

บริการไปรษณีย์ คือ บริการขนส่งข่าวสารและสิ่งของต่างๆ ทางไปรษณีย์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. บริการหลัก
  2. บริการพิเศษ
  3. บริการเพื่อธุรกิจ

บริการต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์เปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ใช้ ได้แก่

  • บริการรับส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น จดหมาย ไปรษณียบัตร จดหมายอากาศ สิ่งตีพิมพ์ พัสดุไปรษณีย์ เป็นต้น ซึ่งแยกบริการไว้หลายระดับ และคิดค่าบริการแตกต่างกัน เช่น
    • ไปรษณีย์ธรรมดา
    • ไปรษณีย์ด่วน ถึงที่หมายเร็วขึ้น
    • ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (Express Mail Service, EMS) ถึงที่หมายเร็วและมีการบันทึกขั้นตอนต่าง ๆ จากต้นทางจนถึงผู้รับ ป้องกันไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหาย
    • ไปรษณีย์ลงทะเบียน (registered mail) มีการบันทึกป้องกันไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหาย
    • ไปรษณีย์รับประกัน มีการรับประกันและจ่ายเงินชดเชยกรณีที่ไปรษณีย์ภัณฑ์สูญหาย
    • ไปรษณีย์ตอบรับ เมื่อจดหมายถึงผู้รับ ไปรษณีย์ปลายทางจะส่งใบเซ็นรับย้อนกลับไปยังผู้ส่ง
    • พัสดุเรียกเก็บเงินปลายทาง
  • บริการด้านการเงิน ได้แก่ การส่งธนาณัติ ตั๋วแลกเงินไปรษณีย์
  • บริการโทรเลข สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันรับผิดชอบโดย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด หลังจากการแปรรูปการสื่อสารแห่งประเทศไทย

นอกเหนือจากนี้ บริการอื่น ๆ ที่อาจมี เช่น

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  • James Mackay, The Guinness Book of Stamps Facts & Feats, Guinness Superlatives Ltd, 1982
  • Bonnie Davis, Royal Siamese Postal Service (The Early Years) , Siam Stamp Trading Co., Ltd.
  • พ.ต.อ. นายแพทย์พิพัฒน์ ชูวรเวช, ตำนานแสตมป์ไทยสำหรับนักสะสม, อรุณการพิมพ์, พ.ศ. 2546
  • อาณัฐชัย รัตตกุล, ตำนานไปรษณีย์ไทย พ.ศ. ๒๒๓๑ - ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ทรีดีการพิมพ์, พ.ศ. 2543
  • ไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2549

แหล่งข้อมูลอื่น