ข้ามไปเนื้อหา

สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์
ภาพรวมหน่วยงาน
หน่วยงานก่อนหน้า
สำนักงานใหญ่1160 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 (เบื้องต้น)
ต้นสังกัดหน่วยงานนายกรัฐมนตรี

สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (อังกฤษ: Thailand Creative Culture Agency; ชื่อเดิม: Thailand Creative Content Agency; ชื่อย่อ: THACCA) เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย ภายใต้การกำกับดูแลโดยตรงของนายกรัฐมนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย[1] ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นในอนาคตภายหลังร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ โดยแปรสภาพจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และกำกับดูแลโดยคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติที่จะแปรสภาพมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ[2]

ประวัติ

สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานที่เตรียมจัดตั้งขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบันยกร่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 เมษายน พ.ศ. 2567[2] ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกาตามลำดับ ก่อนส่งกลับมายัง ครม. ในช่วงเดือนพฤษภาคม จากนั้น จะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 26 ภายในสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งที่ 3 ในช่วงไตรมาสที่ 3[3][4] และคาดว่าที่ประชุมจะอนุมัติทั้ง 3 วาระในช่วงเดือนธันวาคม จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของวุฒิสภาไทย ชุดที่ 13 ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 และคาดว่าหากผ่านชั้นของวุฒิสภาแล้ว จะประกาศใช้พระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้งองค์กรดังกล่าวได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2568[1]

ในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ว่า หลังจากพระราชบัญญัตินี้บังคับใช้ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายในไม่เกิน 180 วัน จึงจะถือว่าคณะกรรมการถูกยุบเลิกและแปรสภาพโดยสมบูรณ์ ส่วนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จะถูกยุบเลิกและแปรสภาพเป็นสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ทันที แต่ให้คณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารภายในไม่เกิน 180 วัน และให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไปพลางก่อนเช่นกัน[2]

ภารกิจ

สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จะเป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์ที่รวบรวมภารกิจและงบประมาณในการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไว้โดยสมบูรณ์ และมีการวางแผนงานร่วมกันทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติ

โดยสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์จะทำหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ดังนี้

  1. จัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนการทำงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน ต่อเนื่อง ชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน
  2. สนับสนุนด้านการเงิน โดยการตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนทุกอุตสาหกรรม
  3. สนับสนุนองค์ความรู้ โดยการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงเผยแพร่และสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์
  4. สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่และส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขัน โดยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา รับรองมาตรฐานอาชีพ ให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ และกำหนดมาตรการส่งเสริมการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม
  5. เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ให้เอกชนสามารถติดต่อประสานงานหรือขออนุญาตจากภาครัฐในการทำงานอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ครบวงจร[5]

คณะกรรมการ

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการหลักจำนวน 4 คณะ คือ[2]

  1. คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติ มีหน้าที่จัดทำและติดตามยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษหรือคณะอนุกรรมการ โดยแปรสภาพจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
  2. คณะกรรมการพิเศษแต่ละด้าน มีหน้าที่ดำเนินภารกิจพิเศษตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย
  3. คณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปของสำนักงาน โดยแปรสภาพมาจากคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
  4. คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มีหน้าที่บริหารกองทุน

คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติ

องค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งชาติตามมาตรา 7 มีดังนี้

กองทุน

ตามมาตรา 53 ของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้กำหนดให้จัดตั้ง กองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เพื่อใช้จ่ายในกิจการเกี่ยวกับการส่งเสริม ยกระดับ พัฒนา และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและผู้ประกอบวิชาชีพในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตามแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ โดยจะบริหารโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังนี้

  1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
  2. เงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านงบประมาณแผ่นดิน
  3. เงินที่คณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายให้โอนมาเป็นของกองทุน
  4. เงินรายได้จากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
  5. ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตามอัตราที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
  6. ผลตอบแทนหรือรายได้จากการลงทุน การร่วมทุน หรือการให้การส่งเสริมของสำนักงานหรือกองทุน รวมถึงผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นของสำนักงานหรือกองทุน
  7. เงินบริจาค
  8. เงินค่าปรับเป็นพินัยตามกฎหมายดังกล่าว
  9. เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมาย รวมถึงเงินตามสัญญา
  10. ผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

โดยเงินและทรัพย์สินเหล่านี้จะเป็นของสำนักงาน เพื่อใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายยังสามารถเสนอคณะรัฐมนตรีให้โอนเงินหรือทรัพย์สินจากกองทุนอื่น ๆ มาเป็นของกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ตามจำนวนที่กำหนด ดังนี้

  1. กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
  2. กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
  3. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
  4. กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย
  6. กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย
  7. กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม
  8. ทุนหมุนเวียนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์

เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้กองทุนเหล่านี้ดำเนินการโอนทรัพย์สินภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มต้นปีงบประมาณถัดไป[2]

รายชื่อคณะอนุกรรมการ

ภาพยนตร์[6]

ละครและซีรีส์

ดนตรี

อาหาร

กีฬา

หนังสือ

ออกแบบ

การท่องเที่ยว

เกม

แฟชั่น

ทักก้า สแปลช

ทักก้า สแปลช (อังกฤษ: THACCA Splash) เป็นงานประชุมนานาชาติเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย จัดขึ้นโดยรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (ครั้งที่ 1 จัดโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ) เพื่อเป็นการประกาศขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นทางการ โดยครั้งแรกจัดขึ้นในวันที่ 28–30 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งภาครัฐและเอกชน ตัวแทนจากแบรนด์ดังระดับโลกที่มาจากหลายอุตสาหกรรมอาทิ แฟชั่น เพลง ภาพยนตร์ หรืออาหาร[10]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 เปิดตัวเพจ THACCA ทางการ ลุยซอฟต์พาวเวอร์ อำนาจขึ้นตรงนายกฯ คาดชงครม.มี.ค.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "เปิดร่าง'พ.ร.บ.วัฒนธรรมสร้างสรรค์ฯ' ดึงเงิน'กองสลาก'-7 กองทุน ดัน'ซอฟต์พาวเวอร์' 11 สาขา". สำนักข่าวอิศรา. 21 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2024.
  3. "'พ.ร.บ.ซอฟต์พาวเวอร์'เข้าสภาฯสมัยหน้า 'รัฐบาล' ปักหมุดตั้ง 'THACCA' ปี 68". กรุงเทพธุรกิจ. 16 เมษายน 2024. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "ระดมสมอง ค้นจุดแข็ง สร้างพายุหมุน ผลักดัน "ซอฟต์พาวเวอร์" ให้ไปถึงระดับโลก". ผู้จัดการออนไลน์. 29 มีนาคม 2024. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "'THACCA' ประกาศรายชื่อ คณะอนุกรรมการ 'ซอฟต์พาวเวอร์' 5 ด้าน". กรุงเทพธุรกิจ. 19 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. THACCA เปิดรายชื่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ‘ด้านภาพยนตร์’ โดยมี คุณชายอดัม รับตำแหน่งประธาน
  7. มะเดี่ยวชูเกียรติ-แก๊ปเปอร์ วรฤทธิ์ ผงาดนั่งอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ด้านละคร-ซีรีย์
  8. 8.0 8.1 กก.ซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งอนุฯเพิ่ม ด้าน ดนตรี-กีฬา-อาหาร ดึงบิ๊กค่ายเพลงดังเสริมทีม
  9. ตั้งเพิ่ม อนุกก.ซอฟต์พาวเวอร์ด้านหนังสือ-ออกแบบ มีปราบดา หยุ่น ด้วย...
  10. "THACCA SPLASH Soft Power Forum 2024 พบ 48 Speakers ระดับโลก". ประชาชาติ.

แหล่งข้อมูลอื่น