สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์

(เปลี่ยนทางจาก MIT)

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (อังกฤษ: Massachusetts Institute of Technology, ตัวย่อ เอ็มไอที [MIT], เรียกโดยชุมชน MIT ว่า "the Institute แปลว่า สถาบัน") เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงมานานในเรื่องงานวิจัยและการศึกษาในสาขาเคมี ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่างๆ แล้วเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นต่อ ๆ มาในสาขาชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และการจัดการ

สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์
(Massachusetts Institute of Technology)
ตรามหาวิทยาลัย
คติพจน์สติปัญญาและมือ
Mens et Manus
คติพจน์อังกฤษ
Mind and Hand[1]
ประเภทเอกชน
Land-grant university (มหาวิทยาลัยที่ได้ที่ดินจากรัฐ)
สถาปนาค.ศ. 1861 (เปิด ค.ศ. 1865)
ทุนทรัพย์13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค.ศ. 2015)[2]
อธิการบดีศ.ซินเธีย บาร์นฮารต์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศ.แอ็ล ราฟาเอล รีฟ
ผู้เป็นประธานศ.มาร์ติน ชมิดต์
อาจารย์1,021[3]
ผู้ศึกษา11,331[4]
ปริญญาตรี4,527[4]
บัณฑิตศึกษา6,804[4]
ที่ตั้ง, ,
วิทยาเขตในเมือง, 425 ไร่[5]
หนังสือพิมพ์นักศึกษาThe Tech
สีแดง เทาและเทาอ่อน[6]
     
ฉายาเอนจินเนียส์[7]
เครือข่ายกีฬาNCAA ภาค 3 – NEWMAC, NEFC, Pilgrim League
NCAA ภาค 1 – EARC, EAWRC (พายเรือ)
มาสคอต
บีเวอร์ทิม (Tim the Beaver)[8]
เว็บไซต์MIT.edu
MIT Logo
MIT Logo

MIT ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1861 เพราะการพัฒนาทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในสหรัฐ MIT ใช้รูปแบบมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคของยุโรป ที่เน้นการศึกษาในห้องปฏิบัติการ และเพราะเน้นเรื่องเทคโนโลยีประยุกต์ในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษามาตั้งแต่ต้น จึงมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับธุรกิจและอุตสาหกรรม ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ภายใต้การดูแลของอธิการบดีคาร์ล คอมป์ตัน และรองอธิการบดีแวเนวาร์ บุช สถาบันได้เริ่มเปลี่ยนไปเน้นการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ในปี ค.ศ. 1934 MIT ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมาคมมหาวิทยาลัยอเมริกัน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความกว้างขวางและคุณภาพของโปรแกรมงานวิจัยและการศึกษาของสถาบัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็น นักวิจัยในสถาบันทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เรดาร์ และระบบนำวิถีอาศัยหลักความเฉื่อย (inertial navigation system) ภายใต้การนำของอธิการบดีเจมส์ คิลเลียน ในช่วง ค.ศ. 1948-1959 MIT ได้ขยายทั้งคณะศึกษาและทั้งสิ่งก่อสร้างในบริเวณมหาวิทยาลัยออกอย่างรวดเร็วโดยอาศัยงานวิจัยทางการทหาร วิทยาเขตในปัจจุบันที่มีขนาด 425 ไร่ได้เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1916 ที่ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 1.6 ตาราง กม. ทางด้านทิศเหนือของแม่น้ำชาลส์

ในปัจจุบัน MIT มีคณะถึง 32 คณะรวมอยู่ใน 5 โรงเรียน (school) เป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เลิศที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง[9][10][11][12] โดยปี ค.ศ. 2014 มีบุคคลผู้สืบเนื่องกับมหาวิทยาลัยผู้ได้รับรางวัลโนเบลถึง 91 คน ได้รับเหรียญวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Medal of Science) 58 คน ได้ทุนการศึกษาโรดส์ สคูลาร์ส 48 คน เป็น MacArthur Fellow 50 คน เป็น Fields Medalists 8 คน[a]

MIT เป็นมหาวิทยาลัยที่เข้ายากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ในรุ่นนักศึกษาปริญญาตรีปี ค.ศ. 2018 (ปีรับ 2014) มีผู้สมัคร 18,356 คน สถาบันรับไว้ 1,447 คน คือมีอัตราการรับผู้สมัคร (ระดับปริญญาตรี) ที่ร้อยละ 7.9[13]

นอกจากการศึกษาและงานวิจัยแล้ว MIT ยังมีวัฒนธรรมในการเริ่มกิจการธุรกิจอีกด้วย รายได้ของบริษัทที่ศิษย์เก่าช่วยกันตั้งขึ้น รวมทั้งหมดจะประกอบเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 11 ของโลก[14]

ทีมกีฬาของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อว่า "ดิเอนจิเนียส์" (the Engineers) แข่งขันในกีฬา 31 ประเภท โดยมากแข่งในภาค 3 ของสมาคมกีฬาวิทยาลัยแห่งชาติ (National Collegiate Athletic Association) และในภาค 1 เฉพาะในกีฬาพายเรือ โดยเป็นโรงเรียนหนึ่งในสมาคมวิทยาลัยเพื่อกีฬาพายเรือทิศตะวันออก (Eastern Association of Rowing Colleges) สำหรับนักกีฬาพายเรือชาย และสมาคมวิทยาลัยเพื่อกีฬาพายเรือหญิงทิศตะวันออก (Eastern Association of Women's Rowing Colleges) สำหรับนักกีฬาพายเรือหญิง

ประวัติ

แก้

การก่อตั้งและทัศนคติ

แก้

...มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เชิงอุตสาหกรรมที่อำนวยความก้าวหน้า การพัฒนา และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ โดยเชื่อมต่อกับศิลปะ เกษตรกรรม การผลิต และพาณิชย์

— รัฐบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ขึ้น
รัฐบัญญัติปี ค.ศ. 1861 หมวด 183, [15]
 
ภาพสเตริโอกราฟแสดงสตูดิโอวาดภาพสถาปัตยกรรม - ภาพถ่ายในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของเอ็ดวาร์ด แอลเล็น
 
อาคารรอเจอส์ดั้งเดิม อยู่ในย่านแบล็กเบย์ เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ - ภาพถ่ายในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของเอ็ดวาร์ด แอลเล็น

ในปี ค.ศ. 1859 มีการเสนอต่อรัฐสภาของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่จะใช้พื้นที่ที่ถมเต็มขึ้นใหม่ ๆ ในย่านแบล็กเบย์ (Black Bay) ในเมืองบอสตัน สำหรับโรงเรียน (Conservatory) เพื่อศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ข้อเสนอไม่ผ่านอนุมัติ[16][17] แต่เพราะฎีกาที่เสนอต่อมาโดยศาสตราจารย์วิลเลียมส์ บาร์ตัน รอเจอส์ กฎหมายเพื่อสถาปนาสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ขึ้น ก็ผ่านการอนุมัติจากผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ จอห์น แอนดรู ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404)[18]

ศ.รอเจอส์ผู้มาจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ต้องการก่อตั้งสถาบันเพื่อเตรียมพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กำลังเป็นไปอย่างรวดเร็ว[19][20] เขาไม่ได้ประสงค์จะก่อตั้งสถาบันการศึกษาเชิงวิชาชีพ แต่ต้องการที่จะผสมผสานการศึกษารวมทั้งวิชาชีพและการศึกษาเสรี (liberal education)[21] โดยเขียนบันทึกไว้ว่า

ผมคิดว่า จุดมุ่งหมายที่แท้จริงและเป็นไปได้จริง ๆ ของโรงเรียนโพลีเทคนิคก็คือ การสอนหลักการวิทยาศาสตร์ที่เป็นฐานและเป็นคำอธิบาย ของปรากฏการณ์ธรรมชาติและของการจัดแจงปรากฏการณ์ธรรมชาติ พร้อมกับการสอนวิชาเป็นแนวสำรวจอย่างเป็นระบบอย่างเต็มพิกัด ซึ่งกระบวนการและแนวการปฏิบัติการที่สำคัญ ที่สัมพันธ์กับกฎทางกายภาพของธรรมชาติเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นการสอนรายละเอียดทุกอย่างและการจัดแจงที่เป็นไปได้ทุกอย่างของปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่จะ (ศึกษาอย่างเต็มที่) ได้ก็ในประสบการณ์จริงเท่านั้น[22]

แผนการของ ศ.รอเจอส์ เป็นความคิดสะท้อนรูปแบบมหาวิทยาลัยวิจัยของคนเยอรมันในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่เน้นทั้งคณะวิชาการต่าง ๆ ที่ทำงานวิจัยได้อย่างเป็นอิสระ และที่เน้นทั้งการเรียนการสอนในรูปแบบของการสัมมนาและการปฏิบัติจริงในห้องแล็บ[23][24]

การพัฒนาในยุคแรก

แก้
 
แผนที่ปี ค.ศ. 1905 ของวิทยาเขตในเมืองบอสตัน

2 วันหลังจากที่กฎหมายก่อตั้งสถาบันได้รับอนุมัติ การสู้รบครั้งแรกของสงครามกลางเมืองอเมริกันก็เกิดขึ้น หลังจากความเนิ่นช้าเพราะเหตุแห่งสงครามเป็นเวลาหลายปี การสอนชั้นแรก ๆ จึงได้เกิดขึ้นในอาคาร Mercantile Building ในเมืองบอสตันในปี ค.ศ. 1865 (พ.ศ. 2408)[25] สถาบันใหม่นี้มีเป้าหมายที่เป็นไปตามจุดประสงค์ของกฎหมายรัฐบาลกลางชื่อว่า Morrill Land-Grant Colleges Act (ค.ศ. 1862) ที่ให้ทุนแก่สถาบันต่าง ๆ เพื่อ "ส่งเสริมการศึกษาเสรีที่ประยุกต์ใช้ได้ทางอุตสาหกรรม" และเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับผลประโยชน์มาจากการให้ที่ดินของรัฐบาลกลาง (เป็น land-grant school)[26][b] ในปี ค.ศ. 1866 มีการใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินเพื่อสร้างอาคารใหม่ที่ย่านแบล็กเบย์ ในเมืองบอสตัน[27]

MIT เคยมีชื่อไม่เป็นทางการว่า "บอสตันเทค" (Boston Tech) สถาบันได้ใช้รูปแบบการสอนในมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคของชาวยุโรป และได้เน้นการศึกษาในห้องแล็บมาตั้งแต่ยุคเบื้องต้น[28] หลังจากช่วงเวลาหนึ่งที่มีสถานะการเงินที่ไม่มั่นคง สถาบันก็เริ่มเจริญเติบโตขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้การดูแลของอธิการบดีฟรานซิส วอร์กเกอร์[29] ได้เริ่มหลักสูตรการศึกษาในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมทางทะเล (marine engineering) วิศวกรรมสุขาภิบาล (sanitary engineering)[30][31] และได้สร้างอาคารใหม่ ๆ ขึ้น โดยมีจำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นเกินกว่าพัน[29]

หลังจากนั้น หลักสูตรของสถาบันก็ค่อย ๆ กลายไปมุ่งด้านอาชีพเพิ่มขึ้น โดยเน้นวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎีน้อยลง[32] เพราะผู้นำสถาบันยังต้องเอาใจใส่ปัญหาการเงินที่มีอยู่เรื่อย ๆ และในช่วงยุคสมัยของ บอสตันเทค นี้ ทั้งคณะวิชาการต่าง ๆ และทั้งศิษย์เก่าก็ได้คว่ำบาตรความพยายามของอธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชาลส์ อีเลียต (ผู้เป็นอดีตศาสตราจารย์ของสถาบันด้วย) ที่จะรวม MIT เข้ากับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ลอว์เร็นซ์ (Lawrence Scientific School) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด[33] ซึ่งเป็นความพยายามอย่างน้อย 6 ครั้ง[34] แม้ว่าสถานที่ในย่านแบล็กเบย์จะคับแคบ แต่สถาบันก็ไม่มีกำลังทางการเงินที่จะขยายอุปกรณ์อาคาร จึงต้องสืบหาทั้งวิทยาเขตและเงินสนับสนุนใหม่ ๆ อย่างไร้ความหวัง จนในที่สุด คณะทรัสตีของสถาบันก็ได้อนุมัติข้อตกลงที่จะรวมสถาบันเข้ากับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แม้ว่าทั้งคณะอาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่าจะคัดค้านอย่างรุนแรง[34] แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1917 การตัดสินของศาลสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ ก็ได้ยุติแผนการที่จะรวมสถาบันทั้งสองเข้าด้วยกัน[34]

 
แผ่นจารึกในอาคาร 6 เป็นอนุสรณ์แก่นายจอร์จ อีสต์แมน ผู้ก่อตั้งบริษัทอีสต์แมนโกดัก ผู้ช่วย MIT ให้สามารถดำรงความเป็นอิสระไว้ได้ โดยช่วยในนามของ "นายสมิธ"

ในปี ค.ศ. 1916 สถาบันได้ย้ายไปที่กว้างแห่งใหม่ซึ่งเป็นบริเวณที่ยาว 1.6 กม. ทางฝั่งเมืองเคมบริดจ์ของแม่น้ำชาลส์ เป็นที่ดินที่ส่วนหนึ่งเป็นที่ถมขึ้น[35][36] การก่อสร้างวิทยาเขตแบบ "เทคโนโลยีใหม่" โดยใช้สถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกออกแบบโดยวิลเลียม บอสเวอร์ธ (ผู้ได้รับการศึกษาโดยส่วนหนึ่งที่สถาบัน) ก็เริ่มขึ้น[37] โดยได้ทุนส่วนมากมาจากผู้บริจาคลึกลับนิรนามที่รู้จักโดยชื่อว่า "นายสมิธ" ผู้ที่ภายใน 8 ปีหลังจากการมอบเงินบริจาคงวดแรก ได้เปิดเผยว่าคือนักอุตสาหกรรมจอร์จ อีสต์แมนของเมืองรอเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก ผู้ประดิษฐ์วิธีการผลิตฟิลม์ถ่ายภาพและการล้างฟิลม์ และได้ก่อตั้งบริษัทอีสต์แมนโกดักขึ้น คือในช่วงปี ค.ศ. 1912-1920 นายอีสต์แมนได้บริจาคเงินสดและหุ้นของบริษัทเป็นมูลค่ารวม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่สถาบัน (เท่ากับเงินในปี ค.ศ. 2015 เป็น 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท)[38]

การปรับปรุงหลักสูตรการเรียน

แก้

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 อธิการบดีคาร์ล คอมป์ตัน และรองอธิการบดีแวเนวาร์ บุช เริ่มเน้นความสำคัญของวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานเช่นฟิสิกส์และเคมี และลดระดับการเรียนภาคปฏิบัติในการอาชีพที่ต้องทำในแล็บและในสตูดิโอวาดภาพลง[39] การปรับปรุงของอธิการบดีคอมป์ตัน "เสริมสร้างความมั่นใจในสมรรถภาพของสถาบันในความเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์"[40] และโดยที่ไม่เหมือนกลุ่มมหาวิทยาลัยไอวีลีก (มหาวิทยาลัยเก่าแก่มีชื่อเสียงมีเงินทุนมากของสหรัฐ) MIT มีเป้าหมายเป็นนักศึกษาในกลุ่มชนชั้นกลางมากกว่า และต้องอาศัยค่าเล่าเรียนมากกว่าอาศัยกองทุนสะสมทรัพย์ (endowment) หรือเงินบริจาค (grant)[41] MIT ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคมมหาวิทยาลัยอเมริกัน ในปี ค.ศ. 1934[42] ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความกว้างขวางและคุณภาพของโปรแกรมงานวิจัยและการศึกษาของสถาบัน

แต่แม้จะได้ปรับปรุงหลักสูตรแล้ว ในปี ค.ศ. 1949 คณะกรรมการของ ศ.ลิวอิสก็ยังบ่นในรายงานการศึกษาที่ MIT ว่า "ชนทั้งหลายเห็นสถาบันว่าเป็นเพียงโรงเรียนฝึกอาชีพ" ซึ่งเป็นความรู้สึก "ที่ไม่ค่อยมีเหตุผล" ที่คณะกรรมการต้องการที่จะเปลี่ยน คณะกรรมการได้สำรวจหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างละเอียดละออ แล้วแนะนำหลักสูตรการศึกษาที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น และเตือนถึงการไม่ควรปล่อยให้งานวิจัยทางวิศวกรรมและงานวิจัยที่รัฐบาลสนับสนุน ดึงเอาทรัพยากรไปจากคณะวิทยาศาสตร์และคณะมนุษยศาสตร์[43][44]

ในปี ค.ศ. 1950 โรงเรียนมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ (MIT School of Humanities, Arts, and Social Sciences หรือ HASS) และโรงเรียนการบริหารสโลน (MIT Sloan School of Management) ก็เกิดการจัดตั้งขึ้น แข่งขันกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ (MIT School of Science) และโรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์ (MIT School of Engineering) ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ดังนั้น คณะการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ การบริหาร รัฐศาสตร์ และภาษาศาสตร์ ที่ก่อนหน้านี้ไม่สำคัญ จึงได้เจริญขึ้นเป็นคณะที่มีบทบาทด้วยกลยุธที่ดึงดูดศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงมาที่คณะ และจัดตั้งหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาที่แข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นได้[45][46] โรงเรียนมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ยังได้โอกาสพัฒนาขึ้นในเวลาต่อ ๆ มา ในสมัยที่สืบต่อกันของผู้นำที่เห็นความสำคัญของวิชาการทางสังคมคืออธิการบดีเฮาวาร์ด จอห์นสัน และอธิการบดีเจโรม ไวสเนอร์ ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1966-1980[47]

งานวิจัยทางการทหาร

แก้

MIT มีส่วนร่วมในงานวิจัยทางทหารของรัฐบาลกลางที่เพิ่มขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1941 รองอธิการบดีแวเนวาร์ บุช ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าของสำนักงานการวิจัยและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ (Office of Scientific Research and Development) ของรัฐบาลกลาง และได้ให้เงินสนับสนุนงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งรวมทั้ง MIT[48] ดังนั้น วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศจึงได้มารวมตัวกันที่แล็บรังสี (Radiation Laboratory) ที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1940 เพื่อช่วยประเทศอังกฤษพัฒนาระบบเรดาร์ งานที่ทำในช่วงนั้นมีอิทธิพลต่อทั้งสงครามต่อทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับเรดาร์ต่อ ๆ มา[49] โปรเจ็กต์ทางทหารอื่น ๆ รวมทั้ง

  • ระบบเล็งปืน ระบบเล็งการทิ้งระเบิด และการนำทางอาศัยความเฉื่อย ที่อาศัยทั้งไจโรสโคปและระบบควบคุมที่ซับซ้อนอื่น ๆ ใต้การดำเนินงานของแล็บชาลส์สตาร์กเดรปเปอร์ (Charles Stark Draper Laboratory)[50][51]
  • การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์แบบดิจิตัลสำหรับเครื่องจำลองการบินในโปรเจ็กต์ Whirlwind[52]
  • การถ่ายรูปความเร็วสูงเพื่อใช้ในเครื่องบินที่บินในระดับสูง ภายใต้การดูแลของ ศ.แฮโรล์ด เอ็ดเกอร์ตัน[53][54]

ก่อนสงครามโลกจะยุติลง MIT ได้กลายเป็นสถาบันเพื่องานวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (ซึ่งทำให้รองอธิการบดีบุชได้รับคำติเตียน)[48] มีบุคคลากรเกือบ 4,000 คนในแล็บรังสีแห่งเดียว[49] และได้รับเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,320 ล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับค่าเงินในปี ค.ศ. 2015) ก่อนจะถึงปี ค.ศ. 1946[40] แม้จะสุดสิ้นสงครามแล้ว โปรเจ็กต์ทางการทหารก็ยังได้ดำเนินต่อไป งานวิจัยหลังสงครามที่รัฐบาลสนับสนุนรวมทั้ง ระบบป้องกันทางอากาศ (Semi Automatic Ground Environment) ระบบนำทางเพื่อขีปนาวุธ และโครงการอะพอลโล (ที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศรวมทั้งดวงจันทร์)[55]

...สถาบันการศึกษาชนิดพิเศษที่อาจนิยามได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแก่นเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเป้าหมายจำกัด แต่ไม่จำกัดความกว้างขวางและความลึกซึ้งเพื่อจะเข้าถึงเป้าหมายเหล่านั้น

— อธิการบดีเจมส์ คิลเลียน, ค.ศ. 1949[56]

กิจกรรมเหล่านี้มีอิทธิพลต่อสถาบันอย่างลึกซึ้ง รายงานปี ค.ศ. 1949 บันทึกความไม่มี "การลดความเร็วของวิถีชีวิตที่สถาบัน" แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะกลับไปสู่สันติภาพแล้ว และกล่าวถึงอย่างอาลัยซึ่ง "ความสงบเงียบของสถาบันที่มีในช่วงก่อนสงคราม" แต่ก็ยอมรับถึงการสนับสนุนที่สำคัญจากงานวิจัยทางการทหาร ต่อการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่สำคัญขึ้น และต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของบุคคลากรและอุปกรณ์อาคารเพื่ออำนวยความสะดวก[57]

คณะการศึกษาได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ในสมัยของ ศ.คาร์ล คอมป์ตัน ผู้เป็นอธิการบดี (president) ในระหว่างปี ค.ศ. 1930-1948 ของเจมส์ คิลเลียน ผู้เป็นอธิการบดี (president) ในปี ค.ศ. 1948-1957 และของจูเลียส สแตร็ทตัน ผู้เป็นอธิการบดี (chancellor) ในปี ค.ศ. 1952-1957 ผู้ได้เปลี่ยนแปลงความเป็นไปในมหาวิทยาลัยด้วยยุทธวิธีสร้างสถาบัน

เมื่อถึงคริสต์ทศวรรษ 1950 MIT ไม่ได้รับเพียงการสนับสนุนจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ทำงานร่วมกันมาแล้วกว่า 3 ทศวรรษแค่กลุ่มเดียวอีกต่อไป แต่ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ ๆ กับผู้มีอุปการะ องค์กรการกุศล และองค์กรรัฐบาลกลางอื่น ๆ[58]

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 ทั้งนักศึกษาและบุคคลากรในสถาบันได้ทำการประท้วงทั้งสงครามเวียดนามทั้งงานวิจัยของ MIT เกี่ยวกับการทหาร[59][60] องค์กรสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย (Union of Concerned Scientists) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1969 ในการประชุมระหว่างบุคคลากรสถาบันและนักศึกษา ที่ต้องการเปลี่ยนแนวทางงานวิจัยที่เน้นการทหารไปยังปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมแทน[61] ในที่สุด MIT ก็แยกออกจากแล็บชาลส์สตาร์กเดรปเปอร์ (ที่ทำงานวิจัยทางการทหาร) และย้ายงานวิจัยลับทางทหารทั้งหมดจากมหาวิทยาลัยไปที่แล็บลิงคอล์นในปี ค.ศ. 1973 เพื่อตอบสนองต่อประเด็นปัญหาของการประท้วง[62][63] ทั้งหมู่นักศึกษา หมู่บุคคลากร และหมู่ผู้บริหาร โดยเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นแล้ว ไม่ได้แบ่งออกเป็นพรรคเป็นหมู่ ในช่วงเวลาที่เป็นสมัยสับสนอลหม่านในมหาวิทยาลัยหลายแห่งอื่น ๆ[59] อธิการบดีจอห์นสันได้รับเกียรติว่า ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการนำสถาบันไปสู่ "ความเข้มแข็งสามัคคีที่ดีขึ้น" หลังจากได้ผ่านเหตุการณ์วุ่นวายเหล่านี้ไปแล้ว[c]

ประวัติช่วงเร็ว ๆ นี้

แก้
 
มีเดียแล็บ (MIT Media Lab) เป็นที่นักวิจัยกำลังพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ รูปนี้แสดงอาคารที่เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1982 ออกแบบโดยไอ. เอ็ม. เพ (ศิษย์เก่า) และอาคารเสริมทางขวาของรูป ที่เปิดใช้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2010 ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Fumihiko Maki

MIT ได้ช่วยสร้างความก้าวหน้าให้แก่ยุคดิจิตัล คือ นอกจากจะพัฒนาเทคโนโลยีนำสมัยของคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์แล้ว[65][66] ทั้งนักศึกษา บุคคลากร และคณะอาจารย์ที่โปรเจ็กต์แม็ค (Project MAC), ที่แล็บปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence Laboratory) และที่สโมสรรถไฟจำลอง (Tech Model Railroad Club) ได้เขียนโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ที่เล่นโต้ตอบได้เป็นรุ่นแรก ๆ เช่น Spacewar! และได้เริ่มต้นใช้ศัพท์สแลงและเริ่มต้นวัฒนธรรมประเพณีของนักเลงคอมพิวเตอร์ (hacker) ที่ยังเป็นไปอยู่จนถึงทุกวันนี้อีกด้วย[67] องค์กรสำคัญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์หลายองค์กรมีจุดเริ่มต้นที่ MIT ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เช่น

MIT ได้รับเลือกให้เป็น sea-grant college ในปี ค.ศ. 1976 เพื่อสนับสนุนโปรแกรมของสถาบันในสาขาสมุทรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทางทะเลสาขาต่าง ๆ (marine sciences) และเป็น space-grant college ในปี ค.ศ. 1989 เพื่อสนับสนุนโปรแกรมของสถาบันในสาขาอากาศยานศาสตร์ (aeronautics) และอวกาศยานศาสตร์ (astronautics)[72][73]

แม้ว่าเงินสนับสนุนจากรัฐจะลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา MIT ได้รณรงค์รวบรวมเงินบริจาคหลายครั้ง ที่ได้ใช้ขยายวิทยาเขตออกไปอีก คือ

  • หอพักนักศึกษาและอาคารกีฬาใหม่ ๆ ในวิทยาลัยเขตทิศตะวันตก
  • ศูนย์การศึกษาการบริหารตั้ง (Tang Center for Management Education)
  • อาคารหลายอาคารทางมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวิทยาเขตเพื่อสนับสนุนงานวิจัยในสาขาชีววิทยา (ในอาคาร Koch Biology Building), วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมองและประชาน (brain and cognitive sciences ในกลุ่มอาคาร Brain and Cognitive Sciences complex), จีโนมิกส์ (ดำเนินงานโดยสถาบันบรอด), เทคโนโลยีชีวภาพ (ดำเนินงานโดยสถาบันไวท์เฮด), และงานวิจัยเกี่ยวกับมะเร็ง (ดำเนินงานโดยสถาบัน David H. Koch Institute for Integrative Cancer Research)
  • อาคารใหม่หลายอาคารบนถนนวาซซาร์ (Vassar) รวมทั้งศูนย์สตาตา (Stata Center)[74]

การก่อสร้างในวิทยาเขตในคริสต์ทศวรรษ 2000 รวมทั้งการขยายมีเดียแล็บ, วิทยาเขตด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนการบริหารสโลน, และที่อาศัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ[75][76]

ในปี ค.ศ. 2006 อธิการบดีหญิงฮ็อกฟิลด์จัดตั้งคณะกรรมการงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานเอ็มไอที (MIT Energy Research Council) เพื่อสืบสวนปัญหาข้ามสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานของโลก[77]

โอเพ็นคอร์สแวร์

แก้

ในปี ค.ศ. 2001 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากขบวนการโอเพนซอร์ซ และโอเพนแอกซ์เซสส์[78] สถาบันได้เริ่มโครงการ "โอเพ็นคอร์สแวร์" (OpenCourseWare ตัวย่อ OCW) ที่เปิดเล็กเช่อร์โน๊ต การบ้าน (problem set) ใบประมวลวิชา (syllabuses) และเล็กเช่อร์ จากชั้นวิชาต่าง ๆ โดยมาก ให้เข้าถึงได้ออนไลน์ฟรี[79] แม้ว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนโครงการนี้จะสูง[80] แต่โครงการ OCW ก็ขยายตัวออกไปอีกในปี ค.ศ. 2005 โดยเพิ่มมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เข้าในกลุ่มคอนซอร์เทียมโอเพ็นคอร์สแวร์ (OpenCourseWare Consortium) ซึ่งในปัจจุบันรวมสถาบันวิชาการกว่า 250 สถาบัน โดยมีข้อมูลวิชาการในอย่างน้อย 6 ภาษา[81]

ในปี ค.ศ. 2011 MIT ประกาศว่าจะเริ่มให้ใบรับรองอย่างเป็นทางการ (แต่ไม่ได้ให้เครดิตเพื่อปริญญา) สำหรับนักศึกษาออนไลน์ที่ผ่านวิชาในโปรแกรม "MITx" โดยเสียค่าใช้จ่ายพอประมาณ[82]

ซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม edX ที่ใช้ในโปรแกรม MITx พัฒนาขึ้นในตอนแรกโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และคล้ายคลึงกับโครงการ Harvardx ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเปิดให้ใช้ภายใต้สัญญาลิขสิทธิ์แบบโอเพนซอร์ซ และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ก็ได้เข้ามาร่วมในโครงการนี้และได้เพิ่มข้อมูลวิชาของตน ๆ เข้าในโครงการแล้ว[83]

เหตุระเบิดในบอสตันมาราธอน พ.ศ. 2556

แก้

3 วันหลังจากเหตุระเบิดในบอสตันมาราธอน พ.ศ. 2556 เจ้าหน้าที่ตำรวจของสถาบัน ชอน คอลลีเออร์ ถูกยิงตายโดยผู้ต้องสงสัย (คือ Dzhokhar และ Tamerlan Tsarnaev) ซึ่งจุดชนวนการล่าอาชญากรอย่างดุเดือด ที่ส่งผลให้ปิดวิทยาเขตและเขตมหานครบอสตันตลอดวัน[84] อีกอาทิตย์หนึ่งหลังจากนั้น ได้มีคนมางานศพของเจ้าหน้าที่ตำรวจคอลลีเออร์ ที่ทำในที่แจ้ง กว่า 10,000 คน โดยมีกลุ่มชนชาว MIT เป็นเจ้าภาพ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายรัฐจากเขตนิวอิงแลนด์และประเทศแคนาดามาร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนหลายพัน[85][86][87]

ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 2013 MIT ประกาศการจัดตั้งเหรียญคอลลีเออร์ (Collier Medal) ที่จะให้เป็นประจำปีต่อ "บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคอลลีเออร์แสดงเป็นตัวอย่างในฐานะเป็นสมาชิกของชุมชน MIT และในด้านอื่น ๆ ในชีวิตของเขา" คำประกาศนั้นยังกล่าวต่อไปอีกว่า

ผู้ได้รับรางวัลนี้ในอนาคตจะเป็นบุคคลผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเกินหน้าที่ของตน, เป็นบุคคลที่เชื่อมความสัมพันธ์ให้แก่ชนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน, และเป็นบุคคลผู้ที่ทำกรรมประกอบด้วยความเมตตาอย่างสม่ำเสมอโดยปราศจากการคำนึงถึงตนเอง[88][89][90]

วิทยาเขต

แก้
 
ศูนย์กลางและส่วนด้านทิศตะวันออกของวิทยาเขต มุมมองจากอากาศเหนือถนนแมสซาชูเซตส์และแม่น้ำชาลส์ ตรงกลางเป็นส่วนของอาคารที่เรียกว่า มหาโดม (the Great Dome) ที่มองเห็นวิวของสนามคิลเลียน โดยที่มีจัตุรัสเค็นดัลล์ (Kendall Square) เป็นพื้นเพ
 
อาคาร 10 และส่วนของอาคารที่เรียกว่า มหาโดม (the Great Dome) ที่มองเห็นวิวของสนามคิลเลียน

วิทยาเขตขนาด 425 ไร่ของ MIT กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศเหนือของลุ่มแม่น้ำชาลส์ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์[5] มีถนนแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Avenue, หรือรู้จักกันว่า Mass Ave) แบ่งครึ่งวิทยาเขตโดยประมาณ โดยมีหอพักนักศึกษาและอาคารที่สนับสนุนความเป็นอยู่ของนักศึกษาทางทิศตะวันตก และอาคารการศึกษาทางทิศตะวันออก มีสะพานที่อยู่ใกล้สถาบันมากที่สุดชื่อว่า สะพานฮาร์วาร์ด ซึ่งมีชื่อเสียงในการมีเครื่องหมายแสดงความยาวที่ไม่ใช่หน่วยมาตรฐาน คือมีหน่วยเป็นสมูท (smoot) ตามความสูงของนักศึกษาโอลิเวอร์ สมูท (รุ่นปี ค.ศ. 1962, เป็นอดีตประธานองค์กรมาตรฐาน ANSI)[91][92]

สถานีรถไฟ Kendall/MIT Station ที่รถไฟใต้ดินบอสตัน สายสีแดง ของการคมนาคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ (MBTA) วิ่งผ่าน อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือสุดเขตของมหาวิทยาลัยในจัตุรัสเค็นดัลล์ (Kendall Square) บริเวณรอบ ๆ วิทยาเขตซึ่งเป็นส่วนของเมืองเคมบริดจ์ มีทั้งบริษัทไฮเถ็กที่อยู่ในอาคารนำสมัย และในอาคารอุตสาหกรรมเก่าที่ได้รับการบูรณะ มีทั้งบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่าง ๆ กัน[93][94]

อาคารแต่ละอาคารของสถาบันใช้ตัวเลขเป็นเครื่องกำหนด (และอาจจะนำด้วย W, N, E, หรือ NW ตามทิศ) แต่ก็มีชื่อด้วยเช่นกัน โดยทั่ว ๆ ไปอาคารศึกษาและอาคารสำนักงานเรียกโดยใช้ตัวเลข แต่หอพักนักศึกษาต่าง ๆ เรียกโดยชื่อ ตัวเลขที่ใช้กำหนดจัดตามลำดับการสร้างอาคาร (โดยประมาณ) และตามตำแหน่ง (เช่นทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก) ที่สัมพันธ์กับอาคารชุดแรก ๆ ที่เรียกว่า "อาคาร (อธิการบดี) แม็คคลอริน"[95] อาคารต่าง ๆ เชื่อมต่อกันทั้งเหนือดินทั้งใต้ดิน ผ่านเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินที่เชื่อมต่อกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันภูมิอากาศของเมืองเคมบริดจ์แล้ว ยังเป็นที่ทำการของนักสำรวจหลังคาและอุโมงค์ (ที่ปกติไม่ได้รับอนุญาต) อีกด้วย[96][97]

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่อยู่ในวิทยาเขตของสถาบัน[98] เป็นเตาปฏิกรณ์ที่มีกำลังมากที่สุดเครื่องหนึ่งในบรรดาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐ และความเด่นชัดของอาคารจำกัดความเสียหาย (containment building) ที่อาจเกิดจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ในเขตที่มีประชากรหนาแน่น ก่อให้เกิดความคิดเห็นไปต่าง ๆ กัน[99] แต่สถาบันก็ยังยืนยันว่า อาคารนั้นมีการรักษาความปลอดภัยดีแล้ว[100] ในปี ค.ศ. 1999 บิล เกตส์ได้บริจาคเงินจำนวน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างแล็บคอมพิวเตอร์โดยมีชื่อว่า "อาคาร์วิลเลียม เอช เกตส์ (William H. Gates Building)" และออกแบบโดยสถาปนิก แฟรงก์ เกห์รี แม้ว่าบริษัทไมโครซอฟท์ (ที่เกตส์เป็นผู้ก่อตั้ง) จะได้บริจาคเงินสนับสนุนสถาบันมาก่อนแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เกตส์ได้บริจาคทรัพย์ส่วนบุคคล[101]

อุปกรณ์เครื่องมืออย่างอื่นที่น่าสนใจในวิทยาเขตรวมทั้งอุโมงค์ลมและอ่างเรือจำลองเพื่อทดสอบแบบเรือและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในทะเล[102][103] มีเครือข่ายแลนไร้สายของสถาบันที่ทำเสร็จในฤดูใบไม้ตกในปี ค.ศ. 2005 มีแอคเซสพอยต์ไร้สายเกือบ 3,000 จุดครอบคลุมเนื้อที่ 546 ไร่[104]

ในปี ค.ศ. 2001 สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฟ้อง MIT ในศาล เพราะทำผิดกฎหมายน้ำสะอาด (Clean Water Act) และกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) มีสาเหตุมาจากวิธีการเก็บและทิ้งสิ่งปฏิกูลอันตราย[105] MIT ได้ระงับคดีโดยเสียค่าปรับ 155,000 ดอลลาร์สหรัฐและได้ริเริ่มโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 3 โครงการ[106] คือ

  1. โดยเชื่อมต่อกับการรณรงค์หาเงินทุนเพื่อขยายวิทยาเขต สถาบันได้บูรณะอาคารที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน และได้ทำการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยใช้ยานพาหนะขนส่งในวิทยาเขตที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก (ที่ไม่ใช้น้ำมัน ถ่านหิน โพรเพน หรือแก๊สธรรมชาติเป็นต้น)
  2. โดยให้เงินสนับสนุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้ระบบขนส่งมวลชน (เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว)
  3. โดยสร้างโรงงานไฟฟ้าและความร้อน (cogeneration) มีมลพิษต่ำ และให้บริการทางด้านไฟฟ้า ความร้อน และแอร์คอนดิชั่น เกือบหมดทั้งวิทยาเขต[107]

ในระหว่างปี ค.ศ. 2009-2011 เจ้าหน้าที่ตำรวจของสถาบันพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งของพื้นที่และของรัฐแมสซาชูเซตส์ ได้สืบสวนการแจ้งความเกี่ยวกับการทำอนาจาร 12 กรณี การชิงทรัพย์ 6 กรณี การทำร้ายร่างกายจนได้รับอันตรายสาหัส 3 กรณี การชิงทรัพย์โดยบุกเข้าไปในเคหสถาน 164 กรณี การวางเพลิง 1 กรณี และการขโมยยานยนต์ 4 กรณี ในวิทยาเขต ซึ่งมีผลต่อชุมชนประมาณ 22,000 คนรวมทั้งนักศึกษาทั้งบุคคลากรของสถาบัน[108]

สถาปัตยกรรม

แก้
 
ศูนย์สตาตา (Stata Center) ออกแบบโดยแฟรงก์ เกห์รี เป็นอาคารที่อยู่ของแล็บวิทยาการคอมพิวเตอร์และแล็บปัญญาประดิษฐ์ (MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory) แล็บระบบสารสนเทศและการตัดสินใจ (MIT Laboratory for Information and Decision Systems) และคณะภาษาและปรัชญา

โรงเรียนสถาปัตยกรรม ซึ่งปัจจุบันคือโรงเรียนสถาปัตยกรรมและการวางแผน (School of Architecture and Planning) เป็นโรงเรียนสถาปัตยกรรมแห่งแรกในสหรัฐ[109] และสถาบันเองก็มีประวัติในการสร้างอาคารมีสถาปัตยกรรมทันสมัย[110][111] กลุ่มอาคารแรกสุดในวิทยาเขตเมืองเคมบริดจ์ที่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1916 ที่บางครั้งเรียกว่า "อาคารแม็คคลอริน" (Maclaurin buildings) ตามชื่อของอธิการบดีริชาร์ด แม็คคลอริน ผู้ดูแลการก่อสร้าง เป็นกลุ่มอาคารออกแบบโดยวิลเลียม บอสเวอร์ธ อาคารน่าเกรงขามเหล่านี้สร้างด้วยคอนกรีตเสริมแรง เป็นอาคารที่ไม่ใช่อาคารอุตสาหกรรมแห่งแรกในสหรัฐที่สร้างโดยวิธีนี้[112]

การออกแบบของบอสเวิร์ธได้รับอิทธิพลจากขบวนการสร้างเมืองให้สวย (City Beautiful Movement) ที่เป็นไปในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900[112] และสร้างเน้นอาคารที่เรียกว่า "มหาโดม" (the Great Dome) โดยสร้างคล้ายกับวิหารแพนธีอันในกรุงโรม เป็นที่อยู่ของห้องสมุดวิศวกรรมศาสตร์บาร์กเกอร์ (Barker Engineering Library) ที่มองลงมาเห็นสนามคิลเลียน (Killian Court) ซึ่งเป็นที่ที่จัดพิธีรับปริญญาทุกปี รอบ ๆ อาคารซึ่งฉาบด้วยหินปูนรอบ ๆ สนามคิลเลียน มีชื่อสลักของนักวิทยาศาสตร์และนักปราชญ์คนสำคัญ[d] ส่วนห้องโถงใหญ่ที่น่าเกรงขามในอาคาร 7 ที่อยู่ติดกับถนนแมสซาชูเซตส์ ถือกันว่า เป็นทางเข้าหลักของระเบียงไม่มีที่สิ้นสุด (Infinite Corridor, ซึ่งเชื่อมต่ออาคาร 7, 3, 10, 4 และ 8) และส่วนที่เหลือของวิทยาเขต[94]

หอพักนักศึกษา บ้านเบเกอร์ (Baker House ค.ศ. 1947) ที่ออกแบบโดยอัลวาร์ อาลโต, โบสถ์เอ็มไอที (MIT Chapel) และหอประชุมเครสก์ (Kresge Auditorium ค.ศ. 1955) ที่ออกแบบโดย Eero Saarinen, และอาคารกรีน (Green Building) อาคารเดรย์ฟัส (Dreyfus Building) และอาคารไวส์เนอร์ (Wiesner Building เป็นที่อยู่ของมีเดียแล็บ) ที่ออกแบบโดยไอ. เอ็ม. เพ (ศิษย์เก่า) ทั้งหมดล้วนแต่เป็นตัวอย่างที่สำคัญของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่หลังสงครามโลก[115][116][117]

อาคารใหม่ ๆ เช่น ศูนย์สตาตา (ค.ศ. 2004) ที่ออกแบบโดยแฟรงก์ เกห์รี, หอพักนักศึกษาซิมมอนส์ (Simmons Hall ค.ศ. 2002) ที่ออกแบบโดย Steven Holl, อาคาร 46 (ค.ศ. 2005) ที่ออกแบบโดย Charles Correa, และส่วนต่อเติมของอาคารมีเดียแล็บ (ค.ศ. 2009) ที่ออกแบบ Fumihiko Maki ล้วนแต่เป็นสถาปัตยกรรมคลาสสิกที่เด่นในเขตมหานครบอสตัน และเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมวิทยาเขตร่วมสมัยออกแบบโดยดาราสถาปนิก (starchitect)[110][118]

แต่ว่า อาคารเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะได้รับความนิยมเสมอไป[119][120] ในปี ค.ศ. 2010 บริษัทที่พิมพ์หนังสือแนะนำมหาวิทยาลัย The Princeton Review รวม MIT เข้าในกลุ่มมหาวิทยาลัย 20 แห่ง ที่มีวิทยาเขตที่ "เล็ก ๆ, ไม่น่าดู, หรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง"[121]

ที่อยู่ของนักศึกษา

แก้
 
หอพักนักศึกษาซิมมอนส์ (Simmons Hall) ที่สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 2002

สถาบันให้ประกันว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้ที่อยู่เป็นเวลา 4 ปี ในหอพักนักศึกษาปริญญาตรีที่มีอยู่ 12 แห่ง[122] ผู้ที่อยู่ในหอพักนักศึกษามีโอกาสที่จะได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผู้ให้คำปรึกษา และอาจารย์หัวหน้าหอพัก ที่ล้วนแต่อาศัยอยู่ที่หอพัก[123] เพราะว่าการแจกหอพักเป็นไปตามความชอบใจของนักศึกษาเองโดยส่วนหนึ่ง จึงมีกลุ่มนักเรียนมากมายหลายแบบที่รวมกลุ่มกันที่หอพักต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น หนังสือ คู่มือวงในในการเลือกมหาวิทยาลัย ค.ศ. 2010 เขียนโดยคณะทำงานของหนังสือพิมพ์ เยลเดลินิวส์ ของมหาวิทยาลัยเยล กล่าวไว้ว่า

ความแตกต่างกัน (ของหอพัก) ระหว่างวิทยาเขตตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นจุดเด่นของ MIT โดยที่ฝั่งทิศตะวันออกมีชื่อเสียงว่า มีกลุ่มนักศึกษานิยมวัฒนธรรมต่อต้านที่กำลังแพร่หลาย"[124]

นอกจากหอพักนักศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ก็ยังมีที่พักสำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้วย คือ มีหอพักโสด 5 หอพัก และมีอาคารชุด 2 อาคารสำหรับนักศึกษาที่มีครอบครัว[125]

นักศึกษามีทางเลือกเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยอื่นที่สืบเนื่องกับสถาบันแต่สถาบันไม่ได้เป็นผู้ดำเนินงาน คือ มี fraternity[e], sorority, และกลุ่มที่พักอาศัยอิสระ (independent living group) รวม ๆ กันเรียกว่า FSILGs ให้เลือกกว่า 36 แห่ง[126] ในปี ค.ศ. 2015 นักศึกษาระดับปริญญาตรีทั้งหมด 87% อาศัยในที่พักอาศัยตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด โดย 50% ของนักศึกษาชายอยู่ใน fraternity และ 32% ของนักศึกษาหญิงอยู่ใน sorority[127] ที่อยู่ดำเนินการโดย FSILGs นั้น โดยมากจะอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำชาลส์ในย่านแบล็กเบย์ของเมืองบอสตันที่เป็นแหล่งกำเนิดของสถาบัน แต่ก็ยังมี fraternity กลุ่มหนึ่งที่วิทยาเขตทิศตะวันตกด้วย[128]

หลังจากการเสียชีวิตเพราะการดื่มสุรา ของนักศึกษาสก็อตต์ ครูเกอร์ ในปี ค.ศ. 1997 ผู้เป็นสมาชิกใหม่ของ Phi Gamma Delta fraternity สถาบันได้เริ่มบังคับให้นักศึกษาปี 1 ทุกคน ให้อยู่ที่หอพักนักศึกษาของสถาบันเริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002[129] เหตุของความล่าช้าของกฎบังคับใหม่ก็เพราะว่า ในปีก่อน ๆ นักศึกษาปีหนึ่งได้อาศัยอยู่ที่ FSILGs เป็นจำนวนกว่า 300 คน มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เริ่มใช้นโยบายนี้จนกระทั่งเมื่อหอพักนักศึกษาซิมมอนส์ที่สร้างใหม่เปิดใช้ในปี ค.ศ. 2002[130]

ระบบการบริหาร

แก้
 
ล็อบบี้ 7 (มีหมายเลขที่อยู่เป็น 77 ถ. แมสซาชูเซตส์) ถือกันว่าเป็นทางเข้าหลักของวิทยาเขต

MIT จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมี MIT Corporation เป็นเจ้าของและบริหารโดยคณะทรัสตี (board of trustees) คณะทรัสตีปัจจุบันมีสมาชิก 43 คนที่ได้รับการเลือกตั้งมีวาระ 5 ปี[131] มีสมาชิกตลอดชีวิต 25 คนที่สามารถโหวตได้จนถึงวันเกิดที่ 75[132] มีเจ้าหน้าที่สถาบัน 3 คนที่ได้จากการรับเลือก (คืออธิการบดี เหรัญญิก และเลขาธิการ)[133] และมีสมาชิกโดยตำแหน่ง 4 คน คือประธานสมาคมศิษย์เก่า ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ เลขาธิการการศึกษารัฐแมสซาชูเซตส์ และหัวหน้าผู้พิพากษาของศาลสูงสุดของรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Supreme Judicial Court)[134][135]

ประธานคณะทรัสตีคนปัจจุบันคือ โรเบิรต์ มิลลาร์ด ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดตั้งบริษัท L-3 Communications[136][137] คณะทรัสตีมีอำนาจอนุมัติเงินงบประมาณ โปรแกรมการศึกษา ปริญญาใหม่ และการแต่งตั้งอาจารย์ และเลือกอธิการบดีให้เป็นประธานบริหารสถาบันและเป็นประธานของคณะการศึกษา[94][138]

กองทุนสั่งสมและทรัพย์สินทางการเงินอื่น ๆ ของสถาบัน มีการบริหารโดยบริษัทย่อยคือ บริษัทบริหารการลงทุนเอ็มไอที (MIT Investment Management Company)[139] ในปี ค.ศ. 2015 กองทุนสั่งสมของสถาบันมีค่าประมาณ 13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] เป็นกองทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2014[140]

MIT แบ่งออกเป็น 5 โรงเรียน (school) และ 1 วิทยาลัย (college) คือโรงเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์ โรงเรียนสถาปัตยกรรมและการวางแผน โรงเรียนการบริหารสโลน โรงเรียนมนุษยศาสคร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพวิทะเกอร์ แต่สถาบันไม่มีโรงเรียนเกี่ยวกับกฎหมายหรือการแพทย์[141][f] แม้ว่าคณะอาจารย์ต่าง ๆ จะมีอิทธิพลในเรื่องหลักสูตรการสอน งานวิจัย วิถีชีวิตของนักศึกษา และการบริหารสถาบันด้านอื่น ๆ[143] แต่ประธานของคณะศึกษากว่า 32 คณะก็ยังอยู่ใต้บังคับบัญชาของคณบดี ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของ Provost (ซึ่งดำเนินงานเป็นรองอธิการบดี) ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของอธิการบดีอีกทีหนึ่ง[144]

อธิการบดีคนปัจจุบันคือ ศ.แอ็ล ราฟาเอล รีฟ ผู้เคยทำหน้าที่เป็น provost ของอธิการบดีซูซาน ฮ็อกฟิลด์ ที่เป็นอธิการบดีหญิงคนแรกของสถาบัน[145][146]

การศึกษา

แก้

MIT เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่เน้นงานวิจัย มีนักศึกษาส่วนมากในระดับบัณฑิตศึกษาและในโปรแกรมระดับอาชีพ (ที่สูงกว่าระดับปริญญาตรี) อื่น ๆ และมีนักศึกษาจำนวนมากอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัย[147] มหาวิทยาลัยได้รับการรับรองวิทยฐานะจากสมาคมโรงเรียนและวิทยาลัยเขตนิวอิงแลนด์ (New England Association of Schools and Colleges) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929[148][149]

MIT มีปฏิทินการศึกษาแบบ 4-1-4 เดือน คือ

  • ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วง เริ่มตั้งแต่วันแรงงาน (วันจันทร์แรกของเดือนกันยายน) และจบลงกลางเดือนธันวาคม,
  • ภาค "ช่วงเวลากิจกรรมอิสระ" (Independent Activities Period) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ในเดือนมกราคม,
  • ภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม[150]

นักศึกษาเรียกทั้งวิชาเอก (major) และชั้นวิชา (class) โดยใช้ตัวเลขหรือตัวย่อเท่านั้น[g] ตามลำดับการก่อตั้งของคณะนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น คณะวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมเรียกว่า Course 1, และคณะภาษาและปรัชญาเรียกว่า Course 24[152] ส่วนนักศึกษาที่มีวิชาเอกเป็นวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นคณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เรียกตัวเองรวม ๆ กันว่า Course 6 (เช่น What course are you? I'm a Course 6.) นักศึกษาใช้ตัวเลขของคณะศึกษา รวมกับตัวเลขที่กำหนดโดยคณะศึกษาอีกตัวหนึ่งเพื่อเรียกวิชาต่าง ๆ เช่นวิชากลศาสตร์ดั้งเดิมที่ใช้แคลคูลัส เรียกว่า 8.01[153][h]

ระดับปริญญาตรี

แก้

โปรแกรม 4 ปีในระดับปริญญาตรี จะเป็นการศึกษาที่สมดุลระหว่างวิชาเอกและวิชาต่าง ๆ ทั้งในวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เป็นโปรแกรมที่เข้าได้ยาก[147] รับนักศึกษาเพียงแค่ 7.9% ของนักศึกษารุ่น ค.ศ. 2018 (ปีรับ 2014)[13] และรับนักศึกษาที่ย้ายมาจากมหาวิทยาลัยอื่นน้อยมาก[147] MIT มอบปริญญาตรีตามวิชาเอก 44 วิชาภายในโรงเรียน 5 โรงเรียน[156] เช่น ในปี 2010-2011 โรงเรียนมอบปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (ตัวย่อว่า SB มาจากคำภาษาละตินว่า Scientiæ Baccalaureus) 1,161 ปริญญา ซึ่งเป็นปริญญาประเภทเดียวที่ให้ในระดับปริญญาตรี[157][158]

ในเทอมฤดูใบไม้ร่วงในปี ค.ศ. 2011 โดยนับนักศึกษาที่ได้เลือกวิชาเอกแล้ว โรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์เป็นโรงเรียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีนักศึกษาถึง 62.7% ในโปรแกรมปริญญา 19 โปรแกรม ตามมาด้วยโรงเรียนวิทยาศาสตร์ (28.5%), โรงเรียนมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ (3.7%), โรงเรียนการบริหารสโลน (3.3%), และโรงเรียนสถาปัตยกรรมและการวางแผน (1.8%) วิชาเอกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในระดับปริญญาตรีก็คือ วิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Course 6-2), วิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Course 6-3), วิศวกรรมเครื่องกล (Course 2), ฟิสิกส์ (Course 8), และ คณิตศาสตร์ (Course 18)[154]

 
ระเบียงไม่มีที่สิ้นสุด (Infinite Corridor) เป็นทางเดินหลักผ่านวิทยาเขต

นักศึกษาทุกคนต้องจบหลักสูตรหลักที่เรียกว่า วิชาบังคับทั่วไปของสถาบัน (General Institute Requirements)[159] ส่วนวิชาบังคับวิทยาศาสตร์ (Science Requirement) ซึ่งมักจะเรียนในปี 1 เพราะเป็นวิชาที่ต้องเรียนก่อนวิชาอื่น ๆ ที่เป็นวิชาเอกของวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ มีวิชาฟิสิกส์ 2 ภาคการศึกษา, แคลคูลัส 2 ภาคการศึกษา, เคมี 1 ภาคการศึกษา, และชีววิทยา 1 ภาคการศึกษา และยังมีวิชาแล็บบังคับ (Laboratory Requirement) ซึ่งแต่ละวิชาเอกจะมีแล็บของตน ๆ ส่วนวิชาบังคับในมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ (HASS Requirement) กำหนดให้เรียน 8 วิชา ซึ่งต้องเลือก 1 วิชาจากแต่ละสาขาใน 3 สาขา (มีมนุษยศาสตร์เป็นต้น) และกลุ่มวิชาอย่างหนึ่งที่เลือกเป็น "วิชาเอก" (สำหรับโรงเรียน HASS) และในส่วนของวิชาบังคับการสื่อสาร (Communication Requirement) นักศึกษาต้องเลือกวิชา HASS 2 วิชา และอีก 2 วิชาที่อยู่ในกลุ่มวิชาเอก โดยเป็นวิชาที่ "มีการสื่อสารในระดับเข้ม"[160] ซึ่งมี "การสอนและภาคปฏิบัติในการนำเสนอปากเปล่า (ต่อหน้าชั้น)"[161] นอกจากนั้นแล้ว นักศึกษายังต้องผ่านการสอบว่ายน้ำ และผู้ที่ไม่ใช่นักกีฬาของสถาบันต้องลงวิชาพละ 4 กึ่งภาคการศึกษา (คือแต่ละชั้นมีระยะเวลากึ่งภาคการศึกษา ดังนั้น จึงสามารถจบวิชาพละทั้งหมดได้ภายใน 2 ภาคการศึกษา)[159]

วิชาโดยมากมีทั้งเล็กเช่อร์ การบรรยายในห้องเรียนโดยศาสตราจารย์ผู้ช่วยหรือโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา การบ้าน (problem set) ประจำอาทิตย์ และการสอบ ถึงแม้ว่านักศึกษามักจะเปรียบเทียบการศึกษาที่ยากและรวดเร็วของ MIT เหมือนกับ "พยายามดื่มน้ำจากท่อดับเพลิง"[i][163] อัตราการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาที่กลับมาเรียนในปี 2 ก็คล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยวิจัยระดับชาติอื่น ๆ[164] ระบบการให้เกรดแบบ "ผ่าน หรือ ไม่มีประวัติ" ช่วยลดความกดดันต่อนักศึกษาปี 1 คือ แต่ละวิชาที่เรียนในฤดูใบไม้ร่วง ใบแสดงผลการศึกษาของนักศึกษาปี 1 จะแสดงเพียงแค่ว่า "ผ่าน" หรือไม่ก็จะไม่มีประวัติอะไรเลย ส่วนในฤดูใบไม้ผลิ จะแสดงเกรดเอ บี หรือซี ที่แสดงว่าผ่าน หรือไม่ก็จะไม่มีประวัติอะไรเลยเหมือนกัน[165] (แต่ในปีก่อน ๆ การให้เกรดเป็นแบบ "ผ่าน/ไม่มีประวัติ" สำหรับปี 1 ทั้งปี แต่พึ่งเปลี่ยนในรุ่น ค.ศ. 2006 เพื่อป้องกันนักศึกษาปี 1 ฉวยโอกาสเรียนผ่านวิชาบังคับในส่วนวิชาเอก[166])

นอกจากนั้นแล้ว นักศึกษาปี 1 ยังสามารถเลือกสมัครเข้าเรียนในระบบการศึกษาทางเลือกต่าง ๆ เช่น

  • กลุ่มการศึกษาทดลอง (Experimental Study Group) ซึ่งศึกษาวิชาการต่าง ๆ ผ่านชั้นเรียนย่อย ๆ ที่ให้อาจารย์กับนักศึกษามีโอกาสตอบโต้กันมากขึ้น (เทียบกับเล็กเช่อร์ในระบบการศึกษาปกติ), ผ่านชั้นที่ฝึกการแก้ปัญหา (สอนโดยผู้ช่วยอาจารย์ที่เป็นนักศึกษาปีที่สูงกว่า), และผ่านชั้นสัมมนา
  • กลุ่มการศึกษา concourse ซึ่งเน้นการศึกษาในระดับกว้าง เน้นความรู้เกี่ยวกับรากฐานพื้นเพของสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์
  • กลุ่มการศึกษา Terrascope ซึ่งเน้นการศึกษาที่อาศัยการแก้ปัญหาข้ามสาขาวิชาโดยองค์รวม เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และความดำรงอยู่ได้ของสิ่งแวดล้อมของโลก[165]

ในปี ค.ศ. 1969 ศ.ญ. มากาเร็ต แม็ควิการ์ ก่อตั้ง "โปรแกรมเพื่อโอกาสทำงานวิจัยสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี" (Undergraduate Research Opportunities Program) เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปริญญาตรีทำงานร่วมกับอาจารย์หรือนักวิจัยโดยตรง นักศึกษาเข้าร่วมกับหรือเริ่มโปรเจ็กต์ (ที่นิยมเรียกว่า "UROP ยูร็อพ") เพื่อหน่วยกิต เพื่อค่าจ้างตอบแทน หรือโดยอาสาสมัคร สมัครได้โดยดูรายการประกาศบนเว็บไซต์ยูร็อพ หรือติดต่อกับอาจารย์โดยตรง[167] นักศึกษาโดยมากเข้าร่วมกับโปรแกรมนี้[168][169] และบ่อยครั้งตีพิมพ์ผลงานวิจัย หรือจดทะเบียนสิทธิบัตร หรือจัดตั้งบริษัทใหม่ สืบเนื่องกับประสบการณ์ที่ได้จากยูร็อพ[170][171]

ในปี ค.ศ. 1970 เมื่อยังเป็นดีนประชาสัมพันธ์ที่สถาบัน เบ็นสัน สไนเดอร์พิมพ์หนังสือ The Hidden Curriculum (หลักสูตรแฝง) ยกประเด็นว่า การศึกษาจริง ๆ ที่สถาบันไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่ากับการประพฤติตามกฎระเบียบที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร และว่า การจบการศึกษาโดยมีเกรดดีมักจะเป็นผลจากการเล่นเกมกับระบบมากกว่าการได้การศึกษาที่ดีจริง ๆ ตามความคิดของสไนเดอร์ นักศึกษาที่ประสบผลสำเร็จ (คือเรียนได้เกรดดี) เป็นผู้ที่สามารถแยกแยะได้ว่า กฎบังคับอะไรไม่ต้องสนใจ เพื่อที่จะมีเวลาทำการเกี่ยวกับกฎที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร ตัวอย่างเช่น นักศึกษาหลายกลุ่มได้รวบรวม "คู่มือวิชา (course bible)" ซึ่งรวบรวมคำถามที่ให้ในการบ้าน (problem-set) และในข้อสอบรวมทั้งคำตอบ สำหรับให้นักศึกษารุ่นหลัง ๆ ใช้เป็นคู่มือ สไนเดอร์เสนอว่า การเล่นเกมแบบนี้ ขัดขวางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และมีผลเป็นความรู้สึกไม่ปลื้มใจและไม่สบายใจในกลุ่มนักศึกษา[172][173]

 
ประติมากรรม Möbius Strip ของโรเบิรต์ อิงแมน แขวนอยู่ที่ยอดของห้องอ่านหนังสือในห้องสมุดวิศวกรรมศาสตร์บาร์กเกอร์ซึ่งอยู่ในมหาโดม

ระดับบัณฑิตศึกษา

แก้

โปรแกรมระดับบัณฑิตศึกษาของ MIT เป็นไปร่วมกันในระดับสูงกับโปรแกรมระดับปริญญาตรี นักศึกษาที่มีคุณสมบัติบางพวกจะลงทะเบียนศึกษาในวิชาของทั้งสองระดับ MIT มีโปรแกรมระดับดุษฎีบัณฑิตที่ให้ปริญญาในสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ และปริญญาระดับอาชีพ (professional degree) อื่น ๆ[147] คือ มีโปรแกรมระดับบัณฑิตศึกษาที่ให้ปริญญาเช่นปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (MS), ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ในระดับต่าง ๆ ในสาขาต่าง ๆ, ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (PhD), ปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (ScD), และปริญญาเพื่อวิชาชีพ (professional degree) ต่าง ๆ เช่นปริญญาสถาปัตยกรรมมหาบัณฑิต (MArch)[174], ปริญญาการบริหารมหาบัณฑิต (MBA)[175], ปริญญาการวางผังเมืองมหาบัณฑิต (Master of City Planning ตัวย่อ MCP)[176], ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (MEng)[177], และปริญญาการเงินมหาบัณฑิต (Master of Finance ตัวย่อ MFin) นอกจากนั้นแล้ว ยังมีโปรแกรมระดับบัณฑิตศึกษาแบบข้ามสาขาเช่นปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต/ปรัชญามหาบัณฑิต โดยทำร่วมกับโรงเรียนการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School)[178][179]

การรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาไม่ได้ทำอย่างรวมศูนย์กลาง แต่นักศึกษาต้องสมัครไปยังที่คณะการศึกษาหรือคณะผู้บริหารโปรแกรมการศึกษาโดยตรง นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตเกินกว่า 90% ได้รับความช่วยเหลือด้วยทุนการศึกษา (fellowship), งานเป็นผู้ช่วยงานวิจัย (research assistantship), หรือ งานเป็นผู้ช่วยสอน (teaching assistantship)[180]

MIT มอบปริญญามหาบัณฑิตให้นักศึกษา 1,547 คน และปริญญาดุษฎีบัณฑิต 609 คนในปีการศึกษา ค.ศ. 2010-2011[157] ในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงในปี ค.ศ. 2011 โรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์เป็นภาคที่นิยมที่สุด (มีนักศึกษา 45%) ตามมาด้วยโรงเรียนการบริหารสโลน (19%) โรงเรียนวิทยาศาสตร์ (16.9%) โรงเรียนสถาปัตยกรรรมและการวางแผน (9.2%) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพวิทะเกอร์ (5.1% รวมนักศึกษาข้ามสถาบัน 196 คนที่จะได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเท่านั้น) และโรงเรียนมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ (4.7%)

ส่วนโปรแกรมที่มีนักศึกษามากที่สุดก็คือสาขาการบริหารมหาบัณฑิต (MBA) วิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมเครื่องกล[154]

ลำดับของมหาวิทยาลัย

แก้
การจัดอันดับทางวิชาการ
ระดับชาติ
ARWU[182] 3
ฟอบส์[183] 5
U.S. News & World Report[184] 7
Washington Monthly[185] 14[181]
ระดับโลก
ARWU[186] 3
QS[187] 1
ไทม์[188] 5

ในการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในที่ต่าง ๆ MIT มักจะอยู่ใน 10 อันดับแรกของการจัดลำดับโดยทั่วไปและการจัดลำดับตามความชอบใจของนักศึกษา (ดูตาราง)[189][190][191] คือ เป็นเวลาหลายปีที่นิตยสาร รายงานข่าวสหรัฐและของโลก (U.S. News & World Report), หนังสือรายปี ลำดับมหาวิทยาลัยโลกคิวเอ็ส (QS World University Rankings), และหนังสือรายปี ลำดับการศึกษาของมหาวิทยาลัยโลก (Academic Ranking of World Universities) จัดโรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์ของ MIT เป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐและ/หรือของโลก และแม้แต่รายงานประจำทศวรรษของคณะกรรมการงานวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (United States National Research Council) พิมพ์ในปี ค.ศ. 1995 ก็เช่นกัน[192] และแหล่งข้อมูลเดียวกันนั่นแหละแสดงว่า ส่วนการศึกษาที่เด่นที่สุดนอกเหนือจากวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ ก็คือ วิทยาการคอมพิวเตอร์, สาขาต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, การบริหาร, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์, คณิตศาสตร์, และสาขาที่มีลำดับต่ำลงไปบ้าง คือรัฐศาสตร์ และปรัชญา[9][10][11][12][193]

ในปี ค.ศ. 2014 นิตยสาร Money ยกสถาบันให้เป็นที่ 3 ในรายการ "วิทยาลัยที่คุ้มค่าเงินที่สุด (Best Colleges for Your Money)" โดยประเมินคุณภาพการศึกษา ค่าใช้จ่ายที่พอสู้ได้ และผลที่ได้ในการทำงาน[194] ส่วนนิตยสาร ฟอบส์ ในปีเดียวกัน ยกสถาบันให้เป็นที่ 2 ในรายการ "มหาวิทยาลัยที่มีวัฒนธรรมในการเริ่มกิจการธุรกิจที่ดีที่สุด (Most Entrepreneurial University)" โดยกำหนดอัตราศิษย์เก่าและนักศึกษาที่บ่งชี้ตัวเองว่า เป็นผู้จัดตั้งหรือเป็นเจ้าของกิจการในเว็บไซต์สังคมลิงด์อิน[195] ในปี ค.ศ. 2015 Brookings Institution รายงานในบทความ "เหนือไปจากลำดับวิทยาลัย (Beyond College Rankings)" ยก MIT ให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 3 ในสหรัฐ ที่เพิ่มคุณค่าทางเงินเดือนให้ประมาณ 45% ในช่วงกลางอาชีพ[196]

การประสานงานกับองค์กรอื่น

แก้
 
หอประชุมเครสก์ (Kresge Auditorium ค.ศ. 1955) ออกแบบโดย Eero Saarinen เป็นตัวอย่างคลาสสิกของสถาปัตยกรรมหลังสงคราม

ตามประวัติแล้ว สถาบันมักจะริเริ่มการร่วมมือกันทางงานวิจัยและการศึกษา กับองค์กรการศึกษา อุตสาหกรรม และรัฐ[j][k] ในปี ค.ศ. 1946 อธิการบดีคอมป์ตัน, ศาสตราจารย์สาขาการบริหารของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจอร์จส โดรีอ็อท, และประธาน Massachusetts Investor Trust เมอร์ริล์ล กริสส์โวลด์ ก่อตั้งบริษัท American Research & Development Corp ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุน (venture capital) อเมริกันเป็นบริษัทแรก (ในประเทศ)[199][200] ในปี ค.ศ. 1948 อธิการบดีคอมป์ตันก่อตั้งโปรแกรมการประสานงานกับอุตสาหกรรมเอ็มไอที (MIT Industrial Liaison Program)[l]

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 นักการเมืองและผู้นำทางธุรกิจชาวอเมริกันโทษ MIT และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในฐานมีส่วนร่วมทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่เริ่มตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 โดยทรานสเฟอร์งานวิจัยและเทคโนโลยีที่ได้ทุนมาจากภาษีของประชาชน ไปยังบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะของชาวญี่ปุ่น ที่เป็นคู่แข่งของบริษัทอเมริกันที่กำลังเดือดร้อน[202][203]

โดยอีกมุมมองหนึ่ง การร่วมมืออย่างใกล้ชิดอย่างกว้างขวางของสถาบันกับรัฐบาลกลางในงานวิจัยต่าง ๆ มีผลให้ผู้นำสถาบันหลายคนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940[204]

MIT จัดตั้งสำนักงานในเมืองหลวงวอชิงตัน ดี.ซี. ในปี ค.ศ. 1991 เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการวิ่งเต้นกับรัฐบาลกลาง เพื่อเงินทุนงานวิจัยและนโยบายวิทยาศาสตร์ของชาติ[205][206]

กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (Justice Department) เริ่มการสืบสวนคดีในปี ค.ศ. 1989 และในปี ค.ศ. 1991 ยกคดีการผูกขาดฟ้อง MIT ในศาล, มหาวิทยาลัยไอวีลีกทั้ง 8, และสถาบันอื่น ๆ อีก 11 แห่ง ฐานรวมหัวกันกำหนดราคา (ค่าเรียน) ในงานประชุมประจำปีที่เรียกว่า Overlap Meetings ที่จัดเพื่อป้องกันสงครามประมูลราคาระหว่างสถาบันเพื่อนักศึกษาคุณภาพ ซึ่งจะดึงทุนไปจากทุนการศึกษาที่ให้ตามความจำเป็นของนักศึกษา[207][208] ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยไอวีลีกจะประนีประนอมยอมความนอกศาล[209] MIT ได้สู้ความในศาล โดยโต้ว่าวิธีเช่นนี้ไม่ได้ต่อต้านการแข่งขัน เพราะว่าเป็นวิธีที่สามารถให้การช่วยเหลือแก่นักศึกษาเป็นจำนวนมากที่สุด[210][211] ในที่สุด MIT ก็ชนะคดีเมื่อกระทรวงยุติธรรมถอนคำฟ้องในปี ค.ศ. 1994[212][213]

 
อาคารอนุสรณ์อธิการบดีวอล์กเกอร์ (Walker Memorial) เป็นอนุสรณ์ของอธิการบดีคนที่ 4 ของสถาบันคือฟรานซิส วอล์กเกอร์
 
วิทยาเขตส่วนหลัก มองจากถนนวาซซ่าร์ (Vassar Street) มองเห็นมหาโดมไกล ๆ และศูนย์สตาตาทางขวามือ

การมีวิทยาเขตอยู่ใกล้ชิดกับ[m] มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ที่ชุมชน MIT เรียกว่า "the other school up the river ไอ้อีกมหา'ลัยหนึ่งที่อยู่เหนือแม่น้ำ") มีผลให้สถาบันทั้งสองร่วมมือกัน เช่น ร่วมสร้างหน่วยการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพฮาร์วาร์ด-เอ็มไอที (Harvard-MIT Division of Health Sciences and Technology) และสถาบันบรอด (Broad Institute)[214] นอกจากนั้นแล้ว นักศึกษาจากทั้งสองสถาบันสามารถลงทะเบียนวิชาของอีกสถาบันหนึ่ง เพื่อหน่วยกิตสำหรับสถาบันของตนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม[214]

ยิ่งไปกว่านั้น โปรแกรมการลงทะเบียนเรียนวิชาข้ามสถาบันระหว่าง MIT และวิทยาลัยเวลล์สลีย์ (Wellesley College) ก็มีมาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 ในปี ค.ศ. 2002 สถาบันเคมบริดจ์-เอ็มไอที (Cambridge-MIT Institute) ได้เริ่มโปรแกรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาปริญญาตรีระหว่าง MIT และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แห่งประเทศอังกฤษ[214] นอกจากนั้นแล้ว MIT ยังมีโปรแกรมการลงทะเบียนเรียนวิชาข้ามสถาบันกับมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) มหาวิทยาลัยแบรนไดส์ (Brandeis University) มหาวิทยาลัยทัฟส์ วิทยาลัยศิลปศาสตร์แมสซาชูเซตส์ (Massachusetts College of Art) และโรงเรียนพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ในเมืองบอสตัน (School of the Museum of Fine Arts) อีกด้วย แม้จะอยู่ในระดับที่น้อยกว่าสถาบันอื่นที่กล่าวมาก่อน[214]

MIT มีความสัมพันธ์ด้านการวิจัยและการแลกเปลี่ยนบุคคลากรผู้สอน กับองค์กรการวิจัยอิสระในเขตมหานครบอสตันอีกหลายสถาบัน เช่นแล็บชาลส์สตาร์กเดรปเปอร์ (เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการทหาร การสำรวจอวกาศ สุขภาพ และพลังงาน), สถาบันไวท์เฮดเพื่อการวิจัยชีวเวช (Whitehead Institute for Biomedical Research เพื่องานวิจัยเกี่ยวกับชีวเวชและจีโนมิกส์), สถาบันสมุทรศาสตร์วูดสโฮล (เพื่องานวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ทางทะเล) และองค์กรการวิจัยและการศึกษานานาชาติที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องอื่น ๆ รวมทั้ง โครงการพันธมิตรสิงคโปร์-เอ็มไอที (Singapore-MIT Alliance กับมหาวิทยาลัยสิงคโปร์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยเทคนิคนานยางของประเทศสิงคโปร์, MIT-Politecnico di Milano (กับมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคมิลาน)[214][215] โปรแกรมโลจิสติกส์สากลเอ็มไอที-ซาราโกซา (MIT-Zaragoza International Logistics Program กับมหาวิทยาลัยซาราโกซาแห่งประเทศสเปน) และโครงการต่าง ๆ อื่นกับประเทศอื่น ๆ โดยดำเนินการผ่านโปรแกรมริเริ่มทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MIT International Science and Technology Initiatives)[214][216]

สถาบันมีนิตยสารที่พิมพ์ขายโดยทั่วไปคือ Technology Review ซึ่งพิมพ์โดยบริษัทในเครือ และมีฉบับที่พิมพ์พิเศษเป็นนิตยสารสำหรับศิษย์เก่า[217][218]

โรงพิมพ์ MIT Press เป็นโรงพิมพ์มหาวิทยาลัยที่สำคัญโรงพิมพ์หนึ่ง ตีพิมพ์หนังสือกว่า 200 เล่ม และวารสารกว่า 30 ฉบับต่อปี โดยเน้นประเด็นทั้งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งทางศิลปศาสตร์ สถาปัตยกรรม สื่อใหม่ ๆ เหตุการณ์ปัจจุบัน และปัญหาสังคม[219]

ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์

แก้

สถาบันมีห้องสมุด 5 แห่งแบ่งตามสาขาวิชา คือ ห้องสมุดบาร์กเกอร์ (วิศวกรรมศาสตร์) ห้องสมุดดิวอี้ (เศรษฐศาสตร์) ห้องสมุดเฮเด็น (มนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์) ห้องสมุดลิวอิส (การดนตรี) และห้องสมุดร็อตช์ (ศิลปศาสตร์และสถาปัตยกรรม) นอกจากนั้นแล้ว ยังมีห้องสมุดพิเศษและสถานที่เก็บเอกสารอื่น ๆ รวม ๆ กันแล้ว ห้องสมุดทั้งหมดมีหนังสือตีพิมพ์มากกว่า 2.9 ล้านเล่ม เอกสารพิมพ์ย่อลงในฟิลม์หรือสื่ออื่น ๆ (microform) กว่า 2.4 ล้านชิ้น เป็นสมาชิกวารสารที่เป็นทั้งสิ่งตีพิมพ์ทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์กว่า 49,000 ฉบับ และฐานข้อมูลอ้างอิงคอมพิวเตอร์ 670 ฐาน ในทศวรรษที่ผ่านมา สื่อดิจิทัล (สื่ออิเล็กทรอนิกส์) ได้รับความสนใจมากขึ้นเทียบกับสื่อตีพิมพ์[220]

สิ่งเก็บรวบรวมที่น่าสนใจมีทั้งงานดนตรีคริสต์ศตวรรษที่ 20 และ 21 กับงานดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ของห้องสมุดลิวอิส[221] ทั้งนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ของศูนย์ทัศนศิลป์ลิสต์ (List Visual Arts Center)[222] ทั้งนิทรรศการข้ามศาสตร์ของหอศิลป์คอมป์ตัน[223]

สถาบันแบ่งส่วนหนึ่งของงบประมาณการสร้างและการบูรณะ เพื่อว่าจ้างการทำและการรักษา งานศิลป์และงานประติมากรรมกลางแจ้งเป็นจำนวนมาก โดยเป็นศิลป์สะสมที่เปิดให้ชนทั่วไปชม[224][225]

พิพิธภัณฑ์ MIT เปิดขึ้นในปี ค.ศ. 1971 เพื่อสะสม รักษา และจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่สำคัญต่อวิถีชีวิตในสถาบัน หรือประวัติของสถาบัน และยังดำเนินการร่วมกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของเมืองบอสตันที่อยู่ใกล้ ๆ อีกด้วย[226]

งานวิจัย

แก้

สถาบันได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของสมาคมมหาวิทยาลัยอเมริกัน[42][147] ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความกว้างขวางและคุณภาพของโปรแกรมงานวิจัยและการศึกษาของสถาบัน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานวิจัยทั้งหมดรวมเป็นเงิน 718.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2009[227] รัฐบาลกลางเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยรายใหญ่ที่สุด โดยกระทรวงต่าง ๆ คือ กระทรวงการบริการเกี่ยวกับสุขภาพและเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์อื่น ๆ (Department of Health and Human Services) ให้ทุนเป็นจำนวน 255.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงกลาโหมให้ 97.5 ล้านเหรียญ กระทรวงพลังงานให้ 65.8 ล้านเหรียญ และโดยองค์กรอิสระต่าง ๆ คือ มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ให้ 61.4 ล้านเหรียญ และองค์การนาซา ให้ 27.4 ล้านเหรียญ[227]

MIT มีผู้ทำงานวิจัยอีก 1,300 คนนอกเหนือจากคณะอาจารย์[228] ในปี ค.ศ. 2011 คณะอาจารย์และนักวิจัยของสถาบันประกาศสิ่งประดิษฐ์ใหม่ 632 อย่าง รับสิทธิบัตร 153 บัตร ได้เงินรายได้ 85.4 ล้านเหรียญ และรับค่าสิทธิ (royalties) เป็นจำนวนเงิน 69.6 ล้านเหรียญ[229] โดยดำเนินการผ่านโปรแกรมของสถาบันเช่น Deshpande Center คณะอาจารย์ได้โอกาสในการใช้ผลงานวิจัยและสิ่งค้นพบ ในการสร้างธุรกิจมีค่าเป็นหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ[230]

 
โปรเจ็กต์กนู และขบวนการซอฟต์แวร์เสรี มีกำเนิดที่ MIT

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์เช่นหน่วยความจำวงแหวนแม่เหล็ก (magnetic core memory), เรดาร์, single electron transistor, และระบบนำวิถีอาศัยหลักความเฉื่อย เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์หรือพัฒนาขึ้นอย่างสำคัญที่ MIT[231][232] ศ.แฮโรลด์ ยูจีน เอ็ดเกอร์ตัน เป็นผู้นำในงานวิจัยเกี่ยวกับการถ่ายภาพความเร็วสูงและโซนาร์[233][n] ดร. คล็อด แชนนอน คิดค้นทฤษฎีสารสนเทศ และค้นพบการประยุกต์ใช้ตรรกะแบบบูล (Boolean logic) เพื่อใช้ในทฤษฎีการออกแบบวงจรดิจิตัล (digital circuit)[235]

ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะอาจารย์และนักวิจัยของสถาบันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาหลักวิทยาการพื้นฐาน เช่น นอร์เบิร์ต ไวน์เนอร์ มีส่วนในทฤษฎีไซเบอร์เนติกส์ ศ.มาร์วิน มินสกี ในปัญญาประดิษฐ์ ศ.โจเซ็ฟ ไวเซ็นบอม ในภาษาคอมพิวเตอร์ ศ.แพ็ททริก วินสตัน ในการเรียนรู้ของเครื่อง ศ.ร็อดนีย์ บรุกส์ ในวิทยาการหุ่นยนต์ และ ศ.โรนัลด์ ไรเวสต์ (ผู้ค้นพบขั้นตอนวิธีการเข้ารหัสลับ RSA) ในวิทยาการเข้ารหัสลับ[232][236] ในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะอาจารย์และนักวิจัยของสถาบันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาหลักวิทยาการพื้นฐาน เช่น นอร์เบิร์ต ไวน์เนอร์ มีส่วนในทฤษฎีไซเบอร์เนติกส์ ศ.มาร์วิน มินสกี ในปัญญาประดิษฐ์ ศ.โจเซ็ฟ ไวเซ็นบอม ในภาษาคอมพิวเตอร์ ศ.แพ็ททริก วินสตัน ในการเรียนรู้ของเครื่อง ศ.ร็อดนีย์ บรุกส์ ในวิทยาการหุ่นยนต์ และ ศ.โรนัลด์ ไรเวสต์ (ผู้ค้นพบขั้นตอนวิธีการเข้ารหัสลับ RSA) ในวิทยาการเข้ารหัสลับ[232][237]

สถาบันมีบุคคลที่ได้รับรางวัลทัวริงอย่างน้อย 9 คน และที่ได้รับรางวัลเดรปเปอร์ (Draper Prize, ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรางวัลโนเบลของสาขาวิศวกรรมศาสตร์) อย่างน้อย 7 คน ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบัน[238][239]

ทั้งคณะอาจารย์ฟิสิกส์ชุดปัจจุบันและชุดก่อน ๆ รวมกันแล้วได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ 8 รางวัล[240] เหรียญ Dirac Medals ขององค์กร Abdus Salam International Centre for Theoretical Physics (ITCP) 4 รางวัล[241] และรางวัลวูล์ฟ 3 รางวัลโดยหลักเพื่องานในทฤษฎีอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม และทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม[242]

ส่วนคณะอาจารย์เคมีได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี 3 รางวัล และรางวัลวูล์ฟ 1 รางวัล สำหรับการคิดค้นการสังเคราะห์และวิธีการสังเคราะห์สารเคมีใหม่ ๆ[240]

ส่วนคณะอาจารย์ชีววิทยาได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ 6 รางวัล สำหรับงานในสาขาพันธุศาสตร์ วิทยาภูมิคุ้มกัน วิทยามะเร็ง และอณูชีววิทยา[240] ศ.อีริก แลนด์เดอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในโครงการจีโนมมนุษย์[243][244] อะตอมของระบบ Positronium[245] เพนิซิลลินสังเคราะห์[246] และโมเลกุลสังเคราะห์ที่ขยายพันธุ์เอง (synthetic self-replicating molecules)[247] และเหตุทางพันธุกรรมของโรคเซลล์ประสาทสั่งการ Lou Gehrig's disease และโรคฮันติงตัน ล้วนแต่ค้นพบก่อนที่ MIT[248]

ศ.เจโรม เล็ตต์วิน ปฏิรูปประชานศาสตร์ (cognitive science) ด้วยงานของเขาที่มีชื่อว่า "What the frog's eye tells the frog's brain (สิ่งที่ตาของกบบอกสมองของกบ)"[249]

ในสาขามนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ 5 รางวัล และเหรียญ John Bates Clark Medal 9 รางวัล[240][250] ส่วนนักภาษาศาสตร์ ศ.โนม ชัมสกี และ ศ.มอร์ริส ฮัลเล เขียนหนังสือที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับไวยากรณ์เพิ่มพูน (generative grammar) และสัทวิทยา[251][252]

มีเดียแล็บ (MIT Media Lab) ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1985 ภายใต้โรงเรียนสถาปัตยกรรมและการวางแผน เป็นแล็บที่รู้จักกันดีโดยงานวิจัยที่ไม่เหมือนใคร[253][254] เป็นที่ทำการของนักวิจัยที่มีชื่อเสียง เช่น ศ.เซมอร์ เพเปอรต์ ผู้เป็นอาจารย์สอนทฤษฎีการเรียนรู้ Constructivism และผู้ประดิษฐ์ภาษาโปรแกรม Logo[255]

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน 38 บุคคลได้รับ รางวัล MacArthur Fellowship (มีชื่อเล่นว่า รางวัลอัจฉริยะ) โดยครอบคลุมหลายสาขาวิชาที่ได้กล่าวมาแล้ว[256] มีผู้รับรางวัลพูลิตเซอร์ 4 คนที่กำลังทำงานหรือเคยทำงานที่สถาบัน[257] อาจารย์ปัจจุบันหรือในอดีต 4 คนเป็นสมาชิกของสถาบันศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Arts and Letters)[258]

การกล่าวหาถึงการกระทำไม่ชอบหรือไม่สมควรในงานวิจัย มักได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก คือ ศ.เดวิด บัลติมอร์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ในปี ค.ศ. 1975 ถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการกระทำไม่ชอบในงานวิจัยในปี ค.ศ. 1986 จนกระทั่งถึงกับถูกตรวจสอบโดยรัฐสภาสหรัฐในปี ค.ศ. 1991[259][260] ส่วน ศ.เท็ด โพสต์ตัล (เป็น ศ. วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความมั่นคงนานาชาติ ของสถาบัน) ได้กล่าวหาผู้บริหารสถาบันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ว่าพยายามปกปิดสิ่งที่อาจเป็นการกระทำไม่ชอบในงานวิจัยที่แล็บลิงคอล์น เกี่ยวข้องกับการทดสอบระบบป้องกันขีปนาวุธ แม้ว่าการสืบสวนประเด็นนี้จะยังไม่สิ้นสุดลง[261][262]

ในปี ค.ศ. 2005 สถาบันไล่รองศาสตราจารย์ Luk Van Parijs ออกจากตำแหน่งหลังจากได้รับการกล่าวหาว่าทำการไม่ชอบในงานวิจัย ผู้หลังจากนั้นก็ถูกตัดสินโดยศาลว่าทำผิดในปี ค.ศ. 2009[263][264]

ประเพณีและกิจกรรมของนักศึกษา

แก้

ทั้งคณะอาจารย์และนักศึกษาให้ค่านิยมกับการประสบความสำเร็จด้วยตน (meritocracy) และความเชี่ยวชาญตามหลักวิชาเฉพาะอย่าง (technical proficiency)[265][266] สถาบันไม่เคยมอบปริญญากิตติมศักดิ์ ไม่เคยให้ทุนการศึกษาเพราะความสามารถทางการกีฬา ไม่เคยให้ปริญญาแบบ ad eundem (เป็นปริญญาให้แก่บุคคลที่สำเร็จการศึกษาปริญญานั้นในสถาบันอื่น) และไม่เคยให้ปริญญาพร้อมกับเกียรตินิยม (เช่นอันดับ 1 อันดับ 2 เป็นต้น)[267] ถึงอย่างนั้น สถาบันก็ยังเคยให้ตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ 2 ตำแหน่งคือ กับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิล ในปี ค.ศ. 1949 และกับนักเขียนซัลมัน รัชดี ในปี ค.ศ. 1993[268]

นักศึกษาปี 3 และ ปี 4 และศิษย์เก่า มักจะใส่แหวนรุ่นที่หนัก ใหญ่ มีเอกลักษณ์ ที่เรียกว่า "Brass Rat (หนู[บีเวอร์]ทองเหลือง)"[269][270] โดยมีกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1929 ชื่อทางการของแหวนก็คือ "Standard Technology Ring (แหวนมาตรฐานเทคโนโลยี หมายความว่า แหวนมาตรฐานของเทคคือสถาบัน)"[271] การออกแบบแหวนของนักศึกษาปริญญาตรี (ที่ต่างจากของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา) ต่างกันเล็ก ๆ น้อย ๆ จากปีสู่ปี เพื่อสะท้อนถึงประสบการณ์พิเศษที่มีกับสถาบันของนักศึกษารุ่นนั้น แต่จะมีรูปแบบเหมือนกันโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ มีตราของสถาบันและปีจบการศึกษาของนักศึกษาอยู่คนละส่วน ขนาบหน้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ตรงกลางที่มีรูปของบีเวอร์อเมริกัน[269]

ส่วนอักษรย่อว่า "IHTFP" ซึ่งย่อคำขวัญไม่เป็นทางการของสถาบันคือ "I Hate This Fucking Place (ไอ้...เอ๊ย กูเกลียดที่นี่มาก)" หรือคำขวัญขำ ๆ อื่น ๆ เช่น "I Have Truly Found Paradise (ฉันได้มาถึงสวรรค์ที่แท้จริงแล้ว)" "Institute Has The Finest Professors (สถาบันมีอาจารย์ที่สุดยอดจริง ๆ)" "It's Hard to Fondle Penguins (มันยากนะที่จะลูบคลำนกเพนกวินด้วยความรัก)" บางครั้งก็จะปรากฏตัวในแหวนบางรุ่นเพราะประวัติความเด่นของคำขวัญนี้ในประเพณีชีวิตของนักศึกษา[272]

กิจกรรมนักศึกษา

แก้
 
จุดเริ่มต้นงานประเพณีประจำปี "งานล่าปริศนาลับ" (MIT Mystery Hunt) ในปี ค.ศ. 2007

MIT มีกลุ่มกิจกรรมนักศึกษากว่า 500 กลุ่มที่สถาบันยอมรับ[273] รวมกิจกรรมของสถานีวิทยุประจำวิทยาเขต WMBR หนังสือพิมพ์นักศึกษา The Tech การแข่งขัน (ชิงทุนธุรกิจ) ประจำปี (MIT $100K Entrepreneurship Competition) และภาพยนตร์ยอดนิยมประจำสัปดาห์โดยกลุ่มนักศึกษา Lecture Series Committee และยังมีกลุ่มกิจกรรมที่ไม่เหมือนคนอื่นรวมทั้งสมาคมนวนิยายวิทยาศาสตร์ MIT (MIT Science Fiction Society) ซึ่งอ้างว่า "มีหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ (ภาษาอังกฤษ) ในตู้เปิดมากที่สุดในโลก" สโมสรรถไฟจำลอง (model railroad club) และเท็คสแควร์ส (Tech Squares) ซึ่งเป็นสโมสรเต้นรำสไตล์ "modern Western squares" นอกจากนี้แล้ว มีนักศึกษา คณะอาจารย์ และบุคคลากรอื่นที่ทำงานในโปรแกรมเพื่อการศึกษาการกุศลและบริการสาธารณะอื่น ๆ โดยผ่านพิพิธภัณฑ์ MIT, ศูนย์เอ็ดเกอร์ตัน, และศูนย์บริการสาธารณะเอ็มไอที[274]

ช่วงเวลากิจกรรมอิสระ (Independent Activities Period ตัวย่อ IAP) เป็น "ภาคการศึกษา" ระยะเวลา 4 อาทิตย์ ที่มีชั้นวิชา (เลือก) เล็กเช่อร์ นิทรรศการ และกิจกรรมอื่น ๆ เป็นหลายร้อยอย่าง ในเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างภาคการศึกษาฤดูใบไม้ตกและภาคการศึกษาฤดูใบไม้ผลิ กิจกรรม IAP ยอดนิยมที่จัดขึ้นบ่อย ๆ รวมทั้ง 6.270 (การแข่งขันหุ่นยนต์มีโครงเป็นเลโก้), 6.370 (การแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นหุ่นยนต์สู้กัน), และ MasLab (การแข่งขันหุ่นยนต์ที่อาศัยระบบการเห็น)[275] งานล่าปริศนาลับ (MIT Mystery Hunt) ประจำปี,[276] และโรงเรียนสร้างเสน่ห์ (Charm School)[277][278]

นักศึกษามากกว่า 250 คนทำงานในช่วงเวลาอิสระ (ในระบบ externship) กับบริษัททั้งในสหรัฐทั้งต่างประเทศทุก ๆ ปี ซึ่งบางครั้งอาจจะนำไปสู่งานในช่วงปิดเทอม (ในระบบ internship) และแม้แต่งานจริง ๆ หลังจากจบการศึกษาแล้ว[279][280]

นักศึกษาหลายพวกยังร่วมทำวีรกรรมทีเรียกว่า "hacking" ซึ่งหมายถึงการลอบเข้าไปสำรวจเขตต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ที่ปกติไม่เปิดให้เข้าถึง (เช่นบนหลังคาหรือในอุโมงค์ส่งไอน้ำ) หรือการเล่นตลกที่ค่อนข้างซับซ้อน (เช่นเอารถตำรวจที่มีสัญญาณไฟที่ใช้ได้ไปไว้บนหลังคามหาโดม พร้อมกับตุ๊กตาคุณตำรวจที่มีถ้วยกาแฟและกล่องโดนัทอยู่ใกล้ ๆ)[281][282] งาน hack ที่เด่นเร็ว ๆ นี้ก็คือ

  • การลักเอาปืนใหญ่มีอายุ 130 ปี ขนาด 1.7 ตัน ของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (แคลเท็คเป็นสถาบันคู่แข่งในเมืองแพซาดีนาอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทวีปทางทิศตะวันตก) มาตั้งไว้ที่วิทยาลัยเขตในปี ค.ศ. 2006[283]
  • งานสร้างใหม่ซึ่งเครื่องบินยนต์ลำแรกของโลกที่สร้างโดยสองพี่น้องไรต์ โดยนำไปไว้บนหลังคามหาโดม[284]
  • การประดับรูปปั้นของบาทหลวงจอห์น ฮาร์วาร์ด ที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้วยหมวกแบบสปาร์ตันของพระเอกในเกมคอมพิวเตอร์ชุด Halo ชื่อว่า Master Chief Petty Officer John-117[285]

ทีมกีฬา

แก้
 
ศูนย์กีฬา Zesiger sports and fitness center เป็นศูนย์ออกกำลังกายสองชั้น มีสระสำหรับว่ายน้ำและสำหรับกระโดดน้ำ

MIT สนับสนุนทีมแข่งขันกีฬาระดับมหาวิทยาลัย 31 ทีม ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จัดว่ากว้างขวางโปรแกรมหนึ่งในบรรดามหาวิทยาลัยที่มีทีมกีฬาระดับ NCAA ภาค 3 (เป็นภาคที่ไม่ให้ทุนการศึกษาเนื่องกับกีฬาของสมาคมกีฬาวิทยาลัยแห่งชาติ [National Collegiate Athletic Association ตัวย่อ NCAA])[286][287] ทีมของ MIT

  • แข่งขันในกลุ่มต่าง ๆ ของ NCAA ภาค 3 คือ กลุ่มแข่งกีฬาชายหญิงเขตนิวอิงแลนด์ (New England Women's and Men's Athletic Conference), กลุ่มอเมริกันฟุตบอลเขตนิวอิงแลนด์ (New England Football Conference), และ Pilgrim League สำหรับกีฬา lacrosse ทีมผู้ชาย
  • แข่งขันในกลุ่มต่าง ๆ ของ NCAA ภาค 1 คือ สมาคมวิทยาลัยพายเรือหญิงเขตตะวันออก (Eastern Association of Women's Rowing Colleges) สำหรับนักกีฬาพายเรือหญิง และสมาคมวิทยาลัยโปโลน้ำ (Collegiate Water Polo Association) สำหรับนักโปโลชาย
  • และแข่งขันในกลุ่มนอก NCAA คือ สมาคมวิทยาลัยพายเรือเขตตะวันออก (Eastern Association of Rowing Colleges) สำหรับนักกีฬาพายเรือชาย

ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2009 การตัดงบประมาณมีผลให้สถาบันยกเลิกทีมกีฬา 8 ทีม (จากตอนนั้น 41) รวมทั้งทีมสกีรวมชายหญิง ทีมยิงปืนสั้นรวมชายหญิง ทีมชายและทีมหญิงในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งและกีฬายิมนาสติก และทีมชายในกีฬากอล์ฟและมวยปล้ำ[288][289]

ทีมกีฬาของสถาบันเรียกว่า "เดอะเอ็นจิเนียร์ส" (the Engineers) โดยมีสัตว์ประจำทีมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1914 เป็นบีเวอร์อเมริกัน ซึ่งเป็น "วิศวกรโดยธรรมชาติ (เพราะสร้างเขื่อน)" เล็สเตอร์ การ์ดเรอร์ ศิษย์รุ่น ค.ศ. 1898 ให้เหตุผลว่า

 
ตราสัญลักษณ์กีฬาของ MIT

บีเวอร์ไม่ใช่เพียงแค่เป็นตัวแทนของสถาบัน แต่นิสัยของเขาเหมือนกับของพวกเรา คือ

บีเวอร์เป็นที่รู้จักกันดีเพราะทักษะทางวิศวกรรมศาสตร์และกลศาสตร์ และเพราะนิสัยที่ขยันขันแข็ง

นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นสัตว์กลางคืน ทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมืดแล้ว[290]

MIT ยังส่งทีมแข่งขันระดับมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเกม "Tiddlywinks" ในคริสต์ทศวรรษ 1980 ได้ชัยชนะทั้งในระดับชาติและระดับโลก[291] MIT ยังเป็นแหล่งกำเนิดนักกีฬาถึง 188 คน ที่ได้รับเกียรติว่า "All-Americans" ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดลำดับ 3 ของสถาบันทั้งหมดที่เป็นสมาชิกของ NCAA และเป็นจำนวนมากที่สุดในภาค 3[287]

ศูนย์ Zesiger sports and fitness center (สั้น ๆ ว่า Z-Center) ซึ่งเปิดในปี ค.ศ. 2002 ได้ขยายสมรรถภาพและคุณภาพของสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อนักกีฬา พละศึกษา และการพักผ่อนหย่อนคลาย รวมเป็นอาคาร 10 อาคารและสนามกีฬาเป็นพื้นที่ 66 ไร่ ศูนย์ Z-Center มีพื้นที่ 11,520 ต.ร.ม. มีสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก สนามเล่นกีฬา squash ขนาดสากล และศูนย์ออกกำลังกาย 2 ชั้น[287]

ชุมชน

แก้

นักศึกษา

แก้
สถิตินักศึกษา[154][292][293]
ระดับปริญญาตรี ระดับบัณฑิตศึกษา
ชาวอเมริกันคนขาว 34% 40.8%
ชาวอเมริกันคนเอเชีย 30% 9.4%
ชาวอเมริกันเชื้อสายสเปนหรืออเมริกาใต้ 15% 3.3%
คนแอฟริกันอเมริกัน 10% 2.1%
กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกัน 1.0% 0.4%
นักศึกษานานาชาติ 8% 44.0%

ในปีการศึกษา ค.ศ. 2011-2012 MIT มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี 4,384 คน และระดับบัณฑิตศึกษา 6,510 คน[154] มีนักศึกษาหญิงร้อยละ 45 ในระดับปริญญาตรี[154][294] นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษามาจากทั้ง 50 รัฐ และจาก 115 ประเทศอื่น[295]

มีผู้สมัคร 18,356 คนเพื่อเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีในรุ่นนักศึกษาปี ค.ศ. 2018 (ปีรับ 2014) ซึ่งสถาบันรับไว้ 1,447 คน (7.9% ของผู้สมัคร) และมีนักศึกษามาเข้าเรียน 1,043 (72.1% ของผู้ที่สถาบันรับ) มีผู้สมัคร 23,884 คนในระดับบัณฑิตศึกษารวมทุกคณะ ซึ่งสถาบันรับไว้ 3,390 คน (14.2% ของผู้สมัคร) และมีนักศึกษามาเข้าเรียน 2,168 คน (64% ของผู้ที่สถาบันรับ)[13]

ในปีรับนักศึกษา 2015 พิสัยระหว่างควอร์ไทล์ของคะแนน SAT ของนักศึกษา อยู่ระหว่าง 2,110-2,350 และ 97% ของนักศึกษาเรียนเก่งอยู่ในระดับท็อป 10% ของโรงเรียนมัธยมปลายที่จบมา[127] ร้อยละ 99 ของนักศึกษารุ่นปี ค.ศ. 2013 กลับมาเรียนต่อปี 2 ร้อยละ 81 ของนักศึกษารุ่นปี ค.ศ. 2008 เรียนจบปริญญาภายใน 4 ปี ร้อยละ 91 (90% ของผู้ชาย และ 92% ของผู้หญิง) เรียนจบปริญญาภายใน 6 ปี[127][296]

ในปี ค.ศ. 2012 ค่าหน่วยกิตและค่าธรรมเนียมของนักศึกษาระดับปริญญาตรีรวมเป็น 40,732 ดอลลาร์สหรัฐ (ต่อปี) และค่าใช้จ่ายแต่ละปีรวมกันทั้งหมดเป็นประมาณ 52,507 ดอลลาร์ 62% ของนักศึกษาได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเหตุจำเป็นในรูปแบบของทุนการศึกษาจากรัฐบาลกลาง จากรัฐบาลรัฐ จากสถาบันต่าง ๆ และจากองค์กรภายนอกอื่น ๆ เฉลี่ยหัวละ 38,964 ดอลลาร์[297] นักศึกษาได้รับรางวัลทุนการศึกษารวมกัน 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมากมาจากผู้สนับสนุนสถาบัน (84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปีมีผลให้เกิดประเพณีนักศึกษา ที่จะทำ "จราจลค่าเล่าเรียน" (แบบซ่อนยิ้ม) เริ่มตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960[298]

MIT เป็นสถาบันสหศึกษา (รับทั้งผู้หญิงผู้ชาย) อย่างน้อยในนาม ตั้งแต่รับนักศึกษาหญิงเอ็ลเล็น ริชาร์ดส ในปี ค.ศ. 1870 หลังจากนั้น ริชาร์ดสยังได้กลายเป็นอาจารย์หญิงคนแรกของสถาบันในสาขาเคมีอนามัย (sanitary chemistry) อีกด้วย[299] แต่นักศึกษาหญิงก็ยังเป็นชนส่วนน้อย (น้อยกว่า 3%) จนกระทั่งหอพักนักศึกษาหญิงแห่งแรกคือ McCormick Hall ได้สร้างเสร็จลงปีกหนึ่งในปี ค.ศ. 1963[300][301][302] ในระหว่างปี ค.ศ. 1993-2009 อัตราของนักศึกษาหญิงเพิ่มจาก 34% เป็น 45% ในระดับปริญญาตรี และจาก 20% เป็น 31% ในระดับบัณฑิตศึกษา[154][303] ในปัจจุบัน มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในสาขาชีววิทยา วิทยาศาสตร์สมองและประชาน สถาปัตยกรรม การวางแผนเมือง และวิศวกรรมชีวภาพ[154][294]

การเสียชีวิตของนักศึกษาจำนวนหนึ่งในปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 มีผลให้สื่อมวลชนเกิดความสนใจในประเพณีและวิถีชีวิตของนักศึกษา[304][305] หลังจากการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุราของนักศึกษาสก็อตต์ ครูเกอร์ ในปี ค.ศ. 1997 เมื่อเป็นสมาชิกใหม่ของ Phi Gamma Delta fraternity[306] สถาบันก็เริ่มนโยบายบังคับให้นักศึกษาปี 1 อาศัยอยู่ในระบบหอพักของสถาบัน[306][307]

อัตวินิบาตกรรมในปี ค.ศ. 2000 ของนักศึกษาปริญญาตรี (หญิง) อะลิซาเบ็ธ ชิน ทำให้สื่อเริ่มสนใจเรื่องการฆ่าตัวตายของนักศึกษาที่สถาบัน และสร้างข้อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นว่า สถาบันมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงผิดปกติหรือไม่[308][309] ในปลายปี ค.ศ. 2001 ได้มีการดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้น ที่แนะนำให้ปรับปรุงบริการด้านสุขภาพจิตให้นักศึกษา[310][311] มีการเพิ่มทั้งจำนวนบุคคลากร ทั้งเวลาทำงานที่ศูนย์สุขภาพจิต[312] กรณีนักศึกษาฆ่าตัวตายเหล่านี้ และกรณีอื่น ๆ ที่ตามมาในภายหลังมีความสำคัญ เพราะบิดามารดาของนักศึกษายกสถาบันขึ้นฟ้องศาลตั้งใจจะแสดงความละเลยหน้าที่รับผิดชอบของผู้บริหารสถาบันโดยหลัก in loco parentis (ความรับผิดชอบของสถาบันแทนที่ผู้ปกครอง)[308]

คณะอาจารย์

แก้
 
ศาสตราจารย์สถาบันกิตติคุณผู้ได้รับรางวัลโนเบล (จากซ้ายไปขวา) Franco Modigliani (เสียชีวิตแล้ว) พอล์ แซมมุเอ็ลสัน (เสียชีวิตแล้ว) และรอเบิร์ต โซโลว์ (รูปถ่ายปี ค.ศ. 2000)

ในปี ค.ศ. 2015 MIT มีคณะอาจารย์ 1,021 คน 224 คนเป็นอาจารย์หญิง[3] อาจารย์มีหน้าที่ให้เล็กเช่อร์ ให้คำปรึกษากับนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและทั้งระดับบัณฑิตศึกษา ทำหน้าที่เป็นกรรมการทางการศึกษา และทำงานวิจัย

ในระหว่างปี ค.ศ. 1964-2009 อาจารย์และบุคคลากรอื่นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันรวมทั้งหมด 18 คน ได้รับรางวัลโนเบล (หรือ 14 คนใน 25 ปีที่ผ่านมา)[313] คณะอาจารย์ทั้งอดีตทั้งในปัจจุบันรวม ๆ กันได้รับรางวัลโนเบล 27 รางวัล โดยมากในสาขาเศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์[314] ในปี ค.ศ. 2015 คณะอาจารย์และบุคคลากรผู้ยังสอนอยู่ในปัจจุบัน ได้รับรางวัลเป็น Guggenheim Fellow[o] 65 คน, เป็นนักศึกษา Fulbright Scholar[p] 5 คน และเป็น MacArthur Fellow 23 คน[3] อาจารย์ที่มีผลงานวิจัยที่ยอดเยี่ยมในสาขาของตน และได้ทำงานอุทิศให้แก่ชุมชนของ MIT จะได้รับตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์สถาบัน (Institute Professor อาจเหมือนกับศาสตราจารย์พิศิษฐ์) ในวาระดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่เหลือ

ในปี ค.ศ. 1998 มีการศึกษาที่สรุปว่า มีอคติอย่างเป็นระบบ กีดกันอาจารย์เพศหญิงในโรงเรียนวิทยาศาสตร์[315] แม้ว่าวิธีการศึกษาจะไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย[316][317] แต่ว่า หลังจากนั้น ผู้หญิงก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณบดีภายในโรงเรียนวิทยาศาสตร์และโรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันก็ได้แต่งตั้งรองอธิการบดีหญิงหลายท่าน แม้ว่า การกล่าวหาว่า มีการกีดกันโดยเพศ ก็ยังไม่หมดสิ้นไป[318] ศ.ซูซาน ฮ็อกฟิลด์ ผู้เป็นนักประสาทชีววิทยาระดับโมเลกุล ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีหญิงคนแรกในระหว่างปี ค.ศ. 2004-2012

การตัดสินใจให้ (หรือไม่ให้) สิทธิในการดำรงตำแหน่ง (tenure) ของสถาบัน บางครั้งทำให้สื่อระดับชาติเกิดความสนใจ ในปี ค.ศ. 1984 การไล่ออกศาสตราจารย์ผู้ช่วยเดวิด โนเบิล ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ทางเทคโนโลยี กลายเป็นเรื่องดังในเรื่องเสรีภาพในการพูดที่ให้แก่อาจารย์ในมหาวิทยาลัย คือ การไล่ออกเกิดขึ้นหลังจากที่ ศ.โนเบิลพิมพ์หนังสือและเอกสารหลายฉบับที่วิพากษ์วิจารณ์ความที่ทั้ง MIT และมหาวิทยาลัยวิจัยอื่น ๆ ต้องอาศัยเงินสนับสนุนจากบริษัทธุรกิจและจากการทหาร[319]

ในปี ค.ศ. 1994 ศ.ญ. เกร็ตเช็น คาลอนจี ผู้เป็นอดีตศาสตราจารย์วัสดุศาสตร์ฟ้องสถาบันในศาลกล่าวหาว่า เธอถูกปฏิเสธสิทธิในการดำรงตำแหน่งเพราะมีการกีดกันทางเพศ และหลายปีต่อมา ก็มีการยินยอมกันนอกศาลโดยมีการจ่ายค่าเสียหายที่ไม่เปิดเผยจำนวน และโดยตั้งโครงการเพื่อช่วยสนับสนุนให้ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย พยายามเสาะหาตำแหน่งอาจารย์[318][320][321]

ในปี ค.ศ. 1997 คณะกรรมการต่อต้านการเลือกปฏิบัติของรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Commission Against Discrimination) ตีพิมพ์ผลค้นหาข้อเท็จจริงที่แสดงความอาจเป็นได้ว่า การกล่าวหาของศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์-บอสตัน เจมส์ เจ็นนิ่งส์ (ผู้มีเชื้อสายเป็นคนแอฟริกันอเมริกัน) ว่า มีการกีดกันโดยผิวพรรณ มีมูล หลังจากที่คณะกรรมการเสาะหาอาจารย์ชั้นอาวุโสในคณะศึกษาและวางแผนเมือง (Department of Urban Studies and Planning) ไม่ได้ให้สิทธิการดำรงตำแหน่งแบบข้ามสถาบัน (reciprocal tenure) แก่เขา[322]

ในระหว่างปี ค.ศ. 2006-2007 สถาบันปฏิเสธไม่ให้สิทธิการดำรงตำแหน่งแก่ ศ.เจมส์ เชอร์ลีย์ (ผู้มีเชื้อสายเป็นคนแอฟริกันอเมริกัน) เป็นการจุดไฟให้ใหม่กับข้อกล่าวหาว่ามีคตินิยมเชื้อชาติในกระบวนการมอบสิทธิ ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การโต้เถียงกับคณะผู้บริหารสถาบันผ่านสื่อที่เป็นสาธารณะ การประท้วงด้วยการอดข้าวของ ศ.เชอร์ลีย์ และการลาออกประท้วงของ ศ.แฟรงก์ ดักลาส (ผู้เป็น ศ. แอฟริกันอเมริกัน อีกคนหนึ่ง)[323][324] หนังสือพิมพ์เสรีนิยม The Boston Globe รายงานในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ว่า

คณะอาจารย์อ่อนอาวุโสของ MIT น้อยกว่าครึ่งจะได้รับสิทธิการดำรงตำแหน่ง หลังจากที่เชอร์ลีย์ถูกปฏิเสธ มีการสอบสวนกรณีของเขาอีกสามครั้งก่อนที่มหาวิทยาลัยจะตกลงใจว่า ไม่มีทั้งการกีดกันโดยคตินิยมเชื้อชาติ ทั้งผลประโยชน์ที่ขัดกัน ในการตัดสินใจ (พิจารณาการมอบสิทธิ) ผู้ร่วมงานของเชอร์ลีย์ถึง 21 คนได้ออกความคิดเห็นทางสื่อว่า เชอร์ลีย์ได้รับความยุติธรรมในการตรวจสอบเพื่อให้สิทธิแก่เขา[325]

คณะอาจารย์ในโรงเรียนมักจะได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้นำที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในปี ค.ศ. 1869 อาจารย์รุ่นก่อตั้งโรงเรียนคือ ศ.ชาลส์ อีเลียต รับตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่เป็นเวลานานถึง 40 ปี ซึ่งเขาได้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษาของสหรัฐอเมริกา ส่วนศิษยเก่าและอาจารย์คือ ศ.จอร์จ เฮล ได้ช่วยสร้างสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ให้เป็นสถาบันวิจัยระดับแนวหน้า และอาจารย์อื่น ๆ ได้เป็นอาจารย์รุ่นจัดตั้งคนสำคัญของวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ Franklin W. Olin College of Engineering ในเมืองนีดแฮม รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่อยู่ใกล้ ๆ

ในปี ค.ศ. 2013 อดีตรองอธิการบดีโรเบิร์ต บราวน์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยบอสตัน อดีตรองอธิการบดีมาร์ก ไรต์ตัน ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ อดีตผู้ช่วยรองอธิการบดี (associate provost) อัลลิซ แกสต์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยลีไฮ อดีตศาสตราจารย์ Suh Nam-pyo ดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี อดีตคณบดีของโรงเรียนวิทยาศาสตร์โรเบิร์ต เบอร์เกนอ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (2004-2013) อดีตศาสตราจารย์จอห์น เมดา เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของโรงเรียนดีไซน์โรดไอแลนด์ (2008-2013) อดีตศาสตราจารย์เดวิด บัลติมอร์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (1997-2006 ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สาขาชีววิทยา) และศิษย์เก่าและอดีตศาสตราจารย์ผู้ช่วยแฮนส์ มารค์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของกลุ่มมหาวิทยาลัยเท็กซัส (1984-1992)

นอกจากนั้นแล้วคณะอาจารย์ในโรงเรียนก็มักจะได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้นำในองค์กรของรัฐด้วย ยกตัวอย่างเช่นอดีต ศ.ญ.มาเซีย แม็คนัตต์ ได้เป็นผู้อำนวยการขององค์กรสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ[326] ศาสตราจารย์การวางแผนเมืองซาเวียร์ เดอ ซูซา บริก์ส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานการบริหารและการออกงบประมาณของทำเนียบขาว[327] และศาสตราจารย์สาขาชีววิทยาอีริก แลนด์เดอร์ เป็นประธานร่วมของคณะผู้ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประธานาธิบดี (สหรัฐ)[328] ในปี ค.ศ. 2013 ศ.เออร์เนสต์ โมนี ได้รับแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ให้เป็นเลขาธิการกระทรวงพลังงานประเทศสหรัฐอเมริกา[329][330] อดีตศาสตราจารย์แฮนส์ มารค์ ได้เป็นเลขาธิการของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ. 1979-1981 ศิษย์เก่าและศาสตราจารย์สถาบันหญิง ชีลลา วิดนอล์ ได้เป็นเลขาธิการของกองทัพอากาศสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1993-1997 เป็นเลขาธิการหญิงคนแรกของกองทัพอากาศ และเป็นหญิงคนแรกที่เป็นผู้นำของทั้งกองทัพ

MIT ติดอันดับ 7 ในรายการมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยสหรัฐที่น่าทำงานที่สุดในปี ค.ศ. 2013 สำรวจโดยการให้คะแนนของผู้ที่ทำงานในสถาบัน[331] ผลการสำรวจแสดงว่า MIT มีสิ่งแวดล้อมที่เด่นในด้านความ "ฉลาด" "มีความคิดสร้างสรรค์" "เป็นกันเอง" โดยมีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานหนักไปทางด้าน "จริยธรรมในการทำงานที่เข้มแข็ง" แต่บ่นว่า "ให้เงินตอบแทนน้อย"[332]

ศิษย์เก่า

แก้

ในบรรดาศิษย์เก่าที่มีถึง 120,000 คน มีบุคคลเป็นจำนวนมากประสบความสำเร็จที่เห็นได้ในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในการทำสาธารณประโยชน์ ในการศึกษา และในด้านธุรกิจ โดยปี ค.ศ. 2014 ศิษย์เก่า 27 คนได้รับรางวัลโนเบล 47 คนได้รับเลือกเป็นผู้รับทุนการศึกษาโรดส์ สคูลาร์ส และ 61 คนได้รับเลือกเป็นผู้รับทุนการศึกษา Marshall Scholar[333]

ศิษย์เก่าที่เป็นนักการเมืองหรือทำบริการสาธารณประโยชน์รวมทั้งอดีตประธานธนาคารเงินทุนสำรองรัฐบาลกลาง (ซึ่งเป็นธนาคารกลางของสหรัฐ) เบ็น เบอร์แนงกี, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาจากรัฐแมสซาชูเซตส์เขตที่ 1 จอห์น โอลเวอร์, อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐแคลิฟอร์เนียเขตที่ 13 พีท สตาร์ก, อดีตประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (United States National Economic Council) ลอเร็นซ์ ซัมเมอร์ส, และอดีตประธานหญิงของคณะกรรมการผู้ปรึกษาทางเศรษฐกิจ (Council of Economic Advisors) คริสตินา โรเมอร์

ศิษย์เก่าที่เป็นนักการเมืองในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน Ali Akbar Salehi, นายกรัฐมนตรีประเทศอิสราเอล Benjamin Netanyahu, ประธานธนาคารกลางสหภาพยุโรปมาริโอ ดรากี, ผู้ว่าการธนาคารกองทุนสำรองอินเดีย (ธนาคารกลางอินเดีย) Raghuram Rajan, อดีตเลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศประเทศอังกฤษเดวิด มิลิแบนด์, อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศกรีซ ลูกัส ปาปาดีโมส, อดีตเลขาธิการสหประชาชาติโคฟี แอนนัน, อดีตรองนายกรัฐมนตรีประเทศอิรัก Ahmed Chalabi, และประธานาธิบดีสิงคโปร์ ดร. โทนี ตัน เค็ง ยัม

ศิษย์เก่าได้ตั้งหรือช่วยตั้งบริษัทที่น่าสนใจหลายบริษัทรวมทั้งบริษัทอินเทล (โดยโรเบิร์ต นอยซ์), บริษัทแมคดอนเนลล์ดักลาส (โดยเจมส์ แม็คดอนเนลล์ และโดนัลด์ ดักลาส), บริษัท Texas Instruments (โดยซีซิล กรีน), บริษัท 3Com (โดยโรเบิร์ต เม็ตคาล์ฟ), บริษัทควอลคอมม์ (โดย Andrew Viterbi), บริษัท Bose (โดย ศ.Amar Bose), บริษัท เรย์เธียน โดยรองอธิการบดีแวเนวาร์ บุช, บริษัท Koch Industries (โดยเฟร็ด คอช), บริษัท Rockwell International (โดยวิลลาด ร็อกเว็ลล์), บริษัท Genentech (โดยโรเบิร์ต สวอนสัน), บริษัท Dropbox (โดยดรู ฮูสตัน), และ บริษัท Campbell Soup (โดยจอห์น ดอร์เแรนซ์) หนังสือพิมพ์ประเทศอังกฤษ The Guardian ได้พิมพ์ข้อความไว้ว่า

งานสำรวจศิษย์เก่า MIT ที่ยังมีชีวิตอยู่พบว่า พวกเขาได้ช่วยตั้งบริษัทกว่า 25,800 บริษัท ว่าจ้างคนมากกว่า 3 ล้านคนรวมทั้งผู้รับจ้าง 1/4 ในย่านซิลิคอนแวลลีย์ บริษัทเหล่านี้ได้รายได้จากทั้งโลกรวมกัน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถ้า MIT เป็นประเทศ ก็จะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เป็นประเทศที่ 11 ของโลก[334][335][336]

ศิษยเก่าของที่เป็นผู้นำสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษารวมทั้ง อธิการบดีซูบรา ซูเรชของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน, อธิการบดีจอห์น เมดาของโรงเรียนดีไซน์โรดไอแลนด์, อธิการบดี Joseph Aoun ของมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทอร์น, รองอธิการบดีอะดิล นาจัมของมหาวิทยาลัยวิทยาการจัดการแห่งลาฮอร์ (Lahore University of Management Sciences) ประเทศปากีสถาน, อธิการบดีหญิงเชอร์ลีย์ แจ็คสันของสถาบันโพลิเทคนิคเรนส์ซเลียร์, อธิการบดี Suh Nam-pyo ของสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี, คณบดีเพอร์เวซ ฮูดพอยของคณะฟิสิกส์ที่ Quaid-e-Azam University แห่งประเทศปากีสถาน, อดีตอธิการบดีเดวิด แซกซอนของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์, อดีตอธิการบดีลอเร็นซ์ ซัมเมอร์สของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, Provost ราแม็ต ชูเรชีของสถาบันเทคโนโลยีนิวยอร์ก, อดีตอธิการบดีวิลเลียม โบรดีของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์, อดีตอธิการบดีลาร์รี บาคาวของมหาวิทยาลัยทัฟส์, อดีตอธิการบดีอัลเบิร์ต ซีโมนของสถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์, อดีตอธิการบดี (และผู้ก่อตั้งสถาบัน) ยูเฮนิโอ ซาดาของสถาบันเทคโนโลยีและการศึกษาระดับสูงมอนเตร์เรย์, อดีตอธิการบดีมาร์ติน จิชของมหาวิทยาลัยเพอร์ดู, และอดีตอธิการบดีมาร์แชล ฮานของเวอร์จิเนียเทค

ในบรรดานักบินอวกาศสหรัฐที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ เกินกว่า 1/3 ของเป็นศิษย์เก่าของสถาบัน (รวมทั้งนักบินอวกาศเอ็ดวิน "บัซ" อัลดริน ในภารกิจอะพอลโล 11 ที่ส่งคนไปดวงจันทร์ยานแรก) เป็นจำนวนคนมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งหมด ยกเว้นโรงเรียนทหารของรัฐบาลกลางของสหรัฐ[337] ศิษย์เก่าและอดีตศาสตราจารย์ Qian Xuesen มีส่วนช่วยในโครงการจรวดของสาธารณรัฐประชาชนจีน[338][339]

ศิษยเก่าที่มีชื่อเสียงในด้านอื่น ๆ รวมทั้งสถาปนิกไอ. เอ็ม. เพผู้ได้รับรางวัลพริตซ์เกอร์ (ซึ่งเรียกว่า เป็นรางวัลโนเบลของสถาปัตยกรรม)

ศิษยเก่าชาวไทยที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, คุณพลอยไพลิน เจนเซน, โอฬาร ไชยประวัติ, รองศาสตราจารย์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, กอบศักดิ์ ภูตระกูล, ศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ , ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ท่านผู้หญิง นิรมล สุริยสัตย์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นตัน

หมายเหตุ

แก้
  1. Fields Medal หรือมีชื่อเป็นทางการว่า International Medal for Outstanding Discoveries in Mathematics (เหรียญนานาชาติสำหรับการค้นพบที่เด่นในคณิตศาสตร์) เป็นรางวัลที่ให้แก่นักคณิตศาสตร์ 2-3-4 คนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ทุก ๆ 4 ปี เป็นรางวัลที่นักคณิตศาสตร์ถือว่าเป็นเกียรติยศสูงสุด โดยร่วมกับรางวัล Abel Prize เป็นเหมือนกับรางวัลโนเบลสำหรับนักคณิตศาสตร์ เป็นรางวัลที่ให้พร้อมกับเงินจำนวน 15,000 ดอลลาร์แคนาดา
  2. ในปี ค.ศ. 1863 ภายใต้กฎหมายฉบัยเดียวกัน รัฐแมสซาชูเซตส์จัดตั้งวิทยาลัยเกษตรกรรมแมสซาชูเซตส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ที่แอมเฮิสต์
  3. ในช่วงเวลาที่คับขันในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 อธิการบดีจอห์นสันได้ยืนหยัดอยู่ในแรงกดดันที่มาจากหลายพวกหลายฝ่ายภายในสถาบัน ทั้ง ๆ ที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่สามารถอดทนอยู่ได้ในสถานการณ์แบบเดียวกัน มีแต่อธิการบดีเอ็ดวาร์ด ลีไวของมหาวิทยาลัยชิคาโกเท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในระดับเดียวกัน ในการนำสถาบันให้ไปสู่ความเข้มแข็งสามัคคีที่เพิ่มขึ้นหลังจากผ่านเหตุการณ์วิกฤติไปแล้ว[64]
  4. รอบ ๆ อาคารซึ่งฉาบด้วยหินปูนรอบ ๆ สนามคิลเลียน มีชื่อสลักเป็นอักษรโรมันของอาริสโตเติล, ไอแซก นิวตัน, หลุยส์ ปาสเตอร์, Antoine Lavoisier (ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับนามว่า บิดาของเคมียุคปัจจุบัน), ไมเคิล ฟาราเดย์, อาร์คิมิดีส, เลโอนาร์โด ดา วินชี, ชาลส์ ดาร์วิน, และนิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส และชื่อของบุคคลเหล่านี้ก็จะอยู่ใกล้ ๆ กับกลุ่มชื่อที่มีอักษรเล็กกว่าของบุคคลที่มีบทบาทในวิชาสาขาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Lavoisier มีชื่ออยู่ใกล้ ๆ กับ โรเบิร์ต บอยล์, เฮนรี คาเวนดิช, Joseph Priestley (ชาวอังกฤษผู้ได้เครติดว่าค้นพบออกซิเจน), จอห์น ดาลตัน, โฌแซ็ฟ หลุยส์ แก-ลูว์ซัก, Jöns Jakob Berzelius (ชาวสวีเดนผู้ประดิษฐ์วิธีเขียนสูตรเคมี), Friedrich Wöhler (ชาวเยอรมันผู้สังเคราะห์สารยูเรีย), Justus von Liebig (ชาวเยอรมันผู้มีชื่อว่า บิดาของอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย), โรเบิร์ต บุนเซน, Dmitri Mendeleev (ชาวรัสเซียซึ่งประดิษฐ์ตารางธาตุรุ่นแรก), เซอร์วิลเลียม เฮ็นรี เปอร์กิน (ผู้ค้นพบสีเคมีอินทรีย์ mauvine เมื่อมีอายุ 18 ปี), และยาโกบัส เฮนริกุส ฟานติฮุฟฟ์[113][114]
  5. fraternity และ sorority ในประเทศสหรัฐอเมริกา หมายถึงองคกรภราดรภาพทางสังคมสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี เป็นองค์กรที่ช่วยเหลือนักศึกษาในเรื่องที่พักอาศัย เรื่องบริการอาหาร เรื่องการเรียน และเรื่องกิจกรรมทางสังคม
  6. แต่มีหน่วยการศึกษา Harvard-MIT Division of Health Sciences and Technology ที่ให้ปริญญาต่าง ๆ หลายระดับ คือ พ.บ. (แพทย์ศาสตร์บัณฑิต), พ.บ.-ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต, และปริญญาเกี่ยวกับวิศวกรรมศาสตร์ด้านการแพทย์อื่น ๆ โดยร่วมกับโรงเรียนการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (Harvard Medical School)[142]
  7. MIT มีการบริหารแบ่งออกเป็นคณะการศึกษา หรือเรียกว่า Courses ซึ่งนักศึกษาต่อไปจะได้ยินเป็นการเรียกโดยตัวเลข หรือตัวย่อ[151]
  8. แต่บางครั้งก็กำหนดโดยตัวเลขโรมันได้เหมือนกัน เช่น Course XVIII สำหรับคณะคณิตศาสตร์[154] แต่ว่า เริ่มมีเอกสารแนะนำสไตล์การเขียนที่ไม่สนับสนุนให้ใช้การกำหนดเช่นนี้[155] อีกอย่างหนึ่ง เลขวิชาบางครั้งมีการนำมาใช้ใหม่ ดังนั้น วิชากำหนดด้วยตัวเลขเดียวกัน อาจไม่เหมือนกันแล้วแต่ปี[152]
  9. ในคริสต์ทศวรรษ 1960 นักศึกษากล่าวถึงประสบการณ์การศึกษาในระดับปริญญาตรีของตนว่าเหมือนกับ "พยายามดื่มน้ำจากท่อดับเพลิง"[162]
  10. เป็นระยะเวลานานที่ MIT... เป็นสถาบันเดียวที่ไม่หลีกเลี่ยงการอ้าแขนรับ (การร่วมมือกับ) ธุรกิจอุตสาหกรรม[197]
  11. การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้จำเป็นที่จะสร้างการร่วมมือกันกับชนกลุ่มใหม่ ๆ ... ในระหว่างพวกนักเทคโนโลยีและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เห็นได้ชัดที่ MIT[198]
  12. ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 โปรแกรมการประสานงานกับอุตสาหกรรมก็ยังดำรงสมรรถภาพในการเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มอุตหสาหกรรมให้กับ MIT (จนถึงปัจจุบัน)[201]
  13. อาคาร 7 ของ MIT และประตูจอห์นสตันของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็น "ทางเข้า" ของมหาวิทยาลัยทั้งสอง อยู่ห่างกันเพียงแค่ 2 กม. ตามถนนแมสซาชูเซตส์
  14. เพราะไฟแวบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารทำงานได้ตามที่ต้องการในน้ำขุ่น (ศ.) เอ็ดการ์ตันจึงเริ่มทำงานหาเทคนิคทางโซนาร์เพื่อที่จะ "มองเห็น" ด้วยเสียง[234]
  15. Guggenheim Fellow เป็นผู้ได้รับรางวัล Guggenheim Fellowship เพราะ "ได้แสดงความสามารถที่ยอดเยี่ยมทางวิชาการที่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือมีความคิดสร้างสรรค์อันเลิศในการศิลป์" เป็นรางวัลที่ให้ตามสมัครตามความจำเป็นปีหนึ่งหลายร้อยรางวัล ขนาดรางวัลโดยเฉลี่ยสำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีค่า 43,200 ดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2008
  16. Fulbright Scholar เป็นบุคคลที่ได้รับทุนเพื่อการศึกษา งานวิจัย หรือเพื่อทำงานในต่างประเทศ เป็นโปรแกรมจัดตั้งโดยสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ที่มีเกียรติคุณมากที่สุดโปรแกรมหนึ่งในโลก ทุนมาจากทั้งองค์กรของรัฐและเอกชนของประเทศต่าง ๆ

อ้างอิง

แก้
  1. "Symbols: Seal". MIT Graphic Identity. MIT. สืบค้นเมื่อ September 8, 2010.
  2. 2.0 2.1 "MIT releases endowment figures for 2015". MIT News. 2015-09-11. สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Faculty and Staff". MIT Facts. MIT. สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Enrollment Statistics". MIT Registrar. 2015-10-09. สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  5. 5.0 5.1 "The Campus". MIT Facts 2012. สืบค้นเมื่อ 2012-05-31.
  6. "Colors - MIT Graphic Identity". Massachusetts Institute of Technology. สืบค้นเมื่อ 26 September 2014.
  7. The Official Site of MIT Intercollegiate Athletics - MIT
  8. "Symbols: Mascot". MIT Graphic Identity. MIT. สืบค้นเมื่อ September 8, 2010.
  9. 9.0 9.1 David Altaner (2011-03-09). "Harvard, MIT Ranked Most Prestigious Universities, Study Reports". Bloomberg. สืบค้นเมื่อ 2015-04-01.
  10. 10.0 10.1 Morgan, John. "Top Six Universities Dominate THE World Reputation Rankings". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-04. สืบค้นเมื่อ 2015-12-08. "The rankings suggest that the top six - Harvard University, Massachusetts Institute of Technology, the University of Cambridge, University of California, Berkeley, Stanford University and the University of Oxford - form a group of globally recognised "super brands".
  11. 11.0 11.1 "Massachusetts Institute of Technology". Encyclopedia.com. It has long been recognized as an outstanding technological institute and its Sloan School of Management has notable programs in business, economics, and finance.
  12. 12.0 12.1 "Massachusetts Institute of Technology". Encyclopedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2014-11-18. Massachusetts Institute of Technology (MIT), privately controlled coeducational institution of higher learning famous for its scientific and technological training and research.
  13. 13.0 13.1 13.2 "2015 MIT Facts: Admission". สืบค้นเมื่อ 2015-07-07.
  14. "Entrepreneurial Impact The Role of MIT Edward Roberts Charles Easley" (PDF). MIT History. Kauffman Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-10-25. สืบค้นเมื่อ 28 February 2009.
  15. "Charter of the MIT Corporation". สืบค้นเมื่อ March 22, 2007.
  16. Kneeland, Samuel (March 1859). "Committee Report:Conservatory of Art and Science" (PDF). Massachusetts House of Representatives, House No. 260. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-06-12. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  17. "MIT Timeline". MIT History. MIT Institute Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-19. สืบค้นเมื่อ May 28, 2012.
  18. "Acts and Resolves of the General Court Relating to the Massachusetts Institute of Technology" (PDF). MIT History. MIT Institute Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-07-01. สืบค้นเมื่อ May 29, 2012.
  19. "MIT Facts 2012: Origins and Leadership". MIT Facts. MIT. สืบค้นเมื่อ May 29, 2012.
  20. Rogers, William (1861). "Objects and Plan of an Institute of Technology: including a Society of Arts, a Museum of Arts, and a School of Industrial Science; proposed to be established in Boston" (PDF). The Committee of Associated Institutions of Science and Arts. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-06-12. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  21. Lewis 1949, p. 8.
  22. "Letter from William Barton Rogers to His Brother Henry". Institute Archives, MIT. 1846-03-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-10-02.
  23. Angulo, A.J. William Barton Rogers and the Idea of MIT. The Johns Hopkins University Press. pp. 155–156. ISBN 0-8018-9033-0.
  24. Angulo, A.J. "The Initial Reception of MIT, 1860s–1880s". ใน Geiger, Roger L. (บ.ก.). Perspectives on the History of Higher Education. pp. 1–28.
  25. Andrews, Elizabeth; Nora Murphy; Tom Rosko (2000). "William Barton Rogers: MIT's Visionary Founder". MIT Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-12. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  26. Stratton, Julius Adams; Mannix, Loretta H. (2005). "The Land-Grant Act of 1862". Mind and Hand: The Birth of MIT. MIT Press. pp. 251–276. ISBN 0-262-19524-0.
  27. Prescott, Samuel C (1954). When M.I.T. Was "Boston Tech", 1861-1916. MIT Press.
  28. Angulo, A.J. William Barton Rogers and the Idea of MIT. The Johns Hopkins University Press. pp. 155–156. ISBN 0-8018-9033-0.
  29. 29.0 29.1 Dunbar, Charles F. (July 1897). "The Career of Francis Amasa Walker". Quarterly Journal of Economics. 11 (4): 446–447. doi:10.2307/1880719. JSTOR 1880719.
  30. "Explore campus, visit Boston, and find out if MIT fits you to a tea". 2006-12-16. สืบค้นเมื่อ 2006-12-16.
  31. Munroe, James P. (1923). A Life of Francis Amasa Walker. New York: Henry Holt & Company. pp. 233, 382.
  32. Lewis 1949, p. 12.
  33. "Alumni Petition Opposing MIT-Harvard Merger, 1904-05". Institute Archives, MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  34. 34.0 34.1 34.2 Alexander, Philip N. "MIT-Harvard Rivalry Timeline". MIT Music and Theater Arts News. Massachusetts Institute of Technology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 2014-07-07.
  35. "Souvenir Program, Dedication of Cambridge Campus, 1916". Object of the Month. MIT Institute Archives & Special Collections. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-10. สืบค้นเมื่อ 2012-05-29.
  36. Middlesex Canal (Massachusetts) map, 1852 (Map). J. B. Shields. 1852. สืบค้นเมื่อ 2010-09-17.
  37. "Freeman's 1912 Design for the "New Technology"". Object of the Month. MIT Institute Archives & Special Collections. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-27. สืบค้นเมื่อ 2012-05-29.
  38. Lindsay, David (2000). "Eastman Becomes a Mystery Donor to MIT". PBS-WGBH.
  39. Lecuyer, Christophe (1992). "The making of a science based technological university: Karl Compton, James Killian, and the reform of MIT, 1930–1957". Historical Studies in the Physical and Biological Sciences. 23 (1): 153–180. doi:10.2307/27757693. JSTOR 27757693.
  40. 40.0 40.1 Lewis 1949, p. 13.
  41. Geiger, Roger L. (2004). To advance knowledge: the growth of American research universities, 1900-1940. pp. 13–15, 179–9. ISBN 0-19-503803-7.
  42. 42.0 42.1 "Member Institutions and Years of Admission". Association of American Universities. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-28. สืบค้นเมื่อ 2012-06-26.
  43. Lewis 1949, p. 113.
  44. Bourzac, Katherine (2007-03-12). "Rethinking an MIT Education: The faculty reconsiders the General Institute Requirements". Technology Review. สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  45. "History: School of Humanities, Arts, and Social Sciences". MIT Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-11. สืบค้นเมื่อ 2008-07-25.
  46. "History: Sloan School of Management". MIT Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-21. สืบค้นเมื่อ 2008-07-25.
  47. Johnson, Howard Wesley (2001). Holding the Center: Memoirs of a Life in Higher Education. MIT Press. ISBN 0-262-60044-7.
  48. 48.0 48.1 Zachary, Gregg (1997). Endless Frontier: Vannevar Bush, Engineer of the American Century. Free Press. pp. 248–249. ISBN 0-684-82821-9.
  49. 49.0 49.1 "MIT's Rad Lab". IEEE Global History Network. สืบค้นเมื่อ 2008-07-25.
  50. "Doc Draper & His Lab". History. The Charles Stark Draper Laboratory, Inc. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
  51. "Charles Draper: Gyroscopic Apparatus". Inventor of the Week. MIT School of Engineering. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-18. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
  52. "Project Whirlwind". Object of the Month. MIT Institute Archives & Special Collections. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-30. สืบค้นเมื่อ May 30, 2012.
  53. "Wartime Strobe: 1939–1945 – Harold "Doc" Edgerton (Doc's Life)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-10. สืบค้นเมื่อ November 28, 2009.
  54. Bedi, Joyce (May 2010). "MIT and World War II: Ingredients for a Hot Spot of Invention" (PDF). Prototype. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-24. สืบค้นเมื่อ May 30, 2012.
  55. Leslie, Stuart (1993). The Cold War and American Science: The Military-Industrial-Academic Complex at MIT and Stanford. Columbia University Press. ISBN 0-231-07959-1.
  56. Killian, James Rhyne (1949-04-02). "The Obligations and Ideals of an Institute of Technology". The Inaugural Address. Massachusetts Institute of Technology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-03. สืบค้นเมื่อ 2013-08-10.
  57. Lewis 1949, p. 49.
  58. Lecuyer, 1992
  59. 59.0 59.1 Todd, Richard (May 18, 1969). "The 'Ins' and 'Outs' at MIT". The New York Times.
  60. "A Policy of Protest". Time. February 28, 1969. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 14, 2008. สืบค้นเมื่อ August 13, 2008.
  61. "Founding Document: 1968 MIT Faculty Statement". Union of Concerned Scientists, USA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-15. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  62. Hechinger, Fred (1969-11-09). "Tension Over Issue of Defense Research". The New York Times.
  63. Stevens, William (1969-05-05). "MIT Curb on Secret Projects Reflects Growing Antimilitary Feeling Among Universities' Researchers". The New York Times.
  64. Warsh, David (1999-06-01). "A tribute to MIT's Howard Johnson". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2007-04-04.
  65. Lee, J.A.N.; McCarthy, J.; Licklider, J.C.R. (1992). "The beginnings at MIT". IEEE Annals of the History of Computing. 14 (1): 18–54. doi:10.1109/85.145317. S2CID 30631012.
  66. "Internet History". Computer History Museum. สืบค้นเมื่อ August 13, 2008.
  67. Raymond, Eric S. "A Brief History of Hackerdom". สืบค้นเมื่อ 2008-08-11.
  68. "The Media Lab - Retrospective". MIT Media Lab. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-17. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  69. "About W3C: History". World Wide Web Consortium. สืบค้นเมื่อ 2008-08-11.
  70. "MIT OpenCourseWare". MIT. สืบค้นเมื่อ 2008-06-12.
  71. "Mission – One Laptop Per Child". One Laptop Per Child. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-13. สืบค้นเมื่อ August 11, 2008.
  72. "Massachusetts Space Grant Consortium". Massachusetts Space Grant Consortium. สืบค้นเมื่อ 2008-08-26.
  73. "MIT Sea Grant College Program". MIT Sea Grant College Program. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-09. สืบค้นเมื่อ 2008-08-26.
  74. Simha., O. R. (2003). MIT campus planning 1960–2000: An annotated chronology. MIT Press. pp. 120–149. ISBN 978-0-262-69294-6.
  75. "MIT Facilities: In Development & Construction". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 12, 2009. สืบค้นเมื่อ July 22, 2008.
  76. Bombardieri, Marcella (September 14, 2006). "MIT will accelerate its building boom: $750m expansion to add 4 facilities". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ August 13, 2008.
  77. "About MITEI". MIT Energy Initiative. สืบค้นเมื่อ 2012-05-31.
  78. Attwood, Rebecca (2009-09-24). "Get it out in the open". Times Higher Education.
  79. Goldberg, Carey (2001-04-04). "Auditing Classes at M.I.T., on the Web and Free". The New York Times.
  80. Hafner, Katie (2010-04-16). "An Open Mind". The New York Times.
  81. Guttenplan, D.D. (2010-11-01). "For Exposure, Universities Put Courses on the Web". The New York Times.
  82. Lewin, Tamar (2011-12-19). "M.I.T. Expands Its Free Online Courses". The New York Times.
  83. "What is edX?". MIT News Office. 2012-05-02.
  84. Ruderman, Wendy; Kovaleski, Serge; Cooper, Michael (2013-04-24). "Officer's Killing Spurred Pursuit in Boston Attack". The New York Times.
  85. Bidgood, Jess (2013-04-24). "On a Field at M.I.T., 10,000 Remember an Officer Who Was Killed". New York Times. สืบค้นเมื่อ 2014-01-30.
  86. Faviero, Bruno B. F. (2013-04-26). "Thousands attend Sean Collier memorial service". The Tech. Vol. 133 no. 21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-19. สืบค้นเมื่อ 2014-01-30.
  87. "Thousands attend slain MIT officer's memorial service". CBS News. 2013-04-24.
  88. "Letter regarding the establishment of the Collier Medal". MIT News. November 25, 2013. สืบค้นเมื่อ 2013-11-26.
  89. "Collier Medal". MIT Police. MIT. สืบค้นเมื่อ 2013-11-26.
  90. Rocheleau, Matt (November 26, 2013). "MIT to establish a Sean Collier award". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2013-11-26.
  91. Durant, Elizabeth. "Smoot's Legacy: 50th anniversary of famous feat nears". Technology Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-11. สืบค้นเมื่อ August 13, 2008.
  92. Fahrenthold, David (December 8, 2005). "The Measure of This Man Is in the Smoot; MIT's Human Yardstick Honored for Work". The Washington Post.
  93. "Cambridge: Just the Facts (City Facts Brochure)". City of Cambridge. สืบค้นเมื่อ 2012-05-31.
  94. 94.0 94.1 94.2 "MIT Course Catalogue: Overview". MIT. สืบค้นเมื่อ 2008-07-16.
  95. "Building History and Numbering System". Mind and Hand Book, MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  96. "MIT Campus Subterranean Map" (PDF). MIT Department of Facilities. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-07-31. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  97. Abel, David (2000-03-30). "'Hackers' Skirt Security in Late-Night MIT Treks". The Boston Globe.
  98. "MIT Course Catalogue". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-04. สืบค้นเมื่อ 2008-07-14.
  99. "Loose Nukes: A Special Report". ABC News. สืบค้นเมื่อ 2007-04-14.
  100. "MIT Assures Community of Research Reactor Safety". MIT News Office. 2005-10-13. สืบค้นเมื่อ 2006-10-05.
  101. Chun, Matthew G.H. (1999-04-14). "Bill Gates Donates $20 million to MIT". The Harvard Crimson. The Harvard Crimson, Inc. สืบค้นเมื่อ 2014-04-06.
  102. "Supersonic Tunnel Open; Naval Laboratory for Aircraft Dedicated at M.I.T". The New York Times. 1949-12-02.
  103. "Ship Test Tank for M.I.T.; Dr. Killian Announces Plant to Cost $500,000". The New York Times. 1949-02-06.
  104. "MIT maps wireless users across campus". MIT. 2005-11-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-05. สืบค้นเมื่อ 2007-03-03.
  105. "Notice of Lodging of Consent Decree Pursuant to the Resource Conservation and Recovery Act, the Clean Air Act, and the Clean Water Act". Environmental Protection Agency. 2001-05-03. สืบค้นเมื่อ 2008-07-16.
  106. Sales, Robert (2001-04-21). "MIT to create three new environmental projects as part of agreement with EPA". MIT News Office. สืบค้นเมื่อ 2008-07-16.
  107. "The Environment at MIT: Conservation". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-04. สืบค้นเมื่อ 2008-08-11.
  108. "Safety & Crime Report - Massachusetts Institute of Technology". American School Search. สืบค้นเมื่อ 2013-09-28.
  109. "MIT Architecture: Welcome". MIT Department of Architecture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-23. สืบค้นเมื่อ 2007-04-04.
  110. 110.0 110.1 Dillon, David (2004-02-22). "Starchitecture on Campus". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2006-10-24.
  111. Flint, Anthony (2002-10-13). "At MIT, Going Boldly Where No Architect Has Gone Before". The Boston Globe.
  112. 112.0 112.1 Jarzombek, Mark (2004). Designing MIT: Bosworth's New Tech. Boston: Northeastern University Press. pp. 50–51. ISBN 978-1-55553-619-0.
  113. "Names of MIT Buildings". MIT Archives. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-19. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10.
  114. "Names on Institute Buildings Lend Inspiration to Future Scientists". The Tech. Vol. XLII no. 70. 1922-12-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
  115. Campbell, Robert (1986-03-02). "Colleges: More Than Ivy-Covered Halls". The Boston Globe.
  116. "Challenge to the Rectangle". TIME Magazine. 1953-06-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-22. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  117. "Flagpole in the Square". TIME Magazine. 1960-08-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-14. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  118. Campbell, Robert (2001-05-20). "Architecture's Brand Names Come to Town". The Boston Globe.
  119. Paul, James (1989-04-09). "The Campuses of Cambridge, A City Unto Themselves". The Washington Post.
  120. Lewis, Roger K. (2007-11-24). "The Hubris of a Great Artist Can Be a Gift or a Curse". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  121. "2010 361 Best College Rankings: Quality of Life: Campus Is Tiny, Unsightly, or Both". Princeton Review. 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-07-06.
  122. MIT Housing Office. "Undergraduate Residence Halls". สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  123. "Residential Life Live-in Staff". MIT. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 2012-06-01.
  124. Yale Daily News Staff (2009). The Insider's Guide to the Colleges, 2010. St. Martin's Griffin. pp. 377–380. ISBN 0-312-57029-5.
  125. MIT Housing Office. "Graduate residences for singles & families". MIT. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-15. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  126. "MIT Facts: Housing". 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  127. 127.0 127.1 127.2 "Common Data Set 2014-2015". Institutional Research, Office of the Provost, MIT. 2015. สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  128. "Undergraduate and Graduate Residence Halls, Fraternities, Sororities, and Independent Living Groups @ MIT" (PDF). MIT Residential Life. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-08. สืบค้นเมื่อ 2012-06-01.
  129. Zernike, Kate (1998-08-27). "MIT rules freshmen to reside on campus". The Boston Globe. p. B1.
  130. Russell, Jenna (2002-08-25). "For First Time, MIT Assigns Freshmen to Campus Dorms". The Boston Globe.
  131. "Members of the MIT Corporation: Term Members". The MIT Corporation. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  132. "Members of the MIT Corporation: Life Members". The MIT Corporation. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  133. "Members of the MIT Corporation: Officers". The MIT Corporation. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  134. "Members of the MIT Corporation: Ex Officio Members". The MIT Corporation. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  135. "Bylaws of the MIT Corporation - Section 2: Members". The MIT Corporation. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  136. "Robert Millard '73 elected chair of the MIT Corporation: Corporation member and alumnus succeeds John Reed; other elections announced". MIT News Office. 2014-06-05. สืบค้นเมื่อ 2015-06-02.
  137. "Corporation elects new members, chair". MIT News Office. 2010-06-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  138. "A Brief History and Workings of the Corporation". MIT Faculty Newsletter. สืบค้นเมื่อ 2006-11-02.
  139. "MIT Investment Management Company". MIT Investment Management Company. สืบค้นเมื่อ 2007-01-08.
  140. "U.S. and Canadian Institutions Listed by Fiscal Year (FY) 2014 Endowment Market Value and Change* in Endowment Market Value from FY2013 to FY2014 (Revised February 2015)" (PDF). National Association of College and University Business Officers. 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-01-07. สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  141. "MIT Facts: Academic Schools and Departments, Divisions & Sections". 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  142. "Harvard-MIT Health Sciences and Technology (HST)". สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  143. Rafael L. Bras (2004–2005). "Reports to the President, Report of the Chair of the Faculty" (PDF). MIT. สืบค้นเมื่อ 2006-12-01.{{cite web}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  144. "Reporting List". MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  145. Bradt, Steve (2012-05-16). "L. Rafael Reif selected as MIT's 17th president". MIT News.
  146. "Susan Hockfield, President, Massachusetts Institute of Technology - Biography". MIT. สืบค้นเมื่อ 2008-09-19.
  147. 147.0 147.1 147.2 147.3 147.4 "Massachusetts Institute of Technology". Carnegie Foundation for the Advancement of Teaching. สืบค้นเมื่อ 2012-06-22.
  148. "MIT Facts: Accreditation". MIT. 2010. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-06. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  149. "Roster of Institutions". Commission on Institutions of Higher Education, New England Association of Schools and Colleges. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-06. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  150. "Academic Calendar". Officer of the Registrar, MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  151. "Majors & Minors". MIT Admissions Office. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  152. 152.0 152.1 Butcher, Ev. "Course Code Designation Key". MIT Club of San Diego. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-25.
  153. "MIT Course Catalogue: Degree Programs". MIT. สืบค้นเมื่อ 2008-07-16.
  154. 154.0 154.1 154.2 154.3 154.4 154.5 154.6 154.7 "Enrollment Statistics". MIT Office of the Registrar. สืบค้นเมื่อ 2012-06-26.
  155. "Style Sheet | Report Preparation Guidelines". MIT. สืบค้นเมื่อ 2012-06-06.
  156. "MIT Course Catalog: Degree Charts". Officer of the Registrar, MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  157. 157.0 157.1 "MIT Degrees Awarded". Institutional Research, Office of the Provost. สืบค้นเมื่อ 2012-06-26.
  158. "MIT Course Catalog: Academic Programs". Officer of the Registrar, MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  159. 159.0 159.1 "MIT Course Catalog: Undergraduate General Institute Requirements". Officer of the Registrar, MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  160. "About the Requirement". Undergraduate Communication Requirement. MIT. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
  161. "Faculty and Instructors". Undergraduate Communication Requirement. MIT. สืบค้นเมื่อ 2012-05-30.
  162. Schön, Donald A. (1986). "Leadership as Reflection-in-Action". ใน Thomas J. Sergiovanni; John Edward Corbally (บ.ก.). Leadership and Organizational Culture: New Perspectives on Administrative Theory and Practice. University of Illinois Press. p. 59. ISBN 0-252-01347-6. สืบค้นเมื่อ August 13, 2008. [In the sixties] Students spoke of their undergraduate experience as "drinking from a fire hose."
  163. Mattuck, Arthur (2009). The Torch or the Firehose. MIT OpenCourseWare. p. 1.
  164. "Average Freshmen Retention Rates: National Universities". U.S. News and World Report. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  165. 165.0 165.1 "MIT Course Catalog: Freshman Year". Officer of the Registrar, MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  166. Keuss, Nancy (2000-10-17). "The Evolution of MIT's Pass/No Record System". The Tech. Vol. 120 no. 50. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  167. "MIT UROP: Basic Information". MIT. สืบค้นเมื่อ 2012-06-21.
  168. "MIT Research and Teaching Firsts". MIT News Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-15. สืบค้นเมื่อ 2006-10-06.
  169. "Undergraduate Research Opportunities Program". MIT Admissions. สืบค้นเมื่อ 2012-06-21.
  170. Maeroff, Gene I. (1976-01-11). "Use of Undergraduates in Research Is Hailed by M.I.T.; Inventions by Students". The New York Times.
  171. Palmer, Matthew (1999-10-05). "An MIT Original, the Oft Replicated UROP Program Reaches 30 Years". The Tech. Vol. 119 no. 47. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-16. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  172. Benson, Snyder (1970). The Hidden Curriculum. MIT Press. ISBN 0-262-69043-8. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 22, 2006.
  173. Mahoney, Matt (May 2012). "Unwritten Rules". Technology Review. สืบค้นเมื่อ June 21, 2012.
  174. "NAAB: Schools Database (Massachusetts Institute of Technology)". NAAB. สืบค้นเมื่อ 2011-04-16.
  175. "AACSB - General". AASCB. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-27. สืบค้นเมื่อ 2011-04-16.
  176. "Planning Accreditation Board: Accredited Planning Programs". Planning Accreditation Board. สืบค้นเมื่อ 2011-04-16.
  177. "Accredited Programs Search". ABET. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-17. สืบค้นเมื่อ 2011-04-16.
  178. "MIT Course Catalog: Graduate Education: General Degree Requirements". Officer of the Registrar, MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  179. "Interdisciplinary Graduate Programs". Officer of the Registrar, MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-09-06.
  180. "Graduate Education". MIT Facts 2012. MIT. สืบค้นเมื่อ 2012-06-25.
  181. "2014 National Universities Rankings". Washington Monthly. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-28. สืบค้นเมื่อ 2015-05-25.
  182. "World University Rankings". ShanghaiRanking Consultancy. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  183. "America's Top Colleges". Forbes.com LLC™. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  184. "Best Colleges". U.S. News & World Report LP. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  185. "About the Rankings". Washington Monthly. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  186. "World University Rankings". ShanghaiRanking Consultancy. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  187. "University Rankings". QS Quacquarelli Symonds Limited. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  188. "World University Rankings". TSL Education Ltd. สืบค้นเมื่อ October 19, 2013.
  189. Avery, Christopher; Glickman, Mark E.; Hoxby, Caroline M; Metrick, Andrew (December 2005). "A Revealed Preference Ranking of U.S. Colleges and Universities, NBER Working Paper No. W10803". National Bureau of Economic Research. SSRN 601105. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  190. "2012 Parchment Top Choice College Rankings: All Colleges". Parchment Inc. สืบค้นเมื่อ June 5, 2012.
  191. Coughlan, Sean (September 15, 2014). "What makes a global top 10 university?". BBC News. It's the third year in a row that [MIT] ... has been top of the QS World University Rankings. The biggest single factor in the QS rankings is academic reputation ... calculated by surveying more than 60,000 academics ... Universities with an established name and a strong brand are likely to do better.
  192. "NRC Rankings". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-26. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  193. "MIT undergraduate engineering again ranked No. 1". MIT News Office. 2010-08-17.
  194. "The Best Colleges for Your Money". Money. Time Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-29. สืบค้นเมื่อ 2014-07-31.
  195. Chen, Liyan (2014-08-18). "Startup Schools: America's Most Entrepreneurial Universities". Forbes. Forbes LLC. สืบค้นเมื่อ 2014-08-18.
  196. Young, Thomas (2015-04-29). "A new kind of college ranking: The 10 universities that will increase your career earnings the most". Brookings Now. The Brookings Institution. สืบค้นเมื่อ 2015-05-10.
  197. "A Survey of New England: A Concentration of Talent". The Economist. August 8, 1987. MIT for a long time ... stood virtually alone as a university that embraced rather than shunned industry.
  198. Roberts, Edward B. (1991). "An Environment for Entrepreneurs". MIT: Shaping the Future. Cambridge, Massachusetts: MIT Press. ISBN 0262631415. The war made necessary the formation of new working coalitions ... between these technologists and government officials. These changes were especially noteworthy at MIT.
  199. Shlaes, Amity (2008-05-14). "From the Ponderosa to the Googleplex: How Americans match money to ideas". State Department Press Release. U.S. Dep’t of State.
  200. Simon, Jane (1985-07-01). "Route 128: How it developed, and why it's not likely to be duplicated". New England Business. Boston. p. 15.
  201. "Industrial Liaison Program: About Us". MIT. 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  202. Kolata, Gina (1990-12-19). "MIT Deal with Japan Stirs Fear on Competition". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-06-09.
  203. Booth, William (1989-06-14). "MIT Criticized for Selling Research to Japanese Firms". The Washington Post.
  204. "Nearly half of all US Presidential science advisers have had ties to the Institute". MIT News Office. 2001-05-02. สืบค้นเมื่อ 2007-03-18.
  205. "MIT Washington Office". MIT Washington Office. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-07. สืบค้นเมื่อ 2007-03-18.
  206. "Hunt Intense for Federal Research Funds: Universities Station Lobbyists in Washington". 2001-02-11.
  207. Johnston, David (1989-08-10). "Price-Fixing Inquiry at 20 Elite Colleges". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-16.
  208. Chira, Susan (1991-03-13). "23 College Won't Pool Discal Data". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-16.
  209. DePalma, Anthony (1991-05-23). "Ivy Universities Deny Price-Fixing But Agree to Avoid It in the Future". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-16.
  210. DePalma, Anthony (1992-09-02). "MIT Ruled Guilty in Anti-Trust Case". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-07-16.
  211. DePalma, Anthony (1992-06-26). "Price-Fixing or Charity? Trial of M.I.T. Begins". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-08-13.
  212. "Settlement allows cooperation on awarding financial-aid". MIT Tech Talk. 1994. สืบค้นเมื่อ 2007-03-03.
  213. Honan, William (1993-12-21). "MIT Suit Over Aid May Be Settled". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-07-16.
  214. 214.0 214.1 214.2 214.3 214.4 214.5 "MIT Facts: Educational Partnerships". 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  215. "Roberto Rocca Project". MIT. สืบค้นเมื่อ 2009-11-19.
  216. "MIT International Science and Technology Initiatives". MIT. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-10. สืบค้นเมื่อ 2007-03-17.
  217. "About Us". Technology Review. MIT. สืบค้นเมื่อ 2012-06-05.
  218. "Alumni Benefits". MIT Alumni Association. สืบค้นเมื่อ 2012-06-05.
  219. "History - The MIT Press". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-15. สืบค้นเมื่อ 2007-03-18.
  220. Geraci, Diane. "Information Resources" (PDF). MIT Reports to the President 2009-2010. MIT Reference Publications Office. สืบค้นเมื่อ 2012-06-26.
  221. "Lewis Music Library". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-07. สืบค้นเมื่อ 2010-10-10.
  222. "MIT List Visual Arts Center". MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  223. "Compton Gallery". MIT Museum. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-06. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  224. "MIT Percent-for-Art Program". MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  225. "MIT Public Art Collection". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-18. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  226. "MIT Museum: Mission and History". MIT. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  227. 227.0 227.1 "Research at MIT". MIT Facts. MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 2, 2010. สืบค้นเมื่อ July 1, 2012.
  228. Office of the Provost. "MIT Faculty and Staff". MIT. สืบค้นเมื่อ 2011-04-17.
  229. "TLO Statistics for Fiscal Year 2011". MIT. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-21. สืบค้นเมื่อ 2012-07-01.
  230. Bishop, Matthew; Michael Green (Spring 2012). "Innovation for the Real World". Philanthropy. สืบค้นเมื่อ 2012-06-05.
  231. "IEEE History Center: MIT Radiation Laboratory". IEEE. สืบค้นเมื่อ 2008-06-09.
  232. 232.0 232.1 232.2 "Research Laboratory of Electronics at MIT: History". MIT. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-11. สืบค้นเมื่อ 2008-06-09.
  233. Edgerton, Harold "Doc" (November 28, 2009). "High Speed Camera". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-07. สืบค้นเมื่อ November 28, 2009.
  234. "07 Sonar". The Edgarton Digital CollectionsProject. สืบค้นเมื่อ 2015-12-11.[ลิงก์เสีย]
  235. "MIT Professor Claude Shannon dies; was founder of digital communications". MIT News Office. 2001-02-27. สืบค้นเมื่อ 2010-10-04.
  236. Guttag, John (2003). The Electron and the Bit, Electrical Engineering and Computer Science at MIT, 1902-2002.
  237. Guttag, John (2003). The Electron and the Bit, Electrical Engineering and Computer Science at MIT, 1902-2002.
  238. Office of the Provost. "A. M. Turing Award". MIT. สืบค้นเมื่อ 2011-04-17.
  239. Robert N. Noyce, Robert Langer, Bradford W. Parkinson, Ivan A. Getting, Butler W. Lampson, Timothy J. Berners-Lee, Rudolph Kalman,
  240. 240.0 240.1 240.2 240.3 "Nobel Prize". Office of Institutional Research, MIT. สืบค้นเมื่อ 2008-12-31.
  241. "Dirac Medal". Office of Institutional Research, MIT. สืบค้นเมื่อ 2008-12-31.
  242. "Prize in Physics". Wolf Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-05. สืบค้นเมื่อ 2010-10-04.
  243. Lander, Eric; Linton, LM; Birren, B; Nusbaum, C; Zody, MC; Baldwin, J; Devon, K; Dewar, K; และคณะ (2001). "Initial sequencing and analysis of the human genome" (PDF). Nature. 409 (6822): 860–921. Bibcode:2001Natur.409..860L. doi:10.1038/35057062. PMID 11237011.
  244. "Eric S. Lander". Broad Institute. สืบค้นเมื่อ June 9, 2008.
  245. "Martin Deutsch, MIT physicist who discovered positronium, dies at 85". August 20, 2002. สืบค้นเมื่อ June 12, 2008.
  246. "Professor John C. Sheehan Dies at 76". MIT News Office. April 1, 1992. สืบค้นเมื่อ June 12, 2008.
  247. "Self-Reproducing Molecules Reported by MIT Researchers". MIT News Office. 1990-05-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ 2008-06-12.
  248. "MIT Research and Teaching Firsts". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-31. สืบค้นเมื่อ 2008-06-12.
  249. Hilts, Philip J. (1998-03-31). "Last Rites for a 'Plywood Palace' That Was a Rock of Science". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-10-04.
  250. "John Bates Clark Medal". Office of Institutional Research, MIT. สืบค้นเมื่อ 2008-12-31.
  251. Fox, Margalit (1998-12-05). "A Changed Noam Chomsky Simplifies". The New York Times.
  252. Jaggi, Maya (2001-01-20). "Conscience of a nation". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  253. Herper, Matthew (2002-01-08). "MIT Media Lab Tightens Its Belt". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  254. Guernsey, Lisa (2009-04-07). "M.I.T. Media Lab at 15: Big Ideas, Big Money". The New York Times.
  255. Matchan, Linda (2008-07-12). "In Search of A Beautiful Mind". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  256. Office of the Provost. "MacArthur Fellows". MIT. สืบค้นเมื่อ 2011-04-17.
  257. Office of the Provost. "Pulitzer Prize". MIT. สืบค้นเมื่อ 2011-04-17.
  258. Office of the Provost. "American Academy of Arts and Letters". MIT. สืบค้นเมื่อ 2011-04-17.
  259. Saltus, Richard (1990-09-28). "Journal Cites New Evidence ex-MIT Scientist Faked Data". The Boston Globe.
  260. Boffey, Philip (1988-04-12). "Nobel Winner Is Caught Up in a Dispute Over Study". The New York Times.
  261. Abel, David (2002-11-29). "MIT Faces Charges of Fraud, Cover-up on Missile Test Study". The Boston Globe.
  262. Pierce, Charles P. (2005-10-23). "Going Postol". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2008-01-27.
  263. "Case Summary - Luk Van Parijs". Office of Research Integrity, U.S. Department of Health & Human Services. 2009-01-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-11. สืบค้นเมื่อ 2009-12-02.
  264. Reich, Eugenie (2009-02-03). "Former MIT biologist penalized for falsifying data". Nature News.
  265. Jones, Marilee. "MIT freshman application & financial aid information" (PDF). MIT Admissions Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-11-07. สืบค้นเมื่อ 2007-01-02.
  266. Bernanke, Ben S. (2006-06-09). "2006 Commencement Speech at MIT". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-07. สืบค้นเมื่อ 2007-01-02.
  267. "No honorary degrees is an MIT tradition going back to... Thomas Jefferson". MIT News Office. 2001-06-08. สืบค้นเมื่อ 2006-05-07.
  268. Stevenson, Daniel C. "Rushdie Stuns Audience 26-100". Vol. 113 no. 61. The Tech. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-25. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  269. 269.0 269.1 Gellerman, Bruce; = Erik Sherman (2004). Massachusetts Curiosities: Quirky Characters, Roadside Oddities, & Other Offbeat Stuff. Globe Pequot. pp. 65–66. ISBN 0-7627-3070-6.{{cite book}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์)
  270. Pourian, Jessica J. (2011-02-15). "2013's Brass Rat unveiled". The Tech. Vol. 131 no. 5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-26. สืบค้นเมื่อ 2011-06-12.
  271. "Ring History ('93 class webpage)". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-14. สืบค้นเมื่อ 2006-12-26.
  272. Bauer, M.J. "IHTFP". สืบค้นเมื่อ 2005-11-23.
  273. "Student Group List". MIT. สืบค้นเมื่อ 2015-11-25.
  274. "MIT Outreach Database". MIT. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  275. Dowling, Claudia Glenn (2005-06-05). "MIT Nerds". Discover Magazine. สืบค้นเมื่อ 2007-08-17.
  276. Bridges, Mary (2005-01-23). "Her Mystery achievement: to boldly scavenge at MIT". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2007-01-16.
  277. "Charm School". MIT Student Activities Office. MIT Division of Student Life. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 2011-07-03.
  278. Chang, Kenneth (2001-02-06). "What, Geeks at M.I.T.? Not With This Class". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-08-12.
  279. Kirkpatrick, J. (2011). "Students head off to varied externships". The Tech. Vol. 131 no. 59. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  280. Kirkpatrick, J. (2011). "Record 294 participate in MIT Externship Program". The Tech. Vol. 131 no. 57. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  281. Peterson, T.F. (2003). Nightwork: A History of Hacks and Pranks at MIT. MIT Press. ISBN 978-0-262-66137-9.
  282. Biskup, Agnieska (2003-04-01). "These Are Not Your Ordinary College Pranks". The Boston Globe.
  283. "Howe & Ser Moving Co". สืบค้นเมื่อ 2007-04-04.
  284. Bombadieri, Marcella (2003-12-18). "MIT Pranksters Wing It For Wright Celebration". The Boston Globe.
  285. "MIT Hackers & Halo 3". The Tech. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-29. สืบค้นเมื่อ 2007-09-25.
  286. Kathryn Krtnick, Asst. Dir. of Communications (November 28, 2012). "Re: NCAA Media Inquiry" (PDF). Natl. Collegiate Athletic Assn. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-05-14. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20. List of institutions that sponsor the most sports: Bowdoin College and Williams College – 32; MIT – 31.
  287. 287.0 287.1 287.2 Dept. of Athletics (August 2012). "2012–13 Quick Facts" (PDF). MIT. Intercollegiate Athletics: 33 varsity sports.
  288. Cohen, Rachel (2010-05-18). "MIT the No. 1 jock school? You're kidding, right?". Associated Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-12. สืบค้นเมื่อ 2011-06-25.
  289. Powers, John (2009-04-24). "MIT forced to cut 8 varsity sports". The Boston Globe.
  290. "MIT Graphic Identity: Mascot". สืบค้นเมื่อ 2012-11-22.
  291. Shapiro, Fred (1975-04-25). "MIT's World Champions" (PDF). Vol. 92. The Tech. p. 7. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-10-02. สืบค้นเมื่อ 2006-10-04.
  292. "MIT facts 2009: International students and scholars". MIT Bulletin. Jan 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-19. สืบค้นเมื่อ 2012-07-04.
  293. "Class of 2015 admission rate sinks to 9.6 percent". The Tech. Vol. 131 no. 14. 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-22. สืบค้นเมื่อ 2012-07-04.
  294. 294.0 294.1 MIT, Office of the Registrar. (2009-10-09). Enrollment statistics: Women students, Fall term 2009-2010.
  295. "Geographic Distribution of Students". Office of the Registrar, MIT. 2009–2010. สืบค้นเมื่อ 2010-10-01.
  296. "College Navigator: Massachusetts Institute of Technology, Retention and graduation rates". U.S. Department of Education, National Center for Education Statistics. 2014. สืบค้นเมื่อ 2015-12-09.
  297. "MIT Facts: Tuition and Financial Aid". 2010.
  298. Bolotin, Mark (1966-01-14). "Tuition hike provokes student riot" (PDF). The Tech. Vol. 85 no. 32. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-09-25. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  299. Chemical Heritage Foundation (2005). "Ellen Swallow Richards". Chemical Achievers, The Human Face of Chemical Sciences. สืบค้นเมื่อ 2006-11-04.
  300. "McCormickFact Sheet" (PDF). เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-10-16. สืบค้นเมื่อ 2015-12-10.
  301. Simha, O. R. (2003). MIT campus planning 1960-2000: An annotated chronology. MIT Press. pp. 32–33. ISBN 978-0-262-69294-6. ในปีการศึกษา ค.ศ. 1959 มีนักศึกษาหญิง 158 คนลงทะเบียนเรียนที่ MIT
  302. Stratton, J. A. (1960). The president's report 1960 (PDF). p. 49. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20. การลงทะเบียนในปี ค.ศ. 1959-1960: มีนักศึกษาหญิงลงทะเบียน 125 คนคิดเป็นอัตราร้อยละ 2.5...
  303. EECS Women Undergraduate Enrollment Committee (1995-01-03). "Chapter 1: Male/Female enrollment patterns in EECS at MIT and other schools". Women Undergraduate Enrollment in Electrical Engineering and Computer Science at MIT. สืบค้นเมื่อ 2006-12-08.
  304. Healy, Patrick (2001-02-05). "11 years, 11 suicides - Critics Say Spate of MIT Jumping Deaths Show a 'Contagion'". The Boston Globe. pp. A1.
  305. Smith, Tovia (2001-08-29). "Massachusetts Institute of Technology Looks for Ways to Deal with the Incidence of Student Suicides in Recent Years". National Public Radio.
  306. 306.0 306.1 "MIT's Inaction Blamed for Contributing to Death of a Freshman". The Chronicle of Higher Education. 1998-10-06. สืบค้นเมื่อ 2006-10-07.
  307. Levine, Dana (2000-09-15). "Institute Will Pay Kruegers $6M for Role in Death". The Tech. Vol. 120 no. 42. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-04. สืบค้นเมื่อ 2006-10-04.
  308. 308.0 308.1 Sontag, Deborah (2002-04-28). "Who Was Responsible for Elizabeth Shin?". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2006-10-07.
  309. Ellen, Elizabeth Fried (LICSW) (2002). "Suicide Prevention on Campus". Psychiatric Times. สืบค้นเมื่อ 2006-06-26.
  310. "MIT Mental Health Task Force Fact Sheet". MIT New Office. 2001-11-14. สืบค้นเมื่อ 2006-06-25.
  311. Arenson, Karen (2004-12-03). "Worried Colleges Step Up Efforts Over Suicide". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2009-01-06.
  312. "Clay endorses Mental Health Task Force Recommendations". MIT News Office. 2001-11-28. สืบค้นเมื่อ 2006-06-25.
  313. Nobel Foundation (2015-12-09). Nobel laureates and universities. สืบค้นเมื่อ 2015-12-10.
  314. "Awards and Honors". Institutional Research, Office of the Provost. สืบค้นเมื่อ 2011-10-18.
  315. "A Study on the Status of Women Faculty in Science at MIT". MIT Faculty News Letter. 1999.
  316. Kleinfeld, Judith. "MIT Tarnishes Its Reputation with Gender Junk Science". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-08. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10.
  317. Lopez, Kathryn Jean (2001-04-10). "Feminist Mythology". National Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-21. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10.
  318. 318.0 318.1 Wertheimer, Linda (2007-12-06). "Tenure at MIT Still Largely a Male Domain". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2008-07-25.
  319. "Professor Sues M.I.T. Over Refusal of Tenure". The New York Times. 1986-09-10. สืบค้นเมื่อ 2006-10-03.
  320. Lawler, Andrew (1999-11-12). "MIT as 'Intractable Enemy'". Science Careers.
  321. Vaznis, James (1994-01-15). "Ex-MIT professor who was denied tenure files sex bias suit". The Boston Globe.
  322. Dowdy, Zachary (1997-10-22). "MCAD supports scholar's claim of bias by MIT; University Offered job, but no tenure". The Boston Globe.
  323. Simpson, April (2007-02-06). "Professor accuses MIT of racism". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2007-12-18.
  324. Schworm, Peter (2007-06-04). "MIT center director resigns in protest of tenure decision". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2007-12-19.
  325. Simpson, April (2007-02-06). "Professor accuses MIT of racism". The Boston Globe.
  326. The Associated Press (2009-10-23). "Monterey Aquarium's McNutt new USGS director". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-06-02. สืบค้นเมื่อ 2009-10-25.
  327. "DUSP's Briggs joins Obama administration". MIT News Office. 2009-01-20. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-30. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  328. "Lander named to Obama's science team". MIT News Office. 2008-12-22. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-30. สืบค้นเมื่อ 2014-03-20.
  329. Calmes, Jackie; Broder, John (2013-03-04). "Obama Announces 3 Cabinet Nominations". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2013-03-04.
  330. Roberta Rampton (2013-02-06). "Exclusive: Obama considering MIT physicist Moniz for energy secretary - sources". chicagotribune.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-10. สืบค้นเมื่อ 2013-02-24.
  331. "Glassdoor's Top 25 Universities To Work For". Glassdoor. Glassdoor, Inc. สืบค้นเมื่อ 2014-03-11.
  332. "MIT Reviews". Glassdoor. Glassdoor, Inc. สืบค้นเมื่อ 2014-03-11.
  333. MIT Office of Institutional Research. "Awards and Honors". สืบค้นเมื่อ 2014-03-11.
  334. Ericka Chickowski (September 20, 2010). "Gurus and Grads". Entrepreneur.
  335. "Kauffman Foundation study finds MIT alumni companies generate billions for regional economies". MIT News Office. February 17, 2009. สืบค้นเมื่อ February 25, 2009.
  336. Pilkington, Ed (May 18, 2011). "The MIT factor: celebrating 150 years of maverick genius". The Guardian. สืบค้นเมื่อ May 25, 2011.
  337. "Notable Alumni". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-11-27. สืบค้นเมื่อ 2006-11-04.
  338. (จีน)"钱学森:历尽险阻报效祖国 火箭之王淡泊名誉". 人民网. 2009-10-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2015-12-10.
  339. (จีน)"美国航空周刊2008年度人物:钱学森". .网易探索 (广州). 2009-10-31. สืบค้นเมื่อ 2015-12-10.

บรรณานุกรม

แก้
ดู บรรณานุกรม เก็บถาวร 2012-02-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ของ MIT's Institute Archives & Special Collections ด้วย

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

42°21′35″N 71°05′32″W / 42.35982°N 71.09211°W / 42.35982; -71.09211