ฮันส์ เบเทอ

(เปลี่ยนทางจาก Hans Albrecht Bethe)

ฮันส์ อัลเบร็ชท์ เบเทอ (เยอรมัน: Hans Albrecht Bethe) เป็นนักฟิสิกส์นิวเคลียร์สัญชาติเยอรมัน-อเมริกัน เขาเป็นบุคคลสำคัญของวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ พลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม และฟิสิกส์ของแข็ง เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน ค.ศ. 1967 จากผลงานทฤษฎีการสังเคราะห์นิวเคลียสของดาวฤกษ์[1][2]

ฮันส์ อัลเบร็ชท์ เบเทอ
เกิด2 กรกฎาคม ค.ศ. 1906
ชตราสบวร์ค จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต6 มีนาคม ค.ศ. 2005 (98 ปี)
รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
สัญชาติเยอรมันและอเมริกัน
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต
มหาวิทยาลัยมิวนิก
อาชีพนักฟิสิกส์นิวเคลียร์
อาจารย์มหาวิทยาลัย
ลายมือชื่อ

เมื่อเบเทอจบการศึกษาระดับปริญญาเอกได้ไม่นาน เขาก็ได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์ใน ค.ศ. 1929 ทุนนี้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นจำนวน 150 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับการใช้ชีวิตในต่างประเทศ เขาเลือกไปทำงานอยู่ที่ห้องปฏิบัติการคาเวนดิชแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[3] ต่อมาใน ค.ศ. 1932 เขาได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงินในเยอรมนี[4][5] อย่างไรก็ตาม เมื่อนาซีเรืองอำนาจใน ค.ศ. 1933 เบเทอซึ่งมีเชื้อสายยิวได้ถูกไล่ออกจากงาน เขาย้ายออกจากเยอรมนีไปยังอังกฤษ โดยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ช่วงสั้น ๆ[6] ก่อนที่จะย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1935 โดยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาทำงานเป็นหัวหน้าแผนกทฤษฎีที่ห้องปฏิบัติการลอสแอลามอส อันเป็นห้องแลปลับซึ่งพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกขึ้น เขามีส่วนสำคัญในการคำนวณมวลวิกฤตของอาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการทดลองทรินิตีและการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ ต่อมาภายหลังสงคราม เขาได้ร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์คนอื่น ๆ แสดงจุดยืนต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ตลอดจนต่อต้านการแข่งขันสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น เขาเป็นผู้โน้มน้าวรัฐบาลสหรัฐลงนามในสนธิสัญญาระงับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ค.ศ. 1963 กับสหภาพโซเวียต และสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธทิ้งตัว ค.ศ. 1972

อ้างอิง

แก้
  1. Lee, S.; Brown, G. E. (2007). "Hans Albrecht Bethe. 2 July 1906 -- 6 March 2005: Elected ForMemRS 1957". Biographical Memoirs of Fellows of the Royal Society. 53: 1. doi:10.1098/rsbm.2007.0018.
  2. Horgan, John (1992). "Illuminator of the Stars". Scientific American. 267 (4): 32. Bibcode:1992SciAm.267d..32H. doi:10.1038/scientificamerican1092-32.
  3. Schweber 2012, pp. 182–183.
  4. Bernstein 1980, p. 33.
  5. Schweber 2012, pp. 223–224.
  6. Bernstein 1980, p. 35.