อเมริโกย
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อเมริโกย เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของวงคาราบาว วางจำหน่ายวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2528 โดย อามีโก้ เป็นผู้โปรโมทและจัดจำหน่าย
อเมริโกย | ||||
---|---|---|---|---|
สตูดิโออัลบั้มโดย | ||||
วางตลาด | 1 ธันวาคม พ.ศ. 2528 | |||
บันทึกเสียง | ห้องบันทึกเสียงเซ็นเตอร์สเตจ | |||
ความยาว | 47:27 | |||
ค่ายเพลง | โพลีดอร์ , อามีโก้ | |||
ลำดับอัลบั้มของคาราบาว | ||||
|
ประวัติ
แก้หลังจากที่ประสบความสำเร็จ จนถึงขั้นสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการเพลงไทย ในอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ที่สามารถทำยอดขายได้ถึง 5,000,000 ตลับ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทยแล้ว คาราบาวซึ่งกลายเป็นกลุ่มศิลปินที่ร้อนแรงที่สุดแห่งยุค ก็ได้เข้าไปมีส่วนกับเหตุการณ์กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยทางวงได้ถูกขอร้องกึ่งบังคับให้ไปเล่นคอนเสิร์ตที่สวนอัมพรท่ามกลางการปฏิวัติของ พ.อ.มนูญกฤต รูปขจร โดยมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศสลับกับการอ่านประกาศของคณะปฏิวัติ ในคอนเสิร์ตครั้งนั้น แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล และ เล็ก - ปรีชา ชนะภัย ต่างพกอาวุธปืนขึ้นไปขณะเล่นคอนเสิร์ตด้วย และ มีการยิงกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มปฏิวัติ เมื่อการปฏิวัติไม่เป็นผลสำเร็จ พันเอกมนูญกฤต รูปขจร จึงได้หลบหนีออกนอกประเทศ ทำให้วงคาราบาวรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก และรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนั้นของวง
ต่อมาทางวงได้เริ่มผลิตผลงานเพลงชุดที่ 6 โดยใช้ชื่อชุดว่า อเมริโกย เป็นการพูดถึงการจำกัดโควตาผ้าและสิ่งทอจากประเทศไทย ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยในภาคดนตรีมีการยกระดับเทคโนโลยีทางดนตรีขึ้นมาจากชุดที่แล้วโดยมีการใช้เสียงสังเคราะห์เพิ่มเข้ามา และ มีการนำเสียงระเบิดและเสียงปืนจากคอนเสิร์ตที่สวนอัมพร มาใส่ไว้ในเพลง มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6) อีกด้วย โดยอัลบั้มชุดนี้เป็นอัลบั้มชุดแรกที่บันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงเซ็นเตอร์สเตจ ซึ่งเป็นห้องบันทึกเสียงของคาราบาวเอง
ส่วนปกอัลบั้มออกแบบเป็นลายพรางทหารซึ่งมีที่มาจากเหตุการณ์ กบฏทหารนอกราชการ เมื่อนำปกอัลบั้มมาวางกลับหัว จะอ่านได้ว่า 9 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่มีการปฏิวัติไม่สำเร็จ ทางวงได้พิมพ์ปกลงบนกระดาษฟอยซึ่งมีต้นทุนสูงเพื่อป้องกันการปลอมแปลง วางจำหน่ายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2528 วันเดียวกับทางวงขึ้นเล่นคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มในรายการ โลกดนตรี
หลังจากอัลบั้มชุดนี้วางแผง เพลงที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นอย่างมากคือเพลง มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6), ข่าวดี ซึ่งเป็นเพลงร็อกที่มีท่อนโซโล่กีตาร์ของเล็กที่ติดหูผู้ฟัง และ เพลงจังหวะสนุก ๆ อย่าง ซาอุดร และ คนจนผู้ยิ่งใหญ่ โดยอัลบั้มนี้นับเป็นอัลบั้มแรกที่ อ๊อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ได้เข้ามาบันทึกเสียงในฐานะสมาชิกของคาราบาวอย่างเต็มตัว หลังจากที่เคยเล่นเป็นแบ็คอัพให้คาราบาวสมัยอยู่กับวงเพรสซิเดนท์ ในยุคก่อตั้งวงคาราบาว และเคยออกทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมทอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ แทนที่ ไพรัช เพิ่มฉลาด มือเบสคนเก่ามาแล้ว
ในการออกทัวร์คอนเสิร์ตโปรโมตอัลบั้มชุดนี้สมาชิกภายในวงซึ่งมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นสมัยนั้นอย่างมากมักจะแต่งกายด้วยเสื้อลายทหารและนุ่งกางเกงยีนส์แรงเลอร์ รองเท้าคอนเวิร์สลายพราง เมื่ออัลบั้มชุดนี้ประสบความสำเร็จทางยอดขาย จึงเกิดเป็นกระแสแฟชั่นของวัยรุ่น ที่นิยมใส่เสื้อลายทหารเลียนแบบวงคาราบาว
อย่างไรก็ตามอัลบั้มนี้มีบทเพลงที่ถูก คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) สั่งห้ามออกอากาศ คือเพลง หำเฮี้ยน ซึ่งแอ๊ดแต่งขึ้นโดยรู้อยู่แล้วว่าจะต้องถูกแบนอย่างแน่นอน เนื่องเพราะมีท่อนที่ด่า กบว. โดยตรงว่า กวนส้นตีน โดยเป็นการต่อว่า กบว. ที่แบนเพลง หำเทียม ในอัลบั้มชุดที่แล้วซึ่งเป็นชุดประวัติศาสตร์ของวงคาราบาว
รายชื่อเพลง
แก้ลำดับ | ชื่อเพลง | ยาว |
---|---|---|
1. | "อเมริโกย" | 4:37 |
2. | "มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6)" | 5:01 |
3. | "คนจนผู้ยิ่งใหญ่" | 4:55 |
4. | "มาลัย" | 4:47 |
5. | "ข่าวดี" | 4:26 |
6. | "ตางขโมย" | 4:06 |
7. | "ซาอุดร" | 4:05 |
8. | "หำเฮี้ยน" | 5:58 |
9. | "เฒ่าทะเล" | 5:54 |
10. | "แผ่นดิน" | 3:38 |
ความยาวทั้งหมด: | 47:27 |
นักดนตรีในอัลบั้ม
แก้- ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) : ร้องนำ, ร้องประสาน, กีตาร์, พิณ
- ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) : ร้องนำ, ร้องประสาน, กีตาร์, คีย์บอร์ด
- เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) : ร้องนำ, ร้องประสาน, กีตาร์
- อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) : เบส
- กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) : กีตาร์, คีย์บอร์ด, เพอร์คัสชั่น
- อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) : กลองไฟฟ้า, เพอร์คัสชั่น
- ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี : ร้องประสาน, คีย์บอร์ด, เพอร์คัสชั่น, แครริเน็ต, แซกโซโฟน, ฟลูต
คอนเสิร์ต
แก้- รายการ โลกดนตรี : 1 ธันวาคม พ.ศ. 2528
- รายการ 7 สี คอนเสิร์ต : พ.ศ. 2529
การจัดจำหน่าย
แก้ปี | ค่าย | รูปแบบ |
---|---|---|
พ.ศ. 2528 | อามีโก้ | แผ่นเสียง |
เทปคาสเซตต์ | ||
พ.ศ. 2540 | กระบือ แอนด์ โค | แผ่นซีดี |
เทปคาสเซตต์ | ||
พ.ศ. 2546 | วอร์นเนอร์ มิวสิค ไทยแลนด์ | แผ่นซีดี (ปกครบรอบ 20 ปี คาราบาว) |
พ.ศ. 2554 | แผ่นซีดี (ปกครบรอบ 30 ปี คาราบาว) | |
พ.ศ. 2555 | แผ่นเสียง (Remaster) | |
พ.ศ. 2556 | แผ่นซีดี (Remaster) |