รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส หรือ รุ่งฤดี เพ็งเจริญ เป็นนักร้องหญิงเพลงไทยสากลรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ จากเพลง "บัวขาว" เมื่อปี พ.ศ. 2514 และเพลง "หลานย่าโม" ในปี พ.ศ. 2522 โดยมีเพลงสร้างชื่ออื่น ๆ เช่น "เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง", "พัทยาลาก่อน", "คนหน้าเดิม", "โจโจ้ซัง", "นักรบชายแดน", "ช่างเขาเถิดนะหัวใจ" เป็นต้น รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2563
รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส | |
---|---|
รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 17 มีนาคม พ.ศ. 2489 รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส |
คู่สมรส | พลตำรวจเอก จรัส เพ็งเจริญ |
บุตร | นางวรภัทร ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ |
อาชีพ | นักร้อง |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2508 - ปัจจุบัน |
ผลงานเด่น | "เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง" |
ศิลปินแห่งชาติ | พ.ศ. 2563 - สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) |
ประวัติ
แก้เบื้องต้น
แก้รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เกิดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2489 พื้นเพครอบครัวอยู่ใกล้วัดบ้านหม้อ ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ในวัยเด็กมีความชอบและใจรักเรื่องการร้องเพลงมาก โดยทางครอบครัวสนับสนุนให้ร้องประกวดตามงานวัด และที่ สถานีวิทยุ ปณ.ใต้สะพานพุทธ และเป็นนักร้องประจำโรงเรียนอีกด้วย
ชีวิตนักร้อง
แก้เมื่อกำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนดุสิตพณิชยการ เธอมีความฝันอยากจะเป็นนักร้องประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ครูมนัส รามโยธิน ผู้ใหญ่ที่ให้ความเคารพนับถือจึงพาไปฝากครูเอื้อ สุนทรสนาน เพื่อให้เป็นนักร้องประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2508 แม้ในขณะนั้นยังเรียนอยู่ก็ตาม
ครูเอื้อ สุนทรสนาน ให้เธอเลือกเพลงที่คิดว่าร้องได้ดีที่สุดเพื่อทดสอบตัวเอง เธอเลือกร้องเพลง "ภูกระดึง" ของ มัณฑนา โมรากุล ให้ครูเอื้อฟัง ปรากฏว่าสอบผ่าน ครูเอื้อจึงได้ให้เธอเรียนวิชาการขับร้องกับครูสริ ยงยุทธ ซึ่งเป็นมือเปียโนประจำวงตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
จากนั้นเธอได้มีโอกาสร้องเพลงภูกระดึงอีกครั้งโดยร้องสดบนเวทีเป็นครั้งแรกในรายการสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังสวนดุสิต ซึ่งเธอได้ยอมรับว่ามีความประหม่าและตื่นเต้นมาก ต่อมาได้บันทึกแผ่นเสียงเพลง "พัทยาลาก่อน" ของครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ เป็นเพลงแรก ตามด้วยเพลง "ร้ายกว่าผี" ซึ่งได้รับความนิยมจากแฟนเพลงมากมายเกินความคาดหมาย
เธออยู่กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ หรือ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ได้เพียง 3 ปี ก็ลาออกไปใช้ชีวิตเป็นนักร้องตามไนท์คลับที่กำลังมีชื่อเสียงอยู่ในตอนนั้น เช่น สีดาไนท์คลับ ถนนราชดำเนิน ทำให้มีโอกาสได้ร้องเพลงของครูเพลงคนสำคัญอื่น ๆ อีกหลายคน เช่น พยงค์ มุกดา, เปรื่อง ชื่นประโยชน์, ทวีพงษ์ มณีนิล, สง่า อารัมภีร และ ไพบูลย์ บุตรขัน
เพลงที่สำคัญก็คือ "เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง" ซึ่งเพลงนี้ครูพยงค์ มุกดา ตั้งใจประพันธ์ให้เธอร้องโดยเฉพาะ เมื่อได้ฟังเธอขับร้องเพลงที่ไนท์คลับ ตามความแนะนำของสุเทพ วงศ์กำแหง เลยเป็นที่มาของบทเพลงประจำตัวของเธอจนกระทั่งปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2519 เธอได้บอกกับบริษัทเมโทรต้องการร้องเพลงญี่ปุ่น ทางบริษัทเมโทรจึงได้ติดต่อครูพยงค์ให้มาใส่คำร้องให้ จึงออกมาเป็นเพลงดัง "โจโจ้ซัง" โดยมีเนื้อร้องภาษาไทยและเนื้อร้องภาษาญี่ปุ่น ซึ่งเธอได้หัดเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่นานหลายเดือนก่อนจะได้บันทึกแผ่นเสียง
ต่อมา ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เรียกให้เธอกลับมาบันทึกแผ่นเสียงเพลงคู่ชุด "ดำเนินทราย" ของห้างเมโทรเทปและแผ่นเสียง ของ วรชัย ธรรมสังคีติ ในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นเดิม
เธอมีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากกว่า 2,000 เพลง และมีเพลงที่ได้รับความนิยมเป็นจำนวนมากอาทิ "หลานย่าโม", "เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง", "กังหันสวาท", "แม่สอดสะอื้น", "แฟนซีชีวิต", "คนหน้าเดิม", "เธอคือดวงใจ", "ช่างเขาเถิดนะหัวใจ", "ชีวิตคนเศร้า", "สตรีที่โลกลืม", "วาสนาคนจน", "เฉือนหัวใจ", "โจโจ้ซัง", "นักรบชายแดน", "ใจหวนครวญรำพัน", "ยากจะหักใจลืม" เป็นต้น ปัจจุบันเธอยังคงร้องเพลงให้กับงานคอนเสิร์ตการกุศลต่าง ๆ และยังทำงานให้กับสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรสำคัญต่าง ๆ
รางวัล
แก้- ปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ สาขานักร้องหญิงชนะเลิศ ประเภท ข. จากเพลง "บัวขาว" ผลงานของท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ รับจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- ปี พ.ศ. 2522 ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ จากเพลง "หลานย่าโม" ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกของ นายพรเลิศ ศาลานิตยกุล รับจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- ปี พ.ศ. 2563 ได้รับพระราชทานรางวัล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2563 รับจากพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ชีวิตครอบครัว
แก้สมรสกับ พลตำรวจเอก จรัส เพ็งเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2539 หลังจากครองคู่กันมา 24 ปี หลังจากที่สามีของรุ่งฤดีได้เสียไปรุ่งฤดีก็ได้มีโอกาสไปเยี่ยมลูกสาวและหลานที่สหรัฐอเมริกาบ่อยขึ้น มีโอกาสไปขับรถรับ-ส่งหลานทำให้คลายความเหงาไปได้ ซึ่งบุตรสาวและหลานของรุ่งฤดีก็เรียนจบหมอเช่นกัน มีบุตรสาวเพียงคนเดียวคือ[1]
- นางวรภัทร ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ สมรสกับ นายแพทย์ไพโรจน์ ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ มีบุตรชายสองคนคือ
- นายพีรภัทร ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
- นายภัทรพล ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
ตัวอย่างผลงาน
แก้เพลง
แก้เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง, หลานย่าโม, คนหน้าเดิม, กังหันสวาท, โจโจ้ซัง, ชีวิตคนเศร้า, ช่างเขาเถอะนะหัวใจ, แม่สอดสะอื้น, บัวขาว, สามหัวใจ, สตรีที่โลกลืม, วาสนาคนจน, ทับนางรอ, ยากจะหักใจลืม, พัทยาลาก่อน, แฟนซีชีวิต, คุณรักฉันน้อย, เธอคือดวงใจ, คอยพี่, แดนดอกเอื้อง, ดอกเอื้องดอย, ในมือมาร, แบ่งเวลาไปหาฉันบ้าง เป็นต้น
บรรณานุกรม
แก้- ไพบูลย์ สำราญภูติ. หนังสือพระเจ้าทั้งห้า ตำนานความเป็นมาของสุนทราภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2565 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ 74 ปี รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เปิดเคล็ด (ไม่ลับ) ทำอย่างไรหุ่นดี-เสียงแจ๋ว เปรยเสียงดังอยากเจอตัวเป็นๆ “ครูสลา คุณวุฒิ” มติชนสุดสัปดาห
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๕, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๒ ข หน้า ๗๒, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- อัลบั้มรูป รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส เก็บถาวร 2006-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน